ริ้วรอยที่ปรากฏบนความเก่าของรถยนต์คันจิ๋วที่ถูกสนิมกัดกร่อนจนผุพังตามกาลเวลา บางคันอาจเหลือเพียงแค่โครงภายนอก หรือที่เรียกกันว่า ‘ซาก’ มองแล้วไร้โอกาสที่จะกลับมาโลดแล่นได้อีกครั้งบนท้องถนน แต่กลับมีบางคนเห็นคุณค่าและมองว่าซากคือชีวิตที่เคยมีลมหายใจ โดยรับรู้ได้จากเสียงของเครื่องยนต์ที่เคยดังกระหึ่ม มีวิญญาณที่เห็นจากการขับขี่ได้จริง นั่นคือเหตุผลที่ ‘ต้อง’ – สรรพัชญ ชมงาม อดีตโปรดิวเซอร์โฆษณา ได้เรียนรู้จากการซ่อมรถยนต์เก่าว่า รถที่เคยเป็นซากไร้ชีวิตเหล่านี้ ทำให้เขาเห็นคุณค่าของคำว่า ‘ลมหายใจ’ มากขึ้น
The Story of Classic Mini Car
รถเก่าไซซ์เล็กไม่ใช่แค่เรื่องของความน่ารัก ความเท่ หรือเป็นแค่เรื่องความชอบ แต่สำหรับเรามันคือความรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายๆ ประเทศที่แพ้สงคราม รัฐบาลก็อยากให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประเทศจะต้องฟื้นจากสงคราม ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมเองก็ค่อยๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง บริษัทผลิตอาวุธก็หันมาผลิตรถยนต์ เพราะจากเดิมที่เป็นบริษัทผลิตรถยนต์แล้วผันไปเป็นโรงงานผลิตอาวุธเพื่อสงคราม พอสงครามจบก็กลับมาผลิตรถยนต์เหมือนเดิม หลายๆ บริษัทก็เริ่มทำรถเล็กๆ ในต้นทุนที่ไม่ได้แพงมาก แต่สมรรถนะการใช้งานมีมาตรฐานออกมาให้เห็นในหลายๆ ยี่ห้อที่เราคุ้นตา อาทิ Mini จากอังกฤษ Fiat จากอิตาลี Subaru จากญี่ปุ่น และ BMW จากเยอรมนี นี่คือ 4 ประเทศที่มีเหตุผลในการออกแบบ และสร้างรถเล็กๆ มาให้ประชาชนไว้ใช้เพื่อพลิกฟื้นประเทศของตัวเองให้กลับมายืนได้ใหม่อีกครั้ง
Resurrection of a Legend
ถึงแม้ประวัติศาสตร์จะน่าสนใจ เอกลักษณ์ของรถแต่ละประเทศก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ทำให้เราหมายมั่นปั้นมือว่า อยากจะมีรถของตัวเองสักคัน ซึ่งต่อมามีหลายคัน (หัวเราะ) อาทิ Fiat ของอิตาลี เมื่อก่อนอิตาลีคือคอมมิวนิสต์ รถอิตาลีก็จะเป็นลุกส์มาเฟียเท่ๆ หล่อๆ ส่วน Mini ของอังกฤษคือผู้ดี มีความคมคาย นิ่มหนึบ ในขณะที่เยอรมนีจะค่อนข้างแข็งกระด้าง ด้วยความที่ชนชาติเขาเป็นแบบนั้น ทางด้านรถเล็กของญี่ปุ่น เป็นชาติที่ทำตามทีหลัง เขาทำตามทุกอย่างแม้กระทั่งความคิดในยุคเริ่มต้นของการสร้างรถยนต์ แต่ก็มีตัวแรกๆ ช่วงหลังสงครามที่ออกแบบมาในเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง ก็เลยทำให้รถเล็กๆ พวกนี้เป็นจุดเด่นในยุคสมัยของเขา
เมื่อเรารู้ที่มาบวกกับความชอบในสไตล์ความจิ๋ว เราเริ่มต้นที่ซื้อมินิมาหนึ่งคันไว้ไปรับแฟน แล้วก็เริ่มชอบ เริ่มรัก พอชอบแล้วมันก็ออกดอกออกผล สะสมและตามเก็บ พร้อมๆ กับค่อยๆ ทำค่อยๆ ซ่อมใช้เองไปเรื่อยๆ จนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถบูรณะรถของตัวเองได้อีกต่อไป เหตุด้วยเงินและเวลาที่ไปด้วยกันไม่ได้ แต่ด้วยความอยากที่จะทำรถ และยังคงมีเพื่อนๆ ที่ชอบรถแบบเราแวะเวียนมาให้หารถสไตล์นี้อยู่บ่อยๆ เราเลยเปิดเพจ tony run garage แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้คนอื่นได้ชม แล้วก็มีคนอยากได้บ้าง เราไม่มีเงินทำรถตัวเองก็ต้องดับเสี้ยนด้วยการทำรถให้คนอื่นนับแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่เดี๋ยวก่อน ขอออกตัวไว้ว่าเราไม่ใช่ช่าง เราคือ project manager ที่ต้องพูดคุยกับช่างแต่ละแผนก ทั้งช่างเครื่องยนต์ ช่างทำสี และช่างเดินสายไฟ ที่เรายกให้เป็นศิลปินคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ช่างที่มีค่าแรงวันละ 300-350 แล้วการที่คุยกับศิลปิน เราจะต้องเข้าใจความรู้สึกของเขา ถ้าไม่เข้าใจกันต่อให้มีเงินมากแค่ไหนมาโยนให้แล้วบอกให้ทำภายใน 3-5 วัน หรือ 3-4 เดือน ช่างก็คงทำให้ไม่ได้ งานก็ไม่เกิดขึ้น ส่วนเราก็มีความรู้ที่มาจากความชอบมากๆ เป็นเสมือนคนกลาง ตามหารถเก่าเพื่อคุยกับช่าง แล้วทำให้กลับมามีชีวิต ขับขี่ได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
Drive Me Crazy
หากมองข้ามความผุพังของตัวรถเก่าที่จอดทิ้ง แล้วมองให้เห็นความสวยงามตามแบบดั้งเดิมที่รถคันหนึ่งเคยเกิดขึ้น เมื่อได้ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ แล้วเอาออกมาใช้ จนรู้ใจว่ารถเป็นแบบนี้ เขาเร็วได้แค่นี้ วงเลี้ยวเขาแค่นี้ เวลาเจอลูกระนาดเขาสะท้านได้ขนาดไหน นั่นแสดงให้เห็นถึงความรักและบางอย่างที่มีความหมายต่อชีวิต เช่นเดียวกับการที่เราอยากพลิกฟื้นสิ่งที่เสียแล้วให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง
อย่างตอนที่มีรถมินิคันแรก เราจะเช็ดรถทุกเช้าเพื่อให้เขาสะอาดก่อนขับไปทำงานหล่อๆ โดยส่วนตัวมีความเชื่อเรื่องแม่ย่านาง เขาจะปกป้องดูแลเรา สังเกตได้จากหลายๆ ครั้ง เวลาที่รถเสียจะเสียตรงจุดที่ทำให้เราปลอดภัย ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับเรา และเมื่อเป็นเช่นนั้น รถจึงมีความหมายกับเรา เราก็เริ่มคุยกับรถ
ถึงแม้เขาจะเป็นสิ่งที่ไม่มีลมหายใจ แต่เราใช้ลมหายใจสร้างเขาขึ้นมาใหม่ เติมความรู้สึกนึกคิดที่มีลงไปกับรถ ถ้าเราใส่ใจและพูดคุยกับเขา อยากให้เขาได้ดีเหมือนที่เราอยากให้เกิดขึ้น รถก็จะอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ตัวเราเองก็ย่อมปลอดภัยเช่นกัน
ที่สำคัญ เมื่อเราทำไปเรื่อยๆ เราก็คิดเสมอว่า เมื่อเราทำรถออกมาดี รถก็ยังคงอยู่ แต่ไม่นานเราต่างหากที่จะต้องเป็นฝ่ายไป รถก็อาจจะเปลี่ยนเจ้าของไปเรื่อยๆ ให้คนที่รักรถได้ใช้งานต่อ ได้สะสมต่อ ให้มันยังมีชีวิตอยู่ในกลไกของมันต่อไปเรื่อยๆ เราทำมันขึ้นมาได้แล้ว เราเองที่จะต้องเป็นคนจากไป แต่ตัวรถเองจะยังคงอยู่ แต่อยู่แล้วใครจะนำพาไปในทิศทางไหนก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้
TONY RUN GARAGE
หากอยากชมรถคลาสสิกไซซ์เล็กทรงแปลกๆ รุ่นหายาก หรือสนใจที่จะครอบครองประวัติศาสตร์สักครั้ง สามารถเข้าไปชมเรื่องราวต่างๆ ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ tony run garage
อ่านตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่
– ชยานันท์ อนันตวัชกร | ซ่อมถ้วยด้วยคินสึงิ แฝงแนวคิดเชิงปรัชญาเซน และการหาคำตอบของชีวิต
– ธีวรา กมลศักดิ์พิทักษ์ | ปัก (Sashiko) เย็บ ปะ ต่อ (Boro) ศาสตร์แห่งการซ่อมผ้า จิตใจ และความทรงจำ