ฮิโนกิแลนด์

อนิรุทธ์ จึงสุดประเสริฐ | ชายผู้สร้างอดีตญี่ปุ่นไว้ที่เชียงใหม่ ณ ฮิโนกิแลนด์

หลายสุดสัปดาห์ติดต่อกันที่ถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดปรากฏการณ์รถติดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่สาเหตุอื่นใด นอกจากปริมาณรถที่คลาคล่ำเหล่านั้นต่างมีจุดหมายเดียวกันที่อำเภอไชยปราการ

ฮิโนกิแลนด์ คือธีมพาร์กเปิดใหม่ที่จำลองแลนด์มาร์กสำคัญๆ ของประเทศญี่ปุ่นในยุคเอโดะมาตั้ง ณ ริมถนนสายหลักก่อนเข้าตัวอำเภอไชยปราการ ทำให้อำเภอที่แต่เดิมถูกมองว่าเป็นทางผ่านแห่งนี้เริ่มมีชีวิตชีวา และกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ

     a day BULLETIN มีโอกาสได้คุยกับ คุณอนิรุทธ์ จึงสุดประเสริฐ ประธานบริษัท บ้านไม้หอมฮิโนกิไชยปราการ จำกัด นักธุรกิจที่นำเข้าไม้สนฮิโนกิสายพันธุ์ญี่ปุ่น (อย่างถูกกฎหมาย) รายต้นๆ และสร้างที่พักที่ทำจากไม้สนชนิดนี้เป็นหลังแรกของเมืองไทย ก่อนจะขยายมาสู่อาณาจักรญี่ปุ่นกลางหุบเขาทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ อันเป็นที่มาของ ฮิโนกิแลนด์

     ไปดูกันว่านอกจากการจำลองปราสาททองคินคะคุจิในเกียวโต ศาลเจ้าอาซากุสะในโตเกียว ซุ้มประตูโทริอิอันเลื่องชื่อ และสิ่งปลูกสร้างอีกหลากหลายที่เปิดให้ผู้มาเยือนได้สวมชุดกิโมโนถ่ายรูปเซลฟี ทดแทนการซื้อตั๋วเครื่องบินไปถ่ายรูปกับสถานที่จริงถึงญี่ปุ่น ชายผู้อยู่เบื้องหลังสถานที่เหล่านี้ เขามีวิธีคิดในการทำธุรกิจอย่างไร

 

ฮิโนกิแลนด์

 

ชีวิตเริ่มต้นที่ญี่ปุ่น 

     “ผมเป็นคนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จบ มส.3 แล้วก็เดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น ผมเริ่มต้นชีวิตที่นั่นจากศูนย์… (นิ่งคิด) ไม่สิ เริ่มต้นจากติดลบเลยต่างหาก เพราะยืมเงินค่าเดินทางจากเขามา…” คุณอนิรุทธ์ เล่าย้อนถึงจุดที่เป็นค่าเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนของชีวิตเขา

     ชายหนุ่มที่เริ่มต้นวัดดวงด้วยการเดินทางไปหางานทำในต่างแดน ก่อนจะถีบตัวเองจนเกิดธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนคนไทยที่นั่น สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีเงินเก็บเป็นกอบกำ และตลอด 20 ปีนับตั้งแต่เขาจากเมืองไทย เขาก็พบว่าตัวเองตกหลุมรักในเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมแห่งดินแดนใหม่ที่อาศัย

     “ผมชอบความงดงามหมดจดของวัฒนธรรมเขา สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมดั้งเดิม พออยู่ไปนานๆ เข้า ก็เริ่มสังเกตเห็นถึงวัตถุดิบที่เขาใช้ในงานก่อสร้างและงานตกแต่งหลากหลาย นั่นทำให้ผมเริ่มศึกษาลงลึก และรู้จักไม้สนฮิโนกิ” คุณอนิรุทธ์ เล่า

     ฮิโนกิ (Hinoki) คือไม้ตระกูลสนไซเปรส เป็นไม้เมืองหนาวที่พบมากในประเทศญี่ปุ่น โดยคำว่า ฮิโนกิ แปลว่าต้นไม้แห่งไฟ คนญี่ปุ่นแต่เดิมจึงมองว่าฮิโนกิเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์และทรงค่า โชกุนในหลายยุคสมัยมักจะเลือกใช้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างปราสาท เนื่องจากเป็นไม้ที่ทนแดด ทนฝน มีน้ำมันในเนื้อไม้ที่ให้กลิ่นหอมชวนผ่อนคลายและทำให้ไม่เป็นเชื้อรา ในยุคต่อมาคนญี่ปุ่นก็นำไม้ชนิดนี้มาสร้างเฟอร์นิเจอร์ (ห้องอบซาวน่าชั้นเยี่ยมส่วนใหญ่ก็สร้างจากไม้สนชนิดนี้) ขณะที่พ่อครัวชาวญี่ปุ่นก็จะใช้แต่เขียงที่ทำจากไม้ฮิโนกิเท่านั้นสำหรับการแล่ปลา กล่าวได้ว่านี่คือไม้สนที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     ทั้งคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมและคุณสมบัติที่น่าทึ่งของไม้สนญี่ปุ่นสายพันธุ์นี้ จุดประกายให้คุณอนิรุทธ์หาวิธีต่อยอดธุรกิจจากไม้สนดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งก็บังเอิญที่เขาได้รู้จักกับเพื่อนที่มีสัมปทานป่าสนฮิโนกิอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว คุณอนิรุทธ์จึงทำข้อตกลง ขอใบอนุญาตนำเข้าไม้กับภาครัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ โดยกลับไปตั้งมั่นฐานทัพชีวิตแห่งใหม่ที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นบ้านเกิดของภรรยา

 

ฮิโนกิแลนด์

 

ไม้หอมที่ช่วยพยุงชุมชน

     “เริ่มจากความคิดที่ว่าจะทำยังไงให้คนไทยได้รู้จักประโยชน์ของไม้หอมฮิโนกิดี ผมเลยคิดว่างั้นเรามาสร้างบ้านจากไม้ชนิดนี้อยู่เลยดีกว่า แล้วเปิดให้คนมาเที่ยวชมและเข้าพัก นั่นจึงเป็นที่มาของบ้านไม้หอมฮิโนกิไชยปราการ”

     คุณอนิรุทธ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบ้านหลังใหม่ของเขาที่อำเภอไชยปราการ บ้านที่ทำจากไม้สนฮิโนกิทั้งหลัง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 170 ล้านบาท! ก่อนที่บ้านหลังเดียวกันนี้จะใช้เป็นสำนักงานของบริษัท บ้านไม้หอมฮิโนกิไชยปราการ จำกัด บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้สนฮิโนกิ อาทิ สกินแคร์ที่สกัดจากน้ำมันสนฮิโนกิ, สบู่, แชมพู, ที่นอนเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดผ่านการวิจัยจากห้องแล็บชั้นนำของประเทศ (ทั้งยังทำงานร่วมกับ สวทช. ในการดึงกลิ่นหอมจากน้ำมันสนฮิโนกิที่มีคุณสมบัติช่วยบำบัดอาการภูมิแพ้ มาทำเป็นน้ำมันนาโนเพื่อบีบอัดลงไปในเนื้อผ้าสำหรับทำหมอนและที่นอน) และผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

     เมื่อกระบวนการวิจัยเสร็จสิ้น ต่อมาคุณอนิรุทธ์ก็เริ่มชักชวนชาวบ้านในอำเภอไชยปราการ, พร้าว, แม่อาย และพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมกันลงแรงผลิตสินค้า ซึ่งมีทั้งกลุ่มแม่บ้านและเกษตรกรที่มาร่วมผลิตหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบ้านไม้หอมฯ สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า 1,200 ครัวเรือนแล้ว

     “พอกลับมาทำธุรกิจ สิ่งแรกที่ผมคิดคือชุมชนก่อนเลย คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนในชุมชนได้ผลประโยชน์ไปด้วย หลายคนเคยถามผมว่าทำไมนำเข้าไม้สนฮิโนกิแล้วไม่เอามาขายต่อล่ะ เพราะถ้าขายไป ผมก็ได้กำไรมหาศาลเลย ผมตอบเขาไปว่าผมไม่เคยเสนอขายใคร จะมีขายบ้างก็เฉพาะเพื่อนๆ ที่อยากได้ แต่ส่วนที่เหลือ ผมเอามาเป็นต้นทุนให้ชุมชน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่า…

     “หากขายไม้ไปผมอาจได้กำไรหนึ่งแสน แต่เอาไม้จำนวนที่ขายเท่ากันไปสร้างงานให้ชุมชน ผมอาจได้กำไรมาแปดหมื่นบาท แต่ชาวบ้านก็มีรายได้ด้วย นั่นล่ะ ผมว่าอย่างหลังคือกำไรที่มากกว่า” คุณอนิรุทธ์ กล่าว

     หาใช่การอวดอ้างขึ้นมาลอยๆ หากเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยย้ำว่าชายผู้นี้หมายความตามที่พูด ก็ตอนที่บริษัทร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ชวนให้เขานำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปวางจำหน่าย เขาตอบตกลง และพบว่าช่องทางดังกล่าวสร้างกำไรเพิ่มขึ้นให้แก่เขาอย่างมาก กระนั้นเมื่อมีเด็กผู้หญิงในชุมชนซึ่งรับผลิตภัณฑ์ของเขาไปขายปลีกมาบอกกับเขาว่า ตั้งแต่บริษัทนำสินค้าไปวางขายในร้านสะดวกซื้อ ยอดขายของเด็กหญิง (ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ก่อนหน้า) ลดลงไปมาก เพราะลูกค้าต่างพากันไปซื้อจากร้านสะดวกซื้อมากกว่า ซึ่งทำให้คุณอนิรุทธ์ไม่ลังเลที่จะถอนสินค้าทั้งหมดจากร้านสะดวกซื้อ เพื่อเปิดทางกลับไปให้ตัวแทนเด็กๆ นักเรียนและชาวบ้านในชุมชน ยังคงขายสินค้า สร้างรายได้ให้พวกเขาเช่นเคย

 

ฮิโนกิแลนด์

ฮิโนกิแลนด์

 

อาทิตย์อุทัยในไชยปราการ

     ต่อเนื่องจากความสำเร็จของธุรกิจบ้านไม้หอมฯ คุณอนิรุทธ์ก็เล่าต่อถึงที่มาของฮิโนกิแลนด์ เมืองญี่ปุ่นจำลองของเขาในอำเภอไชยปราการ สถานที่ที่เขาหมายมั่นให้เป็นแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่

     “ฮิโนกิแลนด์เกิดจากความฝันของผมเมื่อสิบปีที่แล้ว ผมฝันอยากให้คนไทยได้รู้จักวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวญี่ปุ่น รวมไปถึงการเป็นสถานที่ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นที่มีมายาวนาน อย่างที่บอก ผมมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 20 ปี ใจเราลึกๆ คิดว่าถ้าเรามีโอกาส ก็อยากจะสร้างสิ่งที่เราประทับใจขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนบ้าง เพื่อให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสไปญี่ปุ่น ได้มาสัมผัส ซึ่งพอหลังจากผมทำธุรกิจบ้านไม้หอมฯ จนพบว่ามันลงตัวมากแล้ว ก็บังเอิญไปได้ที่ดิน 83 ไร่ที่สวยมากๆ พอดี ผมจึงเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา”

     ที่ดิน 83 ไร่ที่รายล้อมไปด้วยภูเขา ริมถนนเชียงใหม่-ฝาง ก่อนเข้าเขตตัวอำเภอไชยปราการ ประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในยุคเอโดะทั้งหมด 7 หลัง ได้แก่ อาคารที่จำลองซุ้มประตูอสุนีของศาลเจ้าอาซากุสะพร้อมโคมสีแดงอันยักษ์ที่เป็นสัญลักษณ์, อาคารต้อนรับสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนชุดกิโมโนถ่ายรูป, ซุ้มประตูโทริอิสีแดง (จำลองมาในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าต้นฉบับถึง 3 เท่า) จำนวน 88 ต้น เรียงรายไปหยุดยังซุ้มประตูขนาดยักษ์ ด้านหน้าปราสาทฮิโนกิที่ทำจากไม้สนฮิโนกิทั้งหลัง (ต้นฉบับมาจากปราสาททองคินคะคุจิในเกียวโต แต่ใหญ่กว่าของจริง 3 เท่า) ด้านข้างมีบ่อปลาคาร์ปที่ขนาดใหญ่ถึง 8 ไร่ นอกจากนี้ยังมีอาคารแสดงสินค้าของบริษัทบ้านไม้หอมฯ อาคารเจแปนทาวน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์นำเข้าจากญี่ปุ่นและร้านอาหาร และอาคารฟู้ดคอร์ต”

 

ฮิโนกิแลนด์

 

     “ที่นี่ไม่ใช่ฉากสำหรับถ่ายรูปอย่างเดียว เพราะหากสังเกต บริเวณทางเข้าผมจำลองมาจากศาลเจ้าอาซากุสะ ซุ้มประตูโทริอิก็เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ บนชั้นสามของปราสาทฮิโนกิก็ประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิมที่แกะสลักจากไม้ฮิโนกิ รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่ผมคำนึงถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาเยือน เหล่านี้คือการจำลองและส่งผ่านบรรยากาศและความเชื่อของชาวญี่ปุ่นให้คนไทยได้สัมผัสและได้ความเป็นสิริมงคลกลับไปอีกด้วย” คุณอนิรุทธ์ กล่าวถึงเบื้องหลังอาณาจักรแห่งใหม่ล่าสุดของเขาที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท

     ทั้งนี้ทั้งภูมิทัศน์ แผนผัง งานออกแบบอาคาร รวมไปถึงรายละเอียดภายในก็ล้วนเป็นผลงานจากการควบคุมอย่างใกล้ชิดของคุณอนิรุทธ์เองทั้งหมด โดยอาศัยเพียงวิศวกรโครงสร้างที่มาเป็นที่ปรึกษาในการก่อสร้าง และบริษัทจัดภูมิทัศน์สวนจากกรุงเทพฯ มาเป็นฝ่ายออกแบบพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณ

     “ผมชอบงานไม้อยู่แล้ว พอมีโอกาสเริ่มศึกษาคุณสมบัติของไม้สนฮิโนกิ ก็ลงลึกในด้านการประกอบสร้างด้วย อย่างอาคารในฮิโนกิแลนด์ทั้งหมดก็ใช้วิธีการต่อไม้เป็นส่วนๆ แล้วนำมาเข้าเดือยประกอบกันตามรูปแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยทั้งหมดสร้างขึ้นจากฝีมือช่างท้องถิ่นในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่างกลุ่มเดียวกับที่ช่วยผมสร้างบ้านไม้หอมฮิโนกิเมื่อสิบกว่าปีก่อน”

 

ฮิโนกิแลนด์

 

     ส่วนคำถามว่าทำไมเขาจึงเลือกเปิดอาณาจักรทางธุรกิจแห่งใหม่ไกลถึงอำเภอไชยปราการ (อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ถึง 120 กิโลเมตร บนเส้นทางภูเขาคดเคี้ยวที่ต้องใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงครึ่ง) เขาก็ให้คำตอบแบบเดียวกับที่เขาเลือกปฏิเสธจะขายปลีกไม้สนที่เราถามไปตอนต้น… คำตอบเดียว คำตอบเดิม คือชุมชน

     “ข้อหนึ่งผมมองว่าถ้าสถานที่เราดี คุณภาพเราถึง ไม่ต้องกลัวเรื่องทำเลเลย คนจะพากันมา และข้อสองที่สำคัญกว่าก็คือ ผมตั้งใจให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเชียงใหม่ นั่นหมายถึงการสร้างเศรษฐกิจให้คนท้องถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ไม่นับรวมการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่พื้นที่

     “ไชยปราการเหมือนบ้านของผม ลูกของผมเกิดที่นี่ ธุรกิจผมประสบความสำเร็จก็เพราะได้รับความช่วยเหลือจากคนที่นี่ ผมจึงตั้งใจให้ฮิโนกิแลนด์เป็นสมบัติของคนไชยปราการ เป็นสมบัติของคนเชียงใหม่ เป็นสมบัติหนึ่งเดียวของประเทศ และนี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจสร้างที่แห่งนี้ขึ้นมา” คุณอนิรุทธ์ ทิ้งท้าย

 


WHERE TO FIND HINOKI LAND

     ฮิโนกิแลนด์ ตั้งอยู่ในตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 180 บาท (แถมวอยเชอร์สำหรับใช้จ่ายในโครงการ 80 บาท) ชาวต่างชาติ 230 บาท เด็กคนไทย 50 บาท เด็กต่างชาติ 70 บาท ส่วนสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร เข้าฟรี เปิดบริการทุกวัน 08.00-17.00 น. โทร. 08 -9837-3373 หรือ 09-4731-0731