คนรักมวลเมฆ

คนรักมวลเมฆ | เมฆช่วยบำบัดจิตใจ และคอยย้ำเตือนว่าโลกเรากำลังไม่ปกติ

การสั่งสมความหลงใหลส่วนตัวเป็นเวลายาวนานมากกว่า 10 ปีไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่เรารักและขลุกอยู่กับมันมาครึ่งค่อนชีวิตหากไม่เจอที่ทางในการต่อยอด อย่างน้อยก็ยังกลับมาเติมเต็มชีวิตชีวาของเราได้ และตลอดเวลาที่ชายผู้มีพื้นเพเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ทุ่มเทให้กับการเฝ้าศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ของเมฆ เขาเก็บสะสมเรื่องราวเกี่ยวกับพวกมันเอาไว้มากมาย… ทั้งเมฆจานบิน เมฆลายพลิ้ว หมกเมฆ เมฆช่องเปิด เมฆคอนเทรล เมฆซีรัส เมฆทีปราตรี เมฆมุก เมฆอันดูเลตัส เมฆเต้านม เมฆมอร์นิงกลอรี เมฆม้วน และมวลเมฆอีกสารพัดอย่างที่เขาฟุ้งให้ฟังได้เป็นคุ้งเป็นแคว

     จุดเริ่มต้นมาจากความสนใจเล็กๆ ก่อนสะสมเป็นความสงสัย กลายเป็นความหลงใหล และเริ่มมองหาเพื่อนที่มีความรักความชอบในสิ่งเดียวกัน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงรักในการดูเมฆบนท้องฟ้าได้ก่อตั้ง ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’ ที่มีผู้รักมวลเมฆทั่วประเทศสมัครเข้าร่วม

     ขุมคลังความรู้ที่เขาสั่งสมไว้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเกี่ยวกับเมฆได้สองเล่มเต็มๆ แถมเขายังกล่าวไว้อย่างภาคภูมิใจว่า มันเป็นหนังสือที่ประมวลเรื่องราวของเมฆและปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติไว้อย่างเป็นระบบและครบถ้วนที่สุดในโลก!

     “เวลาไปบอกใครว่าเราชอบเมฆคนอาจจะหาว่าบ้าหรือเปล่า (หัวเราะ) หากว่าใครสักคนบอกชอบดูดาว ก็ไม่แปลกใช่ไหม ดาวมันสวยไง มีกลุ่มดูดาว มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชอบดูนกนี่ก็ไม่แปลก ชอบผีเสื้อ ชอบแมลง ชอบต้นไม้ดอกไม้ก็มีเยอะ แต่พอพูดว่าชอบเมฆ คนจะแวบขึ้นมาว่า เพ้อฝันหรือเปล่า ไอ้นี่มันเพี้ยนๆ หรือเปล่า”

     คนรักมวลเมฆอาจดูเหมือนพวกคนเพ้อเจ้อ วันๆ เอาแต่นั่งมองหมู่เมฆลอยไปลอยมา แต่เวลานักวิทยาศาสตร์ที่มองเมฆก้อนเดียวกันกับเรา เขากลับมองเห็นโลกทั้งใบ… เมฆบำบัดจิตใจมนุษย์ได้ เรียกว่า ‘เมฆาบำบัด’ คำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดจากเมฆยังสะท้อนให้เห็นความคิดที่ฝังอยู่ในแต่ละวัฒนธรรม เมฆยังคอยย้ำเตือนเราว่าโลกกำลังไม่ปกติ และอีกข้อมูลที่คนสาย (คอ) แข็งอาจจะรู้สึกทึ่งก็คือ เมฆรูปทรงวงกลมเกี่ยวข้องกับเบียร์วุ้นด้วย!

 

คนรักมวลเมฆ

 

นักวิทยาศาสตร์กับการดูเมฆเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

     จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหันมาหลงรักการดูเมฆไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมฆโดยตรงเลย คือราว 20 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ทำงานด้านสื่อสารมวลชน เป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Know How & Know Why ทีนี้เวลาจะเผยแพร่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นข่าวก็จะมีพลัง แต่ถ้าไม่เป็นข่าวต้องมีแง่มุมที่น่าสนใจ เรื่องแนวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากๆ คือฝนฟ้าอากาศ พายุเข้า ฟ้าผ่า น้ำท่วม ภัยแล้ง อะไรพวกนี้ พอทำไป ในที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องเมฆ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้คลุกคลีกับความรู้เรื่องเมฆ

 

พอได้ลองศึกษาแล้วค้นพบอะไร

     พบว่ามีอะไรน่าสนใจมากเหมือนกันนะ จำได้ว่าก่อนหน้านั้นมีอยู่วันหนึ่งซึ่งในบันทึกของผมระบุว่าเป็นวันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2546 ผมอยู่ในห้องนอนลูกที่ชั้นสองของบ้าน พอมองไปบนฟ้า เห็นเมฆก้อนอยู่ไกลๆ มีเมฆบางๆ อยู่ข้างบน รู้สึกแปลกประหลาดมาก ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร แต่ผมถึงกับสเกตช์ภาพเก็บไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งเลย หลังจากนั้นก็พบว่า เมฆบางๆ ที่เราเคยเห็นวันนั้นมีชื่อเรียกว่าหมวกเมฆ (pileus)

 

ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำบล็อกเกี่ยวกับเมฆของคุณด้วยหรือเปล่า

     คิดว่ามีส่วน ผมเปิดบล็อกในระบบของ GotoKnow ชื่อ ‘ชายผู้หลงรักมวลเมฆ’ ฟังดูโรแมนติกนิดหนึ่งนะ (หัวเราะ) ตอนแรกผมนำบทความที่เคยเขียนใน กรุงเทพธุรกิจ มาลง แต่มานึกดูว่าถ้าเราเอาแต่เรื่องที่ดูน่ากลัวมาลง เช่น ฟ้าผ่า พายุฤดูร้อน เอลนีโญ ก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะว่าธรรมชาติยังมีแง่มุมสวยงามและแปลกตาอยู่มากมาย ก็เลยเริ่มนำภาพเมฆแปลกๆ สวยๆ มาโพสต์ เช่น เมฆจานบิน เมฆลายพลิ้ว หมวกเมฆ ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ เข้ามาคอมเมนต์กันมากมาย บางคนมาโพสต์ภาพเมฆที่ตัวเองถ่าย พอทำไปได้สักพักก็เกิดความคิดซนๆ ขึ้นมาว่าตั้งชมรมเลยดีไหม เพราะเพื่อนเริ่มสนใจเยอะ เลยตั้งชื่อชมรมเลียนแบบชื่อบล็อกว่า ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’ ที่เริ่มมากว่า 10 ปีแล้ว

     ตอนเริ่มต้นที่อยู่ในบล็อกยังมีสมาชิกประมาณหลักร้อยเท่านั้น แต่ถือว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กันเข้มข้นนะ พอดีน้องคนหนึ่งชื่อ ‘เดย์’ (พุทธิพร อินทรสงเคราะห์) แนะนำให้ไปสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพราะมันเชื่อมโยงคนได้เยอะ เพจโตเร็วมาก แป๊บเดียวหลักพัน วันดีคืนดีเป็นหมื่น ตอนนี้ค่อนข้างนิ่งแต่เพิ่มช้าๆ อยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นกว่าคน ใน 6 หมื่นคนนี่ก็ภูมิใจที่มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่อยู่กันมานานหลายปี บางคน 7-8 ปีขึ้นไป เขาเริ่มมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทางวัฒนธรรมต่างๆ บางคนสนิทกันถึงขั้นออกไปเที่ยวด้วยกัน

     หรือในบางพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ ที่นั่นเป็นเมืองใหญ่ทางเหนือเลย มีสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆอยู่เยอะ เวลาผมไปเชียงใหม่ทีไร ถ้าสะดวกจะชวนไปนั่งกินข้าวแล้วพูดคุยกัน ที่น่ารักคือกลุ่มนี้ตั้งชื่อตนเองว่า ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ วิทยาเขตล้านนา’ กลายเป็นความโรแมนติกอีกแบบหนึ่ง กลุ่มนี้เหนียวแน่นมาก แถมมีกลุ่มใน Messenger และไลน์ด้วยนะ ทักทายกันทุกวัน โพสต์ภาพเมฆ เรื่องราวดีๆ พูดคุยกันสารพัดเรื่อง

 

ย้อนกลับไปตอนที่คุณเริ่มชมรมในบล็อกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นมีคนสนใจเหมือนคุณมากน้อยแค่ไหน แล้วคนรอบข้างมีท่าทีอย่างไรกับความสนใจนี้

     โอ้โฮ คำถามนี้ดีมาก ผมพบว่ามีคนจำนวนมากบอกว่า ‘ไม่เคยคิดว่าจะมีชมรมแบบนี้ด้วย’ หรือ ‘ไม่เคยคิดว่าจะมีใครชอบเมฆเหมือนเรา’ เพราะเวลาไปบอกใครว่าเราชอบเมฆ คนอาจจะหาว่าบ้าหรือเปล่า (หัวเราะ) ถ้าใครสักคนบอกชอบดูดาว ก็ไม่แปลกใช่ไหม ดาวมันสวยไง มีกลุ่มดูดาวนู่นนี่ มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชอบดูนกนี่ก็ไม่แปลก ชอบผีเสื้อ ชอบแมลง ชอบต้นไม้ดอกไม้ก็มีเยอะ แต่พอพูดว่าชอบเมฆ คนจะแวบขึ้นมาว่า เพ้อฝันหรือเปล่า ไอ้นี่มันเพี้ยนๆ หรือเปล่า

     คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเราดูเมฆเพื่อที่จะได้รู้ว่าฝนจะตกหรือไม่ ก็ถือว่าใช่นะ แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะให้มากกว่านั้นอีกก็เรื่องฟ้าร้องฟ้าผ่า ดูความชื้นในอากาศ หรือดูเมฆสักพัก เราจะรู้ว่าลมพัดไปทิศทางไหน หรืออย่างอาทิตย์ทรงกลด นักดูเมฆที่เชี่ยวชาญจะทำนายได้เลยว่า ถ้ารูปร่างเริ่มต้นออกมาเป็นแบบนี้ พอเวลาผ่านไปรูปร่างของเส้นทรงกลดจะเป็นอย่างไร กลายเป็นว่าคนรักเมฆในชมรมของเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นมาก

     นอกจากนี้ ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่สำคัญที่ผมจะชอบพูดซ้ำๆ เพราะคนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคิดถึง นั่นคือแง่มุมเชิงวัฒนธรรม และการที่เมฆช่วยบำบัดความทุกข์ของบางคนได้

 

ช่วยยกตัวอย่างแง่มุมเชิงวัฒนธรรมให้ฟังหน่อย

     อย่างคำว่า อาทิตย์ทรงกลด คนเหนือเรียก ‘ต๋าวันก๋างจ้อง’ แปลว่า พระอาทิตย์กางร่ม ซึ่งเป็นคำแปลของอาทิตย์ทรงกลด เพราะว่า กลด คือ ร่ม เวลาพระธุดงค์ ท่านจะปักกลดใช่ไหมล่ะ อาทิตย์ทรงกลดก็คืออาทิตย์กางร่มนั่นเอง จุดน่าสนใจคือคำว่า ตะวันก๋างจ้อง เป็นคำกลางๆ ของคนเหนือ แต่ถ้าในบางพื้นที่ เช่น ลำปาง พะเยา ก็จะมีคำเรียกของเขาว่า ‘ต๋าวันสุบกุบ’ คำว่า สุบ แปลว่า สวม กุบ แปลว่า งอบ หรือหมวกแบบชาวนาที่มีกระบังยื่นออกมา อีกคำหนึ่งซึ่งคนเหนือไม่ค่อยรู้จักแล้ว คือ ‘ต๋าวันตือเกิ้ง’ เป็นคำที่ได้ความรู้มาจากเพื่อนที่จังหวัดแพร่ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภาษาจะคู่กับวัฒนธรรม หรือเท่าที่ผมทราบ คนอีสานมีคำเรียกอาทิตย์ทรงกลดอย่างน้อย 2 คำ คำหนึ่งคือ ‘โก้งตะเว็น’ โก้ง คือ โค้ง ส่วน ตะเว็น คือ ดวงอาทิตย์ กับอีกคำคือ ‘ตะเว็นเข้าเกิ้ง’ แต่ไปถามคนอีสานตอนนี้อาจพบว่าไม่ค่อยมีใครรู้จักแล้ว

     เราจะสังเกตเห็นว่าคนเหนือมีคำเรียกอาทิตย์ทรงกลดที่รุ่มรวยมากเลย แต่การใช้คำเหล่านี้ค่อยๆ จางหายไปเพราะคำภาษากลางเข้าไปแทนที่ ผมคิดว่าภาษาถิ่นเหล่านี้งดงาม มีเสน่ห์ และควรอนุรักษ์เอาไว้

 

คนรักมวลเมฆ

 

แล้วในมุมของการบำบัดล่ะ

     เราเรียกว่า เมฆาบำบัด (Cloud therapy) คือคนเราเวลาเศร้า บางคนบำบัดด้วยศิลปะ วาดภาพ บางคนพูดคุย เล่าเรื่อง บางคนบำบัดด้วยอาหาร แต่ปรากฏว่าทำชมรมฯ มา 10 ปี ผมพบว่ามี 14 กรณีที่เมฆช่วยเยียวยาความทุกข์ได้ อย่างบางคนผิดหวังในความรัก พอไปนั่งเหม่อดูท้องฟ้า เห็นเมฆลอยมาแล้วก็ลอยไป ลอยมาแล้วก็ลอยไป ฯลฯ สักพักหนึ่งเกิดบรรลุขึ้นมาว่าทุกอย่างมาแล้วเดี๋ยวก็ไป มันจะสวยไม่สวยยังไง เดี๋ยวมันก็ไป ก็ลุกขึ้นมาสู้ชีวิตต่อได้

     บางคนเขียนมาเล่าให้ฟังประมาณสี่หน้ากระดาษ A4 ว่าทำไมถึงมาเข้าชมรม ไม่ได้เข้าเพราะอยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์หรอก แต่ตอนเด็กๆ เขามีประสบการณ์เจ็บปวด ซึ่งท้องฟ้าโดยเฉพาะเมฆนี่แหละที่เยียวยาเขาได้ ทั้งสิบกว่ากรณีที่ผมรับทราบเป็นทำนองนี้ ผมเลยขออนุญาตแต่ละท่านนำเรื่องราวไปบอกเล่าผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ เล่าเท่าที่เปิดเผยได้และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

     เรื่องเมฆาบำบัดนี่ ผมเคยไปพูดนำเสนอในการประชุมทางด้านสาธารณสุขด้วย ในห้องมีผู้ฟังราวๆ 500 คน เป็นหมอ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และนักจิตบำบัด

 

ผลเป็นอย่างไร มีการนำกรณีเมฆาบำบัดไปวิจัยต่อไหม

     ผมบอกเขาไปว่า ผมไม่ได้สรุปว่าเมฆช่วยเยียวยาทุกคนได้หรือไม่ได้นะ แต่มีข้อมูลบ่งชี้ที่ว่ามาอย่างน้อยกว่าสิบกรณี ทางการแพทย์ช่วยนำไปศึกษาต่อหน่อยได้ไหม สมมติฐานของผมคือเป็นไปได้ไหมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด คือธรรมชาติมีพลังในการบำบัดเยียวยาอยู่แล้ว เวลาคนเศร้า เขาจะวุ่นวายอยู่กับแต่ตัวเอง ทำไมโกงฉัน ทำไมทิ้งฉันไป ทำไมเคยพูดไว้แบบนี้แต่ไม่ทำ มัน ‘ฉัน’ ทั้งนั้นเลยเห็นไหม เขาจะอยู่กับตัวเองที่ถูกทำร้าย แต่ท้องฟ้านั้นกว้างขวางและยิ่งใหญ่ เวลาเรามองท้องฟ้า ตัวเราจะเหลือเพียงแค่กระจิดเดียว ความทุกข์ของเรามันกลายเป็นสิ่งเล็กน้อย ส่วนเมฆนั้นเป็นอนิจจัง คือมาแล้วก็ไป ไม่ได้อยู่ตรงไหนนานๆ ตรงนี้อาจเป็นเหตุผลเบื้องหลังเมฆาบำบัดก็เป็นได้

    เราใช้เงินของเราเอง ลงมือทำกันเอง เป็นความสนุกในชีวิต แล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเราทำให้มีเพื่อนเพิ่มขึ้นมากมาย ได้เขียนหนังสือ ได้นำเสนอผ่านสื่อ ได้ทำอะไรสนุกๆ เยอะแยะไปหมด ไปออกรายการทีวีน่าจะเกินกว่า 20 ครั้งแล้ว แต่พีกที่สุดคือการค้นพบว่าเมฆเยียวยาคนได้นี่แหละ เกินคุ้มมาก

 

คุณสนใจเมฆในแง่มุมที่มันเชื่อมโยงกับความรู้สึกหรือวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน

     เมื่อก่อนตอนเริ่มต้นก็สนใจเชิงวิทยาศาสตร์ แสง เงา ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เพื่อเอามาเขียน แต่ตอนนี้มองเมฆด้วยความรื่นรมย์ เห็นเมฆแล้วดีใจ คุณแดเนียล เฟรเซอร์ ที่เป็นพิธีกรรายการทีวี เคยมาทำรายการ หลงกรุง ใน Thai PBS กับชมรมเรา ปรากฏว่าระหว่างนั่งคุยกันอยู่ คุณลูกเกด (เกสราภรณ์ แสงแก้ว) สมาชิกชมรมรุ่นบุกเบิกก็ชี้ไปบนฟ้าแล้วพูดว่า ‘ซันด็อก (sundog)!’ ซึ่งเป็นอาทิตย์ทรงกลดแบบหนึ่ง พอชี้ปั๊บ เพื่อนๆ ก็วิ่งกระจายหนีไปถ่ายรูปกัน ไม่สนใจพิธีกรคนดังเลย อีกตอนหนึ่งพอบนฟ้ามีคอนเทรล (contrail) ซึ่งเป็นเมฆเส้นสีขาวๆ ที่เกิดจากเครื่องบิน เพื่อนๆ ก็ตื่นเต้นชี้ชวนกันถ่ายภาพ ฝรั่งถึงกับงงเลย พอถ่ายทำเสร็จ คุณแดเนียลบอกว่า ‘ผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเมฆน่าสนใจยังไง แต่ผมว่าคนรักเมฆน่าสนใจมากเลย’ (หัวเราะ) สำหรับผมนี่คือกำไรชีวิตนะ คุณมีความสุขได้กับสิ่งที่คนอื่นเห็นว่ามันธรรมดา

 

เวลาเราหลงใหลอะไรมากๆ ก็ย่อมต้องทุ่มเทเวลา สละค่าใช้จ่าย ลงทุนไปกับสิ่งนั้น แล้วคนรักมวลเมฆต้องสละอะไรในชีวิตบ้าง

     งานของผมเป็นงานวิชาการ เขียนบทความ เขียนหนังสือ อธิบายเมฆและปรากฏการณ์ต่างๆ ตามงานสัมมนา ออกสื่อบ้าง ก็ต้องลงทุนซื้อหนังสืออ้างอิงไว้เป็นจำนวนมาก ถือว่าหมดเงินไปหลายหมื่นเหมือนกัน ส่วนเรื่องเวลา ส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กของชมรม ซึ่งแต่ละครั้งก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะเดี๋ยวนี้สะดวก ใช้มือถือได้ แต่วันหนึ่งก็เข้าไปหลายครั้งอยู่นะ (หัวเราะ)

     ชมรมคนรักมวลเมฆของเราจัดมีตติ้งไปหลายครั้งแล้ว มีกิจกรรมต่างๆ อย่างการบรรยายวิชาการ ประกวดภาพถ่าย ประกวดออกแบบบัตรประจำตัวหรือปกหนังสือ เรามีเพลงประจำชมรมด้วย แต่งและร้องกันเอง จัดมีตติ้งแต่ละที ทุกคนใช้เงินตัวเอง นำเครื่องดื่มมาแบ่ง นำของชำร่วยมาแจก ช่วยกันจัดหาของรางวัลเกี่ยวกับเมฆ เช่น หมอนเมฆ ร่มเมฆ ส่วนมีตติ้งล่าสุดก็ได้มติชนอคาเดมีเอื้อเฟื้อสถานที่และการจัดการต่างๆ มี คุณปานบัว บุนปาน ที่เป็นทั้งผู้บริหารมติชนและเป็นคนรักเมฆให้การสนับสนุน

     คงเป็นเพราะว่าสมาชิกในชมรมเป็นคนทำงานแล้ว ดังนั้น ฐานะจึงมั่นคงระดับหนึ่ง เวลาไปไหนมาไหนหากใครเจออะไรเกี่ยวกับเมฆก็จะซื้อส่งมาแบ่งปันกัน หรือส่งภาพมาให้ดู ล่าสุดคุณพ้ง สมาชิกคนหนึ่งในชมรม ไปเจอกบเหลาดินสอรูปเมฆ ก็นำมาให้ผมในงานสัปดาห์หนังสือ แล้วไม่ใช่ให้ผมคนเดียวนะ เพื่อนๆ เขาให้กันเองด้วย มิตรภาพที่เกิดขึ้นมันงดงามมาก

     ผมเองก็มีคอลัมน์ประจำอยู่ในหนังสือพิมพ์ พอถึงเวลาก็รวมเล่ม มีอยู่ 2 เล่มที่ภูมิใจมาก เล่มหนึ่งคือ ‘Cloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ’ อีกเล่มคือ ‘All about Cloud เล่มนี้มีเมฆมาก’ เล่ม Cloud Guide ใช้เวลารวบรวมข้อมูลราว 8 ปี ประมวลเมฆและปรากฏการณ์ต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ และครบถ้วนที่สุดในโลกแล้ว ขอเคลมแบบนี้เลย (หัวเราะ) ส่วนอีกเล่มคือ All about Cloud เป็นหนังสือที่ผสานความรู้และความงดงามของเมฆเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม เหมาะสำหรับคนเริ่มต้นหัดดูเมฆ

 

เวลาได้เห็นเมฆแปลกๆ หรือหายาก คุณรู้สึกอย่างไร

     มันสิ รีบถ่ายเลย บางทีมือสั่นเลยด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่เมฆนะ เป็นรุ้ง ปกติเราจะเห็นรุ้งเป็นเสี้ยวโค้งใช่ไหม แต่วันนั้นผมออกจากสนามบินภูเก็ตที่ฝนเพิ่งตกใหม่ๆ ปรากฏว่าเจอรุ้งเต็มวงเป็นวงกลมลอยอยู่ตรงหน้า โชคดีเก็บเป็นคลิปไว้ทัน รุ้งวงกลมหายากเพราะว่าเราต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมพอดี จริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้อาจถ่ายง่ายนะ อย่างช่างภาพต่างประเทศเขาถ่ายรุ้งเต็มวงใกล้ๆ น้ำตก เขาจะรู้ว่ามีละอองน้ำ รู้มุมดวงอาทิตย์ ก็เลยใช้โดรนบินขึ้นไปถ่าย มีเทคโนโลยีช่วย ก็สวยนะ แต่ผมว่าก็ไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการเห็นด้วยตาของเราเอง

 

 

การดูเมฆครั้งไหนที่ต้องดั้นด้นเดินทางไปมากที่สุด

     ยังไม่เคยดั้นด้นขนาดนั้น ครั้งที่ตื่นเต้นมากก็คือรุ้งเต็มวงที่เล่าไป อีกครั้งคือตอนเห็นเมฆจานบิน วันนั้นตื่นเต้นมากเพราะลูกเจอก่อน เขากำลังนอนเล่นในห้อง แล้วเห็นเมฆแปลกๆ ทางหน้าต่าง ก็ไปเรียกพี่เขามาดู เรียกไปเรียกมาบอกว่าไปเรียกพ่อดีกว่า พอผมเห็นก็ เฮ้ย เมฆจานบินนี่นา ช่วยกันถ่ายภาพใหญ่เลย ตอนนั้นมันมาก (ยิ้ม)

 

คนรักมวลเมฆ
เมฆจานบิน
คนรักมวลเมฆ
เมฆช่องเปิด

 

     ส่วนเพื่อนๆ คนอื่นก็จะเจออะไรสนุกๆ ของเขาเหมือนกัน อย่างที่คุณวรภพ จากจังหวัดอุบลราชธานี เจอเมฆที่เป็นช่องเปิดตรงกลางรูปร่างกลมๆ ซึ่งมีกลไกการเกิดน่าสนใจนะ รู้ไหมว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับเบียร์วุ้นด้วย

 

เบียร์วุ้นเนี่ยนะ มันไปเกี่ยวข้องกับมวลเมฆได้อย่างไร

     เบียร์วุ้นคือการนำเบียร์ไปแช่ในที่เย็นจัด แต่เบียร์ยังคงเป็นของเหลวอยู่ พอเคาะขวดแล้วถึงกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งใช่ไหม ประเด็นคือเรามักถูกสอนว่า ถ้าน้ำเย็นจนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปหรอก น้ำลดอุณหภูมิต่ำลงได้ถึง -40 องศาเซลเซียส โดยที่ยังคงสถานะของเหลวอยู่ ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกกระทบกระเทือน

     แล้วเมฆที่มีช่องเปิดรูวงกลมเหมือนเบียร์วุ้นตรงไหน? สำหรับเมฆที่อยู่สูงขึ้นไปราว 5-6 กิโลเมตร หยดน้ำที่อยู่ในนั้นจะถูกแช่เย็นจัดจนอุณหภูมิติดลบ แต่ยังคงสถานะเป็นของเหลวอยู่ แต่หากมีอะไรไปกระทบ เช่น เครื่องบินบินผ่าน ก็จะเกิดการกระเทือนทำให้หยดน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง น้ำแข็งที่เกิดขึ้นตกลงมา ส่วนขอบก็แผ่ลามออกไปเป็นวงกลม ตรงกลางเลยกลายเป็นช่องเปิดวงกลม ดังนั้น เวลาเห็นเมฆแบบนี้ โอเค แปลกก็จริง แต่มันยังเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราอาจจะคาดไม่ถึง เช่น วิธีในการทำเบียร์วุ้น คือเรื่องพวกนี้เป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอเชื่อมโยงกับสิ่งใกล้ตัวปุ๊บ ก็น่าสนุกและเปิดโลกทัศน์ของเราไปด้วย

 

คนรักมวลเมฆ

 

นอกจากเรื่องของความสวยงามและการเยียวยาจิตใจแล้ว ปรากฏการณ์ของเมฆบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกเราได้บ้างไหม

     สิ่งหนึ่งที่สำคัญ แต่อาจฟังดูแปลกสักหน่อยคือเมฆเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์โลกร้อนด้วย แต่บ้านเราไม่ค่อยให้ความสนใจ อย่างในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เวลาเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองที่อยู่ไกลๆ เช่น จากแคลิฟอร์เนียฝั่งตะวันตกไปยังจอร์เจียแถบฝั่งตะวันออก ถ้าขับรถจะใช้เวลานาน คนอเมริกันจึงนิยมเดินทางโดยเครื่องบินกันมาก ทีนี้เครื่องบินอาจทำให้เกิดคอนเทรลได้ ซึ่งหากอากาศชื้น เส้นคอนเทรลจะแผ่ออกด้านข้าง เมฆคอนเทรลเป็นเมฆระดับสูง และทำตัวคล้ายเมฆซีรัส คือเก็บกักรังสีความร้อนหรืออินฟราเรด หากโลกแผ่รังสีอินฟราเรดขึ้นไปบนท้องฟ้า ถ้าไม่มีเมฆเลย รังสีความร้อนก็จะออกสู่อวกาศไป แต่ถ้ามีเมฆกั้นอยู่ รังสีจะสะท้อนลงมาทำให้โลกอุ่นขึ้น 

     ในต่างประเทศมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคอนเทรลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ว่าทำให้โลกอุ่นขึ้นแค่ไหนด้วยนะ เป็นงานวิจัยจริงจังเลย และเคยมีแนวคิดที่ว่า ถ้าปรับลดระดับการบินของเครื่องบินลงมาก็จะเกิดคอนเทรลน้อยลง

 

คุณคิดว่าคนไทยเราจำเป็นขนาดไหนที่ต้องทำการศึกษาเรื่องเมฆลงลึกเหมือนที่ฝั่งยุโรปและอเมริกากำลังศึกษาอยู่

     เมื่อปี 2555 มีโครงการ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study หรือ SEAC4RS ที่นาซาจะขอมาใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อศึกษาสภาพบรรยากาศ ละอองลอยในบรรยากาศ เช่น ฝุ่น หยดน้ำ หยดสารเคมีต่างๆ ว่าสำคัญต่อการก่อตัวของเมฆและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างไร เพราะว่าละอองลอยมีผลต่อการเกิดเมฆ และเมฆก็ทำให้เกิดฝนใช่ไหม สถานที่ซึ่งอากาศสะอาด การก่อตัวของเมฆก็จะเป็นแบบหนึ่ง หยดน้ำในเมฆจะกลายเป็นฝนกลับลงมา และทำให้เกิดฝนในระดับหนึ่ง

     แต่สมมติถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ปล่อยฝุ่นควันออกมา ฝุ่นพวกนี้ไปดึงไอน้ำในอากาศมาเกาะ คราวนี้เกิดเมฆเหมือนกัน แต่เมฆมีหยดน้ำขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมาก แต่หยดน้ำไม่ค่อยโต โอกาสที่จะกลายเป็นหยดน้ำฝนก็ยากขึ้น พื้นที่แห่งนั้นอาจมีปริมาณฝนลดลง เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่แถบมหาสมุทรอินเดีย

     กลับมาที่เมืองไทย ถ้าพูดถึงนาซาเราอาจจะนึกถึงเรื่องอวกาศอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ นาซาศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ด้วย เขาศึกษาละอองลอยในหลายๆ พื้นที่มาแล้ว ก็เหลือแค่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญ แต่ยังไม่ได้ศึกษา เพราะแถบบ้านเราโรงงานอุตสาหกรรมเติบโตเร็ว แล้วเขาเลือกมาไทยเพราะไทยเป็นศูนย์กลางของบริเวณนี้ แถมมีความพร้อมหลายอย่าง ก็เลยเสนอที่สนามบินอู่ตะเภา แต่ปรากฏว่าโครงการนี้ผู้คนไม่เข้าใจ แถมอาจโดนการเมืองเล่นงาน ทำให้เสียโอกาสไป

     ดังนั้น ที่ถามว่าเมืองไทยควรสนใจไหม มันเกินกว่านั้นไปแล้ว มันควรจะมีโครงการแบบนี้ มีการร่วมมือกับต่างประเทศแล้วทำให้เกิดองค์ความรู้ เพราะความรู้มันเกี่ยวกับเรา ถ้าฝนมากขึ้นหรือน้อยลงเพราะฝุ่นควัน ละอองลอยพวกนี้ คนที่ได้ผลกระทบคือเราเอง ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร แต่คนเมืองก็เกี่ยวด้วย หากน้ำเหนือเขื่อนน้อยลงคนเมืองอาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ หากนาซาเข้ามา นักวิชาการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะมีโอกาสได้ทำงานกับเขาเพิ่มขึ้น เกิดเป็นความรู้ความชำนาญที่จะเป็นประโยชน์ต่อเราและภูมิภาคนี้

 

ต่างประเทศที่มีฤดูกาลมากกว่าก็อาจจะได้เจอสภาพอากาศที่แปลกกว่าเรา โอกาสจะได้เจอเมฆแปลกๆ ก็เยอะตามไปด้วยใช่ไหม

     เรื่องฝนฟ้าอากาศนี่ฝรั่งเจอเข้มข้นกว่าเราเยอะ อย่างเราไม่มีหิมะ ไม่มีทอร์นาโด ไม่มีเมฆแปลกๆ เช่น เมฆทีปราตรี (noctilucent clouds) และเมฆมุก (nacreous clouds) อย่างน้ำแข็งตามธรรมชาติในแถบเขตอบอุ่นมีอย่างน้อย 20 กว่าแบบ น้ำแข็งไม่ได้มีแค่หิมะ ลูกเห็บ และแม่คะนิ้ง เขามีเยอะแยะเลย สภาพอากาศของเขาทำให้เจอปรากฏการณ์ต่างๆ เยอะกว่า ความรู้ที่เกิดจากการตั้งคำถามและการสืบค้นก็เยอะกว่าด้วย

 

คนรักมวลเมฆ

 

เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์หลงใหลเมฆ เพราะต้องการตอบคำถามเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติใช่ไหม

     ก็มีส่วน แต่ทุกคนจะมาเจอแง่มุมร่วมกันได้อย่างหนึ่ง คือเรื่องเชิงวัฒนธรรม คนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวพวกนี้มาก่อน พอรู้ก็สนุก หรือคนธรรมดาที่ทำอาชีพอื่นพอรู้เรื่องเชิงวิทยาศาสตร์เขาก็สนุกดี

     เล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง ‘คุณไวท์’ – ทัศนัย สุขขีวรรณ สมาชิกชมรม เคยทำงานอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จู่ๆ วันหนึ่งโทร.มาบอกผมว่าบนฟ้ามีเมฆอันดูเลตัส คือเป็นลอนคลื่นเต็มฟ้าเลย ตอนนั้นผมดีใจมาก ไม่ใช่แค่ว่าไวท์โทร.มาหา แต่เพราะว่าเขาพูดภาษาวิทยาศาสตร์ได้ถูกเป๊ะเลย (หัวเราะ) มันน่าทึ่ง หรือบางครั้ง ชมรมก็ทำให้คนที่เคยเกลียดเมฆหันมารักเมฆได้ อย่างเช่น คนที่ชอบดูดาว คือเมฆมันไปบดบังดาวไง แต่ว่าวันหนึ่งเขาไปเจอเมฆเต้านม หรือ mamma เป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ แต่ละก้อนเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 กิโลเมตร ใหญ่กว่าตึกอีกนะ พอเห็นเข้า เปลี่ยนความคิดเลย เฮ้ย เมฆแปลกดีเว้ย (หัวเราะ)

 

เมฆแบบไหนที่คุณอยากเห็นมากที่สุดแต่ยังไม่มีโอกาสได้เห็น

     ถ้าเป็นเมฆ ผมอยากเห็นเมฆมอร์นิงกลอรี (Morning Glory) เป็นเส้นยาวๆ เหมือนปอเปี๊ยะ เป็นรูปแบบหนึ่งของ roll cloud หรือเมฆม้วน ในบ้านเรานี่ roll cloud ยาวไม่มาก ระดับไม่กี่กิโลเมตร แต่เมื่อลองเทียบกับเมฆมอร์นิงกลอรีที่ยาวที่สุดในโลกซึ่งยาวต่อเนื่องถึง 1,000 กิโลเมตรสิ แล้วมาเป็นขบวนขนานกันหลายเส้น เมฆมอร์นิงกลอรีเกิดที่ออสเตรเลียบ่อย แล้วมีคนขึ้นไปทำอะไรรู้ไหม เขาขึ้นไปบินเครื่องร่อนใกล้ๆ มัน เรียกว่าไปเซิร์ฟเมฆเล่น บ้าดีนะ (หัวเราะ)

     แต่ถ้าเป็นปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมฆ ผมอยากเห็นนาคเล่นน้ำ (waterspout) หรือที่สื่อชอบเรียกว่า พายุงวงช้าง อันนี้น่าตื่นเต้นมาก

 

คนรักมวลเมฆ

 

สำหรับคุณ เมฆเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือน่าสนใจกว่าเรื่องอื่นๆ หรือเปล่า

     แน่นอน ทุกคนจะบอกว่าเรื่องที่ตัวเองสนใจน่าสนใจทั้งนั้นแหละ ถามคนที่ชอบนกก็พูดเรื่องนกได้ทั้งวัน หรือเรื่องดอกไม้ เรื่องหุ้น เรื่องเมฆก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าสำหรับผม เมฆไม่ได้สำคัญไปกว่าเรื่องอื่นหรอก แต่รู้ไว้มันน่าสนุก มีข้อดีด้วยคือดูง่าย ถ่ายภาพง่าย ไม่ต้องเล่นกล้องก็ได้ เว้นแต่จะถ่ายปรากฏการณ์พิเศษบางอย่างเก็บไว้ ที่สำคัญได้เพื่อน ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้ใช้จินตนาการ ได้เห็นอารมณ์ขัน เช่น การ์ตูนที่วาดบนเมฆ

     เมฆเป็นตัวแทนของคุณภาพอากาศได้ บางเรื่องสำคัญมาก เช่น ถ้ามีฟ้าแลบฟ้าผ่า เราควรทำตัวอย่างไร เรื่องของฟ้าฝนเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรา เรามักจะฟังเรื่องราวของมันแบบผ่านๆ ไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ แต่ถ้าฟังแล้วคิดตามให้เข้าใจ เราจะเห็นรายละเอียดมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต

 

*ขอขอบคุณภาพถ่ายเมฆจาก ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

 


อ่านบทสัมภาษณ์ซีรีส์ ‘geek’ อื่นๆ ได้ที่      

     – คนเลี้ยงมด | การเลี้ยงมดสอนให้อดทน เพราะเราทำได้แค่เฝ้าดูมันมีชีวิตของตัวเอง

     – คนตกปลา | พอคุณชอบตกปลาเมื่อไหร่ เตรียมใจไว้เลยว่าคุณไม่อาจหลุดจากวงโคจรนี้

     – คนดูนก | นกสอนให้มองเห็นความหลากหลาย และคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงหนึ่งเดียวไม่มีจริง

     – นักวาดภาพพฤกษศาสตร์ | ตื่นพร้อมแสงเช้า ทุ่มเทและเฝ้ารอจนถึงวันที่ความพยายามผลิดอกออกผล