หากลองไล่เรียงดูข่าวประเภทต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อปัจจุบัน ข่าวที่ถูกเล่าเรื่องอย่างลงลึก เจาะเหตุการณ์รอบด้าน และน่าสนใจ ส่วนใหญ่มักจะเป็นข่าวสังคมที่เชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่พอพูดถึงข่าวประเภทกีฬา ภาพที่คนจดจำและถูกนำเสนอออกมากลับเป็นเรื่องราวการรายงานผลแพ้ชนะเพียงเท่านั้น ราวกับว่ากีฬาไร้แง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่สามารถถ่ายทอดเป็นเกร็ดความรู้ต่างๆ ได้เลย
แต่ได้โปรดอย่าลืมว่ากีฬาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีนักกีฬา และนักกีฬาเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์ที่มีแง่มุมต่างๆ ไม่ต่างจากผู้คนที่ปรากฏในข่าวสังคมเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เราสะดุดตากับการแชร์โพสต์จากเพจหนึ่งบนเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ ของ ‘วิศ’ – วิศรุต สินพงศพร นักข่าวกีฬาผู้มีประสบการณ์เจนจัด และผู้เขียนหนังสือ Sport Light ที่เล่าเรื่องราวบนเพจด้วยแพลตฟอร์มที่เรียบง่าย ภาพหนึ่งภาพ คำโปรยดึงดูด และเนื้อหาที่ยาวพรืด แต่เมื่อเราได้ลองใช้เวลาอ่านจนจบ เรากลับอ่านเพลินและไม่ได้รู้สึกว่ายาวอย่างที่คิด เรื่องที่นำมาเล่าก็น่าสนใจ บ้างเป็นเรื่องความรัก บ้างเป็นแง่มุมชีวิต บ้างเชื่อมโยงกับสังคม ทั้งหมดถูกเกาะเกี่ยวร้อยเรียงเข้ากับเรื่องราวของ ‘กีฬา’ ทั้งสิ้น หรืออาจพูดในอีกแง่ได้ว่า ‘กีฬา’ นั้นต่างหากที่เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม โดยที่บางครั้งเราไม่รู้ตัว ที่สำคัญมันช่วยลบภาพ ‘ข่าวกีฬา’ ที่เรามักชินชากับการนำเสนอแค่เรื่องผลแพ้ชนะเท่านั้น
“สมมติเราไล่ฟีดอ่านข่าวกีฬา เดี๋ยวนี้มีแต่ผลบอล แขวะกัน เป็ดกาก ผีอ่อน อะไรแบบนี้ ด่ากันไปมา แล้วเรื่องความเร็วอีก เล่าแค่เหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่ว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึงเรื่องของประวัติศาสตร์ เราคิดว่าจริงๆ แล้วกีฬามีประวัติศาสตร์มากว่าร้อยปี แล้วกีฬามีเป็นร้อยชนิด แต่ละคนก็มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย”
ในยุคที่ผู้คนรีบเร่ง ปฏิเสธการอ่านอะไรยาวๆ วิศรุตกลับเชื่อว่ามีคนต้องการอ่านอะไรที่เป็นเรื่องราว โดยเฉพาะเกร็ดเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกีฬาและคนกีฬาที่เขาเชื่อว่ายังมีเหตุการณ์ที่ควรค่าแก่การนำเสนอมากมาย เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีใครนำเสนอก็เท่านั้น
“ถ้าเกิดไม่มีคนเล่า เราจะเป็นคนเล่าเอง” เขาบอกกับเราพร้อมเสียงหัวเราะ
กีฬาฟุตบอลเข้ามาสู่ชีวิตคุณตั้งแต่เมื่อไหร่
สมัยตั้งแต่เป็นเด็กพ่อชอบพาเราไปดูฟุตบอล แล้วก็ชอบเตะฟุตบอลเล่นกับพ่อ แต่เรามาเริ่มดูบอลจริงจังตอนฟุตบอลโลกปี 1994 ช่วงนั้นเราจำเหตุการณ์สำคัญๆ ได้หลายฉาก เช่น ตอน โรแบร์โต บัจโจ ยิงจุดโทษพลาด หรือตอนเยอรมนีโดนบัลแกเรียยิงประตูตกรอบ อังกฤษไม่ได้ไปฟุตบอลโลก
หลังจากนั้นพอมาถึงปี 1998 เราอยู่ชั้น ม.3 เป็นปีที่ประเทศไทยจัดเอเชียนเกมส์พอดี กลางปีเป็นฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส ปลายปีเป็นเอเชียนเกมส์ที่กรุงเทพฯ คือมันมีประเด็นนิดหนึ่ง ตอนนั้นจำได้เราจะไปดูกีฬากับที่บ้าน แต่ปรากฏว่าเขาห้ามไม่ให้คนทั่วไปเข้า เขาบอกเป็นที่นั่งของสื่อ เราก็เลยคิดว่าทำไมนักข่าวถึงมีอภิสิทธิ์ ทำไมเขาสามารถไปในจุดที่คนไม่สามารถเข้าถึงได้ ตอนนั้นก็คิดแบบเด็กๆ แหละ อยากได้อภิสิทธิ์ตรงนี้มาก หลังจากนั้นเลยมีความคิดว่าไม่ว่าเราจะเรียนอะไรก็อยากลงเอยที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะด้านกีฬา
แล้วในที่สุดคุณก็ได้มาทำงานเป็นสื่อมวลชนด้านกีฬาจริงๆ ด้วย
พอเรียนจบ ม.3 หลังจากเริ่มมีปม เราก็ไปสอบเข้าเตรียมอุดม แล้วไปอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร จบจากศิลปากรมาก็ทำงานเลย ไปอยู่ในเครือฐานเศรษฐกิจ ทำหนังสือพิมพ์ชื่อ คิกออฟ แต่ตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว เราทำอยู่สองสามปี ที่ทำงานก็ส่งเราไปอยู่ที่อังกฤษช่วงสั้นๆ ปีหนึ่ง พอกลับมาไทยก็ย้ายไปอยู่กับผู้จัดการ ทำนิตยสาร Mars แล้วก็ย้ายมาอยู่ สยามกีฬา อีก 9 ปี เราได้บ่มเพาะความรู้เรื่องกีฬามาจาก คิกออฟ แล้วก็ สยามกีฬา เต็มๆ จนตอนกลางปีที่ผ่านมาเราก็ย้ายไปอยู่กับเวิร์คพอยท์ ในตำแหน่งนักข่าวกีฬา
สมัยก่อนกับสมัยนี้บรรยากาศในการทำข่าวกีฬาจะต่างกันด้วยรูปแบบตัวข่าวนะ หมายถึงว่า ข่าวสมัยก่อนจะเน้นปริมาณและความเร็ว แต่สมัยนี้จะเน้นที่รายละเอียด ความลึก เพราะว่าอินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่าย ที่ไหนก็มีข่าว คือคุณไม่จำเป็นต้องเร็วกว่าใคร เพราะใครก็อาจจะเร็วกว่าคุณอยู่แล้ว แต่ต้องหาความแตกต่างมากกว่า งานเขียนต้องไม่เหมือนใคร ดังนั้น สมัยนี้ความลึกสำคัญกว่าความเร็ว แล้วเดี๋ยวนี้ก็จะมีสกู๊ปคอนเทนต์วิดีโอด้วย รูปแบบมันก็ต่างออกไป
เป็นนักข่าวกีฬาแล้วทำไมยังต้องมาเปิดเพจเขียนบทความเรื่องกีฬาอีก
เราทำตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้วนะ ตอนนั้นเรายังทำที่ สยามกีฬา ในส่วนออนไลน์ ทีนี้การทำสื่อกีฬามันมีข้อจำกัดหลายอย่าง ถ้าคุณเป็นสื่อคุณไม่สามารถเขียนอะไรจริงๆ ที่คุณอยากเขียนได้หรอก เพราะว่ามันจะมีกรอบของสื่ออยู่ เช่น คุณสังกัดสื่อนี้ คุณก็ไม่สามารถโจมตีคนนี้ได้ ไม่สามารถเขียนถึงคนนี้ได้ มีข้อจำกัดเยอะ แล้วต่อให้คุณเป็นนักข่าวที่เก่งที่สุด คุณก็ได้เขียนสักสองสามชิ้นต่ออาทิตย์แค่นั้น เพราะว่าพื้นที่สื่อค่อนข้างจำกัด แต่ตอนนั้นเราคิดว่าอยากเขียนอะไรเยอะๆ อยากเขียนทุกวัน มีอะไรก็อยากจะสื่อความรู้สึกออกไป อีกอย่างเรื่องที่เราเขียนมันเวิ่นเว้อด้วย (หัวเราะ) มันเกี่ยวกับความรัก ประวัติศาสตร์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะให้ตีพิมพ์ลงในสื่อของเขาหรือเปล่า เลยคิดว่ามันต้องมีสักที่ที่ตอบโจทย์เรา ก็เลยมาเปิดเพจ เพราะว่าเราสามารถลงทุกอย่างในเพจของตัวเองได้
แล้วคุณสนใจอยากเล่าเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
เรื่องความสัมพันธ์ เพราะว่ามันใกล้ตัวคนเรา เราเขียนเรื่องความรักบ่อยๆ บางครั้งความรักมันก็เชื่อมโยงกับเรื่องกีฬาอย่างที่เราคาดไม่ถึงนะ คือนักกีฬาก็คนเหมือนกัน เขาเคยเจอชีวิต เจอการตัดสินใจ เจอเรื่องความสัมพันธ์ เจอเรื่องความรัก เราเลยคิดว่าพอได้เก็บเอามาเขียนมันก็น่าจะตรงกับความรู้สึกหลายๆ คน มันคือสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเราเข้าด้วยไว้กัน
เราเคยเขียนเรื่องหนึ่งของ บิลล์ แชงคลี ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลยุคเก่า เขาเป็นคนทำงานหนักมาก ตลอดชีวิตเคยพาภรรยาไปเที่ยวทะเลแค่สองครั้งเอง จากลิเวอร์พูลไปแบล็กพูล ไม่เคยไปต่างประเทศ ชีวิตเขาคือการทำงาน จนกระทั่งรู้ตัวอีกทีภรรยาเขาก็ล้มป่วยแล้ว เขาถึงเริ่มตระหนักว่าชีวิตต้องมีความสมดุล คุณทำงานอย่างเดียวไม่ได้ ยังมีคนข้างหลังรอคุณอยู่ เราก็พยายามจะถ่ายทอดมุมแบบนี้ออกมา บทความนั้นผมสรุปจบว่า ‘ทำไมคนที่เขาแคร์เรากลับต้องกลายเป็นคนสุดท้ายที่เราคิดถึง?’ เรื่องราวแบบนี้มันก็สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตของคนทั่วไปที่ทำงานหนักจนลืมให้ความสำคัญกับคนข้างๆ ได้
งานเขียนของคุณไม่ใช่ข่าวผิวเผิน แต่ต้องการจะใส่คำถามไปด้วยแบบนั้นใช่ไหม
ใช่ คือสมมติเราไล่ฟีดอ่านข่าวกีฬา เดี๋ยวนี้มีแต่ผลบอล แขวะกัน เป็ดกาก ผีอ่อน (หัวเราะ) อะไรแบบนี้ ด่ากันไปมา แล้วเรื่องความเร็วอีก เล่าแค่เหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่ว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึงเรื่องของประวัติศาสตร์ เราคิดว่าจริงๆ แล้วกีฬามีประวัติศาสตร์มากว่าร้อยปี มีกีฬาเป็นร้อยชนิด แต่ละคนก็มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย คือถ้าเกิดไม่มีคนเล่า เราจะเป็นคนเล่าเอง (หัวเราะ)
ตอนปีแรกที่เราเปิดเพจคนไลก์เพจไม่ถึงสี่พัน ก็เขียนแบบทุกวันนี้เลยนะ เราก็คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นวะ หรือว่ามันสะท้อนความเชื่อบางอย่างที่คนบอกว่าทุกวันนี้ต้องอินโฟกราฟิก ภาพเดียวรู้เรื่อง อ่านแป๊บเดียวจบ แต่เราไม่ใช่แบบนั้น ตอนโพสต์ไปแรกๆ ก็มีคนไลก์โพสต์อยู่สิบกว่าคน ก็ยังทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายคนก็ยอมรับเอง พอปีที่สองจากสี่พันกลายเป็นแสนสี่เลย
เพราะอะไรเพจถึงบูมขึ้นมาได้
ก็เคยพยายามคิดนะ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน เราคิดว่าคงเป็นเพราะมันสม่ำเสมอมากพอ เมื่อมันมีโพสต์อยู่เรื่อยๆ ลูกเพจก็เริ่มเห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าถ้าเขาเข้ามาในเพจเราเขาจะได้อ่านอะไร ที่สำคัญคือจะไม่มีดราม่าในเพจ เราสร้างคาแร็กเตอร์ตั้งแต่แรก จะไม่มีการทะเลาะกันในเพจ จะคุยกันดีๆ ทุกคนจะมีการศึกษา จะไม่เกรียนใส่กัน พอมันเป็นคาแร็กเตอร์แบบนั้น คนก็คงคิดว่าถ้าอยากจะคุยเรื่องฟุตบอลดีๆ ก็มาคุยในเพจนี้สิ เป็นการบอกกันปากต่อปาก
คุณสามารถห้ามคอมเมนต์แย่ๆ ในโลกโซเชียลได้ด้วยเหรอ
เราบอกตลอดว่าจะไม่ลบคอมเมนต์ของใคร แต่มีเงื่อนไขเดียวคืออย่าพูดหยาบ เพราะการพูดหยาบไม่ก่อให้เกิดความรู้ใดๆ เลย มีแต่ทะเลาะกันไปมา เราบอกเลยว่าถ้าพูดหยาบก็จะ hide comment ไป ถ้ามีครั้งที่สองก็แบนไปเลย เราไม่ได้เสียดายยอดไลก์นะ เราก็พยายามจะเตือนเขาก่อนว่าให้คุยกันดีๆ แต่หลังๆ ก็จะมีลูกเพจมาช่วยบอกว่าเพจนี้เขาคุยกันสุภาพนะ นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เราคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องควบคุมเพจให้ได้ มันเหมือนเป็นบ้านเรา เราต้องไม่ให้บ้านเราเละหรือวุ่นวาย
ในยุคที่คนไม่อยากอ่านอะไรยาวๆ แปลกดีที่คุณกลับอยากเล่าอะไรยาวๆ
เพราะจริงๆ แล้วมันมีคนอ่าน ตอนแรกเราเคยคิดเหมือนกันว่าจะมีคนอ่านไหม เราเคยลองก๊อบปี้บทความที่เราเขียนในเฟซบุ๊กมาดู ปรากฏว่ายาว 12 หน้าเอสี่เลยนะ ส่วนโพสต์ทั่วไปก็ประมาณ 5-6 หน้าเอสี่ คือจริงๆ แล้วมันมีคนอ่าน แต่เขาไม่มีพื้นที่ที่เขาจะหาอ่านได้ พอเราทำไปสักพักก็เห็นว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยมันก็มีคนอยากอ่านคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องเป็นราว ก็คือว่าโอเค ถ้าคนอยากจับตลาดอื่นก็จับไป แต่เราก็มาทางนี้ดีกว่า เวลาคนคิดถึงว่าอยากอ่านอะไรดีๆ ก็จะได้เข้ามาอ่านที่เรา
แล้วเพจเราทำเรียบง่าย เราว่าคนที่อ่านหลายคนชอบความเรียบง่าย คนอยากอ่านเลย คนที่ไม่ชอบซับซ้อนก็เยอะ ไม่อยากกดลิงก์วิดีโอ ไม่อยากกดลิงก์เข้าไป มันก็เลยกลายเป็นโลโก้ของเราแหละที่เป็นแบบนี้ มีคนหลังไมค์มาเยอะนะว่า ช่วยทำกราฟิกให้ไหม เราก็บอก อ๋อ ไม่เป็นไรครับ แบบนี้มันดิบดี (หัวเราะ) คือเราจะบอกลูกเพจตลอดว่าเราทำเพจคนเดียว เราตื่นมาเขียน เขียนเสร็จทำรูป โพสต์ลง ติดต่อโฆษณา คุยกับลูกเพจ ตอบอินบ็อกซ์ ทุกบทสนทนาที่คุยคือคุยกับเรา คือมันเป็นตัวเราจริงๆ เราบอกตลอดว่าเพจนี้คือจิตวิญญาณของแอดมิน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ไหวแล้ว เพจนี้ก็ล่มสลายเมื่อนั้น คือไม่จำเป็นต้องมีต่อ หรือมีทีม เราประกาศตั้งแต่แรกว่าไม่ต้องการทีม เพราะนี่มันคือตัวเรา สุดท้ายถ้าเราเขียนไม่ไหวก็ค่อยปิด จบตำนานเพจไปเลย
คุณมีวิธีคัดเลือกประเด็นมาเล่าอย่างไร
มีหลายแบบ เพจเราชื่อวิเคราะห์บอลก็จริง แต่ว่าในเพจเราเขียนเรื่องความรัก เรื่องอื่นๆ เยอะมาก เรื่องดาร์กๆ เรื่องสเกตน้ำแข็งก็เคยเขียน แต่ว่าแกนหลักจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนคิดว่าเราวิเคราะห์บอล ที่เขียนแน่ๆ คือเรื่องการแข่งขันของทีมลิเวอร์พูล (หัวเราะ) เราก็จะดูการแข่งขันจริงๆ แล้วหลังจบเกมก็จะเขียนวิเคราะห์ออกมายี่สิบข้อเลยว่าเราเห็นอะไรบ้าง
นอกจากนั้นก็จะตามประเด็นร้อนในวงการกีฬา สมมติมีเรื่องเกิดขึ้นในโลกกีฬาแล้วทุกคนแชร์กันไปมา เราก็อยากจะรวบทั้งหมดมาอธิบายทีเดียวเลย อย่างข่าวที่นักกีฬาฟุตบอลคนหนึ่งอำลาทีมชาติเพราะโดนเหยียดสีผิว เราก็เขียนอธิบายว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เริ่มที่การเหยียดสีผิว แต่เล่าถึงความสัมพันธ์ของเขากับชาติว่าเป็นมายังไง เขาไปทำอะไรก่อนบ้าง หรืออย่างกรณีของ เซเรนา วิลเลียมส์ กับ นาโอมิ โอซากะ ทำไมเซเรนาต้องไปด่ากรรมการ ทำไมนาโอมิต้องร้องไห้หลังได้แชมป์ เราก็เอามาอธิบายทั้งหมดว่ามีที่มายังไงก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ไล่ไทม์ไลน์มาเรื่อยๆ แล้วก็สรุปว่ามันจบยังไง อันนี้ก็คือการตามประเด็นร้อน
ส่วนอีกอันคือเขียนตามใจ อย่างเช่นทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยุคปี 1999 ทำไมเขาถึงเคยโดนดูถูก แล้วทำไมถึงกลับมาได้แชมป์ คือจริงๆ แล้วมันก็อาจจะไม่ได้เชื่อมกับอะไรก็ได้ แค่เราอยากเขียน เรามีเรฟเฟอร์เรนซ์หลายแหล่ง หนังสือก็มี เราก็มานั่งตัดประเด็นเอาเอง แล้วก็เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือก็มีเยอะ ทั้ง BBC, Sky Sport ทุกคำที่เราเขียนจะมีแหล่งอ้างอิงหมด
การที่ได้รู้เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากๆ มันดีกับแฟนบอลยังไง
คือคิดว่ารู้ก็รู้นะ (หัวเราะ) เราเคยเขียนเรื่องหนึ่งเป็นสตอรีแบบ 1 ถึง 10 อธิบายทั้งหมดเลย แต่เราก็โดนคนมาด่าอยู่ดีว่าเข้าข้างฝ่ายหนึ่ง คือต่อให้รู้ทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้ชอบหรือไม่ชอบมากขึ้น อาจจะเป็นคนละเรื่องกันสำหรับเรา แต่มันจะมีความรู้มากขึ้น ชอบหรือไม่ชอบไม่สำคัญ สำคัญคือเราเข้าใจแล้วมีความรู้ จะอินหรือไม่แล้วแต่เลย เหมือนเราพยายามนำเสนอรอบด้าน หลังจากที่คุณรู้แล้ว คุณจะตัดสินใจยังไงก็แล้วแต่คุณ จะชอบต่อหรือจะเกลียดสิ่งนั้นไปเลย หรือจะยังไงก็ตาม แต่คนอื่นก็ว่าคุณไม่ได้ว่าคุณยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยแล้วมาพูดได้ยังไง อย่างน้อยคุณก็รู้ทุกมุมแล้ว แล้วพอคุณได้รับรู้ทุกมุม ทีนี้คุณก็จะเลือกได้ด้วยตัวเองแล้วว่าจะเชื่อเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดคือคุณไม่ได้รับรู้อะไรด้านเดียวแล้วแหละ
เพราะสังคมบ้านเราเป็นแบบนี้ใช่มั้ย บางทีเราก็ไม่ได้รู้อะไรรอบด้าน แต่ชอบตัดสินอะไรไปก่อน
สมมติเป็นเรื่องการเมืองที่มีสองฝั่งคือเอกับบี เราก็จะเห็นว่าจะมีฝั่งเอที่ด่าฝั่งบีตลอดโดยที่ไม่ฟังอะไรเลย แล้วฝั่งบีก็จะด่าฝั่งเอโดยที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น คือเราก็พยายามจะคิดเทียบนะว่า เขารู้เหตุผลของอีกฝั่งหรือยังว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ถ้าเขารู้จริงๆ ทั้งหมด แล้วยังตัดสินใจว่าจะด่าต่อไป อันนั้นก็แล้วแต่เขา แต่ถ้าคุณไม่รู้ แล้วคุณตั้งท่าจะด่าอย่างเดียว ไม่เลือกฟังความจากอีกฝั่ง นั่นก็ไม่ถูก เราว่ามันไม่ควรเป็นแบบนั้น
การได้เรียนรู้ชีวิตหลากหลายรูปแบบจากคนในทีมกีฬา จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นและลดอคติในใจของเราลงไปได้มั้ย
สมมติคุณมีคนที่เกลียดมาก ไม่ชอบหน้าเลย แล้วเรามารู้เบื้องหลังว่าเขาเป็นแบบนั้นเพราะอะไร แต่เขายังทำไม่ดีกับเราอยู่นะ คุณจะยังเกลียดเขาอยู่ไหม? มันก็เหมือนกัน โอเค เราก็มีความรู้ว่าเขาเป็นแบบนั้น แต่จะเกลียดมากขึ้นหรือจะรักมากขึ้นก็แล้วแต่คุณ เราต้องการให้คนมีความรู้ เราไม่ได้ต้องการจะไปเปลี่ยนทัศนคติของใคร คุณเกลียดใครอยู่ก็เกลียดไป คุณจะรักใครก็รักไป มันก็เป็นสิทธิ์ของมนุษย์
แต่อย่างน้อยคืออยากให้คนมีความรู้มากขึ้น อยากให้รู้รอบด้านว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง คือเราคิดว่าคนเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก นักเขียนคนหนึ่งจะไปเปลี่ยนโลกได้ยังไง คืออาจจะเปลี่ยนได้แค่ให้เขาเอะใจว่าสิ่งที่คนอ่านมีประโยชน์อะไรกับเขาบ้าง แต่จะให้เปลี่ยนเหมือนยุคสองร้อยปีก่อนคงยาก เราคงไม่พยายามทำอะไรที่เกินตัวถึงขั้นไปเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดนั้นหรอก แค่อยากให้คนรู้ข้อเท็จจริงมากขึ้นแล้วค่อยไปตัดสินเอาเอง
คุณหงุดหงิดบ้างไหมเวลาเห็นคนที่รู้อะไรแค่ผิวเผินแล้วชอบเสนอความเห็นทันที
ไม่หงุดหงิดนะ แต่อาจจะตั้งคำถามว่าทำไมเขารีบตัดสินจัง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีมุมอื่นอยู่ แต่มันก็เป็นสิทธิ์ของเขาแหละ เราเชื่อเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เชื่อว่าคนเราทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น คุณจะคิดอะไรก็ได้ คุณจะพูดอะไรก็ได้ มันเป็นสิทธิของคุณเต็มที่ ถ้าไม่เป็น hate speech เสียอย่าง คุณอยากจะเป็นยังไงหรือจะทำยังไงก็ได้เลย
ข่าวหรือบทความประเภทกีฬาสามารถนำเสนออย่างเป็นกลางได้เหมือนข่าวทั่วไปหรือเปล่า
คืออยากให้เป็นกลางเราก็ต้องเขียนให้เป็นกลาง อยู่ที่ทักษะการเขียนของเราว่าจัดการได้แค่ไหน ต้องออกตัวก่อนว่ายังไงมันก็ต้องมีคนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย จริงๆ เราเคยเขียนบทความที่นอกเหนือจากกีฬาอย่างเรื่องเพลง ‘ประเทศกูมี’ ด้วย ตอนเขียนเราก็พยายามบอกว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีศิลปินทั้งในไทยและต่างประเทศพูดถึงสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่คนที่พูดแล้วไม่โดนอะไรก็มี คนที่โดนก็มี เราก็ต้องยกทั้งสองเคสนี้ให้มันบาลานซ์กัน แล้วเราก็ต้องเซฟตัวเองด้วยว่าเราไม่ได้ถือข้างไหนนะ ที่สำคัญคือประโยคสุดท้าย มันเป็นตัวตัดสินว่าเราจะจบบทความเรายังไง เราโดนสอนมาตั้งแต่สมัยก่อนโดยนักเขียนที่เรานับถือ สุดท้ายเราก็เขียนตอนจบไปว่า ไม่ว่าคุณจะแสดงออกอย่างไร สุดท้ายคุณก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมา แบบนี้ก็แปลว่าเราไม่ได้ตัดสินใช่มั้ย
เรามักจบประโยคสุดท้ายในบทความด้วยการตั้งคำถาม สรุปความคิดของเรา หรือไม่ก็ย้ำเตือนว่าทั้งหมดที่คุณอ่านมา เราจะสื่อถึงอะไร ประมาณนั้น ซึ่งก็ไม่ง่ายนะ สำหรับนักเขียนมันเป็นอะไรที่ต้องเค้นความคิดมาก เพราะฉะนั้น อย่าจบมันไปแบบดื้อๆ อย่าคิดว่าเขียนจบแล้วก็จบแบบนั้น แต่พยายามคิดประโยคสุดท้ายให้ดีที่สุด
คุณมองภาพรวมของสื่อกีฬาไทยทุกวันนี้อย่างไรบ้าง
เรามองว่าแต่ละสื่อก็มี position ของตัวเอง บางสำนักก็เน้นข่าวกีฬารอบด้าน สื่ออื่นๆ ก็ต่างมีจุดเด่นของตัวเอง (นิ่งคิด) เราทำงานมา 12 ปีแล้ว ทำมาหมดทั้งในประเทศ นอกประเทศ เรามองว่ามันต้องมีคนสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง เรายังนึกไม่ออกนะว่าเป็นอะไร คือทุกๆ วงการเขาจะมีการนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ตลอด แต่พอมาเป็นกีฬาอาจจะยังไม่ฉีกมาก อาจจะยังดู traditional อยู่ แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไป ก็เหมือนงานเขียนแหละ มีคนออกมาสร้างแนวทางใหม่ๆ อย่างเราก็เลือกเขียนในแบบของเรา แต่มันก็น่าจะมีวิธีนำเสนอใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคตนะ
การไปทำงานด้านสื่อกีฬาที่ต่างประเทศมีอะไรที่คุณเห็นแล้วอยากนำมาใช้ในบ้านเราบ้าง
อาจจะเป็นการทำวิดีโอสวยๆ แต่ก็พูดยากนะ เพราะบ้านเขาค่อนข้างมี source เยอะ ข้อจำกัดของการกีฬาไทยคือ เราไม่ได้ใกล้ชิดกับแหล่งข่าวเหมือนต่างประเทศ มันก็เลยทำยาก
อีกอย่างที่ดีมากๆ ของเมืองนอกคือคอลัมนิสต์กีฬา ไม่ว่าจะเป็นสื่อไหนเขาเก่งมาก ตอนเราไปอยู่อังกฤษ เราอ่านหมดเลย แม้กระทั่งสื่อที่ดูเหมือนจะไม่น่าเขียนได้อย่าง The Sun โอ้โฮ เขายังเขียนดีเลย แล้วเขาไปจ้างนักฟุตบอลระดับอาชีพมาเขียนเลยนะ แต่ละคนก็เขียนดีมาก แต่อย่างประเทศไทยมีสื่อไม่เยอะ อย่างพวกนักเขียนก็คงต้องไปลงกับ สยามกีฬา แต่ที่อังกฤษ เขาเขียนดีกันเกือบทุกหัวเลย เขาเขียนหลากหลาย มีความกล้าเขียน เขียนด้วยความมั่นใจ ด่าคือด่า แต่ของบ้านเรามันยังลำบาก ยกตัวอย่าง เราเห็นอยู่ว่าคนนี้ผิด แต่ด้วยอะไรสักอย่างทำให้เราไม่สามารถด่าได้ แต่ที่เมืองนอกด่าคือด่า มั่นใจในการเขียนมาก แล้วภาษาเขาดีด้วย แต่สื่อบ้านเรายังเขียนในรูปแบบตรงไปตรงมา ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เท่านั้น อันนี้ขนาดเป็นคอลัมน์นะ ไม่ใช่ข่าว แต่ที่เมืองนอกเขาจะมีชั้นเชิง เหมือนกับเอาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษามาเขียนเลย
เมืองไทยข้อจำกัดเยอะ แล้วคนไทยก็ด่าแรงด้วย โซเชียลฯ ไทยนี่กระจุยเลย อย่างบางเพจคอมเมนต์ข่าวทีหนึ่งนี่แรงมาก แล้ว conffllict เยอะ ที่ไทยจึงค่อนข้างทำงานยาก แต่เราก็ยังหวังนะว่าจะมีคนกล้าทำอะไรใหม่ๆ ออกมา คือวงการไหนที่หยุดนิ่งมันก็จะตาย คนเราต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เราเจอมาหลายสื่อ มันต้องเปลี่ยนแปลงตลอดนั่นแหละ
เวลาดูการแข่งขันกีฬาเรามักสังเกตเห็นว่า บ้านเราเก็บสถิติกันน้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศ
ใช่เลย นี่เป็นอีกสิ่งที่เราเสียดาย ยกตัวอย่างอย่างบาสเก็ตบอล NFL เขาจะมีบอกตลอด ละเอียดมาก สมมตินักบาสกำลังจะชูต เขาจะมีกราฟิกขึ้นบอกเลยว่า ถ้าชูตลงจะทำสถิติส่วนตัวครบกี่แต้ม เขามีหน่วยงานที่เก็บสถิติโดยเฉพาะ แล้วพอมีสถิติ กีฬาก็มีหลากหลายมิติมากขึ้น เขาบันทึกประวัติศาสตร์กันจริงจังตั้งแต่อดีต แต่บ้านเราไม่มี
สมมติเราจะหาดาวซัลโวของไทยลีกเมื่อยี่สิบปีก่อน เราจะไปหาที่ไหนล่ะ หาโคตรยาก (หัวเราะ) แต่ต่างประเทศเราหาง่ายกว่า เขาลงวิกิพีเดีย แล้วลงสื่อต่างๆ ให้คนรับรู้ด้วย หนังสือที่เป็นบันทึกสถิติโดยเฉพาะก็มี แต่อย่างบ้านเราถ้าจะดูประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย เราก็ต้องไปสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย ซึ่งมันยาก แล้วก็จำกัดการเข้าถึงของคน การเก็บสถิติกับประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่บ้านเรายังขาด ซึ่งสุดท้ายแล้วมันมีประโยชน์ เพราะสามารถนำมาวิเคราะห์รูปแบบต่างๆ ได้ เช่น แผนการเล่น อะไรประมาณนั้น
สำหรับคุณตอนนี้อะไรคือสิ่งที่ใช่มากกว่ากัน ระหว่างงานประจำกับงานเขียนอิสระในเพจ
มันเกื้อหนุนกันนะ งานประจำสำคัญเพราะมันเชื่อมเรากับโลก ฉะนั้นงานเขียนในเพจก็จะเป็นงานที่เราอยู่กับตัวเอง เปิดเน็ต ดูคอมเมนต์ แล้วก็อ่าน เราจะไม่ได้คุยกับคนทั่วไป แต่การทำงานประจำจะมีกลุ่มสังคม เราก็สามารถแชร์อะไรให้กันได้ เกิดอะไรในสังคมใหม่ๆ บ้าง มีประเด็นอะไรน่าสนใจ เราก็ตามไป แล้วมันสามารถหยิบมาใช้กับงานเขียนตัวเองได้ แต่ถ้าเราอยู่กับตัวเองอย่างเดียว เราก็คงไม่ได้คุยกับใคร เพราะเราก็จะขลุกอยู่แต่กับตัวเองตลอด เราก็เลยคิดว่ามันเกื้อหนุนกันเองนะ และไม่อยากจะทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไป
ขอบคุณภาพถ่ายจาก สำนักพิมพ์ Salmon Books