รัตตา อนันด์ภาดา

รัตตา อนันด์ภาดา | เงินตรา ศิลปะ และลายเส้นที่เยียวยาชีวิตของศิลปินนักวาดภาพประกอบระดับสากล

ภาพทุกภาพและสไตล์ของงานล้วนสะท้อนชีวิตความเป็นมาของตัวศิลปิน ‘ไอซ์’ – รัตตา อนันต์ภาดา คือศิลปินนักวาดภาพประกอบไทยที่เราติดตามงานมาสม่ำเสมอ เธอมีผลงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ การวาดภาพประกอบโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Fall รวมไปถึงภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์อย่าง Star Wars: Episode VII – The Force Awakens และ The Lord of The Rings ในงาน New York Comic Con ปี 2016 และ 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมหกรรมงานคอมมิกคอนระดับโลกที่เธอได้รับข้อเสนอจากแกลเลอรีในนิวยอร์กให้วาดโปสเตอร์หนังและจำหน่ายอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ รวมไปถึงงานระดับสากลอีกหลายชิ้น จนกลายเป็นที่จับตาของค่ายหนังและนักสะสมงานศิลปะจำนวนมากที่จองตัวเธอไปผลิตผลงานให้

     เอกลักษณ์ในงานของเธอคือโทนสีและภาพวาดที่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยแทบทุกจุดจนเต็มเฟรมหนึ่งเฟรม อาจกล่าวได้ว่าหากเราลองขยายภาพเข้าไปดูตรงจุดไหน เราก็จะเห็นรายละเอียดที่น่าทึ่งซึ่งเธอซุกซ่อนไว้เสมอ

     a day BULLETIN ได้ร่วมงานกับเธอในปกนิตยสารเล่ม CASHLESS SOCIETY ฉบับ 562 ที่ผ่านมา ครั้งแรกที่งานของเธอปรากฏสู่สายตาของพวกเราในกอง adB เราตื่นเต้นกับปกที่แสนจะอลังการด้วยรายละเอียดดีเทลยิบย่อยตามสไตล์ของเธอมาก จนเรามั่นใจว่าต้องกลายเป็นอีกปกที่คนจะพูดถึงอย่างมากมายแน่นอน นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องรีบจองตัวของเธอมาทำความรู้จักมากขึ้น สนทนาเรื่องราวชีวิต ความคิด และผลงาน ที่สะท้อนออกมาผ่านลายเส้นสไตล์เธอในทุกวันนี้

     “ตอนเป็นเด็กเราเป็นคนไม่ค่อยพูด กว่าจะพูดคือตอนสามขวบเข้าไปแล้ว พอไม่พูดเราก็จะโดนนู่นโดนนี่ ต้องรับอะไรมาเยอะ แล้วก็กลายเป็นเก็บกด พอเก็บกดเยอะๆ ก็เริ่มอยากจะระบายออกมา ตอนนั้นสิ่งเดียวที่ระบายได้คือการวาดรูป แม่ก็จะเล่าให้ฟังว่าเราเป็นคนชอบวาดรูปตามผนัง ดูการ์ตูนก็จะวาดตาม แต่ไม่พูดเลยนะ คือจะแสดงออกผ่านภาพวาดมากกว่า”

     เธอบอกกับเราในบางตอนของบทสนทนา ที่เมื่อจบลงแล้วทำให้เราอยากกลับไปพินิจดูงานของเธอให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

 

รัตตา อนันด์ภาดา

 

เราเห็นผลงานแต่ละชิ้นของคุณสวยงาม ดูละเมียดละไมมาก จนเราเกิดความสงสัยว่า บรรยากาศรอบๆ ตัวเวลาคุณทำงานมันเป็นแบบไหนกัน

     ขอแค่สงบก็พอนะ ไม่ต้องมีคน (หัวเราะ) ปกติเราไม่ชอบทำงานในที่ที่มีคนเยอะๆ อย่างร้านกาแฟที่คนอื่นสามารถนั่งทำงานกันได้ แต่เรากลับทำไม่ได้เลย เพราะความสนใจเราจะไม่ได้อยู่ที่งานแต่จะไปอยู่ที่คนมากกว่า มันโฟกัสไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ที่บ้าน เราจะนั่งฟังเพลงไปด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งเราสามารถทำงานได้ทั้งวันยาวๆ โดยไม่สนใจอย่างอื่นเลย

     เราเป็นคนที่มีตารางเวลาชัดเจน เช่น เที่ยงเริ่มทำงาน กินข้าวเสร็จทำงานยาวถึงหกโมงเย็น พักกินข้าว แล้วก็ทำงานต่อจนถึงเกือบเที่ยงคืน เราเป็นคนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นหลัก แต่จะมีรูทีนค่อนข้างชัดเจน ไม่ใช่ว่าทำงานลากยาวไปจนตีสี่ตีห้า เราจะไม่ทำแบบนั้น บางคนบอกว่าอยู่บ้านจะทำเมื่อไหร่ก็ได้เพราะมีอิสระ แต่สุดท้ายบางทีเขาก็ไม่ได้ทำ ซึ่งสำหรับเราเป็นแบบนั้นไม่ได้ เราจะคอยบอกตัวเองว่าต้องทำให้เสร็จ เมื่อก่อนเราก็เคยทำแบบลากไปจนถึงเช้านะ แต่รู้สึกว่าสุขภาพมันแย่ เคยนอนตอนตีห้า หกโมงเช้า แล้วรู้สึกว่าไม่ไหว ป่วยด้วย เลยคิดว่าต้องรักษาสุขภาพ

 

คุณเคยทำงานในระบบออฟฟิศไหม

     ช่วงเรียนจบใหม่ๆ เคยทำงานออฟฟิศนะ ไม่ได้ติสต์แตกตั้งแต่แรก (หัวเราะ) ตอนนั้นทำกับออฟฟิศคนรู้จักเกี่ยวกับการ์ตูน แอนิเมชัน ทำได้ปีกว่าๆ ก็ออก หลังจากนั้นก็ไปเปิดร้านเสื้อที่จตุจักร แล้วพอดีมีหุ้นส่วนเขามาเห็นงานเราแล้วเขาชอบ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเริ่มวาดภาพของตัวเองไปด้วยแล้วโพสต์งานลง myspace.com ศิลปินหลายๆ คนก็นิยมเล่นกันเพราะตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก ทีนี้ก็มีคนมาเห็นก็เลยชวนเราไปออกแบบลายเสื้อ เป็นหุ้นส่วนทำด้วยกันอยู่สองสามปีก็เลิกทำ

     คือสมมติเราทำลายเส้นแบบนี้เป็นคนแรก สักพักคนอื่นๆ ก็จะทำตามกันเพียบเลย อีกอย่างคือเรารู้สึกว่างานแฟชั่นมันเป็นงานตามเทรนด์ แต่ตัวเราก็ไม่ใช่คนที่จะสามารถเปลี่ยนแนวหรือเปลี่ยนสไตล์ไปได้เรื่อยๆ เราทำแนวเดิมของเราแบบนี้ พอเลิกทำร้านเสื้อเราก็ทำงานตัวเองมาเรื่อยๆ แต่ระหว่างนั้นเคยมีคนรู้จักเจ้าหนึ่งที่เขาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์มาจ้างให้เราทำปกหนังสือ เราก็เลยลองทำดู ปรากฏเขาบอกว่าขายดีมาก เราก็งงๆ (หัวเราะ) หลังจากนั้นเขาก็ชวนเราไปทำงานที่ออฟฟิศเขา ก็เลยกลายเป็นพนักงานเงินเดือนอีกรอบหนึ่งในตำแหน่งอาร์ตไดฯ แต่ตอนนั้นเขาก็ใจดีนะ เขาให้เรารับงานนอกได้ด้วย แต่หลังจากนั้นสำนักพิมพ์ก็ปิดลง ทุกคนแยกย้ายกันไป เราเลยกลับมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัว

 

พอมาเริ่มทำฟรีแลนซ์จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

     เราว่าสบายใจนะ เพราะไม่มีเรื่องคนมาเกี่ยวข้อง เวลาเราทำงานออฟฟิศก็จะมีคนนู้นคนนี้ คือเราไม่ได้โฟกัสที่งานเต็มที่ บางคนอาจจะโอเคกับการทำงานในออฟฟิศ เขาอาจจะทำงานเป็นทีมเวิร์กแล้วดีกว่า แต่สำหรับเรา เราทำงานคนเดียวมานานเกินไปแล้ว เลยรู้สึกว่าทำคนเดียวน่าจะดีกว่า (หัวเราะ)

 

ก่อนหน้านี้คุณได้วาดภาพประกอบปกให้กับ a day BULLETIN ในฉบับ CASHLESS SOCIETY โจทย์ที่ได้รับคืออะไร คุณตีโจทย์ออกมาอย่างไร

     ตอนแรกที่ได้รับโจทย์มาก็ค่อนข้างหนักใจ เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องสังคมไร้เงินสด คือคนวาดอย่างเราเองก็ไม่ค่อยได้ใช้ระบบ Cashless นี้ ไปไหนมาไหนก็ยังใช้เป็นเงินสดอยู่ โบราณมาก แต่พอเขามีโจทย์มาให้เราก็ต้องเริ่มศึกษา ต้องดูว่ามันแปลว่าอะไร เกี่ยวกับอะไร ต้องรีเสิร์ชข้อมูลเพิ่มเติมว่ามันมีอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม อ๋อ มันไม่ต้องพกเงินเหรอ แค่ใช้คิวอาร์โค้ด อะไรแบบนั้น หลายอย่างเราก็เพิ่งรู้จากการไปหาข้อมูลนี่แหละ น้องสาวเราเคยว่าเราว่า ทำไมมัวแต่พกเงินสดอยู่ได้ เขาไปกันไกลแล้ว โหลดแอพฯ นั้นแอพฯ นี้สิ แต่เราก็ไม่เอา (หัวเราะ) เพราะปกติเราอยู่แต่บ้านไง แต่หลังจากได้หาข้อมูลก็ได้รู้ว่ามันมีแบบนี้ด้วย ได้รู้ว่ามีข้อดียังไงบ้าง ถึงจะยุ่งยากแต่ก็ถือว่าสะดวกดี

 

รัตตา อนันด์ภาดา

 

คอนเซ็ปต์ของคุณคืออะไร ทำไมตีความคำว่า ‘สังคมไร้เงินสด’ ผ่านตัวละครที่เป็นคนในยุคเก่า

     ตอนแรกเราคิดถึงธนบัตรจริงๆ ของต่างประเทศ แล้วรู้สึกว่างานบนธนบัตรดูวินเทจดี มันดูเก่า ดูโอลด์สกูล ดูย้อนยุค ถ้าเป็นแบงก์ของไทยรัชกาลที่ 5 ก็มีรูปเลิกทาสอะไรแบบนั้น เรามาคิดต่อว่าน่าจะเอาองค์ประกอบเกี่ยวกับคนไทยที่แต่งตัวสมัยย้อนยุคมาผสมกับการใช้แอพฯ ใช้คิวอาร์โค้ด สกุลเงินบิตคอยน์ หรืออะไรที่ไฮเทค จริงๆ ตอนแรกอยากใช้ธนบัตรของไทยเป็นเรฟเฟอร์เรนซ์ แต่ปรึกษากับฝั่งอาร์ตไดฯ ของหนังสือแล้วก็คิดว่าน่าจะละเอียดอ่อนเกินไป ไม่น่าจะแตะได้ เลยไปดูเรฟเฟอร์เรนซ์ของฝั่งอเมริกาเป็นหลัก

     สุดท้ายก็ใช้เวลาทำไปประมาณ 2 อาทิตย์กว่าๆ พอผลงานออกมาเราชอบนะ เพราะเทคนิควาดแบบธนบัตรนี้เราเคยทำมาแค่ชิ้นสองชิ้น แต่ว่าที่ใช้วิธีฝนด้วยมือเองแบบนี้ก็เป็นครั้งแรก โหดมาก (หัวเราะ) ซึ่งก็ทำให้เราได้เทคนิคใหม่ๆ ได้ความรู้ใหม่ๆ

 

พูดถึงเรื่องเงิน ปกติคุณมีวิธีวางแผนการเงินในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะการเป็นฟรีแลนซ์

     เป็นฟรีแลนซ์จริงๆ ก็ลำบาก ไปกู้ที่ไหนก็ยาก แต่ทุกวันนี้จะพยายามให้เงินเข้าออกบัญชีอยู่เรื่อยๆ ถึงจะไม่ใช่ทุกเดือน แต่ก็มีจำนวนแน่นอนสม่ำเสมอ เราจะตั้งเป้าตัวเองว่าเดือนนี้จะใช้เท่านี้ ค่าขนม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ค่าจิปาถะ ค่าผ่อนบ้าน เราก็จะทำแยกเป็นกองๆ ไป ถ้าเราใช้เกิน ก็จะพยายามไม่ซื้อของอย่างอื่นแล้ว แต่ถ้าเหลือ ก็จะเก็บส่วนหนึ่ง ใช้ส่วนหนึ่ง แบบนั้นสบายใจกว่า คือเราพยายามดูเงินในบัญชีมากกว่าว่าต้องมีเท่านี้ ต้องสำรองเท่านี้ ก้อนไหนแตะได้ ก้อนไหนห้ามแตะ

 

สังคมไร้เงินสดที่คุณได้ศึกษาน่าจะดีต่อชีวิตของศิลปินอย่างคุณหรือเปล่า

     เนี่ย อย่างวันก่อนมีประสบการณ์ตรงเลย เราไปขึ้นแท็กซี่แล้วทีนี้พอตอนจะจ่ายเงิน เราเปิดกระเป๋าเงินมาปรากฏว่าไม่มีสักบาท คือลืมกดเงินมา เราก็คิดว่าฉิบหายแล้ว (หัวเราะ) แต่โชคดีที่ว่าเราเพิ่งไปสมัครแอพฯ กับธนาคารไว้ แล้วธนาคารก็สอนว่าใช้แบบนี้ได้ น้องเราก็สอนว่าใช้ไลน์ ใช้คิวอาร์โค้ดได้ ทำให้เราก็พอรู้มาบ้าง เลยถามพี่แท็กซี่ไป ทีแรกเราแอบคิดนะว่าพี่เขาจะรู้จักแอพฯ ไหม เราจะจ่ายผ่านแอพฯ ได้ไหม ปรากฏว่าเขาควักมือถือออกมากดแอพฯ เลย เราเซอร์ไพรส์มาก เฮ้ย พี่เขาใช้เป็นยิ่งกว่าเราอีกมั้งเนี่ย (หัวเราะ)

     แต่น้องสาวเราก็บอกนะว่าเดี๋ยวนี้แท็กซี่แทบทุกคันก็สามารถจ่ายทางคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ ได้แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวเยอะ บางคนกดเงินมาไม่พอ ก็ต้องใช้แอพฯ พวกนี้ ซึ่งก็สะดวกดี กดปุ๊บก็เรียบร้อยเลย เราก็เริ่มรู้สึกตัวว่า เฮ้ย โลกมันไปขนาดนี้แล้วนี่

 

สำหรับศิลปินอย่างคุณ เงินตราจะทำให้ศิลปะมีคุณค่ามากขึ้นไหม

     จริงๆ แล้วในโลกแห่งทุนนิยมก็ต้องยอมรับว่ามันก็ใช่ส่วนหนึ่ง อะไรที่มี Demand เยอะๆ Supply ก็ต้องผลิตออกมาเยอะตาม นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่จะตามมา อะไรที่คนต้องการเยอะ สิ่งนั้นก็จะมีราคาแพงขึ้น คือโลกเป็นแบบนี้จริงๆ ตอนแรกเราเคยรู้สึกว่า ทำไมเราทำงานศิลปะแล้วต้องยึดติดกับคำว่าเงินด้วย ทำไมเราต้องเอาเงินเป็นที่ตั้ง จริงๆ มันน่าจะอยู่ที่จิตใจอย่างเดียวหรือเปล่า แต่ว่าพอได้ทำงานกับต่างประเทศ เราทำงาน Screen Print พวกนี้มันเหมือนงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ พอปล่อยในตลาด หรือมีคนซื้อมาเก็บแล้วปล่อยขายเก็งกำไร มูลค่ามันก็มหาศาล ก็ Based on money อยู่ดี แต่เราเข้าใจถึงกลไกนี้ไง แต่กว่าที่ตัวเราจะไปอยู่จุดตรงนั้นได้ที่ให้คนยอมควักเงินเพื่อจ่ายงานเรามันค่อนข้างยาก ต้องอดทน ต้องสู้กับอะไรหลายอย่าง

 

รัตตา อนันด์ภาดา

 

แล้วเราจะสามารถสร้างศิลปะเพียวๆ โดยปราศจากเรื่องเงินได้ไหม

     เราเชื่อว่าทุกคนเริ่มต้นก็มาจากจิตใจ ความชอบ ความอยากทำอยากลอง ถึงไม่มีใครเห็นค่า ไม่มีใครมามอง มาชื่นชม หรือมาซื้อ แต่เราทำออกมาเราก็รู้สึกอิ่มเอมใจแล้ว เราเชื่อว่าทุกคนตอนแรกก็เริ่มต้นจากจุดนั้นมาก่อน แต่พอเป็นคำว่างานมากขึ้น มืออาชีพมากขึ้น ต้องใส่ใจมากขึ้น มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเรื่องของเม็ดเงินมาเกี่ยวข้องแหละ ก็อยู่ที่ว่าแต่ละคนใครจะมีความสามารถในการจัดการชีวิตตัวเอง ในการมองภาพถึงงานของตัวเอง จะมองว่างานตัวเองเป็นสินค้าอยู่ไหม หรือว่ามองว่างานยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจตัวเองอยู่

     แต่ถ้าหากได้ทั้งสองอย่าง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี มันทำให้ศิลปินรอดด้วย มันหล่อเลี้ยงศิลปิน เพราะว่าทำงานศิลปะอย่างเดียวแล้วไม่ได้คิดถึงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันเลยมันก็เป็นเรื่องที่ถ้าให้พูดก็ต้องเป็นคนมีเงินไม่ขัดสนพอประมาณเลยนะ ซึ่งก็มีนะ เราก็เคยเห็น คือเป็นคนที่ทำอาชีพอื่น แต่ก็มาวาดรูป หรือบางทีเห็นหมอนั่งเล่นกีตาร์ในห้องพักก็มี เพราะว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องหน้าที่การงาน หรือการหาเงินอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการเยียวยาจิตใจของแต่ละคนด้วย บางทีเราวาดรูป เราอยากเล่นดนตรี ก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเงินก็ได้

 

สำหรับคุณศิลปะมีไว้สำหรับคนเป็นศิลปินอย่างเดียวไหม

     ไม่นะ เรามองว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ ศิลปะ นาฏกรรม เป็นของทุกคนบนโลก ไม่ใช่ของอาชีพใดอาชีพหนึ่ง อย่างน้องสาวเราเป็นหมอ แล้วเขาก็วาดการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์ด้วย ทุกวันนี้เขาจะแบ่งเวลาช่วงกลับบ้านมาวาดรูป วาดสตอรีบอร์ด แล้วก็ยื่นส่งสำนักพิมพ์ เป็นรูปเล่มจริงจัง ได้เงินด้วย เราก็เคยถามไปว่าไม่เหนื่อยเหรอ เพราะงานจากโรงพยาบาลก็น่าจะเหนื่อยพอแล้ว กลับมายังมานั่งวาดสตอรีบอร์ดอีก เขาก็ตอบว่าถ้าให้ทำแต่งานที่โรงพยาบาลอย่างเดียวก็คงไม่ไหว คือได้เงิน แต่จิตใจห่อเหี่ยวมากในแต่ละวันต้องเจออะไรที่โหดมากที่โรงพยาบาล อยากกลับมาแล้วทำอะไรสักอย่างที่หล่อเลี้ยงจิตใจตัวเอง

     เราว่าคนที่ทำอาชีพอื่นมันก็มีอีกมุมหนึ่ง อย่างเพื่อนน้องเราที่ทำงานโรงพยาบาลเหมือนกัน เราเคยไปหาเขา เห็นเขานั่งส่องกล้องอยู่ มือข้างหนึ่งก็ถือกีตาร์ดีดไปด้วย เราก็รู้สึกว่ามันดีนะ มันทำให้เรารู้ว่าหมอก็ไม่ใช่คนที่จะใส่แว่นทำหน้าเครียดอยู่ในวอร์ดตลอดเวลา

 

การนำศิลปะไปรวมกับธุรกิจมันลดทอนคุณค่าความเป็นศิลปะไหมในความคิดคุณ

     จริงๆ มันอยู่ที่ตัวศิลปินเองด้วยว่ามองยังไง ถ้ามองเป็นสินค้าแล้วไม่รู้สึกอะไร เราว่าก็คงจะลดทอนคุณค่า แต่ถ้าศิลปินมองว่าสิ่งที่ตนเองทำออกมามันกลั่นกรองออกมาจากตัวเขาเอง คือคุณค่าของเขาที่เขาพยายามสื่อสารมันออกมา เรามองว่ามันก็ไม่ใช่สินค้า แต่พอดีว่ามันมีคนที่ต้องการงานเขาไง เขาจะขายหรือไม่ขายมันก็อีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่ความพึงพอใจของเขามากกว่า ถ้ามองว่าเป็นการค้าเกินไป ฮาร์ดเซลเกินไปก็จะเป็นอีกแบบ

 

มันมีจุดกึ่งกลางจริงๆ ใช่ไหม ระหว่างศิลปะกับธุรกิจ

     เราเชื่อว่ามีนะ อย่างเราก็เป็นกึ่งสายพาณิชย์ งานเราก็ทำตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งนี่แหละ เขาสั่งให้เราทำหนังเรื่องนี้ เราก็ไปดูหนังเรื่องนี้ แต่ระหว่างทางที่เราดู เราไม่ได้ดูแค่ให้รู้ว่าเนื้อเรื่องเป็นยังไง แต่เราดูให้เรารู้สึกด้วยว่าหนังเรื่องนี้ให้อะไรกับเรา ถ้ามันให้อะไรกับเราเยอะ เราก็จะเริ่มรู้สึกว่างานชิ้นนี้เราต้องทำออกมาแบบไหน ต้องมองมุมไหน ถ่ายทอดออกมามุมไหน

 

รัตตา อนันด์ภาดา
© Ise Ananphada

ในงานของคุณ คุณออกแบบโดยอิงจากความรู้สึกหรือเหตุการณ์มากกว่ากัน

     ทั้งคู่เลย อย่างช่วงแรกที่เราเริ่มวาดรูปแล้วเราอกหัก เราก็จะใช้เรื่องตรงนั้นมาวาด พอวาดปุ๊บก็ได้งานอีกแบบหนึ่ง ทุกครั้งที่เรามองงานชิ้นนี้เราก็จะคิดถึงเหตุการณ์ตอนนั้นแล้วจะรู้สึกขำดี หรือเราอาจจะโดนคนอื่นพูดจาไม่ดีใส่ เราก็เอาเหตุการณ์ตรงนั้นมาระบายลงงาน มันก็เหมือนเป็นเครื่องเตือนสติเวลามองภาพว่าครั้งนั้นมันเคยมีเหตุการณ์แบบนั้น

 

สังเกตว่างานคุณจะใช้พื้นที่ในหนึ่งภาพจนเต็มสัดส่วน ต้องมีรายละเอียดเยอะ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

     คือต้องบอกว่าเริ่มแรก เราอยู่โรงเรียนประจำหญิงล้วน แล้วเวลาเรามองผู้หญิงก็จะรู้สึกว่ามีความลึกซึ้ง มีความละเอียดมาก เวลาจะพูดอะไรก็ไม่พูดตรงๆ เราต้องไปงมเอา อีกอย่างบ้านเราก็เป็นผู้หญิงหมดเลย ที่บ้านก็จะเยอะๆ หน่อย บางทีก็ไม่ชอบพูดกัน (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่าผู้หญิงเป็นเพศที่เยอะ เราคงติดจากตรงนั้นมา เลยกลายเป็นว่าเวลาใส่อะไรในงานก็จะมีองค์ประกอบเยอะไปหมด รู้สึกว่าตรงนี้ก็น่าจะใส่เพิ่ม ตรงนั้นก็ด้วย

     เราเคยคุยกับรุ่นพี่นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งว่างานผู้ชายดูเด็ดขาดจัง เป็นงานกราฟิกแบบตัดเส้นโชะๆ มันไม่ละเอียดขนาดผู้หญิงที่มีความยิบย่อย คือผู้ชายที่วาดงานยิบย่อยก็มีแหละ แต่ก็จะมีความตัดสินใจบางอย่างที่เด็ดขาดกว่าผู้หญิงซึ่งเราอธิบายไม่ถูก แต่ผู้หญิงจะมีความเลื้อย มีความฟุ้งบางอย่าง พี่เขาก็บอกว่าใช่ งานเขาก็ละเอียดนะ แต่อย่างที่บอกว่าเขาก็จะมีการตัดบางอย่างทิ้ง เอาอันนั้นออก เอาอันนี้ใส่ มีการตัดสินใจที่ดีกว่า เราก็เลยรู้สึกว่าบางทีเรื่องเพศก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสไตล์งานนะ

 

มันเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวด้วยไหม อย่างที่คุณบอกว่าที่บ้านไม่ชอบพูดกัน คุณเลยต้องเก็บมาระบายออกในงานศิลปะเยอะขนาดนี้

     ก็อาจจะเกี่ยวนะ คือตั้งแต่เด็กเราเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด กว่าจะพูดได้คือตอนสามขวบ ซึ่งช้ามาก จนแม่เป็นห่วงว่าป่วยหรือเปล่าเลยจะพาไปหาหมอ แต่พอดีเขาพาเราไปเจาะหูแล้วเราร้องจ๊าก แม่บอกกลับบ้านเลย (หัวเราะ) ซึ่งอันนั้นเป็นการพูดครั้งแรกเลยนะ แม่ก็ตกใจว่าพูดได้นี่ ไม่ได้ป่วย แต่ที่ไม่พูดเพราะไม่อยากพูดต่างหาก ระหว่างนั้นแม่ก็จะเล่าให้ฟังว่าเราเป็นคนชอบวาดรูปตามผนัง ดูการ์ตูนก็จะวาดตาม แต่ไม่พูดเลยนะ คือจะแสดงออกผ่านภาพวาดมากกว่า อยู่ในห้องเรียนก็อ่านแต่การ์ตูน แล้วชอบวาดรูปหลังห้อง เพื่อนจะชอบมาถามว่าเขียนการ์ตูนถึงตอนไหนแล้ว เอามาอ่านหน่อย เหมือนเป็น C-KIDS ของห้องที่เพื่อนจะมาตามอ่านประจำเลย

 

งานคุณเป็นสไตล์นี้มาตั้งแต่ต้นเลยหรือเปล่า

     ใช่ๆ เราชอบวาดเยอะมาตั้งแต่แรกเลย ตอนแรกก็วาดเป็นพอร์ตฟอลิโอไปส่งตามนิตยสารต่างๆ คือเรารู้ว่างานเราควรจะไปทางไหน ปรากฏก็ได้งานวาดลงนิตยสารหลังจากนั้นก็เลยวาดมาตลอด แต่ว่าเราเคยเอางานลงบล็อกเราแล้วมีคนเข้ามาถามว่าวาดเยอะขนาดนี้คุ้มเงินเหรอ (หัวเราะ) ตอนแรกคือรู้สึกช็อกเลย เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดถึงเรื่องเงิน เราทำเพราะแค่อยากทำ ก็ตอบเขาไปสวยๆ แบบนั้น แต่อีกใจหนึ่งก็ เอ๊ะ จริงๆ แล้วเขาจะมากวนอะไรเราหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คิดอะไร เราก็วาดเยอะๆ แบบนี้มาเรื่อยๆ คือเรารู้สึกว่ามันมาทางนี้แล้ว ก็ต้องไปให้สุด

 

ไม่อยากลองปรับให้เข้ากับสิ่งที่ยุคสมัยชอบอย่างความมินิมอล คลีนๆ ต้องมีพื้นที่สเปซเหลือเยอะๆ บ้างเหรอ

     เรามองว่าส่วนหนึ่งมันคือเทรนด์ แฟชั่น นั่นแหละ สมมติว่าโทนสีพาสเทลกำลังมา คนก็จะแห่กันไปทำแบบนั้นหมด ก็จะไม่มีใครทำสีฉูดฉาด คือพอมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มทำอะไรบางอย่าง มันก็จะกลายเป็นแฟชั่น อย่างมินิมอลเริ่มมา คนก็ทำแบบนี้กันหมด คือมันไปๆ มาๆ เป็นแบบนี้แหละ แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกคือ เราทำแบบไหนก็ทำแบบนั้นเถอะ ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองหรอก ไม่ต้องคิดว่าเปลี่ยนตัวเองไปทำแบบนี้แล้วมันจะดัง ทำแบบนี้แล้วคนจะชอบ เราคิดแบบนี้ตั้งแต่เริ่มวาดรูปเลย เพราะถ้าคุณจะชอบงานเราจริงๆ มันต้องชอบจากตัวงานที่เป็นเราจริงๆ ไม่ใช่ที่เราไปทำตามแฟชั่นหรือกระแส แล้วถึงตอนนั้นไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ เราจะมีความสุข เพราะมันเป็นตัวเรา ไม่ใช่สิ่งอื่นมาเจือปน

     สำหรับเราค่อนข้างสำคัญที่ต้องหาเอกลักษณ์ของงานตัวเองให้เจอ มันเหมือนอัตลักษณ์ที่ทำให้คนอื่นรู้ว่าเราคือใคร เทียบเหมือนหน้าตาคน ถ้าหน้าตาจืดๆ ใครจะจำได้ (หัวเราะ) แต่ถ้าหน้าตาเด่น มีเอกลักษณ์ คนก็จะจดจำ หรือเหมือนการแต่งตัวที่แต่ละคนก็มีสไตล์ที่ต่างกัน เราก็เรียกมันว่าสไตล์งานที่ต่างกัน

     แต่สุดท้ายก็แล้วแต่ตัวศิลปิน บางคนก็ตามเทรนด์ บางคนก็ไม่สนใจเลย อย่างเราจะตามในมุมที่ว่าดูงานที่เราชอบ แล้วก็คิดว่ามันก็มีอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน เราตามไว้เป็นฐานข้อมูลว่าตอนนี้เทรนด์แบบนี้กำลังมา

 

รัตตา อนันด์ภาดา

 

แล้วคุณทำสไตล์แบบเดิมซ้ำๆ ไม่เบื่อบ้างเหรอ

     เบื่อๆ (หัวเราะ) จะบอกว่าไม่เบื่อเลยเป็นไปไม่ได้ คือคนเราทำอะไรซ้ำๆ กันมาเป็นสิบปี มันอาจจะดูเท่นะ แต่ก็มีเบื่อบ้างแหละ เหมือนกินไข่เจียวทุกวันมันก็เลี่ยน ก็อาจจะต้องเติมซอสเพิ่มบ้าง ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก หรือเพิ่มผัดกะเพราด้วยไหม เพิ่มหมูสับหน่อยไหม ก็คือมีไข่เจียวเป็นหลัก แต่ก็ต้องเพิ่มส่วนผสมอื่นๆ บ้างเพื่อไม่ให้เบื่อ งานศิลปะก็เหมือนกัน มันก็เป็นวิธีการแก้เบื่อของเรา

     แล้วเราจะมีงานอดิเรกที่ชอบคือเล่นเกม (หัวเราะ) นอกจากทำงานวาดรูป เราจะชอบเล่นเกมรองลงมาเลย พองานเสร็จปุ๊บจะกระโดดจับจอยทันที เป็นสายเกมเมอร์ เล่นเกือบทุกเกมที่เราอยากเล่น

 

คุณมีวิธีรักษาตัวตนในงานให้คงไว้ซึ่งกลิ่นหรือเอกลักษณ์ของตัวเองยังไงโดยไม่ให้มันเปลี่ยนไปตามเรื่องธุรกิจ

     ต้อง 50/50 อะไรที่ลูกค้าสั่งอย่างเดียวไม่ฟังเราก็ไปให้คนอื่นทำแล้วกัน (หัวเราะ) เพราะว่าทุกคนที่เข้ามา เขาก็ต้องหวังว่าอยากจะได้งานเราถูกไหม ถ้าคุณหวังจะได้งานคนอื่น หรืออยากได้งานที่ตัวเองอยากได้อย่างเดียวมันก็ไม่ได้ ก็ต้องฟังเราบ้าง เหมือนไปหาหมอแต่ไม่ฟังหมอ มันก็คงแปลกๆ ใช่ไหม แต่กว่าเราจะมาถึงจุดนี้มันก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นระดับหนึ่ง เขาถึงจะซื้องานเรา ซึ่งจริงๆ มันก็คือการพาณิชย์อย่างหนึ่ง

     เมื่อประมาณสิบปีที่แล้วจะให้ลูกค้าเปิดรับขนาดนี้เป็นไปไม่ได้เลยนะ เขาก็จะบังคับว่าต้องการแบบไหน แต่พอเวลาผ่านไปเรารู้สึกว่าโลกเปลี่ยน บ้านเราก็เปลี่ยน มีการให้เกียรติศิลปินมากขึ้น มีงาน Commercial สนใจอยากให้ศิลปินไปวาดโน่นนี่โดยที่ยังเป็นสไตล์ตัวเอง เราก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ๆ

 

วิธีคิดงานของคุณที่เป็น commercial กับไม่ใช่ commercial ต่างกันไหม

     เหมือนกัน ถ้าเป็นลูกค้าเขาจะบอกโจทย์เรามา เราก็แค่เอามาตีความในมุมของเราว่าอยากให้ออกมาเป็นแบบไหน ถึงเป็นงานของเราก็ต้องมีโจทย์เหมือนกัน เรามาคิดได้ช่วงก่อนที่เราทำงานวาดภาพประกอบในนิตยสาร คือโจทย์ไม่ซ้ำนะ แต่มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าเบื่อ เหมือนกับว่าต้องอ่านเรื่องเรื่อยๆ แล้วต้องเอาอันนี้ไปผสมอันนั้นอันโน้น แต่ถ้าเราไม่ตีกรอบให้มัน ก็จะดูเป็นอะไรไม่รู้ไปเลย ตั้งแต่นั้นมาเราเลยพยายามตีกรอบว่าปีนี้จะวาดคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับคอลัมน์เรื่องรัก แต่จะวาดเป็น Art Deco นะ หรืออีกปีหนึ่งอาจจะเป็นออกแนวเอเชีย ดูจีนๆ หน่อย เราจะเลือกธีมให้ตัวเองแล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะได้เรียนรู้แล้วก็พัฒนาสไตล์เราไปด้วย แต่สุดท้ายมันก็ยังเป็นลายเส้นของเราอยู่

 

ทำงานมาถึงตอนนี้มีโจทย์ไหนไหมที่นักวาดภาพประกอบอย่างคุณอินเป็นพิเศษ

     (นิ่งคิด) ถ้าเอาสนใจจริงๆ มันดูดาร์กนะ มันเป็นเรื่องของตัวเราเองมากกว่า เพราะอย่างที่บอกว่าตอนเป็นเด็กเราเป็นคนไม่ค่อยพูด แล้วพอไม่พูดเราก็จะโดนนู่นโดนนี่มา ต้องรับอะไรมาเยอะ แล้วก็กลายเป็นเก็บกด พอเก็บกดเยอะๆ ก็เริ่มอยากจะระบายออกมา ตอนนั้นสิ่งเดียวที่ระบายได้คือการวาดรูป คือครอบครัวเราเมื่อก่อนหนี้เยอะมาก บ้านเราโดนดูถูกบ่อย แล้วตอนนั้นเราจะดูเป็นคนอ่อนแอ เหมือนมักจะโดนเพื่อนแกล้ง ก็อาจจะเป็นอีกจุดที่ทำให้เรารู้ว่าการวาดรูปเยียวยาเราได้ มันช่วยรักษาเราได้ ถ้าเราไม่ได้วาดรูปก็อาจจะเก็บกดมากกว่านี้ อาจไม่ได้เป็นคนยิ้มง่ายเหมือนทุกวันนี้ เชื่อไหมว่าถ้าเอาเพื่อนสมัยมัธยมมานั่งคุยด้วย เขาก็จะบอกว่าเราในตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ตอนนั้นเราจะดูดาร์กกว่านี้ เงียบ ดูเป็นเด็กเก็บกด เพื่อนไม่กล้าเข้าใกล้ ดูไม่ปกติ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วได้เรียนวาดรูป ก็จะเจอเพื่อนที่เหมือนๆ กัน วาดรูปเหมือนกัน ก็จะเริ่มเป็นคนปกติมากขึ้น (หัวเราะ)

 

รัตตา อนันด์ภาดา
© Ise Ananphada

คุณได้ออกแบบภาพประกอบโปสเตอร์หนังของฝรั่งด้วย ทำไมเขาถึงเลือกคุณ

     เรื่องมันมาจากที่มีฝรั่งเห็นงานเราที่วาดรูปแบรนด์น้ำดื่มให้โรงแรม งานชิ้นนั้นเป็นลายเส้นไทยๆ เลย เขาก็ติดต่อมาว่าเราน่าจะวาดภาพโปสเตอร์หนังได้ แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ทำโปสเตอร์หนัง ตอนแรกเราวาดโปสเตอร์หนังเรื่อง The Fall ซึ่งเราชอบหนังเรื่องนี้ ตอนนั้นเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวเล็กๆ รับเงินมาไม่ได้เยอะด้วย แต่เราก็ทำ เพราะอยากลองดู ปรากฏว่าทำออกมาแล้วคนชอบ ก็เลยมีคนจ้างมาเรื่อยๆ จนมาถึงภาพโปสเตอร์หนังอย่าง Star Wars หรือ The Lord of the Rings ในงาน New York Comic Con ซึ่งเราก็ได้ทำมาทุกปี

     เวลาฝรั่งเขาบรีฟงานเขาให้อิสระมาก เขาจะไม่ค่อยกะเกณฑ์อะไรมาก แต่เขาจะเป็นแนวคนบ้าหนัง สมมติเราทำสเก็ตช์มา เขาก็จะบอกว่า ขอใส่อันนี้เพิ่มนิดหนึ่ง ช่วยดูเรื่องหน้าตัวละครให้มีความใกล้เคียงกับนักแสดงจริงให้หน่อย ประมาณนั้น ซึ่งเราเอนจอยมาก เพราะเขาไม่ได้ force เราเกินไป เขาจะปล่อยเราอิสระในระดับหนึ่ง เขาจะแค่มาบอกไกด์เฉยๆ ว่าในหนังมีอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ แต่รายละเอียดทั้งหมดก็อยู่บนพื้นฐานของงานเรา คือเราจะไม่พยายามเปลี่ยนตัวเองอย่างที่บอก เขาจะซื้อก็ต้องซื้อที่งานเรา

 

การทำงานกับฝั่งต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทำให้คุณมองเห็นความแตกต่างอะไรกับบ้านเราบ้าง

     ต่างประเทศเขาจะให้คุณค่ากับงานศิลปิน เขาเก็บงานกันจริงจังมาก เก็บกับเหมือนเป็นมรดก เป็นทรัพย์สมบัติ หรือเป็นทองก้อนหนึ่งเลย แล้วไม่ใช่เฉพาะคนที่มีเงินนะ เป็นคนเกือบทุกระดับ ยี่สิบต้นๆ ก็เก็บกันแล้ว เก็บปรินต์ของศิลปินคนนู้นคนนี้ แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกันบ้าง หรือเก็บสะสมแล้วเอาไปขายบ้าง เรารู้สึกว่าในบ้านเราน่าจะมีอะไรแบบนี้บ้าง อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมบ้านเราที่ทำให้คนเก็บงานศิลปะกันค่อนข้างน้อย หรืออาจเป็นเรื่องของเม็ดเงินที่ยังไม่ถึงเวลาที่เราสามารถยอมจ่ายเงินเพื่องานศิลปะขนาดนั้น แต่จริงๆ ก็มีคนไทยที่ตามเก็บงานศิลปะนะแล้วเอาไปเทรดกันในอีเบย์ หรือเอาไปขาย

     ที่ต่างประเทศบางทีคนคนเดียวอาจไม่สามารถจ้างศิลปินมาทำงานให้ได้ เขาก็จะใช้วิธีรวมกันมาหลายๆ คนลงขันกัน แล้วเชิญศิลปินที่ชอบมาวาดงานให้ คือเดี๋ยวนี้งานศิลปะในโลกออนไลน์จะเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะที่ต่างประเทศ ไม่ใช่แค่คนรวยเท่านั้นที่เก็บงานศิลปะได้ แต่ทุกคนทุกระดับสามารถเก็บได้

 


ISE ANANPHADA

ติดตามผลงานอื่นๆ ของเธอได้ที่ เฟซบุ๊ก: Ise Ananphada และ อินสตาแกรม: @ise_ananphada