หมอไบรท์

ทำไมต้องรีบฉีดวัคซีนโควิด-19? ฟังเหตุผลจาก ‘หมอไบรท์’ – นพ. อชิรวินทร์ จิรกมลชัยสิริ แห่ง รพ. บำรุงราษฎร์

“เราอยากจะปรับทิศทางตรงนี้ว่า หลังจากสัปดาห์นี้ไป เราควรจะโฟกัสตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มากกว่า เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวเลขการรับวัคซีนโควิด-19 แตะถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว นั่นหมายถึงจุดที่เราจะสามารถทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหมือนโรคหวัดธรรมดาได้ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า ทุกอย่างจะสามารถพลิกหลังมือเป็นหน้ามือ แล้วเราจะกลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติอีกครั้ง สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม”

        ‘หมอไบรท์’ หรือ นายแพทย์อชิรวินทร์ จิรกมลชัยสิริ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ, ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ: แผนกหัวใจ ประสาทวิทยา และต่อมไร้ท่อ และหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในระหว่างที่กำลังสนทนากัน เขาเป็นหนึ่งในแพทย์ที่กำลังพยายามอธิบาย และให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง เพื่อสร้างความเข้าใจว่าระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นจะมีผลดีและผลเสียอย่างไรบ้าง

        นอกจากนั้น เขายังได้ย้ำว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ตอนนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนอกจากเราจะทำเพื่อตัวเองแล้ว ยังเป็นการทำเพื่อคนที่รักในครอบครัวอีกด้วย เพราะมีตัวเลขจากสหราชอาณาจักรที่เมื่อคุณและคนในพื้นที่รอบข้างฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว แม้ว่าคนในครอบครัวจะยังไม่ฉีด แต่โอกาสการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อจะลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะดูเป็นตัวเลขที่ฟังดูไม่มากนัก แต่หากมีคนฉีดวัคซีนกันถึง 60-70% จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และแน่นอนว่าโอกาสการกลับสู่สถานการณ์ปกติคงไม่ไกลเกินฝัน

ช่วงนี้คุณเตรียมการสื่อสารเรื่องโรคระบาดอย่างไร

        ช่วงนี้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทำงานกันอย่างหนักเพราะนอกจากการดูแลคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ ต้องสื่อสารกับทางลูกค้าและคนไข้ค่อนข้างมาก เราจึงนำคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ ที่ได้รับทุกวันมาจัดกลุ่ม แล้วสรุปข้อมูลเป็นอินโฟกราฟิกให้กับลูกค้าและคนไข้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลออกมาตอบได้โดยเป็นชุดข้อมูลเดียวกัน เพราะเราไม่อาจรอสื่อหลัก หรือภาครัฐออกมาตอบข้อสงสัยต่างๆ ได้ทันท่วงที

        คำถามหลักคือการที่มีใช้แอพพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ แล้วมีปัญหาการลงทะเบียนไม่ได้ แล้วคนทั่วไปที่อยากจะลงทะเบียนนั้นต้องใช้วิธีการอย่างไร ตอนนี้ทางโรงพยาบาลได้เปิดจุดบริการวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มศักยภาพแล้ว ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีอัตราที่สามารถฉีดได้ต่อวันประมาณหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรการเว้นระยะห่าง

        คำถามรองลงมาก็จะเป็นเรื่องการเตรียมตัว เรื่องโรคประจำตัว หรือการเคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้เสี่ยงว่าต้องทำอย่างไร และตอบคำถามในใจของทุกคนลึกๆ ที่ว่า ‘ฉีดวัคซีนดีไหม?’ ซึ่งผมจะบอกเสมอว่า ‘ฉีดเถอะ’ ผมแทบไม่เคยบอกว่าไม่ควรฉีด เพราะข้อห้ามเดียวที่จะไม่อนุญาตให้ฉีดคือ ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงถึงขั้นช็อก (Anaphylactic Shock) เท่านั้น ที่เหลือคือฉีดได้ แต่อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ และตรวจร่างกายตามลำดับขั้นตอนก่อน

ความแตกต่างของวัคซีนแต่ละแบรนด์ที่คนกังวลคืออะไร

        ช่วงปลายปี 2020 สื่อไทยและต่างประเทศบางสำนักเริ่มสนุกกับการนำเสนอข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่างๆ มาเปรียบเทียบกันออกมาตั้งแต่ 50-70 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องอธิบายมาตรฐานของวัคซีนโควิด-19 ที่ดีให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ดีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกคือวัคซีนโควิด-19 ที่สามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ โดยมาตรฐานประสิทธิภาพในการป้องกันนั้นอยู่ตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก็เพียงพอต่อการเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ดีแล้ว ดังนั้น วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวในตลาดตอนนี้ที่องค์การอนามัยโลกหรือ อย. ของประเทศนั้นๆ อนุมัติให้ใช้คือผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด

        โดยตัวเลขของแต่ละยี่ห้อสามารถบอกได้เพียงแค่ว่าวัคซีนโควิด-19 ตัวนี้ดีกว่ายาหลอก (placebo) เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถนำวัคซีนโควิด-19 สองยี่ห้อที่อยู่คนละการวิจัยมาเปรียบเทียบกันได้ว่ายี่ห้อนั้นดีกว่ายี่ห้อนี้ เหมือนเอานักชกที่ขึ้นชกคนละเวทีมาสู้กัน การวิจัยแต่ละยี่ห้อก็ทำในพื้นที่, กลุ่มตัวอย่าง, สถานการณ์การระบาด และอีกหลายๆ ปัจจัยที่แตกต่าง เราบอกได้ว่าแต่ละยี่ห้อดีขนาดไหนเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่บอกไม่ได้ว่านั้นดีกว่ายี่ห้อนี้ การจะทำแบบนั้นได้ต้องทำการวิจัยพร้อมกัน และเปรียบเทียบกันในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันทั้งหมดซึ่ง ณ เวลานี้ ยังไม่มีข้อมูลการทดลองแบบนั้นออกมาให้ได้ศึกษากันเลย

ถ้าเช่นนั้น คิดแบบง่ายๆ เหมือนคนส่วนใหญ่ได้ไหมว่า ถ้าเอาวัคซีนโควิด-19 ไปเทียบกับยาหลอก เราก็ควรใช้ยี่ห้อที่เทียบแล้วได้ประสิทธิภาพที่ 90 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า

        ขอย้ำอีกครั้งว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีให้ใช้ทุกตัวสามารถแสดงประสิทธิภาพที่ดีได้ทุกยี่ห้อ ให้นึกภาพว่าตอนนี้ไฟไหม้บ้านไล่ขึ้นไปทีละชั้นจนตอนนี้ถึงชั้นดาดฟ้าแล้ว การระบาดมาถึงระลอกที่สามแล้ว จนเราเริ่มจนมุมแล้ว อยู่ดีๆ มีถังดับเพลิงร่วงลงมาตรงหน้า เราเองก็คงไม่ถามว่าถังดับเพลิงนี้ผลิตจากประเทศอะไร เราคงหยิบมันขึ้นมาดับไฟให้ได้ก่อน ดังนั้น คำถามที่ว่าวัคซีนมาจากที่ไหนผลิตจากประเทศอะไร เราควรพักไว้ก่อน 

        คนที่บอกว่าตนมีกำลังทรัพย์ที่รู้สึกว่าฉันควรต้องเลือกได้สิ ตรงนั้นก็เป็นเรื่องของการจัดการ และในมุมการบริหารจัดการโดยภาพรวม เนื่องจากการจัดหา นำเข้า มันเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วในช่วงไตรมาสที่ 3 Pfizer หรือ Moderna ถูกประเทศมหาอำนาจวางเงินล่วงหน้าจองไปหมดก่อนที่จะผลิต และให้ทุนสนับสนุนการวิจัยก่อนที่เริ่มการผลิตด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเรามัวแต่จะรอเลือก แปลว่าต้องรอจนถึงไตรมาสที่ 4 ทว่าโจทย์ของประเทศคือรอไม่ได้ ตอนนี้ยังเลือกไม่ได้ ดังนั้นเราก็ต้องมาดูว่า เราจะคุยกับผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหนได้บ้าง แล้วการพิจารณาเลือกที่จะร่วมมือกับ Astrazeneca ในตอนนั้นก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีและมีเหตุผล

หมอไบรท์

แต่จริงๆ แล้วประชาชนควรจะมีสิทธิที่จะเลือกยี่ห้อวัคซีนไหม

        ว่ากันตามสิทธิขั้นพื้นฐานก็คงจะมีสิทธิกันหมด เพียงแต่ว่าด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง การบริหารจัดการ ข้อกำหนดจากผู้ผลิตทำให้แพลตฟอร์มที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้มีจำนวนไม่มาก ผมแนะนำให้ลองมองว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบไปก่อน เหมือนเราไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ที่จะไปใช้สิทธิ ตอนนี้ยังเลือกไม่ได้ก็ไปฉีดกันก่อน เดี๋ยวเลือกได้เมื่อไรก็ค่อยว่ากัน ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้ออื่นๆ ก็มีสัญญาณที่ดีหลายอย่าง เพียงแต่มันอาจจะยังไม่เข้ามาในเร็วๆ นี้ เพราะเราไม่สามารถอยู่กับการระบาดสองพันคนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตสามสิบเคสต่อวัน ไปจนปลายปีได้ ตอนนี้จะรอเลือกแค่วัคซีนโควิด-19 ที่เราต้องการไม่ได้แล้ว

แสดงว่าคุณเห็นด้วยกับคำว่า ‘วัคซีนที่ดีที่สุดในตอนนี้คือวัคซีนที่มี’ ใช่หรือไม่

        ใช่ ผมเห็นด้วย นี่เป็นคำพูดของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ และ ดร. แอนโทนี ฟาวซี ที่ปรึกษาการควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพูดว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือตัวที่คุณสามารถฉีดได้เร็วที่สุด” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่ารัฐบาลไทยเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์เป็น ‘จะฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้มากที่สุด’ เพราะเรามีหลายประเทศเป็นตัวอย่างที่เขาแสดงให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอีกต่อไป 

        เราอยากจะปรับทิศทางตรงนี้ว่า หลังจากสัปดาห์นี้ไป เราควรจะโฟกัสตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มากกว่า เพราะเมื่อไรก็ตามที่ตัวเลขการรับวัคซีนโควิด-19 แตะถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว นั่นหมายถึงจุดที่เราจะสามารถทำให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเหมือนโรคหวัดธรรมดาได้ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า ทุกอย่างจะสามารถพลิกหลังมือเป็นหน้ามือ แล้วเราจะกลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติอีกครั้ง สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

อย่างที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าจะสื่อสาธารณะหรือสื่อภาครัฐ มักจะนำเสนออาการและตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ซึ่งประชาชนก็เลือกที่จะโฟกัสไปที่จุดนั้นมากกว่าที่จะทำความเข้าอกเข้าใจไวรัสโควิด-19 ในมิติอื่นๆ คุณคิดว่าทางที่ดีนั้น สื่อควรมีบทบาทในการป้อนความรู้ให้กับผู้คนในทิศทางใด

        สื่อต้องช่วยกันลดความลังเลในการรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งผมพูดถึงเรื่องนี้กับพี่ๆ สื่อที่รู้จักไปตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้วว่า การลังเลในการรับวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก เราต้องแสดงให้ประชาชนทราบข้อมูลให้ได้มากที่สุดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อทำให้เขายินดีเข้าไปรับวัคซีน สื่อต้องนำพาไปในทิศทางเดียวกัน คือจะมีสื่อบางสำนักที่ใช้ความกลัวของประชาชนให้ตนเองได้กระแส ซึ่งผมว่ากับเรื่องวัคซีนสื่อจะทำแบบนี้ไม่ได้ และสุดท้ายผลเสียจะมาถึงตัวคุณเอง ถ้ายังทำกันแบบนี้อยู่

        โจทย์ของสื่ออาจจะต้องปรับหน่อย ข่าวอะไรที่จะทำให้คนเริ่มลังเลอาจจะต้องคิดให้ดีนิดนึง จากเคสที่มีผู้เสียชีวิต 30 รายต่อวัน เคสผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 2,000 คนต่อวัน สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่ดับไฟนี้ สะเก็ดไฟจะถูกโยนกลับมาสู่คนที่เรารัก คนที่เรารู้จัก หรือครอบครัวของเรา ตอนนี้โจทย์ต้องเปลี่ยน สื่อต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ผมไม่ได้เสนอว่าให้ปกปิดข้อมูล หรือหลอกให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ให้นำเสนอด้วยตัวเลข ผมมีคติประจำใจคือ “ตัวเลขและข้อมูลทางสถิติไม่เคยหลอกใคร”

        ถ้าเรานำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านว่าถ้าทำแบบนี้โอกาสจะดีขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่ตามมามีอะไรบ้าง (Risk & Benefit) ว่าไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย เราอยู่บนการตัดสินใจแบบนั้นมาตลอดในชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถออกมาทำงานก็มีความเสี่ยงของการขับรถออกนอกบ้านอยู่แล้ว แต่เราทำเป็นประจำจนลืมไปหรือถ้าให้ใกล้ตัวมาอีกหน่อยวัคซีนหลายๆ ตัวที่เราให้ลูกหลานเราฉีดหรือเราเองก็ฉีดสมัยเด็กๆ เราก็ไม่เคยสนใจว่ายี่ห้อไหนทั้งๆ ที่รายงานการเกิดผลข้างเคียงก็พอๆ กับวัคซีนโควิด-19 ผมมองว่าทุกวันที่สื่อนำเสนอแค่ผลข้างเคียงที่ได้รับ หรือความเสี่ยงอย่างเดียวไม่ค่อยแฟร์กับวัคซีนโควิด-19 และทิศทางของประเทศที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชนในการเข้ารับวัคซีนมากเช่นนี้

        เราจึงอยากให้เสนอภาพใหญ่ และข้อมูลจากประเทศที่เขาฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงตัวเลขภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) บทเรียนดีๆ ที่เราได้จากอิสราเอล และสหราชอาณาจักร ที่คนเหล่านั้นเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ เพราะล่าสุดสหราชอาณาจักรเขาเพิ่งฉลอง zero death case ไปเอง ไม่มีเหตุผลอะไรสำหรับผมที่จะรอหรือลังเลในการนำเสนอภาพเหล่านี้ให้ประชาชนทราบ

หมอไบรท์

รบกวนอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเลขภูมิคุ้มกันหมู่ให้ฟังหน่อยได้ไหม

        โดยทฤษฎีแล้วคือ ตัวเลขที่จะทำให้เรากลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้คือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตามโครงสร้างประชากรของประเทศไทยในปี 2563 เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ มีเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าเรามีอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจำนวนที่เราปล่อยผ่านได้มีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทว่าผมไปเห็นโพลของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่ระบุว่าประชาชนยังลังเลที่จะไม่ฉีดวัคซีน 50 เปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นโจทย์ยากมากๆ ของรัฐบาลที่ต้องจัดการ

        เมื่อประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงปริมาณนั้นแล้ว ตัวอย่างเช่น ที่ประเทศอิสราเอล ก็ชัดแล้วว่าพวกเขาสามารถถอดหน้ากากอนามัย กลับมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง เปิดร้านอาหาร ภัตตาคาร ผับ บาร์  ได้หมด สิ่งหนึ่งที่ทางการแพทย์พูดเสมอว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าฉีดแล้วจะลดการแพร่เชื้อไปสู่ครอบครัวได้ แต่เริ่มมีข้อมูลออกมาแล้วในประเทศที่ฉีดได้ในวงกว้างมากพอจนถึงระดับที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถลดการแพร่เชื้อจากตัวเราเองไปสู่ครอบครัวของเราได้ ยกตัวอย่างว่า เราเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องออกไปทำงานทุกวัน มีลูกอายุสองขวบ ภรรยาก็ตั้งครรภ์ โจทย์ของเราก็คือเราต้องรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อปกป้องตัวเราและครอบครัวของเรา 

ส่วนประเด็นที่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงแอพพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ได้ คุณมีความคิดเห็นว่าอย่างไร

        Vaccine Hesitancy (ความลังเลไม่แน่ใจ หรือการต่อต้านการรับวัคซีน) จะเกิดขึ้นจาก 3Cs คือ Complacency (ความพึงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่) Confidence (ความมั่นใจในภาครัฐและวัคซีน) และ Convenience (ความสะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย) 

        70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน เรามีกลุ่มเด็ก (20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย) คนตั้งท้องและอีกหลายๆ คนที่รับวัคซีนไม่ได้ ซึ่งภาครัฐและสื่อมวลชวนก็ต้องนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ข้อมูลทุกด้าน ให้ประชาชนชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงและประโยชน์ได้ และต้องจัดและอำนวยความสะดวกให้คนที่จะรับวัคซีนให้ง่ายที่สุด

        กรณีนี้จะได้เห็นจากประกาศของรัฐบาลเมื่อสองสามวันที่ผ่านมาว่าสามารถวอล์กอินเข้ามารับวัคซีนโควิด-19 ได้ นี่ก็เป็นการปรับกลยุทธ์อีกรอบหนึ่งว่าเป็นเคสที่เขาจำเป็นต้องใช้ เพราะเขาเดินมาหาถึงที่แล้วก็ต้องยินดีที่จะฉีด สำหรับกลุ่มคนอย่างพี่วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ หรือผู้ใช้แรงงานที่อาจจะแข็งแรงด้วยวัยอยู่แล้ว แต่มีการเดินทางไปมาหลายจุด ต้องเผชิญกับมาตรการการป้องกันคนรอบข้างได้ไม่ดี ที่อยู่อาศัยก็แออัด กลุ่มคนเหล่านี้จะกระจายและทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ได้ เราอยากทำให้เขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนกลยุทธ์อีกรอบหนึ่งให้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ซึ่งอาทิตย์หน้าน่าจะมีความชัดเจนขึ้นกว่านี้

มีคนพูดถึงการให้รางวัลกับการลงโทษ ถ้าเราสมมติว่าให้คนที่ฉีดวัคซีนมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกไปไหนมาไหนได้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ กับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน เพื่อป้องกัน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ คุณหมอคิดว่าเป็นแบบแผนที่ดีหรือไม่

        ในแง่ของจัดการกับโรคระบาด เราเห็นด้วยกับระบบให้รางวัล (reward system) มากกว่าระบบการลงโทษ (punishing system) การลงโทษยิ่งจะทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้รับหรือกลุ่มคนที่ติดเชื้อปิดบังตนเองไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราควรจะใช้การเสริมแรงเชิงบวก (positive reinforcement) เป็นหลักคือ การให้รางวัล ยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาในหลายๆ รัฐถ้าคุณเอาตั๋วที่ฉีดวัคซีนไปแสดงที่ร้านอาหารคุณจะได้เครื่องดื่มฟรี หรือได้โดนัทฟรี มันเป็นการขับเคลื่อนของภาคเอกชนที่ดีด้วย เราก็อยากเสนอตรงนี้ให้ลองดูความเป็นไปได้ว่า ทุกภาคส่วนที่อยากช่วยกันขับเคลื่อนเราอาจจะลองเสนอว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะได้สิทธิพิเศษอะไรบ้างซึ่งอาจจะไม่ต้องเป็นสินค้าก็ได้

        เราไม่เชื่อว่าการลงโทษจะนำพาสู่สิ่งที่ดีได้ การลงโทษควรจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่เราไม่สามารถจัดการได้แล้วหรือเป็นเคสที่ต้องลงโทษจริงๆ  ผมสนับสนุนการชี้นำประชาชนด้วยความรู้สึกเชิงบวกมากกว่า เราควรนำเสนอข้อมูลและข้อดีข้อเสียที่มีทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับหลายองค์กรมาก 

        แต่อย่างไรก็ตามมาตรการลงโทษควรจะมีให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน เช่น กลุ่มคนที่ทำให้เกิดคลัสเตอร์เพราะไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐจะต้องมีการลงโทษขั้นเด็ดขาด ซึ่งเราไม่เคยเห็นการลงโทษอย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่มีการระบาดมาทั้งสามระลอก

กล่าวโดยสรุป ในฐานะหมอเอง คุณอยากจะเชิญชวนคนเข้ามาฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยเหตุผลอะไร

        ผมเห็นด้วยกับทิศทางว่าการทำความเข้าใจ การลดความลังเลให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องเป็นวาระแห่งชาติ เป็นการร่วมมือกันทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรเอกชน สื่อต่างๆ และประชาชน ทุกคนควรร่วมกันทำความเข้าใจว่าประโยชน์ที่เราได้รับจากวัคซีนโควิด-19 นั้นมีมากมาย และแน่นอนเราก็พบว่ามีผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นเช่นกันแต่มีโอกาสน้อยมากๆ น้อยกว่าโอกาสที่เราจะเสียชีวิตหรือสูญเสียคนที่เรารักจากการติดเชื้อโควิด-19 มากมายหลายเท่า 

        ณ ตอนนี้วัคซีนโควิด-19 และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่คือทางออกเดียวของประเทศ เพื่อที่ทุกชีวิต ทุกครอบครัวจะปลอดภัย และเราทุกคนจะสามารถกลับมาเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบปกติ และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศได้อีกครั้ง


FYI: ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เท่านั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา