กตัญญู สว่างศรี

กตัญญู สว่างศรี | กะเทาะเปลือกความตลก การล้อเลียน เสียดสี กับสังคมไทย

วันที่เราเดินทางไปหาเขา เราได้ยินเสียงจากห้องประชุมภายในบ้านที่ถูกทำเป็นโฮมออฟฟิศของ บริษัท กตัญญู 86 ดังออกมาถึงบริเวณห้องนั่งเล่น เรารู้จัก ‘ยู’ – กตัญญู สว่างศรี จากบทบาทของการเป็นศิลปินสแตนอัพคอเมดี้ นักเขียน พิธีกร และอีกหลากหลายบทบาทที่เขามักกระโจนเข้าไปลอง อาจไม่แปลกที่เรามักติดภาพความร่าเริงเมื่อพบเห็นเขาอยู่ต่อหน้าผู้คน แต่นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เราได้สัมผัสถึงความจริงจังผ่านบทบาทของการเป็นหัวหน้าบริษัทที่เขาก่อตั้งเอง

     ก่อนสัมภาษณ์ เราขอให้เขาเริ่มต้นถ่ายรูปเป็นอย่างแรก เสียงช่างภาพสั่งทำท่าทางหลากหลายแอ็กชัน โดยเฉพาะท่าตลกๆ ตามสไตล์ของนักแสดงคอเมเดี้ยนที่เราคาดหวัง กตัญญูโพสต์ตามทุกท่าที่ช่างภาพสั่ง ใบหน้าเขาเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ทั้งยังออกแบบท่าทางให้เราเพิ่มเติมด้วยซ้ำ ทำเอาเราอดขำไปด้วยไม่ได้

     หลังสิ้นเสียงชัตเตอร์สุดท้าย เราขอบคุณเขาก่อนที่จะลาจากเพียงเท่านี้ ไม่ใช่! เราขอบคุณเขาสำหรับภาพถ่าย ก่อนที่จะชักชวนเขากลับเข้าไปนั่งสนทนาถึงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ภายในออฟฟิศ ช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังถ่ายภาพเสร็จ เราสังเกตเห็นรอยยิ้มที่หุบหายไปจากใบหน้า เขากลับไปสู่โหมดจริงจังในบทบาทของหัวหน้าบริษัทเช่นเดียวกับตอนประชุม ภายในหัวเขาอาจครุ่นคิดถึงความกดดันในโชว์ A KATANYU : LOVE SO HARD รักยากสัส ซึ่งเป็นสแตนอัพคอเมดี้ครั้งใหม่ของเขาที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ก็เป็นได้

     การมาคุยกับเขาในวันนี้ เรามีคำถามมากมายที่อยากถาม โดยเฉพาะเรื่องของความตลกกับสังคมไทยที่เต็มไปด้วยการล้อเลียน เสียดสี และที่สำคัญ เราอยากรู้ว่าภายใต้บทบาทความเป็นคอมีเดี้ยนที่เขาสวมใส่อยู่ทุกวันนั้น จริงๆ แล้วตัวตนของผู้ชายคนนี้เป็นอย่างไรกันแน่

 

กตัญญู สว่างศรี

 

คุณรู้สึกอย่างไรเวลาคนติดภาพหรือคาดหวังความตลกจากคุณ เพราะจริงๆ คนเราคงไม่ได้จะตลกอยู่ตลอดใช่ไหม

     เราว่าจริงๆ แล้วเหมือนเป็นงานแหละ ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งมันเป็นงานที่เราเลือกด้วย แล้วเราไม่เคยรับมือกับเรื่องอะไรพวกนี้นะ เพราะที่ผ่านมาเราก็เป็นนักเขียน เป็นพิธีกรอีเวนต์ แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้หนักหนาสาหัสขนาดนั้น เราไม่ได้มีชื่อเสียงระดับที่ใครเจอแล้วต้องอุทานว่า เฮ้ย! แต่ว่าก็จะมีบางช่วงที่เพื่อนร่วมงานอยากได้ หรือว่าคนที่รู้จักเราอยากได้อะไรแบบนั้น เออ จริงๆ มันเหนื่อยเหมือนกันนะ มันอาจจะเหนื่อยเพราะว่าเราทำงานหนักด้วย

     หลังจากจบโชว์เมื่อปีที่แล้วมาจนถึงวันนี้มันเบิร์นมาก เพราะว่าเราทำบริษัทขึ้นมา มีภาระต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น จริงๆ ทำให้เล่นตลกยากขึ้นด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้เป็นศิลปินคอเมดี้อย่างเดียว แล้วเราก็รู้ว่าเราเป็นศิลปินแบบคอมีเดี้ยนไม่รอด ก็เลยต้องทำอย่างอื่นเพื่อที่จะประคับประคองความเป็นคอมีเดี้ยนเอาไว้อยู่ ซึ่งมันก็เลยยากที่จะพยายามสนุก ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา

 

มันกลายเป็นความเครียดเลยไหม

     มันกลายเป็นความเครียด (ตอบทันที) แต่โดยนิสัยใจคอเราเป็นคนชอบกวนตีนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันก็เหมือนเวลาเราเล่นฟุตบอลเพราะเราชอบเล่นฟุตบอล แต่ว่าเวลาลงสนามนานๆ เราก็จะเหนื่อย มันก็ซับซ้อนตรงที่ว่า วัฒนธรรมการเล่นสแตนอัพที่บ้านเรายังไม่มี ดังนั้น งานเบื้องหลังของเรานอกจากจะ serve ชีวิต รวมถึงกลุ่มพนักงานที่เข้ามาช่วยเราแล้ว มันก็ยังมีส่วนที่เราต้องพยายามผลักดันให้เกิดการดูการเล่นสแตนอัพด้วย เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่การเล่นสแตนอัพเพียวๆ ไม่ใช่ว่าวันนี้จะเล่นละครเวทีแล้วก็ขึ้นไปซ้อม หรือเราเป็นแค่นักแสดงเท่านั้น เราสวมหัวโขนหลายหัว หลายบทบาทมาก จนจะตลกทีนึงมันก็เหนื่อย แต่ว่าแฮปปี้นะ คืออยากทำ แต่แค่จะมีบางโมเมนต์ที่รู้สึกเหนื่อยแค่นั้นเอง

     ซึ่งจริงๆ เราว่าคนจะเป็นมืออาชีพได้มันต้องผ่านความยากลำบาก โดยเฉพาะการจะเป็นมืออาชีพในสิ่งที่ยังไม่เป็นอาชีพในประเทศนี้เนี่ย แม่งยิ่งยาก ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวเราต้องเจอ เพราะเรายังไม่ได้นับว่าสแตนอัพคอเมดี้เป็นอาชีพของเรา หรือไม่นับว่าเป็นอาชีพที่มีอยู่จริงในประเทศนี้ เรานับว่ามันยังเป็นงานอดิเรก เป็นความใฝ่ฝันอยู่

 

สมมติให้คุณลองให้คะแนนตัวเองจากทุกโชว์ที่ผ่านมา คุณจะให้เท่าไหร่

     โห เราให้คะแนนความพยายามเกินร้อยนะ แต่ถ้าเรื่องการแสดง ยังไม่เอาไหนเลยสำหรับเรา มันยังแค่พอได้ ไม่รู้ว่าจำนวนตัวเลขมันจะเป็นเท่าไหร่ คือถามว่าย้อนกลับไป ณ จุดจุดนั้นเราก็ดีที่สุดเท่าที่เราพยายามแล้ว แต่ก็รู้ว่าผลงานมันยังไม่ได้พิสูจน์อะไรแบบชัดเจน ถ้ามองตัวเองแบบเป็นคนนอก ก็อาจเป็นแค่คนหนึ่งที่บังเอิญจัดงานได้ มีคนสนับสนุน แต่โดยตัวโชว์เองก็ยังไม่ได้มีคนดูเป็นหมื่น มีคนอยากเห็นเป็นแสน หรือได้รับความสนใจมาก

     แต่ตรงนี้เราโคตรเข้าใจตัวเองตรงที่ว่า มันคือการเริ่มต้น เราไม่มีปัจจัยหรือว่าองค์ประกอบอะไรที่มันจะช่วยเสริม ยกตัวอย่าง เราไม่ได้มีสแตนอัพคอเมเดี้ยนรุ่นใหญ่แต่ก่อนที่แนะนำเราเข้าไปในรายการที่มันเป็นสแตนอัพคอเมดี้ หรือมีรายการระดับประเทศ มันเป็นศูนย์นะ มันอาจจะมีรายการที่มีความพยายามจะทำ แต่เชื่อไหม ผมเคยถ่ายวิดีโอเพื่อที่จะไปคัด ยังไม่ใช่รอบออดิชันนะ เขาแค่สนใจ ซึ่งปรากฏว่าเราไม่ได้เข้ารอบ คือเขาดูวิดีโอแล้วเขาก็ไม่ได้เลือกเรา ซึ่งมันก็มีความเฟลเยอะแยะนะ

 

เขาบอกเหตุผลไหมว่าเพราะอะไร

     ส่วนมากเขาไม่บอกหรอก คือเราว่าเรื่องพวกนี้ไม่มีผิดถูก มันอยู่ที่ว่าเขามองคนดูของเขาแบบไหน แล้วเขาต้องการนำเสนออะไรให้กับคนดู เราแค่ไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่รู้คือเรารู้ว่าเราเป็นแบบไหน เล่นประมาณไหน เราตามหาคนดูของเรา นั่นคือเมื่อครั้งก่อนหน้าที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้คือเราจะพยายามสร้างคนดูของเราให้มากขึ้น เราว่ามันเป็นงานที่อยู่กับความท้อแท้เยอะมาก คือถ้าคุณเป็นคนขี้ท้อ คุณทำไม่ได้

 

กตัญญู สว่างศรี

 

แล้วกับโชว์ทั้งสามครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้า มีคอมเมนต์ไหนที่คุณยังจำขึ้นใจถึงตอนนี้ไหม

     ฝืด (ตอบทันที) แล้วก็มีอันหนึ่งที่คนแชร์ไปด่าว่า ไม่มีอะไรใหม่เลย ซึ่ง ณ โมเมนต์ที่เราอ่านเราก็โกรธ แม่ง กูแค่มนุษย์ธรรมดานะ แต่ว่าเราทำความเข้าใจว่า นั่นแหละคือเสียงที่บอกว่าผลงานเรายังไม่เอาไหน แล้วก็เป็นอีกเสียงที่บอกเราด้วยว่า ต้องทำให้ดีขึ้น ก็เข้าใจ เรื่องตลกมันไม่ได้ทำงานกับทุกคน แล้วก็เราก็หัวเราะกันคนละแบบด้วย เราไม่สามารถที่จะทำให้ใครแฮปปี้หรือเอนจอยกับเราได้ทุกคน แต่เราจำเป็นจะต้องทำให้คนส่วนมากที่ดูเราเอนจอย เพราะนี่คือสิ่งที่เราตั้งใจไว้ ก็ไม่เป็นไร เราเข้าใจสำหรับคนที่มาว่าเรานะ แต่สิ่งที่อธิบายตัวเองเสมอคือ มึงเพิ่งเริ่มก้าวแรก มึงไม่ต้องกังวลหรอก แล้วคนเรามันพัฒนากันได้ ถ้าไม่เลิกทำ เราว่ามันจะดีขึ้น

     จริงๆ แล้วมีคำชื่นชมที่มันลึกซึ้งแล้วก็เขียนถึงเราเยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งเราก็ขอบคุณมาก จริงๆ คำที่เราอยากจะจดจำมากที่สุดก็คือคำจากพวกพ้องที่เชียร์กันนี่แหละ สำคัญมาก คนที่ช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ต้น อยู่ข้างๆ กัน สิ่งเหล่านี้เราจดจำได้ตลอด มันทำให้เรารู้ว่า เราทำสิ่งนี้ได้เพราะคนเล็กๆ เหล่านี้ที่อยู่รอบกายเรา

 

เราเคยอ่านบทความที่เขาบอกว่า ถ้าเป็นเมืองนอก กลุ่มสแตนอัพคอเมดี้เขาเล่นเสียดสีกันหนักมาก แต่สแตนอัพคอเมดี้ของไทยเรายังวนอยู่กับชีวิตประจำวัน มันเป็นเพราะแบบนั้นหรือเปล่า

     ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราไม่อยากพูดเรื่องหนักๆ พวกนี้ แต่ว่ามันเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูดด้วย คือลองสังเกตเถอะ ไม่ใช่แค่เรื่องหัวเราะ แต่เป็นเรื่องของความตื่นเต้นด้วย อะไรที่มันเดินอยู่บนเส้นของความถูกผิดดีเลว คนที่เดินอยู่บนนั้นได้ แล้วทำให้มันเกิดเป้าหมายที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศร้า เรื่องสุข หรือว่าเรื่องตลก มันดีเสมอ แต่ว่าความยากของบ้านเราคือ การพูดที่มันยังไม่สุดในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มันละเอียดอ่อนในสังคม ส่วนคำที่ว่าใหม่ เราว่าใหม่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ใหม่ของแต่ละคนมีความคาดหวังไม่เหมือนกัน ก็ต้องยอมรับว่าเราอาจไม่ใหม่สำหรับเขา แต่ก็มีหลายคนที่บอกว่าเราใหม่สำหรับเขา เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของการเอาตัวตนและความคิดเห็นออกมากอง แล้วการวิจารณ์เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว จริงๆ ต้องทนให้ได้ ต้องรับให้ได้ ไม่ซีเรียสเลย เราก็พยายามที่จะทำให้ดีที่สุดในแบบที่เราคิดว่าดีเท่านั้นเอง

 

นอกจากบทบาทความตลกในการเป็นสแตนอัพคอเมดี้แล้ว ก่อนหน้านี้คนที่ติดตามคุณมักเห็นคุณทำคลิปล้อเลียนเสียดสีบุคคลในสังคมอยู่หลายคลิป จริงๆ เป้าหมายในการทำคืออะไร

     คือจุดเริ่มต้นมันต้องเอาฮาก่อนแหละ จริงๆ แล้ว พฤติกรรมของสังคมในบ้านเราชอบที่จะเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องอะไรที่เป็นประเด็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ทวิตเตอร์เทรนด์ ที่เราก็จะใช้แฮชแท็กกลางอันหนึ่ง แล้วก็เสนอไอเดียในการล้อไปเรื่อยๆ หรือเมื่อไหร่ที่เกิดบุคคลแปลกๆ ขึ้นมา ก็จะมีเพจล้อเลียนเอามาเล่น เราว่าการล้อมันเป็นสิ่งที่บ้านเราคุ้นเคย ใครๆ ก็ชอบ คือถ้าถามกลับไปเรื่องความใหม่ ส่วนตัวเราก็พยายามจะใหม่นะ ลองย้อนกลับไปดูตอนคลิป BNK48 ณ โมเมนต์ที่เราล้อ เพลง Fortune Cookies ยังไม่ถูกปล่อยออกมา โมเมนต์ที่เราเลือกเพลงนั้น เราเลือกจากเพลงฉบับญี่ปุ่น คือเรารู้ audience ของเราประมาณหนึ่ง เช่น ที่เราล้อ TEDx หรือล้อนักพูดให้กำลังใจ เพราะเรารู้ว่ากลุ่มคนที่เป็น Creative people หรือว่า Digital native รุ่นใหม่ เขาสนใจอะไรพวกนี้ เราก็พยายามจะมาก่อน แล้วเรารู้สึกว่าสนุกดี

     วัตถุดิบที่เราเลือกมาในการล้อส่วนมากจะมาจากรสนิยม หรือความสนใจของเราจริงๆ เราไม่มีรสนิยมที่จะพูดประเด็นที่มันเฝือ หรือประเด็นที่พูดไปแล้วก็ได้แต่เสียงเฮ คือคนที่เลือกพูดไม่ผิดนะ แต่เราแค่รู้สึกว่าเราชอบพูดอะไรที่อยู่ในความสนใจจริงๆ ซึ่งเราไม่ใช่คนแมส เราไม่ได้ดูละคร เราดู Netffllix ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำให้คนดูมีส่วนร่วมได้มันเลยกลายเรื่องสากลจากชีวิตธรรมดา เรื่องอกหัก เรื่องทำงาน เรื่องผู้คน แต่นั่นมันเป็นหัวข้อหลักๆ ที่ผู้คนจะสนใจ ซึ่งนิสัยตั้งแต่เด็กของเราคือพวกอินดี้ ฉะนั้นมันก็ต้องปรับตัว ต้องเล่าเรื่องที่มีแกนกลางของผู้คนบ้าง

 

กตัญญู สว่างศรี

 

การทำคลิปล้อพวกนี้ของคุณมีลิมิตไหมว่าทำได้ขนาดไหน

     (นิ่งคิด) สิ่งหนึ่งที่เรามักจะคิดอยู่เสมอก็คือ เวลาล้อจะมีเหยื่อที่เราไปล้อ เราไม่สามารถเข้าใจหรือรู้ได้ว่าลิมิตไหนที่คนถูกล้อเขายังโอเค แต่ลิมิตที่เราบอกตัวเองไว้ก็คือ สิ่งที่เราล้อจะต้องไม่ไปทำร้ายจนกระทั่งเขาเสียหาย หรือจนถึงขั้นว่าเขาได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเราคิดเรื่องการล้อ BNK48 เราไม่มีการเปรียบเทียบว่าเมมเบอร์คนไหนในวง คือคนไหนในคลิปเรา เราไม่ไปเชื่อมโยงแบบนั้น แล้วเราไม่ได้ทำเพลงแปลงที่มันแย่ เราทำเพลงให้เพราะ เราใส่คอสตูมที่สุดท้ายคนจะเกลียดเรา สมมติว่าเราล้อ BNK48 ก็จริง แต่คนจะมาเกลียดเรา ‘เกลียดอียู แต่งตัวอุบาทว์’ มันจะมาที่เรา หรืออย่างเราล้อนักพูดให้กำลังใจคนหนึ่ง เราก็ไม่ได้ไปบอกว่าสิ่งที่เป็นต้นทางมันเลวร้าย แต่สิ่งที่เราทำคือเราเสนอตรรกะที่ผิดเพี้ยนของเราเองออกมาในฟอร์แมตของเขา เพราะคนชอบดูเขาพูดเรื่องแรงบันดาลใจ แล้วเขาหล่อ น่าดู แต่เราแม่งไม่หล่อ เราแม่งหน้าหนวด หน้าโทรม แล้วพูดอะไรไร้สาระ ในฟอร์แมตที่มันดูดี (หัวเราะ) ทีนี้พอตรรกะมันเพี้ยนคนเลยชอบ แต่ว่าก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบเขา เราถึงล้อ ซึ่งบางทีมันก็เป็นการพูดในอีกทางหนึ่ง มันก็จะชัดเจนว่าคนที่ไม่ชอบเขาก็จะชอบคลิปเรา แต่เราไม่รู้ว่าเขาจะไม่แฮปปี้แค่ไหนยังไง แต่มันคือโจ๊กเท่านั้นเองสำหรับเรา มันคือการเล่นตลก

     บางสิ่งที่เขาพูดก็เมกเซนส์ แต่บางสิ่งที่เขาพูดก็ต้องยอมรับว่ามันไม่เมกเซนส์กับกลุ่มคนบางกลุ่ม และกลุ่มเหล่านั้นแหละที่จะมาชอบคลิปนี้ แล้วเรารู้สึกว่าคนที่ทำอะไรแบบนี้มันมีความน่าล้ออยู่แล้วไง คนที่หล่อเกินไป สวยเกินไป หรือคนที่มีอำนาจบางอย่างมากเกินไป ลองคิดดูให้ดีนะ คำว่าสวย หล่อ มันนำมาซึ่งอำนาจ คนที่มีอำนาจมากๆ มันน่าล้ออยู่แล้ว คนที่รวยมากๆ เลยถูกล้อ คนที่มีอำนาจจึงถูกล้อ

 

ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น คุณคิดว่าการล้อมันคือการเหยียดหรือเปล่า

     การเสียดสีกับการเหยียดมันคนละเรื่องนะ เราว่าการเสียดสีมันคือการนำเสนอวิธีคิดอีกแบบหนึ่งกับสิ่งที่เรามองสิ่งนั้น แต่การเหยียดมันคือการกดสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ว่ามันด้อยค่า หรือเพราะมันต่ำกว่า การเสียดสีหรือการล้อมันคือการนำเสนอชุดวิธีคิดอีกแบบหนึ่งว่า ‘เฮ้ย เออว่ะ มึงคิดแบบนี้ได้นี่หว่า’ แต่ในขณะที่เหยียดคือ ‘อีนี่มันเลว อีนี่มันดำ อีนี่มันอ้วน อีนี่มันเตี้ย’ แต่การล้อมันจะเป็นแค่ ‘อืม ก็แค่ไม่ผอมเท่าไหร่นะช่วงนี้’ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นคนละเซนส์กัน

 

เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน เรารู้สึกว่ามันใกล้เคียงกันมากนะ

     เราว่าไม่นะ อันนี้เราเห็นต่างกัน เราว่ามันไม่ใกล้เคียงกันเลย การเหยียดมันมีเจตนาบางอย่างที่จะทำให้คนคนนั้นรู้สึกด้อย คือส่วนมากคนที่ล้อเลียน ก็จะเป็นคนที่ถูกเหยียดมากกว่าด้วยซ้ำ คือมันใช้ต่อกรกับอำนาจมากกว่า (นิ่งคิด) เดี๋ยวนะ เรากำลังพยายามหาเส้นแบ่งระหว่างการเหยียดกับการล้อ

 

แต่การล้อที่มันมาก อาจจะนำไปสู่การเหยียดหรือเปล่า

     อืม เราว่ามันมีสิทธิ์ คือคนอ้วนที่ถูกล้อมากๆ ถ้าเกิดว่าเขารู้สึก วันหนึ่งมันจะคล้ายกับการเหยียดเหมือนกัน การล้อมันมีความหลากหลายอยู่ในนั้นจริงๆ ถ้ามองแบบนี้ก็เห็นด้วยเหมือนกัน บางทีมันกลายเป็นการเหยียดได้ ล้อพ่อ ล้อแม่ ล้อว่าอ้วน เอาเป็นว่าเราจะไม่ defend เรื่องล้อก็แล้วกัน แต่ว่าวิธีล้อแบบเราจะไม่พยายามเหยียดใคร ก็จริงนะ ความหลากหลายของการล้อมันทำให้เกิดการเหยียดได้จริงๆ แหละ

 

กตัญญู สว่างศรี

 

ในมุมหนึ่งของการล้อเลียน นอกจากจะสะท้อนการไม่เห็นด้วยของเรากับสิ่งนั้นแล้ว มันหมายถึงการที่เราอิจฉาหรือหมั่นไส้สิ่งนั้นได้ด้วยหรือเปล่า

     มีส่วนในบางเรื่อง เราว่ามันไม่ใช่เหตุผลนะ มันเป็นอารมณ์ พวกอิจฉาหรือหมั่นไส้ เพราะเรารู้สึกหมั่นไส้เราเลยทำสิ่งนี้ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองอาจจะมีก็ได้ คือบางครั้งเราก็รู้สึกว่าเรามักจะมองตัวเองเป็นคนดีเสมอ แต่ลึกๆ ข้างในมันก็จะมีก้อนความรู้สึกแบบนี้ซ่อนอยู่ในบางสิ่งบางอย่าง แล้วบางทีมันดึงคนประเภทเดียวกันเข้ามาด้วย เช่น เราหมั่นไส้คนนี้ คือการที่เรารู้สึกไม่ชอบ เกลียด หมั่นไส้ในคนคนเดียวกัน มันทำให้เราแน่นแฟ้นกันมากขึ้นในบางครั้งนะ

 

สังคมเราเป็นสังคมที่ชอบการล้อมาก เมื่อก่อนก็มีรายการล้อเลียน หรือยุคนี้ที่เป็นยุคโซเชียลฯ ก็มีเพจล้อเลียนเต็มไปหมด คุณเคยวิเคราะห์ไหมว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมเราถึงชอบการล้อ

     เราว่าที่ไหนก็ชอบนะ เพราะการล้อ การแซว มันสนุก มันตลก มันฮาไง แล้วอีกอย่างคือมันได้ชัยชนะบางอย่าง การล้อมันจะมีเหยื่อ มีผู้แพ้อยู่แล้ว เวลาเราได้ดูเราจะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ชนะบางอย่าง เหมือนเราดูตลกแล้วมีคนลื่นล้มแล้วเราหัวเราะอะไรแบบนั้น มันเป็นชัยชนะของคนดู สังคมเราล้อพ่อล้อแม่กันมาตั้งแต่เด็ก เราเรียกชื่อพ่อเป็นชื่อเพื่อนด้วยซ้ำ ก็คุ้นเคยกันแหละ แล้วมันก็ขยับเลเวลขึ้นเรื่อยๆ พอมาอยู่ในโลกโซเชียลฯ แล้วมันก็มีการพัฒนา ซึ่งก็โหดขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งด้านดีด้านร้าย

 

ถ้ามองในมุมหนึ่งมันหมายถึงคุณภาพชีวิตหรือสังคมเราไม่ดีหรือเปล่า ถึงได้มีการล้อเลียน เสียดสีอะไรบางอย่างในสังคมอยู่ตลอดเวลา

     คือส่วนหนึ่งคุณภาพชีวิตของเรามันไม่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาหน่วยวัดอะไรใดๆ เลย (หัวเราะ) คุณภาพชีวิตเราห่วยแตกอยู่แล้ว เมื่อวานรถติดฉิบหาย กว่าจะถึงบ้านลำบากน่าดู ฝนตก ถนนแย่ อะไรแบบนั้น แต่ว่าการล้อคือการปลดปล่อยทางหนึ่ง คือมันใช้ในทางที่ดีและร้าย อย่างเช่นการเหยียดได้อย่างที่บอก แต่ว่าบางครั้งมันก็ใช้ในการปลดปล่อยความรู้สึกบางอย่างออกมาในทางอ้อมๆ เวลาโมโหแทนที่เราจะด่าก็ไปล้อแทน ดังนั้น เราคิดว่าการล้อที่มันเยอะในสังคมบ้านเราส่วนหนึ่งมันคือการปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้น ความรู้สึกโกรธเกรี้ยว ความรู้สึกไม่พอใจ แต่เราก็ไม่อยากจะปล่อยความรู้สึกแย่ๆ ออกมาให้ตัวเองหรือคนอื่นรู้สึกไม่ดี บางคนก็เลยเลือกการล้อ แล้วก็สนุก ก็เอนจอยไปกับมัน

     จริงๆ แล้วเรื่องคอเมดี้มันก็มีที่มาเกี่ยวข้องกับสุขนาฏกรรมนะ คือความสุขจากความฉิบหายวายป่วงอะไรต่างๆ เราก็จะเห็นว่าเรื่องตลก เรื่องสนุก มันก็มีความฉิบหายผสมอยู่เสมอ เหมือนคนทั่วๆ ไป เวลาที่เราเจอเหตุการณ์หนักๆ ร้ายๆ แย่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ผ่านเวลาไป แล้วมองย้อนกลับไป มันจะเป็นเรื่องตลกเสมอ

 

ฟังดูย้อนแย้ง ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ดี แต่เรากลับรู้สึกตลกกับมันได้ แสดงว่าจริงๆ แล้วคอเมดี้เป็นรูปแบบการมองโลกในแง่ดีใช่ไหม

     มันเป็นการนำเสนอมุมมองที่มันสนุก คือเราจะมองโลกในแง่ดีหรือร้ายก็ได้ แต่ว่าเราจะนำเสนอยังไง เราจะคิดกับมุมนี้ยังไงว่ามันพูดแบบนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรานึกถึงคนอ้วนที่ชอบกินขนมอร่อยๆ หรือไปต่อแถวซื้อโดนัทคริสปี้ครีม เราคิดว่าเขามีความสุขไหม (มี) แต่ในความจริง ‘เชี่ย กูมาต่อแถวอีกแล้ว กูไม่อยากกิน ทำไมกูต้องมาต่อแถววะเนี่ย’ นี่คือมองโลกในแง่ร้าย แต่แม่งตลก คือมันไม่ได้อยากกิน แต่มันติดไง มันก็เลยหลวมตัวมากินเอง หรืออย่างคนเลิกกัน เวลาเราบอกคนอื่นว่าเราเลิกกับแฟน ‘เฮ้ย ไม่ต้องเสียใจ กูตัดสินใจแล้วไง มึงต้องเอนจอย แฮปปี้กับกูสิ กูตัดสินใจแล้ว กูเลือกทางที่ถูกต้อง ถ้ายังแฮปปี้กูจะอยู่กัน แต่อันนี้กูไม่แฮปปี้กูเลยแยกกัน ซึ่งมันโอเค มึงต้องดีใจกับกู’ อะไรแบบนี้ อันนี้เป็นมุมที่เรามองกับบางเรื่อง ซึ่งบางทีมันก็ดี บางทีมันก็ร้าย ไอ้คำว่าดีกับร้ายมันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะมองแต่ละเรื่องนั้นดีหรือร้ายยังไงด้วย

     เพราะฉะนั้นเราคิดว่าการล้อหรือการเล่นตลกคอเมดี้ มันคือการนำเสนอมุมมองออกมาจากทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย ซึ่งแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน แต่ว่าเหลี่ยมมุมเหล่านั้นแหละมันช่วยให้เกิดความสนุกขึ้นมาได้ แต่มันไม่ได้เลือกว่าอยู่ข้างไหนแค่นั้นเอง

 

กตัญญู สว่างศรี

 

สงสัยอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่เรามักเอามาล้อคือความเป็นจริงที่ค่อนข้างเลวร้ายในสังคม และเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตในระดับโครงสร้างของเรา แต่พอเอามาล้อ สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นแค่เรื่องตลกโปกฮา และไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

     คือจริงๆ แล้ว มันไม่ได้หมายความว่าเรื่องตลกหรือการล้อจะไปขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในทางตรง แต่ในทางอ้อม การเอามาทำเป็นเรื่องตลก มันคือการที่ทำให้สิ่งที่เลวร้ายนั้นถูกกางออกมาให้คนเห็น ถ้ามันไม่ถูกพูดถึงในทางใดทางหนึ่งเลย มันจะหายไป แต่เมื่อมันถูกพูดถึงทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะหัวเราะ โกรธเกรี้ยว หรือมีความสุข มันเหมือนกับเราเอาความเลวร้ายต่างๆ ออกมากอง มันไม่ใช่หน้าที่ของคนที่ล้อที่จะไปจัดการ สุดท้ายแล้วกระบวนการของมันก็แล้วแต่ว่ามันจะถูกจัดการแบบไหน ซึ่งอย่างน้อยที่สุด มันเหมือนกับเรามีสิ่งที่ซุกอยู่ใต้โต๊ะ การล้อ การด่ากัน มันก็คือการหยิบขึ้นมากอง มองเห็น แล้วจะเอายังไงกับมัน

 

ในการทำสแตนอัพคอเมดี้ของคุณนอกจากความสนุก คุณคาดหวังอะไรที่มากไปกว่านั้นไหม

     ถ้า ณ ตอนนี้ขอเอาฮาอย่างเดียวก่อน (หัวเราะ) อย่างอื่นยังไม่ได้คาดหวัง เรื่องอื่นมันก็จะไปอยู่ในเรื่อง ในบทที่เราจะพูดเอง แต่ว่าโดยตัวมันเลย คืออยากให้มาดูแล้วมีความสุข มาดูแล้วแฮปปี้ มาดูแล้วอยากมาดูอีก อันนี้คือสิ่งที่คาดหวัง

 


FYI

A KATANYU : LOVE SO HARD รักยากสัส

สถานที่แสดง: โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน

วันแสดง: เสาร์ 22 กันยายน 2561 เวลา 19.00 น. / อาทิตย์ 23 กันยายน 2561 เวลา 19.00 น.

จำหน่ายบัตรที่: ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ราคา 1,000 / 800 / 500 และ 300 บาท

Facebook: A Katanyu