ท่ามกลางผู้เล่นจำนวนมากที่กระโจนเข้าสู่อาณาจักรของสตาร์ทอัพ มีเพียง 2% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ความจริงนี้อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป
จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน บริษัท ฮับบา จำกัด หนึ่งในสตาร์ทอัพของเมืองไทยที่กำลังเติบโตด้วยดี และเป็นหนึ่งใน Startup Ecosystem Builder ของเมืองไทยที่ช่วยรองรับและผลักดันให้เหล่าสตาร์ทอัพเติบโตอย่างแข็งแรง ได้นำโครงการ Corporate Innovative มาสร้างสะพานให้กับสตาร์ทอัพและบริษัทต่างๆ ให้สามารถร่วมงานและเติบโตไปด้วยกันโดยการพึ่งพากัน เพื่อให้คนทำธุรกิจเห็นทางออกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
SURVIVING THE DIGITAL DISRUPTION
“หากถามว่าคนที่ถูกดิสรัปต์จากโลกเก่า ครั้นจะทำสตาร์ทอัพ เขาต้องมาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดเลยหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดก็ได้ แต่ควรเริ่มศึกษาทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไปมากกว่า โดยที่คุณจะต้องรู้ว่า freemium คืออะไร subscription ทำอย่างไร circular economy เป็นอย่างไร ผู้เล่นหรือผู้ประกอบการคนอื่นคือใคร เป็นคู่แข่งหรือพาร์ตเนอร์ หรือเป็นทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน
“แล้วจะทำยังไงให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต สมัยที่เอดิสันผลิตหลอดไฟมาแล้วอีกห้าสิบปีต่อมาจึงมีการผลิตโทรทัศน์ แบบนั้นมันมีช่วงเวลาให้สังคมและธุรกิจปรับตัว แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแทบจะพร้อมๆ กัน นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองก็ล้วนมีผลต่อทิศทางของธุรกิจทั้งสิ้น ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดคือเริ่มเร็ว เรียนรู้เร็ว แล้วไปต่อ“
HOW TO BUILD AN INNOVATIVE CULTURE
“Corporate Innovation ไม่ใช่การดูเรื่องดิจิตอลเทคโนโลยีอย่างเดียว เราดูเรื่องวัฒนธรรมองค์กรด้วย การทำงานในอนาคตจะเป็นยังไง การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเขาทำกันยังไง ฮับบาก็จะช่วยองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องดิจิตอลเทคโนโลยีและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งความยากที่สุดของการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรคือเรื่องของคน บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนพูดว่า บริษัทเก่าแก่ คนในองค์กรอยู่มานาน มายด์เซตเปลี่ยนไม่ได้ หรือคนของเราไม่ครีเอทีฟ ทำอย่างไรก็จะทำอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าอะไรทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เราก็จะรู้ว่าจะช่วยเขาสร้างมายด์เซตที่เหมาะสมสำหรับอนาคตได้อย่างไร
“แต่ถ้าองค์กรเรามีขั้นตอนในการอนุมัติทุกอย่างตั้งแต่ขอเข้าห้องน้ำไปจนถึงเมนูอาหารกลางวัน ถึงการเสนอโปรเจ็กต์ เราก็ไม่ควรสงสัยว่าทำไมคนของเราถึงไม่มีความคิดริเริ่มหรือความคิดสร้างสรรค์ เพราะวัฒนธรรมองค์กรของเราทำให้การมีความคิดริเริ่มเป็นเรื่องยาก เราสร้าง permission seeking culture ที่ไม่เหลือที่สำหรับการสร้างสรรค์หรือคนครีเอทีฟ ซึ่งพวกเขาก็จะหายไปทีละคนสองคนจนหมด”
INNOVATION AND SOFT SKILL
“เราสามารถสร้าง innovative culture แก้ปัญหาเรื่องคนและองค์กรเหล่านี้ได้ด้วยกระบวนการและเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรม โดยปรับใช้และเพิ่มความสำคัญที่คนและวัฒนธรรมควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ไม่ว่าธุรกิจจะเปลี่ยนแนวทางหรือรูปแบบยังไง เทคนิคในการบริหารคนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นมาก เขาถึงบอกว่าในอนาคตสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ soft skills (EQ) คนจะมีทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยลง เนื่องจากเขาดีลกับเทคโนโลยีมากขึ้น แล้วเทคโนโลยีก็สปอยล์ เราอยากได้อะไรมันก็ให้ ฉะนั้น คนที่มีทักษะในการจัดการกับมนุษย์ที่ดีจึงจำเป็นมากในอนาคต
“ทักษะที่ว่านี้ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพที่ขาด ในบริษัทก็ขาด คนลาออกจากงานเพราะไม่สามารถจัดการความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานได้ แต่บริษัทเล็กโดยเฉพาะสตาร์ทอัพเด็กๆ จะเยอะกว่า ธรรมชาติเขาจะเหมือนๆ กัน คุยกันรู้เรื่องง่าย เลิกงานไปดื่มเบียร์ ไปปาร์ตี้ด้วยกัน ขณะเดียวกันคนที่เป็นซีอีโอก็มีลูกน้อง เขาก็ต้องใช้ soft skills ในการบริหารจัดการคน ทำยังไงให้ทุกคนมองทิศทางของบริษัทไปในทางเดียวกัน ให้เขารู้สึกตื่นเต้นกับอนาคตของบริษัทเหมือนที่เรารู้สึก ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่ใช่แค่ที่ทำมาหาเงิน แต่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสตาร์ทอัพของเมืองไทยให้ประสบความสำเร็จ”
CREATE THE IMPACT
“การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สตาร์ทอัพหรือไม่สตาร์ทอัพต้องมี fundamental business skills (ทักษะพื้นฐาน) และ resource (ทรัพยากร) หากทักษะยังไม่ถึงหรือทรัพยากรยังไม่มี เขาก็จะตายไป แต่สตาร์ทอัพจะไม่ตายแล้วตายเลย มันจะรีไซเคิล อันนี้ไม่เวิร์ก ไปทำธุรกิจอื่นต่อ เป็นธรรมชาติของเขาที่จะลงมือทำ ล้มเหลว เรียนรู้ แล้วทำต่อไปเรื่อยๆ จนเก่งขึ้น จนมีความรู้มากขึ้น ที่สุดแล้วเขาจะเจอธุรกิจที่เขาไปต่อได้
“ฮับบาจึงสร้างแพลตฟอร์มให้คนมีโอกาสได้เน็ตเวิร์กกัน บริษัทอยากเจอใครก็จัดให้เขามาเจอกัน หรือถ้าอยากจะให้เป็นทางการหน่อยเราก็มีเป็นผลิตภัณฑ์เลย อาจจะเคยได้ยินเรื่องแฮกกาธอน ซึ่งก็คือเวทีแสงความสามารถของสตาร์ทอัพกันไปบ้างแล้ว
“กล่าวคือบริษัทจะมีโจทย์ มีปัญหาที่บริษัทอยากจะเชิญคนข้างนอกมาช่วยแก้ เราก็มีหน้าที่รับโจทย์จากบริษัทมา กระจายข่าวไปให้ว่าใครมีไอเดีย มีเทคโนโลยีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ให้สมัครเข้ามาในแฮกกาธอนของเรา แล้วเขาก็จะเอาโจทย์ที่บริษัทวางไว้ให้ไปแฮกหาวิธีการ สร้างธุรกิจที่จะแก้ปัญหานี้ขึ้นมา แล้วไปพรีเซนต์ ถ้าเราไม่มีแฮกกาธอน สตาร์ทอัพก็ไม่มีเวทีแสดงความสามารถซึ่งก็จะยากที่จะสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้”
เรื่อง: ศิริวรรณ สิทธิกา
อ่านตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่