จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ

จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ: ความสำเร็จในการจัดงานประชุมสุดยอดอาเซียนที่เชื่อมโยงสู่อนาคตอันปลอดมลพิษของประเทศไทย

‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ คือแนวคิดสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2562 ซึ่งประเทศไทยรับหน้าที่การเป็นประธานอาเซียนและจัดการประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากในการประชุมแต่ละครั้ง สิ่งที่มักจะหลงเหลืออยู่หลังจากการประชุมจบลงคือ ‘ขยะและมลพิษ’ จำนวนมากกลายเป็นปัญหาสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศจึงเกิดแนวคิดที่หวังสร้างการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นในการประชุมครั้งนี้

        กลยุทธ์และเป้าหมายอันสำคัญของท่าน จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ในครั้งนี้ได้ตั้งความหวังไว้ว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในการประชุมสุดยอดอาเซียนต้องแก้ไขได้จริง โดยการจัดการประชุมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพื่อต่อยอดและสร้างความยั่งยืนในการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมสู่สังคมไทยให้ได้ในอนาคต

 

จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ

คิดและลงมือทำจริง

        “ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันของพวกเรา หากมองไปรอบตัวก็จะเห็นแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเรื่องของขยะและมลพิษ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก” ปัญหาแรกที่ท่านทูตเริ่มอธิบายเมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ที่มีนโยบายที่จริงจังในการจัดงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

        “พวกเราคุยกันว่าในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา แม้จะมีการหารือถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแต่ยังไม่เคยมีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในการประชุมที่เกี่ยวข้อง ทำให้ในปีนี้ที่ประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธานอาเซียนและได้รับมอบหมายจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอาเซียนในกรอบต่างๆ จึงเกิดแนวคิดเรื่องความยั่งยืนขึ้นมา ในปีนี้นโยบายที่สำคัญคือต้องนำพาแนวคิดความยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีผลออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและธรรมเนียมปฏิบัติของอาเซียน”

        ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอาเซียนในกรอบต่างๆ ในปี 2562 ถูกวางบทบาทให้เป็นการประชุมภายใต้แนวคิด Advancing Partnership for Sustainability หรือ ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ ที่มีกลยุทธ์ระหว่างการประชุมที่เอาจริงเอาจัง โดยมีมิติสำคัญคือความยั่งยืนในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะมีผลลัพธ์ที่ออกมาตรงตามเป้าหมายที่ตั้งต้น

        “เรานำหลักการ 3R ได้แก่ Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) มาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการประชุม ปัญหาแรกในการประชุมคือเรื่องปริมาณพลาสติกจำนวนมาก โดยในการประชุมก็ได้เปลี่ยนลักษณะภาชนะบรรจุที่พยายามใช้พลาสติกให้น้อยที่สุดโดยใช้น้ำจากขวดแก้ว อีกทั้งฝาขวดน้ำเราก็เก็บมาเพื่อต่อยอดเป็นขาเทียม

        “อีกมาตรการหนึ่งที่เรานำมาใช้คือการใช้รถขนส่งผู้นำที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งได้รับความสนับสนุนจาก BMW ที่มีเป้าหมายช่วยลดมลภาวะทางอากาศให้น้อยลงเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กน้อยเพียงบางส่วนในการประชุมครั้งนี้เท่านั้น” 

การเริ่มต้นใหม่ไม่เคยมีอะไรง่าย

       ย้อนกลับไปในการประชุมครั้งก่อน แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงการจัดงานประชุมเพื่อความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อมมาตลอด แต่ในทางปฏิบัติก็ยากที่จะจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง สำหรับการจัดประชุมนี้ในครั้งแรกก็มีเรื่องที่ต้องปรับแก้ตลอดเวลาเช่นกัน

        “ความท้าทายระหว่างประชุมมีมาโดยตลอด เช่น ในระหว่างการประชุม เราตั้งใจให้บัตรผู้เข้าร่วมประชุมเป็นกระดาษและใช้การสแกนผ่าน QR Code แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ปกพลาสติกสำหรับใส่บัตร แต่พอใช้ไปสักระยะ กระดาษก็เริ่มบุบสลาย เราจึงต้องกลับมาใช้ปกพลาสติกเพื่อที่จะใส่บัตรแทน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเรายังแก้ไขได้ไม่เด็ดขาดยังต้องกลับไปใช้พลาสติกเช่นเดิมอยู่ 

        “แต่เราได้ปรับนโยบาย โดยพยายามไม่ให้เป็นการใช้ในลักษณะ Single-use plastic หรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลังจากการประชุมจบเราก็ขอรับคืนเพื่อใช้ในครั้งต่อไป (Recycle) ซึ่งคณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” ก่อนที่ท่านทูตจะเล่าถึงปัญหาข่าวหลังการประชุมที่เป็นกระแสจากการที่ใช้เก้าอี้กระดาษ ที่หลายคนมองว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น

        “ผมมองว่าถ้าเราเข้าใจแนวคิดของการ Reuse (ใช้ซ้ำ) จะเข้าใจว่าทำไมในการประชุมถึงใช้วิธีนี้ เพราะเก้าอี้กระดาษที่ทางบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนมา ไม่ได้สำหรับใช้แค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ใช้ทั้งปีตลอดการประชุม พอครบปีก็นำไปบริจาคให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของกระทรวงการต่างประเทศได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ผมคิดว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าและจับต้องได้ เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่าคำว่าสิ้นเปลืองตามเนื้อข่าว เพราะถ้ามองกันจริงๆ กล่องกระดาษเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า”

 

ร่วมแรงร่วมใจ ถึงแม้หนทางยาวไกลก็ไม่หวั่น

        การไปให้ถึงความตั้งใจเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมจากการประชุมครั้งนี้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่การได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนมากกว่า 20 แห่ง ก็ช่วยให้การประชุมครั้งนี้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้

        “เรามีหุ้นส่วนด้านความยั่งยืนอีกมากที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ เช่น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน (SCG), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน (PTTGC), กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) และบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ส่วนในภาคประชาสังคมก็มี สมาคมสร้างสรรค์ไทย (TECDA) หรือโครงการตาวิเศษเป็นต้น ที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เกิดเป็นกระแส และจะต่อยอดส่งต่อไปสู่สังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนดำเนินการประชุมตั้งแต่แรกเริ่มของพวกเรา”

        แผนดำเนินการที่หลายหน่วยงานให้ความร่วมมือ มีอะไรบ้าง? เราถามด้วยความสงสัยปนยินดีที่เห็นหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต่างมีเป้าหมายเดียวกันที่หวังสร้างให้ประเทศไทยมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น

        “อันดับแรกคือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ตามห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัลหรือสยามพิวรรธน์ รวมทั้งบนเครื่องบินของบริษัทการบินไทย ก็มีการประชาสัมพันธ์ ถึงการเป็นประธานอาเซียนของไทยและการประชุมสุดยอดอาเซียนในลักษณะ Green Meeting ด้วยว่าคืออะไร

        “ต่อมาคือการผลิตของที่ระลึกที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับวัสดุ หรือ Upcycling ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง อย่างเช่น PTTGC ก็ทำกระเป๋าและเสื้อ ที่ทำมาจากใยพลาสติกที่ใช้แล้วเป็นของที่ระลึกจากการประชุม เป็นต้น

         “มีอีกหลายฝ่ายเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการประชุมครั้งนี้อย่างบริษัท ปตท. จำกัด ก็นำกิจการร้านกาแฟ Amazon มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุม และยังนำบาริสตาที่เป็นคนพิการทางหูมาให้บริการในงานเพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนพิการได้มีอาชีพและมีบทบาทในการจัดการประชุมเวทีระดับโลก” ก่อนที่เราก็ถามถึงเสียงตอนรับจากการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

         “อย่างแรกเขาเห็นว่าเราทำจริง เราทำให้คนที่มาร่วมประชุมเห็นเป็นรูปธรรมได้ ผมคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะกลายเป็นกระแสและต่อยอดไปสู่การสร้างความยั่งยืนในวงกว้างมากขึ้น ทุกวันนี้เวลาไปซื้อของ ห้างสรรพสินค้าก็เริ่มงดแจกถุงพลาสติกกันแล้ว และในปีหน้าจะมีนโยบายเรื่องนี้ที่จริงจังมากขึ้น ผมมองว่านี่เป็นนิมิตหมายอันดีของสังคมไทยมาก ที่สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้อย่างวงกว้างได้จริงๆ

        “กระทรวงการต่างประเทศเองก็เริ่มมองถึงในอนาคตว่าต่อไปเราต้องเข้าไปปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้ในระดับเยาวชนผ่านเครือข่ายโรงเรียนยุวทูตความดี 998 แห่งและโรงเรียนห้องสมุดอาเซียนอีก 44 แห่งในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ให้เขารู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างมีวินัยและรู้คุณค่า 

        “เพราะสำหรับผม ทรัพยากรธรรมชาติต้องเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปอีกนาน เป็นต้นทุนสำคัญที่จะพัฒนาให้ประเทศเราในทุกมิติ ให้มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงในอนาคต

 

จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ

ซึ่งถ้าหากทำได้จริง ผมมองว่านี่เป็นความสำเร็จที่ประเมินค่าไม่ได้เลย การที่เราได้รับผลตอบรับเช่นนี้เป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่งของผม

สร้างความยั่งยืนให้ทั้งสิ่งแวดล้อมและหัวใจของเรา

        คุณคิดว่าการเริ่มต้นครั้งนี้ประสบความสำเร็จไหม?  เราถามท่านทูตเพื่อให้ท่านสรุปการประชุมในครั้งนี้ทั้งหมดโดยผ่านหัวจิตหัวใจ อารมณ์ และความรู้สึกที่แท้จริง ของทีมงานทั้งหมดโดยมีท่านเป็นตัวแทนในการตอบความรู้สึกนี้

        “ในส่วนของผมและทีมงาน ผมคิดว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอาเซียนในกรอบต่างๆ ครั้งนี้เป็นที่น่าพึงพอใจ เรามีส่วนร่วมที่ทำให้การประชุมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ จากทุกภาคส่วนในสังคมไทย อาจมีจำนวนถึง 2 ล้านชิ้นเลยถ้าให้นับจำนวนชิ้นพลาสติกซึ่งสามารถลดได้ในการประชุมในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน การมีตัวเลขเหล่านี้มีออกมาให้เราเห็นเป็นรูปธรรมจริงๆ และพวกเรารู้สึกพึงพอใจงานในครั้งนี้มาก

        “เราได้รับรางวัล Carbon Neutral Event หรือการจัดงานเพื่อให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลง จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) อีกทั้งในเวทีระหว่างประเทศ ในการจัดอันดับประเทศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ United Nations ประเทศไทยก็เลื่อนขึ้นกลายเป็นอันดับที่ 40 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน  

        “รางวัลและอันดับเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราพยายามสร้างกันมาส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมจริงๆ” ท่านทูตกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนขึ้นพร้อมกับสีหน้าบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ ก่อนที่เราจะถามถึงเรื่องราวในอนาคตว่าจะทำการประชุมเพื่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ให้ยั่งยืนและต่อยอดออกสู่สังคมให้กลายเป็น ‘ชุมชนสีเขียว’ ได้อย่างไรบ้าง

        “ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน วินัยและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราเริ่มจากตัวเองก่อน เวลาไปซื้อของลองเริ่มที่จะไม่ขอถุงพลาสติก ไม่ขอหลอดพลาสติก สิ่งเล็กน้อยแบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนได้แล้ว วินัยเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคนชอบบอกว่ายาก แต่สำหรับผมไม่จริงเลย ถ้าเราให้ความสำคัญที่จะมีวินัยจริงๆ การมีวินัยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ก็สามารถกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ผมอยากเห็นบ้านเราเหมือนประเทศญี่ปุ่นที่เมื่อเร็วๆ นี้เกิดน้ำท่วมจากมรสุมครั้งใหญ่ แต่กลับไม่มีขยะลอยตามน้ำออกมาให้เห็นเลย ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องช่วยกันเสริมสร้างวินัยในเรื่องเล็กกันมากขึ้น”

        อีกเป้าหมายหนึ่งของท่านคือการได้เห็นบ้านเมืองที่สะอาด เป็นระเบียบ และไร้ปัญหาขยะพลาสติกใช่ไหม เราถามคำถามสุดท้ายแก่ท่าน เพราะหวังว่าจะได้เห็นเป้าหมายที่ดีแบบนี้อีกจากกระทรวงการต่างประเทศในอนาคต

        “ผมหวังไว้ว่าอย่างนั้นเหมือนกัน คงจะเป็นเรื่องดีถ้าเราสามารถยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ที่นอกจากลดผลกระทบด้านมลพิษจากการประชุมแล้ว ยังสร้างประโยชน์ขึ้นมาต่อสังคมได้ คงจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อีกไกลในภายภาคหน้า”