Liberate P

Liberate P | เขียนไรห์มจากเรื่องจริง ชีวิตไม่ใช่การคิดบวกเสมอ เพราะเราโกหกความจริงไม่ได้

มุมมอง ชีวิต และความจริงของแร็ปเปอร์หนุ่ม Liberate P หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) เจ้าของเพลงสะท้อนสังคมที่สั่นสะเทือนความจริงไปทั้งประเทศไทยอย่าง ประเทศกูมี กับช่วงชีวิตที่เริ่มต้นหลงใหลในแนวเพลงฮิปฮอป วนเวียนจมอยู่แต่กับการทำเพลง represent ตัวเอง ดวงตามืดบอดกระโจนไปอยู่กับการทุ่มเถียงความคิดการเมือง มาถึงจุดที่เขาเรียกว่าอาการตาสว่าง ละทิ้งการเลือกข้างหรือเชียร์บุคคล มามองความจริงพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่างเรื่องเสรีภาพ เพราะประสบการณ์บอกให้เขารู้ว่าโลกนี้มีทั้งบวกลบ ชีวิตไม่ใช่การคิดบวกเสมอ เพราะเราโกหกความจริงไม่ได้

Liberate P

 

สำหรับเรา การทำเพลงด่านักการเมือง ด่าตำรวจ เหมือนเอาหน้าข่าวมาด่า เรารู้สึกว่าการพูดถึงการเมืองแบบนั้นมันเปลือกเกินไป

 

ถามก่อนเลย คุณมีความทรงจำเกี่ยวกับ Converse อย่างไรบ้าง

     ตอนเด็กๆ ที่เริ่มแต่งตัวฮิปฮอป มันมี Converse รุ่นหนึ่งที่อยากได้มาก คือรุ่น Converse Weapon หน้าตาจะเหมือนรองเท้าบาสหุ้มข้อ เป็นทรงที่เราชอบมากแต่หาซื้อไม่ได้เลย คือตอนนั้นการซื้อของออนไลน์ยังไม่มี แล้วการซื้อรุ่นพิเศษก็หาไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้

 

แล้วจำคู่แรกของตัวเองได้ไหม

      Converse คู่แรกที่เราได้มาคือ Converse Chuck Taylor All Star Low รองเท้าข้อเตี้ยสีดำ นั่นเป็นคู่แรกในชีวิตเลย แม่ซื้อให้ (หัวเราะ) ผมว่าผู้ชายทุกคนที่โตมา รองเท้าคู่แรกที่อยากได้จริงๆ มีโอกาสเป็น Converse สูง แล้วตอนนั้นมีเรื่องตลกสมัยเด็กๆ คือเพื่อนผมมาบอกว่าการเช็กว่า Converse คู่นี้ปลอมหรือแท้ให้โยน ถ้ารองเท้าหล่นมาแล้วตั้งจะเป็นของแท้ (หัวเราะ) หรืออีกอันก็คือให้ลองบิดรองเท้า ถ้าเด้งคืนทรงจะเป็นของแท้เหมือนกัน แต่ผมก็ไม่เคยทำแบบนั้นกับรองเท้าตัวเองนะ

 

พูดถึงคอนเซ็ปต์ All the Stories Are True รู้สึกอย่างไรที่ Converse ชวนทุกคนมาสนใจเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนแบบนี้

     ผมว่าเป็นเรื่องดี เราอาจจะได้มุมมองของคนที่พูดอะไรบางอย่างในสังคม ผมว่าการที่ Converse มาคุยกับคนพวกนี้ มันได้เห็นว่าปัจจุบันกำลังเกิดอะไรขึ้น ต่างจากที่เราเห็นเรื่องราวตามจอทีวีหรือสื่อ ผมว่าอันนี้มันคือความจริงมากกว่า ความจริงคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเราไม่สามารถพูดเป็นอย่างอื่นได้

 

Liberate P

 

แล้วความจริงของคุณล่ะ แร็ปเปอร์อย่างคุณเริ่มสนใจเรื่องสังคมการเมืองได้อย่างไร

     มันเริ่มมาจากตอนเด็กๆ ที่พ่อของเรามักพูดถึงบ่อยๆ เวลาเห็นเศรษฐกิจไม่ดี พ่อก็จะบอกว่าต้องไปบอกรัฐบาล เราก็เริ่มรู้สึกว่าการเมืองมันมีอำนาจที่ส่งผลต่อชีวิตเราอยู่ เลยเริ่มรู้สึกอินมาเรื่อยๆ แล้วตอนมัธยมเราก็คุยเรื่องการเมืองกับเพื่อน แต่เป็นเชิงประวัติศาสตร์ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรื่องของ 14 ตุลาคม ก็ไปหาหนังสือมาอ่าน เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่ง พอเริ่มมาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราตามการเมืองไปเอง เริ่มซึมซับมา แต่พอรู้ตัวอีกทีเราเริ่มมีพรรคในดวงใจแล้ว เริ่มเชียร์นักการเมืองบางคน

     แล้วระหว่างที่เราตามการเมืองตอน ม.5 – ม.6 เราก็เริ่มทำเพลงแร็ปแล้ว ตอนนั้นยังเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ เป็นเว็บบอร์ดที่ชื่อ Siam Hip-hop มีคนในแวดวงแร็ปเข้ามาอยู่ในเว็บบอร์ดนี้จำนวนมาก แล้วก็มาคุยกัน มีห้องแลกเปลี่ยน Audio Room มีห้อง DJ เราก็เข้าไปอยู่ในนั้น แล้วก็เริ่มทำเพลงแรกๆ ออกมา ซึ่งเป็นเพลงแนวที่ represent ตัวเอง (หัวเราะ) เป็นเพลงที่มีเนื้อพูดโชว์ว่าตัวกูเองเจ๋ง แล้วก็ดิสเครดิตคนอื่น

 

ยอมรับว่าตอนที่เริ่มต้นทำเพลงก็สนใจแต่เรื่องตัวเอง

     วัฒนธรรมฮิปฮอปเป็นแบบนี้ ของเมืองนอกก็เหมือนกัน ถ้าสังเกตว่าในเมืองนอก เพลงแร็ปก็ยังอวดตัวเองอยู่ ผมว่าเหมือนเป็นวัฒนธรรมการอวดว่ากูเจ๋งมากกว่า แต่ถ้าย้อนกลับไปพูดจริงๆ เพลงแร็ปเริ่มแรกก็ไม่ได้มีเนื้อหาซีเรียสนะ แร็ปเปอร์อย่าง MC Hammer ก็ทำเพลงเต้นๆ จนมาพัฒนาตอนยุค 90’s ที่ฮิปฮอปเข้าไปอยู่กับแก๊งสเตอร์ เริ่มมีความขบถ เริ่มมีความดุดันทางเนื้อหา มีการด่าทอกัน ผมจะไม่ทันแร็ปเปอร์ปี 90’s เพราะช่วงยุค 00’s คือเริ่มหลุดจากความเป็นแก๊งสเตอร์มาแล้ว วัฒนธรรมฮิปฮอปส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการ represent ตัวเองแล้ว ศิลปินที่ดังช่วงเวลานั้นก็เป็นพวก Eminem, Snoop Dogg, Dr.Dre

 

จากที่อยู่กับวัฒนธรรมทำเพลง represent ตัวเอง บทเพลงของคุณเริ่มพูดเรื่องการเมืองได้อย่างไร

     จริงๆ เราพูดเรื่องพวกนี้มานานแล้ว แต่ว่าพูดนิดเดียว อย่างเช่น การที่เราอาจจะเปรียบเทียบการ represent ด้วยคีย์เวิร์ดของการเมือง เช่น “แร็ปกูเดือดยิ่งกว่ารถติดใน กทม.” มีการเหน็บแนมประเด็นในสังคมนิดหนึ่ง แต่ทีนี้ในใจเราคิดอยู่เสมอว่าอยากพูดเรื่องการเมืองมาโดยตลอด แต่ว่าเรายังไม่มีคนติดตามมากพอที่จะพูดออกไปแล้วมีคนฟัง เลยคิดว่ายังไม่พูดดีกว่า จนเราได้แข่ง Rap is now เริ่มมีคนติดตามเยอะขึ้น บวกกับรอบด้านก็เริ่มมีคนทำเพลงการเมืองขึ้นมาเหมือนกัน แต่เป็นเพลงการเมืองที่เราฟังแล้วรู้สึกว่ายังไม่ใช่ มันอาจใช่สำหรับเขา แต่สำหรับเรา การทำเพลงด่านักการเมือง ด่าตำรวจ เหมือนเอาหน้าข่าวมาด่า เรารู้สึกว่าการพูดถึงการเมืองแบบนั้นมันเปลือกเกินไป เราเลยพยายามหาจังหวะเวลาที่เราคิดว่าเราพูดได้แล้ว จนเราทำเพลงแรกออกมาชื่อเพลง OC(T)YGEN เพลงนี้เหมือนเป็นเพลงที่ย่อยทุกอย่างที่เราคิดไว้ตั้งแต่ตามการเมืองมา ซึ่งเพลงมันพูดมากกว่าการด่าทอนักการเมือง แต่พูดถึงเรื่องสิทธิ์ของคนที่พูดไม่ได้ พูดแล้วตาย และพูดถึงความอัดอั้นที่เรามีไปใส่ไว้ในเพลง

 

Liberate P

 

พอเพลงแรกออกมาเซอร์ไพรส์คนรอบๆ ข้างไหม

     คนส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าเราทำเพลงการเมือง นอกจากคนที่เป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊ก เห็นเราโพสต์เรื่องการเมืองบ่อย ช่วงปี 53 เราโพสต์จนโดนอันเฟรนด์ ซึ่งตอนนั้นเราเชียร์พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง จนเราตาสว่าง ต้องใช้คำนี้เลยนะ มันมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนตอนนั้นเรารู้เลยว่าการเมืองไม่ใช่การเชียร์พรรคการเมืองหรือการเชียร์ตัวบุคคลอีกต่อไปแล้ว การมองการเมืองแบบนั้นไม่ช่วยอะไรและทำให้เรามองภาพกว้างไม่เห็น เหตุการณ์ปี 53 เหมือนเป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้เราก้าวข้ามมาคิดแบบนี้ได้ พอมาช่วงหลังเราเลยเลือกพูดเรื่องของหลักการมากกว่า มาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพมากกว่าไปพูดว่านักการเมืองคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะแบบนั้นเหมือนเรากำลังตบยุง เราตบยุงตายไปกี่ตัวยุงก็ยังคงอยู่ ซึ่งพอเพลง OC(T)YGEN ปล่อยออกมา ตอนแรกเราคิดว่าคนในวงการจะฟังกันก่อน แต่ไม่รู้อีท่าไหนมันไปออกในเพจที่พูดเรื่องการเมืองอย่าง วิวาทะ เลย แล้วก็มีบุคคลในวงการเมืองหลายคนแชร์

 

ความจริงในเพลงที่คุณทำคืออะไร

     เพลงของเราคือเพลงที่เกี่ยวกับชีวิตแล้วก็การเมือง เราไม่ค่อยพูดถึงเพลงรักเท่าไหร่ แต่หลักๆ แล้วเนื้อหาที่เราแต่งนั้นมาจากความจริงที่เราเห็นกันอยู่ เราเริ่มจากสิ่งที่อยากพูดก่อน ผมว่าถ้าเราอยากพูดมันจะมีอิมแพ็กต่อตัวเอง ถ้าเราอินกับเรื่องนี้ประมาณนี้ เราจะค่อยๆ ย่อยให้มาเป็นเนื้อเพลง เราไม่ได้ไปมองหาว่าวันนี้จะพูดเรื่องนี้ ก็ไปนั่งมองว่ามีอะไรให้เขียน แต่เราไม่ได้คิดว่าสไตล์ของกูต้องเป็นการเมืองเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เราอยากพูดที่สุดเวลานั้นมากกว่า ซึ่งตอนหลังก็มีเบื่อเหมือนกัน เพราะว่าพูดแต่เรื่องเดิมๆ เราเลยหันมาพูดเรื่องส่วนตัวบาง

     อย่างเพลง Kill Myself มันมาจากการที่ผมตกธีสิส ผมเรียนสถาปัตย์ แล้วเรียนมา 8 ปี ถ้าตกอีกผมต้องเรียนปีที่ 9 ซึ่งวันนั้นผมกับลังทำโปรเจ็กต์อยู่ แล้วต้องส่งพรุ่งนี้ จนถึงตี 4 ผมนึกยังไงไม่รู้วางงานหมดเลย บอกตัวเองว่าพอแล้ว ไม่ส่ง ส่งไปยังไงก็ตก ทั้งที่จริงๆ ส่งไปอาจติด I ซึ่งมาแก้ทีหลังได้ แต่เรากลัวเลยไม่ทำ แล้วก็มาเขียนไรห์ม จนพอเราได้สตินิดหนึ่งแล้วมาย้อนอ่านก็คิดว่ามันทำเป็นเพลงได้ เลยแต่งขึ้นมาเลย แต่ตอนนี้เรียนจบแล้วนะ (หัวเราะ) คือเราไม่ได้เคลมตัวเองว่าเราต้องพูดเรื่องการเมืองเสมอ แต่คนจำภาพเราแบบนั้น

 

พอคุณลุกขึ้นมาทำเพลงเกี่ยวกับปัญหาหรือความจริงของสังคม ทำให้ตัวเองใช้ชีวิตยากขึ้นไหม

     ไม่นะ ผมค่อนข้างที่จะมองข้ามด้วย อย่างคอมเมนต์ด่า เราตามดูนะ แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเดือดร้อน เราคิดว่าเพราะการตาสว่างนี่แหละ เหมือนกับว่าเราข้ามเรื่องพวกนี้ไปได้แล้ว อาจจะมีบ้างที่โดนด่าแล้วรู้สึกร้อน แต่เราเลือกที่จะไม่ตอบ เพราะรู้สึกว่าเราคุยกับคนที่เขาปักธงว่าเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว เพราะช่วงหนึ่งเราเคยไปเขียนคอมเมนต์ตามเพจต่างๆ หนักมากมาก่อน แล้วพอถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าการเข้าไปเถียงตรงนั้น เป็นการเปลี่ยนคนในสเกลที่เล็กเกินไป เรากำลังเถียงกันเพื่ออะไร เพราะถ้าเราเถียงเพื่อให้คนคนนั้นเชื่อแบบเรา มันเป็นสเกลที่เล็กมาก ไม่สามารถเปลี่ยนภาพใหญ่ได้

 

Liberate P

 

ก่อนหน้านี้คุณคิดว่าการเป็นแร็ปเปอร์จะเป็นอาชีพไหม

     ไม่เลย เราทำเพราะความชอบอย่างเดียว เลยไม่ได้เอาภาระอะไรไปแบกไว้ ชีวิตเราเครียดกับเรื่องเรียนมากกว่า ส่วนเรื่องการร้องเพลงทำเพลงมันเป็นงานอดิเรกส่วนตัว แต่มาถึงตอนนี้ก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นงานอดิเรก เพราะว่ามันเพิ่มระดับขึ้นมา กลายเป็นว่าเพลงสามารถทำเงินให้เราได้ แต่เราก็ยังมีงานที่อยากทำอยู่

 

แต่ก่อนคนในวงการเพลงจะกลัวที่ต้องยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง แต่คุณเชื่อว่าเราสามารถพูดเรื่องนี้แล้วก็หากินได้ไปด้วย

     ผมเชื่อว่าคนเป็นศิลปินสามารถพูดเรื่องการเมืองได้ แล้วก็หากินกับมันได้ด้วย แต่ว่าการหากินก็อาจจะมีอุปสรรคมากกว่าไม่พูด คือส่วนตัวผมไม่ค่อยมีความคิดขาวดำ ผมเชื่อว่าขาวดำมันมาคู่กันได้ ไม่ใช่สีเทาด้วยนะ เช่น บางคนบอกเราต้องทำสิ่งนี้ก่อนถึงค่อยทำสิ่งนี้ แต่ผมว่ามันไม่มีอะไรก่อนหลัง คือถ้าประเทศเราพูดว่าต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ก่อน แล้วค่อยพูดเรื่องสิทธิ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ ผมว่าคงไม่ใช่ พอเรามีวิธีคิดแบบนี้ผมก็มองว่าทุกอย่างมันไปพร้อมกันได้ ถ้าเราแบ่งเวลาได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงหรือทำอาชีพหลักที่เราอยากทำส่วนเรื่องการมองเห็นไม่ตรงกันในสังคม ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องเจออยู่แล้ว

 

ตอนปล่อย ประเทศกูมี กลุ่ม RAD ของคุณถูกจับตามาก เคยกลัวไหม

     เรามีความกังวล แต่ก็ไม่ได้ไปทำให้มันมีผลต่อเราเอง คือพวกเรากังวลว่าเพลงจะเข้าไปถึงคนกลุ่มไหน เพราะว่าเรามีเป้าหมายที่อยากพูดกับคนกลุ่มนั้น แต่ถ้าเพลงเราเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนั้นเพลงอาจจะไม่สำเร็จ สุดท้ายแล้วเราอาจจะพูดอยู่แต่กับคนประเภทเดียวกัน คนที่คิดแบบเดียวกัน แต่เราไม่ได้อยากทำแบบนั้น

 

Liberate P

Liberate P

 

จะมีคอมเมนต์ประมาณหนึ่งที่ชอบพิมพ์เข้ามาด่าในเพลง ประเทศกูมี คือบอกว่าด่าประเทศตัวเองทำไม ไม่ได้ทำอะไรดีขึ้น คุณคิดอย่างไร

     ผมว่า ณ ตอนนี้เรามองกลับไปที่ ประเทศกูมี มันโคตรเบสิกเลยนะ ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย จริงๆ เพลงนั้นไม่ได้มีอะไรรุนแรง พวกผมก็รู้นะ แต่รัฐดันไปตื่นเต้นกับมัน ถ้าเทียบกับเพลงส่วนตัวผมเอง เพลงผมแรงกว่าด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นมันค่อนข้างจะเงียบมาก ไม่มีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐด้วยซ้ำ แทบจะไม่มีใครแตะต้องรัฐที่มาจากการรัฐประหารเลย ซึ่งเป้าหมายของเพลงนี้คือเราอยากให้คนออกมาพูด แล้วคนที่ออกมาด่าเรานั่นก็คือการที่เขาได้ออกมาพูดแล้วนะ

     พวกผมที่ทำเพลงมาด้วยกันคุยกันว่า อย่างน้อยๆ ถ้ามีการตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมาถือว่าสำเร็จ อันนี้คือเป้าหมายหลักเลยที่ให้คนออกมาพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น เพราะตอนนั้นมันเงียบมาก ไม่มีใครพูดเรื่องการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่พวกเราทำไม่ใช่การคิดบวกด้วย ผมเชื่อว่าชีวิตไม่ใช่การคิดบวกเสมอ แต่ชีวิตคือการคิดบนความเป็นจริง มีบวกมีลบ คือถ้าเรามองเรื่องลบเป็นบวกหมดผมว่ามันผิดปกติ ไม่ใช่แล้ว

 

พูดถึงเรื่องวงการเพลงแร็ป คนชอบพูดว่าสิ่งที่ตัวเองทำ real กว่าคนอื่น คุณรู้สึกว่าเพลงแร็ปที่พูดถึงเรื่องสังคมมัน real กว่าคนอื่นหรือเปล่า

     ผมว่าอาการตาสว่างมันสำคัญนะ ถ้าเราตาสว่างเราจะมองอะไรเปลี่ยนไปเลย อย่างเรื่อง real ไม่ real มันหายไปจากหัวผมเลย ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าพวกนี้แม่งของจริงว่ะ พวกนี้แม่งของปลอม แต่พอเราตามการเมืองหนักๆ แล้วตาสว่าง มันเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่มีหรอกว่าใคร real กว่าใคร คือมันทำพร้อมกันได้ ใครทำเพลงพ็อพเพลงรักก็ทำไปสิ ใครทำเพลงการเมืองก็ทำไป ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เราต้องมาเคลมตัวเอง ผมว่ามันปัญญาอ่อน โอเค คุณอาจจะปลื้มปีติว่าตัวเองทำเพลงนอกกระแส ตัวเอง real แต่คุณไม่มีสิทธิ์เอาความปลื้มปีติของคุณเองไปด่าคนอื่น ผมคิดว่ามันไม่มีจริงด้วยซ้ำ ทำไมเราต้องไปจำกัดว่าอะไรดีไม่ดี