ในโลกที่ใครต่อใครก็ต่างพูดถึงเรื่อง Digital Disruption ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยทยอยปิดกิจการกันเกือบวันต่อวัน สิ่งหนึ่งที่ต่อสู้กับปรากฏการณ์นี้ได้ดีที่สุดคือ Corporate Innovation หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาองค์กร
แท้จริงแล้ว Corporate Innovation ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ ในเมื่อเทคโนโลยีและดิจิตอลไม่ได้เป็นคำตอบเดียวเท่านั้นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราจึงมาขอคำตอบจาก ‘มิหมี’ – อรนุช เลิศสุวรรณกิจ co-founder แห่ง Techsauce ผู้นำเสนอคอนเทนต์เพื่อวงการเทคโนโลยีในโลกธุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Techsauce Media และผู้จัด Techsauce Global Summit งาน Tech Conference แนวหน้าของเอเชีย ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้
มองหา New S-Curve
“คนอาจจะคิดว่า Corporate Innovation เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมันคือเรื่องที่ควรตื่นตัวกันในทุกภาคของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิม (traditional business) ธุรกิจระดับครอบครัว (family business) หรือแม้กระทั่ง SME ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่ตอนนี้ทายาทรุ่นลูกหลานรับช่วงธุรกิจตกทอดมาจากครอบครัว เช่น ที่บ้านทำธุรกิจโรงเหล็ก ซึ่งมันเคยรุ่งเรืองในยุคคุณปู่และคุณพ่อ แต่พอมายุคเรา คู่แข่งมันเยอะ เราจะหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร หรือที่เห็นอย่างชัดเจนเลยคือธนาคาร ที่เขาต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงต้องเป็นที่มาในการหา S-curve (การเติบโตทางธุรกิจ) ใหม่
“แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้เราต้องคิดต่างและสร้างนวัตกรรมที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีอย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญของการเกิด Corporate Innovation มันไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของคน วัฒนธรรม และมายด์เซตของคนในองค์กร รวมไปถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมในรูปแบบของนวัตกรรม”
คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง (Waves of Digital Innovation)
“ด้วยเทคโนโลยีและโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างเร็ว ตอนนี้มีคนกลัวธุรกิจตัวเองถูกดิสรัปต์มากมาย แต่มันจะมาเร็วแค่ไหน เราขอเล่าเป็นเวฟการเคลื่อนไหวแล้วกัน
“บริษัทที่เชื่อมโยง (touch) กับผู้บริโภคเยอะๆ มักจะโดนก่อนเป็นคลื่นแรก เช่น เทเลคอม โทรศัพท์มือถือ การเงิน ธนาคาร ดิจิตอลจะเข้าไปพลิกเกมทันที อย่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือนี่หนักเลย ผู้ใช้อย่างเรายังโทร.หากันก็จริง แต่เป็นการโทร.ฟรีผ่านแอพฯ ส่งข้อความผ่านไลน์ ผ่านแอพฯ มากมาย โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นแค่ท่อ บริการเสริมทุกอย่างมันหลุดไปอยู่ข้างนอกเกือบทั้งหมด
“เวฟที่สอง ที่มาช้ากว่านิดหนึ่ง แต่ก็กำลังเข้ามาแล้ว คือธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ เราได้เห็นงานบางอย่างที่หุ่นยนต์ AI เริ่มเข้ามาทดแทนแรงงานคน แม้งานฝีมือบางอย่างอาจต้องยังใช้คนอยู่ก็ตาม แต่การใช้แรงงานคนจะเริ่มลดน้อยลง ดังนั้น ถ้าในฐานะบุคคลทั่วไป เราควรต้องดูด้วยว่าจะ upskill reskill อย่างไรได้บ้าง
“ส่วนเวฟสุดท้ายที่ยังไม่ไปทันที และอาจต้องใช้เวลาหน่อย คือเรื่องของอาหารและสุขภาพ อาหารในที่นี้ไม่ใช่แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารนะ แต่เป็นอาหารจริงๆ ที่เรากิน อย่างในต่างประเทศ ตอนนี้เริ่มมีการเอายีนมาปลูกถ่ายเป็นเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องฆ่าหมูหรือฆ่าวัว แถมยังมีเรื่องการปรับแต่งยีน ที่อาจทำให้คนเราอายุยืนถึง 150-200 ปีในอนาคต แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา ผ่านแล็บ ผ่านการวิจัยและศึกษาอีกมาก เพราะเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความเป็นความตาย จึงเป็นคลื่นที่ตามมาทีหลัง แต่มีการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ออกจากคอมฟอร์ตโซนมารับรู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว คิดแค่ว่ายังไงก็ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจเราได้ เราก็มีโอกาสล้มเช่นกัน”
สร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม
“จะสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไร เราคิดว่าจริงๆ แล้ว Innovative Culture ไม่มีกรอบหรือแพตเทิร์นที่ตายตัว แต่เกิดจากการเปิดใจและเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น เพราะไม่มีใครถูกอยู่คนเดียวหรือผิดอยู่ตลอด ทุกคนมีแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่เราจะต้องผสมผสานข้อดีของแต่ละคนให้ได้
เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมแรกที่ควรมีเลยคือหัวหน้าต้องเปิดใจรับฟีดแบ็กจากพนักงาน ไม่ใช่คิดว่าฉันซีเนียร์กว่า มีประสบการณ์กว่าและเก่งกว่าลูกน้อง มันไม่จริง เอาตรงๆ ขนาดเราเองถ้าคุยเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ยังสู้น้องๆ ไม่ได้เลย เราต้องยอมรับว่าเราเป็นคน Gen X ซึ่งก็ต้องเคารพความเห็นของเด็ก Gen Y และเข้าใจว่าพวกเขามีศักยภาพอะไร
อีกอย่างคืออย่ามัวแต่ไปคิดว่าเด็ก Gen Z ไม่มีความอดทน เพราะถ้าเราเกิดมาในยุคนี้ เราก็อาจจะเป็นคนแบบนี้ก็ได้ การที่เราเอาสิ่งแวดล้อมที่เราเคยเจอไปสวมกรอบให้เด็ก Gen Y และ Gen Z เป็นสิ่งที่ผิดมากๆ วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผู้ใหญ่ยังยึดตัวเองเป็นที่ตั้งและไปสวมหมวกให้กับเด็กๆ
“ต่อไปคือเปิดโอกาสให้เขาล้มเหลวเป็น เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ที่เกิดจากการผิดพลาด มีโปรเจ็กต์ที่เปิดโอกาสให้น้องทำอะไรใหม่ๆ พอเขาได้ทดลอง มันอาจจะเฟลก็ได้ แต่เขาก็จะเรียนรู้จากการเฟลว่าทำให้ถูกจะต้องทำอย่างไร ถ้าเรามัวแต่ไปตีกรอบเขาว่า เฟลไม่ได้ ผิดไม่ได้ เขาจะไม่กล้าทำอะไร อีกอย่างคือไม่ไปติเขา ให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดด้วยตัวเอง ถ้าเขากล้าที่จะเฟลและพร้อมที่จะเรียนรู้ เขาจะกล้าลองทำอะไรใหม่ๆ และจะประสบความสำเร็จ”
รู้ว่าอะไรกำลังมาและจะรับมือกับมันอย่างไร
“เราไม่ได้รู้เทรนด์หรือความเคลื่อนไหวก่อนคนอื่นในโลกนะ (หัวเราะ) แต่นิสัยของเราคือเป็นคนชอบอ่าน การอ่านหนังสือทำให้เราก้าวทันสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าบางคนชอบเสพความรู้แบบถนัดฟังมากกว่า ก็แนะนำให้ลองฟัง TED Talks หรือฟังพอดแคสต์ก็ได้ แค่นี้เราก็ได้เรียนรู้แล้ว ถ้าเราไม่รักที่จะเรียนรู้ มันเท่ากับว่าเราปิดประตูทุกอย่างเลยนะ แต่เมื่อคุณเสพเยอะ คุณจะรู้เองว่าอะไรกำลังมาและจะรับมือกับมันอย่างไร
“การก้าวทันโลกไม่จำเป็นต้องเสพแต่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น จริงๆ ถ้าเราเสพแต่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียวจะทำให้เราแคบด้วยนะ อย่างเราเองเป็นคนหนึ่งที่เวลาดูงานต่างประเทศเสร็จปุ๊บ จะพยายามหาเวลาสักวันสองวันไปดูพิพิธภัณฑ์ ดูประวัติศาสตร์ ศิลปะ งานสร้างสรรค์ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเทคโนโลยีเลย
บางทีคนที่จบวิทยาศาสตร์มาทำเรื่องเทคโนโลยีจ๋าๆ อาจจะไม่ค่อยมีหัวเรื่องครีเอทีฟมากนัก ความครีเอทีฟส่วนใหญ่มักมาจากคนอีกฟากหนึ่ง เพราะฉะนั้น การจะผสมผสานโลกสองใบเข้าด้วยกัน เราต้องเรียนรู้อีกฝั่งและศึกษาเรื่องอื่นด้วย เราอ่านเรื่องเทคโนโลยีและดิจิตอลเพราะมันเกี่ยวกับงานและความชอบของเรา ในขณะเดียวกัน เราก็ให้เวลากับงานศิลปะและงานดีไซน์ในระดับหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น อย่าปิดกรอบจำกัดของตัวเอง”
เทรนด์โลกที่น่าจับตามอง
“เรื่องระดับโลกที่น่าจับตามอง น่าเป็นจะเรื่องที่คนอายุยืนขึ้น ที่เริ่มเห็นคือหลายๆ องค์กรเริ่มให้ความสนใจกับสังคมผู้สูงอายุ และเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาแก่ไปอย่างมีคุณภาพ สามารถออกไปทำอะไรให้สังคมได้ ไม่ใช่แก่แต่นอนอยู่บนเตียงอย่างเดียว ธุรกิจต่างๆ ก็มองว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจและคิดว่าจะไปเข้าร่วมกับปรากฏการณ์นี้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คนรุ่นลูกหลานที่มีกำลังซื้อนี่แหละ ก็เป็นคนที่ห่วงใยผู้สูงอายุ และซื้อบริการต่างๆ ให้”
จากประโยชน์ขององค์กร สู่ประโยชน์ของประเทศ
“การที่องค์กรต่างๆ เข้าใจหลักของ Corporate Innovation จะช่วยสร้างประโยชน์ในระดับประเทศมากมาย อย่างแรกคือจะช่วยเพิ่มโอกาส สร้างงาน และสร้างคน อย่างที่สองคือ บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีวัตถุดิบที่เป็น raw material เยอะแยะ แต่กลับโดนต่างประเทศเอาวัตถุดิบของเราไปเพิ่มมูลค่าให้ประเทศเขา สิ่งที่สำคัญคือเราจะดึง know-how พวกนั้นกลับมา และเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ ไปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเราได้อย่างไร เพื่อทำให้เงินมันไหลเวียนอยู่ในบ้านเรามากขึ้น
“เพราะฉะนั้น innovation ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าในรูปแบบธุรกิจไหนก็ตาม มันช่วยให้ประเทศก้าวหน้าอยู่แล้ว อีกมุมหนึ่งคือการที่เรามีนวัตกรรมใหม่ๆ มันดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศเรา ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้นด้วย”
Techsauce Global Summit 2019
ไฮไลต์ของงาน Techsauce Global Summit 2019 ปีนี้คือการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมที่เมื่อก่อนอาจจะมองว่าเป็นงานที่จำกัดแค่สตาร์ทอัพ บริษัท และนักลงทุน แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีมันเกี่ยวข้องกับทุกชีวิต เนื้อหาของปีนี้จึงมีตั้งแต่ภาคการศึกษา อาชีพอะไรกำลังมา อาชีพอะไรจะถูก AI ทดแทน เราต้องปรับตัวอย่างไร
เทรนด์ธุรกิจต่างๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เข้ามา เขาจะเข้าใจเทคโนโลยีและพฤติกรรมของลูกหลานมากขึ้น เป็นการลดช่องว่างของผู้ใหญ่และเด็กๆ ให้ปรับจูนเข้าหากัน
อ่านตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่
– อาร์ชวัส เจริญศิลป์ | อธิบายทางรอดของธุรกิจผ่านประสบการณ์ไปกับ HUBBA สตาร์ทอัพที่กำลังเติบโต