หัวลำโพงริดดิม

หัวลำโพงริดดิม | การออกแบบเสียงกับการเชื่อมโยงไปสู่ประสบการณ์และความทรงจำ

เคยสังเกตไหมว่าในแต่ละวันเสียงที่ได้ยินส่งผลต่อความรู้สึกเราอย่างไร?

เสียงเพลง เสียงดนตรีบรรเลง เสียงรอบข้าง และอีกหลายต่อหลายสรรพเสียง ไม่ว่าเสียงนั้นจะมาจากธรรมชาติหรือเสียงที่ถูกออกแบบอย่างตั้งใจโดยมนุษย์ ทุกเสียงล้วนมากระทบกับเซนส์พื้นฐานของมนุษย์อย่างการได้ยิน มีผลต่อความรู้สึกและประสบการณ์เราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นคือวิทยาศาสตร์ของเสียงกับจิตวิทยา เราจึงอยากรู้ว่าที่จริงแล้วเสียงนั้นส่งผลต่อการทำงานของสมอง จิตใจ รวมไปถึงประสบการณ์ของเราได้อย่างไร

     ทำไมเราถึงจดจำเพลงธีมของหนังอย่าง Star Wars หรือ Mission: Impossible ได้มากกว่าเรื่องอื่น?

     ทำไมเราฟังเพลงเดียวกันแต่มีความรู้สึกต่างกัน?

     ทำไมคนได้ยินเพลงบางเพลงถึงอยากฆ่าตัวตาย?

     ถ้าคุณเคยมีคำถามทำนองนี้ในใจ เราคือพวกเดียวกัน เก็บความสงสัยนั้นไว้และมาพูดคุยกับ ‘โหน่ง’ – วิชญ วัฒนศัพท์ นักออกแบบเสียงและนักดนตรีแห่ง หัวลำโพงริดดิม ค่ายเพลงที่คอหนังหลายคนต่อหลายคนคุ้นเคย ผ่านการออกแบบเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง อาทิ เพื่อนสนิท (2548), คิดถึงวิทยา (2557) และ พรจากฟ้า (2559) ฯลฯ

     เราอยากรู้ว่าในฐานะของนักออกแบบเสียงที่ทำงานกับเซนส์พื้นฐานอย่างการได้ยินของผู้คน เขามีวิธีคิด วิธีสร้างเสียง และความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์อย่างไร เพื่อที่จะสามารถส่งสารที่เรียกว่าเสียงไปให้ถึงจิตใจผู้ที่ได้ยิน

 

หัวลำโพงริดดิม

 

ในฐานะคนออกแบบเสียงต้องมีความเข้าใจกลไกการทำงานของจิตสำนึกมนุษย์ขนาดไหนถึงจะส่งสารได้มีประสิทธิภาพ

     เราคิดว่าจริงๆ ไม่ต้องเข้าใจหรอก เพราะเราเป็นมนุษย์อยู่แล้ว สมมติถ้าเราไปทำเพลงให้ลิง เราก็ไม่เข้าใจธรรมชาติของลิงใช่ไหม (หัวเราะ) การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มันไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่ใส่ใจในสิ่งที่เราทำ แล้วคิดว่าอะไรที่จะทำให้เขารู้สึกไปอย่างนั้น หรือเราจะสร้างประสบการณ์ให้เขาผ่านเสียงอย่างไร ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของการรับรู้ ซึ่งก็ง่ายมาก คือทดสอบด้วยตัวเราเอง ถ้าเรารู้สึก คนอื่นก็น่าจะรู้สึกเช่นกัน อันนี้คือขั้นต้นนะ

     สมมติถ้ามันจะต้องน่ากลัว เราดู เราได้ยินแล้ว เรารู้สึกกลัวมั้ยล่ะ ถ้าเรายังไม่กลัว ก็ไม่มีใครในโลกเขาจะกลัวหรอก เสียงแบบนี้เหงาจังเลย เศร้า ตื่นเต้น ตกใจ มันเป็นการรับรู้ขั้นต้นของคนที่รู้กันอยู่แล้วว่ามันเกิดได้จากอะไร

     เช่น ถ้าเราจะตกใจ ทำไมเราต้องตกใจ เราตกใจเพราะเราไม่รู้ อยู่ๆ มันก็โผล่มา ฉะนั้นถ้าเราต้องการให้คนตกใจ อยู่ๆ เราก็อาจจะ แฮ่! แบบนี้ ก็ตกใจใช่ไหม แต่ถ้าเราล้งเล้งๆ เสียงดัง แล้วอยู่ๆ ทำให้ตกใจ เราก็ไม่ตกใจหรอก มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเราอาจจะต้องเข้าใจหน่อยว่าพอมันโดนออกแบบด้วยเสียง เราจะมีวิธีอะไรกับมันได้บ้าง จะชักนำ จะล่อหลอก หรืออะไรก็ตาม ทำให้เขาตายใจ ทำให้เขาเชื่อไปตามนั้น

 

การออกแบบเสียงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาพไหมถึงจะได้ผลที่สุด

     ทำก็ได้หรือจะไม่ทำก็ได้ เป็นเสียงเปล่าๆ ก็ได้ เหมือนเราฟังเพลง เราก็รู้สึกได้โดยไม่ต้องมีภาพ ใช่ไหม คือการออกแบบเสียงมันไม่จำเป็นต้องออกแบบเสียงสำหรับภาพก็ได้ เราสามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงหรือว่าบรรยากาศได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าจะพูดในเชิงภาพ มันก็จะต้องไปด้วยกัน

 

จริงๆ แล้วเสียงจะทำงานได้ดีกับคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตมากๆ ใช่ไหม

      ไม่จำเป็นนะ เพราะว่าการมีประสบการณ์มาก เสียงอาจไม่ทำงานกับเขาเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่รู้ท่าทีของวิธีการทำเสียงมากๆ เขาอาจไม่ตื่นเต้นกับอะไรก็เลยได้ เหมือนกับ hint มาก เขาก็จะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่คนที่ไม่มีประสบการณ์เลยเขาก็จะได้ยิน แล้วเขาก็จะรู้สึกกับสิ่งนั้นมาก ในทางตรงกันข้าม เขาอาจจะไม่รู้สึกร่วมเลย เช่น เปรียบเทียบสีแดงในทางยุโรปกับในเอเชีย ความหมายมันต่างกัน ทั้งบวกและลบเลย

     ในเสียงก็เหมือนกัน บางทีสิ่งที่เราทำออกไปก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรู้สึกไปตามนั้น สิ่งสำคัญคือ เรากำลังสื่อสารกับใคร เช่น เรากำลังสื่อสารกับเด็ก วัยรุ่น คนสูงอายุ คนจำนวนมาก หรือกับบางคนเท่านั้น เหมือนถ้าจะเขียนอะไรบางอย่างที่จะให้คนเข้าใจ มันก็จะ scope อยู่ที่กลุ่มเป้าหมายนั้นแหละ

 

หัวลำโพงริดดิม

 

การทำงานกับเสียงมามากๆ เข้า ทำให้เรารู้สึกชินชากับเสียงต่างๆ รอบตัวเราหรือเปล่า

     ก็มีบ้าง เหมือนดูหนังผีก็จะไม่ตื่นเต้นมาก เพราะพอจะเดาได้ แต่ว่ามันก็ทำให้ความบันเทิงในชีวิตเราน้อยลง แต่ว่าสุดท้าย พอเราทำงานไปมากๆ เราก็ต้องมีโหมดสลับ โหมดปิดสวิตช์ความเป็นมืออาชีพพวกนี้ เพื่อฟังเพลงก็ฟังเพลงจริงๆ ดูหนังก็ดูหนังจริงๆ เหมือนคนธรรมดา การมีโหมดแบบนี้ทำให้เรากลับไปสำรวจความรู้สึกจริงๆ ได้ ไม่ได้มานั่งจับผิดว่าเสียงมาจากทางซ้ายนะ เสียงอะไรกำลังมา แต่ว่าเรากำลังถอดความรู้สึกแล้วสัมผัสแบบคนธรรมดาทั่วๆ ไปที่เขาจะรู้สึกกับมัน ซึ่งจริงๆ ก็ยากเหมือนกันเพราะด้วยความที่เรารู้จักมันเยอะ แต่ว่ามันก็ทำได้

     เราว่าความรู้สึกกับเสียงมันคือเซนส์สามัญธรรมดาของชีวิตคนทุกคนนะ ถ้าหากเราเจตนาจะสื่อสารกับคนจำนวนมาก เราก็ต้องเข้าใจว่าความรู้สึกแบบไหนเป็นความรู้สึกร่วมทางสาธารณะของภูมิภาค ของประเทศ ความสนุกสนานแบบ EDM อาจจะไม่มันเท่ากับเซิ้งสามช่าในต่างจังหวัด เราจะสื่อสารกับใครล่ะ จังหวะ ตึด ตึด ตึด ตึด คนต่างจังหวัดอาจจะไม่สนุก แต่ลองเสียงแคนมาตัวเดียว เซิ้งกันไม่หยุดเลย อะไรแบบนี้มันมีผลนะ

 

ทำไมเวลาคนสองคนได้ยินเสียงเพลงเดียวกันถึงเกิดภาพในหัวต่างกัน

     มันจะมีความรู้สึกที่ speciffiic ไปเลยในขณะนั้นมันยาก แต่ว่าความรู้สึกร่วม เช่น ลอย เบา กดดัน หนัก เริ่มจะทนไม่ไหวแล้ว ทรมาน มันคล้ายๆ กับความรู้สึกของการมองเห็นในที่มืดที่สว่างนั่นแหละ แต่ถ้าจะระบุว่านี่คือนุ่น นี่คือขนนก นั่นมันเป็นประสบการณ์ของแต่ละคนไปแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นในทางรวมมันยังพอจะไปด้วยกันได้ เสียงที่มันล่องลอย จับอะไรไม่ได้ การที่ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวเลยในการที่เราได้ยินอะไรบางอย่าง คว้าอะไรก็ไม่ถูก จับคีย์ก็ไม่ได้ เมโลดี้ก็ไม่มี มันก็จะรู้สึกลอย เคว้งคว้างอยู่ในที่ที่ไม่มีอะไร

 

เสียงสามารถทำปฏิกิริยากับความทรงจำคนเราได้มากน้อยขนาดไหนกัน ทำไมบางคนได้ยินเสียงแล้วคิดถึงความทรงจำเก่าๆ

     มันก็เป็นเรื่อง perception ของแต่ละคนแหละ คือมีประสบการณ์ใดๆ ต่อเสียงอะไร แล้วจะเชื่อมโยงไปถึงอะไรนั้นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรู้สึกกับสิ่งนี้เหมือนกัน แต่ว่าก็จะมีบางอย่างที่เป็นสาธารณะซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นดูหนังบางเรื่องบางคนก็อินร้องไห้มาก บางซีนคนก็เศร้าตรงนี้ตรงนั้น หรือว่าฟังเพลงนี้คนนี้เศร้าจัง แต่คนนี้ไม่รู้สึกอะไรเลย มันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของแต่ละคน

     แต่เรามีความเชื่อบางอย่าง เช่น เรามีความเชื่อว่าถ้าเราพยายามสื่อสารหรือเราพยายามจะตั้งใจเล่าอะไรบางอย่างผ่านสิ่งที่เราทำออกไปอย่างตั้งใจ มันจะมีบางอย่างที่ฝังอยู่ในนั้น ซึ่งอธิบายยากว่าคืออะไร ถ้าเรียกเวอร์ๆ ก็คือวิญญาณ มันจะแอบอยู่ในนั้น แล้วมันจะส่งความรู้สึกไปถึงอีกคนได้ อธิบายยาก แต่ว่าในทางศิลปะเป็นแบบนี้เยอะ ก็ระบุได้ไม่ชัดหรอกนะว่าความรู้สึกนั้นคืออะไร มันมีหน้าที่สะเทือนความรู้สึก แต่ในมุมไหนของคนก็แล้วแต่

     ถ้าวัดในชีวิตเรานอกจากความคิดของเรา ก็เหมือนเรามองสิ่งรอบๆ ข้างจากสายตา แล้วก็หูเป็นหลัก สัมผัสก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมา ฉะนั้นเสียงก็ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างสูงเกี่ยวกับประสบการณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วง

 

การเลือกชนิดของเครื่องดนตรีมาออกแบบเสียงมีผลกับความรู้สึกคนไหม

     มันเป็นทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เครื่อง เป็นวิธีเล่น เป็น texture เป็นองค์ประกอบ ต่อให้เป็นเครื่องที่เหมือนกันแต่เล่นคนละแบบ สมมติเปียโนเหมือนกัน เล่นแบบคลาสสิกมากๆ เล่นแบบกระแทกกระทั้น เล่นแบบเอามือถูซี่ข้างใน มันก็ให้ความรู้สึกต่างกัน เราไม่ได้มองว่าเป็นเครื่องดนตรี แต่เรามองเป็นเรื่องบรรยากาศของเสียงที่ส่งออกไปแล้วให้ความรู้สึกแบบไหน การมา การเว้นว่าง ความที่มันเข้าคู่กันแล้วเกิดอารมณ์ เช่น เข้าคู่กันแล้วรู้สึกสว่าง รู้สึกหม่น มันเป็นทุกอย่างที่มีผลต่อความรู้สึก

     สมมติเราพูดถึงดนตรีเบสิกอย่างคอร์ดเมเจอร์ก็จะรู้สึกสว่าง คอร์ดไมเนอร์ก็หม่นลง แต่ในขณะที่หม่นลงพอเรามีบีตที่มันสนุกสนานในคอร์ดไมเนอร์ มันกลับบันเทิงเริงรมย์ขึ้นมาได้ อยู่ที่วิธีการเลือกใช้ ตำแหน่งของมัน ซึ่งบางทีขณะที่เราเล่นเพลงเพราะมากๆ เช่น เพลง lullaby เพลงแบบส่งเด็กนอน ถ้าไปอยู่ในซีนฆาตกรรมก็จะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นเพลงเหมาะแก่การเข้านอน กลับกลายเป็นดูโรคจิต มันเป็นหลายอย่างที่ประกอบกันแล้วโดนออกแบบโดยความตั้งใจ ก็จะสามารถสื่อสารความรู้สึกหรือเมสเสจบางอย่างส่งไปให้คนรู้สึก

 

หัวลำโพงริดดิม

 

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะได้ฟังเพลง Gloomy Sunday คนที่จิตใจอ่อนไหวมากๆ แล้วมาเจอเพลงที่มันเศร้ามากๆ นี่มันเป็นสิ่งที่อันตรายใช่ไหม

     แน่นอน มนุษย์เป็นสิ่งอ่อนไหว เพราะฉะนั้นเวลาเราหวั่นไหว เราก็จะโดนชักจูงด้วยอะไรก็ตาม คำพูด ตัวหนังสือ เสียงของใครบางคน ภาพบางภาพ เราก็พร้อมจะทำอะไรบางอย่างให้กับอะไรบางอย่าง ทั้งด้านดีและด้านลบเสมอ เมื่อเราไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวในใจ เราก็พร้อมจะไหลไปตามความรู้สึก

 

ในมุมหนึ่งนักออกแบบเป็นนักเล่นมายากลหรือเปล่า ที่สามารถเล่นกลผ่านเสียงเพื่อนำพาคนไปสู่ความรู้สึกอะไรบางอย่าง

     เราคิดว่าหน้าที่ของเราที่ทำอยู่คือการสื่อสาร แต่จริงๆ หัวใจหลักคือเราอยากจะเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง จากความรู้สึกหนึ่งให้ไปถึงอีกความรู้สึกหนึ่งให้ได้ หรือเล่าเรื่องบางอย่างด้วยกลวิธีต่างๆ ให้เขาได้รับรู้ความรู้สึกนี้ เข้าใจเรื่องที่เราอยากบอกผ่านเสียง ไม่รู้ว่าเล่นกลไหม มันดู tricky นะ แต่เรามีเจตนาบางอย่างที่จะพาเขาไปด้วยความรู้สึกอยากจะพาไปจัง ไม่ใช่ความรู้สึกว่ามึงเสร็จกูแน่ มันแค่มีเป้าหมายบางอย่างที่เราอยากพาเขาไปให้ถึง

     ถ้าให้ยกตัวอย่างวิธีที่เราทำเพลงประกอบ ชื่อก็บอกแล้วว่าเพลงประกอบภาพยนตร์ มันก็จะเล่าถึงหนังที่เรากำลังจะทำว่ามันพูดเรื่องอะไร ด้วยวิธีอะไรก็ตามที่จะทำให้เมสเสจของเรื่องเล่าไปถึงได้ หรือสิ่งที่จะทำให้คนเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ เหมือนชีวิตเราแหละ เราคุยกันด้วยความรู้สึกต่างๆ นานา มันจะไม่มีเพลงประกอบการคุยของเรา แต่เรารู้สึกจริงๆ กับบรรยากาศตรงนั้น เพราะเราคุยกันจริงๆ ฉะนั้นเสียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหนังมันก็จะต้องสนับสนุนเรื่องเล่าตรงนั้น แล้วเวลาที่เพลงเข้ามาในจังหวะที่สำคัญ เราจะไม่รู้สึกเลยว่าเพลงนี้เศร้าจัง แต่เราจะรู้สึกว่าหนังแม่งเศร้า

     ซึ่งในจังหวะที่สำคัญนั้นมันโดนวางเพลงเอาไว้ เมื่อถึงเวลาก็จะดังขึ้นในตำแหน่งที่ถูกต้อง ถึงจะรู้สึก จะไม่มีแบบกำลังจะเกิดเหตุการณ์สำคัญ แล้วบิลด์เพลงมาก่อนหน้านานๆ มันไม่เป็นแบบนั้น

     วิธีการทำภาพยนตร์คือการค่อยๆ รู้สึก เราจะไม่รู้สึกว่าเพลงมันมา มันอาจจะดังมากหรือเบามากจนเราไม่รู้สึก แต่เราจะเชื่อไปตามนั้น แล้วพอเริ่มเศร้า เริ่มบีบคั้น เพลงก็จะยิ่งขึ้นๆ ไปอีก เราได้ยินเพลงดังนะ แต่เรายังอินกับเรื่องอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสวิตช์หลุดจากหนังไปสู่เพลง โห เพลงนี้มาแล้ว สีไวโอลินประมาณหกสิบชิ้นเลย นี่คือความฉิบหายของ composer เลย คือเพลงมันนำมากเกินไปแล้ว แต่ว่าถ้าเราตามเนื้อเรื่อง อิน เศร้า เพลงมาเต็มไปหมด แต่ยังรู้สึกเศร้ากับเรื่อง เสียงดังมาก แต่เรากลับไม่รู้สึกว่ามันมีเพลงอยู่ จบตรงนั้นมาก็ยังจำไม่ได้ว่าคือเพลงอะไร อันนี้จะทำงานคล้ายๆ กับการที่บอกว่าออกแบบเสียงโดยไม่ทันให้คนรู้สึก เราคล้อยตามไปด้วย โดยที่เราไม่รู้ว่ามันมี

     ถ้าจะถามว่าเราทำดนตรีแบบไหน เราจะทำแบบนี้ เพราะว่าเราไม่ได้ไปทำอัลบั้มให้คนรู้ว่ากำลังเล่นอยู่ กำลังดีดกีตาร์อยู่

 

นึกไปถึงการออกแบบเสียงเพลง Bohemian Rhapsody ของวง Queen ที่มีหลายพาร์ตทั้งเร็ว ทั้งช้าในเพลงเดียวกัน นั่นคือการออกแบบเสียงที่ดีใช่ไหม

     เป็นการออกแบบเสียงแบบหนึ่งที่น่าสนใจมาก เราคิดว่าครั้งแรกที่เขาทำก็คงตื่นเต้นมากที่ต้องปล่อยเพลงนี้ให้คนทั้งโลกฟัง มันจะเกิดอะไรขึ้น เพลงโดนซอยย่อยเป็นหลายโมเมนต์ แล้วมีหลายความรู้สึก ยุคนั้นเราว่าก็คงไม่ได้มีคนทำแบบนี้เยอะ ถือว่ายากเลยนะ

 

 

การออกแบบเสียงดนตรีที่ไม่มีเนื้อเพลง กับมีเนื้อเพลง ทำงานกับสมองคนต่างกันไหม

     ก็คล้ายๆ กับดูหนังที่ไม่มีบทพูด กับดูหนังที่มีบทพูด มันอยู่ที่เจตนาคนทำด้วย จะทำให้เข้าใจแบบเท่ากันเลยก็ได้ แต่ว่าพอมันไม่มีภาษากำกับ ก็สามารถสื่อสารได้กับคนทั้งโลก มันไม่มีอะไรมาคั่นในด้านวัฒนธรรมความเข้าใจด้านภาษา มันมีที่ว่างให้กับความรู้สึกเยอะ มีที่ว่างให้กับประสบการณ์ที่ต่างกันเยอะ

     การที่คนจะรู้สึกต่อชิ้นงานที่หลากหลาย แล้วไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวที่หลากหลาย เราว่าอันนี้มีค่ากว่าการสื่อสารที่ถูกตั้งค่าว่าต้องรู้สึกอย่างไร เราให้คุณไปรู้สึกเอาเองกับประสบการณ์ของคุณ แล้วก็ไปตีความเชื่อมโยงกับชีวิตคุณ บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย หรือบางคนอาจจะอินไปตลอดชีวิตเลยก็ได้

 

ได้ดูตัวอย่างหนังสารคดีชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ เขาเล่าว่าฟังเสียงจากธรรมชาติแล้วตกผลึกเป็นเมโลดี้ หรือออกแบบเสียง แล้วอย่างคุณล่ะ

     แล้วแต่งานนะ ถ้าเอางานจริงๆ ที่ไม่ได้มาเล่าเรื่องเกินจริง มันก็มีงานประเภททำตอบสนองต่อธุรกิจ งานโฆษณา ที่มีเรื่องเวลาจำกัด มีเป้าหมายชัดเจนที่จะขายของ หรือว่าทำสไตล์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสามวิ สิบวิ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

     แต่ถ้าพูดถึงการทำเพลงเปล่าๆ เหมือนเราทำเพลงอัลบั้มตัวเองอย่าง The Photo Sticker Machine เราก็ไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น ซากาโมโตะ อาจจะได้ยินจากธรรมชาติ แต่ทุกครั้งที่เราทำเพลง เวลาผ่านเวลาไปแล้วกลับมาฟัง บางทีเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราทำ มันอาจจะคล้ายๆ ว่าเราเป็นคนทำ

     บางอย่างมันก็ลอยมาโดยที่เราไม่รู้ตัว บางทีจังหวะก็พอดี เฮ้ย เพราะจัง คอร์ดนี้เชื่อมคอร์ดนี้ แล้วเราก็มาเชื่อมเพิ่ม ขยายเพิ่ม เราเชื่อว่าเสียงก็อยู่ในอากาศ อยู่ในความรู้สึก แล้วเราก็แคปเจอร์ไว้ เหมือนคนนั่งอยู่แล้วก็เอาสีพู่กันมาเพนต์ เป็นอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่รู้เหมือนกัน มันทำให้เราลุกขึ้นมาแต่งเพลง อะไรที่มันลอยขึ้นมาในหัวแล้วเราหยิบมาขยายต่อเป็นชิ้นงาน

     ถ้าจะพูดในแง่การสร้างสรรค์งาน ไม่ได้หมายความว่าเสียงในวันนี้จะมีผลในวันนี้นะ เช่น เราคุยกันวันนี้ อีกสามปีข้างหน้าเราอาจจะแต่งเพลงบางเพลงที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องวันนี้นะ แต่มันมีบางอย่างที่เราเคยคุยกันเรื่องนี้ แต่ก็จำไม่ได้ด้วยว่าวันนี้ประเด็นนี้มันน่าสนใจจนเก็บไปคิด แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งมันตกตะกอนในตัวเอง ก็เหมือนกับทุกเพลงที่เราฟังตั้งแต่เกิดมา เพลงที่พ่อเราเปิด แม่เราเปิด เพลงร็อdที่ฟังตอนเด็ก เพลงแดนซ์ที่ผ่านหูมา ในวันที่มันตกตะกอนเป็นงานของเรา มันก็จะออกมาโดยที่เราไม่รู้เลยว่ามาจากไหน

 

เพลงประกอบภาพยนตร์บางเรื่องอย่าง Star wars หรือ Mission: Impossible ทำไมมันถึงติดหูกว่าเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เพราะมันถูกออกแบบมาพิเศษกว่าเพลงทั่วๆ ไปใช่ไหม

     เพราะว่ามันมีการออกแบบเพื่อให้คนจดจำ ทุกครั้งที่ดาร์ธ เวเดอร์ ออกมาก็จะมีเพลงโน้ตเดิมตลอดเวลา ถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องของจิตวิทยาก็ได้ สมมติว่าเราทำหนัง ถ้าเราอยากให้คนอินกับเรื่องความรักของคู่นี้ เราอาจจะไม่ได้มีโน้ตชัดเหมือนสตาร์วอร์ส แต่เราทำเมโลดี้เปียโนเบาๆ คนก็จะคุ้นเคย มีความผูกพันกับเมโลดี้ชุดนี้ไปเรื่อยๆ พอความรักพัฒนา เมโลดี้ก็ยังอยู่ เหมือนเราฟังเพลงแล้วก็ฮัมตาม แล้วมีประสบการณ์ในช่วงสองชั่วโมง พอถึงจังหวะที่สำคัญ เมโลดี้เล่นซ้ำอีกที แล้วเล่นในมู้ดที่จริงจัง ซีเรียสขึ้น หรือว่าให้ความรักมากขึ้น คนก็จะรู้สึกเชื่อมโยง มันก็จะเป็นแบบ Theme music ที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ เขาเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์แห่งการทำเสียง ซึ่งส่วนตัวเราพูดยากนะ เราเชื่อในเรื่องเล่า เราเชื่อว่าไม่ต้องมีใครมาจำหรอกว่าเสียงมันมีอะไร แต่มีคนจำได้ว่าเมสเสจของเรื่องนี้คืออะไร แล้วก็เบื้องหลังของเจตนารมณ์แห่งการทำ เราอยากจะฝากอะไรไว้ให้คนเอาไปคิดต่อ เราว่าอันนี้แหละสำคัญ

 

หัวลำโพงริดดิม

 

ความทรงจำต่อเสียงที่ได้รับรู้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่าจะเป็นความรู้สึกร่วมของสาธารณชนใช่หรือเปล่า

     ใช่ เพราะจริงๆ แล้ว ต่อให้เป็นสิ่งที่เราทำอยู่มันสื่อสารกับคนจำนวนมาก มันก็เป็นคนจำนวนหนึ่งที่ทำ เพราะฉะนั้นคนจำนวนหนึ่งที่ทำมันก็ปัจเจกอยู่ดี ก็เป็นกลุ่มความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่อยากจะเล่าทัศนคติต่อเรื่องนี้ผ่านภาพยนตร์ด้วยวิธีนี้ สมมติอย่างพี่เจ้ย อภิชาตพงศ์ แกก็จะเล่าด้วยวิธีแห่งเสียง ambience บางทีก็ไม่ได้ยินว่าพูดอะไรกัน บางคนก็เล่าด้วยวิธีแห่งความครื้นเครง

     เพราะฉะนั้นก็ตัดสินไม่ได้หรอกว่าใครดีกว่าใคร พอมันอยู่ในมือเรา เราก็ทำไปแบบที่เราเชื่อ แล้วก็เชื่อว่าความรู้สึกที่เราทำจะสื่อไปถึงด้วยวิธีนี้

 

พอจะบอกได้ไหมว่า การออกแบบเสียงแบบ ambience กับออกแบบให้มีเสียงเพลง ให้ความรู้สึกต่างกันยังไง

     ตราบใดที่เราไม่ได้แยกว่ามันคืออะไร มันก็เหมือนกัน มันเป็นเจตนารมณ์ของการเล่าเรื่อง ซึ่งดีอยู่แล้ว มีเสียงลม บรรยากาศวังเวง ก็พอแล้ว มีเพลงทำไม ชีวิตจริงก็ไม่มีเพลงนะ แต่ว่าในขณะที่ถ้ามันผ่านมือปัจเจกอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาบอกว่า ไม่ได้ ต้องมีเพลง ฉะนั้นก็จะมีรสมือของแต่ละคนที่ต่างกัน ไม่มีอันไหนดี อันไหนเลว แล้วก็ไม่มีอันไหนผิดหรือถูก เพราะมันคือวิธีการสื่อสารเรื่องเดียวกัน แค่คนละแบบ

 

การออกแบบเสียงที่จะเข้าขั้นสมบูรณ์แบบได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

     มันมีแค่สองอย่างคือ คนที่ส่งไป กับคนที่รับ แค่นั้นพอ รับแล้วจะยังไงไม่มีใครรู้ เดินเข้าไปในอาคารสักแห่งหนึ่ง เอาคนสิบชาติมาเดินก็ชอบไม่เหมือนกัน ตราบใดที่เราทำงานด้วยความตั้งใจ คุณค่ามันก็จะเกิดขึ้น ถ้าคนที่เชื่อแบบนี้ เขาจะสัมผัสได้เอง

 

การออกแบบเสียงหรือดนตรีประกอบอันไหนที่คุณชอบมันมากๆ

     เราชอบหนังที่ไม่มีเพลงนะ เวลาที่ส่งพลังมา มันรู้สึกต่าง อาจจะด้วยความที่เราอยู่กับดนตรีเยอะด้วยก็ได้ เรารู้สึกว่าเพลงมันชี้นำคนได้ แต่เวลาที่ไม่มีเพลง เรารู้สึกได้ว่ามันจะเป็นพลังแห่งการพูดจา พลังแห่งการสนทนา พลังแห่งการเงียบ พลังแห่งการเว้นว่าง หยุดคุย พลังแห่งการไม่พูด มันจะเป็นท่าทีที่ธรรมชาติมากๆ

     เราชอบเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ของพี่เจ้ย ที่เหมือนแต่งเรื่องเล่าเวลาไปเจอใครก็สัมภาษณ์แล้วก็ถ่ายไปเรื่อยๆ เราจำอะไรในเรื่องไม่ได้เลย แต่ในหนังมีเสียงพูดเต็มไปหมด จำได้ว่าตื่นขึ้นมาตอนเช้า เราได้ยินเสียงคนที่พูดรอบข้างคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมด ได้ยินของคนนั้นมาต่อกับคนนี้ รู้สึกว่ามันมีพลังอะไรบางอย่างส่งมาที่เรา แล้วเราก็ได้เสียงยินคนเล็กคนน้อยหรือคนอื่นๆ ที่เราไม่เคยฟังเขา บางทีเรานั่งคุยกันเราก็ไม่ได้สนใจ แต่หนังเรื่องนั้นทำกลับมาทำให้เราเห็นว่ามันมีเสียงอื่นๆ อีกนะ

     จริงๆ การไม่มีเสียงก็คือการออกแบบในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการออกแบบโดยเจตนาของการไม่มี ซึ่งก็ไม่แน่นอนด้วยว่าจะให้ผลที่แตกต่างกับการออกแบบแบบมีเสียงไหม เพราะว่ามันอาจจะไม่มหาชนไง เหมือนเวลาเราพูดถึงพื้นปูนหยาบ เราว่าคนประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่จะบอกว่าทำไมไม่ปูให้เรียบร้อย แต่บางคนอาจจะชอบ เราว่าบางทีมันมาตรงจังหวะชีวิตพอดี เหมือนเราไม่ได้อะไรอย่างนี้มานานแล้ว พอได้ยินแล้วก็เลยรู้สึกดี ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีกับทุกๆ งาน ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตหรือเป็นอะไรบางอย่างที่มันพอดี ก็จะเป็นแบบนี้ในทุกๆ อย่าง

     หนังเรื่องนี้คนบอกเศร้าจัง ชีวิตตอนนั้นไม่รันทดแล้วไปนั่งดูยังไงก็ไม่เศร้า แต่พอตอนที่ชีวิตรันทดฉิบหายแล้วเข้าไปดู ยิ่งเศร้าหนักกว่าเดิมอีก ก็ย้อนไปเรื่องประสบการณ์ชีวิต ซึ่งมันก็ออกแบบได้แค่ประมาณหนึ่งไง แล้วเราก็ได้แค่คาดหวังต่อความรู้สึกที่เราตั้งใจส่งไปให้เขาเท่านั้น

 

ในวาระสุดท้ายของคุณอยากออกแบบเสียงให้ตัวเองอย่างไร

     น่าจะไม่มีเพลง ไม่ได้อยากได้ยินเพลงอะไรเลย ถ้าเราจะจากไป เราอยากได้ยินเสียงโลกนี้ เสียงลม เสียงคนใกล้ชิด รอยยิ้ม โอ้โฮ น้ำตาไหลเลยนะเว้ย ได้ยินเสียงลมหายใจของคนข้างๆ ได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเองที่ค่อยๆ หายไป แค่นี้ก็พอแล้ว