โปรอาร์ม

‘โปรอาร์ม’ – กิรเดช อภิบาลรัตน์: เมื่อความผิดพลาดคือครูที่ดีที่สุด

คุณเชื่อในเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาในทุกลำดับขั้นตอนของชีวิตไหม

        ทุกอย่างล้วนไต่เต้าไปเป็นขั้นตอน เริ่มจากการคัดเลือกระดับเล็กๆ เก่งในบ้าน ตามตรอกซอย สู่ห้องเรียน จนกลายเป็นตัวแทนแข่งขันในระดับภูมิลำเนา ก่อนจะก้าวเข้าสู่ระดับประเทศ แล้วจึงค่อยเปลี่ยนสถานะสู่มืออาชีพ เป็นนักกีฬาที่ค้นหาความเป็นเลิศในแข่งขันระดับโลก

        นี่เป็นเหตุผลที่เรามักชื่นชมและตื่นเต้นเสมอ เมื่อเห็นคนไทยด้วยกันไม่ว่าวงการใดได้ก้าวไปยืนยังแถวหน้าของโลก ยิ่งเป็นผลงานที่จับต้องได้ชัดเจนแบบกีฬาที่คนทั่วโลกจับตาอย่าง ‘กอล์ฟ’ 

        ครั้งนี้ ‘โปรอาร์ม’ – กิรเดช อภิบาลรัตน์ โปรกอล์ฟคนแรกและคนเดียวของไทยในเวลานี้ ที่ลงเล่นบนเวทีที่ยากที่สุดในโลกอย่าง PGA Tour เปิดใจให้รู้ว่าเขาต้องใช้เวลา ความสามารถ และความพยายามมากแค่ไหนเพื่อไปให้ถึงจุดหมายนี้ และสิ่งที่สำคัญคือผลงานในขวบปีแรกของเขาบนเวทีอาชีพนี้ไม่ขี้เหร่เลย ในฐานะสมาชิก PGA Tour จนการันตีพื้นที่บนสนามดังกล่าวในฤดูกาลหน้า

 

โปรอาร์ม

ขอถามถึงอาการบาดเจ็บครั้งแรกในอาชีพของโปรอาร์ม ว่าตอนนี้อาการหนักมากน้อยขนาดไหน (ในช่วงที่ทางทีมงานนัดพบกับเขาคือช่วงการรักษาและทำกายภาพบำบัดอาการบาดเจ็บหนักที่ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา)

        การกลับมาเมืองไทยครั้งนี้นอกจาก PGA Tour ปิดฤดูกาลแล้ว ผมก็กลับมารักษาอาการบาดเจ็บเอ็นหน้าเข่าขวาที่เกิดขึ้นในการเล่นเดอะ มาสเตอร์ ทัวร์นาเมนต์ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการแข่งขันครั้งนั้นผมต้องตีอ้อมต้นไม้แต่ทรงตัวไม่ได้ จำเป็นต้องทิ้งตัวลงพื้นเพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นเข่าขาด แม้ทิ้งตัวแล้วก็ยังมีรอยฉีกอยู่ดีซึ่งชำรุดมากขึ้น เพราะหลังเดอะ มาสเตอร์ ผมยังฝืนลงแข่งขันต่ออีกราว 2 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎข้อบังคับในเรื่องจำนวนรายการที่ต้องลงเล่นในหนึ่งปี

        เอ็นหัวเข่าเป็นอาการบาดเจ็บที่นักกีฬาหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยมากไม่ได้เกิดจากการปะทะกระแทก แต่จะมาจากอาการบิดจนเจ็บจากตัวเราเอง ยิ่งกอล์ฟเป็นกีฬาที่บิดต่างไปจากกีฬาอื่นๆ นั่นคือบิดออกข้างโอกาสที่จะบาดเจ็บจุดนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติ

        หลังจากปรึกษากับครอบครัว ทีมงาน รวมทั้งผู้จัดการแล้ว เลยตัดสินใจหยุดดีกว่า จริงอยู่ที่การพักจะทำให้รายได้หายไป อันดับโลกตก แต่คงดีกว่าที่ออกไปเล่นทั้งที่ไม่พร้อม ไหนจะเสี่ยงเจ็บหนักขึ้น ภาวะจิตใจที่แย่ลงไปเรื่อยๆ กับผลงานที่ไม่เต็มร้อย สู้เอาให้หายขาดแล้วกลับมาใหม่ ความสำเร็จเงินรางวัลมากมายยังรออยู่

        กลับมาครั้งนี้ผมเข้ารับการรักษาจาก คุณหมอพรเทพ ม้ามณี ที่เคยผ่าตัดดูแลน้องเม (เอรียา จุฑานุกาล) มาก่อน จากการพูดคุยทำให้ผมค่อนข้างเชื่อใจและเลือกรักษากับคุณหมอ ซึ่งอาการยังไม่หนักมากถึงขนาดต้องผ่าตัด โดยรวมจะพักทั้งหมด 5 สัปดาห์ คุณหมอไม่อนุญาตให้ซ้อมหรือสวิงหนักได้เลย

สำหรับนักกีฬาอาชีพ การพัก 5 สัปดาห์ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ว่าแต่ไม่ได้จับไม้กอล์ฟซ้อมนานขนาดนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง

        ผมมองโลกในแง่ดี ผมโชคดีมาก เพราะตั้งแต่เล่นอาชีพมา 10 กว่าปี ทั้งที่เราใช้ร่างกายหนักมากมาตลอด แต่เพิ่งได้รับบาดเจ็บหนักก็ครั้งนี้ ทั้งแข่งขัน เดินทางไม่เคยหยุด เปรียบเทียบเป็นรถก็ใช้ความเร็วสูงสุด กดมามิดตลอด ใช้ลากมาเป็นสิบปียังไงก็ต้องเสื่อมต้องชำรุดกันบ้าง ครั้งนี้ก็ถึงเวลาต้องดูแล

        การได้พัก 5 สัปดาห์ กลับมาอยู่เมืองไทยเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นอีกครั้ง  ได้กลับมาใช้เวลากับคนในครอบครัวอย่างเต็มที่ ได้พบเพื่อนเจอคนน่ารักหลายๆ คนที่ไม่ได้เจอกันมานาน ทำให้คิดอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน ว่าไปแล้ว เจ็บครั้งนี้ทำให้ผมได้อยู่เมืองไทยติดต่อกันนานที่สุดในรอบ 20 ปีเลย

คุณบอกว่าการกลับมาพักอยู่เมืองไทย 5 สัปดาห์นี่นานที่สุดในรอบ 20 ปี ทำเป็นเล่นไป แล้วคุณเอาชีวิตวัยเด็กไปไว้ไหนหมด

        นี่เรื่องจริงครับ (หัวเราะ) 20 ปีมันดูเยอะไปใช่ไหม เอาเป็นว่าตลอด 15 ปีนี้ การได้อยู่เมืองไทย 5 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่ยาวที่สุดแล้ว ผมยืนยันได้ ชีวิตเดินทางแข่งขันมาตลอดตั้งแต่อายุสิบต้นๆ เพื่อเป้าหมายของมืออาชีพเป็นโปรกอล์ฟ ไต่ระดับมาเรื่อยๆ ทั้งในเอเชียนทัวร์ ยูโรเปียนทัวร์ จนมา PGA Tour

        ส่วนวัยเด็กหายไปไหน ก็อยู่ในสนามกอล์ฟนี่แหละ ทั้งซ้อมทั้งแข่ง ไม่มีหรอกชีวิตแบบเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไป การเที่ยวเตร่นั่งพักชิลไม่อยากทำอะไร รอสมองโล่งสักเดือนคอยว่ากันแบบนั้น เพราะเราต้องการไปยังเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งมันก็คุ้มค่า แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จมากเหมือนที่หวังไว้ทั้งหมด แต่ผลตอบแทนที่กลับมาก็น่าพอใจ สามารถเลี้ยงดูชีวิตของเราเองได้ดี ดูแลคนรอบข้างที่เรารัก ดูแลครอบครัวได้

ปีแรกในฐานะโปรกอล์ฟ PGA Tour Member อย่างเต็มตัว แตกต่างจากที่คุณเล่นกอล์ฟอาชีพมาตลอดชีวิตมากน้อยขนาดไหน

        เป็นความภูมิใจ หายเหนื่อย นั่นคือความรู้สึกแรก ย้อนกลับไปเส้นทางกอล์ฟของผมตั้งแต่จากระดับเยาวชน (สำหรับใครที่ไม่เคยทราบ ชื่อของ กิรเดช อภิบาลรัตน์ ในฐานะนักกอล์ฟเยาวชน เขาคือเบอร์ต้นของโลกที่พร้อมวัดฝีมือกับใครก็ได้ในรุ่น) เป็นความฝันของเด็กตัวอ้วนๆ ที่ตีกอล์ฟว่าจะไปแข่งขันรายการ PGA Tour ที่รวมคนเก่งที่สุดในโลกเอาไว้ให้ได้ ผมตั้งเป้านี้ตั้งแต่อายุ 13 ปี เริ่มเดินทางสู่เอเชียนทัวร์ ก้าวผ่านสู่ยูโรเปียนทัวร์ ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่นานไปจนถึงสิ่งที่ต้องการนั่นคือแชมป์ยูโรเปียนทัวร์ ระหว่างทางมีเข้าแข่งขันใน PGA Tour ทัวร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกบ้างในฐานะมือรับเชิญ เป็นดาวเด่นของเอเชีย มือดี แรงกิ้งสูงจากฝั่งยูโรเปียนทัวร์ เพราะคนจัดเขาคิดว่าขายได้ แต่แปลกที่ข้างในผมไม่ได้รู้สึกภูมิใจ เหมือนแค่มาโชว์ตัว มาเล่นตามคำเชิญ รับเงินจบ กลับไปอยู่ในที่ของเรา ความรู้สึกที่ได้มันไม่สมศักดิ์ศรีเลย แต่อย่างน้อยการได้มาสัมผัสก็ทำให้ผมยิ่งชัดเจนกับเป้าหมายที่ต้องการเล่นที่ PGA Tour ในสักวัน

        ผมจำได้ว่าตอนที่รับเชิญมาเล่นครั้งแรกๆ ปี 2012 ผมประกาศเลยว่ายังไงต้องมาเล่นทัวร์นี้ให้ได้ มาแบบไม่ต้องรอใครมาเชิญมาให้โอกาสเรา มาด้วยตัวเราเองนี่แหละ พูดได้เต็มปากว่า กิรเดชคือนักกอล์ฟของทัวร์ที่ดีที่สุดในโลก จากจุดนั้นผมใช้เวลา 6 ปีฝ่าฟันจนสามารถทำอันดับโลกมาเล่นใน PGA Tour ได้ มันตอบโจทย์ของตัวเราที่ถามหามาทั้งชีวิต ตอบโจทย์ผู้สนับสนุนว่าเห็นไหมผมทำได้ คนไทยทำได้แล้ว คนไทยก็มาเล่นใน PGA Tour

 

โปรอาร์ม

อะไรคือความแตกต่างของ PGA Tour กับรายการทัวร์อื่นๆ ที่คุณเคยเข้าร่วม

        ที่แตกต่างมากคือบรรยากาศการแข่งขัน คนดู สภาพแวดล้อม สนาม และวัฒนธรรมที่ต่างออกไป ตอนนี้ก็ยังต้องปรับตัว ส่วนผู้เล่นไม่มีปัญหา เจอกันมาตั้งแต่เด็ก ที่นี่เขาได้เปรียบเรื่องอุปกรณ์ซ้อมกับแข่งอยู่เหมือนกัน ยกตัวอย่างในบ้านเราสนามทั่วไปที่ซ้อม ความเร็วของกรีนอยู่ที่ 8 แต่สนามแข่งความเร็วอาจจะอยู่ที่ 12 มีระยะสั้นกว่าของจริงเป็นร้อยหลา แต่ฝรั่งอย่างอเมริกา ซ้อมสนามมาตรฐานแข่ง ทั้งความเร็วกรีน ความยาวสนาม ลักษณะเลย์เอาต์ ซึ่งเมืองไทยหากคุณจะซ้อมสนามแบบนั้น ออกรอบครั้งหนึ่งต้องมีงบประมาณราว 7,000 บาท เป็นราคาที่แพงมาก คุณต้องมีรายได้ขนาดไหนถึงจะซ้อมแบบนี้ได้ ยิ่งมองที่รายการแข่งขันระดับชนะได้เงินสักสามสี่แสนก็ไม่ได้มีให้แข่งขันกันเยอะด้วย

        กลับกันที่สหรัฐฯ สิ่งที่ผมไปเจอนอกจากสนามแข่งมาตรฐานจะมีมากกว่าบ้านเราเยอะมาก เด็กเล่นกอล์ฟมีเป้าหมายเรื่องอาชีพที่ชัดเจน ข้อสำคัญคือวงการกอล์ฟที่นั่นให้การสนับสนุนโดยเฉพาะพวกโปรหรือนักกอล์ฟที่มีแวว แฮนดิแคปน้อย นี่คือประสบการณ์ตรงที่ตัวเองเจอ เวลาเราไปแข่งหรือระหว่างเดินทาง บริเวณนั้นมีสนามกอล์ฟไหนมาตรฐานดี ขอเข้าไปซ้อมได้เลย แสดงตัวว่าเป็นโปร PGA Tour หรือมืออาชีพ พนักงานด้านหน้าสามารถปล่อยให้คุณใช้สนามได้เลย ไม่ต้องติดต่อขออนุญาตใครอีก แคดดี้ไม่ต้องใช้ ค่าใช้จ่ายที่จะเสียคือค่ารถกอล์ฟราคาไม่เกิน 600 บาท ทางสนามอาจจะขอถ่ายภาพว่ามีโปร PGA Tour มาใช้ เก็บไว้ติดตามคลับเฮาส์บ้าง ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร วิน-วินทุกฝ่าย 

        บ้านเราหลายสนามแม้จะรู้ว่าโปรไปซ้อม ก็ต้องขออนุญาตเป็นทอดๆ ไป ไล่จากผู้จัดการสนามหรือแม้แต่เจ้าของยังต้องขออนุญาตกันหลายขั้นตอน ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีหลายสนามที่ดูแลเราเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างสนามอมตะ สปริง ที่ดูแลอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ถ้าในอนาคตมีการสนับสนุนแบบนี้มากขึ้นก็จะดีมาก แต่ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ

ระบบความคิดของนักกอล์ฟไทยกับต่างชาติต่างกันมากไหม คนมักจะพูดเปรียบเทียบบ่อยๆ ว่าฝรั่งมุ่งมั่นและเด็ดขาดกว่านักกีฬาไทย

        ถ้ามองว่าเขาเหนือกว่าในเรื่องความมุ่งมั่นหรือแนวคิดต่อการเป็นนักกอล์ฟอาชีพอาจจะจริง กรอบความคิดของโปรกอล์ฟรุ่นใหม่ที่เข้ามาแข่งขันในทัวร์นาเมนต์มีเป้าหมายชัดเจนมาก ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเข้าทีมเพื่อทำผลงานให้ดีที่สุด พอออกมาอายุเพิ่งพ้นวัยทีนเอจ เขาก็พร้อมออกมาไล่ล่าความสำเร็จ นึกย้อนไปก็เหมือนกับผมนี่แหละที่ทะเยอทะยานและล็อกเป้าชัดเจนมาตั้งแต่ต้น

        พวกเขาเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เด็ก เป็นเป้าหมายที่สัมผัสได้ทั้งในมุมอาชีพ อนาคตที่ดีขึ้นจากผู้สนับสนุนต่างๆ ที่พร้อมจะเข้ามาดูแลหากแสดงให้เห็นว่าเก่งจริง นักกีฬาส่วนมากได้ค่าใช้จ่ายจากสปอนเซอร์ โอกาสในการแสดงออกมีเยอะด้วย รายการแข่งขันที่มีในทุกระดับแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนเล่นกอล์ฟ มีระดับการแข่งขันมาตั้งแต่เด็ก วางเป้าหมายที่จะเป็นโปรกอล์ฟระดับไหน เทคโนโลยี อุปกรณ์ โรงเรียนสอนเล่นกอล์ฟที่มีองค์ความรู้ชั้นนำของโลก ก็มีให้นักกีฬาเลือกพัฒนาตัวเองมากมาย

        ดังนั้น ทุกการแข่งขันจะเข้มข้นชัดเจนมาตลอด มีการเดิมพันสูงหากทำได้หรือก้าวขึ้นมาเป็นโปร ได้ผลตอบแทนที่ดี เพราะมีอนาคตของตัวเอง และครอบครัวอยู่ตรงหน้า ยิ่งถ้ารักถ้าชอบอยากเอาชนะ ก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไหนจะความโชคดีเรื่องสภาพอากาศที่เย็นสบาย ตีกอล์ฟได้ทั้งวัน ลองมาเจอแบบบ้านเราสิ อากาศแบบนี้ แดดขนาดนี้ ซ้อมกลางแดดสัก 4 ชั่วโมง หลังไม่ไหม้ ก็ต้องเป็นลมล่ะวะ (หัวเราะ)

        ย้อนกลับมาที่ไทย น้องนักกีฬาบางคนฝีมือดีมาก ผมมั่นใจว่าเขาสู้กับรุ่นเดียวกันได้ทั่วโลก ตอนที่เจอกันผมถามว่าทำไมไม่ซ้อม คำตอบที่ได้คือเป็นช่วงที่ยังไม่มีรายการแข่ง หากซ้อมไปรายได้อาจไม่พอ เมื่อเดือนที่มีรายการแข่งมาถึง โอกาสที่มีไม่เยอะ เรื่องผู้สนับสนุนก็น้อยตามลงไป กว่าจะข้ามมาเป็นโปรได้มันยากมาก และนักกีฬาส่วนมากต้องเรียนจนจบมหาวิทยาลัย แล้วค่อยไปหาประสบการณ์ ไต่เต้าขึ้นมากว่าจะได้เป็นโปร ไม่อย่างนั้นต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง ออกทุนเองก่อนในช่วงแรกจนกว่าจะมีผู้สนับสนุน ค่าซ้อม ค่ากิน ค่าเดินทางควักไปก่อน พ่อแม่ที่พยายามสนับสนุนลูกจะทราบดีว่ามันเหนื่อยมันหนักขนาดไหน

ถ้าตัดเรื่องต้นทุนชีวิต คุณก็ไม่รู้สึกเลยใช่ไหมว่าฝรั่งจะเก่งกว่าเราเสมอไป

        ผมไม่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ แต่ช่วงจากเด็กขึ้นเป็นโปร ผมมักเจอปัญหาเรื่องปากท้อง ดังนั้น รายได้ยังเป็นสิ่งที่ต้องกังวล ทำให้เวลาแข่งขันเราไม่สามารถทำออกมาได้อย่างเต็มที่

คุณสังเกตไหมเวลาถามนักกอล์ฟไทยที่เริ่มขึ้นมาเป็นมืออาชีพ หลายคนมักตอบเรื่องเป้าหมายว่าอยากเล่น All Thailand Golf Tour หรืออยากเล่นเอเชียนทัวร์ น้อยคนจะตอบว่าไปยูโรเปียนทัวร์ หรือ PGA Tour ทำไมถึงมีความหมายหลายอย่างอยู่ในนั้น

        หลายคนที่ตอบออกไปฝีมือดี ศักยภาพสูง ไปได้ และจะไปได้ดีด้วย แต่ไม่มีโอกาสทั้งทุน การสนับสนุน การได้เล่น All Thailand Golf Tour หรือเอเชียนทัวร์ มันง่ายกว่า โอกาสได้เงินก็มากกว่า จับต้องง่าย แต่ที่ตามมาคือสองทัวร์ที่ง่ายกว่ามันก็ต่างจาก PGA Tour หรือยูโรเปียนทัวร์มาก ก็คือรายได้อีกนั่นแหละ ต่างกันจนเทียบไม่ได้เลย ดังนั้น เมื่อคุณเล่นอยู่ที่ทัวร์ระดับไม่สูง ไม่ขยับขยาย โอกาสเจอคนเก่งขึ้นก็ยาก โอกาสพัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นเลิศก็ยาก

นักกอล์ฟไทยแพ้ระดับโลกตั้งแต่ในมุ้ง มาจนถึงการเตรียมตัว แล้วเราจะไปสู้หรือไปยืนเคียงข้างพวกระดับโลกได้อย่างไร

        ไปได้สิ ผมยังไปมาแล้วเลย ช่องทางมันมี อยู่ที่คุณทุ่มเทมากพอไหม ที่ผมเล่าให้ฟังคือความได้เปรียบคือแต้มต่อของพวกเขาที่มีเหนือนักกีฬาจากไทย ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ จะไปโอดครวญว่าพระอาทิตย์มันใกล้ไกลไม่เท่ากันมันไม่มีประโยชน์อะไร ยังไงเราก็อยู่บนดาวดวงเดียวกัน โอเค ต้นทุนบางคนอาจจะพร้อมกว่า แต่ลองคิดอีกมุม เรามีแต้มต่อเรื่องการเตรียมตัวจากสถานการณ์ที่พร้อมน้อยกว่า นั่นแปลว่าเรามีทักษะในการเผชิญความลำบากมากกว่าก็ได้ เราซ้อมท่ามกลางแดดโหดๆ ได้ 3-4 ชั่วโมง ไปเจอแดดใสๆ อากาศเย็นสบาย ไม่แน่เราตีได้สิบชั่วโมงเลยนะ ซ้อมได้มากกว่าหนักกว่า โอกาสพัฒนามากกว่ามีสูงมาก  

 

โปรอาร์ม

ในรอบปีที่ผ่านมาภาพที่แฟนกอล์ฟแทบไม่เคยเห็นกิรเดชทำมาก่อนนั่นคือการที่คุณระเบิดอารมณ์ลงโซเชียลมีเดียอยู่หลายครั้ง มันเกิดขึ้นเพราะอะไร หรือนี่คือความกดดันจาก PGA Tour ช่วยทบทวนให้ฟังหน่อยสิ

        (หัวเราะ) ปีนี้ระเบิดลงไปหลายรอบเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทะเลาะกับใครนะ เพียงแค่ใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอธิบายว่าเราพบเจอหรือทำอะไรกันอยู่เพื่อที่จะเข้าใจตรงกัน ประเด็นแรกคือน้ำหนักตัวที่ทุกคนคิดว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผมบาดเจ็บ ไม่ไหวแล้ว อ้วนขนาดนี้ได้ไง ไปต่อไม่ได้แล้ว เรื่องนี้เจอมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต ผมอ้วนทรงนี้มาตลอด ได้มากี่แชมป์ ประสบความสำเร็จจนมาถึงทุกวันนี้ ไม่มีตัวบางกว่านี้เลย แต่ที่ผ่านมาคำวิจารณ์เรื่องอ้วนไม่ดังเท่านี้ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีผลงานที่ตอบคำถามแทนรูปร่างได้ แต่พอเข้ามาใน PGA Tour อันดับของผมร่วงจากที่ออกสตาร์ทมาดี แล้วตกไปเยอะช่วงปลายฤดูกาลก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

        ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่พักผมก็ลดน้ำหนักนะ ที่นั่งคุยอยู่ตอนนี้ เทียบกับช่วงที่เล่น PGA Tour น้ำหนักผมหายไปร่วม 10 กิโลกรัม แต่ผมไม่ใช่ลดเพื่อเอาผอม แต่เพราะอยากได้ร่างกายแข็งแกร่ง อยากเปลี่ยนรูปร่างใหม่ แต่ก็เป็นไปตามที่คุยกับคุณหมอที่ดูแลเข่า เขาขอให้น้ำหนักผมอยู่ที่ 100 กิโลกรัม บวกลบอย่าเกินนี้ เพื่อไม่ให้เข่ารับน้ำหนักมากเกินไป ที่เหลือก็ทำให้กล้ามเนื้อทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น การลดน้ำหนักสำหรับกีฬากอล์ฟนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกอย่างต้องปรับ ปรับแค่อุปกรณ์นิดเดียวทุกอย่างส่งผลหมด ซึ่งไม่มีอะไรมาการันตีว่าผลงานจะพัฒนาดีกว่าเดิมหรือแย่ลง นี่คือเรื่องแรกที่พยายามอธิบาย

        ประเด็นที่ 2 คือความไม่เป็นมืออาชีพ เรื่องนี้โดนวิจารณ์หนักมาก ทำไมไม่คิดยาวๆ เจ็บแล้วไม่พัก เห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ เหรอ เจ็บแล้วยังฝืนลงเล่น ผลงานก็ออกมาไม่ดี นี่คือสิ่งที่เข้ามาสู่ตัวผม แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นไง เชื่อเถอะ ไม่มีคนบาดเจ็บที่ไหนอยากไปทำงานหรอกครับ ยิ่งออกไปลงแข่งขันร่างกายก็ถูกบั่นทอนลง ผมก็เจ็บช้ำมากขึ้น บางรายการอาจจะทำได้ดีใน 2 วันแรก แต่เละใน 2 วันสุดท้าย เพราะร่างกายมันสะท้อนว่าไม่ไหวแล้ว พอเป็นหลายๆ รายการเข้าจิตใจก็ท้อ ผมเจ็บผมก็อยากนอนพักแต่มันทำไม่ได้ไง มันลาไม่ได้ ไม่งั้นเขาก็ไล่ออก  

        เรื่องสุดท้าย แคดดี้คนไทย เรื่องนี้วนมาเสมอเมื่อผลงานไม่ดี ทำไมไม่ใช้ฝรั่งล่ะ ก้าวไปข้างหน้าสิ แคดดี้ฝรั่งเก่งๆ เยอะแยะทำไมไม่ใช้ สิ่งที่เข้ามาเหมือนทุกคนเชื่อแล้วว่า แคดดี้ต่างชาติเก่งกว่าคนไทยอย่างเราๆ หากใช้พวกเขาผลงานจะดีโดยอัตโนมัติเป็นสูตรสำเร็จ

ตอนนี้คุณกำลังใช้ PGA Tour พิสูจน์อะไรกันแน่

        PGA Tour คือเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกอล์ฟ เงินรางวัลมากที่สุด มากกว่าทุกทัวร์ในโลกนี้หลายเท่าตัว ที่นี่รวบรวมโปรกอล์ฟที่เก่งที่สุดในโลกไว้ นี่คือเวทีที่จะพิสูจน์ได้ว่าผมสามารถเล่นในระดับนี้ได้ พิสูจน์ว่าความทุ่มเทที่มีมาตั้งแต่เด็กที่ผมพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่เป็นครอบครัวและทีมกิรเดช รวมทั้งผู้สนับสนุนที่น่ารักทุกคน เราสามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ ผมพอใจกับมัน เราได้ไปต่อแม้จะยังไม่ถึงเป้าหมาย  

        อีกเรื่องสำคัญที่ต้องการพิสูจน์ให้ได้ว่าคนไทยทำได้ ผมต้องไม่ใช่คนไทยคนสุดท้ายใน PGA Tour ผมเล่นในเอเชียนทัวร์ได้แชมป์มา 3 รายการ เด็กรุ่นใหม่ต้องได้แชมป์มากกว่าผม จากนั้นก้าวไปสู่ยูโรเปียนจนได้แชมป์ในทัวร์มา 4 รายการ จนได้โอกาสมาเล่น PGA Tour ในฐานะสมาชิกในปี 2018 ตอนนั้นผมอายุเข้า 30 เล่นกอล์ฟอาชีพมาครบ 10 ปีพอดี

        อนาคตโปรไทยจะมาที่นี้ด้วยอายุที่น้อยกว่านี้ เชื่อสิว่าเราทำได้แน่นอน ผมมั่นใจ ขอให้เชื่อขอให้มุ่งมั่น ไม่มีอะไรไกลเกินไป กล้าที่จะคิดใหญ่กล้าจะฝันให้ไกล เชื่อผมสิ คนไทยนี่ไป PGA Tour ได้แน่นอน ผมไปมาแล้วนี่ไง เด็กอ้วนๆ คนนี้ยังไปมาแล้ว

        ตอนนี้ผมมาเล่นเป็นคนแรก ทั่วโลกได้รับรู้ว่ามีตัวแทนจากประเทศไทยมาแล้ว ส่วนมากเขาจำชื่อไม่ได้หรอก แต่เขาจำได้แน่ว่าคนไทยมาแล้ว นึกภาพสิหากอนาคตเรามากันเป็นแก๊ง คนไทยเต็มสนามเลย ทักทายพูดภาษาไทย ยกมือไหว้กันในสนาม มันเป็นความภาคภูมิใจ มันอบอุ่นเหมือนเป็นภาพฝันเลยนะ ได้เห็นน้องๆ มาแข่งด้วยกันในทัวร์ที่ดีที่สุดในโลก

        หากแต่เหตุการณ์อย่างที่ผมไม่สามารถไปต่อใน PGA Tour ได้ แล้วไม่มีใครมาสานต่อ กิรเดชก็คือไทยคนสุดท้าย ไม่มีอีกแล้วนักกอล์ฟไทยที่จะไปเวทีใหญ่ที่สุดของกอล์ฟ หากสิ่งนี้เกิดขึ้นก็เหมือนผมติดค้างไม่ได้ถ่ายทอดอะไรต่อให้คนรุ่นหลัง เราต้องทำตัวอะไรแย่ๆ ไว้แน่ ไม่สามารถส่งต่อหรือสนับสนุนใครให้มีโอกาสเหมือนที่เราได้มาก่อน ผมคงคาใจ เสียใจไปตลอด

ย้อนกลับไปที่คุณบอกว่าเป้าหมายที่คุณยังไปไม่ถึง คือการเป็นมือ 1 ของโลก แชมป์เมเจอร์ หรืออะไร

        สำหรับมือ 1 เป็นเป้าหมาย แต่ยอมรับว่าเป็นภาพที่ยังเห็นแค่เส้นรางๆ ไม่มีภาพตัดชัดเจน แต่แชมป์ PGA Tour คือภาพที่เห็นชัดและเป็นเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งตัวผมเองเชื่อและมั่นใจว่าหากร่างกายพร้อมและทุกอย่างลงตัว ผมสามารถชนะ PGA Tour ได้ เรื่องอันดับตั้งเป้าไว้นั่นคือท็อป 10 หากไปถึงจุดนั้นได้ถือว่าการเดินทางที่ยาวไกลครั้งนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ฝันของเด็กอ้วนๆ คนนั้นเมื่อร่วม 20 ปีก่อนเป็นจริงแล้ว

บทเรียนสำคัญที่สุดในปีแรกของ PGA Tour คืออะไร

        ความผิดพลาดนี่แหละสำคัญที่สุด มีหลายเรื่องที่เป็นประสบการณ์โดยตรง เรียนรู้ได้ทันที สิ่งที่ชัดเจน และส่งผลมากที่สุดคือความผิดพลาดที่เตรียมความพร้อมของร่างกายไม่พอ เรื่องนี้ส่งผลเยอะมาก ก่อนมา PGA Tour ก็คิดว่าตัวเองเตรียมมาดีแล้วพร้อมเต็มที่ เอาเข้าจริงที่เตรียมมาแทบใช้ไม่ได้ มันไม่พอจริงๆ ทั้งเกมที่หนัก การเดินทาง การรับมือกับความกดดันมากมาย ล้วนต้องเรียนรู้เพื่อรับมือให้ดีขึ้น

        ประสบการณ์ที่สั่งสมในการเล่นกอล์ฟในตอนนี้เปลี่ยนวิธีคิด และการเล่นของผมไปเยอะ หากใครติดตามกิรเดชมาตั้งแต่เด็กๆ จะทราบดีว่าเกมของผมนั้นบู๊ล้างผลาญ สู้ตลอด ลุยทุกโอกาส หากอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรีขอตายดีกว่า ให้มาวางตัวตีเซฟจะทำไปเพื่ออะไร มั่นใจแล้วใส่เต็มไม่ต่างอะไรกับโปรรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยแล้วเข้าทัวร์มา ผมกระหายอย่ากประสบความสำเร็จ อยากประกาศให้โลกรู้ว่าเจ๋ง จนลืมไปว่าทุกความผิดพลาดมันมีราคา

        พอมาถึงตอนนี้ในวัย 31 ปี ผมผ่านอะไรมาพอสมควรในโลกของกอล์ฟ ประสบการณ์สอนให้เข้าใจว่าไม่ต้องสู้ ไม่ต้องบู๊มันตลอดเวลาหรอก ถอยบ้างก็ได้หากทำให้เราอยู่ในสถานะที่ดีได้นานขึ้น ทั้งอันดับในทัวร์ โอกาสลุ้นแชมป์ อดทนให้พอ รอให้เป็นเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า เพื่อความสำเร็จที่ตัวเราต้องการอย่างแท้จริง ณ ตอนนี้ผมมองชีวิตก็แบบนี้แหละ

        ดังนั้น เป้าหมายสำคัญมาก อย่าไปย่ำอยู่กับอดีต มองไปข้างหน้าเพื่อเป้าหมายใหม่ เมื่อมีเป้าหมายก็ทำให้เราไม่หยุดคิด เมื่อไม่หยุดคิดก็ไม่หยุดทำ พัฒนาการจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่าเพิ่งหยุดขับเคลื่อนตัวของเราไปข้างหน้าให้ได้ 

 


ภาพ: ธีระพงษ์ พลรักษ์