สภาพชุมชมแออัด สังคมที่มีปัญหา ครอบครัวแตกแยก อาชญากรรม โศกนาฏกรรมของชีวิตเหล่านี้ถูกยึดโยงและผูกติดกับชื่อ ‘คลองเตย’ คล้ายว่าเป็นคำสาปที่เข้าปกคลุมทุกชีวิตในพื้นที่สีเทาแห่งนั้น หรือคำสาปคือความมืดบอดในหัวใจ ทำให้เราหลงเข้าไปในความคิดอคติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแง่มุมของชีวิตไม่ได้มีเพียงด้านเดียว หลายชีวิตกำลังเติบโต ต่อสู้ และดิ้นรนเพื่อทำลายคำสาปนั้น
ชีวิตจริงต่างจากนิทานปรัมปรา ไม่มีหรอกนางฟ้าใจดีเสกความฝันสวยงามให้กลายเป็นจริง ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือยามที่ชีวิตคับขันถึงขีดสุด ไม่มีใคร มีแต่ตัวเราที่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองจากการลงมือทำอะไรสักอย่าง ‘นัท’ – นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และ ‘เบสท์’ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย นักออกแบบและผู้ทำสื่อมัลติมีเดียจาก Eye On Field กลุ่มสร้างสรรค์งานที่แยกส่วนมาจาก Eyedropper Fill มุ่งเน้นทำงานประเด็นสังคมด้วยการผสมผสานความรู้การออกแบบหลายแขนงร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ มองเห็นโอกาสที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ พวกเขาจึงริเริ่มจัดทำโครงการ Conne(x)t Klongtoey เพื่อปลุกพลังแห่งความหวังให้กับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตยผ่านงานศิลปะ ที่เด็กเป็นผู้เลือกและสร้างด้วยตัวเอง
เวลาผ่านไปร่วมหนึ่งปีตั้งแต่แรกเริ่ม และตลอดเวลาสองเดือนเต็มที่เด็กๆ ปลุกปั้นงานศิลปะที่ตัวเองสนใจ แม้จะมีอุปสรรคและปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่ในที่สุดโครงการก็ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ผลงานของน้องๆ สำเร็จเสร็จสิ้น และกำลังจะจัดแสดงเป็นนิทรรศการศิลปะที่ร้อยเรียงเรื่องราวชีวิต เพื่อเปิดเผยความรู้สึกของเด็กๆ ซึ่งพวกเขาไม่เคยบอกกับใครมาก่อน เราขอเชื้อเชิญให้ทุกคนเปิดใจกว้าง รับฟังและสัมผัสตัวตนที่เขาเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงเราให้เข้าถึงกันและกันอย่างไม่แบ่งแยกและด่วนตัดสิน
ถึงตรงนี้เราตอบไม่ได้หรอกว่าคำสาปนั้นจะสลายไปไหม แต่อย่างน้อยโครงการ Conne(x)t Klongtoey ก็ได้เริ่มต้นจุดแสงสว่างภายในพื้นที่ตรงนั้น รวมทั้งในหัวใจของเราทุกคน และนี่คือเบื้องหลังการทำงาน ความคิด และความรู้สึกของคนธรรมดาสองคนที่เริ่มต้นจุดแสงนั้น
อะไรคือหมุดหมายสำคัญหรือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Eye On Field คิดทำ Conne(x)t Klongtoey Project ขึ้นมา
เบสท์: เราทำงานออกแบบ แต่ ‘การศึกษา’ เป็นเรื่องที่เราสนใจมาสี่ห้าปีแล้ว เพราะเวลาได้ไปบรรยายตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราได้คุยกับเด็ก ก็พบว่าการศึกษายังเป็นเหมือนเดิม เหมือนสมัยที่เราเรียนมัธยม จนกระทั่งมีโอกาสไปบรรยายที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เขตคลองเตย คนที่เชิญเราไปคือ ‘ครูโมสต์’ – สินีนาฎ คะมะคต ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำโครงการ Conne(x)t Klongtoey ด้วย เขาคือครูในโครงการ Teach for Thailand ที่ไปทำงานในโรงเรียนนั้น หลังจากได้บรรยายไปแล้วก็รู้สึกว่าสนใจเด็กที่นี่ เลยคุยกับครูโมสต์ว่าพอจะมีโครงการอะไรอีกบ้างที่เราสามารถมาทำงานร่วมกันได้ เพราะเราเองก็มีคอนเน็กชันและมีองค์ความรู้ที่นำมาจัดกิจกรรมหรือเวิร์กช็อปให้เด็กๆ ได้ จึงเกิดเป็นโครงการ Conne(x)t Klongtoey
ดูเหมือนเป็นโครงการที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ
เบสท์: ยากมากๆ (เน้นเสียง) เพราะเราไม่ใช่คนที่ทำงานด้านการศึกษามาโดยตรง เราเป็นนักออกแบบ เป็นคนทำงานศิลปะ เราต้องปรับตัวกันเยอะมาก อย่างแรกเลยคือปรับตัวเข้าหาเด็กก่อน เราลงพื้นที่สามเดือนก่อนจัดเวิร์กช็อป ไปถ่ายสารคดี และเก็บข้อมูลว่าเด็กๆ เป็นยังไง มีวิธีคิดยังไง ประกอบกับบริบทในคลองเตยซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความเหลื่อมล้ำ มีปัญหา มีความรุนแรง เมื่อเด็กเติบโตมาในสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบนั้น จึงทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว เด็กส่วนมากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อาจเพราะเสียหรือเลิกกัน เด็กต้องอยู่กับญาติแทน หรือไม่ก็อยู่ในมูลนิธิ นี่คืออุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับเราได้สม่ำเสมอทุกครั้ง
อย่างในโครงการมีน้องผู้ชายคนหนึ่ง เขาเก่งมาก เข้าเวิร์กช็อปทุกครั้งเลย วันหนึ่งมาเรียนทั้งๆ ที่แขนหักเพราะเล่นบอล เราเลยให้ครูพาไปหาหมอ ดีที่มีประกันของโรงเรียน น้องเป็นเด็กที่ตั้งใจมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็หายไปเลย เรามารู้ทีหลังว่าเขาถูกคนที่บ้านในคลองเตยทำร้ายร่างกาย จนต้องย้ายไปอยู่กับแม่ที่ต่างจังหวัดแทน หรือเด็กบางคนก็ต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงตัวเอง เลิกเรียนแล้วต้องรีบกลับบ้านไปขายของ รูปแบบชีวิตของเขาทำให้ไม่สามารถโฟกัสหรือมีสมาธิกับเวิร์กช็อปของเราได้เต็มที่ ซึ่งเราต้องเข้าใจข้อจำกัดตรงนี้ด้วย
อย่างที่สองคือระบบราชการ แม้เราจะโชคดี เพราะ ผอ. ของโรงเรียนเปิดกว้างให้เราเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ ได้ เป็นความตั้งใจของเขาเหมือนกัน เขารู้ว่าเด็กที่นี่ไม่ได้มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ แต่มีทักษะชีวิตที่สูง เพราะต้องใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวเองให้รอด ทำให้เด็กเก่งการปฏิบัติมากกว่า ซึ่งเราได้รับการสนุบสนุนจาก ผอ. เต็มที่ให้เริ่มต้นทำเป็นโครงการหรือกิจกรรมเสริมในโรงเรียน แต่การผลักดันให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนจริงจังนั้นยากมาก เพราะต้องไปต่อสู้กับกระทรวงฯ ซึ่งเราไปไม่ถึงตรงนั้น
นัท: จริงๆ ตอนเริ่มทำโครงการเรากับครูโมสต์อยากทำเป็นงานวิจัยเลยด้วยซ้ำ เพื่อหวังให้สร้างผลต่อไปในระยะยาว ซึ่งเราก็ไปกันไม่ถึง แม้ว่า ผอ. จะช่วยเราเต็มที่แล้ว เมื่อสิ่งที่เราอยากทำกับเด็กๆ ไปได้ไม่ถึงตรงนั้น ก็เลยปรับให้กลายเป็นโครงการและนิทรรศการแทน แล้วคอยติดตามผลว่างานของเด็กๆ ที่เขาสร้างขึ้นจะพาพวกเขาไปยังไงกันต่อ
แม้ว่าจะปรับเป็นโครงการ แต่การทำงานภาคสังคมยังต้องอาศัยการร่วมมืออย่างมากจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบุคคล ชุมชน และองค์กรอื่นๆ ในฐานะผู้ริเริ่มและจัดทำโครงการ Conne(x)t Klongtoey จัดการกับความร่วมมือเหล่านี้อย่างไร เพราะในมุมมองของเรา มองว่าเป็นการเชื่อมโยงระหว่างกันเหมือนกับชื่อโครงการ
เบสท์: ความร่วมมือคือสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ อย่างที่บอกว่าเราไม่เก่งด้านนี้เลย เราเป็นมือใหม่ที่มีความตั้งใจมากๆ จากความอยากทำจริงๆ ชื่อ Conne(x)t Klongtoey จึงเริ่มจากคอนเน็กกันเองในทีมทำงานก่อน จากนั้นคอนเน็กต่อมาคือเรากับครู เริ่มจากคุยเกี่ยวกับโครงการมาเกือบปี แลกเปลี่ยนปัญหา ก่อนจะมาทำงานร่วมกัน แล้วเราก็ต้องคอนเน็กกับวิทยากร คัดเลือกคนที่คุยง่าย และสำคัญที่สุดคือมีใจที่จะทำสิ่งนี้จริงๆ เคยผ่านการทำงานกับสังคมมาก่อน เขาจะได้เข้าใจการทำงานลักษณะนี้ ไม่หาผลประโยชน์เชิงการค้า เราระวังเรื่องนี้กันมาก ถ้าโอเคเราจะชวนเขามาลงพื้นที่ทำความรู้จักกับเด็กๆ แล้วถามว่าเขาไหวไหม เพราะเด็กที่นี่ไม่เหมือนเด็กที่อื่น
จากนั้นเราก็จะไปคอนเน็กกับคนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาโครงการคือ นักศิลปะบำบัดที่เชี่ยวชาญการใช้ศิลปะกับเด็ก เพราะการทำงานของเราอาจต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของเด็ก ซึ่งมันละเอียดอ่อนมาก ทีมงานและวิทยากรทุกคนจึงต้องระมัดระวังและทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ก่อนไปทำงานจริงๆ อีกคนคือ นักการศึกษาจากสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา เพื่อปรึกษาเรื่องความเป็นไปได้สูงสุดของแต่ละความคิดที่เรามี การมีคอนเน็กชันคือการที่เราได้จับมือกับคนอื่น เราไม่เหงา ไม่โดดเดี่ยวในการต่อสู้ อย่างน้อยมีคนร่วมอุดมการณ์คอยช่วยเหลือสนับสนุนเรา
แต่การคอนเน็กที่สำคัญที่สุดคือการคอนเน็กกับเด็ก เวิร์กช็อปในโครงการจึงไม่ได้เกิดมาจากเราเลือกให้เด็ก แต่เราทำสำรวจกับเด็กๆ ให้เขาโหวตศิลปะที่อยากเรียน จากนั้นเราจึงเลือกมาสี่หัวข้อที่ได้คะแนนสูงสุด ได้แก่ ศิลปะการแต่งเนื้อและทำนองเพลงฮิปฮอป, ศิลปะภาพถ่าย, การออกแบบแฟชั่น และพื้นฐานการสักและสตรีทอาร์ต
นัท: สุดท้ายแม้ว่าโครงการจะไม่ได้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดอย่างที่เราตั้งไว้ แต่เราก็ได้รับการผลักดันให้กลายเป็นโครงการตัวอย่างเรื่องการศึกษานอกเวลาเรียน เรามีโอกาสไปออกงานเกี่ยวกับการศึกษา ได้รู้จักแวดวงการศึกษามากขึ้น เพราะเราเป็นนักออกแบบ เราแทบไม่รู้จักใครในสายงานการศึกษาเลย เราได้แต่ก่นด่าว่าการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่ได้เรื่อง ทำไมไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่พอเราได้ไปเห็นต้นตอหรือฟันเฟืองของระบบการศึกษาเรากลับเข้าใจปัญหามากขึ้น สุดท้ายถ้าโครงการนี้จบลงในชุมชนคลองเตย เราก็จะไปทำที่อื่นๆ ต่อ ด้วยความรู้ที่เราได้จากโครงการนี้ โดยรวมแล้วลำพังถ้าเราทำกันเองไม่สำเร็จแน่นอน เพราะว่าเราไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่อง
แล้วโครงการนี้ก็เป็น self funding เราออกทุนกันเอง เพราะก่อนหน้านี้เราขอทุนสนับสนุนจากหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแล้วไม่ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจด้วยข้อจำกัดบางอย่าง แต่สุดท้ายเราได้ทุนมาส่วนหนึ่งจากมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เพื่อใช้เปิดวงสนทนากับคนในชุมชน แต่เงินส่วนทำกิจกรรมกับเด็ก และทำนิทรรศการคือเงินที่ Eye On Field ออกเอง
พอได้ลงมือทำแล้ว โครงการ Conne(x)t Klongtoey สร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางและมิติไหนบ้าง ทั้งต่อตัวคนทำ เด็ก และสังคม แล้วตรงกับความตั้งใจที่คาดหวังและเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม
เบสท์: ตอนเริ่มทำโครงการมีความหวังว่าเปลี่ยนแปลงเด็กได้แค่คนเดียวก็พอแล้ว เพราะระหว่างทำงานรู้สึกว่าทุกอย่างยากไปหมด เด็กไม่ค่อยมีระเบียบ เราอยากให้เด็กมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อตัวเอง นี่คือเป้าหมายแรก เด็กๆ มักจะพูดว่า ตัวเองโง่ ไม่เก่ง เพราะเขาอยู่ในมาตรวัดของโรงเรียนที่ให้เป็นคะแนน เป็นเกรดอย่างที่เราเรียนกันมา เมื่อเด็กได้คะแนนไม่ดี ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีคุณค่า
เป้าหมายที่สองคือการอยู่ในคลองเตยทำให้เขามีความคิดแปลกแยกบางอย่างทำนองว่าคนอื่นจ้องมองเขาด้วยสายตาดูถูก เป็นเด็กสลัม เป็นเด็กมีปัญหา ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาโดนกดอยู่ตลอด เมื่อต้องอยู่ในสภาวะแบบนั้นทำให้เขามีทักษะชีวิต ความอดทน ความดิ้นรนบางอย่าง ที่ต้องเอามาใช้เพื่อทำให้ตัวเองผ่านบางเรื่องไปได้ เช่น ที่บ้านทะเลาะกัน เขาจะอยู่กับสิ่งนั้นยังไง ซึ่งเราอยากให้เขามองใหม่ว่าสิ่งที่เขาประสบอยู่มันไม่ได้บอกว่าคุณแย่หรือไม่มีคุณค่า เพราะทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง
เราทำเวิร์กช็อปเพื่อให้เด็กได้แสดงออกสิ่งที่เขารู้สึก เรื่องราวที่เป็นปัญหา หรือเป็นปมผ่านงานศิลปะ แล้วมาดูกันว่าศิลปะที่สร้างจากเรื่องราวเหล่านั้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกดูถูกตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วไม่มีใครดูถูกเขาในแบบนั้น
การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นคือ เมื่อเด็กได้เลือกได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ เขาจะทำมันได้ดี อย่างเด็กผู้ชายคนหนึ่ง โดดเรียน แกล้งครู ไม่เคยอยู่นิ่ง แล้วก็ชอบเคาะโต๊ะ เคาะจนประตูพัง อาจดูเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่เรามองว่าเขาเคาะเก่งฉิบหาย เป็นจังหวะด้วย ซึ่งจริงๆ เขาเป็นมือกลอง ในความซนก็มีข้อดีอยู่ สุดท้ายเด็กมาอยู่ในเวิร์กช็อปฮิปฮอป เขาบอกชัดเจนว่าอยากเป็นคนทำบีต (จังหวะ) จากที่อยู่ในห้องเรียนเป็นเด็กซน แต่ในเวิร์กช็อปกลายเป็นผู้นำ คอยเตือนเพื่อนว่า เฮ้ย ทุกคนฟังครูเขาก่อน กลายเป็นคนเลือกทำนองให้แต่ละเพลง เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กๆ ในตัวเขา ซึ่งเขาแสดงมันออกมาให้เราเห็น
แล้วในเวิร์กช็อปก็ไม่ได้แบ่งบทบาทชัดเจนว่าเป็นครูกับนักเรียน แต่เหมือนเพื่อนกันมากกว่า ซึ่งทำให้ครูได้เห็นเด็กในมิติอื่นๆ ว่า ถ้าจะดีลกับเด็กใช้วิธีนี้จะดีกว่า มันเลยยิ่งสะท้อนภาพกลับว่า ระบบการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ใช้อยู่ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน เด็กบางคนชอบลงมือทำ บางคนชอบคุยแสดงความคิดเห็น หรือบางคนชอบเคลื่อนไหวมากกว่าต้องนั่งนิ่งๆ การทำโครงการมีข้อดีตรงนี้ เด็กได้แสดงออก ครูได้เห็น ได้เรียนรู้วิธีเช้าหาเด็ก
นัท: แต่กรณีน้องคนนี้ อยู่ดีๆ ก็หายไป ทั้งๆ ที่ดีมาตลอด คงน่าจะติดเพื่อน เพราะเมื่อก่อนเขาเคยไปล้อคนอื่น ว้ายๆ แร็ปเปอร์ พอตัวเองชอบสิ่งนี้ เราก็คิดว่าดึงเขามาได้แล้ว แต่ไปๆ มาๆ เขากลายเป็นคนที่ถูกเพื่อนล้อแทน เด็กก็เลยกลับไปยังจุดเดิม หลายคนมากที่กำลังดีๆ แล้วโดนเพื่อน โดนครอบครัวดึงกลับไป เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นแรงเสียดทานบางอย่างในการทำโครงการ เด็กบางคนเปลี่ยนแปลงไปในช่วงขณะหนึ่ง แต่ในอีกช่วงขณะหนึ่งเขาก็สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้
เราจึงยังตอบไม่ได้ชัดว่าโครงการนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร เรายังไม่รู้จะวัดผลจากอะไร แต่เมื่อเราเผยแพร่คลิปวิดีโอโปรโมตโครงการออกไป แค่พยายามสื่อสารประเด็นที่โครงการทำ ผลตอบรับจากวิดีโอทำให้เห็นว่า เราได้หยอดน้ำให้กับครูอีกหลายๆ คนที่กำลังจะหมดหวัง หรือคนอื่นๆ ในสังคมให้ได้เห็น เราเองก็ไม่รู้หรอกว่าสุดท้าย Conne(x)t Klongtoey จะไปเปลี่ยนแปลงสังคมหรือระบบการศึกษาในระดับไหน แต่อย่างน้อยโครงการก็ได้สื่อสารอะไรบางอย่างที่อาจไปกระทบใจของใครหลายๆ คนได้ เพราะปัญหานี้มันค่อนข้างชัดเจนมากในสังคม ทุกคนเห็น ทุกคนรู้สึกเหมือนกัน พอเราได้ทำจึงเข้าใจประมาณหนึ่งเลยว่าเราแม่งเปลี่ยนอะไรไม่ได้จริงๆ ที่ทำได้ที่สุดมันก็ยังถือว่าน้อยมาก
แต่ในฐานะคนทำสื่อ เหมือนเราเคลื่อนกันอยู่ใต้น้ำ ถ้าสื่อที่เราทำผุดขึ้นมาให้คนได้เห็น เราว่าอาจจะมีผลต่อนโยบายต่อๆ ไปในอนาคตก็ได้ แต่คงไม่ได้เร็วขนาดนั้น ตอนนี้มีคนติดต่อเข้ามาเยอะมาก เขาอยากเป็นวิทยากร แต่เวิร์กช็อปเสร็จไปหมดแล้ว จริงๆ โครงการนี้เหมือนเป็นกรณีศึกษาให้คนอื่นที่มีความพร้อมมากกว่ามาสร้างหรือต่อยอดไปได้อีก เราไม่หวงการทำซ้ำ เพราะว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำซ้ำ
เบสท์: จริงๆ มีคนที่ทำงานด้านนี้ที่หนักกว่าเราทำเยอะมาก มีหลายโครงการเลย แต่อย่างน้อยเราได้ทำให้ประเด็นหรือปัญหานี้ถูกยกขึ้นมาให้เกิดการพูดถึงอีกครั้ง เราอยากใช้ทักษะความรู้ที่เรามี ผลิตสื่อเผยแพร่สิ่งนี้ออกไปให้ไกลและกว้างมากที่สุด ให้คนอื่นเห็นมากขึ้น เราบันทึกทุกกระบวนการตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการจนจบไว้ทั้งหมดเพื่อทำเป็นภาพยนตร์สารคดีต่อไป สุดท้ายแล้วทุกคนมีส่วนร่วมในการศึกษาได้ ไม่ว่าใครก็ตาม แค่เอาสิ่งที่ถนัดเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้
เรามีโอกาสได้เห็นภาพบางส่วนภายในหนังสือ My Echo, My Shadow and Me เสียงสะท้อน ภาพเงา และตัวฉัน หลายภาพทำงานกับความรู้สึกเรารุนแรงมาก เลยอยากถามกลับไปในช่วงที่ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ตอนที่คุณได้เห็น ได้รู้เรื่องราวเบื้องหลัง ภาพถ่ายเหล่านี้สั่นสะเทือนความรู้สึกภายในของคุณอย่างไร
เบสท์: จริงๆ เราว่าโครงการนี้ให้ผลกลับกัน เราตั้งใจจะไปสอนเขา แต่พอได้คุยกันจนกลายเป็นเพื่อนกับเขามาครึ่งปี การทำงานศิลปะเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูด กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาพูดกลับสอนเรา ประสบการณ์ชีวิตบางอย่างที่เราไม่เคยเจอ เด็กบางคนอายุแค่สิบสี่แต่ใช้ชีวิตหนักหนากว่าเราเยอะมาก มันคือการคอนเน็กจริงๆ ระหว่างเรา ทีมงาน วิทยากร กับเด็กๆ ทุกคนได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเราชอบแบบนี้ ไม่มีกำแพง ชนชั้น ฐานะ อายุ หรืออะไรก็ตามมากั้นกลาง
นัท: ในมุมมองของเราที่เห็นเรื่องราวของน้องๆ ที่ถูกคัดเลือกมาอยู่ในเล่ม เราค่อนข้างชอบตรงที่มันแสดงให้เห็นว่า เด็กแม้จะอยู่ในบริบทเดียวกันแต่เขาพูดคนละเรื่อง เราเข้าใจมิติหลายๆ ด้านของชีวิต ครอบครัว เพื่อน ความรัก ความฝัน การสูญเสีย บางเรื่องเรายังรู้สึกไม่ได้เท่าเขาเลย คนส่วนใหญ่นะมีความคิดเหมารวมชีวิตในคลองเตยว่าต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่สำหรับเราชีวิตในนั้นมีความหลากหลายมาก ทำให้เรามองคลองเตยเปลี่ยนไป
ภาพไหนที่ทำให้คุณครุ่นคิดมากที่สุด
เบสท์: เป็นภาพขาวดำที่ถ่ายออกไปจากห้องเรียน ภาพนั้นเราเห็นตัวบ้าน เห็นทางด่วน และมือของเขาที่กำลังจะเอื้อมจับตึกสูงข้างนอก เราคุยกับเด็กเยอะมาก พบว่าเด็กทุกคนเหมือนภาพนี้ ฉันอยู่ข้างใน เธออยู่ข้างนอก ภาพนี้บอกหมดเลยว่า ฉันเป็นคนที่อยู่ในคลองเตย ไม่รู้คนข้างนอกมองฉันยังไง รู้สึกว่าข้างนอกคืออีกพื้นที่หนึ่ง ที่มีเส้นแบ่งชัดเจน น้องอีกคนก็ถ่ายรูปคล้ายๆ กัน แล้วเขาบอกว่า ข้างนอกคืออวกาศ ข้างนอกคือไดโนเสาร์ ข้างในคือคน ข้างในคือบ้าน ทางด่วนนั้นเหมือนเป็นเส้นแบ่ง
มันน่าสนใจตรงที่ภาพนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำมาก จริงๆ คนในคลองเตยมีจำนวนหมื่นกว่าครัวเรือน ทั้งที่เราอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนกันแต่เรากลับไม่รู้เรื่องของเขาเลย พอได้เข้าไป คลองเตยเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่มาก เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ขนาดภาพยังฟ้องออกมาหมดเลย
นัท: ภาพที่เรารู้สึกกับมันมาก เป็นภาพถ่ายเบลอๆ ในนั้นมีรูปน้องเขาอยู่ตรงกลางระหว่างรูปแม่และรูปพ่อ เขาไม่ได้อยู่กับแม่และพ่อ แค่ดูก็รู้สึกถึงอะไรบางอย่าง แล้วน้องเขาก็เขียนบรรยายภาพนั้นไว้ว่า ‘พ่อแม่รักลูก แต่พ่อแม่ไม่ได้รักกันแล้ว’
จริงๆ เขาเขียนยาวกว่านี้ พอได้อ่านแล้วรู้สึกดีมาก น้องคนนี้บอกเราว่าอยากเป็นคอลัมนิสต์ เพราะจะมีอาชีพไหนที่ให้เงินไปเที่ยวแลกกับการถ่ายรูปสวยๆ แล้วกลับมาเขียนบรรยาย นี่คืองานในฝัน แต่ชีวิตจริงตอนนี้เขาทำงานหลายอย่าง เก็บค่าหวย ค่าแชร์ ขายครีม ขายสติ๊กเกอร์ ขายของเยอะมาก แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ทำให้เขาได้ทำตามความต้องการ คือได้ถ่ายรูปและได้เขียนเล่าเรื่อง
เมื่อสักครู่คุณบอกว่าคุณมองคลองเตยเปลี่ยนไป อยากให้คุณอธิบายเพิ่มเติมว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการ Conne(x)t Klongtoey เปลี่ยนแปลงภาพจำหรือความคิดเดิมๆ ที่คุณเคยมีต่อชุมชนคลองเตยไปอย่างไร
เบสท์: เปลี่ยนเยอะมาก เราเป็นคนที่ไม่ชอบการตัดสินหรือการแบ่งแยกคน แต่ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าคลองเตยเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเรา ใครก็ตามเข้าไปทำงานในคลองเตย เราคิดว่าใจเขาถึงมาก เพราะข้างในแม่งน่ากลัวสัส แต่พอเข้าไปจริงๆ ไม่ถึงขนาดนั้น ไม่มีอะไร คือก็มีอยู่บ้างแหละ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของคลองเคย ตลอดเวลาที่ทำโครงการ รู้สึกว่าคลองเตยยังมีโซนที่อันตรายอยู่จริง แต่เท่าที่เราได้สัมผัสไม่ได้แย่อย่างที่เคยเข้าใจเหมือนก่อน จริงๆ ข้างในมีคนพลังงานดีๆ เยอะเพราะเขารู้ว่าคนอื่นมองเขายังไง เราอาจเป็นเพียงคนนอกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปทำงานในนั้น เราทำงานกับด้านที่ดีๆ เลยได้รับพลังที่ดี แต่ด้านที่เป็นปัญหาหรือส่วนที่มืดดำเราจะรู้ผ่านเด็กๆ มากกว่า มันเลยเป็นมากกว่า work project คือเป็น life project
เมื่อเรามองด้วยสายตาที่ไม่ตัดสิน ไม่อคติ เราจะเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้นว่าเด็กเล่นยาเพราะคนในครอบครัวเล่นยา เขาจึงเห็นเป็นเรื่องปกติ เด็กชอบตบหัวกัน พูดจาฟังไม่ได้ มันคือวัฒนธรรมบางอย่างที่หล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นมาและเป็นไปในแบบนั้น โดยรวมมันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ถึงจะมียา มีปัญหา มันเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะเด็กอย่างเดียว มันเป็นตั้งแต่สังคม ระบบการบริหารประเทศที่ล้มเหลว ความเหลื่อมล้ำ เขาจึงต้องต่อสู้และดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตให้รอดแค่นั้นเอง
นัท: ก่อนเข้าไปในคลองเตยเราคิดว่าตรงนั้นเป็นแอ่งกระทะที่ใหญ่มากๆ สังคมปล่อยละเลยให้มาถึงตอนนี้ได้ยังไง ไม่มีใครอยากจะพัฒนาตรงนั้นหรือไง แต่เมื่อเข้าไปแล้วสิ่งที่เราได้กลับมานอกเหนือจากพลังงานที่ดี น่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่เราจะไปโทษเป็นคนๆ ไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาไม่ได้เกิดที่คนแต่เกิดจากรากฐานบางอย่างที่หยั่งลึกลงไป การแก้ไขที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ถอนรากถอนโคน มันเป็นรากที่เกิดจากเราทุกคน
โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ทำให้เขาไม่มีทางเลือกใช้ชีวิต อาชญากรรมและยาเสพติดกลายเป็นความปกติของชีวิต โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่านี่คือความไม่ถูกต้องที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับคนภายนอก ข้างในเราเห็นยายเดินดมกาว คนเดินผ่านก็ยังทักทายปกติ แต่เราตกใจมาก หนักขนาดนี้เลยหรอ ตลอดเวลาที่ทำโครงการมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย จนทำให้เรารู้สึกเหมือนกันว่าไม่ต้องไปตัดสินเขา ตอนนี้ถ้าเด็กทำเรื่องไม่ดี เราจะพยายามสอนให้ได้มากที่สุด ด้วยการพูดคุยกัน เพราะเรารู้แล้วว่าก่อนหน้านี้ชีวิตเขาเจออะไรมาบ้าง กลายเป็นตัวเราเองนี่แหละที่เปลี่ยนแปลง เด็กที่เราได้คุย ได้ทำเวิร์กช็อป เขาก็น่าจะดีขึ้น ขณะที่ก็ยังมีเด็กคนอื่นๆ ที่ยังเหมือนเดิม
ตลอดการทำงานในชุมชนคลองเตย มีเรื่องราว เรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ใดที่มีความหมายกับคุณมากที่สุด
เบสท์: สำหรับเราคือทุกโมเมนต์ในนั้นเลยที่เราได้รู้จักเด็กแต่ละคน มันทำให้เรานึกถึงเรื่องของตัวเอง ตอนเด็กเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีค่า เด็กหลายคนในประเทศถูกจับวัดด้วยไม้บรรทัดเดียวกัน ถ้าเรียนไม่เก่งก็จะโดนเปรียบเทียบทันที เราเองเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่ชอบศิลปะ ชอบเล่นกีฬา ทำให้เรามักจะถูกคนที่บ้านและคนอื่นๆ ตัดสินว่า เกิดมามีอะไรดี คำพูดนี้ฝังอยู่ในตัวเรามาตลอด แล้วมันผลักให้เราทำโครงการนี้ด้วย เราเชื่อว่าทุกคนมีอะไรดี ถึงจะเป็นเด็กเกเรเขาก็มีอะไรดี เพียงแต่มีใครเห็นแล้วดึงสิ่งนั้นออกมาหรือเปล่าแค่นั้นเอง บางครั้งความเก่งมันซ่อนอยู่ในตัวเด็กนั่นแหละ แค่อาจต้องการคนช่วยชี้แนะหรือสังคมที่สนับสนุนดึงสิ่งนั้นออกมาให้เด็กรู้ตัวว่านี่คือข้อดีของเขา ทุกโมเมนต์ในการทำ Conne(x)t Klongtoey จึงทำให้เราย้อนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาที่เราโดนคนอื่นตัดสินว่าเราไม่เก่ง ไม่มีค่า ซึ่งเด็กๆ ในวันนี้ก็ยังถูกตัดสินอยู่
นัท: แต่สิ่งที่เรารู้สึกมากที่สุดคือเรื่องของเพื่อนที่มาเป็นวิทยากร เราเรียนออกแบบมาด้วยกัน แต่เขาหยุดเรียนและหายไปเพราะติดยา ท่ามกลางความกดดันรอบตัว เขากลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ค่อยๆ บำบัดและเลิกเสพมันได้ในที่สุด ตอนที่เราเชิญเขามาร่วมโครงการ แม้ว่าจะมีงานเยอะอยู่แล้ว แต่เขาก็ยินดีมาก สละเวลามาช่วยสอนเด็กๆ เพราะเขาเองก็เคยผ่านเรื่องราวหนักหนาในชีวิตมาเยอะเหมือนกัน แต่เวิร์กช็อปของเขาก็ไปไม่รอด ไม่ได้เป็นเพราะเขานะ เป็นเพราะเด็ก ย้อนกลับไปตอนเริ่มแรกที่เราสำรวจความคิดเห็นเด็กว่าอยากเรียนอะไร เรามาพบทีหลังว่าเด็กเลือกการสักเพราะเขาไม่ได้อยากสัก แต่เขาอยากโดนสัก เด็กก็ค่อยๆ หายไป ส่วนสตรีทอาร์ต เด็กชอบนะ แต่เขาไม่ได้รู้สึกอยากทำขนาดนั้น ก็ค่อยๆ หายไป เพื่อนยังบอกอีกว่า ดีที่สุดแล้วล่ะ ไม่เป็นไรเลย ดีด้วยซ้ำที่ได้ลองได้พยายามด้วยกัน
เรื่องราวที่เป็นความล้มเหลวทั้งหมดเหล่านี้เราก็จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย เพราะโครงการที่เราทำก็ไม่ได้สวยงามราบรื่นขนาดนั้น และอีกสิ่งที่เราชอบมากที่สุดคือ เด็กคนสุดท้ายที่หายไปในระหว่างเวิร์กช็อป ส่งข้อความไปขอโทษเพื่อนเราที่เป็นวิทยากรในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพราะเขาเห็นตัวเองในคลิปวิดีโอนั้น แล้วทั้งคู่ก็ได้คุยกันอีกครั้ง แค่นี้เราก็รู้สึกดีมากๆ แล้ว
ทั้งหมดที่คุณทำแสดงให้เห็นว่าคุณพยายามอย่างมากเพื่อส่งต่อพลังที่ดีให้กับเด็กๆ ให้กับชุมชน ให้กับสังคม ในทางกลับกันคนที่ทำงานหนักและท้าทายอย่างพวกคุณได้รับพลังมาจากไหน
เบสท์: ทุกอย่างในโครงการมอบพลังให้เรา เด็กๆ ครู วิทยากร แม้ว่าระหว่างทางจะไม่ได้ง่าย แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน โฟกัสเราอยู่ที่เด็ก มีน้องคนหนึ่งเป็นแร็ปเปอร์ เขาถูกโจมตีบนอินเทอร์เน็ตจนต้องขึ้นโรงพัก เราก็ไปเป็นเพื่อนเขา เขาไม่มีคนคุยด้วย ไม่มีใครให้ปรึกษา แต่เขาเลือกโทร.มาหาเรา ทำให้เราคิดกลับกันว่าถ้าเราเจอเรื่องแบบนี้ ถูกเพื่อนทุกคนรอบตัวเกลียดหมดเลย เราคงร้องไห้ แต่เขาสู้มาก ไม่ยอมให้เรื่องนี้มาล้มเขาลง
ตอนเราทำโครงการแรกๆ ก็รู้สึกท้อเหมือนกัน เครียด แต่เด็กๆ เจอเรื่องที่หนักกว่าเราเยอะ เราจึงได้พลังจากเด็กๆ และเรื่องราวของเขา อย่างเรื่องของน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นเด็กที่สู้มากในการหาเงิน วันหนึ่งเป็นริดสีดวง เราก็พาไปหาหมอ (หัวเราะ) ป่วย ไม่สบาย ไม่มีเงิน แต่เขาสู้ ความพยายามของเด็กที่ต้องการผลักตัวเองให้ไปสู่จุดที่ได้รับการยอมรับหรือได้สิ่งที่เขาขาด คือพลังที่เราได้รับโดยที่เขาไม่รู้ตัวหรอก เราเห็นความไม่ยอมแพ้และพลังของเด็กที่บางครั้งทำให้เราอายตัวเองเลย
นัท: Conne(x)t Klongtoey เป็นจุดรวมแพสชันแรกตั้งแต่ทำ Eye On Field มา เพราะในงานสายนี้ยังไม่มีใครทำขึ้นจริงๆ จังๆ ขนาดนั้นเลย ตอนที่ไปร่วมงานด้านการศึกษา เราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ประสบภัยด้านการศึกษาเหมือนกัน แต่เราดันรอด เลยรู้สึกว่าน่าจะทำงานประเด็นนี้ พอได้ทำจริงๆ มันมีทั้งความทุกข์ ความยาก ปัญหา ทั้งตัวระบบและตัวเด็ก แต่มันมีบางอย่างวนกลับมาหาเราแล้วบอกว่ายังทำได้อีก เราเลยรู้สึกว่าพลังบางอย่างตรงนี้ตอบรับสิ่งที่ Eye On Field ทำมากๆ เราจึงทำต่อไปเรื่อยๆ
ตอนแรกไม่คิดว่าคนจะให้ความสนใจมากขนาดนี้ นิทรรศการจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เราตั้งใจอยากจะเปลี่ยนแปลงถึงนโยบาย วาดฝันกันไว้เยอะมาก พอจบโครงการตั้งใจว่าจะทิ้งทวนกันแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้เราได้รับการติดต่อจากคนอื่นๆ เยอะมาก เขาอยากจะช่วยเหลือเด็กๆ คนเหล่านี้คือพลัง เป็นกำลังใจที่ทำให้เราทำต่อไปได้
ถึงตอนนี้ Conne(x)t Klongtoey สร้างความหมายและคุณค่าของชีวิตให้คุณอย่างไร
นัท: เราภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ถึงสิ่งที่ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่ สิ่งธรรมดาที่เราทำกลายเป็นสิ่งพิเศษสำหรับเด็กๆ และตัวเราเอง ความรู้สึกบางอย่างภายในของเราเปลี่ยนไป เราเห็นความสำคัญของชีวิต เราภูมิใจในหลายๆ ก้าวที่เราเดินเข้าไปในคลองเตย
เบสท์: ตอบยากนะ เพราะมันเยอะไปหมด แต่สิ่งที่เด่นขึ้นมาเลยคือ พอเราสองคนทำศิลปะ ซึ่งเป็นงานที่สร้างเงินสร้างชื่อเสียงได้ แต่โครงการนี้กลับทำให้เราเห็นว่าศิลปะไปได้ไกลมากกว่านั้น สิ่งที่เด็กทำ พูด หรือแสดงออกมาให้เราได้เห็น ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าศิลปะพาเราไปไกลยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น ศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียวที่เสพหรือสร้างงาน แม้ว่าศิลปะอาจต้องอาศัยทักษะบางอย่าง แต่ท้ายที่สุดทุกคนสร้างงานศิลปะได้ เด็กไม่ได้ถ่ายรูปออกมาคมชัด หรือรู้เรื่องสัดส่วนมุม ปริมาณแสง หรืออะไรก็ตามที่เป็นความรู้เฉพาะทาง หลายรูปเบลอ ถ่ายติดนิ้ว แต่เรื่องราวที่เขาเล่าออกมาประกอบแต่ละรูป มันมาจากชีวิตจริงของเขา เราเห็นแล้วว่าแค่ภาพเดียวพาเราทุกคนไปไกลว่าเดิม ทำให้เรารู้สึกดีใจ เพราะเราใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในของเด็กบางคนได้ แม้จะเป็นระดับเล็กๆ ก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้เราก็มีความคิดว่าอย่างเราจะไปทำอะไรได้ จะไปเปลี่ยนแปลงใครหรือสังคมไหนได้ แต่ตอนนี้เราได้ทำแล้ว
นิทรรศการศิลปะ Conne(x)t Klongtoey
จัดแสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย ที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น 4 แขนง
(1) อัลบั้มเพลงแร็ปรวม 3 บทเพลงที่พูดถึงสิ่งรอบตัว จากวิชาศิลปะการแต่งเนื้อและทำนองเพลงฮิปฮอป พร้อมชมการแสดงแร็ปของน้องๆ หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ในวันที่ 26 มกราคม 2562 เวลา 18.00 น.
(2) Essay Film ภาพพร้อมกับเสียงสัมภาษณ์ของน้องเจ้าของผลงานที่แสดงให้เห็นชีวิต ทัศนคติ และสังคมที่อยู่ จากวิชาศิลปะการถ่ายภาพ พร้อมหนังสือ My Echo, My Shadow and Me เสียงสะท้อน ภาพเงา และตัวฉัน โฟโต้บุ๊กที่จัดทำพิเศษด้วยการสนับสนุนการจัดทำและจัดพิมพ์โดย a book ภายในรวบรวมผลงานภาพและเรื่องราวบางส่วนของเด็กๆ
(3) แฟชั่นที่สร้างสรรค์จากเรื่องราวของชีวิตในคลองเตย จากวิชาการออกแบบแฟชั่น ผลงานที่เป็นไฮไลต์คือ ครุยที่เด็กๆ ทำขี้นสำหรับใส่ในวันที่เวิร์กช็อปสิ้นสุดลงเหมือนพวกเขาสำเร็จการศึกษา ซึ่งในนิทรรศการทุกคนจะได้ลองสวมครุยนี้จริงๆ ด้วย
(4) วิชาพื้นฐานการสักและสตรีทอาร์ต แม้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในปลายทาง แต่ระหว่างทางมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็นวัตถุดิบในการจัดแสดงชั้นดี
ศิลปะแต่ละแขนงมีผลงานของน้องๆ ในโครงการมาวางจำหน่าย ไม่รับบริจาคเป็นเงินสด แต่ให้สนับสนุนผ่านการซื้อของที่เป็นผลงานของน้องๆ เท่านั้น หลังจากนิทรรศการจบลง รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกมอบให้น้องๆ เจ้าของผลงานเป็นค่าลิขสิทธิ์ ส่วนที่สองมอบให้โรงเรียนเพื่อเป็นทุนตั้งต้นสร้างชมรม Conne(x)t Klongtoey ในโรงเรียนต่อไป
นิทรรศการศิลปะ Conne(x)t Klongtoey จัดแสดง ณ ห้าง O.P. Place ชั้น 2 ในงาน Bangkok Design Week 2019 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 รายละเอียดเพิ่มเติม Conne(x)t Klongtoey และ Eye On Field