Hom Hostel & Cooking Club

Hom Hostel & Cooking Club: โฮสเทลขนาดย่อมที่เชื่อมโยงผู้คนด้วยอาหาร และก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ด้วยการให้

หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้คงหนีไม่พ้นธุรกิจเกี่ยวกับที่พัก เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเรื่องของเม็ดเงินจากกระเป๋านักเดินทางเป็นหลัก

       เช่นเดียวกับ Hom Hostel & Cooking Club (หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ) โฮสเทลขนาดย่อมที่ซ่อนตัวอยู่บนชั้นสูงสุดของศูนย์การค้านานาสแควร์ ของ ‘ตูน’ – ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี อดีตวิศวกรแท่นขุดเจาะ ผู้ผันตัวมาตั้งต้นธุรกิจขนาดย่อมด้วยการเชื่อมโยงผู้มาเยือนกับเรื่องราวของอาหารที่เธอรัก ที่หากเป็นยามสถานการณ์ปกติ ที่นี่จะคึกคักไปด้วยนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาพัก และได้ค้นพบมิตรภาพใหม่ๆ จากเรื่องราวของอาหาร

       แต่ในสถานการณ์ที่ธุรกิจที่พักต่างต้องปรับตัว หอมก็ต้องคิดหาวิธีประคองให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ โดยมีภารกิจหลักคือ พนักงานทุกคนของหอมต้องไม่มีใครออก และทุกคนต้องยังมีเงินเดือน โดยการปรับรูปแบบรายรับ ทั้งการปิดห้องพัก คงเหลือไว้เฉพาะรายเดือน โมเดลการทำอาหารแจกจ่าย และการเปิดเช่าสเตชันครัวขนาดใหญ่ ที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงหลักของผู้คนที่มาหอม

       มากไปกว่านั้น ท่ามกลางวิกฤต หอมยังรับบทบาทเพิ่มเติมด้วยการทำอาหารแจกให้กับคนยากไร้ ด้วยความเชื่อของตูนที่ว่า ความสุขของการทำธุรกิจคือการให้ ทั้งให้บางอย่างที่ดีต่อโลก ต่อสังคม ต่อผู้คน และสิ่งนั้นจะย้อนกลับมาเป็นคุณค่า เป็นความรัก ความยั่งยืน ให้กับเรา รวมถึงสังคมที่เราอยู่

 

Hom Hostel & Cooking Club

วิศวกรผู้หันมาตั้งต้นธุรกิจจากความรักในเรื่องของอาหาร

       “ตอนอยู่มหา’ลัย เราทำขนมเยอะมาก อาจารย์ก็ชอบและบอกให้ทำขาย ช่วงนั้นต้องนอนเที่ยงคืนเพื่อทำเค้กเป็นปอนด์ๆ ไปขาย หรือตอนเราทำงานเป็นวิศวกร เวลาไปแท่นขุดเจาะ เราทำงานกะ 12 ชั่วโมง แต่จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงไปขลุกในครัว เรารู้สึกว่าความสุขเราอยู่ที่ 3 ชั่วโมงนี้ คือเรารู้สึกว่าอาหารช่วยเชื่อมโยงคนได้ เราเลยคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่ถึงแม้จะชอบอาหาร แต่จะไม่เปิดร้าน เพราะรู้สึกว่าพอเปิดร้านแล้วจะไม่สนุก แพสชันมันเปลี่ยน 

       “พอคิดแบบนั้น ก็คิดว่าส่วนหนึ่งของศูนย์การค้านานาสแควร์นี้เป็นตึกของที่บ้าน เราเห็นว่าชั้นสี่มันตายมาเป็นสิบปีแล้ว เพราะมันไม่มีบันไดเลื่อน ไม่มีทราฟฟิก เราคิดว่าถ้าเราขอเช่าโดยลีดคนจากออนไลน์ ไม่ได้ลีดคนจากทราฟฟิก ขอเช่าราคาที่โอเค รับได้ทั้งคู่ เพราะ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเพื่อนพ่อ เขาก็บอกได้ เราเลยบอกว่าถ้าได้เช่า จะเขาเปลี่ยนซีเมนต์เป็นสวนเลยนะ เพราะว่า common space ของโฮสเทลมันสำคัญ ก็เลยไปขอร่วมกับพวกสวนผักคนเมือง และคนอื่นๆ มาช่วยหมดเลย ตอนแรกไม่รู้ ทำไม่เป็น คิดว่าจะได้เหรอ แต่ทุกคนจะบอกคำเดียวกันว่า กรุงเทพฯ สุดท้ายคือแหล่งอาหารที่ดีที่สุด เพราะคุณมีน้ำตลอด แดดก็ดี น้ำท่วมไม่ต้องหนีไปไหนเลย ถ้าปลูกผักเป็น”

โฮสเทลที่เชื่อมโยงกันด้วยเรื่องของอาหาร

       “ก่อนเปิดหอม เราวางคอนเซ็ปต์ไว้สามเรื่องว่า คนที่มาพักที่นี่จะเชื่อมโยงกันด้วยเรื่องของอาหาร เราจะไม่เน้นปาร์ตี้ แต่เน้นเรื่องอาหาร ฉะนั้น เราต้องมี cooking demo อาหารไทยทุกวันให้แขกได้ดูและทานได้เลย พอเราทำเรื่องการเชื่อมโยงกัน ก็ต้องมีเรื่องสวนผักที่ทำให้คนมารู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่มาแล้วเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองคอนกรีต เราเลยทำสวนผักดาดฟ้าที่สามารถไปเด็ดผักมาประกอบอาหารได้ขึ้นมา พอสองสิ่งนี้เกิด เราก็ต้องมีครัวใหญ่ ที่ต้องไม่เป็นร้านอาหาร เพราะเราคิดถึงคนอื่นว่าทุกคนจะเป็นอย่างไร ถ้าเราทำร้านอาหาร ชั้นสามที่เป็นฟู้ดคอร์ตก็ลำบาก จริงๆ เราจะทำแบบขายอาหาร ขายเหล้ากลางคืนด้วยก็ได้นะ แต่แพสชันเรามาทางนี้ คือกำไรน้อยกว่าแต่ทุกคนแฮปปี้ เด็กเราไม่ต้องคอยควบคุมสต็อก แน่นอนว่าโมเดลนี้ไม่กำไรเยอะ แต่มันทำเพื่อคุณค่าของตัวเอง ว่าได้ทำธุรกิจอะไรให้ทุกคน”

 

Hom Hostel & Cooking Club

วิกฤตโควิด-19

       “กันยายนนี้ หอมจะครบ 4 ปีแล้ว วิกฤตโควิด-19 ถือว่าหนักสุด เพราะยอดจองที่พักแบบ dorm เป็นศูนย์เลย คือปกติ dorm คนทำเยอะ เพราะได้รายได้ง่ายกว่าห้องเดี่ยว แต่ว่ารอบนี้พอปิดประเทศ ทุกอย่างก็เป็นศูนย์ ไม่มีใครมาพัก แต่ที่หอม เราตั้งราคาค่อนข้างต่ำ เพราะว่าค่าเช่าเราไม่ได้แพง แล้วเราไม่ได้กู้ พอไม่ได้กู้ก็จะไม่มีเรื่องภาวะดอกเบี้ยที่พอรายได้เป็นศูนย์แล้วต้องพะวง เพราะถ้าคิดถึงธุรกิจโรงแรมอื่นที่ต้องรันดอกเบี้ย อันนั้นโหดจริง ไหนจะต้องเลี้ยงคน แต่สำหรับเราคอนโทรลคนที่อยู่ค่อนข้างน้อย เราเลยคิดว่าตรงนี้คือความโชคดี”

ภารกิจปรับตัวที่ว่าทุกคนต้องยังได้ทำงาน

       “พอช่วงเกิดวิกฤตเราก็ช็อกเลย แต่คือภารกิจเดียวที่คิดคือ เราจะไม่ให้น้องออก น้องทุกคนต้องมีเงินเดือนอยู่ ตอนนั้นเพื่อนๆ ก็มาคุยกันว่าจะช่วยทำอาหารแจกกัน แต่เราไม่แจกโรงพยาบาลเพราะคนทำเยอะแล้ว แต่เราจะแจกคนเร่ร่อน และไประดมทุนกันมา วันแรกได้เป็นแสนเลย เร็วมาก เราก็บอกว่าเราขอชัดเลย ว่าเราไม่ได้คิด 40 บาทต่อกล่อง เพราะปกติเราขาย B2B (Business-to-Business service) เราคิด 40 บาท แต่เราคิดตกกล่องละประมาณ 25-26 บาท เพื่อให้เห็นว่าเราเอากำไรน้อยมาก ไม่ได้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อเลี้ยงน้องๆ เพื่อนก็ถามว่าไหวเหรอ เราบอกว่ายังมีห้องรายเดือนอยู่ เราคิดว่า cooking คือการเชื่อมต่อกันด้วยการให้ คือถ้าไม่ทำก็เข้าเนื้อเหมือนกัน แต่ทำแล้วเข้าเนื้อน้อยลง และตัวเองแฮปปี้ น้องๆ มีงานทำ มันก็สนุกกว่า 

ธุรกิจที่ไม่คิดถึงแต่ตนเองแม้ในยามวิกฤต

       “ช่วงที่โควิด-19 เข้ามาแรกๆ เป็นช่วงก้ำกึ่งว่าจะปิดห้อง dorm ไหม เพราะยังมีแขกตกค้าง อย่างเพื่อนบ้านที่ The Yard ก็เจอตกค้างเยอะเหมือนกัน แต่เราบอกว่าถ้ามีแขกตกค้างใน dorm แต่เขาเดินออกไปไม่ใส่หน้ากาก ใช้ชีวิตไม่ระมัดระวังในช่วงสถานการณ์นี้ มันไม่ค่อยคุ้มที่จะต้องดูแลแขกแบบนี้ เราเลยคิดว่าปิด dorm ดีกว่า เพราะเราเริ่มรู้สึกว่าอยากเริ่มโมเดลทำอาหารแจกแล้ว และไม่ต้องมากังวลว่าจะมีคนเดินเข้าเดินออก เราก็เลยทำอาหารแจกจันทร์ถึงศุกร์ ทุกเช้าน้องๆ ก็จะมารวมกันกะเดียวเพื่อทำอาหาร ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ให้พัก ทำให้ช่วงเสาร์อาทิตย์ยังมีกลุ่มเช่าครัวมาเช่าได้ แต่ถ้ามีบางวันที่ชนกับเช่าครัว ก็จะให้น้องพักทำอาหารไป หรือจะมีโมเดลที่ทำ B2B ที่บางคนก็มาจ้างเราทำเป็น ODM (Original Design Manufacturer คือ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและ ผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง) แจกข้าว เขาจ่ายเงินให้เรา แล้วเขาก็ไปคิดต้นทุนสินค้าเอง ฉะนั้น รายได้ตอนนี้จะได้มาจากที่พักรายเดือน จากทำอาหาร และเช่าครัว”

 

Hom Hostel & Cooking Club

โมเดล ‘ครัวกลาง ใจกลางเมือง’ หลังโควิด

       “หลังจากนี้เราต้องมานั่งคำนวณใหม่ว่า เราจะเลี้ยงหอมด้วยโมเดลอะไรต่อไป หนึ่งคืออาจจะทำ dorm ที่คนน้อยลง แต่ดูแลให้ดีขึ้น อาจจะให้พักเป็นกลุ่มเดียวกันไปเลยก็ได้ หรือเน้นคนไทยที่อยากได้ที่พักใกล้เมือง ราคาไม่แพง อยู่กันเป็นครอบครัว กับสองคือ โมเดลเรื่องการเช่าครัว ที่ปกติจะมีคนมาเช่าอยู่เรื่อยๆ เพราะหากเป็นเรื่องเช่าครัว คนก็จะนึกถึงเราเจ้าแรกๆ เพราะที่เราอยู่ในเมือง มันมีทุกอย่าง สบาย ครัวเราคนมาเช่าทำเวิร์กช็อปกันเยอะ เช่น ยูทูเบอร์ เราก็กำลังจะทำ ‘HOM Cloud Kitchen ครัวกลาง ใจกลางเมือง’ ให้คนมาเช่า พร้อมมีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลผู้ให้บริการเดลิเวอรีต่างๆ มีครัวส่วนกลางและสวนไว้ถ่ายรูปทำโฆษณา ส่วนครัวก็จะแยกตามแต่ละเจ้า บล็อกใคร บล็อกมัน และค่าน้ำค่าไฟก็ตามมิเตอร์”

การเงิน และการให้ สองสิ่งที่ส่งต่อสู่พนักงาน

       “เรามักจะสอนน้องๆ เรื่องการใช้เงิน เรารู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ต้องคิดเรื่องการใช้เงินนะ แล้วก็สอนเรื่องแบรนด์ ว่าที่นี่คือ home cooking ต้องให้คนที่มารู้สึกว่ามาถึงแล้วมีข้าวกิน สอนให้รู้ว่าเราไม่ได้งก เราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่คิดกำไรสูงสุด สอนว่าถ้าตัดสินใจอะไรเองได้ให้ตัดสินใจไปเลย เช่น ถ้าแขกต้องการขนม หรืออาหารในยามที่ไม่ใช่เวลา หากมันทำให้แขกสบายใจก็ให้ไปได้เลย ถ้ารู้สึกว่ามันจำเป็น คือไม่ต้องกลัวว่าตัดสินใจแล้วจะโดนด่า เราไม่ด่าอยู่แล้ว แต่จะใช้วิธีสอนให้เข้าใจ เราอยากให้มีมายด์เซตของการให้” 

ธุรกิจที่ไม่ได้คิดแค่เพื่อตัวเองจะทำให้คนรัก

       “มีชาวแคนาดาคนหนึ่งไม่เคยพักโฮสเทลเลย ตอนแรกเขาแพลนมาเมืองไทยสามอาทิตย์ แล้วลองมาพักโฮสเทลวันสองวัน แต่พอเห็นว่าที่นี่เราเชื่อมโยงกันด้วยเรื่องอาหาร มีอาหารกินทุกวัน ได้เจอเพื่อนใหม่ที่โฮสเทล เขาตื่นเต้นมาก กลายเป็นว่าสามอาทิตย์เขาอยู่กรุงเทพฯ ตลอดไม่ไปจังหวัดอื่นเลย กลายเป็นเพื่อนกัน ทุกวันนี้เขาก็ยังแวะกลับมาอีก ตอนเกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เราซื้อหน้ากากไปแจก เขาก็ถามว่าทำอะไร เราบอกว่าบ้านเราเกิดวิกฤตควันฝุ่น เราก็เลยแจก เขาบอกเดี๋ยวโอนเงินมาช่วย ล่าสุดช่วงโควิด-19 เราทำตู้ปันสุขหน้าบ้าน เขาก็บอกว่าเงินสกุลเขาน่าจะมีค่ามากกว่าเงินบาท น่าจะซื้ออะไรได้เยอะ เขาก็โอนมาเลย คือมันกลายเป็นว่า เราไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่ารักเรา แต่เขารักประเทศ คือเรารู้สึกว่าเราไม่อยากให้มันเป็นแค่ธุรกิจแค่เพื่อตัวเอง” 

 

Hom Hostel & Cooking Club

ธุรกิจที่มีคุณค่า คือเหตุผลของการดำรงอยู่

       “ทุกคนจะคิดว่าหอมแบรนด์ดิ้งดีแบบนี้ ต้องถึงจุดคุ้มทุนตั้งแต่ปีแรกแล้วหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ เรายังไม่ถึงจุดนั้น เพราะมันมีเรื่อง red ocean ที่แข่งขันกันสูงของโฮสเทลอยู่ แต่เรากลับมองว่าธุรกิจที่เราทำมันทำให้คนพูดได้ว่าที่นี่มี house hostel แบบนี้ มีคนเข้ามาหาเราบ่อยแล้วบอกว่าคุณเป็นเจ้าของเหรอ ขอบคุณมากที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมา ฉันไปเที่ยวทั่วโลกไม่เคยเห็นโฮสเทลแบบนี้เลย คือแค่ประโยคเดียว เราเข้าใจแล้ว มันจะปากต่อปาก ทำให้รู้สึกว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่การปาร์ตี้นะ มันมีสิ่งดีๆ แบบนี้นะ เราชูเรื่องอาหารได้ เราชูเรื่องคนได้ ชูเรื่องครอบครัวได้ ซึ่งนั่นคือความสุขของเรา คือเราได้ทำบางอย่างที่ดีต่อโลก เราได้สร้างธุรกิจที่ดีต่อสังคม เราได้เลี้ยงคน

       “ความตั้งใจของเรามันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากให้ อยากทำอะไรเพื่อคนอื่น เหมือนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 สอนว่าถ้าพอมี และแบ่งปันได้ ก็แบ่งให้คนอื่น อย่างตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้ เจ้าของตึกเขาเห็นเราให้ เราแจกอาหาร เขาก็ไปซื้อของฟู้ดคอร์ตมาเพิ่ม ร้านชั้นหนึ่งที่ทำร้านอาหารเขาอยากระบายสต็อกอาหาร เขาก็เอามาให้เป็นร้อยกล่อง มันเลยทำให้เห็นว่า เราอยู่กันในตึกนี้แบบเป็นครอบครัว และรู้สึกว่าถ้าเราทำธุรกิจที่มีคุณค่า เราก็จะเข้าใจว่าทำไมเรายังต้องดำรงอยู่”