ดุจดาว วัฒนปกรณ์

ดุจดาว วัฒนปกรณ์: สักวันหนึ่ง เราจะอยู่กับความเสียใจได้ โดยที่ไม่เจ็บปวดอีกต่อไป

ในยุคสมัยที่ีความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และความเจ็บปวดคืออารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกนาที เราจึงชวน ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว มาพูดคุยถึงหนึ่งในห้วงอารมณ์ของมนุษย์ที่ชื่อความเศร้า ซึ่งเธอบอกกับเราเองว่า หากเราเข้าใจและรู้เท่าทันมัน เราจะเสียใจและไม่รู้สึกเจ็บปวดได้ตลอดกาล

 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

ความเจ็บปวด

สังเกตมานานแล้วว่าทำไมพอเป็นเรื่องความเสียใจ อารมณ์และความรู้สึกถึงรุนแรงกว่าความดีใจ หรือความรู้สึกสมหวัง

        เราคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมในเรื่อง ‘การให้ค่ากับอารมณ์’ ที่ถูกสอนกันมา ซึ่งมันไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่แรกแล้วที่เราทำให้อารมณ์หนึ่งยากกว่าอีกอารมณ์หนึ่ง การแปะป้ายว่ามีความสุขเท่ากับดี เป็นทุกข์เท่ากับแย่แบบนี้ คือการยัดเยียดให้คนกลัวที่จะทุกข์ กลัวที่จะเสียใจ หรือถ้ามันเกิดขึ้นกับเขาจริงๆ ก็จะคิดกันไปว่ามันมีสิ่งไม่ดีบางอย่างเกิดขึ้นกับเราอยู่ ทั้งที่มันคืออีกหนึ่งอารมณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ 

        หลายครั้งที่เราคุยเรื่องอารมณ์กับหลายคน พวกเขามักตัดพ้ออยู่เสมอว่า ฉันไม่อยากเป็นคนที่เศร้า ฉันเสียใจจัง เมื่อไหร่ฉันจะหายสักที ซึ่งเราก็จะถามเขาเสมอว่า การที่คุณเสียใจมันผิดตรงไหน มันแย่ตรงไหน ซึ่งถ้าเขาเริ่มตอบได้ เริ่มรู้ว่าตัวเองกำลังเจอกับอะไรอยู่ เราถึงจะช่วยเหลือเขาต่อไป

         ดังนั้น คุณต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าความเศร้ามันคืออีกหนึ่งอารมณ์ คือฮอร์โมน คือความรู้สึกของคุณ มันธรรมชาติมากๆ แล้วยิ่งการที่คุณไปตัดสินว่ามันแย่ เป็น Negative Feeling แบบนี้ มันกลับตอกย้ำว่า ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่กับเราคือสิ่งไม่ถูกต้องมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น การร้องไห้ออกมาไม่ใช่สิ่งที่แย่ใช่ไหม

        ถูกต้อง มันจะแย่ได้อย่างไร ในเมื่อมันคือการแสดงออกเพื่อปลดปล่อยความรู้สึก แทนที่จะเก็บเอาไว้ข้างใน จริงๆ ต้องบอกว่าการร้องไห้คือสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ 

        เราคิดว่าเป็นเรื่องค่านิยมอีกเช่นกันที่กำหนดไว้ว่าการร้องไห้เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากๆ อย่าให้คนอื่นรู้ว่าร้องไห้นะ อย่าให้เขาเห็นน้ำตานะ อะไรแบบนี้มันควรหมดไปได้แล้ว มันเป็นเรื่องจำเป็นนะ ที่เราควรมีเซฟโซนที่ปลอดภัยจนสามารถปลดปล่อยอารมณ์ผ่านการร้องไห้ออกมาได้

แต่ก็เป็นเพียงการระบายความรู้สึกออกมาเท่านั้น ถ้าเราอยากกำจัดความรู้สึกออกไปได้จริงๆ ต้องทำอย่างไร

        คำถามนี้ต้องถูกถามต่อด้วยว่า สำหรับใคร เรามองว่าคำถามนี้ควรถามตัวเองมากกว่า เพราะวิธีการจัดการความรู้สึกของแต่ละคนต่างกัน เราโตกันมาต่างที่ ต่างประสบการณ์ ต่างวิธีจัดการอารมณ์ เราเลยต้องมาประเมินตัวเองว่า เรารับมือกับอารมณ์ตัวเองไหวไหม ยังเปิดรูปแฟนใหม่อยู่กับแฟนเก่าแล้วยังเจ็บปวดอยู่หรือเปล่า หรือว่าเราสามารถรับรู้แล้วไม่รู้สึกอะไรอีกต่อไป

        ซึ่งพอเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองได้แบบนี้ เราก็จะอ่อนโยนกับตัวเอง รู้ว่าตัวเองพร้อมและไม่พร้อมกับเรื่องอะไร สุดท้ายก็จะรู้ตัวเองว่าจะรับมือกับความรู้สึกนี้ยังไง ว่าเรายังไม่พร้อมขอเวลาอีกนิดหนึ่ง หรือเราสามารถเดินผ่านความรู้สึกนั้นได้แล้วจริงๆ 

        เราอยากให้มีคำตอบสำหรับคำถามนี้มากเลยนะ แต่อย่างที่บอกว่าสุดท้ายแล้วคำแนะนำของเราก็เหมือนตัวอักษรที่พิมพ์ทิ้งไว้เฉยๆ มากกว่า เพราะสุดท้ายมันเป็นเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวของแต่ละคนที่จะเลือกปรับใช้คำแนะนำของเราได้เพียงบางข้อเท่านั้น เพราะเราเคยมีลูกค้าที่อกหักตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เขาเข้าใจอารมณ์ตัวเอง เข้าใจคำแนะนำของเราทุกอย่าง เขาก็เอาไปปรับใช้ได้อย่างง่ายดาย แต่กับอีกคนที่เคยเป็นแต่ฝ่ายทิ้งคนอื่นมาตลอด จนมาถึงวันหนึ่งที่ตัวเองอกหักตอนอายุ 30 คำแนะนำของเราก็แทบไม่ช่วยอะไรเขาเลยเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าเจอคนที่อ่อนแอมากๆ ก็จะไม่สามารถแนะนำอะไรเขาได้เลยใช่ไหม 

        ส่วนใหญ่เราจะให้เขาฟังตัวเองมากกว่า เวลาคนเราอยู่คนเดียว พูดคนเดียว มันก็จะวนเวียนอยู่ในอารมณ์ตัวเองไม่ไปไหน แต่การที่มีใครสักคนชิ่งอารมณ์ ชิ่งความรู้สึกออกไปอีกมุม ผ่านการตั้งคำถามอีกแบบให้เขาได้พูด ได้แชร์ มันจะช่วยให้เขาสามารถวาดภาพสะท้อนอารมณ์ออกมาได้มากขึ้น ได้รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับอะไรมากขึ้น ได้รู้ว่าที่เจ็บปวดอยู่คือเจ็บปวดอะไร เจ็บปวดแบบไหน และเจ็บปวดทำไม ซึ่งมันจะช่วยแปลงความรู้สึกนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

คุณกำลังหมายความว่าสิ่งสำคัญคือต้องทำให้เขาเห็น ‘สิ่งที่เกิดขึ้นในความเจ็บปวด’ ให้ได้

        เราต้องควบคุมให้ได้ว่าเจ็บปวดอะไร แบบไหน เพื่อนำไปสู่การตอบคำถามว่า เจ็บปวดไปเพื่ออะไร ซึ่งตรงนี้จะเป็นเหมือนช่วงมูฟออนแล้ว คือถ้าคุณตอบได้แล้วว่ากูยังเจ็บอยู่ว่ะ ก็คือมูฟออนไม่ได้ ต้องให้เวลากับมันก่อน แต่ถ้าคุณถามตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วรู็สึกว่า เอ้า กูไม่ได้เจ็บขนาดนั้น คุณก็เดินข้ามสะพานที่ชื่อว่ามูฟออนไปได้เลย 

        คำว่า ‘เชี้ย เจ็บสัส’ ต้องย้อนกลับไปคิดให้ได้ก่อน อะไรที่ทำให้เจ็บจังเลย อ๋อ มันทิ้งฉัน เราเลิกกัน แล้วอะไรที่ทำให้เหตุการณ์นี้มันเจ็บล่ะ อ๋อ เพราะมันโกหกฉันไง อะไรแบบนี้คือการชิ่งอารมณ์ตัวเองให้เกิดการตั้งคำถาม การทบทวน แล้วรู้ว่าผู้ร้ายจากความเจ็บปวดนี้คืออะไร

แต่การพาเขาไปค้นหาตัวเองแบบนี้จะไม่เป็นการไปจี้ใจดำเขาเหรอ

        ไม่สิ นักสืบครั้งนี้มันต้องเป็นเขาเอง เราเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้นที่คอยถาม คอยใบ้คำผ่านคำถามกว้างๆ แล้วให้เขาเลือกเล่าเรื่องราวของตัวเองมากกว่า ซึ่งสุดท้ายมันต้องเจอจุดจี้ใจดำอยู่แล้ว แต่เขาก็จะเป็นคนยอมให้ใจดำตัวเองโดนจี้เอง

        คนจะเข้าใจตัวเองได้ ต้องผ่านการทบทวน ไม่มีทางที่จะหลับตาเดินต่อไปได้ตลอด ในบางทีมันก็อาจเดินไปได้เรื่อยๆ แต่สุดท้ายปมตรงนั้นก็ยังค้างคาอยู่ และรอโอกาสกลับมาทำร้ายอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทำเลยนะ ถ้าการทบทวนในตอนนี้มันยังหนักหนาอยู่ ก็แปลว่ายังไม่พร้อมที่จะทบทวนตอนนี้ ก็ให้เวลาตัวเองพร้อมจริงๆ ก่อนแล้วค่อยมาทบทวน 

แล้วการค้างคาปมความรู้สึกเอาไว้ในใจแบบนั้นตลอดไป มันดีไหม

        การที่จะบอกตัวเองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย มันแปลว่าเรายังไม่สามารถยอมรับได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งถามว่าผิดไหมก็ไม่หรอก คนเราไม่สามารถเข้าใจเรื่องทั้งหมดในชีวิตตัวเองได้ บางคนก็ตายไปพร้อมกับปมภายในจิตใจก็มี

        สำหรับเราคิดว่า สุดท้ายถ้าได้มองเห็นปัญหาก็จะดีกว่า มันได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากสิ่งนี้ และได้รู้ว่าอนาคตจะรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร

        เราอยากเป็นมนุษย์ที่บอก How to move on, How to ไม่เจ็บปวด ให้คนทั้งโลกได้มากเลยนะ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องดูเป็นคนคนไป และสุดท้ายยิ่งกว่าคือจะมูฟออนหรือไม่มูฟออน สำหรับเราแล้วไม่ใช่เรื่องถูก-ผิด แต่มันคือการตัดสินใจอย่างหนึ่งของชีวิตมากกว่า

 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

การระบาย

เท่าที่ฟังมาดูเหมือนว่าการที่จะก้าวผ่านความเจ็บปวดได้ ต้องพึ่งพาใครสักคนคอยช่วยเหลืออยู่นะ

        เราชอบแบบนี้มากกว่า ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบให้คนมาบังคับให้ทำอะไรในชีวิตอยู่แล้ว แต่ก็จะมีบางกรณีที่เรารู้จักเขาดีในระดับหนึ่ง รู้เท่าทันอารมณ์เขาแล้ว ก็สามารถให้ทางเลือกอื่นๆ ได้ ลองชวนเขาไปทำนู่น ไปทำนี่ เพื่อหาวิธีปลดปล่อยอารมณ์ได้เหมือนกัน

        การมูฟออนโดยที่มีคนอยู่เคียงข้างมันดีมากเลยนะ มันทำให้เขารู้ว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว ไม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้เพียงลำพัง

ดังนั้น การมีเพื่อนที่รู้ว่าคนที่เสียใจต้องการอะไรอยู่ก็ยิ่งดีสิ

        ไม่จริง ยิ่งคนไม่รู้อะไรเลยยิ่งดี เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีมากกว่า หรือถึงแม้จะรู้ลึกรู้จริงขนาดไหน เราก็รู้สึกว่าการอยู่เงียบๆ ฟังเขา มันดีกว่าไปแนะนำอะไรนะ

        เพราะเวลาคนเสียใจ คนกำลังเศร้า เขาต้องการแค่คนฟัง แต่คนที่รู้อะไรมากมายมักจะไปแนะนำ ไปป้อนความรู้สึกตัวเองใส่เพิ่มลงไปอีก แล้วกลายเป็นว่าคนเสียใจต้องมานั่งฟังแทนไง ซึ่งมันตลกมาก คือกูกำลังเศร้าอยู่นะ แต่กูต้องมารู้เรื่องของมึงอีกเหรอ (หัวเราะ) 

แค่นั่งเฉยๆ เองเหรอ แบบนี้ใครก็เป็นเพื่อนคนนั้นได้สิ

        ใช่ แต่คุณต้องอยู่แล้วตั้งใจฟังจริงๆ หรือถ้าอยากจะช่วยอะไรสักอย่าง แทนที่เราจะเล่นใบ้คำ ทำอันนี้ไหมมึง อันนี้ไหมล่ะ แต่เราถามเขาไปตรงๆ เลยว่า มึงอยากให้กูช่วยอะไร อยากไปไหน อยากทำอะไรหรือเปล่า แล้วให้เขาพูดมาให้ตรงประเด็นไปเลย 

        ถ้าอยากจะช่วยเหลือ เราต้องทำตัวเป็นเหมือนเพื่อนที่เขามั่นใจว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่อเขาตลอด ซึ่งมันจะทำให้คนที่เสียใจแข็งแรงมากพอที่จะอยู่กับวันแย่ๆ ได้ทุกวัน

การระบายความเสียใจ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายหรือฆ่าตัวตายด้วยไหม

        มันเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยปลอดปล่อยความรู้สึกของคน ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายที่เบาหรือรุนแรงไปถึงขั้นระงับความเจ็บปวดด้วยการปลิดชีวิตก็ตาม

        ถ้าถามว่ามันช่วยได้จริงไหม ก็ต้องตอบว่าจริงนะ แต่มันไม่ได้จัดการปัญหาโดยตรงขนาดนั้น เพราะสุดท้าย ถ้าความเชื่อโลกหลังความตายมีจริง เราเชื่อว่าเขาก็ยังคงสงสัยและไม่เข้าใจความเจ็บปวดนี้อยู่ดี 

ดังนั้น หากไม่สามารถระบายความรู้สึกตัวเองได้ ก็ต้องรีบกำจัดความรู้สึกที่ค้างคาในใจให้ได้เร็วที่สุดใช่ไหม

        เราไม่ใช่คนที่จะบอกว่าอะไรถูกหรือผิด มันคือคำถามสำหรับตัวเองมากกว่า ว่าชอบไหมล่ะที่เห็นตัวเองเป็นแบบนี้ ถ้าบอกว่าชอบมาก นี่คือสิ่งที่ฉันเป็น ก็เอาเลย ตามใจคุณ มันไม่ผิดอะไร (หัวเราะ)

ทำไมมนุษย์ถึงเสพติดความเศร้าหรือความเจ็บปวดแบบนี้กัน

        แต่ก่อนเราก็เป็นคนเสพติดความเจ็บปวดนะ เรารู้สึกว่าชีวิตที่มีความสุขและเบิกบานมันไม่เท่เลย คงเป็นเรื่องบางอย่างในวัยเด็กมากกว่า ที่เราไม่สามารถอธิบายความเจ็บปวดของเหตุการณ์นี้ได้ เราโตไม่พอที่จะเข้าใจ และไม่มีเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจสิ่งนี้ รู้แค่อย่างเดียวว่าเจ็บปวด มันมีความเศร้า มันขมขื่นเต็มไปหมด

        เราว่ามนุษย์ชอบหาพวกนะ ชอบหาบางสิ่งหรือบางคน แล้วเชื่อมอารมณ์ตัวเองเข้าหามัน จึงเป็นเหตุผลที่หนังสือจมดิ่ง นิยายดราม่า ซีรีส์เคล้าน้ำตา จะมีจำนวนเยอะและได้รับความนิยมมาก เพราะคนที่เศร้าเขาก็จะรู้สึก ตัวละครนี้เหมือนฉันจังเลย อยากร้องไห้กับตัวละครนี้จัง กูแม่งก็หาใครสักคนที่เป็นแบบนี้มานานเหมือนกันแล้ว มันคือการหาอะไรบางอย่างมาเชื่อมต่อกับตัวเอง

 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

Move On

แล้วถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังเสียใจอยู่ แต่ไม่อยากรู้สึกเจ็บปวดแบบนี้ต่อไปแล้ว ควรทำอย่างไรต่อดี

        ถ้าคิดว่าไม่อยากเจ็บแล้ว ถามตัวเองก่อนเลยว่าความต้องการนั้นมันจริงหรือเปล่า คนเรามีสิทธิ์ไม่ต้องการเจ็บปวดได้นะ แต่เราห้ามความเจ็บปวดกันไม่ได้ ดังนั้น อย่าใช้พลังงานเพื่อหาหนทางให้ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดไปตลอดกาล ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องกลับมาเสียใจอยู่ดี อย่ากลัวการเสียใจเลย เพราะมนุษย์ต้องเสียใจอยู่แล้ว จงอย่าเสียแรงไปกับความกลัว เพราะมันคืออีกอารมณ์ วันหนึ่งบางคนเสียใจตั้งหลายรอบ เสียใจมาก เสียใจน้อย เอาแรงมาทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองดีกว่า ว่าเสียใจมากน้อยแค่ไหน แล้วจะจัดการความเสียใจต่อไปอย่างไร ทำให้ตัวเองรู้เท่าทันความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นแล้วก้าวผ่านมันไปดีกว่า

ใช่ การก้าวผ่านความเจ็บปวดคือสิ่งที่กำลังพูดถึง แต่เราจะก้าวข้ามด้วยวิธีแบบไหนดี

        เราชอบคนที่จะมูฟออนไปต่อมาก คนเรามีชีวิตคู่ควรกับความสุขได้ ถ้าคุณต้องการ

        ก่อนอื่นเลยต้องลบความคิดที่มันไม่จริงก่อน เพราะคนที่กำลังเศร้า กำลังเสียใจ มันจะมีเสียงอยู่ในหัวว่า ฉันอยู่ไม่ได้ ฉันต้องตายแน่ๆ ฟังให้ดีก่อนว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นจริงหรือเปล่า เราจะตายจริงเหรอ เราจะเสียใจจริงเหรอ แล้วคุณจะเรียนรู้ได้เองว่าวันต่อมาเราจะยังมีลมหายใจอยู่

        พอรู้ว่าอารมณ์นั้นมันไม่จริงขนาดนั้น ก็ค่อยมาคิดต่อว่าถ้าอยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ฉันต้องทำอย่างไร กลับมาถามตัวเองเมื่อฉันหัวเราะฉันหัวเราะเรื่องอะไร ซึ่งมันง่ายมากที่จะกลับไปรู้สึกแบบนั้นเมื่อคุณได้คลี่คลายความรู้สึกแย่ๆ ของตัวเองได้แล้ว

มันเขียนเป็นวิธีการ เป็นคำแนะนำได้ไหม

        มันจะเป็นคำถามว่า คุณทำอะไรแล้วรู้สึกมีคุณค่ากับชีวิตล่ะ คุณทำอะไรแล้วมันสร้างรอยยิ้มที่ทำให้รู้สึกภูมิใจได้ล่ะ คุณทำอะไรที่มันเต็มอิ่มกับตัวเองบ้างล่ะ ซึ่งมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลแตกต่างกันไป

        จริงๆ ขั้นตอนมูฟออนมันไม่ง่ายเลยนะ มันจะเหนื่อยและล้ามากๆ ความคิดเราจะวนเวียนอยู่กับตัวเองและพร้อมจะพาตัวเองกลับไปเศร้าอยู่เสมอ 

        แต่คนที่เศร้ามานานๆ จะมีจุดที่รู้สึกว่า โว้ย เบื่อที่จะเศร้าแล้วโว้ย แล้วเขาจะเริ่มมองเห็นความจริงในอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนคนที่วิ่งรอบสนาม วนไปเรื่อยๆ จนเห็นหมดแล้วว่าระยะ 100 200 300 400 เมตร มีอะไรบ้าง และเขาจะได้รู้ต่ออีกว่า ไม่ว่าจะวิ่งวนไปกี่รอบก็ไม่มีอะไรดีขึ้น งานที่โดนเพื่อนแย่งไปก็ไม่กลับมา แฟนที่ทิ้งไปเขาก็ไม่กลับมาดีกับเรา เขาก็จะเริ่มคิดได้เองว่า พอเหอะ!

คือการใช้เวลาจนได้เห็นกับความจริงใช่ไหม

        นั่นเลยเป็นที่มา ถึงบอกว่าอย่าเพิ่งกำจัดมันออก อยู่กับมันก่อน มันจะได้เห็นรูปแบบตัวเอง ที่รอบแรกมีแต่ความรู้สึก รอบสองเริ่มได้ยินเสียงความคิด แกมันโง่ แกไม่น่าทำแบบนั้นเลย ก็วนมาที่เดิม วนมาอีกรอบ มันก็ได้เห็นรายละเอียดมากขึ้น พอมันมากขึ้นก็เริ่มเข้าใจ ก็จะเริ่มรู้ว่าเราควรนั่ง ควรพอได้แล้ว

        เราจึงพยายามบอกคนที่มาปรึกษาเสมอว่าอย่าเพิ่งรีบมูฟออน อยู่กับมันก่อน ให้เห็นความจริงของอารมณ์ตัวเอง ช่วงแรกมันคงมีแต่ความรู้สึก ต่อมาเรื่อยๆ อาจจะเห็นความจริงมากขึ้นจนพอใจที่จะมูฟออนออกมาจากห้วงอารมณ์นั้นเอง

        ซึ่งเป็นสิ่งที่ปัจเจกมาเลยนะ เราไม่รู้หรอกว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องวิ่งรอบสนามกี่รอบถึงจะเห็นความจริงในอารมณ์ของตัวเอง บางคนวิ่งเป็น 10 รอบยังฟูมฟายอยู่เลย แต่ในขณะที่บางคนวิ่ง 2 รอบก็เข้าใจและพอแล้ว บางคนก็อึดกับความเสียใจจนน่ายกย่องเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้หรอก เขาต้องเรียนรู้เอง ถ้าเราไปกระชากเขาออกมา สุดท้ายเขาจะกลับไปวิ่งเหมือนเดิมอีก เพราะเขาไม่ได้เต็มใจที่จะออกมาเอง

        สิ่งที่คนนอกทำได้คือการนั่งดูบนอัฒจันทร์ เพราะอาจมีบางทีที่เขาล้มแล้วบาดเจ็บ เราจะได้วิ่งไปคว้าตัวเขาทัน ว่าเป็นอะไรไหม เจ็บหรือเปล่า เพราะอาจมีบางช่วงที่เขาวิ่งไปพร้อมกับความเจ็บปวดจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายได้

นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ยังต้องมีนักจิตบำบัดอยู่

        เพราะคุณจะได้พลังจากเพื่อนมนุษย์กลับมา คุณจะได้พื้นที่ปลอดภัยที่สามารถแชร์เรื่องแย่ๆ ที่เพื่อนบางคนไม่อนุญาตให้แชร์ได้ 

        แต่เราเองที่เป็นนักบำบัดก็ชอบบอกคนอื่นนะว่าทำไมต้องรอให้เพื่อนไปหานักบำบัดที่คลินิกด้วย สิ่งเหล่านี้คนทั้งโลกก็ทำได้ ถ้าฝึกฝนมากพอ นักบำบัดไม่ได้มีพลังวิเศษรักษาใครได้เลย เราแค่ตั้งคำถามและชวนให้เขามองปัญหาของตัวเองเท่านั้นเอง สุดท้ายแล้วคนที่จะมูฟออนได้ก็คือตัวเขาเอง 

        เพราะนักบำบัดไม่มีคำตอบอะไรให้คุณเลย เรามีหน้าที่ช่วยกันค้นหา ช่วยส่องดูว่าในตัวคุณมีประตูอยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าหากต้องใช้กุญแจ เราอาจช่วยหา ช่วยสร้างกุญแจที่อยู่ในเนื้อคุณอยู่แล้ว แต่สุดท้าย ตัวคุณเองนั่นแหละที่ต้องเป็นคนไขประตูในใจแล้วเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดเอง

คำว่า ‘การมูฟออน’ ควรจำกัดความว่าอะไร

        มันคือการแบ่งสัดส่วนของความรู้สึกจนรู้ว่าอะไรที่จริงและไม่จริงสำหรับตัวเอง จนเห็นความรู้สึกของตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนำไปสู่การรู้เท่าทันและรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ มันไม่ใช่การทิ้งออกไปหรือวางไว้ข้างหลังอะไรแบบนั้น