ครูทอม คำไทย

Avocado Books ผลผลิตเพื่อคนรักการอ่านหนังสือโดย ‘ครูทอม’ – จักรกฤต โยมพยอม

สารภาพตามตรงที่ครั้งแรกได้รู้ว่า ‘ครูทอม คำไทย’ หรือ จักรกฤต โยมพยอม ทำสำนักพิมพ์ของตัวเองขึ้นมาชื่อ อะโวคาโด บุ๊กส์ และมีหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้วสองเล่มนั่นคือ 167 เฉพาะกิต กับ มาริสา อายุ 27 ปี เราได้ติดต่อเพื่อขอพูดคุยและแวะไปเยี่ยมเยือนออฟฟิศของ ‘น้อนโด้’ (ชื่อตัวมาสคอตของสำนักพิมพ์นี้) โดยหวังว่าจะได้เห็นภาพพื้นที่ของคนทำหนังสือรุ่นใหม่ที่น่าสนใจสะท้อนถึงตัวตนของคนทำงาน

        ครูทอมตอบกลับผ่านโปรแกรมแชตข้อความว่า อะโวคาโด บุ๊กส์ไม่มีออฟฟิศของตัวเอง เขาใช้ระบบ virtual office ในการประสานงาน พูดคุย ผลิตหนังสือ และประสานงานต่างๆ จนจบกระบวนการ เราหัวเราะแก้เก้อออกมาและอยากเขกหัวตัวเองว่า นี่มันจะเข้าสู่ปี 2022 แล้ว การทำงานที่เคยซับซ้อนหรือต้องใช้พื้นที่แบบเมื่อก่อน ถูกลดทอนให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีหลักอย่างอินเทอร์เน็ต

        แต่หลายอย่างที่ยังจับต้องได้อย่าง ‘หนังสือ’ ก็ยังเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่ามันไม่ได้หายไป ตรงกันข้าม ในโลกนี้ยังมีคนรักที่จะอ่านหนังสือ หยิบหนังสือมากรีดกระดาษพลิกไปทีละหน้า ก็มีคนรักที่จะทำหนังสือขึ้นมา เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์น้องใหม่นี้

ครูทอม คำไทย

ก้าวแรกจนถึงวันที่หนังสือออกจากแท่นพิมพ์

        “ผมไม่เคยทำสำนักพิมพ์มาก่อน เลยไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าการทำหนังสือในวันนี้กับเมื่อก่อนยากหรือง่ายกว่ากันแค่ไหน” เรานั่งคุยแบบเป็นกันเองและถามถึงการทำงานในรูปแบบกึ่งเก่ากึ่งใหม่ โดยย้อนกลับไปนึกถึงวันที่เขาเคยออกหนังสือ ‘สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง’ กับสำนักพิมพ์ a book ซึ่งตอนนั้นเขาจำบรรยากาศของการทำงานได้ดีว่าทุกครั้งที่เข้ามาในออฟฟิศของ a book ภาพที่เห็นคือทีมงานนั่งทำงานกันอย่างขะมักเขม้น มีคนทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ประสานสอดคล้องกันไปเกิดเป็นความมีชีวิตชีวาและความสุขในการทำหนังสือไปด้วยกัน

        “แต่ข้อดีของเทคโนโลยีทำให้ออฟฟิศของเราเล็กลงมากๆ หลายอย่างสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้ลดน้อยลงได้ แต่กระบวนการทำงานนั้นยังคงเหมือนเดิม” เขาสรุปแบบย่นย่อให้ฟังถึงกระบวนการทำงานของสำนักพิมพ์อะโวคาโด บุ๊กส์ ที่ใช้การประชุมทางไกลเป็นหลัก อาร์ตเวิร์กก็ให้นักออกแบบฟรีแลนซ์เข้ามาจัดการ ส่วนตัวเขาก็มีหน้าที่ติดต่อนักเขียน ร่วมกันวางคอนเซ็ปต์หนังสือ ตรวจทานรายละเอียดกับทีมพิสูจน์อักษรและเรื่องที่เราอำแบบติดตลกนั่นการตามงานนักเขียนซึ่งเขาก็หัวเราะลั่นออกมา

        “ผมอยากจะเอาบายศรีคลานไปกราบโจ้ (นทธัญ แสงไชย) บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้เลย เพราะพอต้องมาทำเองก็พบว่าเป็นขั้นตอนการทำงานที่ยากเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ผมก็สนุกกับงานนี้ สนุกไปกับนักเขียนที่ได้เห็นเขาค่อยๆ เขียนหนังสือขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่าง สนุกที่ได้จินตนาการภาพของหนังสือตอนที่ตีพิมพ์เสร็จออกมาเป็นเล่มเรียบร้อย ได้เห็นคนอ่านมีความสุขกับงานของเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องบันเทิงหรือเรื่องของสาระความรู้ และผมยังเชื่อว่าอย่างน้อยหนังสือที่เราทำจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ จากการอ่านให้กับเขาได้บ้าง”

        เนื่องจากตัวเขาเองเป็นคนที่มีเพื่อนฝูงในวงการขีดๆ เขียนๆ มากมาย ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าวันที่เขาประกาศจะทำสำนักพิมพ์ของตัวเองขึ้นมา คงมีคนสนใจและช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้เขามากมายแน่นอน

ครูทอม คำไทย

        “ไม่ใช่เลยครับ มีแต่คนห้าม” คำตอบของเขาทำเรานั่งอึ้งไปครู่หนึ่ง

        “ต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นยุคของดิจิทัลแล้ว คนอ่านหนังสือก็น้อยลงไปมากๆ ดังนั้น การที่จะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้รอดในวันนี้เป็นเรื่องท้าทายมากจริงๆ แต่ผมก็เชื่อว่ายังมีทางที่ไปต่อได้ ผมยังรู้จักคนที่ซื้อหนังสือเป็นเล่มๆ อ่านอยู่ คนที่ชอบเข้าร้านหนังสือ แต่หากต้องทำเองก็แน่นอนว่ามีแต่คนห้าม ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองเป็นคนที่ถึงจะมีคนคัดค้านแต่ถ้าเรามีความมั่นใจมากๆ แล้ว ผมก็จะลงมือทำเลย”

        เหมือนกับครั้งหนึ่งที่ตัวเขาตัดสินใจเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่ตอนแรกทางบ้านก็ไม่ค่อยอยากให้เรียน แต่เพราะตัวเองนั้นรักแหละหลงใหลในความงดงามของวรรณคดีไทยมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินของตัวเองในวันนั้น และกลายเป็นติวเตอร์ชื่อดังที่ใครๆ ต่างก็รู้จักเขาในฐานะแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่

เรื่องเฉพาะกิจของ Avocado Books

        “บทเรียนแรกคือเรามีความไม่มั่นใจว่าหนังสือจะขายได้แค่ไหน ผมกังวลกับเรื่องนี้มากจึงใช้วิธีการเปิดพรีออเดอร์หนังสือ 167 เฉพาะกิต เท่านั้น ขายแบบจำนวนจำกัดไม่มีการพิมพ์เพิ่ม ใช้กระดาษอย่างดี มีแพ็กเกจสวยงาม แต่ด้วยความที่ผมไม่เคยขายงานพรีออเดอร์มาก่อนเลย และไปเลือกช่วงเปิดรับออร์เดอร์ตอนกลางเดือน และก็มาเรียนรู้ทีหลังเมื่อน้องๆ แฟนคลับของกิตบอกกับทางเราว่า ถ้าจะเปิดพรีออร์เดอร์ต้องเปิดรับช่วงสิ้นเดือน เพราะตอนนั้นเงินเดือนออก เป็นช่วงที่คนมีเงินจับจ่าย การเปิดสั่งจองช่วงกลางเดือนคนจะไม่สามารถสั่งจองหนังสือได้มากนัก นี่คือความรู้ใหม่ของผมเลย”

        ปัญหามีไว้เพื่อแก้ เขาจึงจัดการข้อผิดพลาดครั้งนี้ร่วมกับเจ้าของเรื่อง ด้วยการคิดไอเดียใหม่ออกมานั่นคือ ‘โครงการเดือนละครึ่ง’ โดยให้สั่งจองด้วยการมัดจำค่าหนังสือไว้ก่อนครึ่งราคา และเมื่อถึงสิ้นเดือนก็ชำระส่วนต่างที่เหลือ ซึ่งได้เสียงตอบรับกลับมาอย่างดี

ครูทอม คำไทย

        “ทำงานร่วมกับกิตมีแต่ความลื่นไหล เพราะตัวเขาเองก็เป็นคนมีวินัย จนหลายครั้งระหว่างที่เขาออกเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตเขาก็ยังส่งงานมาทางไลน์ จนเราต้องบอกว่าค่อยๆ รวบรวมแล้วส่งมาทางอีเมลได้ไหม (หัวเราะ) แต่เพราะเขาคงกลัวว่าข้อจำกัดต่างๆ ในตอนนั้นอาจทำให้เขาส่งงานล่าช้า จึงใช้วิธีนี้ แต่ก็เป็นประสบการณ์การทำงานที่สนุกมากๆ ”

ก้าวต่อมากับเรื่องราวของหญิงสาวชื่อมาริสา อายุ 27 ปี

        ปิดเล่มจบประสบการณ์ทำหนังสือเล่มแรกไปอย่างสวยงาม เมื่อมาถึงเล่มต่อมาเขาเพิ่มท่ายากให้ตัวเองครั้งใหม่ ด้วยการเชิญนักเขียน 12 คน มาช่วยเล่าเรื่องราวของหญิงสาวชื่อ ‘มาริสา’ อายุ 27 ปี จนออกมาเป็นเรื่องสั้น 12 เรื่อง ว่าด้วย มาริสา 12 คน ที่มีชีวิตไม่เหมือนกันเลย

        “ครั้งนี้ผมลองให้โจทย์นักเขียนเหมือนเขาเป็นเชฟ แล้วมีวัตถุดิบหนึ่งอย่างเหมือนกันๆ แล้วให้เขาลองปรุงออกมาในแบบของตัวเอง” เขาเล่าถึงคอนเซปต์ของหนังสือ มาริสา อายุ 27 ปี โดยอุปมาเหมือนผลอะโวคาโด้ ที่สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนูนับไม่ถ้วน อยู่ที่เชฟคนนั้นจะรังสรรค์เมนูแบบไหนออกมา

        “ความน่ารักที่เจอคือนักเขียนแต่ละท่านพร้อมและยินดีที่จะมาเขียนให้ ความสนุกที่ได้ทำงานกับนักเขียนครั้งละเยอะๆ คือ จะมีนักเขียนที่เขาส่งงานมาก่อนกำหนด คนที่ส่งงานตรงตามเวลา ส่งช้าหน่อยก็มี (หัวเราะ) ซึ่งคนที่ส่งช้าไม่ใช่เพราะเขาเขียนไม่ได้นะ แต่เขาเขียนออกมาหลายเรื่องมากจนไม่รู้จะเลือกเรื่องไหนส่งให้เรา หรือก็มีบางคนที่ส่งมาแล้วแต่ยังรู้สึกว่าไม่พอใจขอเอากลับไปเขียนใหม่ก็มี เป็นอีกประสบการณ์ที่สนุกมาก

        “เรารู้สึกว่าชีวิตของคนหนึ่งคนสามารถแตกออกมาได้หลากหลายเรื่องราว ผมเลยอยากรู้ว่าถ้ากำหนดโจทย์ไว้แค่ว่าเขียนอะไรก็ได้ แนวไหนก็ได้ ขอแค่ตัวเอกในเรื่องเป็นผู้หญิงชื่อมาริสา มีอายุ 27 ปี เท่านั้น ผู้หญิงคนนี้ของนักเขียนแต่ละคนนั้นเธอจะมีชีวิตเป็นอย่างไร”

        เหมือนเป็นการแตกจักรวาลมัลติเวิร์สซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ตอนนี้เลย–เราแซวกลับไป

        “ใช่ เราจะได้เจอมาริสาในหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งมาริสากึ่งไซ-ไฟ มาริสาแบบดรามา มาริสาที่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง เป็นเรื่องราวของผู้หญิงชื่อมาริสา ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน 12 เรื่อง โดยไม่ซ้ำกันเลย”

ครูทอม คำไทย

        ความกังวลใจแรกเมื่อได้รับต้นฉบับครบทั้ง 12 เรื่องของเขาคือ มาริสาในบางตอนนั้นค่อนข้างหลุดออกจากโทนรวมของหนังสือไม่เยอะมาก แต่เมื่อกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง เขาได้ทบทวนแล้วว่าความตั้งใจแรกสุดที่จะทำหนังสือเล่มนี้คือ อยากให้คนอ่านได้พบกับความหลากหลายของเรื่องราว ดังนั้นแม้จะมีเรื่องที่หลุดออกไปจนเป็นแนวแฟนตาซี ในขณะที่เรื่องต่อมากลับพูดถึงชีวิตความเป็นจริง นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด หนำซ้ำยังได้เสียงตอบรับที่ดีจากคนอ่านกลับมาด้วย

        “มีคนบอกผมว่าเขาชอบที่มีเนื้อหาไม่ซ้ำกันอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะจะยิ่งทำให้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ และทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลายของนักเขียนไปด้วย อย่างตูน (t.047) ก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เขียนในสิ่งที่เขาไม่เคยเขียน เขาเล่าเรื่องของมาริสาในแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ ส่วนนักเขียนทุกคนก็ชอบที่เขาสามารถสร้างตัวละครแบบไหนก็ได้ ได้ทลายกำแพงบางอย่างของเขา ได้หลุดกรอบบางอย่างของตัวเองด้วย” 

วันที่ความสุขถูกปลูกไว้จนผลิบานออกผลให้เก็บเกี่ยว

        “หลังจากผ่านหนังสือมาแล้วสองเล่ม ผมพบว่านี่คือสิ่งย้ำให้เราพบกับความสุขจริงๆ ของการทำงาน” เขาเล่าสรุปถึงสิ่งที่ตัวเองได้ลงแรงลงมือทำ และผลที่ตามมาในวันนี้เพื่อเดินต่อในวันหน้า

        “ตอนแรกผมแค่คิดว่าเราทำงานนี้ก็คงมีความสุข แต่เพราะไม่เคยทำมาก่อนเลยไม่รู้ว่าความรู้สึกจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร และนอกจากการทำหนังสือแล้ว ผมอยากทำเว็บไซต์ ทำคอมมูนิตี้ของคนอ่านหนังสือด้วย ดังนั้น ในเว็บไซต์กับแฟนเพจของเรา จะพบว่าไม่ได้มีแต่เรื่องของหนังสือจากอะโวคาโด บุ๊กส์เท่านั้น แต่เราทำเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหรือการอ่านหนังสือ ได้เห็นอะไรมากขึ้น มีมุมมองอย่างอื่นมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยวาเซดะ เปิดตัวห้องสมุดมุราคามิ ผมก็ให้รุ่นพี่ที่อยู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะอยู่แล้ว ก็ให้เขาช่วยเข้าไปทำรีวิวห้องสมุดนี้ให้ ซึ่งผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า เราคือเว็บไซต์ของไทยแห่งแรกที่ลงรีวิวห้องสมุดมุราคามิ หรืออย่างตอนที่ลิซ่า (ลลิสา มโนบาล) ปล่อยมิวสิกวิดีโอ LALISA ที่มีประเด็นเรื่องเครื่องหัว ผมก็ให้รุ่นน้องที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยมาช่วยทำคอนเทนต์ เล่าเรื่องเกี่ยวกับเครื่องหัวของลิซ่าว่าเราจะสามารถศึกษาประวัติของเครื่องหัวที่ลิซ่าสวมได้จากไหน สามารถสืบหาจากหนังสือเล่มไหนได้บ้าง เราจึงได้บทความว่าด้วยเรื่องการสืบหาค้นข้อมูลผ่านเอกสารโบราณของเครื่องหัวลิซ่า เป็นต้น นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าคอนเทนต์เกี่ยวกับการอ่านนั้นแตกออกไปได้หลากหลายทางมาก และเป็นบทความที่สนุกได้

ครูทอม คำไทย

        “มีแฟนๆ ของสำนักพิมพ์ avocado books บอกผมว่า ก่อนหน้านี้เขาแทบไม่อยากอ่านหนังสือเลย แต่พอเขาซื้อ 167 เฉพาะกิต มาอ่าน เขาก็ตามมาซื้อ มาริสา อายุ 27 ปี ด้วย เพราะพอเขาได้อ่านเล่มแรกทำให้เขารู้สึกว่า การอ่านหนังสือก็ไม่ได้น่าเบื่อ การได้จับหนังสือเป็นเล่มๆ ก็ให้ความรู้สึกที่ดี เมื่อเปิดอ่านก็ได้ประเด็นได้มุมมองต่างๆ และทำให้เขาเปิดใจอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ รวมถึงเขายังไปหาซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์อื่นๆ มาอ่านเพิ่มด้วย”

        นี่คงจะเป็นสิ่งที่งอกงามจากน้ำพักน้ำแรงที่ ครูทอม คำไทย หว่านเมล็ดของการอ่านลงไป และคอยดูแลเอาใจใส่ รดน้ำพรวนดินอย่างแข็งขัน จนเติบโตขึ้นเป็นคุณค่าคืนกลับมา ที่ไม่ได้ส่งมาให้กับตัวเขาเท่านั้น แต่ยังพันเกี่ยวเลี้ยวลดพร้อมขยายไปถึงยังผู้คนมากมายต่อไป