ความกลัวเป็นความรู้สึกที่ผู้คนต่างหลีกหนีและอยากได้มาไว้กับตัวอย่างน่าประหลาด ในมุมแรกเราไม่ต้องการให้ตัวเองกลัวในสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อชีวิต ตั้งแต่กลัวว่าจะไม่มีเงินใช้ กลัวไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือแม้กระทั่งกลัวสิ่งลึกลับที่อาจจะทำอันตรายกับตัวเรา แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความกลัวนั้นก็เป็นแรงผลักดันให้หลายคนก้าวข้ามความกลัวไปได้จนประสบความสำเร็จในการทำงานมีเงินใช้จ่าย สร้างผลงานจนใครๆ ต่างก็ชื่นชม ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความฟินให้ตัวเองผ่านหนังสยองขวัญหรือฟังเรื่องเล่าที่หลอกหลอนทุกคืนจนหลับไปก็มี
การเล่นกับความรู้สึกของคนก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของคนทำงานศิลปะ โดยเฉพาะงานภาพยนตร์หรือซีรีส์นับไม่ถ้วนที่จะใช้ความกลัวนี้เป็นเครื่องมือในการเชื้อเชิญคนดูให้ติดตามเรื่องราวจนแทบไม่อยากกะพริบตา
ความกลัวนอกจากจะเร่งเร้าอะดรีนาลินของคนให้สูงขึ้นจนสามารถทำอะไรที่เหลือเชื่อได้แล้ว ยังทำให้เรามานั่งคุยกับ พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับ SLEEPLESS SOCIETY THE SERIES ที่มีเรื่องแรกในซีรีส์กำลังออกฉายคือ แพ้กลางคืน (NYCTOPHOBIA) ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในตอนนี้ว่าความหลอนระทึกที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ตอนนั้น เขาจับอารมณ์ร่วมของคนดูไว้ได้อย่างไร และในวันนี้มองเห็นความวิตกกังวลอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัวของคนยุคนี้บ้าง
เวลาที่เจองานยากๆ ท้าทายมากๆ เราจะเกิดความกลัวขึ้นมา ซึ่งความกดดันนี้จะเป็นแรงผลักดันให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองและทำงานชิ้นนั้นออกมาได้ดีกว่างานที่รู้สึกว่าอยู่มือแล้ว ชิลๆ แล้ว โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งต้องอาศัยความรู้สึกแบบนี้เข้ามาช่วยอย่างมาก คุณเองในฐานะของคนที่ทำงานด้านนี้เคยคิดแบบเดียวกับเราไหม
ไม่นะ ผมเองจะมีทฤษฎีว่างานที่เราจะผลักดันได้ดีที่สุดคืองานที่เราจะต้องมีสติได้มากที่สุด เพราะถ้ากลัวแล้วเราจะอยู่ด้วยความวิตก สำหรับเรารู้สึกว่าเวลากลัวแล้วสติจะไม่ดี เราต้องไม่กลัวแต่ต้องจดจ่ออยู่กับงาน ความท้าทายมีอยู่แล้วแต่อย่าไปกลัว ให้รู้เท่าทันว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วก็มีสติ แบบนี้จะขับเคลื่อนงานได้ดีกว่าการที่ทำไปด้วยความกลัว
แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ความกลัวจะทำให้เราทำอะไรที่เหนือกฎเกณฑ์ได้ เราทำงานแบบสบายๆ ตั้งมั่น มีสติ น่าจะทำให้งานเคลื่อนไปได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นอะไรที่ต้องพร้อม ณ ตอนนั้น เราสามารถเอาความกลัวมาเป็นสิ่งเริ่มต้นได้ แต่กลัวแล้วต้องเอาชนะด้วยสติ แล้วก็ตั้งใจว่าถ้างานเป็นแบบนี้ เราจะแก้ไขอย่างไร จะเล่าเรื่องอย่างไร และซีรีส์ที่ผมทำอยู่นั้นต้องการความมีสติสูงกว่าละครปกติที่ใช้แค่ตัวละครคุยตอบโต้กันไปมา
คุณใช้วิธีอะไรในการดีลกับความกดดันในตัวเอง
ความกลัวที่เกิดจากการรับโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ จะมีสิ่งที่เรารับมือไม่ได้อย่างเช่น ‘ทำอย่างไรถึงจะได้ดาราคนนี้มา’ ‘ดาราคนนี้จะมาไหม’ สิ่งนี้เป็นความกลัวเพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ผมก็จะใช้วิธีว่าถ้าไม่ได้คนนั้นมาเล่นก็ปล่อยวาง ใช้หลักธรรมเข้ามาช่วยเตือนสติ นั่นคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหตุแห่งทุกข์คือ ‘อ๋อ ถ้ามึงคิดมากว่ากลัวไม่ได้ดารา มึงก็เลิกคิดสิ พอเลิกคิดมึงก็เลิกกลัว’ ใช้อริยสัจ 4 ในการคลายความเครียด ถ้ากำลังกลัวว่าจะถ่ายไม่เสร็จ ก็คิดว่าแล้วถ่ายไม่เสร็จจะเป็นยังไง เครียดไปได้อะไรไหม พอคิดแล้วไม่ได้อะไรมาก็เลิกคิด ก็เท่านั้น
สมัยที่คุณทำหนังเรื่องแรกคือ ไอ้ฟัก คุณใช้วิธีคิดแบบนี้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยหรือเปล่า
ผมใช้วิธีถ่ายไปก่อน ถ่ายให้เยอะๆ (หัวเราะ) หนังสมัยนั้นเขาถ่ายฟิล์มกัน 200 ม้วน ผมก็ถ่ายไป 600 ม้วน ถ่ายให้ได้เยอะมาก่อนแล้วค่อยเอาเข้าห้องตัดต่อ งบที่เขาให้มา 20 ล้านก็กลายเป็น 23 ล้าน (หัวเราะ) ผมใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้งานทำได้ก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะแบกความกังวลกลับมาตลอด ถ้าถ่ายไม่พอใจก็เอาอีก น้องที่เป็นผู้ช่วยก็แซวว่า ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง ทิ้ง ทิ้ง ทิ้ง ทิ้งเงินตลอดเลย (หัวเราะ)
สมัยก่อนถ่ายฟิล์มใช้เงิน 4,000 บาทต่อม้วน ถ่ายได้ 4 นาที ตอนนั้นทองบาทละ 8,000 บาท ถ่ายกันแป๊บๆ ก็เสียงทองไป 50 สตางค์แล้ว (หัวเราะ) แต่เพราะเราไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่าที่ถ่ายมาพอหรือยัง เลยถ่ายให้เยอะๆ แล้วพอมาตัดต่อก็จะเอามาย่อยได้ แต่ก็มีผลเสียตรงงบประมาณ การทำแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่เราก็ไม่ต้องแบกความกังวลเอาไว้กับตัว
การใช้เงินแก้ปัญหานี้ทำให้เราคิดถึงกองถ่ายหนังหลายๆ เรื่องที่มักจะมีข่าวว่างบบานปลายเท่านั้นเท่านี้อยู่เสมอ แสดงว่าวิธีการนี้คือเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของการทำงานประเภทนี้จริงๆ ใช่ไหม
ผมว่าใช่ ทุกวันนี้ก็ยังใช้เงินแก้ปัญหา เพราะถ้าเขามอบหมายให้ผมทำแล้วให้ทุนมา 20 ล้านบาท แต่หมดไปแล้ว 20 ล้านบาทก็ยังถ่ายไม่เสร็จต้องเพิ่มเป็น 24 ล้านบาทก็ต้องเพิ่ม ผมจะมุ่งมั่นอย่างนี้เสมอ เพราะสิ่งที่ผมได้กลับมาตลอดคือ งานทุกชิ้นออกมาแล้วเราพอใจ เราทำได้ดีที่สุดแล้ว เรามองว่าเป็นการลงทุน
เหมือนกับซีรีส์ แพ้กลางคืน (NYCTOPHOBIA) เราก็ใช้ช่างภาพสายภาพยนตร์ ค่าตัวก็จะสูงกว่าช่างภาพละคร แต่ผมลงทุนเพราะจะทำให้งานของเราเข้าไปอยู่ใน Netffllix ได้งานของเราอยู่ในนั้นได้โดยไม่อายคนอื่น แล้วถ้าทาง Netffllix เห็นว่าเราทำได้ ผลงานเราดี อยากให้เราทำ Netffllix Original ให้ ทีนี้เรื่องก็จะไม่ได้จบอยู่ที่เราต้องการเงินจาก Netffllix ที่ 50 ล้านบาท เพราะถ้าเขาชอบจริงๆ 300 ล้านบาทเขาก็ให้เราได้
เราถึงบอกว่านี่คือการลงทุน และไม่ใช่แค่ Netffllix เท่านั้น ต่อไปเมื่อ Disney+ มา หรือเฟซบุ๊กจะลงมาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับหนังหรือซีรีส์ GMM Studio International จะต้องเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่พวกเขาอยากเข้ามาคุยด้วย
ตอนที่หนังเรื่อง ไอ้ฟัก ออกฉาย จำได้ว่ากระแสมีทั้งชอบและไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบก็ถึงขนาดที่ว่าคุณทำลายเนื้อหาของบทประพันธ์กันเลย ตอนนั้นคุณกลัวไหมกับการทำงานที่อยู่บนความคาดหวังของคนจำนวนมาก
ผมบอกตั้งแต่แรกเลยว่าผมไม่ได้ทำหนังให้ออกมาเหมือนหนังสือ เพราะตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะไม่ทำแบบนั้น ผมอยากนำเสนอว่าไอ้ฟักรักสมทรง ซึ่งคนที่อ่านหนังสือทั้งหมดก็จะบอกว่า ‘ไม่จริง ไอ้ฟักมันไม่มีทางรักสมทรงได้’ แล้วเราจะไปกลัวทำไม ในเมื่อก็รู้อยู่แล้วว่าคนเขาจะด่า ไอ้ฟักคือคนที่เป็นยอดมนุษย์ เจอผู้หญิงสวยๆ นอนอยู่ข้างๆ บางวันก็ผ้าหลุดต่อหน้า แล้วเขารักผู้หญิงคนนี้มาก แต่ไปยุ่งไม่ได้เพราะเป็นเมียพ่อ แปลว่าไอ้ฟักมีความอดกลั้นสูงกว่าคนอื่นที่พูดว่า ‘อุ๊ย ไอ้ผู้หญิงสกปรก กูไม่เห็นอยากเอามึงเลย’
เมื่อผมเลือกทางนี้แล้ว ก็ไม่เห็นต้องกลัว อยู่เผชิญหน้ากับมันไป คนชอบหนังก็คงมี คนที่รักบทประพันธ์มากไม่อยากให้เราแตะต้องก็มี เป็นเรื่องธรรมชาติ สำหรับผม งานไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเอาต้นฉบับหรือสร้างขึ้นมาใหม่ แต่สิ่งที่เราเลือกทำนั้นแม่นยำไหม ถ้ารู้ว่าอยากทำอะไร เราก็จะไม่กลัว แต่ถ้าคิดแต่ว่า ‘ทำแบบนี้ดีไหมวะ หรือทำแบบนี้ดีวะ’ พอมีความลังเลก็จะกังวลแล้วก็กลัว
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการทำงานคือผู้กำกับไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะคนอีก 30 คน ที่อยู่ข้างหลังเขาก็จะหันมาถามว่า ‘พี่เอาไง’ ถ้าเราตอบว่า ‘เออ เอาแบบนี้ไปก่อน’ แล้วพอทำไปแล้วไม่ใช่ ขอลองแบบนี้แล้วกัน งานก็จะออกมาดีได้ไม่สุด สิ่งแรกที่ทีมงานต้องการจากผู้กำกับคือทิศทางที่ชัดเจน เพราะชื่อผู้กำกับคือ director หน้าที่คุณคือให้ direction คุณเองยังไม่แน่ใจว่าจะขาวหรือจะดำ ถ้าคุณไม่แน่ใจแล้วใครจะแน่ใจ ผู้กำกับต้องเป็นคนแน่ใจที่สุด ขาวไปเลย ขาวเพราะอะไรก็ว่าไป ถ้าจะทำงานอย่างนี้ต้องตัดสินใจ ฟันธง แล้วก็ลงมือทำ
เรารู้มาว่าโปรเจ็กต์ SLEEPLESS SOCIETY THE SERIES เป็นการร่วมทุนสร้างของที่ฟ้า สตูดิโอส์ กับทาง Netflix ซึ่งการทำงานร่วมกันแบบนี้ช่วยลดความกลัวที่เกิดจากความเสี่ยงของการทำซีรีส์ในยุคปัจจุบันได้บ้างไหม
ใช่ส่วนหนึ่ง และข้อดีของการร่วมงานกับ Netffllix คือเราสามารถคิดเนื้อหาที่ข้ามบริบทของคนดูในบ้านเราได้ เพราะขอบเขตของคนดูซีรีส์หรือละครที่คนไทยชอบนั้นทำให้ยากต่อการพัฒนาเนื้อหาให้ไปยังตลาดต่างประเทศได้ คนที่ดู Netffllix เขาอยากจะดูอะไรที่แตกต่าง อยากดูอะไรที่เขาหาดูในช่องทีวีธรรมดาไม่ได้ เราจึงต้องลองทำอะไรที่แปลก
และบวกด้วยความเสี่ยง ถ้าเราสร้างขึ้นมาแล้วมีฐานคนดูในเมืองไทยประมาณ 50 แล้วได้คนดูจากเมืองนอกอีก 50 นั่นคือความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ และทำให้เกิดโอกาสที่จะทำซีรีส์ที่ไม่มีทางทำได้ในสถานการณ์ปกติให้มีโอกาสเบ่งบานได้ ผมจึงพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อให้มันมีอนาคต เพราะเราตั้งเป้าว่า GMM Studio International ต้องไปให้ได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เลยต้องลองเสี่ยงกันสักหน่อย
ถามตรงๆ เลยว่าทาง Netflix เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของคุณแค่ไหน
SLEEPLESS SOCIETY THE SERIES เป็นการซื้อคอนเทนต์ล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้น เขาก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไร และเป็นชิ้นงานที่เราบอกว่าเราจะทำแบบนี้ คุณอยากซื้อไหม แต่ถ้าเป็นซีรีส์ เคว้ง โดย เอกชัย เอื้อครองธรรม นั้นเป็น Netffllix Original Series ทาง Netffllix เองจะดูละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่บท การประชุมบท การเลือกนักแสดง การตัดต่อ นี่ก็เห็นว่าทีมงานบินมาดูตอนตัดต่อแทบทุกอาทิตย์ (หัวเราะ)
หนังผีของไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างประเทศมานานแล้วในเรื่องของความน่ากลัวที่หลายเรื่องก็น่ากลัวจริง แต่ถ้าเป็นหนังลึกลับระทึกขวัญเรากลับคิดว่ายังต้องพิสูจน์กันอีกยาว คุณมั่นใจแค่ไหนว่าจะมอบความเขย่าขวัญนี้ให้กับคนดูได้
ซีรีส์แนว Suspense Thriller โดยชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องระทึกขวัญ ทำให้คนชวนสงสัย ทำให้คนสะพรึง แน่นอนว่าต้องมาจากบทที่แข็งแรง และมีเงื่อนไขของบท ถ้าเราเขียนละครทั่วไปหนึ่งตอนก็เขียนไป 24–25 หน้าจบ แต่ถ้าเราจะทำเป็นซีรีส์ต้องคิดว่าเบรกแรกจบด้วยอะไร ทำไมคนถึงอยากดูเบรกต่อไป เบรกสองจบด้วยอะไร ทำไมคนถึงอยากดูเบรกสาม เราจะเขียนเป็นเบรกๆ เลยเพื่อให้รู้ว่าต้องจบตรงนี้ อะไรที่พาคนดูให้เขาอยากรู้ เราก็ตัดเข้าโฆษณา ไม่อย่างนั้นคนก็ไม่อยากดูต่อไป
ความสะพรึงที่ว่า นอกจากต้องเล่นกับอารมณ์คนดูแล้ว ยังมีความกดดันจากคนดูอีกกลุ่มที่เขาต้องการความแตกต่างด้วย คุณจะทำอย่างไรให้เรารู้สึก เฮ้ย! กับซีรีส์เรื่องนี้ได้
พล็อตเรื่องบางทีเราก็ดิ้นกันได้ไม่มาก คนดูอาจจะรู้สึกว่าเหมือนกับซีรีส์ของต่างประเทศบางเรื่องหรือเหมือนกับของบ้านเราด้วยกันนี่แหละ แต่ความแตกต่างสามารถทำได้จากลีลาที่มาจากรายละเอียดที่เราซ่อนไว้ ซึ่งไม่มีทางเหมือนใครแน่นอน และสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้ความแตกต่างคือการทำให้คนดูมีความกระหายใคร่รู้จริงๆ
ตอนที่เริ่มเขียนบท ผมเอาคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาช่วยกันให้ความเห็น ให้เขาอ่านบททีละเบรกแล้วก็หยุด แล้วก็ถามเขาว่าอยากรู้อะไร ถ้าจบเบรกแรกเขาสงสัยว่าเด็กคนนี้เป็นใครก็ถือว่าเป็นการตอบรับที่ดี แต่ถ้าจบเบรกแรกแล้วเขาบอกไม่สนใจเลย เด็กจะเป็นใครผมไม่เห็นเกี่ยว แบบนี้คือจบเลย ดังนั้น จึงต้องเขียนบทจนเกิดคำถามว่า ‘เฮ้ย มันเป็นใครวะ’ พอเข้าเบรกสองคุณคิดว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของตัวเอกหรือเปล่า บทต้องมีคำถาม มีข้อสงสัยไปได้ตลอดเวลา
ผมใช้วิธีทดสอบทั้งกับตัวเองในฐานะผู้อ่านเป็นคนแรกที่จะคอมเมนต์คนเขียนบท แล้วก็เอากลุ่มเป้าหมายเข้ามาช่วยกรองเพื่อให้มั่นใจว่าบททำให้คนสงสัยได้แล้วนะ บทมันพลิกผันแล้ว พอถึงตอนถ่ายทำก็เพิ่มลีลาเข้าไปอีก
แต่ทำเสร็จแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าซีรีส์ทำให้คนเกิดความสงสัยได้ ผมก็ต้องเอาคนมาดูอีกที ตัดต่อเสร็จก็เอาคนมาดู รับฟังว่าเขาจะตอบกลับเรามาแบบไหน เขาจะสงสัยไหมว่าเด็กคนนี้เป็นใคร สงสัยตัวละครในเรื่องหรือเปล่า ถ้าเขาบอกว่าสงสัยในเรื่องที่เราวางหลุมเอาไว้ก็ถือว่าสิ่งที่ทำนั้นมีคุณภาพ
ตอนนี้ที่ซีรีส์ฉายอยู่ผมก็เข้าไปอ่านในทวิตเตอร์ ก็พบว่าคนดูเขาทายเนื้อเรื่องตอนต่อไปกันอย่างสนุกสนาน เช่น เด็กคนนี้จะต้องร่วมมือกับคนนี้ หรือเป็นเด็กบ้านเลี้ยงเด็กแอบมา หรือในช่วงเบรกเขาก็จะทายว่า ‘เฮ้ยๆ มันจะไปฆ่าหมอปะวะ’ ‘เฮ้ย อย่านะ’ ‘เฮ้ย ถือมีดกับหมาได้ยังไงวะ’ สิ่งนี้ตอบได้ว่าคนที่ดูเขามีส่วนร่วมกับความสงสัยที่เราสร้างขึ้น ซึ่งความแข็งแรงก็เริ่มจากบท แล้วก็วิธีการเล่า ที่ต้องเล่าเรื่องจริงๆ ไม่ใช่เอาคนนั้นกับคนนี้มาคุยกันแล้วถือว่าเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องของผมต้องเล่าผ่านกล้อง ผ่านการถ่ายภาพด้วย
เราจะพบว่าหนังสยองขวัญจะมีสูตรบางอย่างที่มักเอามาใช้ประจำเพื่อให้คนดูรู้สึกตกใจ จนตอนนี้มุกที่แปลกใหม่ก็กลายเป็นมุกที่เกร่อไปแล้ว คุณระวังไม่ให้ตัวเองติดกับดักวิธีสร้างความกลัวแบบซ้ำๆ ในผลงานของตัวเองอย่างไร
ความกลัวบางอย่างเราสามารถจับอารมณ์คนดูได้ เช่น ใช้กล้องถ่ายข้ามไปข้างหลังตัวละครให้เห็นเงาดำๆ ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา นี่คือศาสตร์ที่เราพอจะรู้ในการเอามาใช้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เราใช้สูตรนั้น ถูกคนเห็นจนจับทางได้หรือเปล่า ถ้าจะทำให้คนดูกลัวต้องทำให้สิ่งนั้นไม่อยู่ในความคาดหวัง เหมือนคุยๆ กันอยู่แบบนี้ มีเสียงดังขึ้นมา ปัง! แบบนี้ คุณก็จะตกใจ แต่ถ้าผมบอกว่าเดี๋ยวคุยกันสักพักจะมีเสียงดังเกิดขึ้นนะ คุณก็ไม่ตกใจ
จะทำให้ ปัง! แต่ละทีก็ต้องอาศัยความแม่นยำในจังหวะถ้าพลาดนิดเดียวถือว่าแป้กเลย
ใช่ แต่เขาก็จะมีสูตรแพนกล้องซ้ายขวา หนึ่ง สอง ไม่เจอ หันไปอีกทีเจอ ปัง! พอนึกภาพตามได้ใช่ไหม เป็นจังหวะพื้นฐานที่คนดูรู้ทางแล้ว แต่ถ้าหนึ่ง สอง สาม ไม่เจอ แล้วมาจังหวะที่สี่ ปัง! คนก็อาจจะตกใจ การสร้างความสะพรึงทุกอย่างต้องเล่นกับความไม่คาดหวัง เพราะถ้าอยู่ในความคาดหวังของคนดู เขาจะจับได้แล้วไม่เกิดความรู้สึกอะไร ผมจึงทำให้ แพ้กลางคืน (NYCTOPHOBIA) เป็นอาการที่คนดูสูญเสียความมั่นใจในตัวเองว่าต่อไปจะเกิดอะไร ตกลงเด็กคนนี้จะทำอะไร ผู้ชายคนนั้นหวังดีหรือไม่หวังดี นี่คือความรู้สึกที่ผมต้องการให้เป็นหัวใจของซีรีส์นี้
มีคนมากมายเหลือเกินที่พบว่าพอตัวเองอายุได้เพียงสามสิบกลางๆ ก็เริ่มจะหมดไฟ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองหมดโอกาสที่จะทำอะไรใหม่ๆ ต่อไปแล้ว ได้แต่ใช้ชีวิตแบบเรื่อยๆ ซังกะตายไปวันๆ แต่ในงานสายผู้กำกับนั้นเรื่องของวัยอาจจะไม่เป็นตัวแปรมากสักเท่าไหร่ เพราะเรายังเชื่อว่ามุมมองของคนที่ผ่านประสบการณ์มาเยอะจะยิ่งเพิ่มความเก๋าให้กับผลงาน แต่จุดที่ทำให้อาชีพนี้ไม่ค่อยมั่นคงในบ้านเรานักนั้นยังมีข้อจำกัดอะไรอีกไหมที่ทำให้ผู้กำกับบ้านเราไม่สามารถที่จะผลิตผลงานออกมาได้เรื่อยๆ แบบผู้กำกับในต่างประเทศ
ผมว่าถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ข้อจำกัดใหญ่ๆ น่าจะมีอยู่สองอย่างคือเรื่องของสุขภาพ เพราะการออกกองแต่ละครั้งต้องใช้พลังเยอะ ทั้งกำลังร่างกายและความคิด ผู้กำกับบางคนเครียดจนถึงขั้นล้มลงไปตอนถ่ายทำเลย เพราะทำงานแบบนี้จะเครียดตลอดเวลา ต่อมาคือกำลังล้วนๆ เลย คุณต้องวิ่งไปสถานที่ ต้องไปบรีฟ ต้องไปรับบรีฟ ถ้าคุณผ่านสองเรื่องนี้ได้ก็เหลือแค่เรื่องที่จะเล่าแล้ว
คุณอายุ 50 ปี แต่กำลังเล่าเรื่องให้คนอายุ 30 ปีดู เขาอยากดูสิ่งที่คุณเล่าแค่ไหน ผมว่าที่ผู้กำกับชาวต่างชาติเขาทำได้เพราะเขาเล่าเรื่องที่คนรุ่นหลังยังอยากดู แต่ก็มีนะที่ผู้กำกับแก่ๆ มาเล่าแล้ว โอ๊ย ไม่อยากดูแล้ว (หัวเราะ)
แต่ถ้าเป็นเรื่องของนายทุน เราคิดว่าคนลงทุนเองก็อยากเลือกที่จะทำงานกับเด็กๆ เพราะเด็กคุยง่าย กดๆ มันไป สั่งมันได้ พอไปทำกับผู้ใหญ่ โห แม่งเงินก็เงินกู บอกอะไรมันไม่ได้ อยากด่ามันฉิบหายเลย (หัวเราะ) นึกออกใช่ไหม
งานสายนี้เป็นการทำงานของคนกับคน เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผู้กำกับหนังไทยที่อายุมากแล้วไม่มีผลงานออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของผู้ลงทุนที่ไม่มั่นใจมากกว่า แต่ก็ยังมีคนที่กำกับถึง 50 60 70 ให้เราเห็นอยู่พอสมควร แต่บางทีปัญหาก็อยู่กับผู้ลงทุนมากกว่าปัญหาเรื่องศักยภาพของร่างกาย
คนรุ่นใหม่ที่พบเจอมาจะมีปัญหาเรื่องความกลัวนำชีวิตมาก่อนเลย กลัวทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลองทำ กลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวว่าจะเขียนจะสัมภาษณ์ได้ไม่ดี กลัวคนสัมภาษณ์จะดุหรือไม่ตอบคำถามของเขา ในฝั่งของคนทำหนังหรือซีรีส์อย่างคุณ อยากรู้ว่าคนรุ่นใหม่ในสายงานนี้เขากลัวเรื่องอะไรกันบ้าง
เด็กๆ เขาจะกลัวว่าทำงานแล้วไม่ได้เงินมากกว่าคนรุ่นก่อนเขา ผมว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่พวกเขากังวลมากที่สุด ทำแล้วได้เงินเท่าไหร่ เขากลัวว่าจะโดนโกง ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือกระทั่งกลัวได้เงินน้อยกว่าเพื่อน เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
ต่อมาก็เป็นเรื่องความลำบาก พอผลตอบแทนคือเงิน ทำงานแล้วลำบากกว่าเพื่อนแต่ได้เงินน้อยกว่า เขามองที่ความไม่คุ้มค่า ความเสียเปรียบ ถ้าให้ทำงานหนักแล้วพี่ให้เงินผมเยอะ ผมทำ แต่เพื่อนผมที่อยู่กองถ่ายอื่นเขาทำแค่นี้ได้เงินเท่านี้ พี่ต้องให้ผมเยอะกว่า มีการเปรียบเทียบอยู่พอสมควรในคนรุ่นนี้ เป็นความปัจเจกที่มองถึงผลประโยชน์มากกว่าในอดีต ในอดีตนี่ผมได้ฝึกงานกับผู้กำกับเก่งๆ ต่อให้ต้องทำฟรีๆ ผมก็ทำ เพราะผมถือว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยซ้ำ
เราเองก็เชื่อเช่นนั้น การได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ บางครั้งสิ่งที่ได้กลับมาในตอนหลังมันมากกว่าค่าแรงที่ได้รับเสียอีก ถ้าไม่ติดว่าอยู่ในสภาวะที่ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองอย่างจริงจัง แต่เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็จะมีต้นทุนที่ดีมาจากทางบ้านอยู่แล้ว
สกิลพวกนี้บางทีจ่ายเงินเรียนยังเรียนไม่ได้เลย เพราะการเรียน การทำงานแบบนี้ ต้องไปเรียนรู้จากการลงมือทำอย่างเดียว ถ้าผมไม่มีโอกาสได้ทำงานแกรมมี่ ไม่มีโอกาสได้ทำงานกับพี่หง่าว (ยุทธนา มุกดาสนิท) บอกได้เลยว่าวันนี้ก็ยังทำงานไม่เป็น ยังทำละครไม่เป็น
ผู้กำกับที่เคยมาทำงานกับพี่หง่าว จะมี 4 คนที่ทำอยู่ด้วยกันตอนนี้คือผม แล้วก็ป้อน (นิพนธ์ ผิวเณร) ตอนนี้เป็นเฮดละครช่อง ช่อง One31 สันต์ ศรีแก้วหล่อ ที่กำกับเรื่อง ล่า แล้วก็ กรันย์ คุ้มอนุวงศ์ ที่กำกับละครเรื่อง พรหมไม่ได้ลิขิต นี่คือ 4 คนที่เป็นลูกศิษย์พี่หง่าว แล้วทุกคนก็ไปทำด้วยความรู้สึกว่าต้องการเรียนรู้ ซึ่งได้ประโยชน์ แล้วตอนนี้ทั้ง 4 คนก็ทำงานอยู่ในตึกนี้ เป็นผู้กำกับละครทุกคน เพราะฉะนั้น โอกาสในการได้ร่วมงานกับมืออาชีพที่เก่งคือสิ่งสำคัญที่สุดของคนทำงานทางนี้ แต่เด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้เงินก็ไม่ทำ
การมองเรื่องรายได้และความสำเร็จเป็นเป้าหมายหลัก พอไม่ได้รับความสำเร็จหรือเสียงชื่นชมก็เกิดเป็นความท้อแท้ แล้วก็เปลี่ยนงานไปเรื่อย ทำให้เราต้องเสียเวลาในการหาทีมงานใหม่เข้ามา คุณเองมีปัญหาแบบนี้บ้างไหม
ก็มีหลายคน แต่คนที่สู้ไม่ถอยเลยจริงๆ ก็มี เรากลับมองว่าเด็กรุ่นใหม่ขยันกว่าตอนเราเป็นเด็กด้วยซ้ำ อาจจะเพราะว่าสมัยก่อนอยากถ่ายหนัง จะเอากล้องที่ไหน จะไปล้างฟิล์มที่ไหน เราไม่มีโอกาสฝึก ก็เลยไม่มีโอกาสได้ทำอะไรมาก แต่เด็กสมัยนี้ถือสมาร์ตโฟนออกไปถ่าย กลับมาโยนไฟล์เข้าคอมพิวเตอร์ ตัดต่อ เล่าออกมาเป็นหนังหนึ่งเรื่องได้แล้ว
ความท้อถอยอาจจะมาจากการที่เขาทำเยอะทำบ่อยแต่ไม่ได้รับการมองเห็นมากกว่า แต่เรื่องความกลัวในการทำงานเราว่าเขาไม่ค่อยมี ถ้าเทียบกับเราสมัยก่อน กว่าจะลั่นกล้องแต่ละทีทุกอย่างต้องเป๊ะ เพราะถ้าลั่นไปแล้วเสียเงินแน่ๆ นาทีละหนึ่งพันบาท ข้อจำกัดตรงนี้ต่างกัน ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีของคนสมัยนี้ก็คืออุปกรณ์ทำให้เข้าถึงการทำงานได้ง่าย แต่ข้อเสียทำให้คนไม่โฟกัส งานที่ออกมาไม่เข้มข้นเหมือนคนสมัยก่อน
คุณทำข้อตกลงกับทีมงานอย่างไร ในเมื่อความคิดที่แตกต่างกันของคนสองรุ่น เราเองก็อยากได้งานที่เข้มข้น แต่กับน้องๆ เขาก็บอกว่า นี่ไงพี่ ผมว่ามันเข้มข้นแล้วนะ
ทำงานกับคนก็ต้องมีศิลปะในการโน้มน้าวใจหรือวิธีการทำงานที่จะให้เขา Bring the best มาให้เราในทุกวิถีทาง แม้จะเป็นคนละรุ่นกันก็จริง แต่เรายังเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนก็อยากทำงานและได้เห็นผลงานที่ดี ดังนั้น วิธีที่จะดีที่สุดคือการโน้มน้าวให้เขาเชื่อว่างานที่เราบอกนั้นจะออกมาดี
สมมติเราทำละครทั่วไปเราอาจจะไม่ได้ทีมนักแสดงที่น่าสนใจแบบนี้ แต่พอบทออกมาแบบนี้ ส่งไปให้ดาราคนไหนอ่านเขาก็ตอบรับหมดเลย ทั้งๆ ที่เราบอกไปว่ามีเงินเท่านี้นะ ไม่เยอะ แต่พอเขาอ่านบท เขาก็ตอบตกลงเล่นให้ เพราะทุกคนเป็นคนทำงานจริงๆ เงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่หายากกว่าเงินคือโอกาสที่จะได้ทำงานแล้วได้งานที่ดี
เราคิดว่าความแข็งแรงของบทยังใช้เป็นตัวล่อได้ เพียงแต่สมัยนี้เอาบทไปล่ออย่างเดียวอาจจะไม่ได้แล้ว ต้องมีผลประโยชน์ด้วย สมัยก่อนบทนี้ดีมากคือไปเลย พี่ จัดการผมเลย พี่จะเอาผมไปทำอะไรก็ได้ฟรีๆ เลย แต่สมัยนี้ต้องมีเงินให้นิดๆ หน่อยๆ แต่ในที่สุดคือการที่เราเอาตัวงานไปทำให้เขาเชื่อ พอเขาเชื่อเขาก็ทุ่มเท แล้วจากนั้นทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น
แต่ถ้าอ่านบทแล้วก็ประมาณนั้น ก็มาขำๆ กินหมูกันไปวันๆ อันนี้ก็ไม่มีทางที่จะบิลด์อะไรเขาได้ ดีไม่ดีเขาจะบอกว่า ‘พี่จะบิลด์ไปทำไม บทมันแค่นี้ จะบิลด์ไปให้มันได้พระแสงอะไรเหรอ มันไม่มีทางเกินนี้ก็เห็นๆ กัน’ แต่ถ้าบทดีจริงๆ เราจะได้ยินเขาพูดเลยว่า ‘เฮ้ย อย่างนี้ ถ้าได้อย่างนี้ จะเป็นแบบนี้’ เห็นไหมว่าความแข็งแรงของตัวงานเป็นตัวไกด์แรกที่ทำให้นักแสดงทุ่มเท
บทที่ดีจะดึงดูดนักแสดงที่ดีให้เข้ามาหาเราเองยังใช้ได้กับวงการบันเทิงไทยอยู่ใช่ไหม
ใช่ ผมพูดจากสิ่งที่เห็น นักแสดงที่ไม่เคยทำแบบนี้เขาก็พร้อมจะทำให้ แล้วทำอย่างเป็นธรรมชาติด้วย พออ่านบทแล้วเขาเห็นว่าสนุก เขาก็ทุ่มเท อย่างเรื่องล่าสุดที่กำลังถ่ายทำอยู่ ที่ได้ออกแบบ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) เป็นนางเอก เนื่องจากต้องจ้างนักแสดงหลายท่าน เพราะในเรื่องมีตัวละครรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผมก็ต้องไปหานักแสดงมืออาชีพที่เล่นได้ดี แต่เพราะเรามีเงินน้อยเลยต้องไปเอานักแสดงละครเวทีมาเล่น พอพวกเขาอ่านบทปุ๊บ เขาก็นัดกันไปเวิร์กช็อปเองเลย การทำละคร ทำหนัง บทคือหัวใจแรกที่จะได้คนที่อยากทำงานมา อ่านบทแล้วก็อยากเล่น อ่านบทมีเงินเท่านี้ก็ยอมเพราะอยากเล่น พออ่านบทแล้วไม่เข้าใจก็นัดไปเวิร์กช็อปกันเอง มีอะไรก็ถาม ทั้งหมดเกิดจากบท เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขามา เงินทุนเราไม่ได้มีขนาดนั้น ยกเว้นว่าเราจะได้เงินจาก Netffllix Original ที่เขาจ่ายให้ในราคาคูณสิบ แบบนั้นเรื่องบทอาจจะเป็นเรื่องรอง มีเงินใช่ไหม เราพร้อมเล่นให้เลย อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้ (หัวเราะ)
แสดงว่างานอะไรก็ตามการลงมือทำคือสำคัญที่สุด ลงมือทำโดยที่ไม่ต้องสนใจว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ทำไปก่อนเพื่อให้ได้เรียนรู้ระหว่างทาง มุ่งมั่นต่อไป เดี๋ยวสักวันความสำเร็จจะมาถึงเราเองแบบที่หนังหลายๆ เรื่องนำเสนอใช่ไหม
การลงมือทำจะเป็นการบอกให้เรารู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วดีหรือไม่ดี แต่ไม่ใช่ว่าทำไปเลยโดยที่ไม่ได้วางแผน ต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไร แล้วหาวิธีทำสิ่งนั้นเสียก่อน แล้วก็ทำไปเลยอย่าลังเล แต่ถ้ายังไม่รู้ก็อย่าไปทำ เพราะถ้าทำไปทั้งๆ ที่ไม่รู้แบบนี้ไม่แนะนำ
อย่างผมเองก็มีบางวันที่ต้องไปด้นกันสดๆ หน้างาน แล้วทำให้วันนั้นของตัวเองเป็นแบบ ‘วันอะไรวะ’ การทำงานกับคน ถ้าเราเริ่มที่จะไม่ชัดเจน เขาก็จะไม่ชัดเจนกับเรา ต้องจูนให้ตรงกันได้มากที่สุด แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่มีทางจูนกันได้ตรงเป๊ะหรอก ดังนั้น คุณต้องแม่นยำเสียก่อน แต่ในความกลัวที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น กลัวความมืด กลัวความสูง กลัวงู กลัวผี อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังไงก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่เจอก็จะใจสั่น เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เรายังเอาชนะมันไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องงานก็ต้องได้อยู่แล้ว มีเป้าหมายแล้วก็ทำเลยสิ
FYI : SLEEPLESS SOCIETY THE SERIES
รับชมได้ทางช่อง ONE31 ทุกวันพุธ เวลา 21.20 น. (หลังจากออกอากาศครบทุกตอนของแต่ละเรื่องแล้วสามารถชมย้อนหลังได้ทาง Netffllix) โดยแบ่งออกเป็น 4 เรื่อง 4 อรรถรส
แพ้กลางคืน (NYCTOPHOBIA)
นำแสดงโดย ‘พลอย’ – เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ หญิงสาวที่สูญเสียลูกไป และกลายเป็นโรคเเพ้กลางคืน จนกระทั่งวันหนึ่งมีเด็กเดินเข้ามาในชีวิตและบอกว่าเขาคือลูกของเธอ
เรื่องบนเตียง (Bedtime Wishes)
นำแสดงโดย ‘พิ้งกี้’ – สาวิกา ไชยเดช แอร์โฮสเตสที่เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ไม่สามารถเดินได้ จึงไปพักผ่อนที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งแล้วพบรักกับเจ้าของรีสอร์ต แต่ชายคนนี้กลับเปลี่ยนเป็นคนอีกคนในเวลากลางคืน อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาเปลี่ยนไป และเธอเองจะต้องรับมือกับเรื่องน่ากลัวนี้อย่างไร
ไม่หลับไม่นอน (Insomnia)
นำแสดงโดย ‘ออกแบบ’ – ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นางแบบสาวที่นอนไม่หลับเพราะว่ามีฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องที่แม่ของเธอฆ่าคนในบ้านตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งเธอมีโอกาสได้กลับไปบ้านหลังที่เคยเกิดเรื่องตอนที่เธอยังเป็นเด็ก ณ เกาะแห่งหนึ่ง และพบว่าคนในเกาะนั้นไม่ต้อนรับเธอเลย
หมอนสองใบกับใจเหงาๆ (Two pillows & a lost soul)
เรื่องของผู้หญิงที่นอนไม่หลับเพราะถูกสามีทารุณกรรมจนต้องขอหย่า และได้จัดปาร์ตี้คนโสดขึ้นมา โดยในคืนนั้นเธอได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้ชายคนหนึ่ง แต่เมื่อตื่นเช้าขึ้นมากลับพบว่ามีผู้ชายที่ไม่ใช่คนที่เธอมีอะไรด้วยเมื่อคืนนอนตายอยู่ข้างๆ ยิ่งทำให้ชีวิตของเธอหลอนมากขึ้นไปอีก (อยู่ในระหว่างคัดตัวนักแสดง)
SLEEPLESS SOCIETY THE SERIES ตอน แพ้กลางคืน (NYCTOPHOBIA)
ซีรีส์ที่เริ่มต้นมาจากชื่อเพลงในอัลบั้ม SLEEPLESS SOCIETY by Narongvit ที่โด่งดังเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นซีรีส์ 4 เรื่องที่ใช้เนื้อเพลงจากอัลบั้มมาเป็นชื่อ แต่กลับไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเพลงเลย โดยตอนแรกคือ แพ้กลางคืน (NYCTOPHOBIA) นำแสดงโดย ‘พลอย’ – เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ เนื้อเรื่องว่าด้วยคนเป็นโรคนอนไม่หลับเนื่องจากรู้สึกผิดเพราะเสียลูกชายไป วันดีคืนดีมีเด็กคนหนึ่งกลับมาแล้วบอกว่า ‘ผมคือลูกแม่’ พร้อมเรื่องราวที่ชวนให้สงสัยและอกสั่นขวัญแขวนได้ในทุกตอน