“บางทีหากการใช้โซเซียลฯ ของพ่อแม่โดยที่ไม่ระวัง ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีตัวตนได้เหมือนกัน ในขณะที่เราคิดว่า เรากำลังสร้างตัวตนให้ลูกในโลกโซเซียลฯ อยู่”
พ่อแม่หลายคนอาจเห็นว่าสื่อโซเซียลฯ คือไดอารีออนไลน์ จดบันทึกเรื่องราวและความทรงจำของตัวเองและลูกน้อยไว้มากมายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ผ่านการถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหว จนบางครั้งมีการตามติดชีวิตของลูก เปิดเผยเรื่องราวของลูกอย่างละเอียด โดยมีกล้องเป็นสื่อกลาง แต่ว่าการโพสต์รูปลูกที่มากเกินไป หรือการเสพติดโซเซียลฯ ที่หนักเกินพอดีของพ่อแม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับลูก และอาจเลยเถิดไปจนถึงเรื่องความปลอดภัยทั้งตัวผู้ปกครองและลูกน้อย รวมทั้งการปั้นเด็กให้มีตัวตนในโลกออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน ที่บางครั้งหากทำจนเกินพอดี ก็อาจจะส่งผลในระยะยาวได้เช่นกัน
เพื่อค้นหาคำตอบ คลายความสงสัย และขอคำแนะนำ เราจึงต่อสายตรงไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ‘หมอก้อย’ – พญ. พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ
การสร้างตัวตนให้ลูกในโลกโซเซียลกับอาการฮ่องเต้ซินโดรมฯ เกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร
ฮ่องเต้ซินโดรม คือการเลี้ยงดูโดยยกให้ลูกเป็นใหญ่ ถ้าเด็กต้องการอะไรก็ได้ทุกอย่าง ไม่มีการกำกับเรื่องกฎกติกา ระเบียบวินัย ประคบประหงม ตามใจ ให้ได้ทุกอย่าง พ่อแม่จะแก้ปัญหาแทนเด็ก ส่งผลทำให้เด็กยืดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่ ‘การปั้นเด็ก’ ผ่านโลกโซเซียลฯ ก็อาจส่งผลทำให้เด็กสร้างตัวตนโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นเดียวกัน เพราะโซเซียลฯ คือการพรีเซนต์ตัวตน โดยส่วนใหญ่ก็มักจะพรีเซนต์แต่ด้านดีของเรา หรือตัวตนของลูกที่พ่อแม่สร้างขึ้น โดยเฉพาะด้านดีๆ เพื่อให้คนอื่นได้เห็น
ซึ่งเด็กเองก็ยังไม่เข้าใจว่านี่คือการสร้างตัวตน
ใช่ แต่ที่เราเป็นห่วงก็คือ เมื่อเขารู้ความมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กแล้วรู้ว่า นี่คือเรื่องธรรมดา แต่อย่างผู้ใหญ่จะต้องผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิต หรือการมีเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง บางครั้งตัวเราอาจไม่ได้เป็นจุดสนใจมากเท่าตัวตนในโลกโซเซียลที่เราพรีเซนต์ออกไป หมอว่าเรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้เด็กเข้าใจไม่ตรงตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ชีวิตจริง เขาอาจจะต้องคอยมองหาแต่เรื่องดีๆ เพื่อมาพรีเซนต์ตัวเอง ทำให้ตัวเองดูเก่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อเรียกยอดไลก์หรือเรียกคอมเมนต์ต่างๆ
หรือการสร้างตัวตนให้ลูกในโซเซียลฯ ก็คือการสร้างตัวตนของตัวพ่อแม่เสียเอง
อาจจะเป็นไปได้ เวลาที่พ่อแม่พรีเซนต์ลูก เช่น ลูกเดินได้แล้ว พูดได้แล้ว สอบได้ที่หนึ่ง ในมุมหนึ่งก็คือความภูมิใจของพ่อแม่ ซึ่งก็เป็นเหมืนตัวตนอีกด้านหนึ่งของพ่อแม่
สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกในทุกๆ ด้านถ้าพ่อแม่สนใจแต่เรื่องการดันลูกให้ดังคืออะไร
หมอว่า อาจจะไม่ถึงขั้นที่ว่า หากพ่อแม่ทำแบบนี้แล้วลูกจะแย่แน่ๆ แค่อาจจะเป็นพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงที่จะต้องระวังในการใช้สื่อโซเซียลฯ กับลูก เพราะเด็กยังไม่เข้าใจว่าโลกแห่งความเป็นจริงและโลกโซเซียลฯ อาจจะไม่เหมือนกัน เช่น ลูกไปตัดผมมาใหม่ โลกแห่งความเป็นจริง เพื่อนๆ ก็อาจจะไม่ได้ทักอะไร แต่หากเขาชินกับการโพสต์ลงโซเซียลแล้วมีคนมากดไลก์ มีแต่คนมาชม เขาก็จะงงว่าเกิดอะไร ซึ่งก็จะมีเด็กหลายคนที่ใช้ชีวิตในโลกโซเซียลฯ ได้ แต่กลายเป็นว่าในชีวิตจริงเขาทนไม่ได้ เขารู้สึกราวกับว่าโลกความจริงช่างโหดร้าย ไม่มีใครสนใจเขาเลย
เด็กต้องอยู่ในวัยไหนถึงจะปลอดภัยกับเรื่องนี้ได้
แล้วแต่เด็กแต่ละคนว่าเขาจะเริ่มสังเกตเรื่องความต่างได้แล้ว หมอคิดว่าน่าจะประมาณ 10 ขวบขึ้นไป หรือบางคนก็จะเริ่มที่วัยประถม และนี่ก็เป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น เขาก็จะเห็นว่า การที่แม่เอาเรื่องหรือรูปของเขาไปโพสต์ลงโซเซียล เมื่อเห็นเขาก็จะเกิดคำถามกลับมาว่าทำไมต้องเอาเรื่องนี้ไปลง เพราะเขาไม่ต้องการเปิดเผย หรือไม่อยากให้ใครรู้ แต่แม่รู้สึกภูมิใจ แม่จึงโพสต์ ซึ่งสำหรับแม่อาจจะเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ แต่สำหรับลูก นี่คือความลับหรือไม่ชอบ นี่เป็นเรื่องเฉพาะของเด็กแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่สิ่งเลวร้าย
และทุกวันนี้ก็มีคำว่า introvert คือ บุคลิกแบบเก็บตัว คนที่มีบุคลิกเช่นนี้มักจมอยู่กับความคิดและความรู้สึกของตัวเอง และ extrovert คือ บุคลิกที่ชอบพบปะผู้คน กล้าแสดงออก และเป็นผู้นำ สมมติว่า ลูกของเราเป็น introvert เป็นคนที่ไม่ได้ชอบเปิดเผย ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับหมอคือ หากเด็กคนนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังมีบุคลิกที่มีโลกส่วนตัวสูงไปเรื่อยๆ และแม่ก็ยังโพสต์อยู่เรื่อยๆ เช่นกัน เขาก็จะรู้สึกว่า ทำไมแม่ไม่เคารพความรู้สึกของเขาเลยทั้งๆ ที่เขาไม่ชอบ ซึ่งจุดนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ต่อกันได้
กรณีของเด็กเล็กมากๆ จะเกิดอะไรขึ้นต่อความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือเปล่า
ถ้าหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองเคยชินกับเวลาที่มีสิ่งประทับใจของลูกเกิดขึ้น หรือลูกทำอะไรน่ารักๆ มาให้ แล้วเรารีบหยิบมือถือมาถ่ายรูป ถ่ายคลิปแล้วโพสต์ แต่รู้หรือไม่ว่า ช่วงเวลาที่น่าประทับใจนั้น มันสั้นมากๆ และลูกเองอาจจะคาดหวังว่าจะได้เจอกับสายตาที่ภาคภูมิใจของแม่ รอยยิ้มกว้างๆ ของพ่อ การกอด บอกรักและหอมอีกฟอดใหญ่จากพ่อแม่ กลายเป็นว่า แม่หรือพ่อหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูป แล้วโพสต์ลงโซเซียลฯ แล้วยิ้มให้หน้าจอแทนยิ้มให้กับเขา ซึ่งเขาคงไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร หรือหลังจากนั้น อาจจะกลายเป็นโมเดลทางความคิดให้ลูกว่า เวลาที่เราประทับใจอะไร เขาก็จะต้องทำแบบนี้ และสุดท้ายในชีวิตจริง เขาก็จะกลายเป็นอย่างที่แม่เป็น
เขาเองก็จะไม่ได้ซึมซับหรือโฟกัสเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเอง แต่บางทีเขาจะอยู่แค่ตรงนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วความสุขที่เกิดขึ้น มันอาจจะสั้นกว่าที่ควรจะเป็น เพราะว่าความสุขนั้นแค่รู้สึกว่าดีจัง แล้วก็ถ่ายรูป โพสต์ลง รอดูยอดไลก์ และรออ่านคอมเมนต์ผ่านกระจกหน้าจอมือถือ ทั้งๆ ที่น่าจะมีความสุขมากๆ จากเหตุการณ์บางอย่าง หรือได้ใช้เวลาเพื่อดื่มด่ำอย่างเต็มที่ ระยะเวลาตรงนั้นกลับหายไปอย่างน่าเสียดาย
เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกให้ความสำคัญกับตัวตนในโลกเสมือนจริงนั้น พ่อแม่ต้องไม่โพสต์เรื่องลูกหรือใดๆ ของลูกเลยอย่างนั้นเหรอ
หมอคิดว่า ควรเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้อง ‘คิดก่อนโพสต์’ มากกว่า อยากให้คิดเสมอว่า โพสต์แล้วทุกอย่างจะอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตทันที ไม่สามารถกู้คืนได้ ต่อให้ลบทิ้งไปแล้วก็ตาม ระบบอาจจะฝังไปแล้ว หรืออาจจะมีใครแคปไว้ก็ได้ อย่างที่เคยมีประเด็นเรื่องการสมัครงาน บริษัทที่เปิดรับสมัครงานจะเริ่มมีการพิจารณาผู้สมัครงานผ่านการสืบข้อมูลทางโซเซียลมีเดียในโลกออนไลน์ เช่น การโพสต์ข้อความ หรือรูปถ่ายที่อาจจะแสดงได้ถึงทัศนคติหรือแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับองค์กรก็ส่งผลต่อการปฏิเสธให้เข้าทำงานได้เช่นกัน
นอกจากการโพสต์รูปถ่าย และเรื่องราวของลูกแบบส่วนบุคคล อีกส่วนคือ การโพสต์แบบเปิดเพจเฟซบุ๊ก คุณหมอมีความคิดเห็นต่อกรณีการเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อลงเรื่องราวของเด็กอย่างไร
หมอเคยคุยกับแม่ที่โพสต์เรื่องลูกของตัวเองลงเพจเป็นส่วนใหญ่ และมีประเด็นที่น่าคิดตามคือ ความกดดันของการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้สร้างเพจ พ่อแม่จะไม่ยอมให้เกิดเรื่องที่ไม่น่ารักกับลูก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดา ที่เด็กคนหนึ่งจะมีมุมน่ารักและบางครั้งที่ไม่น่ารัก หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงลูกของเราเองที่บางวันเราก็ทำในสิ่งที่ไม่ดี แย่มากหรือไม่ถูกต้องกับลูกเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่า พ่อแม่นั้นจะต้องแสดงออกหรือมีท่าทีด้านดีให้คนอื่นเห็นอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนออกไปข้างนอก ยิ่งเป็นเพจที่มีคนรู้จักหน้าตาของลูกหรือของพ่อแม่ก็ตาม เขาอาจจะรู้สึกกดดันจนกระทบต่อการเลี้ยงลูกจริงๆ ได้ เพราะไม่ได้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ผ่อนคลาย
อีกประเด็นคือ เรื่องความรู้สึกการเป็นส่วนตัวของเด็ก ซึ่งคาบเกี่ยวกับความปลอดภัยด้วย อย่างที่หมอเคยเห็น คุณแม่ผู้ทำเพจลูกจะระบุไว้เสมอว่า ขอความกรุณา หากไปเจอลูกของแม่ที่โรงเรียน หมอเข้าใจว่าคุณเอ็นดู แต่อย่าไปทักเขา เพราะเขาจะตกใจมาก เพราะเขาไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร นี่คงเป็นการแก้ปัญหาและวิธีปกป้องความรู้สึกและร่างกายของลูกได้ในระดับหนึ่ง
สิ่งนี้ยืนยันได้ว่า พ่อแม่ที่เปิดเพจลูกก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบต่อลูกเช่นกัน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีทั้งทางกายภาพและจิตใจของลูก
ถูกต้อง
พ่อแม่มีวิธีการรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้ลูกเติบโตไปแล้วรู้สึกว่า โลกโซเซียลฯ คือโลกที่มีแต่สปอตไลต์ส่องตัวเองเสมอจนกลายเป็นโลกจริงของเขา
พ่อแม่ควรให้พื้นที่ตัวส่วนกับลูกในโลกแห่งความจริงบ้าง ระวังการโพสต์เรื่องของลูกให้มากขึ้น อาจจะไม่ต้องโพสต์ทุกกิจกรรมที่ลูกทำ หรือทุกเรื่องในชีวิตของเขา โดยปล่อยให้ลูกมีความเป็นส่วนตัวด้วย
ระหว่างนั้นถ้ามีการสื่อสารกับลูก ควรถามความรู้สึกของลูกด้วย การชวนลูกคิดก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะกับพ่อแม่สร้างเพจลูก อีกนัยหนึ่งก็คือ การปั้นลูกให้เป็นเซเลบเล็กๆ และในเด็กเล็กที่ประสบการณ์ยังมีไม่มาก พ่อแม่จึงควรเล่าให้ลูกฟัง ชวนคุยชวนคิดว่า หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ลูกจะทำอย่างไร เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ให้ลูก ข้อดีคือ เป็นการฝึกคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และแก้ปัญหาในอนาคตได้
นอกจากพ่อแม่จะช่วยป้องกันความรู้สึกของลูกแล้ว ทางกายภาพจะป้องกันอย่างไร กรณีที่โดนจู่โจมหรือถ่ายภาพลูกโดยไม่ทันตั้งตัว
สำหรับหมอเองก็รู้สึกไม่ดีหากมีใครบางคนที่รู้จักเราแต่เราไม่รู้จักยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปของเรา ดังนั้น พ่อแม่เองจะต้องสื่อสารกับลูกเพจให้เข้าใจตรงกัน เรื่องการแจ้งให้รู้ตัวสักนิดก่อนถ่ายภาพ คล้ายกับการขออนุญาตสักนิดก็จะดีมาก
มีวิธีการสร้างตัวตนให้ลูกแบบที่เป็นธรรมชาติที่สุดได้อย่างไรบ้าง
ขอแค่มีใครสักคนที่เห็นเขาอยู่ในสายตา หมอคิดว่า ต้องเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต ทั้งตอนที่ลูกมีความสุขที่สุด หรือเสียใจที่สุด พ่อแม่ก็จะอยู่เคียงข้างเขา กอดบอกรักในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ หมอคิดว่า บางทีหากการใช้โซเซียลของพ่อแม่โดยที่ไม่ระวัง ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีตัวตนได้เหมือนกัน ในขณะที่เราคิดว่า เรากำลังสร้างตัวตนให้ลูกในโลกโซเซียลอยู่
หมอเชื่อว่า โซเซียลฯ คงยังอยู่กับเราไปอีกเรื่อยๆ แต่หมออยากให้ฉุกคิดนิดนึงว่า ช่วงเวลาที่ลูกจะได้อยู่กับเราจริงๆ ก็คงไม่เกิน 10 ปี และเป็น 10 ปีที่ทุกนาทีที่เราให้ลูกไปนั้นสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะยังไง สิ่งแรกก็คือควรโฟกัสที่ลูกก่อนเสมอ ทีนี้ต่อให้เราสร้างเพจเพื่อความทรงจำขึ้นมาให้ลูก หรือจะปั้นลูก หมอก็คิดว่า ลูกก็จะรู้สึกว่าเขามีตัวตน เป็นที่รักและสำคัญต่อพ่อแม่ เขาก็จะให้ความรักและสร้างความมั่นคงทางจิตใจของตัวเองได้ในวันที่เขาเติบโต
สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งพ่อแม่ มีงานวิจัยจากเมืองนอกได้กล่าวว่า โซเซียลฯ คือสารกระตุ้นโดปามีน (สารควบคุมอารมณ์และความรู้สึก) ให้กับผู้ใหญ่ แล้วสำหรับเด็กปั้นของพ่อแม่ อะไรคือโดปามีนธรรมชาติของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องพึ่งโลกเสมือนจริง
พ่อแม่ควรวางมือถือ ออกจากโลกโซเซียลฯ บ้าง แล้วหันไปให้ความสำคัญกับลูก หากลองถามเด็กๆ ว่า ความสุขของหนูคืออะไร เด็กยิ่งเล็กเขาก็จะตอบอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับพ่อแม่ เช่น ชอบตอนที่พ่อพาไปเที่ยว ชอบตอนที่แม่เล่นกับเขา ชอบตอนที่พ่อแม่กอดเขา แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้น คำตอบของเขาก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เขาพอเจอว่าความสุขในช่วงวัยต่างๆ ของเขาคืออะไร
คุณหมอมีเคสตัวอย่างเล่าให้ฟังไหม
หมอไม่แน่ใจว่ามีเคสที่ชัดเจนมั้ย แต่นึกถึงในบางกรณี อย่างกรณีของนักร้องนักแสดงทั้งชาวไทยและต่างชาติหลายๆ คนที่ภายนอกเราเห็นว่าเขามีความสุขดี แต่ภายในลึกๆ ของเขามีบางอย่างที่ไม่ชัดเจน สุดท้ายก็ทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย หมอกำลังจะชี้ให้เห็นว่า คนเหล่านั้นเขาอยู่ท่ามกลางแสงไฟที่ส่องเขาตลอดเวลา เป็นจุดสนใจของคนจนกลายเป็นความกดดันที่เขาไม่สามารถจะแสดงตัวตน หรือแสดงความอิสระส่วนตัวได้เลย บางครั้งตลอดชีวิตของเขา เขาก็แค่เป็นเด็กคนหนึ่งที่อยากจะงอแงบ้างเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมาจากโลกโซเซียลฯ นั้นกลับทำให้เขารู้สึกว่า สิ่งที่ต้องทำคือ… เพื่อให้ได้ยอดไลก์หรือมีคนชมอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นความกดดันที่เกิดจากความขัดแย้งในจิตใจ และนำไปสู่ความเจ็บปวดได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมอไม่ได้หมายความว่า เด็กที่ถูกพ่อแม่ปั้นขึ้นมา หรือเติบโตไปกับแสงแห่งโลกโซเซียลฯ ทุกคนจะต้องพบกับปลายทางแบบนี้ แต่นี่คือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กคนไหนก็ได้ และเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน
ทุกอย่างคงขึ้นอยู่กับสองมือของพ่อแม่แล้ว
สุดท้ายแล้ว หมอคิดว่าคงไม่ถึงขนาดที่ชี้ชัดไปเลยว่าห้ามใช้ ห้ามโพสต์เรื่องลูก เพราะเป็นไปได้ยาก แต่ก็อาจจะต้องคิดก่อนโพสต์ ยิ่งลูกโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งต้องตอบสนองต่อความรู้สึกและความต้องการของเขาให้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันตัวตนของลูกก็จะชัดขึ้นตามไปด้วย ด้วยเขาเองก็เริ่มความต้องการบางอย่างที่ไม่เหมือนกับเรา เพราะไม่ว่าอย่างไรลูกก็คือคนละคนกับพ่อแม่ เราไม่ใช่เขา เขาไม่ใช่ตัวเรา และไม่ได้เป็นเงาของเราในชีวิตจริง