นอกจากคำโอดครวญว่า “ไม่มีอะไรจะใส่เลย” ทั้งๆ ที่มีเสื้อผ้าอยู่เต็มตู้ อีกเรื่องคงหนีไม่พ้นคำตัดพ้อที่ว่า “ใส่อะไรก็ไม่มั่นใจเลย” ปัญหาระดับชาติของผู้หญิง ซึ่งเราเป็นหนึ่งในผู้หญิงเหล่านั้นที่มีปัญหาเรื่องความมั่นใจในการใส่เสื้อผ้า เพราะเป็นสาวที่มีทั้งอก เอว สะโพกใหญ่ ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่ามีของดีนี่นา ดูเป็นผู้หญิงเซ็กซี่ เป็น คิม คาร์ดาเชียน แต่ถ้าเราไม่สูงหรือมีไขมันส่วนเกินมาเยอะ รูปร่างไม่ไม่กระชับแล้วล่ะก็ การเป็น คิม คาร์ดาเชียน นั้นก็ไกลเกินฝันเหมือนกัน
เราอธิบายความไม่มั่นใจของตัวเองให้ ‘พี่เกด’ – ฐาดิณี รัชชระเสวี ฟัง นั่นทำให้อดีตบรรณาธิการแฟชั่น นิตยสาร มารี แคลร์ ซึ่งตอนนี้เธอผันตัวมาเป็น Personal Stylist หรือที่ปรึกษาด้านการแต่งตัว เอียงคอเล็กน้อย แล้วไล่สายตามองรูปร่างเราอย่างเร็วๆ ก่อนจะให้คำแนะนำเราด้วยความเอ็นดูว่า
“น้องเป็นคนที่มีหุ่นนาฬิกาทราย คือมีทั้ง อก เอว สะโพก ทีนี้ปัญหาของคนที่มีหน้าอกมักจะใส่เสื้อหลวม และไม่กล้าใส่เสื้อเข้าเอว เพราะกลัวว่าจะไปเน้นที่หน้าอก แต่ประเด็นก็คือยิ่งใส่เสื้อหลวมแล้วยิ่งปิดเอวเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูตันเพราะว่าเราปิดส่วนที่เด่นของเราไปแล้ว ส่วนการไม่เน้นหน้าอกทำอย่างไร ก็คือห้ามใส่เสื้อรัดแค่นั้นเอง”
เราพยักหน้าเล็กน้อยเพื่อส่งสัญญาณว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอแนะนำมา การที่เธอพูดถึง ‘การเสริมจุดเด่น อำพรางจุดด้อย’ คือหนึ่งในเคล็ดลับง่ายๆ ที่ใช้แก้ไขปัญหาความไม่มั่นใจในหลายๆ อย่าง
แต่คำถามคือ ในเมื่อคนเรามีมีรูปร่างที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ละคนต้องแต่งตัวแบบไหนที่จะทำให้ ‘การเสริมจุดเด่น อำพรางจุดด้อย’ ได้ คงต้องฟังจากที่ปรึกษาด้านการแต่งตัวคนนี้แล้วล่ะ เพราผู้หญิงหลายคนมักจะมีปัญหากับการใส่เสื้อผ้า บางคนหาสไตล์ของตัวเองไม่เจอ ดังนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรแต่งตัวแบบไหนถึงจะดูดี และมีความมั่นใจ
“ต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า ‘สไตล์’ มาจากคำว่า Lifestyle แปลตรงตัวก็คือการใช้ชีวิต หมายความว่า สไตล์เป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากทั้งประสบการณ์ ความชอบที่หลอมรวมกันกลายเป็นตัวตนของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าคนเราต้องตามหาสไตล์ของตัวเองไหม จริงๆ แล้วไม่ต้องไปหาเลย เพราะทุกสไตล์รวมกันอยู่ในตู้เสื้อผ้าของเราแล้ว”
เธอกล่าวพร้อมเตรียมบอกวิธีการจัดการวิธีคิดเสียใหม่ในการปรับปรุงสไตล์ของตัวเราทีละขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1: กฎแห่งกระจกเงา
“พื้นฐานเลยต้องกลับมาดูก่อนว่า เรามีสมบัติอะไรในตู้เสื้อผ้าบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เวลาพี่ทำเวิร์กช็อปก็จะให้คนที่มาร่วมเวิร์กช็อปด้วยกันกลับไปแบ่งเสื้อผ้าในตู้ให้เป็น 3 กองคือ กองที่หนึ่ง เรามีเสื้อผ้าแบบไหนเยอะที่สุดนั่นคือกองที่เวลาเราเลือกมาใส่แล้วรู้สึกว่า ‘ฉันใส่ตัวนี้ทีไรก็รู้สึกสบายใจทุกทีเลย’ เช่น พี่มีเสื้อสีขาวเยอะมากเพราะรู้สึกว่าใส่ง่าย และใส่กับอะไรก็ได้ กองที่สอง เสื้อผ้าแบบไหนที่เราใส่บ่อยที่สุดนั่นคือเสื้อผ้าที่หยิบออกมาใส่ทีไรก็มั่นใจสุดๆ ใส่ถ่ายรูปแล้วฉันโดดเด่นมาก และกองสุดท้าย เสื้อผ้าที่ไม่ค่อยได้ใส่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าที่ซื้อตอนลดราคา หรือคนอื่นซื้อให้บ้าง เป็นต้น
“พอแยกเป็นประเภทแบบนี้เราก็จะเห็นภาพรวมแล้วว่าตู้เสื้อเรามีเสื้อผ้าประเภทไหนบ้าง แล้วทีนี้สไตล์ที่เราต้องการคืออะไร ให้กลับมาถามตัวเองเลยว่าถ้าเกิดเราเดินออกจากบ้านมา คนข้างนอกจะเห็นเราแบบไหน ซึ่งช่วงนี้พี่จะให้คนที่มาร่วมเวิร์กช็อปจับคู่กัน แล้วแต่ละคู่ก็สะท้อนให้กันและกันว่าเห็นอะไรในตัวอีกคน วิธีนี้เรียกว่า ‘Mirror Mirror’ หรือกฎแห่งกระจกเงา ดังนั้น สมมติว่าถ้าเราเดินออกมาด้วยความไม่มั่นใจ คนข้างนอกเขาก็จะรู้ตั้งแต่ก้าวแรกที่คนนี้เดินก้าวมาเลยว่าคนนี้ไม่มีความมั่นใจ
“ดังนั้น ต้องจำกัดความในหัวเราก่อนว่า สไตล์ที่เราต้องการคืออะไรแล้วเราก็ไปเลือกเสื้อผ้าที่นำเสนอสไตล์นั้นด้วยตัวเราเอง สมมติพี่กำหนดว่าฉันจะเป็นคน ‘สวย เก่ง ฉลาด’ เราก็ต้องหาเสื้อผ้าที่สะท้อนถึงผู้หญิงที่สวย เก่ง และฉลาด”
ขั้นตอนที่ 2: How to Find Your Personal Style
แต่หากเรากำหนดแล้วว่าฉันอยากเป็นคนสบายๆ แต่ก็จะมีคนที่มีปัญหากับเรา มาตินั่น เสริมนี่อยู่ตลอดเวลา กลายเป็นว่าเรารู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมา แบบนี้จะจัดการอย่างไร
“ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คำที่เรากำหนดอย่างที่น้องบอกว่า ‘สบาย ชิล’ เชื่อมโยงกับการแต่งตัวของน้อง ต่อให้คนอื่นมาคอมเมนต์ แต่ถ้าเรามั่นใจว่านี่คือบุคลิกภาพที่เราเลือกแล้วเราก็จะสั่นคลอนน้อยลง ส่วนสาเหตุที่หลายคนสั่นคลอนหรือไม่มั่นใจมากๆ เวลาที่โดนแซวเพราะว่าเขายังไม่ได้กำหนดสไตล์เอาไว้ว่าวันนี้จะแต่งตัวแบบไหน”
ถ้าอย่างนั้นคนเรามีสไตล์การแต่งตัวที่ตายตัวไหมเรารีบถามต่อทันที พี่เกดมองเราด้วยสายตาเอ็นดู ต่างจากภาพในหัวที่เราเคยคิดว่าเธอต้องเป็นคนดุๆ ฟาดๆ แบบ มิแรนดา พริสลีย์ ในหนังเรื่อง Devil Wears Prada อย่างสิ้นเชิง
“เรื่องของ Personal Style เวลาเราสอนจะมีประมาณ 6 สไตล์ที่สามารถบ่งบอกคาแรกเตอร์ของเรา ได้แก่ Dramatic Style เราสามารถสังเกตได้จากตู้เสื้อผ้าเขา ถ้าเปิดไปแล้วเห็นสีแดง โบว์ใหญ่ไฟกระพริบ เห็นขนนกต่างๆ ซึ่งคนประเภทนี้จะไม่ได้เยอะแค่เสื้อผ้านะ แต่จะเยอะทุกสิ่งทั้งลักษณะนิสัยกว่าเขาจะ หยิบโน้ตบุ๊กขึ้นมา โน้ตบุ๊กต้องติดดอกไม้เต็มไปหมด ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด อย่าง ชมพู่ อารยา เขาก็จะแต่งตัวเยอะ ห้องที่เขาจะคลอดก็ตกแต่งเยอะ ทุกอย่างคือความเยอะไปหมด
“ต่อมาคือ Sportive Style จะเป็นคนที่ชอบผจญภัย เพราะฉะนั้น เขาจะใส่เสื้อผ้าที่พร้อมกระโจนออกไปข้างนอกคือใส่เป็นกางเกงแบบ formal ที่มีลายตาราง ลายพราง ส่วนคนที่ใส่เสื้อผ้าแบบ Traditional Style คือคนที่เวลาครูสั่งการบ้านเขาจะเป็นคนแรกที่ส่ง ดังนั้น เขาจะไม่ใส่เสื้อยืดขาด กางเกงขาดอย่างแน่นอน แต่เขาจะใส่เสื้อเชิ้ต หรือชุดสูท เพราะว่าเขาเป็นคนเป๊ะ
“ถ้าคนที่ใส่เสื้อผ้า Elegant Style เราก็จะนึกถึงผู้หญิงแบบดัชเชสที่สวยสง่า ข้างในจะเป็นอย่างไรไม่รู้ บราอาจจะขาดก็ได้นะ (หัวเราะ) แต่เป็นคนที่เน้นภาพลักษณ์ ส่วนคนประเภท Romantic Style คนประเภทนี้จะก็ใช้ความรู้สึกนำ เช่น จะทำงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แต่กว่าจะทำเสร็จต้องจุดเทียน จัดดอกไม้ จิบชา เพราะฉะนั้น เสื้อผ้าเขาจะต้องพลิ้วไหว มีความรื่นรมย์ เลือกเสื้อผ้าตามอารมณ์ และสุดท้ายคือประเภท Casual Style ก็จะเป็นคนที่สบายๆ ชิลๆ เขาก็จะเลือกใส่เสื้อผ้าที่ใส่แล้วสบาย
“ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้สไตล์เราเป็นเอกลักษณ์ เราก็ต้องดูบริบท หรือกาละเทศะ ถ้าสมมุติว่าเราเป็นคน Casual style แต่ในการทำงานก็ต้องดูดีเพราะเราจะกำลังนำเสนอแบรนด์ หรือบริษัทของเราด้วย ดังนั้นเราก็ต้องเลือกเสื้อผ้าบางอย่างที่มีทั้งผสมทั้งความสบาย แต่ยังเป็นทางการได้ด้วย ก็อาจจะใส่เสื้อเบลเซอร์ หรือแจ็คเก็ตสวมทับไปก็ได้ นี่คือการมิกซ์แอนด์แมตช์กัน ซึ่งถ้าเราแต่งแบบนี้บ่อยๆ มันก็จะสร้างสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ พูดง่ายๆ ก็คือถ้านิสัยเป็นอย่างไรเสื้อผ้าที่ใส่ก็จะเป็นอย่างนั้น
“ดังนั้น ให้เรียกว่าการสร้างสไตล์ที่เป็นตัวเองดีกว่า อย่าเรียกว่าหาเลย เราสามารถสร้างสไตล์ของเราเองด้วยการกำหนดบุคลิกภาพที่เราชอบก่อน แล้วมาหาดูว่ามีเสื้อผ้าอะไรที่จะเชื่อมโยงเข้ากับบุคลิกภาพที่กำหนดได้บ้าง”
ขั้นตอนที่ 3: เสริมจุดเด่น อำพรางจุดด้อย
ถึงจะได้คำแนะนำในการหาสไตล์ตัวเองให้เจอได้แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังติดค้างในใจอยู่คือ เราเป็นคนที่ไม่ได้มีรูปร่างตาม beauty standard ก็ยังกังวลอยู่ดีว่าควรจะใส่แบบไหนถึงจะเข้ากับสรีระตัวเอง
“ที่คุณต้องรู้ คือให้ลืมคำว่าอ้วน ผอม สูง ต่ำ ดำ ขาว ไปก่อน แต่ให้พิจารณาที่ ‘รูปร่าง’ (shape) ของตัวเองเป็นอันดับแรก โดยสามารถดูได้จากโครงสร้างของกระดูก กระดูกสะโพกกับกระดูกไหล่กว้างเท่ากันหมดไหม ตรงไหนกว้างกว่าในบาลานซ์ในส่วนที่แคบ เช่น ถ้าเป็นคนไหล่กว้างแปลว่ารูปร่างเราจะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคว่ำ สิ่งที่เราต้องทำคือบาลานซ์ด้านล่างให้กว้างเท่ากับไหล่เพื่อที่จะทำให้สัดส่วนข้างบนกับข้างล่างดูสมดุลกัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็ให้เห็นเส้นเอว เช่น เอาชายเสื้อใส่เข้าไปข้างในกางเกง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รูปร่างเท่ากันอยู่แล้วเราแค่โชว์ให้เห็นเส้นเอวก็พอ
“ไขมันส่วนเกิน เช่น หน้าท้อง ต้นขา ต้นแขน เป็นสิ่งที่หนึ่งเราต้องถามตัวเองว่าถ้าเราอยากมีสัดส่วนที่คล้ายกับดารา นางแบบ ใช่ไหม ถ้าใช่ ก็ต้องพึ่งการออกกำลังกาย เพราะพวกเขาออกกำลังกายกันหนักมาก เพื่อที่จะได้รูปร่างนั้นมา แต่ถ้าไม่ได้แคร์ว่าต้องมีรูปร่างที่เป๊ะขนาดนั้น ก็ต้องรู้ว่าจุดเด่นของเราคืออะไร จุดด้อยเราคืออะไร แล้วเราจะอำพรางจุดด้อยได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็เสริมจุดเด่นให้เด่นขึ้นมาได้อย่างไร
“เวลาคนที่ส่วนใหญ่บอกว่าไม่กล้าแต่งแบบนั้นแบบนี้ เพราะมัวแต่ไปโฟกัสในจุดด้อยที่เราไม่ชอบ สมมติว่าพี่รู้สึกว่าแขนใหญ่จังเลย แล้วพี่ก็พูดว่าแขนใหญ่จังเลยตลอดเวลา ต่อให้เราใส่เสื้อที่ปิดแขน พี่ก็จะยังกังวลอยู่ตลอด แล้วความรู้สึกนี้ก็แผ่ออกไปสู่ผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน แต่กลับกันถ้าพี่เลือกโฟกัสที่จุดเด่นของตัวเอง เช่น จุดเด่นเราคือไหปลาร้า เพราะถ้าเห็นไหปลาร้าแล้วผอมเลย ถ้าอย่างนั้นเราก็ใส่เสื้อที่มันจะโชว์แค่ไหปลาร้า ต่อให้ข้างล่างเราอ้วนมากเลยนะ ก็ไม่เป็นไร ฉันจะโชว์ไหปลาร้า ฉันจะทำตรงนี้ให้มันเด่น ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้างก็เช่น ใส่สร้อยคอดูไหม หรือใส่ต่างหูหรือเปล่า ใส่เสื้อที่มีลายพิมพ์ไหม สิ่งเหล่านี้คือการทำจุดเด่นให้เด่นขึ้น ส่วนจุดด้อยก็ปิดเสียงให้เงียบที่สุด แปลว่าอาจจะเลือกใส่สีดำ ลายผ้าไม่เอะอะ เนื้อผ้าไม่รัด ส่วนจุดเด่นก็ใส่ให้เอะอะที่สุด พูดง่ายๆ คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนเห็นจุดเด่นเรามากที่สุดแค่นั้นเอง”
จากคำแนะนำทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า การจะเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้นได้นั้นต้องเริ่มจากการปรับมายด์เซตของตัวเอง ถ้าเรามีมายด์เซตที่ดีต่อตัวเองไม่ว่าจะใส่อะไรก็ไม่เป็นปัญหาหรือเปล่า ซึ่งพี่เกดก็ยิ้มกว้าง แล้วพยักหน้าอย่างเห็นด้วย
“มีหลายคนที่มีปัญหาในเรื่องการแต่งตัว ไม่อยากถูกตัดสินว่ามีบุคลิกภาพไม่น่าเชื่อถือ อยากเป็นคนแบบนั้นแบบนี้แต่บอกว่าไม่อยากแต่งตัว เพราะไม่ใช่คนที่ชอบแฟชั่น เราเลยต้องอธิบายว่า ข้อที่หนึ่ง การแต่งตัวไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นการนำเสนอตัวเอง ถ้าอินเนอร์ของเราบอกว่าไม่ การแต่งตัวที่อยู่ภายนอกก็ไม่ตามออกมาเช่นกัน ดังนั้น ให้มองว่าการแต่งตัวคือหนึ่งในงานที่เราต้องนำเสนอ ถ้าเราจะให้ลูกค้าซื้องานที่เราพรีเซนต์ตั้งแต่แรก ก็ต้องทำให้ตัวเองน่าสนใจเหมือนงานของเราด้วยสิ หากวันนี้เราภูมิใจในความเท่ ความคูลของตัวเอง เราก็แต่งตัวคูลๆ ซึ่งอาจจะคูลในแบบสบายก็ได้ หรือคูลแบบใส่สูท แต่สิ่งสำคัญคืออินเนอร์เราต้องมาด้วย”
“คนมักจะคิดว่าการแต่งตัวเป็นแค่เรื่องภายนอก แต่ความจริงแล้วการแต่งตัวต้องเกิดจากอินเนอร์ก่อนว่าเรามองตัวเองอย่างไร สมมติว่าเราชอบแต่งตัวรีแล็กซ์ เป็นคนสบายๆ และไม่แคร์อะไรใช่ไหม ซึ่งจะคิดแบบนั้นก็ได้ ถ้าเรายืนหยัดว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไรบางอย่าง ยกตัวอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ที่มีคนถามว่าทำไมที สตีฟ จ็อบส์ ก็ไม่เห็นจะแต่งตัวเลย แต่ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ นั่นเพราะเขามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา แต่ถามว่าเขาแต่งตัวไหม เขาก็แต่งนะ เขาคิดแล้วว่าลุกส์นี้ต้องอ้างอิงถึงใคร แต่ขอถามกลับว่าถ้าน้องบอกว่าชอบความเซอร์ ชอบแต่งตัวสบายๆ น้องคิดมาแล้วและยืนยันว่าเสื้อผ้าชุดนี้อ้างอิงถึงจุดนี้ของน้อง ดังนั้นต่อให้ใครจะพูดอะไรก็ตาม น้องก็จะไม่หวั่นไหวกับคำพูดของคนอื่น เพราะน้องคิดมาอย่างดีแล้ว”
เรารู้สึกมั่นใจขึ้นมาทันทีหลังจากที่คุยกับพี่สาวคนนี้จบ และมั่นใจว่าถ้าคุณอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วเอาสิ่งที่พี่เกดบอกไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง การเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป