จิรายุ เอกกุล

ธุรกิจดูวาฬ ดีต่อวาฬหรือดีต่อใคร? ไขข้อสงสัยผ่าน จิรายุ เอกกุล ช่างภาพสัตว์ป่า

นับตั้งแต่มีข่าวเรื่องวาฬใกล้เมืองแค่สายตามองเห็น และการออกเรือดูวาฬในจุดที่ใกล้กรุงเทพฯ มากขึ้น ท่ามกลางความอยากรู้และตื่นเต้น เราก็อดกังวลเรื่องความปลอดภัยของวาฬไม่ได้ จนกระทั่งเราได้พบกับ ‘ทัวร์’ – จิรายุ เอกกุล ช่างภาพสัตว์ป่า ผู้ที่ถ่ายภาพวาฬมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพื่อมานั่งตอบคำถามให้เราฟังอย่างละเอียด ด้วยสายตาที่มุ่งมั่นพร้อมคำตอบที่จริงจัง และจริงใจที่สุด

 

จิรายุ เอกกุล

จากการเป็นช่างภาพสัตว์ป่า คุณมีแรงบันดาลใจอะไรถึงเลือกเปิดบริษัททำเที่ยวชมวาฬเชิงอนุรักษ์

       เพราะก่อนหน้าที่จะเราจะมาเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวชมสัตว์ตามธรรมชาติทั้ง Wildlife eX และ Wild Encounter Thailand เราก็เป็นช่างภาพคนหนึ่งที่ชอบออกเรือถ่ายภาพวาฬและโลมา ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน เราไม่เคยรู้ว่าเมืองไทยก็มีกิจกรรมดูวาฬ เราจึงเลือกที่จะชักชวนเพื่อนๆ นักดำน้ำไปดูวาฬที่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ

       ระหว่างนั้น เราเห็นระบบระเบียบ มาตรฐานและการจัดการในเชิงธุรกิจดูวาฬและโลมา จนเริ่มสนใจที่จะทำธุรกิจนี้ จึงศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้น จนรู้ว่าที่เมืองไทยก็มีการชมวาฬแบบชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเราเองก็สนใจ และนี่คือ จุดเริ่มต้นที่เราตามหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา เพื่อเราจะสามารถทำธุรกิจดูวาฬเชิงพานิชย์ได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐานตามหลักสากล เราจึงส่งอีเมลไปถามผู้รู้จากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาร์เจนตินา แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กร NGO อีเมลของเราถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเราได้ผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาให้ความรู้ และคอยให้คำปรึกษา รวมไปถึงความรู้เชิงงานวิจัยวาฬที่เราเองก็สนใจอยู่ไม่น้อย แต่เราทำในรูปแบบเชิงพาณิชย์ นั่นหมายถึง เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำเพื่อรายได้ คุณให้คนไปดูแล้วเก็บเงิน ต่อให้ทำเพื่องานวิจัยก็ตาม นี่คือการดูวาฬเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น

งานวิจัยที่คุณทำนั้นคืออะไร

       เรามีหน้าที่ช่วยบันทึกและเก็บข้อมูลวาฬในอ่าวไทย เอามาจำแนกหรือผนวกกับฐานข้อมูลเดิมที่เคยมี หรือที่เรียกว่า Citizen Science (วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง) ซึ่งหมายถึงโครงการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เครือข่ายอาสาสมัครในสังคมหรือชุมชนมาร่วมทำการศึกษาวิจัย ลักษณะของงานเน้นไปที่การเก็บรวบรวมข้อมูล และแน่นอนว่า ‘ทุกคน’ ทำงานตรงนี้ได้ อย่างเมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเกาะเต่า แล้วถ่ายภาพครีบหลังของวาฬมาได้ ปรากฏว่าเป็นเจ้าเมษา ตัวเดียวกับที่อยู่ในอ่าวไทย นี่คือตัวอย่างที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เหมือนกับการมีหูมีตาเพิ่ม ทำให้มีรายงานมากขึ้น หรืออย่างเร็วๆ นี้ที่มีข่าวเรื่องวาฬเจ็บป่วยบริเวณที่ตาสองข้าง ที่กำลังตามหากันอยู่ ชื่อแม่ทองดี เมื่อเรือแต่ละลำออกไป หากเจอก็ช่วยกันรายงาน ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับแพทย์และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งนี่คือข้อดีที่จะทำให้คุณดูวาฬคนอื่นๆ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์

        ถูกต้อง – ในขณะที่เราใช้วิธีเก็บข้อมูลวาฬบรูด้าด้วยการจำแนกประชากรวาฬโดยการถ่ายภาพวาฬ ด้วยการใช้เทคนิค Photo ID เพื่อหาเอกลักษณ์หรือจุดสังเกตต่างๆ รวมถึงภาพพฤติกรรมเหนือผิวน้ำ อย่างปีที่ผ่านมา เราเจอวาฬเกิดใหม่ตั้ง 5-6 ตัว ไม่ใช่แค่ออกไปดูแล้วได้รับความสนุก ตื่นเต้นแล้วจบ แต่ต้องได้รับความรู้ และปลุกจิตสำนึกให้กับคนที่มาดูวาฬด้วย

         ดังนั้น สิ่งที่เราทำก็เหมือนเป็น ‘คนส่งสาร’ ตัวเชื่อมโยงระหว่างวาฬกับคนอื่นๆ เมื่อพาคนออกเรือไป เจอวาฬเราต้องภาพถ่ายเก็บมาให้ได้มากที่สุด ต้องถ่ายแม้กระทั่งขี้ของวาฬ เพราะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ

        เมื่อขึ้นฝั่งกลับบ้าน งานเรายังไม่จบเพราะต้องคัดรูปออกมาวิเคราะห์จำแนกกันอีกว่า ตัวไหนเป็นตัวไหน ก่อนจะส่งกลับไปที่ฐานข้อมูลหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งสิ่งที่เราทำก็คือ การอนุรักษ์ การวิจัย และการรายงานเรื่องวาฬและโลมาที่มีมูลค่ามหาศาล ตีเป็นเม็ดเงินไม่ได้ แต่ทั้งหมดจะเกิดการบูรณาการ เป็นการดูวาฬเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน ซึ่งเราไม่ใช่แค่ทัวร์นำเที่ยว พาคนไปเจอวาฬ ถ่ายรูปแล้วก็จบ เพราะในเมื่อเรารับเงินมา และวาฬก็ช่วยเรื่องรายได้ให้เรา เราก็ต้องนำส่วนนั้นกลับคืนวาฬเช่นกัน

 

จิรายุ เอกกุล

แล้วสำหรับคนเรือ หรือชาวประมงที่ต้องทำงาน ใช้ท้องทะเลเพื่อหาปลาที่เดียวกับวาฬ เขาคิดแบบนี้หรือเปล่า

        สิบปีที่เราทำงานตรงนี้ แล้วพบข้อดีที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ทุกคนพร้อมจะแจ้งข่าวคราวของวาฬเสมอ ชาวประมงและเรือลากที่ต้องออกไปอยู่กลางทะเลนานๆ ไม่ได้รังเกียจวาฬ ไม่ได้ล่าวาฬอย่างที่ต่างประเทศทำ ทุกลำในอ่าวไทยเป็นมิตรกับวาฬ และนี่คือการสร้างเครือข่ายที่เหนียวแน่นในเรื่องการช่วยเหลือเรื่องวาฬ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี อีกอย่างชาวประมงมีความเชื่อว่าวาฬคือพ่อปู่แห่งท้องทะเล เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ เราเคยเห็นตอนที่เรือประมงกำลังลากอวนแล้วเห็นวาฬอยู่ใกล้ๆ เขาหักหัวเรือเบนออกเลย

เมื่อวาฬต้องกินปลาเศรษฐกิจเยอะขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อชาวประมงพาณิชย์หรือเปล่า

        นี่คือความน่าสนใจ สำหรับเรามองว่าในเชิงกายภาพวาฬและชาวประมงไม่ได้ข้องเกี่ยวกัน ต่างคนต่างอยู่ อีกอย่างการทำประมงทุกวันนี้ก็มีกฎหมายเรื่องการห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมที่ขนาดตาถี่ๆ มากำกับอีกชั้น จึงไม่กระทบกัน อีกอย่าง วาฬเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก บางครั้งวาฬตามเรือประมงเพื่อหากินก็มี ในอ่าวไทยจะมีขาประจำที่ชอบอยู่กับเรืออวน หากพวกเขาเจอกลุ่มเรืออวน ก็จะรีบว่ายเข้าไป เรามักจะเปรียบเสมอว่า หากช้างและนกเงือกคือผู้ปลูกป่า วาฬบรูด้าก็สำคัญไม่ต่างกัน เป็นผู้ดูแลความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทยอย่างแท้จริง ปีนี้เราเห็นลูกปลากะตักกระโดดเหมือนพลุ ปลากะตักเหล่านี้มาพร้อมกับ ‘การสะพรั่งของสาหร่าย’ หรือที่เรียกว่า Plankton Bloom เจ้าแพลงก์ตอนเหล่านี้คือสารอาหารที่เล็กที่สุด

        เมื่อปลากะตักกินแพลงก์ตอน ก็เติบโตอ้วนพี จากนั้นวาฬมากินปลาอีกที กินแล้วขี้ออกมาในจำนวนมหาศาล ซึ่งมูลวาฬอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารให้กับแพลงก์ตอนอีกทีหนึ่ง และนี่คือวัฏจักรที่ทำให้สภาพน้ำทะเลสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการโบกหางหรือการว่ายน้ำของวาฬทำให้เกิดกระแสน้ำในแนวตั้ง ซึ่งจะพัดแพลงก์ตอนที่ตายแล้วให้ขึ้นมาสู่ผิวน้ำ แล้วสังเคราะห์แสงกลายเป็นอาหารปลาอีกครั้ง

        นี่คือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า วาฬไม่ได้แย่งอาหารเรา แต่ตรงข้ามกัน ยิ่งเรามีวาฬมากเท่าไหร่ ทะเลของเราก็จะยิ่งดีมากเท่านั้น เมื่อทะเลดีเราก็มีของกินดีๆ แต่อย่าลืมว่า ทุกวันนี้พวกเรา overfeeding กันมากเกินไปหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คนเรากินอาหารจากทะเลเพียง 20-30% ของการทำประมงทั้งหมด ที่เหลือเป็นทำเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ย ซึ่งมีส่วนผสมของอาหารทะเล

 

จิรายุ เอกกุล

ในเมื่ออาหารของวาฬสะพรั่งเต็มท้องทะเล เรืออื่นๆ ก็ต้องมากันเยอะ คุณคิดว่าจะส่งผลต่อวาฬไหม

        ตอนนี้ทุกคนแห่มาดูวาฬเพราะไม่มีการควบคุม ปีนี้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งเข้มงวดมาก แต่อ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ประมงเศรษฐกิจ ไม่ใช่พื้นที่อุทยาน ไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งปริมาณเรือที่เข้าบ้านของวาฬในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อวาฬโดยไม่ตั้งใจ จนอาจทำอันตรายจนวาฬเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงต้องมีลิมิตและการควบคุม

วิธีปฏิบัติ หรือสิ่งที่ถูกต้องและมีมาตรฐานนั้นเป็นอย่างไร

        สิ่งสำคัญที่เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องเคารพวาฬ เมื่อเขาเข้าบ้านของเขา ก็ต้องให้เกียรติในฐานะผู้มาเยือน ไม่ใช่จะสูบบุหรี่ กินข้าวแล้วโยนทุกอย่างทิ้งลงทะเล รวมไปถึงจำนวนเรือ ต้องไม่มากกว่า 3 ลำต่อบริเวณวาฬหนึ่งตัว เรื่องการใช้เสียงที่ไม่เป็นการรบกวนวาฬ วิธีการเข้าหาวาฬที่ถูกต้อง การรักษาระยะห่าง อย่างน้อย 15-30 เมตร หากเป็นคู่แม่ลูก ก็ต้องมีระยะไม่ต่ำกว่า 100-200 เมตร หากจะเห็นวาฬใกล้ๆ นั่นแปลว่าเขาเข้ามาใกล้เอง ไม่ใช่เรือของเราที่เป็นฝ่ายจี้เขา ยิ่งเรานิ่งหรือลอยลำมากเท่าไหร่ วาฬจะยิ่งเข้าหา บางครั้งก็มาอ้าปากกินติดเรือ ที่สำคัญไม่ใช่แค่เจ้าของธุรกิจ ต้องรวมไปถึงกัปตันเรือ สตาฟบนเรือเองก็สำคัญ ต้องมีความรู้และสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนดูวาฬเรือได้

        แต่ทุกวันนี้การดูวาฬยังไม่มีกฎหมาย เป็นแค่คำแนะนำ ไม่มีใครมาสั่งให้ใครทำอะไร ใครมีเรือก็ออกไป ยังไม่มีใบรับรอง Certified Whale Watcher ในประเทศไทย ที่ออกให้กับประกอบการด้านการดูวาฬโดยเฉพาะ แต่เราเข้าอบรม จนได้รับใบรับรองนี้มาจากต่างประเทศแล้ว (ยิ้มกว้าง)

เราเคยนำเรื่องนี้ไปคุยกับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปรากฏว่าชาวบ้านที่ทำกันมาอยู่เดิมไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วม อ้างว่าทำมานานแล้ว ทั้งๆ ที่เราอยากให้มีกฎระเบียบเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการทำผิด ก็ไม่รู้ว่าจะเอาผิดอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ เช่น หากเข้าหาวาฬเกินกว่าระยะที่กำหนดจะต้องเสียค่าปรับกี่บาท ผู้ประกอบการดูวาฬจะต้องมีทะเบียนเรือที่ต่างจากเรือลำอื่นๆ เหมือนที่เมืองนอกเข้าทำระบบนี้ หรือมีการสอบใบขับขี่เรือดูวาฬ เหมือนการทำใบขับขี่รถยนต์ หากทำผิดก็โดนยึด ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเมืองไทยยังไม่มี หากมีก็คงจะดีต่อทุกฝ่าย รวมทั้งตัววาฬเองด้วย และเราอยากให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

พฤติกรรมของวาฬเปลี่ยนไปไหม เมื่อมีธุรกิจนำเที่ยวชมวาฬ พาผู้คนออกไปเฝ้ามองพวกเขา

        เราเคยถามกัปตันรุ่นก่อนๆ ที่ขับเรือตกปลา ก่อนที่จะหันมาทำธุรกิจออกเรือดูวาฬ เขาบอกว่า วาฬก็เฟรนด์ลี่แบบนี้ บางครั้งว่ายเล่นใกล้เรือ ยิ่งบางตัวมีพฤติกรรมการกินคู่กับเรือประมง เพราะมันรู้ว่าเมื่อมีเรือประมงก็ย่อมมีปลา อาหารอันโอชะของมันเหมือนกัน คนทำประมงก็ทำไป วาฬก็อ้าปากกินไป อยู่ร่วมกันหรือรัศมีใกล้ๆ กันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

คุณทำงานวิจัยหนักขนาดนี้ ทำไมคุณถึงไม่มุ่งไปในเชิงวิจัยเรื่องวาฬโดยตรงมากกว่าการเป็นบริษัทนำเที่ยว

        เพราะเราเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่แปลก (หัวเราะ) เอาเงินไปละลายกับทะเล กับทริปสำรวจเสมอ เงินลูกค้าคือค่าน้ำมัน เราไม่เชื่อเรื่องการนั่งเขียนรายงานขอทุนหนาเป็นปึกๆ แล้วได้งบประมาณมาน้อยนิด แถมรายงานนั้นก็ไม่มีคนอ่าน สู้เราทำเป็นเชิงพาณิชย์ เก็บเงินคนที่อยากดู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อุดมการณ์เดียวกัน แล้วเดินทางสำรวจสิ่งใหม่ๆ ดีกว่า เพราะตั้งแต่เราทำ Wild Encounter Thailand และ Wildlife eX เราพาคนอออกไปดูวาฬชนิดอื่นๆ มากมาย สำรวจอันดามันบ้าง ในปีนี้เรากลับมาโฟกัสวาฬบรูด้า และต่อไปอาจจะโฟกัสที่วาฬสีน้ำเงินที่อันดามัน หรืออาจจะมองหาพื้นที่อื่นของอ่าวไทยตอนบนเพื่อค้นหาวาฬต่อไป

        หรือที่ผ่านมาเราเคยทำวิจัยที่ศรีลังกาเรื่องของวาฬสีน้ำเงิน เขาจะกินแต่เคยเท่านั้น ทำให้ขี้ของเขาเป็นสีส้ม พอลอยเป็นทางเราก็รู้ได้เลยว่านี่คือแหล่งอาหารของวาฬสีน้ำเงินในระยะรัศมี 80 เมตร เราก็จะต้องเก็บข้อมูล และทำ Photo ID ทุกครั้ง และสิ่งที่เราทำมาตลอดนั้นก็เห็นผล เมื่อเรามีรายงานการพบเจอวาฬโอมูระเป็นสัตว์ที่มีความลึกลับและหายากที่สุดในโลก วาฬโอมูระรูปร่างคล้ายกับวาฬบรูด้า แต่ว่าลำตัวจะมีสองสี ด้าานหนึ่งสีดำ อีกด้านหนึ่งสีขาว มีอยู่ 8 ตัวในอันดามัน ที่สำคัญเมืองไทยก็มีสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวาฬสีน้ำเงินขนาดกว่า 20 เมตร ซึ่งเราเคยเห็นกับตาอยู่แถวบริเวณร่องน้ำซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างสิมิลันและพังงา

        แน่นอนว่าปีนี้เราจะกลับไปอีก จะเจอวาฬสีน้ำเงินอีกครั้งหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เราจะไป ต่อให้ต้องละลายเงินไปกับทะเลอีกมากแค่ไหน เราก็จะทำต่อ และด้วยความโชคดี เรามีเพื่อนๆ ลูกค้า และคนอีกมากมายที่พร้อมจะไปกับเรา เป็นแรงหนุนทางด้านการเงิน (หัวเราะ) ให้เราออกเรือตามหาวาฬเหล่านี้อีกครั้ง … สนใจจะไปด้วยกันมั้ยครับ (หัวเราะ)

 

จิรายุ เอกกุล

ธุรกิจนำเที่ยวดูวาฬ มีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านท้องถิ่นที่มีอาชีพออกเรือชมวาฬกันมานานด้วยหรือเปล่า

        จะว่าไปเราเหมือนสตาร์ทอัพเลยนะ นอกจากจะเป็นบริษัทนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว เรายังเชื่อเรื่อง community based เรารู้ว่าท้องทะเลคือสิ่งมีค่า คนในท้องถิ่นย่อมเห็นค่าและต้องรู้จักค่า ส่วนตัวเราเป็นผู้ประกอบที่อยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น คนที่จะรักวาฬได้ดีที่สุดก็คือ คนท้องถิ่นที่มีอุดมการณ์เดียวกับเรา อย่างพี่รูน เจ้าของเรือกาน้ำ เขาเป็นกัปตันเรือที่เก่งและมีความชำนาญ เดิมเมื่อสิบกว่าปีก่อน พี่เขาก็เป็นชาวประมง ใช้เรือตกปลา แต่เราเห็นความรักท้องทะเล เราจึงเขาไปดีลกับเขาและเซตอัพเรือให้ใหม่ จนกลายเป็นทีมทำงานร่วมกันจนถึงทุกวันนี้ ส่วนจุดขึ้นเรือที่บางขุนเทียน ก็เป็นร้านอาหาร แต่เราก็เข้าไปดีลและต่อเรือดูวาฬให้อีกสองลำ พร้อมให้คำแนะนำในการออกเรือดูวาฬที่ถูกต้อง

        ที่ผ่านมาก็มีคนโบกมือจากเราไปไม่น้อย อาจเป็นเพราะใจร้อนกับธุรกิจดูวาฬไปหน่อย การทำธุรกิจนี้ต้องใจเย็นมากๆ ต้องรอคอย เพราะธรรมชาติไม่เคยแจ้งอะไรให้เรารู้ล่วงหน้า วาฬก็เหมือนกัน แล้วแต่วาฬ – Up to Whale (หัวเราะ) และนี่คือ wildlife tourism ที่ที่คุณจะได้เจอกับความเป็นธรรมชาติของธรรมชาติจริงๆ

ปลายทางและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคุณตลอดระยะเวลาที่ทำธุรกิจนี้คือสิ่งใด

        เรามองว่าทุกวันนี้กระแสการดูสัตว์เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนจะต้องไปสวนสัตว์ ปัจจุบันผู้คนหันหน้าเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น กิจกรรม Wildlife Watching เป็นที่นิยมและได้รับการใส่ใจจากผู้คนมากขึ้น ลูกค้าหลายคนของเราเป็นเด็กโต พ่อแม่แค่พามาส่งแต่ไม่ขึ้นเรือมาด้วย พร้อมสนับสนุนลูกให้ลูกเข้าหาธรรมชาติด้วยการซื้ออุปกรณ์ดูวาฬอย่างเต็มที่ ทั้งการถ่ายภาพและการจดบันทึกธรรมชาติ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของพ่อแม่รุ่นใหม่ ที่ยอมลงทุนกับอุปกรณ์เหล่านี้ แทนที่จะซื้อคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ให้กับลูก ทั้งๆ ที่มูลค่าเท่ากัน แต่ประโยชน์และคุณค่าที่ได้มาย่อมต่างกัน

        แต่ก็เข้าใจว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนจะชอบออกเรือแบบนี้ ก็ต้องไม่บังคับกัน ขึ้นอยู่กับเด็ก ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการปลูกฝังจากพ่อแม่ในเรื่องใดมากกว่า หากเรื่องการเข้าหาธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ก็คิดว่าเด็กๆ จะสนใจและตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า ได้เรียนรู้มากขึ้น และมีหลายครั้งที่วาฬกลายเป็นแรงบันดาลใจและจินตนาการของเด็กๆ ต่อยอดกลายเป็นสิ่งดีๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเขากลัวจะไปกระทบต่อวาฬของเขา ทั้งหมดนี้ เราจึงเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้วล่ะ (ยิ้ม)

 

จิรายุ เอกกุล

ภาพ: จิรายุ เอกกุล, ประกายแก้ว แผ่สุวรรณ และ ชื่นชม หังสสูต