ขอนแก่นโมเดล

ขอนแก่นโมเดล | รัฐบาลชุดใหม่ต้องทลายข้อจำกัดในการพัฒนาเมือง และให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ทำไมกรุงเทพฯ ถึงต้องเป็นเมืองที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่เดียว?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และที่สำคัญคือแหล่งงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองใหญ่ที่ผู้คนจากต่างถิ่นละทิ้งบ้านเกิดแล้วทยอยเข้ามาแสวงหาโอกาส ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้กรุงเทพฯ เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะเรื่องการจราจรที่แออัด ปัญหาคนยากจน คนไร้บ้าน ความเหลื่อมล้ำ และการกระจายอำนาจที่ไม่ทั่วถึง คำถามเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงประเด็นเรื่องการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ที่ทำให้ความเจริญล้วนกระจุกอยู่ในที่ที่เดียว และเป็นกับดักของการพัฒนาเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย

     ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ มาตลอด อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ขอนแก่นโมเดลคือ ต้นแบบการพัฒนาเมืองจากการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัดที่จัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จับมือกับเทศบาล และภาคประชาชน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองระดับภูมิภาคที่เกิดจากภาคเอกชนและประชาชนในการลงทุนบริหารจัดการด้วยตนเองจากขนส่งมวลชนไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ตซิตีในอนาคต โดยเฉพาะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ที่สร้างความฮือฮาในสังคมเมื่อช่วงที่ผ่านมา

     เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ศุภกร ศิริสุนทร ครีเอทีฟและที่ปรึกษาโครงการ KhonKaen Smart City และ Co-organizer TEDxKhonKaen เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ ความหวัง รวมไปถึงเบื้องหลังที่มาของโครงการที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วรากของปัญหาที่มาจากการบริหารงานในโครงสร้างใหญ่ระดับประเทศคือสิ่งผลักดันการลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองด้วยตนเองของภาคประชาชน เพราะนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เมืองต่างๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เดินหน้าพัฒนาได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากทุกการตัดสินใจจำเป็นต้องรออำนาจและการอนุมัติต่างๆ เช่น เรื่องงบประมาณจากภาครัฐส่วนกลางที่มีความล่าช้า และแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องเข้ามาจัดการ

     ‘การกระจายอำนาจน่าจะเป็นความหวัง หรือเป็นทางออกของประเทศนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไปนะ กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าสิบยี่สิบสาย ก็อาจไม่ได้ช่วยให้กรุงเทพฯ หายรถติดด้วยซ้ำ แต่ว่าทำอย่างไรให้โอกาสมันไม่ได้อยู่แค่กรุงเทพฯ ทำอย่างไรให้โอกาสอยู่ในทุกที่ของเมืองไทย ทำอย่างไรให้คนทุกคนสามารถดำรงชีพอยู่ในบ้านตัวเองได้ มีความสุขด้วย มีความมั่นคงด้วย’

     หากวันหนึ่งขอนแก่นโมเดลสำเร็จเป็นรูปธรรม น่าสนใจว่ามันจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่เมืองอื่นๆ หรือภาครัฐให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยขนาดไหน

 

ขอนแก่นโมเดล

 

ไม่กี่ปีมานี้เราได้ยินคำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองด้วยตัวเองจากภาคเอกชนและประชาชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

     ต้องอธิบายย้อนกลับไปว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยและคนไทย คำถามคือ ทำไมกรุงเทพฯ ถึงเป็นเมืองที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่เดียว ในขณะเดียวกัน เมืองที่รองลงไปจากกรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้มีเมืองไหนที่เจริญหรือพัฒนาได้ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เลย และมีความต่างค่อนข้างเยอะ

     ดูง่ายๆ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของทุกอย่างทั้งในเรื่องขนส่งสาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล การที่ประเทศเราใช้ฟังก์ชันแบบรวมอำนาจ (centralize) ขนาดนี้ หรือการที่ที่ใดที่หนึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือโอกาสก็จะอยู่เฉพาะที่นั่นที่เดียว เลยทำให้คนไทยที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ต้องเข้ามาแสวงหาบางอย่างในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นมาเรียนหรือมาทำงาน สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหามากมาย เช่น รถติด เป็นต้น ทำให้เวลาเมืองต้องการจะพัฒนาอะไรขึ้นมาเองก็ไม่สามารถทำได้ คล้ายกับเป็นชุดความคิดว่าถ้าเป็นต่างจังหวัดแล้วจะมีสนามบินก็ต้องขออนุมัติจากส่วนกลาง ถ้าต่างจังหวัดจะมีโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็ต้องรอว่าส่วนกลางมีความคิดริเริ่มให้ทำหรืออยากให้เกิดขึ้นไหม เหมือนกับว่าเราก็ต้องรอการจัดสรรงบ หรืออะไรบางอย่างมาเท่านั้น เราถึงจะได้มีโครงสร้างพื้นฐาน นี่คือเป็นภาพใหญ่ของประเทศไทย

     ทีนี้ทางขอนแก่นก็เลยเกิดไอเดียที่ว่า เราก็อยากพัฒนาขอนแก่นด้วยตัวของขอนแก่นเองโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง มีอะไรบ้างที่เราจะทำเองได้ เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ขอนแก่นโมเดล

 

ในอดีตขอนแก่นเองเคยมีความพยายามจะพัฒนาในรูปแบบนี้มาก่อนบ้างไหม

     จริงๆ แล้วขอนแก่นก็ถูกพัฒนามาหลายยุคนะ ถ้าย้อนกลับไปประมาณปี พ.ศ. 2500 เป็นช่วงที่ขอนแก่นบูมมาก ยุคนั้นเรามีโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ อย่าง เราถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางในยุคนั้น ทำให้คนที่อยู่รอบๆ ย้ายเข้าไปหาโอกาสในขอนแก่นเหมือนกัน แล้วก็เกิดปัญหา เช่น มีคนจน มีสลัม ซึ่งปัญหาเหล่านั้นก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน คล้ายๆ กับกรุงเทพฯ ทุกวันนี้

     เราเคยคุยกับ อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ก่อตั้งของ Khon Kaen Think Tank หรือบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่เป็นกลุ่มหลักในการพัฒนาโครงการขอนแก่นโมเดล ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า คอนเซ็ปต์เรื่องขอนแก่นพัฒนาเมืองถูกคิดมาประมาณ 11 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะมาก่อร่างสร้างตัวเป็นตัวเป็นตนในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี่เอง

 

ทำไมใช้เวลานานถึง 11 ปีในการก่อร่างสร้างตัว

     ก็ต้องใช้เวลาที่เหมาะสม หมายความว่า ไม่ใช่แค่อยากทำแล้วก็ทำได้เลย ยังต้องรอทั้งเรื่องของบ้านเมืองเป็นอย่างไร สังคมเป็นอย่างไร หรือความพร้อมหลายๆ อย่าง แต่เรามีคอนเซ็ปต์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น แล้วในที่สุดเขาก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่เกิดขึ้นโดยนายทุน ซึ่งก็คือนักธุรกิจในขอนแก่นที่เป็นคนท้องถิ่นมารวมตัวกันแล้วคุยว่าเราทำอะไรกันไหม อะไรก็ได้ที่ทำเพื่อขอนแก่นเอง ทำด้วยตัวพวกเราเอง หรืออะไรก็ตามที่คิดว่ามันเกิดประโยชน์ ก็เลยมีการลงทุนตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา หลังจากนั้น โครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นกระแสที่คนพูดถึงมากก็คือเรื่องของรถไฟฟ้ารางเบา

 

เราไม่ได้มองว่ารถไฟฟ้าเป็นแค่รถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกบางอย่าง เราว่าเป็นใครก็ตั้งคำถามแหละ สมมติว่าไม่ใช่คนไทยมองมาที่เมืองไทย เขาก็ต้องตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องประหลาดหรือเปล่าที่ทั้งประเทศมี 77 จังหวัด แต่มีแค่กรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้า ดังนั้น การทำรถไฟฟ้าของขอนแก่นก็เป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่บอกว่า มีอะไรบางอย่างที่ไม่เวิร์กหรือไม่ปกติของภาพใหญ่นะ

 

ทำไมรถไฟฟ้ารางเบาถึงเป็นโครงการแรกๆ ที่ถูกพูดถึงในที่ประชุม แล้วจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องอะไรให้ขอนแก่น

     ในมุมของเรา ไม่ได้มองว่ารถไฟฟ้าเป็นแค่รถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกบางอย่าง เราว่าเป็นใครก็ตั้งคำถามแหละ สมมติว่าไม่ใช่คนไทยมองมาที่เมืองไทย เขาก็ต้องตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องประหลาดหรือเปล่าที่ทั้งประเทศมี 77 จังหวัด แต่มีแค่กรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้า ดังนั้น การทำรถไฟฟ้าของขอนแก่นก็เป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่บอกว่า มีอะไรบางอย่างที่ไม่เวิร์กหรือไม่ปกติของภาพใหญ่นะ

     ที่สำคัญคือรถไฟฟ้ารางเบาจะมาช่วยแก้ปัญหาการเดินทาง จริงๆ ที่ขอนแก่นก็มีระบบขนส่งสาธารณะค่อนข้างดีถ้าเทียบกับจังหวัดอื่น นั่นคือขอนแก่นมีรถสองแถว 24 สาย มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ค่อนข้างครอบคลุม แต่ว่าช่วงหลายปีมานี้คนขอนแก่นก็เริ่มได้รับผลกระทบกับเรื่องของการจราจรเหมือนกัน เพราะคนเริ่มออกรถใหม่ รถติดเพิ่มขึ้น มีคนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น อสังหาริมทรัพย์ก็บูมมากขึ้นในขอนแก่น ทีนี้พอเริ่มมีปัญหาจราจร ตัวขนส่งสาธารณะที่มีในปัจจุบันก็อาจจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น การพัฒนาขนส่งสาธารณะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งน่าจะมีความจำเป็นสำหรับคนเมืองในอนาคต แน่นอนว่าในเรื่องการเดินทางก็จะง่ายขึ้น คนก็จะเข้าถึงขนส่งสาธารณะคุณภาพดีในราคาถูก แล้วก็จะลดปัญหาจราจรลงได้

     ผมเชื่อว่าจะเกิดการพัฒนาใหม่ๆ หรือเกิดโอกาสใหม่ๆ ในเมืองได้มากขึ้น เช่น อาจจะเกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์หรืออาจจะเกิดการลงทุนการค้ามากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดผลทางตรงกับคนที่เป็นชาวบ้านขนาดนั้น แต่ว่าโอกาสที่เข้ามาเมื่อมีมากขึ้นก็อาจจะสร้างงานสร้างรายได้ให้กินดีอยู่ดีมากขึ้น

     กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองเองถูกตั้งขึ้นโดยนายทุน แล้วตอนนี้ก็มี stakeholder หลักๆ สามกลุ่มก็คือภาครัฐ นายทุน และประชาชน แต่ว่ากลุ่มนี้นายทุนเป็นคนนำ ก็เลยถูกค่อนขอดเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นไปเพื่อพ่อค้าอย่างเดียวหรือเปล่า แล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรไหม ถ้าถามผม ผมเองก็ตอบตอนนี้ไม่ได้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่ว่าถ้ามีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงๆ เราก็ไม่เชื่อว่านายทุนจะได้ประโยชน์อยู่ฝั่งเดียว

 

ตอนนี้โครงการรถไฟฟ้ารางเบาคืบหน้าถึงไหนแล้ว

     มันล่าช้ามาสักประมาณสองปีได้แล้ว จริงๆ ก็ตั้งเป้าว่าจะได้ตอกเสาเข็มกันตั้งแต่สองปีที่แล้ว แล้วก็เลื่อนออกไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่าตอนนี้น่าจะอยู่ในระยะท้ายๆ แล้วที่จะต้องดำเนินการ ถ้าดำเนินการในขั้นตอนนี้จบก็น่าจะเห็นการเริ่มต้นจริงๆ ส่วนทำไมถึงล่าช้า ในข้อเท็จจริงผมไม่แน่ใจ เพราะเราเองเป็นแค่ที่ปรึกษา ไม่ใช่คนวงใน ในเรื่องของระบบราชการก็ไม่ได้ง่าย ถามว่าจริงๆ แล้วที่บอกว่าทำโดยคนขอนแก่นเอง แล้วไม่ต้องรอส่วนกลางเนี่ย ไม่รอได้จริงไหม ในความเป็นจริงก็ยังไม่รอไม่ได้ ยังต้องผ่านกระบวนการของการขอส่วนกลางหลายขั้นหลายตอนเหมือนกัน กว่าจะมาถึงตอนนี้ได้

 

ขอนแก่นโมเดล

 

การทำงานกับภาครัฐมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง

     ถ้านิยามคำว่าภาครัฐลงไปอีก ก็แยกได้เป็นสองระดับ ถ้าเป็นบริบทของขอนแก่นเอง ก็มีภาครัฐที่เป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างเช่น เทศบาล อบจ. ที่เป็นคนท้องถิ่นจริงๆ คนท้องถิ่นเลือกมา กับอีกอันคือระดับจังหวัดหรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่ขึ้นตรงกับส่วนกลาง ซึ่งสไตล์การทำงาน วิธีคิด หรือข้อจำกัดในการทำงานก็แตกต่างกัน

     ถ้าเป็นส่วนท้องถิ่นเขาก็มีเป้าชัดเจนที่ต้องขับเคลื่อนไป ถ้าเป็นส่วนกลางเขาก็จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของส่วนกลาง มีกฎระเบียบมาคุม หรือมีข้อจำกัดที่ทำให้ยากกว่าอยู่เหมือนกัน สิ่งนี้คือภาพรวม แต่ว่าในระดับบุคคล เวลาทำงาน คนที่เป็นราชการก็ไม่ใช่จะสิ้นหวังขนาดนั้น (หัวเราะ) คืออย่าลืมว่าต่อให้คุณเป็นข้าราชการทำงานให้หน่วยงานอะไรก็ตาม คุณก็ยังมีอีกบทบาท และมีหมวกอีกใบหนึ่งคือการเป็นประชาชน เขาก็เป็นคนที่นั่น กินอยู่ที่นั่น มีลูกมีหลาน ใช้ชีวิตอยู่ในขอนแก่น ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเขาก็คงอยากเห็นมันดีเหมือนกัน ในการทำงานจริงๆ เราก็ได้เห็นว่ามันไปได้ อย่างเวลาเราจัดเวทีพูดคุย บางครั้งเขาก็มีความกล้าๆ กลัวๆ ในการที่จะแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะคนที่เขาเป็นข้าราชการไม่ว่าจะส่วนกลางหรือท้องถิ่น แต่เวลาเราบอกว่าขอความคิดเห็นในฐานะที่คุณเป็นประชาชนคนหนึ่งได้ไหม ทุกคนก็พูดได้หมดนะ

 

ที่คุณบอกว่ากลุ่มนี้ทำงานโดยมี stakeholder สามกลุ่ม เขามีกระบวนการอย่างไรถึงสามารถทำงานร่วมกันได้

     ผมว่าเรามีแพลตฟอร์มหลากหลายมาก ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นกุญแจสำคัญเลยคือ ขอนแก่นโชคดีที่มีคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำงานในเชิงสังคมเยอะแยะมากมาย มีคนทำเรื่องการศึกษา ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำเรื่องสุขภาพ ทำเรื่องศิลปะ แต่ละคนก็ทำในเรื่องที่ตนเองถนัด แล้วก็มีคอมมูนิตี้ของเขา นอกจากนั้นก็มีพื้นที่บางอย่างที่คนทำงานด้านหนึ่งจะได้ข้ามมาทำงานกับอีกกลุ่ม ได้เจอกัน รู้จักกัน ให้ความช่วยเหลือกันได้ เกิดการแลกเปลี่ยนมากขึ้น แล้วก็มีความเข้าใจกันมากขึ้น ในเรื่องบางเรื่องที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ เขาก็จะได้พาร์ตเนอร์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยทำให้มันดี อย่างตัวเราเองก็เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ ไปเป็นที่ปรึกษาให้หลายๆ ทีมในเรื่องของการวางแผน ของธุรกิจ หรือในเรื่องของการสื่อสาร

 

บริบทของขอนแก่นแตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในประเทศอย่างไร ทำไมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาได้

     ผมไม่คิดว่าแตกต่างจากเมืองอื่นอะไรขนาดนั้น จริงๆ ทุกเมืองก็ทำแบบขอนแก่นได้ ขอนแก่นก็แค่ยอมรับความจริงว่าประเทศเรามีปัญหา แล้วขอนแก่นก็คิดว่า เฮ้ย ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปมันไม่เวิร์กหรอก บ้านเราก็จะอยู่กันไปอย่างนี้แหละ แต่ว่าถ้าเราไม่รอ แล้วเรามาทำเอง ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่อย่างน้อยยังดูมีอนาคต มีความหวัง ได้ลองทำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า

     ที่มีการพูดกันว่าขอนแก่นเคลื่อนเร็วเพราะอะไร ก็อย่างที่บอกว่าการทำงานระหว่าง stakeholder หลายๆ ฝ่ายในขอนแก่นสามารถทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ร่วมกันได้ มีพื้นที่ มีเวทีที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มีประชาชน มีราชการ มีพ่อค้า ทั้งสามฝ่ายมีพื้นที่ในการที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตลอด แล้วอย่างภาคประชาสังคม หรือ NGO ในขอนแก่น ก็ค่อนข้างสมัยใหม่ เขาทำงานกับราชการ ทำงานกับนายทุน หรือทำงานกับสาธารณะได้ดี ไม่ใช่ว่าไม่ขัดแย้งเลยนะ เรื่องแบบนี้ก็มีเป็นปกติ แต่ว่าก็ไม่ได้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดลง เพราะว่าอย่างน้อยทุกคนเข้าใจว่า ไม่ว่าคุณจะทำงานด้านไหน เป้าหมายปลายทางก็คือเรื่องเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาบ้านตัวเอง

 

ในฐานะที่ปรึกษา คุณมองเห็นอะไรที่น่าสนใจในประเด็นการพัฒนาเมืองของขอนแก่นบ้าง

     มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี คือคนยังมองภาพเมืองกับมองภาพคนที่อยู่ในเมืองไม่เหมือนกัน ผมชอบใช้คำว่า คนเห็นคน มองเห็นกัน ได้ยินเสียงกันไหม ในบางครั้งผมรู้สึกว่าคนทั่วไปเขาไม่ได้มองเห็นคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนที่ทุกข์ยากลำบากในเมืองเดียวกันกับเรา ไม่ได้เข้าใจ ไม่ได้สนใจปัญหาของเขา บางครั้งมองเขาเป็นตัวปัญหาด้วยซ้ำไป

     ขอนแก่นเองมีปัญหาหนึ่งตั้งแต่ปีก่อนคือเรื่องของการย้ายสถานีขนส่งออกไปอยู่นอกเมือง แล้วก็เกิดผลกระทบที่รุนแรง คนต้องใช้เวลาในการเดินทางเยอะขึ้น มีความลำบากมากขึ้น มีต้นทุนเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อย่างคนที่เขาใช้รถสองแถวในชีวิตประจำวัน เขาก็ไม่ใช่คนรายได้เยอะอะไรอยู่แล้ว การย้ายสถานีขนส่งออกไปอยู่ข้างนอกก็กระทบกับชีวิตคนอย่างรุนแรงเลยทีเดียว โดยเหตุผลที่ให้ย้ายออกเพราะว่าทำให้เกิดจราจรติดขัด แต่ผมคิดว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วขนส่งสาธารณะคือตัวแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่เหรอ การที่ทำให้ขนส่งสาธารณะเข้าถึงยากเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือเปล่า เอาแค่ปัญหานี้ก็ยังมีคนมีความคิดเห็นในลักษณะที่ว่า การย้ายออกไปเป็นเรื่องดีนะ รถจะไม่ติด คือจะให้เป็นสังคมรถยนต์เป็นใหญ่ ไม่ใช่ขนส่งสาธารณะหรือคนเดินเท้า นี่คือสิ่งที่ผมได้เห็น

     แม้กระทั่งเรื่องคนไร้บ้าน ในขอนแก่นจะมีคนที่มองว่าคนไร้บ้านน่ากลัว เป็นตัวปัญหา แต่ว่าเราก็ไม่เคยมีการให้ความรู้หรือมีการสื่อสารถึงกันว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น แล้วจะช่วยเขาได้อย่างไรในฐานะที่เราอยู่เมืองเดียวกัน ทำอย่างไรขอนแก่นถึงจะไม่มีคนไร้บ้านอีก หรือไม่มีคนจน ไม่มีสลัม ไม่มีคนไร้บ้านหน้าใหม่ ยิ่งทำงานก็ยิ่งเห็นว่ามันมีช่องว่างตรงนี้ บางทีช่องว่างมันห่างมากจนรู้สึกว่าเราอยู่กันคนละโลกหรือเปล่า เหมือนเราไม่ได้ยินเสียงกัน เรามองไม่เห็นกันเลย ทั้งๆ ที่เมืองเราก็มีเท่านี้

     ก็รู้สึกว่าถ้าทำได้ก็อยากให้เมืองมีการสื่อสารมากขึ้น คนมองเห็นกันมากขึ้น มีพื้นที่ที่คนตัวเล็กๆ ได้แสดงให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในขอนแก่นบ้าง หรือมีอะไรที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับขอนแก่นบ้าง อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องพัฒนากันต่อไป แต่ก็ยากเหมือนกัน เพราะโจทย์อะไรแบบนี้ภาครัฐเองก็เข้ามาทำเต็มตัวไม่ได้ เพราะว่าในมุมหนึ่งบางทีภาครัฐเองก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหานี้ เช่นเรื่องการไล่รื้อ แต่เราก็ต้องช่วยกันทำต่อไป

 

ขอนแก่นโมเดล

 

ถามจริงๆ ว่าการที่ภาคเอกชนหรือเมืองพยายามพัฒนาหรือทำอะไรเองเป็นการทำที่ผิดวิธีหรือเปล่า ทั้งที่มันควรจะเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐเป็นหลัก

     จริงๆ ผมว่ามันไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกนะ ถ้าทุกอย่างดีแล้วเราจะแฮ็กทำไม นึกออกไหม การแฮ็กคือการใช้วิธีลัดเพื่อแก้ปัญหา ทั้งที่จริงๆ มันควรจะเป็นเรื่องปกติ ถ้าเกิดว่ามันเป็นเรื่องปกติในการที่ว่าทุกๆ เมืองทำแบบนี้ได้ หรือส่วนกลางทำแบบนี้ให้ทุกๆ เมืองอยู่แล้ว ไม่ได้เอากรุงเทพฯ เป็น ffiirst priority ก็ไม่มีใครต้องมาแฮ็ก อย่างตอนนี้ขอนแก่นคือแฮ็กเกอร์แค่นั้นเอง เหมือนอย่างพี่ตูนที่วิ่งเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล เรามองว่าพี่ตูนมหัศจรรย์นะที่ทำอะไรแบบนี้ได้ แต่อีกมุมหนึ่งเราก็รู้สึกเศร้าที่ต้องมีคนมาทำแบบนี้ เศร้ายิ่งกว่าที่เงินมันก็ไปอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ 11 โรงอยู่ดี

     เราเคยพาทีม mayday ไปขอนแก่นตอนที่เขาทำโปรเจ็กต์เรื่องรถสองแถว ตอนนั้นเราไปกันที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาก็ไปนั่งคุยเรื่องใช้รถสองแถวเป็นยังไง แล้วก็ไปเจอลุงอายุมากคนหนึ่งที่เขานั่งรถมาจากจังหวัดเลยเพื่อมาหาหมอที่โรงพยาบาลขอนแก่น เขาป่วยเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ต้องมาหาหมอเดือนละครั้งสองครั้ง คุณลองคิดดูนะ ไปหาหมอโรงพยาบาลรัฐเนี่ย ต่อให้คุณเป็นคนขอนแก่นเอง คุณก็ต้องใช้เวลาทั้งวัน แต่อันนี้คือมาจากต่างจังหวัด ทำไมเมืองไทยต้องเป็นแบบนี้ นึกออกไหม

     อีกเรื่องหนึ่ง มีทีมงานเราที่เขาอยู่อำเภอหนึ่งของบุรีรัมย์ อยู่นอกเมืองเลย เขาเล่าให้ฟังว่าในการใช้ขนส่งสาธารณะเดินทางของเขาอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อเข้ามาในเมืองใหญ่ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาไปถึงท่ารถของบุรีรัมย์ไม่ทันรถคันสุดท้าย แล้วต้องนอนที่ท่ารถเพื่อรอรถคันแรกกลับบ้าน เรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันปี 2019 แล้ว คนไทยไม่ควรต้องเจออะไรแบบนี้ แล้วเรื่องแบบนี้คนกรุงเทพฯ ยังไงก็ไม่มีวันเข้าใจ เอาแค่คนขอนแก่นในเมืองเองก็ไม่ได้เข้าใจว่าคนที่อยู่ชนบท คนที่อยู่นอกเมือง หรือคนที่อยู่ต่างอำเภอเขาลำบากยังไง นี่จึงเป็นสิ่งที่จะบอกว่าบางทีก็เหมือนเราอยู่กันคนละโลก เรายังอยู่ในสังคมที่ต่างกันเกินไป มีความเหลื่อมล้ำกันเกินไป เราทุกคนก็ต้องช่วยกันเพื่อทำให้ช่องว่างเล็กลงให้ได้

 

มายด์เซตใหม่คือ ภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุน (supporter) ไม่ใช่ผู้นำ (leader) อีกต่อไป ภาครัฐต้องเป็นกระบวนกร (facilitator) ในการจัดพื้นที่ให้คนได้พูดคุยกันว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นในเมืองของเขา แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

 

แสดงว่ามันสะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐใช่ไหมในการที่เอกชนต้องเป็นคนนำในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง

     เรากลับไม่ได้คิดว่าภาครัฐต้องเป็นคนนำนะ เราว่ามายด์เซตใหม่คือ ภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุน (supporter) ไม่ใช่ผู้นำ (leader) อีกต่อไป ภาครัฐต้องเป็นกระบวนกร (facilitator) ในการจัดพื้นที่ให้คนได้พูดคุยกันว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นในเมืองของเขา แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ถึงจะได้ผลลัพธ์ในสิ่งที่เป็นฉันทามติร่วมกันของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้นว่าเขาจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ แล้วเขาต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนแบบนี้

     สมมติว่ามีพื้นที่ให้คนมานั่งพูดคุยว่า เฮ้ย เราจะแก้ปัญหารถติดด้วยวิธีการแบบนี้ แล้วเขาได้ทางออกว่าจะทำรถไฟฟ้า โอเค ภาครัฐก็จะต้องมาสนับสนุน อะไรแบบนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็มีทางด่วนลอยมา แล้วก็มาบอกว่า ‘ฉันคิดให้แล้ว รถติดใช่ไหม ฉันทำทางด่วนให้’ โดยที่คนในท้องที่ก็งงว่าทางด่วนมาได้ยังไง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อยากได้ทางด่วน

 

แสดงว่าคำตอบในใจของคุณคือเรื่องการกระจายอำนาจใช่ไหม

     ใช่ แล้วอันหนึ่งที่เป็นความท้าทาย มีความยาก แม้แต่ขอนแก่นเองยังไม่ได้ก้าวหน้าขนาดนั้น แต่ถ้าสามารถเกิดขึ้นจะดีมากนั่นคือเรื่องการมีส่วนร่วมของคน อย่างเราทำงาน เราก็พยายามที่จะให้เกิดการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ผมอยากเห็นคนยกมือขึ้นมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองว่าอยากให้เป็นอย่างไร แต่ก็มีอุปสรรคเยอะเหมือนกัน มันมีเรื่องของพื้นที่ มีเรื่องของการที่เขาไม่สบายใจที่จะอยู่ในพื้นที่ที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองพูดได้ไหม ทำไมมีแต่คนใหญ่คนโต ฉันเป็นคนตัวเล็กๆ ฉันจะพูดได้ไหม ก็ยากเหมือนกันที่จะสร้างความมั่นใจให้คนธรรมดาลุกขึ้นมาบอกว่าตัวเองต้องการอะไร การมีส่วนร่วมที่ว่าไม่ใช่แค่ภาครัฐหรือเอกชนจัดให้มีพื้นที่ขึ้นแล้วมันจะเกิด จริงๆ แล้วถ้าเรามีสำนึกรู้ของความเป็นพลเมือง แล้วเรารู้สึกว่าเราพูดได้ มันเป็นสิทธิของเราที่จะต้องแสดงความคิดเห็น อันนี้จะดีมากเลย

 

แล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรจากความท้าทายนี้ที่จะทำให้ภาคประชาชนหรือคนธรรมดาได้มีส่วนร่วมและความเข้าใจในการมีสิทธิร่วมพัฒนาเมืองไปด้วยกัน

     ต้องจัดพื้นที่ จัดแพลตฟอร์มให้เกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ทำได้ แล้วพื้นที่กับแพลตฟอร์มนี้ก็ต้องพยายามให้เกิดความหลากหลายมากที่สุด สื่อสารไปถึงคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แล้วก็หวังว่ามันจะนำพาเอากลุ่มคนใหม่ๆ หรือคนธรรมดาๆ เข้ามา ให้มีอะไรมากขึ้น แต่ความยากอย่างที่บอก ภาคประชาชนเขามีความเข้าใจไม่เท่ากัน คนไม่รู้จักสมาร์ตซิตีก็เยอะ คนที่รู้จักแต่รู้ในแค่มิติว่าสมาร์ตซิตีคือการทำรถไฟฟ้า หรือมองว่าสมาร์ตซิตีเป็นเรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยี ทำ IoT (Internet of Things) ทำรถไฟฟ้า เป็นเรื่องล้ำๆ โลกอนาคต ก็มีเหมือนกัน แต่เราก็พยายามบอกว่าไม่อยากให้พูดแค่เรื่องนั้นอย่างเดียว สมาร์ตซิตีของขอนแก่นมีหลายด้าน เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต ความยั่งยืน เราก็อยากสื่อสารจุดนี้ให้มากที่สุด

 

ขอนแก่นโมเดล

 

หากวันหนึ่งขอนแก่นโมเดลเกิดขึ้นจริง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลดีอะไรในระดับการพัฒนาเมืองอื่นๆ ของประเทศบ้าง

     เท่าที่ทราบ ตอนนี้มีบริษัทพัฒนาเมืองเกิดขึ้นแล้ว 11 เมือง เพื่อที่จะมาทำเรื่องพัฒนาบ้านเมืองตนเองในวิธีที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกคนรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างเราไม่ต้องรอก็ได้ เราเริ่มต้นกันเองได้ แต่ด้านที่กังวลก็เป็นเรื่องอย่างการที่บางกลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะขาดจิ๊กซอว์ของภาคประชาชนและการมีส่วนร่วมหรือเปล่า แล้วการคิดไม่ได้คิดแค่ในมิติเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อยากให้คิดเรื่องของความยั่งยืน เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมด้วย

     ในอดีต มายด์เซตการพัฒนามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนกับว่ามันมีการพัฒนาอันหนึ่ง แล้วไปทำลายอีกอันหนึ่ง เหมือนสร้างเขื่อนทีหนึ่งก็ต้องไปไล่รื้อชุมชน หรือมีพื้นที่ป่าที่เสียไป อย่างการพัฒนาเมืองเองก็คงมีเหมือนกันที่พอเกิดการพัฒนาแล้วจะมีใครที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังไหม เราเองรู้สึกว่าเรื่องการพัฒนาไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะอย่างไรแล้วมันมีภาพที่ชัด มีคนที่มีความรู้ความสามารถพร้อมขับเคลื่อนอยู่แล้ว แต่ว่าอีกด้านหนึ่ง คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อันนี้น่าห่วงมากกว่า เพราะเขาเองอาจจะไม่ได้มีศักยภาพที่จะขึ้นรถไฟขบวนนี้ แล้วถ้าเขาถูกทิ้งไว้ให้ตกขบวนนี้ก็จะเกิดปัญหาวนลูปเดิมที่เราเคยเป็นมาในการอดีต อย่างที่การพัฒนาในอดีตก็เคยทิ้งไว้ในปัจจุบันนี้

     แน่นอนมีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น ไม่ใช่แค่ขอนแก่น แต่เป็นทุกที่ ถ้าพูดเรื่องการพัฒนายังไงก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาแน่ๆ อย่างที่บอกไป คือเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะไม่เห็นมันเกิดขึ้น ถ้าเราได้มองเห็นกันหรือได้ยินเสียงกัน อย่างน้อยก็น่าจะมีการคิดถึงว่ายังมีคนอื่นอีกนะ

 

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ อะไรน่าจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนามากที่สุด

     จริงๆ ก็คือมายด์เซตของคนนะ เพราะว่าเราเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจมาก่อน อย่างขอนแก่นเองก็ผ่านการโดนปรามาสมาเยอะเหมือนกันว่าเป็นบ้าหรือเปล่า เป็นไปได้เหรอ อยู่ดีๆ จะทำรถไฟฟ้ากันเอง มหัศจรรย์เกินไปหรือเปล่า เรามีความเชื่อแบบนี้อยู่เสมอ

     แต่ผมกลับรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว การกระจายอำนาจน่าจะเป็นความหวังหรือเป็นทางออกของประเทศนี้ ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไปนะ กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าสิบยี่สิบสาย ก็อาจไม่ได้ช่วยให้กรุงเทพฯ หายรถติดด้วยซ้ำ แต่ว่าทำอย่างไรให้โอกาสไม่ได้อยู่แค่กรุงเทพฯ ทำอย่างไรให้โอกาสอยู่ในทุกที่ของเมืองไทย ทำอย่างไรให้คนทุกคนสามารถดำรงชีพอยู่ในบ้านตัวเองได้ มีความสุข มีความมั่นคงด้วย โดยที่ไม่ต้องวิ่งเข้าไปหาแค่กรุงเทพฯ แล้ววันนั้นประเทศไทยก็อาจเปลี่ยนแปลงได้

 

ทิศทาง ความหวังใหม่ๆ ของขอนแก่นในวันข้างหน้าคืออะไร แลัวจะนำพาไปสู่จุดที่ดีอย่างที่คิดได้ไหม

     ตอบยาก ผมเองก็ไม่กล้าฟันธงว่ามันจะดี แต่ผมก็แค่มีความหวัง เพราะเรายังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้ จึงรู้สึกว่าต้องทำให้มันดีเท่าที่เราสามารถทำได้ ผมว่าคนตัวเล็กตัวน้อยในขอนแก่นมากมายที่เขาทำงานอยู่ก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่รู้หรอกว่าจะดีจริงไหม แต่ก็ต้องมีความหวังบ้าง เพราะในด้านดี ผมคิดว่าน่าจะมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขึ้น ขอนแก่นน่าจะเป็นเมืองที่อยู่ได้โดยที่เราไม่ต้องทิ้งบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่ที่อื่น สามารถก่อร่างสร้างตัว มีความมั่นคงในชีวิต ไม่ใช่แค่เมืองที่อยู่ได้ แต่เป็นเมืองที่อยู่ได้แล้วมีความสุข นั่นหมายความว่าขอนแก่นเป็นมิติในเรื่องอื่นๆ ด้วย เรื่องความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สังคม ทั้งหมดเลย

 

ขอนแก่นโมเดล

 

ต้องมีความหวังขนาดไหนกับสิ่งที่เราฝันว่าการกระจายอำนาจจะสามารถเกิดขึ้นได้ ประชาชนจากเมืองอื่นจะไม่ต้องเข้ามาแสวงหาการเรียน การงานแค่ในกรุงเทพฯ

     ก็มีทั้งหวังแล้วก็ไม่หวัง บางทีก็สิ้นหวังเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่อย่างที่บอก เราก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังใช้ชีวิตอยู่ ยังทำงานอยู่ พอมีคนที่ยังทำงานพวกนี้อยู่ผมก็รู้สึกว่ายังมีความหวัง คงต้องทำไปเรื่อยๆ คงไม่สำเร็จในเร็ววันหรือง่ายๆ หรอก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้เห็นภาพของเมืองไทยที่ฝันในชั่วชีวิตนี้หรือเปล่า แต่ว่าผมก็ต้องทำงานในตอนนี้ ต้องหว่านเมล็ดเอาไว้ ให้คนรุ่นต่อไปได้ทำต่อ

     ตอนนี้ก็มีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจในการพัฒนาเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นการสะท้อนว่าถึงจุดสูงสุดแล้วหรือเปล่า เขาจึงต้องหันมาสนใจ การเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นไม่ใช่เพราะความก้าวหน้านะ มันเกิดขึ้นเพราะความที่ระบบปัจจุบันมันไม่เวิร์กแล้ว คนรู้สึกว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว ก็เลยเกิดโมเดลแบบนี้ขึ้น ขอนแก่นเองก็เป็นแบบนั้น

 

เราอยากให้เกิดการพัฒนา แต่อีกมุมหนึ่งก็กลัวว่าเมื่อเกิดการพัฒนาแล้วจะมีปัญหาที่ถูกทิ้งไว้ ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดหรือเกิดน้อยที่สุด ทำให้คนที่ต้องมารับกรรมหรือต้องถูกบังคับให้เป็นคนเสียสละจะไม่ใช่คนข้างล่าง เพราะว่าทุกวันนี้คนข้างล่างจะเป็นคนที่ถูกบังคับให้เสียสละเสมอ

 

หลังเลือกตั้ง คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลควรมองมิติการพัฒนาเมืองในอนาคตในแง่มุมไหน หรือควรส่งเสริมจุดไหน

     หลักๆ เลยก็คงเป็นเรื่องของกฎระเบียบที่อาจจะทำให้มายด์เซตในเรื่องของการกระจายอำนาจจังหวัดต่างๆ เป็นไปได้ยาก ต้องทลายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ออกไป นี่คือในแง่ของกฎหมาย อีกอย่างคือเรื่องของความรู้ความเข้าใจ เรารู้สึกว่าเวลาพูดถึงการพัฒนาเมือง เราพูดถึงปัญหาน้อยเกินไป เราพูดถึงความยั่งยืนน้อยเกินไป เราใช้การมีส่วนร่วมน้อยเกินไป ถ้าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ก็ต้องทำให้เกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดได้ เพราะในที่สุดแล้วเราก็กลัวเหมือนกัน เพราะเราอยากให้เกิดการพัฒนา แต่อีกมุมหนึ่งก็กลัวว่าเมื่อเกิดการพัฒนาแล้วจะมีปัญหาที่ถูกทิ้งไว้ ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดหรือเกิดน้อยที่สุด ทำให้คนที่ต้องมารับกรรมหรือต้องถูกบังคับให้เป็นคนเสียสละจะไม่ใช่คนข้างล่าง เพราะว่าทุกวันนี้คนข้างล่างจะเป็นคนที่ถูกบังคับให้เสียสละเสมอ

 

แล้วนโยบายการเมืองแบบไหนที่จะสอดรับหรือเอื้อต่อการพัฒนาขอนแก่นหรือเมืองอื่นๆ

     แน่นอนว่าก็คงเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ จริงๆ แล้วเราไม่ได้เชื่อเรื่องการเป็นศูนย์กลาง (hub) เท่าไหร่นะ อย่างขอนแก่นเองก็มีการพูดถึงว่าขอนแก่นจะเป็น hub นู่น hub นี่ เป็น MICE hub ธุรกิจอุตสาหกรรม เป็น medical hub หรือ education hub อะไรก็แล้วแต่ แต่ส่วนตัวผมเองเชื่อในเรื่องการกระจายอำนาจมากกว่า ผมคิดว่าภาคอีสานเอง หรือประเทศไทยเอง ไม่ควรจะมีใครคนใดคนหนึ่งหรือใครแค่ไม่กี่คนที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากๆ ถ้าสามารถกระจายออกไปได้ เช่น ถ้าทุกๆ จังหวัดมีโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ คนก็ไม่ต้องเดินทางมาในเมืองใหญ่ไม่ใช่เหรอ คนที่จังหวัดเลย จังหวัดกาฬสินธุ์ เขาก็ไม่ต้องมาหาหมอที่ขอนแก่น ถ้าโรงพยาบาลเขาดี มีอุปกรณ์ที่ดี หรือโรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็ตามแต่ คือถ้าทำให้ทุกๆ ที่มีคุณภาพได้เหมือนกันก็น่าจะดีกว่าการเป็น hub ของทุกสิ่งทุกอย่าง

     แต่ทุกวันนี้มันยังไม่ใช่ ก็ต้องกระจายอำนาจให้มากที่สุด แล้วให้ทุกๆ ที่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มความสามารถ แล้วแต่ละจังหวัดเขาก็จะประสานกันเอง อันนี้ไม่ใช่เฉพาะกับสังคมที่เป็นเผด็จการรวมอำนาจ แต่ต่อให้เป็นรัฐบาลไหนภาพแบบนั้นก็ควรจะเกิดขึ้น