ละมุนละไม

Keep In Touch: การสัมผัสและการเชื่อมต่อกับผู้คนคือความหมายที่ยิ่งใหญ่ของแบรนด์ละมุนละไม

จากการเดินทางและการออกไปเห็นโลกกว้าง ทำให้สองศิลปินหนุ่มสาวเจ้าของแบรนด์ละมุนละไม ‘ไหม’ – ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และ ‘หนาม’ – นล เนตรพรหม ค้นพบเทคนิคใหม่จากความคิดที่ตกตะกอนในเทคนิคพื้นฐานดั้งเดิม ต่อยอดสู่กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานจนเกิดเป็น ‘คุณค่า’ ที่ไม่สามารถเปรียบเป็น ‘มูลค่า’ ซึ่งมาจากดินและการสัมผัส จนกลายเป็นที่มาของนิทรรศการที่พวกเขาตั้งใจจัดแสดง เพื่อให้คนไทยได้เห็นคุณค่าจากความพยายามและทุ่มเทของพวกเขาจนสุดหัวใจ

 

ละมุนละไม

ทำไมคุณถึงเลือกตั้งชื่อนิทรรศการแรกของตัวเองว่า Keep In Touch

        ไหม: ในปีที่ผ่านมา เราเดินทางเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ไปอเมริกาในเดือนมิถุนายน เพราะเราได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินพำนัก ณ โรงเรียนออกแบบ Haystack Mountain School of Crafts ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่เราพำนักอยู่ที่นั่น 1 เดือน เราได้รู้จักนักออกแบบมากมาย เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สอดคล้องไปกับการทำอาชีพทางด้านศิลปะ จึงเห็นว่า American crafts เองก็น่าสนใจไม่แพ้งานคราฟต์ที่ไหนเลย ทำให้เราคิดว่าเพราะการเดินทางทำให้โลกของเรากว้างขึ้น เกิดการเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากขึ้น หูตาของเรากว้างไกลขึ้น ด้วยเหตุนี้คำว่า Keep in Touch จึงผุดขึ้นในใจ เป็นคำลงท้ายจดหมายหรืออีเมล เพื่อย้ำว่าเรายังคงติดต่อสื่อสารกันอยู่ ถึงแม้ว่าระยะทางจะไกลกัน แต่เราก็ยังมีเชื่อมต่อกันอยู่เหมือนเดิม เราจึงใช้คำนี้มาเป็นชื่อนิทรรศการ

        หนาม: พวกเรากลับมาประมาณช่วงเดือนสิงหาคม เรานำชิ้นงานที่ทำจาก Haystack กลับมาด้วย จากนั้นในเดือนกันยายน เรานำผลงานไปจัดแสดงต่อในงาน Maison & Objets Paris ประเทศฝรั่งเศส พอกลับมาประเทศไทยช่วงปลายปี เริ่มอยู่ที่สตูดิโอทำออร์เดอร์ลูกค้า ร่ายยาวมาจนถึงช่วงต้นปีนี้ เราไม่ได้ไปไหน เพราะด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และไม่ได้มีแพลนการจัดแสดงที่ไหนอยู่แล้ว พอดีทางสยามพิวรรธน์ ซึ่งเคยเห็นผลงานของเรามาบ้าง ได้ชวนให้ละมุนละไมมาร่วมจัดแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าที่ร้าน ODS ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

ศิลปะการปั้นเซรามิกสามารถเชื่อมต่อและสัมผัสกับผู้คนได้อย่างไร

        ไหม: เริ่มจากเชื่อมต่อกับผู้ปั้นอย่างเราได้โดยตรง ส่งมาจากความคิด ผ่านลงไปที่นิ้วมือ สู่ดินที่อยู่เบื้องหน้า งานเซรามิกจึงมีการสัมผัสกันตลอดเวลา เพื่อให้เกิดรูปทรงต่างๆ ตามที่เราออกแบบไว้ ระหว่างนั้นเราใส่ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ลงไป โดยหวังว่า เมื่อถึงปลายทางที่เป็นผู้รับ เขาจะรับรู้ และตรงนั้นเองคือการเชื่อมต่อผู้คนและงานเซรามิกเข้าด้วยกัน

เทคนิคใหม่ๆ จนไปเข้าตาชาวปารีสที่คุณว่าเป็นอย่างไร 

        ไหม: ที่อเมริกาเขาเรียกเทคนิคนี้ว่า Pinching Technique ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นฐานในการขึ้นรูปดินโดยอาศัยการสัมผัสจากมือเท่านั้น ปราศจากการใช้อุปกรณ์อื่นๆ แม้จะเป็นเทคนิคพื้นฐาน แต่แท้จริงแล้วในกระบวนการมีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมาย จนทำให้เราค้นพบความหมายจากเชื่อมต่อและสัมผัส จนเราหลงรักดินขึ้นมาอีกครั้ง

ธุรกิจกับศิลปะ สองอย่างนี้อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนได้ด้วยวิธีไหน

        หนาม: อย่างงาน custom ต่างๆ ที่ทำให้กับรีสอร์ต โรงแรม หรือร้านอาหาร เราต้องทำ service design ทุกอย่าง ตั้งแต่ปรีฟงาน คุยรายละเอียด ส่งสเก็ตช์ ทดลองงาน และส่งงานของจริงเป็นลำดับสุดท้าย ระหว่างนั้นจะต้องมีชิ้นทดลอง บางครั้งเป็นมาสเตอร์พีซ หรือบางชิ้นกลับมีเรื่องราวก่อนที่จะได้เป็นรูปร่าง ทำให้ระหว่างทางเราได้ทำงานเพื่อลูกค้าและเพื่อตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งเมื่อเราค้นพบเทคนิคใหม่ๆ เราจะลองทำก่อน และชิ้นนั้นก็เป็นชิ้นที่เราเก็บไว้ไม่ได้ขาย ทั้งหมดก็เพื่อเป็นเหมือนลำดับขั้นของชีวิต และตั้งแต่เราเริ่มทำแบรนด์มาเมื่อ 5 ปีก่อน เราเก็บชิ้นงานแบบนี้ไว้ทุกคอลเลกชัน 

 

ละมุนละไม

แสดงว่าสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ พวกคุณอาจมีงานมาสเตอร์พีซที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเก็บไว้อีกชิ้น 

        ไหม: ไม่แน่… แต่ที่แน่ๆ คือเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เห็นสิ่งดีๆ เหมือนกัน อย่างแรกคือ เรารู้สึกว่าโชคดีที่เลือกเปิดนิทรรศการช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งยังไม่พีกเท่าสถานการณ์ในวันนี้ (19 มีนาคม 2020) ถ้าเกิดเราเลื่อนไปอีก 2-3 สัปดาห์ นิทรรศการนี้ก็คงไม่ได้เกิดขึ้น ถึงตอนนั้นผู้คนคงจะออกจากบ้านไม่ได้ อย่างที่สองคือลูกค้าประจำสั่งซื้อจากออนไลน์มากขึ้นแทน สิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านจริงจังก็ได้ ลูกค้าสามารถเข้าถึงและยินดีที่จะซื้อเหมือนเดิม และสาม เรารู้สึกว่าท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ โชคดีที่ยังมีงานให้ทำ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้การเดินทาง การออกมาเจอผู้คน การทักทายและสัมผัสกันอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

        ไหม: รู้สึกน่าหดหู่อยู่เหมือนกัน ทุกอย่างคล้ายจะหยุดนิ่ง ทั้งๆ ที่มนุษย์ต่างต้องการเชื่อมต่อกันและกันเสมอ และทางที่ดีที่สุดก็คือการพบเจอหน้าแบบตัวต่อตัวกับคนอื่น กิจวัตรแบบนี้ต้องหยุดไว้ก่อน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ท่ามกลางความหดหู่และเงียบเหงา เรายังมีโลกเสมือน นั่นก็คือโลกออนไลน์ พวกเราสามารถติดต่อกับคนอื่นๆ ได้เหมือนเดิม ส่วนในแง่ของการทำงาน ต่อให้เราไม่ได้เดินทาง ไม่ได้ไปจัดแสดงงานที่ไหน แต่งานของเราส่วนใหญ่คือการ Work From Home อยู่แล้ว พวกเราคิดและปั้นเซรามิกกันในสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเอง ดีเสียอีกที่ในสถานการณ์นี้เรายังมีงานให้ทำอยู่ และยังได้โฟกัสกับสิ่งตรงหน้าให้ดีที่สุด

        หนาม: เราเข้าใจในสถานการณ์ตอนนี้ เราอาจจะออกมาเจอกันไม่ได้ ไม่มีการจัดงานอีเวนต์ ทั้งๆ ที่เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีเวนต์เยอะ เอาเข้าจริงกลายเป็นว่า ลูกค้าก็ยังคงรักเรา และเลือกซื้อแบบออนไลน์ นี่คงเป็นรูปแบบหนึ่งของการสัมผัส สื่อกันถึงได้ทางอากาศ รับรู้ได้ด้วยหัวใจ ซึ่งระหว่างนั้นเราก็จะก่อดินปั้นเป็นชิ้นงานให้ดีที่สุด ด้วยการใส่ความรู้สึกลงไป โดยหวังว่าคนที่ได้รับผลงานของเราจะรับรู้ว่า ใจจริงพวกเราก็อยากเจอพวกคุณจะแย่แล้วนะ ขอให้ชิ้นงานเป็นเสมือนตัวแทนของการพบเจอกัน จนกว่าเราจะได้พบกันใหม่

        ไหม: หากมองในอีกมุมหนึ่งของการไม่ได้สัมผัส แต่จริงๆ ทุกคนก็ยังคงสัมผัสอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการสัมผัสอุปกรณ์การกิน ชุดอาหารที่แต่ละคนเคยเลือกซื้อเอาไว้ จาน ชาม ช้อนส้อมใบโปรด หากไม่ได้เอาไปตั้งโชว์ ก็ต้องนำมาใช้เพื่อส่งเสริมให้มื้ออาหารนั้นๆ เต็มไปด้วยความรื่นรมย์ได้ ต่อให้โลกภายนอกโหดร้ายหรือน่ากลัว ชุดจานชามก็อาจเป็นสิ่งเล็กๆ ในใจ ที่จะเติมความชุ่มฉ่ำให้กับหัวใจของตัวเอง

        หนาม: ใช่ ต่อให้ไม่ได้สัมผัสกันโดยตรง แต่เราจะกลับมาสัมผัสหัวใจตัวเองและครอบครัว ไม่แน่ว่าของแต่ละชิ้นจากแบรนด์เรา อาจเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะท่ามกลางการเก็บตัว อย่างน้อยเราก็ได้อยู่พร้อมหน้า ในขณะเดียวกันเราทุกคนในบ้านก็มีช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองจริงๆ ได้คิด ไตร่ตรอง ทบทวนตัวเองและโฟกัสงาน หรือสิ่งที่ตัวเองรักตรงหน้ามากขึ้น 

 

ละมุนละไม

แต่หลายคนกลับมองไม่เห็นหรือคาดไม่ถึงว่า ในวิกฤตนั้นเรายังมีสิ่งเล็กๆ ที่คอยโอบกอดตัวเราและคนรอบข้าง ไม่ให้ใจพังไปกับข่าวสารตรงหน้า

        ไหม: เรารู้ว่าข้างนอกน่ากลัว แต่ไม่ได้ทำให้พวกเรารู้สึกหวาดกลัวต่อสถานการณ์จนไม่สามารถทำงานได้เลย เรามองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการมีสติและรับข่าวสารอย่างเหมาะสม อาศัยช่วงนี้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เฝ้าทบทวนความคิดของตัวเองให้มากขึ้น คิดไตร่ตรอง หรือสะสางปัญหาที่ยังแก้ไม่จบ ที่สำคัญช่วงนี้ต่างหากที่เราจะมีโอกาสได้อยู่กับครอบครัว คนที่เรารัก ทำให้ชิดใกล้กันมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ไม่มีใครรู้ว่า COVID-19 จะจากเราไปเมื่อไหร่ แต่หากวันที่ทุกอย่างจบลงอย่างถาวร พวกคุณคิดว่าคำว่า touch จะมีความหมายกับผู้คนมากขึ้นหรือเปล่า

        หนาม: ทุกคนคงคิดถึงการสัมผัสจริงๆ เราคิดถึงการเจอเพื่อนแล้วได้นั่งข้างๆ กันโดยไม่ต้องระแวง พูดคุยสื่อสารกันได้เหมือนเดิม หลังจากเหตุการณ์นี้ เราเชื่อว่า คนจะเห็นคุณค่าของการเข้าหากันมากขึ้นกว่าเดิมมากๆ ได้เห็นคุณค่าของการทำงาน หลังจากที่ Work From Home หรือหลายคนต้องพักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลานาน อาจทำให้รู้สึกว่าอยากกลับไปทำงานและทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เห็นคุณค่าของการมีชีวิต เห็นคุณค่าของการมีเพื่อนและครอบครัว รวมทั้งสิ่งอื่นๆ จากที่เคยมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ ก็อาจจะให้ค่าและความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมจากเดิมทีที่เราได้ละเลยหรือไม่เคยเห็นความสำคัญมาก่อน