อรรถพล บัวพัฒน์

ครูใหญ่ อรรถพล: ครูไม่ใช่แม่พิมพ์ของชาติ เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ชังชาติ

ก่อนสังคมไทยจะรู้จัก ‘ครูใหญ่’ – อรรถพล บัวพัฒน์ ในฐานะ ‘ดาวปราศรัย’ ของการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองครั้งนี้ เขาคือติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทยให้นักเรียนมัธยมในจังหวัดขอนแก่น

        แรงบันดาลใจในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยของเขาเริ่มต้นจากตำราเรียนสังคมศึกษาสมัยมัธยม ที่ยกย่องเชิดชูนักรบในสมัยสุโขทัยและอยุธยาไว้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่แทบไม่มีพื้นที่ให้กับเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองจนเกิดการหลั่งเลือดและสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมายในเดือนตุลาฯ   

        เขารู้สึกถึงความฉ้อฉลของการยึดอำนาจผ่านการทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เข้าร่วมกลุ่มสนทนา ถกเถียงเรื่องการเมืองตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา จังหวะที่พลิกผันชีวิตให้กลายมาเป็นที่รู้จักในสนามของการต่อสู้ทางการเมืองเริ่มต้นขึ้นหลังจากเขาตัดสินใจจับไมค์ขึ้นเวทีเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับสมาชิกลุ่มขอนแก่นพอกันที 

        จากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมครั้งไหน หากเวทีใดมีครูใหญ่ มั่นใจได้เลยว่าจะต้องเต็มไปด้วยมุกเด็ดๆ ที่กัดได้เจ็บจี๊ดถึงใจ แถมยังชวนหวาดเสียวในหลายๆ ครั้ง 

        “ในยี่สิบเอ็ดคนที่ถูกจับไป ผมรู้จักทุกคน แต่ในยี่สิบเอ็ดคนที่ถูกจับไป มาจากขอนแก่นสิบเอ็ดคน นั่นคือแก๊งซอยจุ๊ของผม ถ้าน้องเหล่านี้ไม่อยู่ใครจะทำก้อยให้ผมกิน… ถ้าภายในวันนี้ก่อนตะวันตกดิน ผมไม่ได้มือซอยก้อยทั้งยี่สิบเอ็ดคนของผมกลับมา เราจะบุกไปถึงที่ที่คุมขังพวกเขาไว้ เราจะไปเอามือซอยก้อยของเรากลับมา…” – คำปราศรัยของครูใหญ่ในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม หลังจากผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย 21 คน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขัง 

        ยอมรับว่าลีลาและมุกตลกบนเวทีของเขาคือสีสันที่ดึงดูดให้ a day BULLETIN อยากมาพูดคุยทำความรู้จัก แต่การนั่งสนทนากันกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งเรื่องการศึกษา ความเป็นครู คนรุ่นใหม่ และการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ฯลฯ พิสูจน์ให้เห็นว่า คนคนนี้ไม่ได้มีดีแค่คารมในการปราศรัยเท่านั้น แต่ความคิดของเขายังแหลมคม กระตุกความคิด และเปลี่ยนมุมมองในหลายๆ เรื่องของเราไปตลอดกาล 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

ในฐานะครูสอนวิชาสังคม คุณคิดเห็นอย่างไรกับตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทย

        คงต้องย้อนกลับไปช่วงที่เราเรียนประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยตั้งแต่สมัยมัธยม ผมว่ามันไม่ใช่ตำราที่กระจ่าง แต่มันกลับทำให้เกิดความสงสัยว่า เฮ้ย ทำไมประวัติศาสตร์ไกลๆ อย่างสมัยสุโขทัย อยุธยา ที่ผ่านเวลามาหลายร้อยปีถึงมีให้เราอ่านเป็นเล่มๆ แต่พอเป็นประวัติศาสตร์ใกล้ๆ เมื่อสี่สิบห้าสิบปีที่แล้วอย่าง 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬถึงมีให้อ่านแค่หน้าเดียว 

        พอข้อมูลน้อยก็ทำให้เราสงสัยและอยากรู้ เราจึงเริ่มหาหนังสือที่ไม่ใช่ตำราเรียนมาอ่าน แต่ก็ยังเป็นหนังสือที่ให้คำตอบได้เฉพาะเรื่องของข้อมูล ยังไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องของแนวคิด ช่วงที่เราได้คำตอบในเรื่องของแนวคิดจริงๆ คือช่วงมหา’ลัย จากการได้สนทนา ได้ถกเถียงกับเพื่อนๆ 

ผลการเรียนวิชาสังคมสมัยมัธยมของคุณเป็นอย่างไร 

        วิชาภาษาไทยกับสังคมเป็นวิชาท็อปของผม เป็นวิชาที่ผมมีความสุขกับการเรียน ส่วนวิชาอื่นนอกจากนี้คือ สอบผ่านเป็นเรื่องตลกสอบตกเป็นเรื่องธรรมดา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ผมเททิ้ง ผมคือเด็กวิทย์หัวใจศิลป์ ผมคือพวกวิทย์กบฏ ผมรู้สึกว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของเราที่บังคับให้เด็กมัธยมต้องเลือกสายตั้งแต่จะเข้า ม.4 มันปิดกั้นความสามารถของตัวเอง เรายังไม่ได้ค้นหาตัวเองเลย แต่เราต้องเลือกแล้ว ตอนนั้นผมเลือกวิทย์-คณิต โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเราชอบอะไร รู้แค่ว่ามันเอาไปสอบได้ทุกอย่าง ก็เลยเลือกเผื่อๆ ไว้ก่อน พอเรียนจบ ม.4 จึงรู้ตัวว่าเราจะไม่ไปทางวิศวะ ไม่ไปทางหมอ ตอนนั้นวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จึงกลายเป็นภาระในชีวิตอย่างมาก ผมไปเรียนเพราะว่าผมแค่ต้องไปลอกการบ้านส่งเท่านั้นเอง 

        ผมยังเคยคิดว่าที่เราชอบวิชาภาษาไทยกับสังคม เพราะลึกๆ แล้วเรามีปมด้อยตรงที่เราตกวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวมทั้งภาษาอังกฤษหรือเปล่าวะ ทุกวันนี้ผมยังสนทนาภาษาอังกฤษไม่ได้เลย สมัยเรียนมัธยมต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษาไปขอเกรดหนึ่งให้ อาจารย์ยังบอกเลยว่าไม่ต้องสอบแก้หรอก สอบแล้วก็ต้องสอบอีกอยู่ดี เปลืองกระดาษ ผมอาจจะมีปมด้อยเรื่องนี้ก็ได้ 

หนังสือเล่มไหนที่เปิดโลกทัศน์ทางการเมืองของคุณ 

        จริงๆ แล้วหนังสือเปิดโลกทัศน์ทางการเมืองของผมน้อยมาก เพราะผมเป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือ แต่หนังสือเล่มไหนที่มีรูปเยอะๆ ผมจะชอบดู ผมว่าสิ่งที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของผมจริงๆ คือการสนทนา ผมชอบคุยกับคน ชอบหลอกถามข้อมูลจากคนอื่น บางทีผมก็จะไปซื้อหนังสือมาแล้วบอกนักเรียนบอกเพื่อนว่าเล่มนี้ดีมากเลย ไปอ่านดูสิ หลังจากนั้นเราค่อยมาหลอกถามเขาว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง (หัวเราะ) ดังนั้นผมจึงนิยามตัวเองว่าเป็นคนขี้เกียจอ่าน แต่ชอบฟัง ชอบสนทนา ชอบที่จะถกเถียงกับคนอื่น 

ครูไม่อ่านหนังสือ แล้วจะไปปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านได้ยังไง 

        ผมก็ไม่เคยปลูกฝังว่าเด็กต้องอ่านหนังสือนะ (หัวเราะ) ปัจจุบันผมเป็นติวเตอร์ ไม่ได้สอนในโรงเรียน ฉะนั้น นักเรียนที่มาเรียนกับเราเขาต้องการอะไรที่ย่อยแล้ว ผมก็เลยต้องเล่า แล้วผมก็คิดว่าครูสังคมที่ดีต้องเป็นนักเล่า ครูจะต้องแตกฉานในประเด็นนั้นๆ แล้วเล่าให้นักเรียนฟัง เมื่อนักเรียนสามสิบห้าสิบคนในห้องเรียนได้ฟัง เขารู้สึกอย่างไร ครูต้องเปิดพื้นที่ให้เขาถกเถียงกัน อะไรที่เขาเชื่อ อะไรที่เขาไม่เชื่อ อะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ให้เด็กเขาสรุปเอง ครูอย่าสรุป แล้วข้อสรุปเหล่านั้นถือเป็นข้อคิดเห็นที่ไม่ควรจะเป็นอะไรที่เอามาให้คะแนน เพราะการให้คะแนนมันหมายความว่าเขาต้องพยายามหาข้อคิดเห็นที่ถูกต้อง แต่ผมคิดว่าเขาอาจจะหาข้อคิดเห็นที่ผิดก็ได้นะ อย่างน้อยเขาก็มีข้อคิดเห็นที่เป็นของเขา 

การปล่อยให้เด็กเชื่อในแบบที่เขาเชื่อ ให้เขาตีความประวัติศาสตร์ตามจินตนาการของตัวเอง จะทำให้เกิดความงอกงามในแง่ไหนบ้าง 

        ผมไม่ฟันธงว่ามันจะงอกงามหรือมันจะฉิบหาย แต่อย่างน้อยมันไม่ใช่การบังคับให้เขาต้องเชื่อต้องคิดแบบนี้ เพราะประวัติศาสตร์มันก็ถูกเขียนโดยใครก็ไม่รู้ ในเรื่องเรื่องเดียวกัน ถ้าเราไปอ่านพงศาวดารจีน พงศาวดารไทย พงศาวดารเชียงแสน โยนก พม่า ลาว ก็เขียนไว้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราควรจะถามเขาว่าเพราะอะไรเขาถึงเชื่อ แล้วก็ไม่ต้องไปบอกว่าที่เขาเชื่อแบบนั้นมันถูกหรือผิด เราแค่ทำให้มันเกิดการแสดงความเชื่อที่หลากหลายออกมา วันนี้เขายังเชื่อแบบนั้นก็ไม่เป็นไร แต่การได้ฟังคนอื่นเอาไว้ก็อาจจะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความเชื่อในอนาคต หรือเราเองนี่แหละที่อาจจะเปลี่ยนความเชื่อในอนาคต เพราะว่าเราได้มีโอกาสฟังในสิ่งที่เด็กเขาเชื่อ 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

ส่วนใหญ่คุณสอนนักเรียนวัยไหน

        มัธยมปลายที่กำลังจะเข้ามหา’ลัย เราจะใช้เวลาในห้องเรียนสำหรับการสอนเนื้อหาเพื่อจะสอบก่อน เนื่องจากผมเป็นติวเตอร์ เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ผมก็ปลอบใจตัวเองอยู่ว่าฉันไม่ใช่คนสร้างมันขึ้นมา ฉันแค่เข้ามาทำมาหากินกับมัน แล้วก็เติมเต็มมันบ้าง ก็ต้องพูดกันตรงๆ วันหนึ่งอาชีพอย่างผมก็ควรจะมีน้อยลงหรือหมดไป แต่วันนี้ผมยังอยู่ได้ก็เพราะว่าการศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำและความไม่สมบูรณ์อยู่จริงๆ 

        ในห้องเรียนผมให้ข้อมูลความรู้เขาอย่างเต็มที่ ใช้เวลาให้คุ้มค่ากับที่เขาจ่ายเงินมา ถ้าพอเหลือเวลาบ้างก่อนเลิกเรียนหรือถ้าเด็กเต็มใจที่จะอยู่ต่อหลังเลิกเรียนเพื่อคุยกันเราก็จะคุย ส่วนมากเขาจะชอบตอนนั่งคุยมากกว่าการเรียนในชั่วโมงเรียนอีกนะ ถ้าวันนี้มีเรียนกับผมสามชั่วโมง แต่สี่ชั่วโมงหลังจากนั้นคือการคุยในเรื่องที่มันอยู่นอกห้องเรียน เช่น เรื่องการเมือง สังคม หรือศาสนาไปเลย 

เขาถามอะไรคุณบ้าง 

        จะมีเด็กอยู่หลายกลุ่ม ถ้าเป็นเด็กที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะ ‘ตาสว่าง’ คำถามก็จะประมาณว่า จริงไหมเรื่องนั้น จริงไหมเรื่องนี้ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นพวกที่เขามีข้อมูลมาแล้ว มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “ผมว่า…” “ครูครับเรื่องนี้ผมว่า….” บางทีไม่ใช่แค่เขาถามผมนะ มันคือการแลกเปลี่ยน พอหมดช่วงเวลาที่เราใช้กับเนื้อหาที่ต้องสอบ ผมไม่ใช่ครูแล้วนะ ผมกับเขาคือเพื่อนที่นั่งสนทนากัน บางทีก็รู้สึกว่า เฮ้ย ว้าวว่ะ เราว้าวกับเขา มึงเอามาจากไหนวะ มึงคิดได้ยังไงวะ ว้าว ถ้ามีพานไหว้ครู ผมสามารถไหว้เขาได้นะ 

เขาคิดเห็นอย่างไรกับอนาคตของตัวเอง 

        เด็กนักเรียนเขาเครียดนะว่าเขาจะต้องเติบโตไปในโลกแบบไหน ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นผมที่อายุสามสิบกว่าจะแตกต่างจากเด็กเจนฯ นี้ ผมเกิดทันยุคที่ชนบทกับเมืองยังมีความแตกต่างห่างไกลกันอยู่มาก แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ชนบทแล้ว ผมว่ามันคือเมืองเล็ก ผมยังเกิดทันได้เห็นหมู่บ้านที่ยังเป็นทางลาดยาง ทันยุคที่ต้องไปตักน้ำมาเก็บไว้อาบ ในยุคของเราสตรอเบอรีกิโลละหลายร้อยบาท ความเข้าใกล้สตรอเบอรีมากที่สุดคือการดมตูดยางลบแล้วจินตนาการถึงรสชาติของมัน กว่าจะได้ลองชิมจริงๆ ก็สมัยมัธยมปลายแล้ว แต่เด็กยุคนี้ได้กินสตรอเบอรีในราคากิโลละไม่กี่สิบบาท 

        ยุคผมต้องดูหอไอเฟลในกระดาษสักอย่างหรือในหนังสือเรียนสักเล่ม แต่เด็กยุคนี้เขาสามารถดูหอไอเฟลผ่านอินเทอร์เน็ต อยากดูมุมไหนก็ปัดไปดูได้ เขาไปต่างประเทศในช่วงซัมเมอร์ เขาเห็นโลกกว้างกว่าเรา เขาอ่านหนังสือมากกว่าเรา เขาจึงมีหัวคิดที่ไกลกว่าเรา จึงไม่แปลกเลยที่เขาจะเกิดการเปรียบเทียบว่าเราจะอยู่จุดนี้จริงๆ เหรอ เขาไม่พอใจที่จะย่ำอยู่ตรงนี้ เพราะเขามองเห็นว่าประเทศนี้มีศักยภาพและไปได้ไกลกว่านี้ ดังนั้น ที่บอกว่าเด็กยุคใหม่ชังชาติ ผมมองว่ามันไม่ใช่ เขาอยากให้ชาติมันพัฒนาไปกว่านี้ ไม่ได้อยากให้ชาติมันหยุดอยู่แค่ตรงนี้ เขาโคตรรักชาติเลย แต่ความรักชาติในแบบของเขาคือการบอกว่ามันไปได้มากกว่านี้ แต่คนที่ต้องการให้มันหยุดอยู่แค่นี้เลยไปบอกว่าเขาชังชาติ 

แต่การแสดงออกถึงความรักชาติในแบบของเขาอาจทำให้บางคนรู้สึกว่าก้าวร้าวรุนแรง

        ผมพยายามพูดคุยกับพวกเขาถ้ามีโอกาส ผมพยายามที่จะบอกกับน้องๆ นักเรียนนึกศึกษาว่า สิ่งที่เราเรียกร้องแม่งโคตรถูกต้อง โคตรดี โคตรจริงใจเลย แต่เราอย่าลืมว่าคนที่เรากำลังเรียกร้องอยู่เขาไม่ได้มีมโนทัศน์แบบเดียวกับเรานะ นักเรียนอาจจะถูกตั้งคำถามว่าก้าวร้าวเกินไปมั้ย แต่ผมมองว่าหลายๆ เรื่องเขากำลังต่อสู้เพื่อครูของเขานะ 

        เขาต้องการครูที่ไม่ต้องไปเป็นภารโรง ไม่ต้องไปเป็นยามนอนเฝ้าโรงเรียน ไม่ต้องไปเป็นแม่ค้าที่สหกรณ์ตอนกลางวัน ไม่ต้องไปทำงานธุรการจนปวดสมอง ไม่ต้องไปทำเรื่องการเงินจนหัวเซอะหัวเซิง ไม่ต้องไปทำเอกสารการประเมินเยอะแยะจนไม่มีเวลามาเตรียมการสอนเพื่อเขา เขากำลังต่อสู้เพื่อครู เพียงแต่การต่อสู้ของเขาอาจจะดูรุนแรง ก้าวร้าว ผมนิยามว่ามันเป็นไปตามแบบวัยรุ่น 

        ครูไม่ต้องไปห่วงเรื่องชื่อเสียงโรงเรียนเลย เพราะครูไม่ได้ปักตัวย่อโรงเรียนไว้ที่หน้าอกเหมือนนักเรียน ดังนั้น ชื่อเสียงของโรงเรียนหมายถึงชื่อเสียงของนักเรียนมากกว่าหรือเปล่า การออกมาเรียกร้องของเขาก็คือการบอกว่าเขาเลือกที่จะมีชื่อเสียงแบบนี้ มันโคตรน่าภูมิใจใจเลยนะที่นักเรียนโรงเรียนฉันกล้าแสดงออก กล้าเรียกร้อง ไม่ใช่นักเรียนโรงเรียนฉันเงียบ ไม่ใช่นักเรียนโรงเรียนฉันเรียบร้อย ไม่ใช่นักเรียนโรงเรียนฉันไม่พูด แต่นักเรียนโรงเรียนฉันแม่งโคตรมีความคิดเลย 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

คุณเป็นครูอยู่ในระบบโรงเรียนนานแค่ไหน 

        ปีครึ่ง ซึ่งเวลาปีครึ่งของผมนี่คืออยู่มาสามโรงเรียนนะ โรงเรียนแรกเป็นโรงเรียนรัฐบาล ผมบรรจุเข้าไปเป็นครูอัตราจ้าง ผมได้เห็นวิธีการทำงานแบบครูโรงเรียนรัฐบาลที่ต้องทำงานเอกสารเยอะมาก สิ้นเทอมต้องมาทำรายงานส่งเป็นเล่มๆ เราต้องเสียเวลามากมายไปกับสิ่งเหล่านี้ จนไม่มีเวลามาเตรียมการสอน พอจบตรงนั้นผมก็ไม่ต่อสัญญา 

        จากนั้นผมก็ไปเป็นครูในโรงเรียนเอกชนที่เป็นโรงเรียนทางเลือก ค่าเทอมสองแสน เป็นโรงเรียนที่ฟรีสไตล์มาก เด็กแทบจะไม่ใส่ชุดนักเรียนมาโรงเรียนเลย ใส่รองเท้าแตะมาก็ยังได้ แต่มันก็ยังมีมายด์เซตของครูที่ยังคิดว่ามีอำนาจเหนือนักเรียนอยู่ ยังมีความคิดว่าครูจะต้องแต่งตัวเรียบร้อย พูดจาอ่อนหวาน อย่ากระโชกโฮกฮาก 

        แล้วผมก็ย้ายไปอยู่อีกโรงเรียนหนึ่งที่ให้โอกาสกับคนยากไร้ ซึ่งช่วงนั้นวันเสาร์อาทิตย์เราก็ยังติวหนังสือให้เด็กไปด้วย ผมติวหนังสือมาตั้งแต่สมัยมหา’ลัยแล้ว และอาชีพนี้ก็ยังคงอยู่ถึงแม้ผมจะเข้าไปเป็นครูในระบบก็ตาม สุดท้ายพอเราได้เห็นชีวิตของครูจากในโรงเรียนทั้งสามแบบแล้วผมก็คิดว่าเราเอาตัวเองไปอยู่ข้างนอกแล้วก็ทำในสิ่งที่เราอยากทำดีกว่า อาชีพติวเตอร์หนังสือจึงเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรามาจนถึงทุกวันนี้ 

ฝันอยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมั้ย 

        ถ้ามันจะเป็นไปได้นะ (หัวเราะ) แต่ผมว่ามันจะเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ผมฝันแต่ผมก็ไม่ได้อยากเหนื่อยขนาดนั้น ถ้าผมอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษา ผมพูดบ่อยๆ เดี๋ยวก็มีคนฟัง เราขายไอเดียให้คนอื่นเขาเอาไปทำดีกว่า แล้วเราก็ไปใช้ชีวิตของเรา 

อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทนเป็นครูอยู่ในระบบไม่ได้อีกต่อไป

        มันสะสม ไม่มีฟางเส้นไหนเป็นฟางเส้นสุดท้าย เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับคนในครอบครัวไม่ได้เลิกกันเพราะปัญหาเดียว แต่มันคือปัญหาสะสม สิ่งที่เราเจอมันคือการสะสมมาเรื่อยๆ ถ้าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษาเป็นภรรยาของเรา ตอนนี้เราอยากหย่าขาดจากเขาแล้ว ตอนแรกก็คิดนะว่าเขาสวยดี แรกๆ ก็คิดว่าอยู่กับคนคนนี้น่าจะมีความสุข อยากจะอยู่กับเธอไปนานๆ เหลือเกิน แต่พอได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้วกลับพบว่า ฮื้อ อย่าเลยดีกว่า 

เท่ากับว่าคุณแต่งงานมาสามครั้งและหย่ากับภรรยาไปสามคนแล้ว

       (หัวเราะ) ถือว่าเป็นการแต่งครั้งเดียวแต่แค่ลองเปลี่ยนบ้านอยู่แล้วกัน 

ภาพโรงเรียนในฝันของคุณเป็นแบบไหน

        เรียนน้อยกว่านี้ นักเรียนมีเวลามากกว่านี้ พูดเป็นนามธรรมค่อนข้างยาก แต่ถ้าพูดในเชิงรูปธรรม สิ่งแรกเลยก็คือไม่ต้องไปกำหนดว่าเด็กจะต้องจบสายไหน ม.6 ก็คือ ม.6 ให้เขาเลือกอะไรที่เขาอยากจะเรียนได้ด้วยตัวเอง ถ้าอยากเรียนฟิสิกส์เยอะๆ คุณต้องมีให้เขา ถ้าเขาอยากเรียนอะไรให้เขาวางแผนตัวเอง ฉันอยากเป็นหมอ ฉันขาดอะไร ฉันจะเติมอันนั้น ฉันเก่งเลขอยู่แล้ว ฉันศึกษาด้วยตัวเองได้ แต่ฉันยังขาดฟิสิกส์ ดังนั้น ฉันจะเอาชั่วโมงคณิตฯ ไปใช้กับฟิสิกส์ 

        ส่วนวิชาที่เป็นเชิงส่งเสริมทักษะชีวิต ผมขอให้ไม่ต้องมีการสอบ ไม่ต้องวัดคะแนนได้มั้ย เช่น การงานอาชีพและเทคโนโลยี ผมงงมากนะว่าทำไมผมอยู่ ม.1 แล้วผมต้องมาเย็บ เนา ด้น ปัก ชุน ผมแทงมือตัวเองจนเลือดสาดไปหมดแล้ว ทั้งๆ ที่ถ้าผมมีเงินสิบบาท ผมสามารถเอาไปให้ช่างเย็บผ้าหน้าโรงเรียนช่วยเย็บให้ก็ได้ ทำไมทุกคนต้องเย็บผ้าเป็นเหมือนกันทั้งหมดเหรอ 

        ทำไมเราไม่เปลี่ยนวิชาการงานอาชีพฯ จากการเรียนเย็บ เนา ด้น ปัก ชุน เป็นการเปิดให้นักเรียนไปลองศึกษาอาชีพอะไรก็ได้มาสักหนึ่งอาชีพ แล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง มาสาธิตให้เพื่อดู หรือจะนำเสนอยังไงก็ได้ โดยครูมีหน้าที่แค่บอกว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็เพราะว่าเธอยังหาข้อมูลไม่ดีพอ ไปศึกษามาใหม่ แล้วคาบหน้าค่อยมานำเสนอกับเพื่อน ใครศึกษามาดีแล้วก็ให้ผ่าน

        ลูกชาวนาในปัจจุบันทำนาไม่เป็นแล้ว ไม่รู้จักการดำนา ไม่รู้ว่าถอนต้นกล้าข้าวทำยังไง ไม่รู้ว่าวิธีการปล่อยน้ำเข้านาต้องทำแบบไหน ไม่รู้แม้กระทั่งว่าพ่อแม่ตัวเองขายข้าวได้ตันละเท่าไหร่ เพราะตื่นเช้ามาพ่อแม่ไปทำนา ลูกใส่เสื้อขาวไปโรงเรียน ไม่เคยต้องไปทำนากับพ่อแม่ การส่งต่อทักษะอาชีพจึงไม่มี แต่ถ้าครูลองให้โจทย์ว่าในเทอมนี้ให้เขาไปศึกษาอาชีพมาอย่างน้อยหนึ่งอาชีพ เขาก็อาจจะไปศึกษาจากอาชีพใกล้ตัวอย่างอาชีพชาวนาที่พ่อแม่เขาเป็นก็ได้ 

        แล้วในห้องเรียนห้องหนึ่งก็จะมีการยกเอาอาชีพมานำเสนอมากถึงสามสิบหรือห้าสิบอาชีพเลย มันว้าวมากเลยนะ ถ้าเราทำแบบนี้ในทุกๆ ปีจนจบ ม.6 นักเรียนเขาก็จะได้ฟังเรื่องราวของคนหลายร้อยอาชีพ และเขาก็อาจจะได้ค้นพบอาชีพในฝันตั้งแต่ ม.2 ม.3 แล้วก็ได้ นี่คือวิชาการงานอาชีพฯ แบบที่ควรจะเป็น 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

ปัจจุบันครูยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติอยู่หรือเปล่า 

        คำคำนี้เลยนะ ถ้าผมมีอำนาจผมจะตบปากแตกคนที่พูดคำว่าแม่พิมพ์ของชาติ เด็กเป็นวัสดุที่แตกต่างกัน บางคนเขาเป็นเหล็ก บางคนเขาเป็นเพชร บางคนเขาเป็นพลอย บางคนเขาเป็นกรวด บางคนเขาเป็นทราย บางคนเขาเป็นหิน บางคนเขาเป็นดิน แล้ววัสดุเหล่านี้มันขึ้นรูปแตกต่างกัน ถ้าเป็นเพชรเป็นพลอยคุณต้องเจียระไน เป็นหินคุณต้องขัด เป็นเหล็กคุณต้องหล่อ เป็นทรายคุณต้องปั้น เป็นดินคุณต้องปั้น ดังนั้น คำว่าแม่พิมพ์คือคุณมีมาตรฐานตั้งไว้ว่ามันจะต้องได้รูปแบบแบบนี้ แล้วพอมันไม่ได้ คุณจะรู้สึกผิดหวัง เด็กเหล่านั้นจะกลายเป็นนักเรียนเลว เป็นนักเรียนที่ไม่ดี ไม่ประสบความสำเร็จ ผมมองว่าถ้าผมได้เป็นรัฐมนตรีศึกษาฯ อย่างแรกโดยไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรเลย ผมจะประกาศยกเลิกคำว่า ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ เปลี่ยนเป็น ‘แม่แรงแห่งชาติ’ 

หมายความว่าอย่างไร 

        แม่แรงแห่งชาติไม่สนหรอกว่าวัสดุนั้นคืออะไร หนักแค่ไหน แต่หน้าที่ของแม่แรงคือยกสิ่งนั้นให้สูงขึ้นในทางที่มันควรจะเป็น คือการส่งเสริมเขา ไม่ใช่การจำกัดหรือบอกว่าเขาต้องเป็นอะไร ไม่ใช่การบังคับเขาให้ออกมาตามพิมพ์ที่คุณต้องการ 

ใครคือครูที่ทำให้คุณเป็นคุณได้อย่างทุกวันนี้ 

        เยอะมากเลยนะ ครูคนแรกคือแม่ แม่ที่ไม่ได้อยู่กับผมในช่วงประถมฯ เพราะต้องไปทำงานต่างประเทศ มันทำให้ผมได้รับการสั่งสอนน้อยมาก ผมจึงมีกรอบน้อยมาก ครูคนที่สองคือพ่อ พ่อเป็นพ่อที่ยุ่งมากในช่วงที่แม่ไม่อยู่ มันเลยทำให้ผมมีเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน 

        ครูคนต่อมาน่าจะเป็นครูประถมหลายๆ คน ถึงแม้เราจะเป็นนักเรียนที่ช้า แต่เขาก็ยังประคับประคองเรามาได้ ส่วนช่วงมัธยมก็ต้องเป็นครูผาณิต นามวงษ์ ที่เจ้าระเบียบมากจนทำให้เราเข้าใจว่าบางทีระเบียบก็เป็นสิ่งจำเป็น บางทีระเบียบมันก็อำนวยความสะดวกในชีวิต ครูสมพิศ จังอินทร์ ที่หยิบยื่นหนังสือหลายๆ เล่มให้ ที่ชวนตั้งชมรมสังคมและประวัติศาสตร์ ชวนหารือและขุดคุ้นประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ครูวศิน หีบแก้ว ที่บางทีแกก็ขี้เกียจแล้วให้ผมไปสอนแทน มันทำให้ผมได้ความรู้นอกเหนือจากการนั่งฟังครูสอน ครูสาวิตรี ทัดพินิจ ครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นหัวหน้าหมวดภาษาอังกฤษและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา แกคือคนที่ไปขอเกรดหนึ่งวิชาภาษาอังกฤษให้ผม ถึงแม้ว่าเฉดสีของผมกับครูจะแตกต่างกันแต่เราก็คุยกันได้เสมอ ครูวิรัช เจริญเชื้อ และ ครูสมยศ รัตนถา ที่เป็น ผอ. แล้วเปิดโอกาสให้ผมเข้าไปตบโต๊ะ พูดคุยถกเถียงถึงในห้อง ทำให้ผมกล้าถกเถียงกับผู้มีอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน 

        ถ้าเป็นสมัยมหา’ลัย ก็คือ อาจารย์อนงค์ รุ่งแจ้ง ที่ถ่ายทอดทักษะการพูดการคิดให้กับผม อาจารย์จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา ที่เป็นผู้สร้างความกดดันต่างๆ และให้ผมรู้ว่าผมสามารถต่อสู้กับความกดดันได้นี่หว่า อาจารย์มารศรี สอทิพย์ ที่เป๊ะกับงานวิชาการมากและทำให้ผมรู้ว่าผมไม่เหมาะกับงานวิชาการ อาจารย์รัตนา จันทร์เทาว์ ที่ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วครูไม่ต้องเป็นคนเรียบร้อยก็ได้ เราเล่นกับเด็กนักเรียนก็ได้นะ 

        ถ้าเป็นฝ่ายความคิดก็ขอบคุณ อาจารย์พุทธรักษ์ ปราบนอก ในเรื่องของศาสนาและแนวคิด อาจารย์เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ และ อาจารย์คำแหง วิสุทธางกูร ที่ต่อให้อาจารย์สั่งผมไปอ่านหนังสือเพื่อมาคุยกัน แต่ผมไม่อ่าน อาจารย์ก็ไม่ด่า แล้วก็ยังยินดีที่จะให้ผมซักไซ้ในขณะที่ผมไม่อ่านหนังสือมา (ยิ้ม) 

ครูมีหน้าที่ปลูกฝังคุณค่าประชาธิปไตยให้เด็กด้วยหรือเปล่า 

        โคตรเป็นหน้าที่หลักเลยนะ ผมมองว่าไม่ใช่แค่ปลูกฝัง ไม่ใช่เอาแค่บอกว่าเธอต้องมีประชาธิปไตย แต่ครูต้องดำเนินชีวิตแบบนั้น เพื่อให้เขาซึมซับ เริ่มจากครูต้องไม่ใช่ผู้สั่งและผู้สอน แต่ครูจะต้องเป็นผู้ถามและผู้ฟังด้วย นักเรียนจึงจะรู้สึกว่าสังคมนี้ไม่ใช่แค่การฟังคำสั่งอย่างเดียว แต่เขาสามารถถามและโต้ตอบกับครูได้ ประชาธิปไตยในห้องเรียนเป็นสิ่งจำเป็น 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

ครูอย่างคุณไม่น่าจะดีเด็กใช่มั้ย 

        ผมไม่ตี ผมจะไซโค (หัวเราะ) แต่ผมอาจจะไม่ใช่คนที่หัวสมัยใหม่ที่มองว่าต้องไม่ตีเด็กหรือไม่แตะต้องร่างกายเด็กเลย ผมยังมองว่าตีได้บ้าง แต่ก่อนที่ครูหรือพ่อแม่จะตีเด็ก ลองมองมาที่มือของตัวเองก่อนว่า นี่คือโทสะหรือนี่คือเหตุผล ถ้าคุณตีเขาด้วยความหน้านิ่วคิ้วขมวด เธอมานี่ แล้วฟาดเอาๆ นี่คือโทสะแน่นอน แต่ถ้าคุณไม่ใช้โทสะ คุณจะรู้ว่าก่อนจะไปถึงขั้นของการตี มันมีขั้นของการพูดคุย ขั้นของการเตือน หรือแม้แต่ขั้นของการกะพริบตาใส่ แค่ครูกะพริบตาใส่นักเรียนด้วยแววตาที่ไม่พอใจก็ทำให้เขาสะดุ้งได้แล้วนะ ยังไม่จำเป็นต้องถึงขั้นลงมือรุนแรงด้วยซ้ำ

        ผมสังเกตเห็นว่าครูที่ใช้ความรุนแรง เขามักจะอ้างเหตุผลว่าฉันมีหน้าที่สร้างคน ฉันไม่จำเป็นต้องทำให้ใครรักก็ได้ คุณอาจจะเห็นเด็กนักเรียนนั่งเรียนกับคุณ เขาตั้งใจฟัง ตั้งใจท่องจำในสิ่งที่คุณไปขู่บังคับให้เขาต้องจำ คุณอาจจะคิดว่า นี่ไง ฉันทำแบบนี้ได้ผลเพราะพวกเขาก็จำได้ แต่มันได้ผลแบบไม่มีความสุข มันอาจจะเอาไปทำข้อสอบได้แค่ในตอนนั้น แต่ผ่านสักพักเขาก็ลืม ความรู้ที่จะฝังและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขารู้สึกมีความสุข ครูจึงต้องเป็นเพื่อนกับนักเรียนให้มากที่สุด มากกว่าการเป็นสิ่งเคารพเชิดชูบูชา จริงๆ แล้วครูต้องการความเคารพหรือความรักจากนักเรียนล่ะ คำถามมีอยู่แค่นี้เลย 

ทำไมครูที่นักเรียนรักถึงมักอยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียนไม่ได้ 

        ก็มันไม่ใช่ครูในแบบอุดมคติที่หนังสือมาตรฐานวิชาชีพรูบอกไว้ ผมเคยเจอข้อสอบวัดความเป็นครูที่ถามว่า ครูที่ดีควรเป็นแบบไหน ผมตอบเลยว่าใกล้ชิดกับนักเรียน แต่คำตอบของผมผิด โดยเขาให้เหตุผลว่าถ้าใกล้ชิดกับนักเรียน นักเรียนจะไม่เคารพ แต่ผมชอบที่จะใกล้ชิดกับนักเรียน ผมคิดว่ามันไม่ผิดที่ผมจะกินข้าววงเดียวกับนักเรียน มันไม่ผิดที่ผมจะซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปแว้นกับนักเรียน หรือการที่ผมจะกินลูกชิ้นปิ้งหน้าโรงเรียนกับเขามันจะเป็นอะไรไปล่ะ 

        ผมเคยถูกตำหนิเรื่องที่ผมใช้ห้องน้ำร่วมกับนักเรียน เธอเป็นครูเธอไปเข้าห้องน้ำกับนักเรียนได้ยังไง มันไปสูบบุหรี่กันนะนั่น ก็ใช่ไง ฉันเป็นครู ถ้าฉันเห็นเด็กสูบบุหรี่ ฉันจะได้บอกมันได้ไงว่ามึงอย่าไปสูบให้มันมีกลิ่นตามตัว เราอาจจะไม่ได้สั่งห้ามเขาในทันที แต่เราชี้โทษให้เห็นว่ามันไม่หล่อหรอก มันเหม็น สาวเขาเหม็น ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องโรคปอด ยังไม่ต้องไปตีเขา มึงชอบเหรอที่จะให้สาวเหม็นบุหรี่มึง แค่นี้ก็พอแล้ว 

การออกมาต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองทำให้คุณใช้ชีวิตลำบากขึ้นไหม

        ลำบากขึ้นพอสมควร งานของเราก็ลดน้อยลง เพราะงานบางส่วนของเราคือการทำงานร่วมกับโรงเรียนรัฐ บวกกับสถานการณ์โควิด-19 เข้าไปด้วยจนเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเพราะปัจจัยไหนกันแน่ ตอนนี้ระหว่างงานกับม็อบ บางทีเราก็ต้องเลือกม็อบ ทำให้เวลาในการทำงานน้อยลง แต่ความประทับใจอย่างหนึ่งก็คือการเดินไปไหนมาไหนหรือการเดินตลาดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนรู้จักมากขึ้น บางทีไปกินหมูกระทะ เจ้าของร้านจำได้ ก็กินฟรีบ้าง 

คุณที่มีอารมณ์ขันอย่างคุณสามารถมองการเมืองให้เป็นเรื่องตลกได้หรือเปล่า

        การเมืองไม่ใช่เรื่องตลก เพราะว่ามันส่งผลกับทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ชีวิต และปากท้องของเรา ผมไม่เคยมองมันเป็นเรื่องตลกเลย แต่ผมแค่นำเสนอให้มันตลกเฉยๆ เราคุยการเมืองที่เป็นเรื่องเครียดๆ แต่เราทำให้มันไม่เครียดก็ได้ ผมไม่ใช่คนที่คุยอะไรแล้วต้องเครียด แต่ในความไม่เครียดมันควรมีความจริงจังอยู่ นั่นคือประเด็นที่เราต้องการจะพูด ถ้าเรานำเสนอออกมาให้มีความสุข คนก็จะเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้น 

        มุกตลกและการเสียดสีถือเป็นวิถีแบบไทยๆ อยู่แล้ว ผมมองว่าคนไทยเป็นคนตลก ต่อให้ซีเรียสขนาดไหนเราก็ยังเป็นคนตลกกันนะ มุกคือสิ่งที่ไม่ต้องอธิบาย ถ้าต้องอธิบายแล้วคนถึงขำแสดงว่าไม่ใช่มุก มันคือวิชาการ พอผมหยิบแป้งขึ้นมา คนเขารู้อยู่แล้วว่ามันสื่อถึงสังคมไทยว่ามีรัฐมนตรีพูดว่าเฮโรอีนเป็นแป้ง ถ้าเราหยิบงูเห่าขึ้นมา คนก็จะรู้ทันทีว่าผมหมายถึงใคร หรือเราหยิบขวดซีอิ๊วขึ้นมาคนก็รู้แล้วว่าเด็กในฉลากข้างขวดมีหน้าตาคล้ายใคร เพราะทุกคนรู้ว่าสังคมมีความวิปริตผิดเพี้ยนอยู่จริงๆ พอเราเอาสิ่งที่คนเข้าใจอยู่แล้วมาขยี้ต่อมันก็เลยสนุกขึ้น

อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการเสียดสีกับการบูลลี 

        ถามว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการเสียดสีกับการบูลลี ผมว่าแยกยากนะ มันคงเป็นความรู้สึก ถ้าคุณรู้สึกว่ามันเป็นการเสียดสีมันก็เป็นการเสียดสี ถ้าคุณมองว่ามันเป็นการบูลลีมันก็เป็นการบูลลี แต่ขอโทษนะ ถ้าผมจะพูดถึงคนบางคนด้วยการบูลลี ผมคงไม่เปรียบเปรยเขาเป็นสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ แต่ผมอาจจะพูดว่า ‘นั่นฟันหรือเล็บหมา’ นี่คือการบูลลีอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าเราพูดถึงพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเขา นั่นคือการเสียดสี

        การปราศรัยในวันที่ 16 สิงหาคม ผมได้รับคอมเมนต์ในด้านบวกเยอะ ส่วนวันที่ 19 กันยายน ผมได้ทั้งคอมเมนต์ในแง่บวกและลบพอๆ กันเลย ผมชอบมากเลยนะที่มีคอมเมนต์ในแง่ลบ ที่บอกว่าผมเหยียดเพศ มันทำให้เราได้ฉุกคิดและกลับมาทบทวนตัวเอง เฮ้ย ฉันได้รู้ว่าฉันไม่รู้ มันสวยงามมาก แต่คอมเมนต์ในแง่บวกมันอาจจะทำให้เราเหลิงหรือเมาน้ำลายตัวเองก็ได้ มันจึงสวยงามมากเลยที่คนในฝั่งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยกันกล้าตักเตือนกันว่า ‘ในเรื่องนี้คุณทำไม่ถูกนะ’ ไม่ใช่ว่าพอคุณเป็นแกนนำแล้วคิดจะทำอะไรก็ได้ หรือพูดอะไรก็ถูกไปหมดทุกอย่าง 

การทำใจยอมรับคำติติงเป็นเรื่องยากไหม หน้าชาหรือเปล่าเมื่อถูกตำหนิ 

        ชานะ แต่แค่แป๊บเดียว ใครโดนด่าก็ต้องรู้สึกไม่ดีอยู่แล้ว แต่ในความไม่ดีนั้น เราต้องเก็บมาคิดว่าเพราะอะไร ที่ผ่านมาผมสอนให้นักเรียนตั้งคำถามว่าเพราะอะไร ดังนั้น ในเรื่องนี้ผมก็ต้องเก็บเอามาคิดว่าเพราะอะไรเหมือนกัน อ๋อ เพราะอย่างนี้นะ มันมีเหตุผล เดี๋ยวไปกันต่อ ผมจะไม่แก้ตัว ผมจะไม่บอกว่าผมเข้าใจแล้ว แต่ผมจะยอมรับว่าผมต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ 

        เราต้องฟังคำติติง เพราะว่าเราคือคนคนหนึ่งที่เรียกร้องเหมือนกัน บางเรื่องคนอื่นก็อาจจะยังไม่ได้เข้าใจเท่าเรา ฉะนั้น เรื่องนี้ก็คือเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจเท่าเขา ผมก็โอเค แล้วผมก็รับรู้แล้วว่าผมไม่เข้าใจ การที่เราได้รู้ว่า ‘เรายังไม่รู้อะไร’ นี่คือความรู้ที่โคตรสุดยอดเลย 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

แล้วคอมเมนต์จากคนที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองมีน้ำหนักมากพอให้ฟังหรือเปล่า

        ผมก็อยากฟังเขานะ ถ้าพูดเป็นภาษาวัยรุ่นก็คือ ถ้าคุณถูกสลิ่มพูดถึงแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว ผมเชื่ออย่างนี้ การแจ้งเกิดในหมู่พวกเรากันเองยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าได้ไปแจ้งเกิดในฝั่งตรงข้ามทางการเมืองแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว 

คุณว่าตอนนี้คุณแจ้งเกิดหรือยัง

        เริ่มมาถูกทางแล้ว (หัวเราะ) ตั้งแต่ตอนที่ถูกบอกว่าเป็นพราหมณ์เก๊ เริ่มมีการบอกว่าเราลบหลู่ แต่เราก็ชัดเจนว่ามันคือการแสดงกึ่งจริง ไม่ใช่การประกอบพิธีจริงๆ แต่ผมแค่เอาบทสวดจริงเข้ามาแทรก เราอาจจะมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง พอมาทำแล้วมัน ‘ทรงคือ’ เป็นภาษาอีสานหมายถึงว่า มันดูใช่ ดูตีบทแตก 

        ผมพยายามจะฟังคำตำหนิจากอีกฝั่งหนึ่งนะ แต่ส่วนใหญ่เราจะเห็นแต่คำเชิงบูลลี ซึ่งผมไม่ถือสาและไม่ได้ใส่ใจอะไร เช่น แต่งตัวไม่สวย ใช้ผ้าอะไรเนี่ย หุ่นไม่ดี อ้วน เออ ก็ใช่ไง กูอ้วนแล้วไงล่ะ ไม่มีเงินซื้อผ้าแพงๆ ไงก็เลยซื้อผ้าถูกๆ มาใส่ แล้วไง คุณจะโจมตีประเด็นเหล่านี้จริงๆ เหรอ ทำไมคุณไม่โจมตีว่าเราพูดไม่ถูก เราจะได้มาดูว่าเราพูดไม่ถูกตรงไหนแล้วจะได้ปรับแก้ ถ้าเขาจะเอาแต่ด่าเพื่อความสะใจ ผมก็จะรู้สึกว่าเขาคิดได้แค่นี้เองเหรอ มันจึงไม่ใช่สาระที่จะต้องเก็บมาใส่ใจ 

ในฐานะผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องคนหนึ่ง คุณประเมินศึกครั้งนี้อย่างไร 

        การต่อสู้นี้จะชนะหรือแพ้เรายังไม่รู้ แต่ผมมองว่าเราชนะในแง่ของการที่เราสามารถพูดทุกเรื่องได้แล้ว ถ้าเราไม่มีการต่อสู้ครั้งนี้ กลุ่มนักเรียนก็ไม่มีโอกาสได้ออกมาพูดในสิ่งที่เขาอยากพูด กลุ่ม LGBT กลุ่มผู้หญิงปลดแอก เขาก็จะไม่มีโอกาสมาทักว่าผมพูดผิดตรงไหน แล้วผมก็จะไม่มีโอกาสได้ปรับมายด์เซตตัวเอง และที่สุดแล้วการพูดถึงเรื่องเพศหรือ LGBT ก็จะอยู่แค่ในห้องประชุมสัมมนาที่มีคนดูไม่เกินร้อยคน

        เผด็จการไม่ได้อยู่ได้เพราะแค่กระบอกปืน แต่เผด็จการอยู่ได้เพราะคนในสังคมเคยชินกับการถูกกดขี่ อยู่ได้ด้วยการที่เรารู้ไม่ทัน แต่การต่อสู้ครั้งนี้มันทำให้คนในเรารู้ทันในหลายๆ เรื่องมากขึ้น สังคมก็จะก้าวหน้ามากขึ้นในเรื่องความคิด เมื่อไหร่ก็ตามที่เราก้าวหน้าในทางความคิด ผู้สนับสนุนเผด็จการก็จะไม่เกิดขึ้นอีก พูดในอีกแง่หนึ่งก็คือ พอสลิ่มเก่าตายไป สลิ่มใหม่ก็ไม่เกิด ในอนาคตเราจะชนะยาวๆ ทั้งในทางสังคมและในทางแนวคิด แล้วประเทศเราก็จะไม่มีผู้สนับสนุนเผด็จการอีกต่อไป

พ่อแม่รู้สึกอย่างไรที่คุณออกมายืนอยู่แถวหน้าของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย 

        ทั้งภูมิใจและกังวลใจ แน่นอนเรากำลังต่อสู้กับอำนาจที่มองเห็น – ทับซ้อนอยู่บนความมองไม่เห็น อำนาจที่โจ่งแจ้ง – ทับซ้อนอยู่บนความลึกลับ ดังนั้น มันมีอันตรายในทุกย่างก้าวและทุกถ้อยคำ พ่อแม่ ครอบครัวก็กังวลใจ ผมต้องเรียกประชุมหมู่ญาติเท่าที่จะเรียกประชุมได้ เพื่อที่จะบอกว่าต่อไปเราจะใช้ชีวิตแบบไหน ทำอะไรยังไง ชีวิตของเราจะเจออะไรบ้าง เลวร้ายที่สุดคือถ้าต้องลี้ภัยเราจะไปอยู่ประเทศไหน แล้วเราจะไปทำงานอะไรที่ตรงนั้น กี่ปีเราน่าจะกลับมาได้ หรือดีที่สุดเราจะไปอยู่กระทรวงไหน ซึ่งการเป็นนักการเมืองยังไม่ใช่ความคาดหวังของผมจริงๆ หรอก แต่เมื่อพูดกับครอบครัวเราก็พูดให้เขารู้ว่า เคสที่ดีที่สุดกับเคสที่เลวร้ายที่สุดของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราแบชีวิตทั้งหมดออกมาให้เขาดูแล้วเขาโอเค เขารับรู้เหมือนที่เรารับรู้ ความสบายใจมันก็มากขึ้น แต่ห้ามไม่ได้หรอกนะที่จะไม่ให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครอบครัวไม่กังวลใจกับคนใกล้ตัวของตัวเองที่เหมือนไปรบ ต่อให้คุณเป็นนักรบที่เก่งกาจแค่ไหน ทุกครั้งที่คุณออกไปรบ คนข้างหลังของคุณก็อดที่จะห่วงกังวลไม่ได้ 

คุณดูเป็นคนเซนซีทีฟกับเรื่องในครอบครัว มากกว่าเสียงก่นด่าจากภายนอก

        ผมไม่เซนซีทีฟกับอะไรหรือกับใครเลยนะ ไม่รู้จะเรียกว่าด้านชามั้ย ผมไม่เซนซีทีฟแต่ผมใส่ใจ ผมเก็บเรื่องเหล่านั้นมาใส่ใจ แต่มันไม่ได้ทำให้ผมกังวล เศร้า หรือแพนิก ผมอาจจะมีความคิดที่ขวางโลกอยู่อย่างหนึ่งว่า ต่อให้พ่อแม่ไม่ได้ทอดทิ้งเรา แต่พ่อแม่ตายจากเราได้ แฟนตายจากเราได้ ต่อให้เรารักเขามากมายแค่ไหน วันหนึ่งเขาก็ต้องไป ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนไปจากเราได้เสมอ ไม่จากเป็นก็จากตาย แต่สิ่งที่หนึ่งจะจากเราไปไม่ได้ก็คือตัวเราเอง 

        ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทอดทิ้งอุดมการณ์หรือยอมแพ้ ก็เท่ากับว่าเราได้ตายไปจากตัวเอง มันคือศพที่เดินได้ คือหัวใจที่ตายซาก เราไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยนะ ผมก็พยายามที่จะบอกกับทุกคนว่าถ้ารักฉันให้รักในสิ่งที่ฉันทำ ให้รักในอุดมการณ์ของฉัน ให้รักในความคิดแบบฉัน อย่ารักฉันเพื่อให้ฉันเป็นแบบที่ตัวเองต้องการ อย่ารักฉันเพื่อพยายามที่จะทำให้ฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ในกรอบนั้นกรอบนี้ อย่ารักฉันจนเอาแต่ปกป้องฉัน จนฉันทำอะไรอย่างที่ฉันต้องการไม่ได้เลย 

 

อรรถพล บัวพัฒน์

สุดท้าย ถ้าการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนครั้งนี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทย คุณจะเศร้ามั้ย 

        ไม่เศร้า ถ้ามันไม่บันทึกในตำราเรียนผมไม่เศร้า แต่มันจะถูกบันทึกไว้ในทุกสิ่งทุกอย่าง 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ที่เราพูดซ้ำๆ กันมาหลายรอบ มันถูกบันทึกน้อยมาก แต่มันถูกศึกษามากกว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้อีก หมุดคณะราษฎร ถูกทำให้หายไป แต่มันกลับถูกพูดถึงมากขึ้น ดังนั้น ผมไม่เศร้าถ้ามันไม่ถูกบันทึกในตำราเรียนประวัติศาสตร์ แต่ผมจะเศร้าถ้ามันไม่ถูกศึกษา ผมจะเศร้าถ้ามันถูกลืม