KRUA.co

น่าน และ วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ | การย้ายบ้านจากน้ำหมึกและกระดาษ สู่ KRUA.CO โลกออนไลน์ของนิตยสารครัว

กาลเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้สองพี่น้องตระกูลหงษ์วิวัฒน์ ผู้เป็นทายาทของนิตยสารครัว แห่งสำนักพิมพ์แสงแดด ต้องเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก โดยก่อตั้งเว็บไซต์ KRUA.CO ขึ้นแทนที่นิตยสารครัว น่านทำหน้าที่คุมภาพรวมของเว็บไซต์ และปล่อยให้เรื่องความสวยงามเป็นหน้าที่ของวรรณแวว ทั้งนี้ก็เพื่อต่ออายุให้กับอุดมการณ์ของครอบครัวที่อยากมอบความรู้เรื่องอาหาร และสร้างประสบการณ์การกินที่ดีให้กับผู้คน โดยที่ไม่ยอมให้การเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มสื่อ ทำให้แพสชั่นเกี่ยวกับอาหารของพวกเขาหมดอายุ

Krua.co

 

การจากไปของนิตยสารครัว และการเกิดใหม่ของเว็บไซต์ KRUA.CO

     น่าน: ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา วงการสิ่งพิมพ์กระทบอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือนิตยสาร คนอื่นเริ่มล้มหายตายจาก แต่เราก็พยายามเปลี่ยนแปลง ลองดูว่าในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีมือถือเข้ามาแล้ว เราจะยังสามารถเปลี่ยนแปลงแต่คงความเป็นนิตยสารกระดาษไว้ได้ไหม วรรณเลยเข้ามาช่วยในเรื่องของการเปลี่ยนรูปลักษณ์อะไรต่างๆ

     วรรณแวว: การเปลี่ยนโฉมใหม่ประมาณ 1 ปีสุดท้ายมันคือการดิ้นครั้งสุดท้าย วันที่เราคิดว่าจะต้องปิดนิตยสารครัว มันคือช่วงที่สิ่งพิมพ์มีปัญหาอย่างรุนแรง รายได้ของนิตยสารถดถอย ทุกเดือนเหมือนควักเนื้อตัวเองไปเรื่อยๆ เราเข้ามาช่วยดูฝ่ายศิลป์ เปลี่ยนโฉมนิตยสารในช่วงปีสุดท้าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเสนอคอนเทนต์ให้พ่อ (ดร. ทวีทอง หงส์วิวัฒน์) ซึ่งเป็นบก. คุมเนื้อหาตอนนั้นด้วย เรารู้สึกว่าคอนเทนต์อาหารยังมีการคิดต่อยอดไปได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งในวันที่คุยเรื่องจะปิดตัว มันก็มีคอนเทนต์ต่างๆ ที่เตรียมการจะทำไว้แล้ว มันจึงเกิดความเสียดาย เราเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง คงไม่ปล่อยให้มันจบลงไป

     น่าน: ความจริงใครก็ตามที่อยู่ในวงการหนังสือหรือนิตยสารมาก่อน แล้วได้มีส่วนร่วมในการผลิต จะรู้ว่ากระดาษเป็นความรู้สึกที่ดีที่สุดแล้ว ออนไลน์จะให้คนละความรู้สึกกัน ซึ่งเราประทับใจกับ 12 ฉบับสุดท้ายมาก ที่รูปภาพอะไรต่างๆ มันออกมาสมัยใหม่ เป็นงานศิลปะ มันมากกว่าตำราอาหารหรือนิตยสารอาหารที่เราเคยทำมาตลอด 20 กว่าปี  แต่เราคงไม่สามารถยืนหยัดต่อต้านกระแสแบบนี้ได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่ายอย่างเดียว แต่ประเด็นหลักๆ คือเรื่องการเข้าถึงของผู้อ่านที่มีจำกัด เราได้รับเสียงชม แต่ปริมาณการกระจายของหนังสือยังเท่าเดิม เราเลยรู้สึกว่าเราต้องคิดอะไรอย่างอื่นแล้วล่ะ จึงตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะปิดตัวนิตยสาร

     เพราะเราเป็นครอบครัวที่มีความสุข สนุกกับคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร และเชื่อว่าเรื่องพวกนี้มันมีประโยชน์จริงกับทั้งชุมชน ความเป็นอาหารไทย และวิถีชีวิตของเราเอง เราอยากให้เรื่องนี้ตกทอดไปสู่เด็กรุ่นใหม่ที่เขาอาจไม่คุ้นกับการเปิดนิตยสารแล้ว จึงลุยออนไลน์ ทำเลย เกิดเป็นความตั้งใจที่จะทำเว็บไซต์ KRUA.CO ให้เป็น Food media online ของไทยจริงๆ

 

KRUA.CO แตกต่างจาก Food Blogger ทั่วไปอย่างไร

     น่าน: เรายังคงมีความเป็นนิตยสารอยู่ในเว็บไซต์ KRUA.CO  เราดึงชื่อ KRUA มาจากนิตยสารเพื่อให้รู้ว่าเราเป็นคนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ ความเป็นนิตยสารจึงทำให้เราทำมากกว่าการให้สูตรอาหาร ให้ภาพสวยๆ เรามีองค์ความรู้ที่คิดว่ามันจำเป็น เรามีเรื่องราวอัปเดตในโลกของอาหารที่ต้องพูดถึง ไม่ว่าจะเป็น Food waste หรือเอนเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เรายังมีการแบ่งเป็นพาร์ตเหมือนในนิตยสารอยู่ มีสูตรอาหาร มี food story ที่เป็นเรื่องราวสารคดี มีความเป็นท้องถิ่น และเพิ่มเติมในออนไลน์คือมีวิดีโอเข้ามา สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ขี้เกียจอ่าน ลำดับต่อไปเราจะมีเวิร์กช็อปสำหรับคนที่ยังไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ให้มาเจอเพื่อนที่มีประสบการณ์หรือคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

     วรรณแวว: ความคิดเวิร์กช็อปเกิดจากความรู้สึกว่าเราจบที่ออนไลน์ไม่ได้

เพราะหัวใจหลักของอาหารคือการลงมือทำ

     ไม่ว่าจะเป็นการทำ หรือกิน อาหารไม่ใช่อ่านแล้วจบ บั้นปลายมันคือการกระทำ ถ้าเว็บไซต์มันมีกลุ่มคนที่หนาแน่น เราก็อยากให้เขาออกมาเจอกัน เพราะการมาเจอกันมันให้ความรู้สึกแตกต่างจากการอยู่บนออนไลน์ที่คอมเมนต์กันไปมา

 

krua.co

 

การนำหัวใจหลักของนิตยสารครัวมาใส่ในเว็บไซต์ KRUA.CO

     วรรณแวว: หนึ่งเราอยากผลักดันให้คนกล้าทำอาหาร เพราะการทำอาหารกินเอง มันคือจุดเริ่มต้นที่นำพบไปกับสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องอาหาร หรือสุขภาพ เพราะฉะนั้นสูตรจึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำตามได้ ซึ่งในนิตยสารครัวที่ผ่านมาก็เน้นเรื่องของสูตรอยู่แล้ว เราภูมิในใจสูตรอาหารที่อยู่ในนิตยสารครัวและตำราอาหารมาก มันเป็นเหมือนจิตวิญญาณของสำนักพิมพ์แสงแดดมาตลอด

     สอง อยากมีความเป็นสารคดี เราไม่ได้จับอาหารที่เป็นกระแสอย่างเดียว เราจับอาหารในเชิงวิเคราะห์ และในเชิงวัฒนธรรมด้วย การรู้เรื่องอาหารมากขึ้นมันจะทำให้คุณค่าของอาหารมีมากขึ้น เราอาจจะกินมันอร่อยขึ้น สนุกขึ้น

     สุดท้ายคือ เรื่องของพวกของท้องถิ่น ของตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นิตยสารครัวให้ความสำคัญมาก มันไม่ใช่คอนเทนต์ที่ผลิตซ้ำในโลกออนไลน์ เราคิดว่าการหยิบเรื่องธรรมดาของคุณป้าคุณยายมาเล่ามันน่ารัก และดูเป็นเรื่องที่คนในโลกออนไลน์ไม่ได้หาเสพง่ายๆ

 

ทำไมคอนเทนท์เรื่องอาหารจึงไม่มีวันตาย

     วรรณแวว: มันเป็นเรื่องใกล้ตัว พื้นฐานที่สุดคือ การกินเป็นปัจจัย 4 เศร้าก็กิน สุขก็กิน สังสรรค์เจอเพื่อนก็กิน แต่มันก็มีระดับของอาหารที่อู้ฟู่มาก อาหารเป็นเรื่องเบสิกมาก แต่อาหารก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก การเลี้ยงต้อนรับนักการเมืองก็ต้องใช้อาหารของชาตินั้นเพื่อแสดงแสนยานุภาพของประเทศนั้นๆ ในยุคที่สิ่งพิมพ์ยังไม่ตายสนิท ตำราอาหารไม่เคยดรอป มันไม่ได้พุ่งปรี๊ดแต่ก็ขายได้เรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่พูดมาเสมอ

อาหารไม่ใช่แฟชั่น มันไม่มีอินไม่มีเอาต์

     แต่ในยุคที่สูตรอาหารสามารถหาจากออนไลน์ได้ มันก็เลยถึงช่วงปิดตัวของตำราอาหาร

     น่าน: เราเชื่อว่าอาหารไม่มีวันตายเพราะเราชอบมันจริงๆ พื้นฐานคือเรามีความสุขที่ทำ ต่อมาก็มาดูว่าโอกาสทางธุรกิจมันมีหรือเปล่า ถึงแม้ว่าเราจะมีปัญหาเรื่องธุรกิจสิ่งพิมพ์ เพราะว่ามือถือมันเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าทำให้คนไม่ซื้อหนังสือ แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจที่ให้ข้อมูลเรื่องอาหารจะอยู่ไม่ได้ เรามีคลังข้อมูลเกี่ยวกับอาหารมากมายที่เราสะสมมา และคอนเทนต์อาหารที่เราพิสูจน์มาแล้วว่ามันไม่มีวันหมดอายุ คนยังคงเสพเรื่องอาหารอยู่

 

krua.co

 

พฤติกรรมการเสพสื่อของคนดูยุคนี้ที่ชอบอะไรง่ายๆ เร็วๆ สวนทางกับความตั้งใจจะให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารของเราหรือเปล่า
     วรรณแวว: ไม่เชิง เราจะมีวิดีโอที่รองรับในส่วนนั้น กับส่วนที่เราอยากทำ มันมีทั้งคอนเทนต์ที่ต้องทำ เช่น ทุเรียนกำลังมา ต้องทำ กับคอนเทนต์ที่เราอยากทำจริงๆ เช่น ซีรีส์วิดีโอ heart made เป็นการตามหาร้านอาหารต่างๆ ที่ทำอาหารด้วยใจ ซึ่งแต่ละวิดีโอยาวมาก ตัดให้สั้นไม่ลง เป็นรายการที่ทำตามความสะดวกของเราเพราะไม่มีสปอนเซอร์ ซึ่งมันก็จะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ดู เราคิดว่า

คอนเทนต์ที่เราคิดว่ามันมีคุณค่า แม้จะไม่ได้อยู่ในกระแสตอนนั้น เราก็ควรทำ

     น่าน: แม้คนจะชอบเสพอะไรเร็วๆ แต่ถ้าคอนเทนต์ดีถึงยาวก็ดู คือตอนนี้โทรศัพท์เหมือนเป็นของเล่นใหม่ของทุกคน แต่สักพักมันจะกลายเป็นของปกติ เพราะฉะนั้นเราจะปล่อยให้เขาเป็นสมาธิสั้นไม่ได้หรอก ในฐานะคนทำคอนเทนต์ ถ้าเราจะไปทำแบบที่เขาชอบอย่างเดียวโดยไม่ได้สอนอะไรเขาเลย มันเหมือนเราไม่ได้ทำหน้าที่ของเรา

 

เสน่ห์ของสื่อออนไลน์คืออะไร

     น่าน: มันทำให้เราสามารถทำอะไรเลอะเทอะๆ ได้ เราสามารถจะค่อยๆ เติบโตไปกับโลกออนไลน์ได้โดยที่เราไม่ต้องสมบูรณ์แบบมาก่อน ในขณะที่นิตยสารจะมีความสมบรูณ์ มีรูปแบบวิธีการใช้ภาษาที่เป็นทางการ ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยทำออนไลน์มาก่อน เราพัฒนาในเฟซบุ๊กและยูทูบมาก่อน เลยมั่นใจว่าเราพอจะมีฐานอยู่บ้าง ไม่ใช่จบนิตยสารแล้วมาออนไลน์เลย เพียงแค่วิธีการนำเสนอมันคนละแบบ เดิมนิตยสารจะเป็นหลักแล้วเอาคอนเทนต์มาปล่อยในออนไลน์ ซึ่งมันไม่เวิร์กสำหรับโลกออนไลน์ เพราะว่าคนเสพคนละกลุ่มกัน

     วรรณแวว: แม้เราจะมียานแม่มากจากนิตยสารครัว แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือพอเป็นออนไลน์ คนออนไลน์คือคนที่เด็กลง จึงต้องปรับเรื่องการสื่อสารให้เด็กลงด้วย

     น่าน: มันก็สร้างประสบการณ์ที่ดีให้เราในแง่ของคนทำ มันเป็นโลกที่เปิดกว้างให้ลองผิดลองถูกได้ ตอนนี้ KRUA.CO ก็ยังคงพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ยังมีการแก้ไขตลอดเวลา

 

อะไรคือความหมายของการกิน และ KRUA.CO จะเสิร์ฟสิ่งนั้นให้กับคนอ่านวันนี้อย่างไร

     น่าน: การกินคือ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น มันคือชีวิต KRUA จึงเป็นตัวกลางที่เชื่อมจากรุ่นสู่รุ่น และทำให้ประสบการณ์การกินของคนแต่ละรุ่นมีประโยชน์ และมีความหมาย

     วรรณ: การกินหรืออาหารคือ คุณภาพชีวิต อาหารเป็นฐานที่จะนำไปสู่สิ่งต่างๆ ถ้าเรารู้จักที่จะกินให้เป็น มันจะนำเราไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งครัวจะเป็นสะพานนำผู้อ่านไปถึงจุดนั้น

 

krua.co