I'm Not Your F***ing Stereotype

I’m Not Your F***ing Stereotype: หยามเหยียด เกรี้ยวกราด ในความเชื่อที่แตกต่างทางศาสนา

“เรื่องที่ดีที่สุดสำหรับการการสร้างหนังคือเรื่องของตัวเอง และในกรณีของ I”m Not Your F***ing Stereotype ผู้กำกับได้สร้างการเล่าเรื่องส่วนตัว ผ่านการแสดงและสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

        หนึ่งในความเห็นของคณะกรรมการในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ครั้งที่ 30 หลังจากที่ประกาศให้ I”m Not Your F***ing Stereotype คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทหนังสั้นยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร้ข้อกังขา

        เมื่อย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของหนังสั้นที่นอกจากเป็นธีสิสสำหรับส่งอาจารย์เพื่อจบการศึกษาภาควิชาภาพยนตร์ของ ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ หนังเรื่องนี้ยังเป็นตัวแทนของ ‘ความคับแค้นจากมุสลิมคนหนึ่ง’ ที่ผู้คนในสังคมมักเหยียดและล้อเลียนศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

        “สิ่งที่เราทำมันคือการพูดแทนอีกหลายคนอยู่ เรารู้สึกว่ามุสลิมกำลังต้องการคำขอโทษจากการโดนล้อ ทำให้หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นการพูดแทนมุสลิมที่เขาอึดอัดว่า กูก็มีหัวใจนะเว้ย”

        ฮีซัมร์พูดคุยถึงศาสนาอิสลามและแรงผลักดันที่ทำให้เกิดหนังธีสิสเรื่องนี้ของเขา รวมถึงความเป็นไปของวงการหนังสั้นในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการมองเห็นคุณค่าเหมือนหนังใหญ่ทั่วไปที่ฉายตามโรงภาพยนตร์

 

I'm Not Your F***ing Stereotype

ชื่อหนังของคุณเป็นสิ่งที่สะดุดใจตั้งแต่แรกเลย

        มีหลายเหตุผลที่ผมตัดสินใจใช้ชื่อนี้ แต่แรงบันดาลใจของชื่อนี้จริงๆ มาจากช่วงหนึ่งที่ผมเริ่มค้นคว้าเรื่องการถูกเหมารวมในโรงเรียน แล้วผมไปเจอคลิปจาก TED Talk คลิปหนึ่งซึ่งพูดถึงนักเรียนเอเชียในอเมริกา ที่คนผิวขาวมักมองว่าการเป็นคนเอเชียจะต้องเก่งคณิตศาสตร์ ต้องชอบกินข้าว ต้องเครียดเรื่องการเรียนมากๆ ถ้าสอบได้ B ไม่ได้ A+ ต้องไปฆ่าตัวตายแน่ๆ ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเนื้อหาขนาดนั้น แต่ที่เตะตาผมมากคือชื่อคลิปที่เขาใช้ว่า I Am Not Your Asian Stereotype

แล้วทำไมต้องเติม Four Letter Words (F***ing) เข้าไปในชื่อเรื่อง

        เราเติมคำนี้เข้าไปในตอนที่บทเริ่มขึ้นโครงหนังได้แล้ว ตอนนั้นเรารู้เลยว่าหนังของเรามีความก้าวร้าวบางอย่าง แล้วอยากให้คนดูได้รับรู้ความก้าวร้าวตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย ถ้าสมมติว่าชื่อมันอ้อยอิ่ง เรียบร้อยมาก แล้วไปเจอความรุนแรงของหนังเรา คนดูอาจจะช็อกได้

ความ ‘ก้าวร้าว’ ที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง

        ตอนเรียนอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นสถานที่ที่เราคู่ควรมาตลอด แต่พอย้ายมาเรียนภาพยนตร์ที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกไปทุกเรื่อง อาจเพราะจำนวนของมุสลิมมีน้อยลงหรือใดๆ ก็ตาม แต่เรากำลังถูกมองเป็นตัวประหลาด จากนั้นมันก็เริ่มสร้างความอัดอั้นให้เราเรื่อยๆ ซึ่งหลายอย่างกลายเป็นฉากที่เกิดขึ้นในหนัง เช่น การที่นางเอกถูกล้อเรื่องชื่อในคาบแรกของแต่ละวิชา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเช่นกัน กลายเป็นว่าเราจะเกลียดคาบแรกของทุกวิชาที่เขามักจะบอกว่า ‘ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ ทำไมชื่อประหลาดจัง’

เขาอาจจะไม่ได้เหยียดคุณ แต่ทำให้คุณรู้สึกแปลกแยกใช่ไหม 

        ใช่ สุดท้ายเราไม่ได้ต้องการการยกยอหรือความพิเศษอะไร เราแค่อยากให้ทุกคนมองเราเป็นคนธรรมดาแค่นั้น คนอื่นอาจจะมองว่า แค่นี้มึงก็โมโหแล้วเหรอ แต่พอสะสมมาเรื่อยๆ มันก็ทำให้เราเจ็บปวดเหมือนกัน

ตอนอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณรู้ไหมว่ามีเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคม

        รู้มาตลอด แต่พอเจอจริงๆ ก็รับมือยากอยู่เหมือนกัน เราไม่ได้คิดว่าจะต้องเจอมากขนาดนี้ คิดว่าแค่นานๆ ทีเท่านั้น แต่ผมนี่เจอตั้งแต่ขึ้นกรุงเทพฯ ครั้งแรกเลย  

แต่ก็น่าจะมีอีกหลายคนไหมที่เขาสงสัยจริงๆ ว่าชื่อคุณแปลกจัง โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียน

        เรื่องของความอยากรู้น่าสนใจมาก บางคนเขาก็ถามเราด้วยความอยากรู้จริงๆ เหมือนที่เราสร้างตัวละคร ‘แฮม’ ที่ไร้เดียงสาจริงๆ ขึ้นมา แต่ก็จะมีอีกแบบที่ถามเพราะ ‘กวนตีน’ แบบไม่ล้อเลียนนะ แต่มันยั่วเรามากกว่าประมาณว่า ไอ้นี่มันมีความจำกัดทางด้านความอดทนได้มากแค่ไหนกัน

เรื่องความไร้เดียงสานี่น่าสนใจนะ คิดว่าปัญหามามาจากตรงไหน

        ผมว่ามันคือปัญหาที่มาจากระบบการศึกษา ที่เราชินชาจนมองว่าวิชาศาสนาในประเทศไทยคือศาสนาพุทธไปแล้ว ทำให้ความรู้ที่มีต่อมุสลิมและศาสนาอิสลามจึงผิวเผินมาก

 

I'm Not Your F***ing Stereotype

ถึงจุดไหนที่คุณรู้สึกว่าควรจะ ‘ตะโกน’ สิ่งเหล่านี้ผ่านหนังของตัวเองออกมา

        สิ่งที่รู้สึกว่าต้องทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมามันไม่ใช่เหตุการณ์แง่ลบจนรู้สึกว่าต้องทำหนังนะ แต่มันเป็นเหตุการณ์ง่ายๆ ในวิชาวิจารณ์หนังกับ อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร ตอนท้ายคลาสอาจารย์ถามเราว่า “ฮีซัมร์คิดอย่างไรกับการที่ภาพยนตร์อเมริกัน ’90 ถึงปี 2010 ตัวร้ายจะเป็นอาหรับ มุสลิม หรือวางเหตุการณ์ใดๆ ให้พัวพันกับเหตุการณ์ 911” ยอมรับว่าตอนนั้นเราก็มีคำถามที่เคลือบแคลงในใจเหมือนกัน แต่เราก็ไม่มีคำตอบให้อาจารย์

        เราเลยรู้สึกว่าการที่อาจารย์ตั้งคำถามแล้วเราตอบไม่ได้ ทำให้รู้สึกเสียหน้ามาก เพราะเราจะเป็นพวกเนิร์ดที่ชอบตอบคำถามในคลาสตลอดเวลา เลยรู้สึกว่าอยากทำหนังเพื่อตอบคำถามนี้ว่าเรารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์แบบนี้ แต่สุดท้ายหนังก็ไม่ได้ตอบคำถามหรอก เพราะหนังก็จบด้วยคำถามอยู่ดี มันทำหน้าที่ได้เพียงว่าเรารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์แบบนี้

ผมสร้างด้วยการระเบิดอารมณ์จากความเก็บกด เหมือนเป็นการตะโกนความรู้สึกของตัวเองออกไปผ่านหนังเรื่องนี้

แม้หนังเรื่องนี้จะเป็นตัวแทนความรู้สึกของคุณก็จริง แต่คุณคิดไหมว่าสารของมันก็มีความสากลผ่านหนังเช่นกัน

        ตอนเราทำหนังเรื่องนี้ เราทำด้วยความส่วนตัวมากๆ แต่บางทีสิ่งที่เราทำมันคือการพูดแทนหลายคนอยู่ เราคิดว่ามุสลิมกำลังต้องการคำขอโทษจากการโดนล้อ ทำให้หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นการพูดแทนมุสลิมที่เขาอึดอัดว่า ‘กูก็มีหัวใจนะเว้ย’ 

คาดหวังไหมว่าคนทั่วไปที่ไม่ใช่มุสลิม จะรู้สึกแบบคุณด้วย

        เรามีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน แต่เขาชอบหยอกล้อด้วยมุกเกี่ยวกับมุสลิม เราเลยตั้งเป้าหมายระยะสั้นว่า ‘กูทำยังไงก็ได้ให้ไอ้นี่ดูหนังจบแล้วต้องขอโทษกู’ สุดท้ายพอหนังฉายเสร็จ เพื่อนคนนั้นก็เดินมาทั้งน้ำตาแล้วบอกว่า “ฮีซัมร์ กูรู้สึกผิดต่อมึงมากเลยว่ะ พอดูหนังเรื่องนี้” นี่เป็นตัวแทนของคนทั่วไปที่เราคาดหวังไว้ว่าถ้าหนังมันทำงานกับเขา เขาก็คงต้องรู้สึกอะไรบ้างกับการกระทำของตัวเอง

        ประเทศไทยยังแยกไม่ออกระหว่างคำว่า ‘เหยียด’ กับ ‘แซว’ หนังเรื่องนี้เลยอยากให้เห็นว่าสิ่งที่คุณมองว่าคือการแซว สำหรับเรามันคือการเหยียด ซึ่งถ้าเขาได้รู้ความจริงข้อนี้ก็อาจจะรู้สึกอะไรขึ้นมาบ้างก็ได้

ดังนั้น หนังเรื่องนี้ก็เป็นทั้งที่ระบายอารมณ์ความรู้สึกของมุสลิม และการกระตุ้นให้คนภายนอกได้คิดด้วย

        ใช่ ผมพยายามสมดุลสองสิ่งนี้ตลอด เพราะจริงๆ เวลาดูหนังคนดำ มุสลิมดูหนังคนดำจะอินกว่ามาก เพราะสิ่งที่คนดำโดนในโรงเรียน มันคือสิ่งที่มุสลิมในโรงเรียนมักโดน ผมเลยรู้สึกว่า ผมเลยมีตรรกะคนดำในการเขียนบทนี้อยู่

นอกจากความรู้สึกส่วนตัวแล้ว คุณมีอะไรอีกที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์

        เยอะมาก เพราะเราเป็นพวกเนิร์ดหนัง หลักๆ เลยคือ Lady Bird (2017) หลายอย่างในตัวนางเอกของผมก็หยิบยืมวิธีคิดหรือวิธีการสร้างตัวละครมาจากเธอ หรือเวลาที่เราคิดไม่ออกว่าบทหนังจะไปทางไหน ก็จะคิดต่อว่าถ้ามันเป็นภาคต่อของ Lady Bird มันจะเป็นอย่างไร แล้วหลายอย่างในเรื่องมันตรงกับหนังเรา เช่น นางเอกไม่ชอบชื่อตัวเอง ไม่ชอบบ้านเกิดตัวเอง เรารู้สึกว่าเราอินเหลือเกิน อยากเอามาใช้ในหนังของตัวเองมาก

Mary Is Happy, Mary Is Happy (2013) นี่ก็เข้าข่ายด้วยเหรอ

        ที่เห็นได้ชัดเลยคือการใช้ตัวอักษรเล่าเรื่อง ซึ่งมันชัดเจนจนถึงขนาดที่ว่าตอนที่หนังไปฉายที่สิงคโปร์แล้วมี After Party ก็มีชาวต่างชาติคนหนึ่งเขานิยามหนังเราว่าคือ Post-Nawapol เป็นหนังที่ได้รับอิทธิพลจากผู้กำกับอย่าง ‘เต๋อ’ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อย่างหนักหน่วง

        แต่เราคิดไปอีกขั้นหนึ่งด้วย เพราะตอนแรกเราตั้งใจจะใช้เสียงพูดนางเอกพูดแทนตัวอักษรเลย แต่พอตัดออกมาแล้วมันมั่วมาก ฟังไม่รู้เรื่องและเราไม่ชอบเลย ตอนนั้นเลยมานั่งคิดใหม่ว่าทำอย่างไรดีให้ข้อความนี้ส่งต่อถึงคนดู ให้เป็นเสียงของคน คำตอบคือใช้ตัวอักษรไง แล้วเดี๋ยวเขาก็จะอ่านด้วยเสียงของตัวเองนั่นแหละ

ตอนคุณเสนอธีสิสหนังเรื่องนี้กับอาจารย์ ได้คำแนะนำอะไรกลับมาบ้าง

        ต้องบอกก่อนว่า สุดท้ายหนังออกมาไม่ตรงกับที่ขายงานตอนนั้นเยอะพอมสมควร เพราะตอนแรกเราต้องการพูดถึงเรื่องมุสลิมส่วนรวม และมารียัมจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่พอเอาเข้าจริง วิธีเล่าแบบนั้นมันกินเวลามาก มันทำให้หนังไม่สนุก ผมเลยย่อยความใหญ่ของเนื้อเรื่องให้มันตรงประเด็นมากขึ้น

        แต่ย้อนกลับไปตอนขายงาน ผมขายด้วยโพสต์หนึ่งในเฟซบุ๊กที่เขียนประมาณว่า ‘ปี 2018 แล้วมึงยังเล่นมุกปาหมูใส่มุสลิมอีกเหรอ ถ้ากูเจอใครเล่นมุกแบบนี้กูจะจับหมูยัดปากมึง’ ซึ่งพออ่านโพสต์นั้น ผมเห็นหนังทั้งเรื่องเลย ทำให้เวลาขายงานที่ปกติคนอื่นเขาจะเขียนเรื่องย่อกัน แต่เราเลือกแปะโพสต์นั้นแล้วขายงานเลย แล้วก็บอกอาจารย์ว่า “ถ้านึกไม่ออกว่าตัวละครจะเป็นแบบไหน ก็ลองอ่านโพสต์นี้อีกที” (หัวเราะ)

 

I'm Not Your F***ing Stereotype

ที่กล้าทำ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ ด้วยใช่ไหม

        มีฉากหนึ่งที่ผมตั้งใจจะเสียดสีระบบการศึกษา ฉากที่เด็กมุสลิมถือบอร์ดพระพุทธศาสนาอยู่บนรถเมล์ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ผมเห็นจริงๆ  ตอนนั้นผมรู้สึกว่า แม่ง—โคตรเซอร์เลย กูอยากทำหนังที่มีฉากแบบนี้บ้าง แล้วก็ได้ทำด้วย รู้สึกอยากขอบคุณเขามากที่ทำให้เราได้เห็นภาพหนังเรื่องนี้

        แต่ตอนนั้นที่เห็นมันหลากหลายอารมณ์มากนะ ตอนแรกก็รู้สึกตลก แต่สักพักก็เริ่มเศร้า เพราะเขาคงไม่อยากให้ใครเห็นมันเป็นเรื่องตลก บางทีเขาอาจจะอยากหันบอร์ดหลบด้วยซ้ำ

ฉากหนึ่งในเรื่องที่ตัวละครมีการเปลี่ยนชื่อ มันมีนัยยะของการไม่ยอมรับตัวเองด้วยไหม

        ฉากนั้นเกิดจากเราเอง ที่ตอนนั้นปรึกษาอาจารย์ว่า ผมเขียนบทตัน ทำอย่างไรดี อาจารย์ก็บอกว่า “มึงก็สำรวจตัวเองสิ ลองมองกระจกแล้วสำรวจตัวเองดู” วันนั้นผมก็เลยกลับหอ วางบัตรประชาชนแล้วลองมองดูข้อมูลตัวเองในบัตรทั้งหมด ก็ค้นพบว่าเราเกลียดทุดอย่างในนั้นแม้กระทั้งรูปที่ถ่าย เลยรู้สึกว่าถ้าเราเปลี่ยนได้ ก็คงอยากเปลี่ยนทั้งหมด จากนั้นก็เริ่มคิดต่อว่า ทำไมตัวละครต้องอยากเปลี่ยนล่ะ หลังจากนั้นบททั้งหมดก็ไหลตามมาเลย

การที่ให้ตัวละครเกิดวันเดียวกันกับเหตุการณ์ 911 คุณแฝงเหตุผลอะไรไว้

        ผมให้มารียัมเป็นตัวแทนของมุสลิมในยุคของ Post-911 ที่เกิดมาพร้อมกับการที่ต้องแบกรับว่า ‘กูคือผู้ก่อการร้าย’ ซึ่งกลายเป็นการเหมารวมอย่างหนึ่ง แล้วผมเอามาเชื่อมกับวันเกิดของเธอ เพื่อส่งสารไปว่า เธอต้องแบกรับความรู้สึกนี้มานานถึง 17 ปีแล้ว

การใช้เฟรมในหนังเรื่องนี้เป็นวงกลม คุณอยากสื่อถึงอะไร

        จะมีหนังอย่าง I Am Not Madame Bovary (2016) ที่มีการใช้แบบนี้เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนั้นเหมือนเป็นการยืนยันว่า การทำแบบนี้มันได้ผลนะ แล้วผมก็อยากทำด้วย อีกอย่างคือหนังไทยยังไม่เคยมีอะไรแบบนี้เลย

        แต่ในตอนแรกที่คิดคืออยากทำหนังอัตราส่วน 4:3 เพราะอยากถ่ายทอดความอึดอัด ก็ยังไม่พอ แล้วต่อมาก็ 1:1 ก็ยังไม่พออีก แต่ถ้าจะแคบกว่านี้เราก็คงไม่ต้องดูอะไรกันแล้ว เราก็เลยใช้การตัดเหลี่ยมให้เหลือแค่วงกลม     

        เหตุผลต่อมา คือตอนแรกเราคิดว่าคนไทยที่มาดูหนังส่วนใหญ่ต้องเป็นคนพุทธที่ไม่ค่อยอินกับหนังของเรา ไม่รู้สึกผูกพันกับตัวละครแน่ ทำอย่างไรดี เราก็เลยจับคนดูใส่ฮิญาบผ่านวงกลมเลย กลายเป็นว่าทั้งตัวละครและคนดู ก็จะมีสายตาที่มองผ่านฮิญาบเหมือนกันทั้งคู่

        ส่วนการขยายและหดของวงกลม เรามองไว้ว่ามันต้องถูกใช้ในเวลาที่มารียัมรู้สึกไม่ปลอดภัยและอึดอัด เช่นตอนอยู่ในโรงเรียนหรืออยู่ที่บ้านกับแม่ เพราะช่วงเวลาเหล่านั้นเธอต้องอาศัยอยู่ในความกลัว

 

I'm Not Your F***ing Stereotype

ตัวละครในเรื่องที่เล่นเป็นแม่ สมจริงมากๆ จนอดคิดไม่ได้ว่าว่ามีต้นแบบมาจากแม่จริงๆ ของคุณ

        ก็ใช่ครับ แต่เราไม่ได้ทะเลาะกับแม่แบบในเรื่อง แม่แค่เป็นคนเคร่งศาสนา จะทำอะไรทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบศาสนามากที่สุด แต่เขาก็โอเคกับหนังเรานะ แต่กว่าเขาจะได้ดูก็ตอนได้รางวัลแล้ว ที่เขาอยากดูเพราะรู้สึกว่า “มันดีขนาดนั้นเลยเหรอวะ หนังของแกเนี่ย” (หัวเราะ)

แล้วคุณล่ะ เป็นมุสลิมที่เคร่งไหม

        เราเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงเรื่องความเชื่อบ่อยมาก ก่อนทำหนังเรื่องนี้เราอยากเป็นน้ำเสียงให้กับชาวมุสลิม เพราะเราเคร่งมาก แต่พอเราอยู่ที่กรุงเทพฯ สักพักก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปตามวิถีพุทธ ซึ่งมันคล้ายมารียัม เราก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี ถ้าให้ยกตัวอย่างในหนังเรา คุณจะเห็นได้ว่าครั้งแรกที่เปลี่ยนฉาก จะมีกรอบแบบอิสลามขึ้นมา อันต่อมาก็จะเป็นดอกบัวพุทธ แล้วอันสุดท้ายจะไม่มีอะไรเลย เพราะเธอขอใช้ชีวิตแบบไม่เคร่งในศาสนาเลยแล้วกัน ขอหยุดไปใช้ชีวิตสักพัก

เป็นเพราะคุณเกิดมาพร้อมการเป็นมุสลิม โดยไม่สามารถเลือกศาสนาเองด้วยหรือเปล่า

        มันไม่ใช่แค่มุสลิม ชาวพุทธก็ด้วย หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องวัยรุ่นที่เลือกอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็เลยจบด้วยการที่มันเปลี่ยนชื่อไม่ได้ เปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย นางเอกถ้าเขาเลือกได้ ก็คงไม่อยากเกิดมาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือต้องย้ายโรงเรียนเพราะพ่อแม่ย้ายบ้าน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้อยากจะย้ายออกมาแต่อย่างใด

การเปลี่ยนแปลงศาสนาในภายหลัง ถือเป็นสิ่งที่ยากไหม

        มันตลกมากนะ ที่ประเทศไทยเรียกการเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวว่า ‘อกตัญญู’ หมายความว่าต้องได้รับการอนุญาตจากพ่อแม่ก่อน เพราะคนเหล่านั้นมันถูกตราหน้าว่าไม่พอใจในสิ่งที่เป็น

        การทำงานของศาสนาจะมีความไม่เหมือนกัน อย่างศาสนาพุทธจะมีการพึ่งพาตัวเองสูง แต่มุสลิมสร้างมาให้เป็นสังคม ถ้าจู่ๆ คุณออกนอกศาสนาคุณจะกลายเป็นพวกนอกรีตทันที 

หากสามารถเกิดมาแล้วเลือกศาสนาเองได้ คุณคิดว่าจะยังเลือกเป็นมุสลิมอยู่ไหม

        ถ้ามองจากนิสัยตัวเองที่อยากได้รับการยอมรับจากหมู่เพื่อน เราเชื่อว่าในโลกคู่ขนานนั้น เรายังเลือกเป็นมุสลิมอยู่ แต่จะไม่บอกใครว่าฉันนับถืออิสลาม พอถึงจุดหนึ่งที่เรามีวุฒิภาวะแล้วศึกษามาหลายศาสนาจนคิดว่านี่เหมาะกับเราจริงๆ เพราะเราก็ยังอยากเป็นคนมีศาสนา มีคำสอนในใจ แต่เราไม่อยากเคร่งกับพิธีกรรมต่างๆ

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง หากคุณไม่ได้เคร่งศาสนามากมาย แล้วทำไมคนเราถึงต้องมีศาสนาล่ะ

        เราเคยคุยกับแม่นะ เพราะเขาถามว่าทำไมถึงไม่ละหมาด แต่ยังเป็นมุสลิมอยู่ เราแค่รู้สึกว่าเราไม่ได้อยากเลิกนับถืออิสลาม แต่แค่อยากพักไปใช้ชีวิตก่อน เงื่อนไขหลายอย่างของมุสลิมกับวิถีชีวิตของเราไม่ตรงกัน ที่เห็นได้ชัดเลยคือเราเป็นพวกชอบฟังเพลงหรือชอบไปดูหนังจนดึกดื่นจนกลับหอมาทำละหมาดไม่ทัน เลยรู้สึกว่าฉันขอพักก่อนได้ไหม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ ถ้าแม่ได้ยินคงกำไม้เรียวแน่ๆ (หัวเราะ)

ดังนั้นบางทีปัญหาของศาสนาอาจจะไม่ได้อยู่ที่คำสอน แต่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์และพิธีกรรมมากกว่า 

        ใช่ บรรยากาศและสิ่งเหล่านี้ทำให้คนเขาอยากนับถือมันน้อยลง

หนังของคุณก็ตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ด้วยใช่ไหม

        ส่วนหนึ่ง เพราะจริงๆ เรามีปัญหากับการถูกมองมาในศาสนาอิสลามมากกว่า เราไม่อยากอึดอัดเลยรู้สึกว่าตัวเองต้องตะโกนออกมาบ้าง

        อีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึงคือบ้านเกิดของเราอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งที่เราเล่นโซเชียลมีเดียมักจะมีข่าวของคนที่ทำชั่ว แล้วมักจะมีคนไปแสดงความเห็นที่มันคลาสสิกมากๆ เช่น มึงแม่งควรไปเป็นทหารอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป อะไรแบบนี้ แล้วเราก็จะรู้สึกไม่ดีตลอดว่าบ้านกูผิดตรงไหนวะ บ้านกูเป็นคุกเหรอ ทำไมแม้กระทั่งบ้านเกิดกูยังถูกเหมารวมเลย

ว่าแต่คุณอยากเป็นคนทำหนังมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

        ก่อนมัธยมฯ ปลาย เราเป็นแค่คนชอบดูหนังคนหนึ่ง แต่มันเริ่มมาชอบตอน ม.2 เราชอบดู Inception (2010) ดูแล้วรู้สึกว่าหนังมันเล่าเรื่องได้ซับซ้อนกว่าที่คิด แต่ตอนนั้นที่บ้านเราก็จะอยู่กับพี่ชายที่ชอบเล่นคอมพิวเตอร์เหมือนกัน เราก็ได้เล่นคอมแค่วันละ 2-3 ชั่วโมง แล้วช่วงเวลาหลังจากนั้นเราก็จะไม่มีอะไรทำ เพื่อนบ้านก็เป็นเด็กคนละวิถีชีวิตกับเรา ก็เลยเปิดโทรทัศน์ซึ่งจะมีช่องหนึ่งที่ฉายหนังตลอดเวลา เราก็อยู่กับมันตลอด จนกลายเป็นว่าเราชอบมันโดยที่ไม่รู้ตัว

        แต่เราก็ไม่รู้นะว่าตอนไหน วินาทีไหน ที่อยากทำหนัง รู้แต่ว่าตอนเลือกคณะ เรารู้ว่ามีคณะทำหนังอยู่ ตอนนั้นเราตื่นเต้นมาก เพราะคิดว่าต้องมีเพื่อนเราอยู่ที่นั่นเยอะมากแน่ๆ เพราะปกติในโรงเรียนมัธยมฯ จะไม่ค่อยมีเพื่อนที่คุยเรื่องหนังลึกๆ ได้ ทำให้ตอนแรกที่อยากเรียนฟิล์ม แค่เพราะอยากมีเพื่อนคุยเรื่องหนังเหมือนกับเรา 

        พอเรียนๆ ไปก็มีหลายวิชาที่ต้องทำหนังส่งเป็นการบ้าน มันก็ค่อยสั่งสมมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็อาจจะชอบไปเอง ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำโปรเจกต์จบเป็นหนังด้วยซ้ำเพราะเราไม่เก่งเลย ตอนแรกที่ออกมาทุกคนจะบอกว่า กูไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีหนังมึง หมายถึงว่าเราไม่ได้อยู่ในตัวเลือกของหนังน่าดูด้วยซ้ำ แต่พอหนังออกมา คนก็เริ่มฮือฮากันว่าหนังที่ตอนแรกไม่มีใครอยากดู เริ่มกลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้น

 

I'm Not Your F***ing Stereotype

หนังเรื่องไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่า ต้องเอาดีด้านนี้จริงๆ เสียที

      ถ้านอกจาก Inception (2010) อีกเรื่องหนึ่งก็คือ Fight Club (1999) เราประหลาดใจทุกครั้งที่ค้นพบว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องทางหนึ่ง แต่มีวิธีเล่าอีกทางหนึ่ง ตอนนั้นเราตกใจมากที่หนังมันเล่าแบบสลับไปมา มีเสียงพากย์ในเรื่อง มีการย้อนหลังความหลัง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าหนังมีความสร้างสรรค์บางอย่าง ที่เมื่อก่อนเรามองว่าหนังถูกสร้างมาในเชิงพาณิชย์ แต่หนังเรื่องนี้กลับทำมาเพื่อเป็นศิลปะ

        อีกอย่างหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันคือ เราเคยได้คะแนน 0 วิชาศิลปะ แล้วโดนอาจารย์ชี้หน้าแล้วบอกว่า “คนอย่างมึงไม่มีทางเอาดีทางด้านศิลปะได้” เรารู้สึกว่าอยากล้มล้างคำดูถูกนี้ 

ดูเหมือนคุณจะมีความไม่พอใจ ความโกรธ เป็นแรงผลักดันเสมอ

       (หัวเราะ) ผมค้นพบว่าตัวเองชอบสร้างแรงบันดาลใจผ่านความโกรธ แล้วเปลี่ยนมันเป็นพลังตลอด อาจเพราะผมเป็นคนไม่สู้คนด้วย คงเหมือนกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่อกหักแล้วแต่งเพลงด่า ของเราก็เปลี่ยนจากการที่โดนคนดูถูกมาระบายอารมณ์เป็นหนังแทน

        เรามองว่าภาพยนตร์จัดอยู่ในศิลปะได้ ไม่ใช่เพราะมันมีแค่ความสร้างสรรค์หรอก แต่มันมีการขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ผ่านการระบายอยู่ตลอด แต่มันก็มีบางคนก็ทำด้วยความประณีตเหมือนกันนะ เพียงแต่เราเป็นสายระบายอารมณ์เหมือน แจ็กสัน พอลล็อก ที่สาดสี แต่ถ้าให้ระบายอารมณ์อย่างเดียวคนคงไม่เข้าใจ เราต้องดึงดูดด้วยการหาวิธีที่มันแปลกประหลาด หาอะไรมาเคลือบอีกทีหนึ่งให้มันน่าสนใจ

คุณคิดว่าหนังของคุณเข้าใจง่ายแค่ไหน

        ตอนเราต้องส่งหนังให้กับกรรมการที่เป็นวงนอก เช่น อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร, ชยนพ บุญประกอบ, ยรรยง คุรุอังกูร  ตอนนั้นเราไม่ได้นอนสองคืนเพราะมัวแต่ตัดต่อหนัง แล้วเราดันส่งผิดเวอร์ชัน ส่งอันที่ไม่มีวงกลมไป ตอนแรกที่รู้ก็เครียดมาก เริ่มคิดแล้วว่าต้องไม่ได้รางวัลอะไรแน่ๆ เครียดถึงขนาดไปนั่งหอเพื่อนแล้วบอกว่า “มึงลุ้นหนังมึงไปเลย กูไม่ลุ้นอะไรแล้ว”

        แต่ปรากฏว่าเราได้รางวัล Critic Choice ที่นักวิจารณ์ชอบที่สุด เลยมาคิดกับตัวเองต่อว่า วงกลมกูไม่มีค่าเลยเหรอ อุตส่าห์ออกแบบมาตั้งเยอะ (หัวเราะ) คือเราจะบอกว่าวิธีการเล่ามันเป็นแค่ลูกล่อให้คนดูจนจบ แต่สิ่งที่สำคัญคือเนื้อหา เพราะถ้าคนชอบเนื้อหาจริงๆ วิธีเล่ามันจะเป็นอย่างไรคนก็สามารถสื่อสารได้

คุณจัดให้หนังเรื่องนี้อยู่ในประเภทใด

        ผมสร้างหนังเรื่องนี้ด้วยการมองว่ามันคือหนังสยองขวัญ (Horror) นะ มันมีหนังประเภทที่ว่า Man vs Creature, Man vs Ghost  แต่อันนี้คือ Man vs Society ซึ่ง Society นี่แหละ คือหนังผีสำหรับเรา

ถ้ามองถึงวงการหนังประเทศไทยในยุคนี้ คุณคิดว่าหนังสั้นมีการรับรู้หรือได้รับการยอมรับเพียงพอหรือยัง 

        เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมหนังสั้นในไทยถึงถูกแยกออกจากหนังยาวโดยสิ้นเชิง แต่ต่างชาติเขามีงานประกวดแบบนี้ตลอด หว่องการ์ไวเรื่องล่าสุดยังทำหนังสั้นอยู่เลย หรือเอาง่ายๆ อย่างรางวัลออสการ์จะมีพื้นที่ให้กับพื้นที่เล็กๆ อย่างหนังสั้นเลยนะ

        อย่าว่าแต่หนังสั้นเลย ทั้งวงการหนังยังได้รับการมองจากรัฐบาลน้อยมากๆ กลายเป็นว่าคนทำหนังสั้นใช้ชีวิตไม่ได้ คนที่เรียนจบหนังจะเดินไปสองทาง คือทางการตลาด หรือไม่ก็ทำหนังใหญ่หรือโฆษณาไปเลย น้อยคนมากๆ ที่จะยังคงเดินทางสายศิลปินอยู่

        ที่เราได้รางวัลจากสิงคโปร์ เขาให้เงินสนับสนุนเรื่องต่อไป 100,000 บาทเลยนะ เขาบอกว่าเอาเงินก้อนนี้ไปทำหนังเรื่องต่อไปเลย ตอนนั้นเรารู้สึกว่า คนต่างประเทศเขาให้ความสนใจกับการจะได้ดูหนังกันมาก ต่างจากไทยประมาณหนึ่งเลย

        แต่ในขณะเดียวกันเรามองว่าวงการหนังสั้นกำลังโตนะ การมีอยู่ของโรงหนังทางเลือกก็เริ่มเปิดพื้นที่ให้หนังสั้นมากขึ้น แต่มันก็เหมือนรถเฟอร์รารีที่ยังขาดน้ำมัน ซึ่งก็คือเงินจากรัฐบาล จากองค์กรหรือบริษัทอะไรที่เข้าถึงและเข้าใจสิ่งที่เราทำอยู่จริงๆ 

แล้วตัวคุณเองล่ะ จะเป็นศิลปินต่อไป หรือจะเข้าสู่ระบบการทำหนังเชิงพาณิชย์

        ผมเชื่อว่ามันแบ่งสมดุลกันได้ ทุกวันนี้ผมก็ทำงานประจำเป็นเอเจนซีโฆษณานะ แต่ก็จะมีคติว่าวันจันทร์ถึงศุกร์เป็นเวลาของงานประจำ ส่วนเสาร์-อาทิตย์เป็นวันที่ใช้ในการสร้างโปรเจกต์ส่วนตัว

คิดว่าตอนนี้วงการหนังในประเทศไทยต้องการอะไรอีก นอกจากการสนับสนุนของภาครัฐ

        ประเทศไทยต้องการความเป็นกลุ่มรวมกันเป็นพลัง แล้วพอมีการรวมกลุ่มที่มากพอจะสร้างพลังได้ ซึ่งไม่ใช่พลังจากบริษัทนายทุนอื่นๆ แต่เป็นกลุ่มของคนทำหนังเองที่สามารถต่อรองอะไรบางอย่างได้บ้าง เราก็จะสามารถเรียกร้องอะไรหลายอย่างจากรัฐ จากสังคม หรือจากหน่วยงานต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น