ไลลา ศรียานนท์

ไลลา ศรียานนท์ | สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตจากเมกอัพอาร์ทิสต์สู่แอร์โฮสเตสสุดอินดี้

ไม่มีอะไรการันตีเราได้หรอกว่า ‘ความจริง’ และ ‘ความฝัน’ จะเป็นสิ่งเดียวกันได้ ชีวิตเราเองก็เป็นแบบนั้น เพราะทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไปตามจังหวะของการเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เงื่อนไขบางอย่างในชีวิตอาจทำให้เราต้องตัดสินใจเลือก เช่นเดียวกับ ไลลา ศรียานนท์ เจ้าของเพจ แอร์อินดี้ ผู้เขียนหนังสือ LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ บันทึกประสบการณ์ของแอร์โฮสเตส ที่ตัดสินใจเปลี่ยนสายงานจากเมกอัพอาร์ทิสต์ ซึ่งเป็นอาชีพในฝัน สู่การเป็นแอร์โฮสเตสเต็มตัว

     ในวันที่เธอได้มายืนในจุดที่ใครหลายคนต้องการ จึงเป็นเรื่องชวนใคร่รู้ว่า ‘ความจริง’ ณ ที่แห่งนั้นตรงกับ ‘ความฝัน’ ของใครหลายคนหรือเปล่า รวมถึงตัวเธอเอง ถ้าใช่ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าหากว่าไม่ จะทำอย่างไร แล้วการพยายามพาตัวเองให้ก้าวผ่านจุดเปลี่ยนแต่ละครั้งที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่มีความหมายแค่ไหนกัน

 

ไลลา ศรียานนท์

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเริ่มสนใจการแต่งหน้าจนมีโอกาสได้ทำเป็นงานพิเศษตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่ง

     เราเกิดราศีเมถุน รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสองบุคลิก พอเข้ามาอยู่ในสังคมวารสารฯ มธ. แล้วเจอคนที่มีบุคลิกแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ตเยอะมาก เยอะล้น จนรู้สึกว่าตัวเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่นๆ เคยมีความคิดว่าจะซิ่ว เพราะกลัวจะอยู่ที่นี่ไม่ได้ รู้สึกว่าไม่สนุกเลย เพราะสังคมคณะเกินเส้นตรงกลางที่พอดีไปมาก แล้วตัวเราก็อยู่ต่ำกว่าเส้นนั้น แต่พอดีเป็นคนมีความอดทนสูง เลยหาอะไรทำแทน ตอนนั้นแพรี่พายกำลังดัง เลยรู้สึกว่างานเมกอัพอาร์ทิสต์น่าสนใจ ก็ตัดสินใจขอเงินแม่ไปเรียนกับโรงเรียนที่เปิดสอนด้านนี้โดยเฉพาะ แต่แม่ก็บอกกลับมาว่าให้เงินไปแล้วก็ต้องทำให้เห็นผลนะ

     พอได้เรียนแล้วสนุก เราชอบมาก ได้เจอพี่สไตลิสต์ที่แกรมมีมาลงเรียนเหมือนกัน เขาก็ชวนให้ไปช่วยงาน หน้าที่ตอนนั้นคือแต่งหน้า ทำผม และจัดเสื้อผ้า เริ่มสนุกกับงานที่ได้ทำ ทำงานวันละสองสามชั่วโมง แต่ได้รายได้จริงๆ วันละห้าร้อยบ้าง พันบ้าง พันห้าบ้าง แต่ละเดือนเราได้เงินประมาณหมื่นห้า เป็นเงินที่เยอะนะสำหรับวัยรุ่นอายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผลจากการที่เราเอาตัวเองออกมาจากสิ่งที่เราไม่โอเค ซึ่งไม่ได้มีเราคนเดียวที่เป็น คนอื่นๆ ต่างก็ไปหาสิ่งที่ชอบ ที่สนใจทำ แต่เราสนใจงานด้านนี้ เราเลยมาทำมาเรื่อยๆ

 

แล้วการพาตัวเองออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการแต่งหน้าถึงต่างแดนที่ประเทศฟิลิปปินส์เกิดขึ้นตอนไหน

     ตอนนั้นอยู่ปีสามกำลังจะขึ้นปีสี่ เพิ่งรู้ว่ามีระบบการทำงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะแต่งหน้า ทำผม หรือถ่ายภาพ เขาจะเรียกว่า Artist แต่ในไทยเรียกว่าช่าง บางคนยังคิดว่าไม่ใช่อาชีพด้วยซ้ำ ขนาดแม่เราช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยเข้าใจเลย ตอนเป็นฟรีแลนซ์เมกอัพอาร์ทิสต์ แม่มักจะพูดบ่อยๆ ว่าเมื่อไหร่จะไปหางาน

     คือในต่างประเทศเป็นระบบเอเจนซีที่คอยดูแลและเลือกงานให้คนในสังกัดตามความเหมาะสมหรือความถนัด เราอยากลองทำงานในระบบแบบนั้นบ้าง เลยหาข้อมูล พบว่ามีในหลายๆ เมืองทั้งลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส มิลาน แต่ตอนนั้นฝีมือเรายังไม่ถึงขั้น หาต่อไปจนพบว่ามีเอเจนซีหนึ่งมาเปิดสาขาที่มะนิลา เราจึงติดต่อไป ปรากฏว่าเขาไม่รับช่างแต่งหน้าเพิ่ม แต่เขาแนะนำให้มาเป็นอินเทิร์นหรือฝึกประสบการณ์ เราจึงสมัครไปทันที

     ตอนนั้นเรามีเงินเก็บจากการเป็นฟรีแลนซ์ประมาณหนึ่งแสน คิดว่าอยากเอาไปทำอะไรที่ต่อยอดได้ ดีกว่าอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เลยลงทุนไปกับประสบการณ์ตรงนี้ ตอนนั้นเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิตเลย อยู่เมืองนอกคนเดียวประมาณ 2 เดือนครึ่ง ที่นั่นเราได้เป็นผู้ช่วยเอเจนต์ คอยดูความเรียบร้อยว่าเขาทำงานอะไรยังไง เช่น มีเมกอัพอาร์ทิสต์ในสังกัดไปออกงาน เราก็ต้องตามไปด้วย คือไม่ได้เป็นคนแต่งนะ แต่มีบางงานที่เขาทำกันไม่ทัน เราก็จะได้ช่วยแต่งบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เงิน เพราะเรามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างคอนเน็กชันมากกว่า อย่างตอนที่กลับมาไทยแล้ว ถ้ามีการถ่ายงานที่นี่ เขาก็จะติดต่อเราให้มาช่วยงาน ซึ่งได้รับเงินเท่ากับคนทำงานปกติเลย จากนั้นพอเรียนจบเราก็เป็นฟรีแลนซ์เมกอัพอาร์ทิสต์เต็มตัว

 

ดูเหมือนว่าตอนนั้นคุณได้เป็นเมกอัพอาร์ทิสต์ตามที่ตั้งใจ แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณกลายมาเป็นแอร์โฮสเตสอย่างทุกวันนี้

     เราว่าคงจะเป็นจังหวะของชีวิตพอดี หลังเรียนจบ ตอนนั้นเราก็เป็นฟรีแลนซ์เมกอัพอาร์ทิสต์ที่ทำงานไปตามปกติ แล้ววันหนึ่งพี่สไตลิสต์ที่ทำงานด้วยกันก็พูดกับเราว่า ปีนี้มีสายการบินเปิดรับสมัครแอร์โฮสเตส ซึ่งเขาไม่ได้เปิดทุกปีนะ ไม่ลองไปสมัครดูหน่อยเหรอ เราเลยดูรายละเอียดแล้วก็สมัครไป ปรากฏว่าได้

 

ไลลา ศรียานนท์

 

เรียบง่ายไปหรือเปล่า น่าจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจก้าวเข้ามาสู่อาชีพแอร์โฮสเตส

     เราตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่าการได้เป็นแอร์โฮสเตสคือ a part of my life เราไม่คิดว่าจะต้องเป็นไปจนเกษียณ จริงๆ เราอยากเรียนต่อแต่ยังไม่พร้อม เพราะเงิน (หัวเราะ) ขอทำงานเก็บประสบการณ์และเงินก่อนนะ ตอนนี้เรายังสนุกกับชีวิตการทำงานที่ได้เงิน โอเค เงินที่เราได้ขึ้นอยู่กับระยะทางบินของไฟลต์นั้นๆ แต่เอาเข้าจริงอาชีพนี้เอาเงินนำไม่ได้ เพราะถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพในระยะยาว เวลาบินไฟลต์ไกลๆ ซึ่งได้เงินเยอะกว่า แต่นั่นหมายความว่าเราต้องอยู่บนเครื่องนานมาก เรารู้สึกว่าสมองพร่องออกซิเจน พอถึงที่หมาย ลงมาจากเครื่องเราจะงงๆ เอ๋อๆ ตอบโต้ช้า สมองประมวลผลไม่ทัน ใครถาม ใครพูดอะไร จำไม่ได้ ตอบไม่ได้ แล้วต้องนอนพักผ่อนเป็นวันๆ กว่าจะหาย ซึ่งมันไม่คุ้มกันหรอก วิธีแก้คือ จัดตารางบินให้พอดีๆ มีทั้งไฟลต์ใกล้ๆ และไกลๆ อย่าโลภ

 

ตอนแรกคุณบอกว่าเป็นคนสองบุคลิก และไม่ได้มีบุคลิกแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ต แต่อาชีพที่คุณทำทั้งเมกอัพอาร์ทิสต์และแอร์โฮสเตสกลับเป็นอาชีพบริการที่ต้องเข้าหาคน เข้าหาสังคม ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ สิ่งนี้ทำให้เกิดรู้สึกขัดแย้งในตัวเองหรือเปล่า

     เราคิดว่าจริงๆ แล้ว เมกอัพอาร์ทิสต์เป็น a kind of introvert มากกว่า เพราะว่าถ้าลองสังเกตดีๆ คนที่เป็นศิลปินส่วนใหญ่ในอดีตเขาก็เป็นคนเก็บตัวกันทั้งนั้นนะ คนที่ทำงานในวงการแฟชั่นมีโอกาสจะเกิด Mental Illness (อาการเจ็บป่วยทางจิตใจ) มากกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศ เพราะเขาใช้อารมณ์ทำงานเป็นหลัก ใช้ E.Q. มากกว่า I.Q. เราเลยคิดว่าเป็นอินโทรเวิร์ตมากกว่า

     แต่แอร์โฮสเตสนั้นตรงข้ามกันเลย ถ้ามองในมุมของบุคลิกภาพนะ อาชีพนี้ต้องการคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต หรือไม่ก็คนที่มีบุคลิกภาพที่ปรับตัวได้ คือเลือกใช้บุคลิกภาพให้ตรงตามสถานการณ์ อย่างตอนทำแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ เราต้องตอบในสิ่งที่สายการบินต้องการ เช่น ถามว่าในห้องประชุมขนาดใหญ่ คุณจะเลือกทำอะไรระหว่างเดินขึ้นไปพูดบนเวที กับนั่งฟังเฉยๆ หลังห้อง ถ้าตอบอย่างหลังก็จบ เพราะเราต้องแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจสิ ซึ่งอาชีพนี้บุคลิกภาพคือสิ่งสำคัญที่ตัดสินเราได้ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานด้านนี้ ตอนที่สอบก็ต้องดึงความเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตในตัวเองให้พุ่งออกมา (หัวเราะ)

 

จริงๆ แล้ว Mental Illness หรืออาการเจ็บป่วยทางจิตใจมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกอาชีพ

     เราได้ยินเรื่องนี้บ่อย จากประสบการณ์ที่เราทำอาชีพนี้มาพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้ได้เหมือนกัน เช่น มีลูกเล็กแล้วต้องจากลูกไปบินไกลๆ แน่นอนต้องมีห่วงหรือเป็นกังวล หลังบินเสร็จระหว่างไปโรงแรม เรามักจะเห็นพี่ๆ ที่มีลูกเล็กคอลคุยกับลูก ขณะที่เราไม่มีใครเลย (หัวเราะ) นั่งหลับไปเรื่อย คือถ้าจัดการได้ก็ไม่มีปัญหา แต่บางคนไม่เป็นแบบนั้น ด้วยการงาน ด้วยอาชีพ กลับกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีปัญหา มันมีหลายจุดมากที่จะทำให้แอร์โฮสเตสเป็นโรคนี้ได้ เคยอ่านวารสารต่างประเทศ มีผลสำรวจหนึ่งพบว่า มีแอร์โฮสเตสและสจ๊วตที่เป็นโรคนี้เยอะ อาจจะเริ่มจาก homesickness ก่อนจากนั้นค่อยลุกลามไประดับที่รุนแรงมากขึ้น

 

ไลลา ศรียานนท์

 

เคยมีความรู้สึกไม่อยากไปทำงานบ้างไหม

     มีนะ ช่วงที่ต้องบินบ่อยๆ ถี่ๆ ติดกันเยอะๆ มันรู้สึกตื้อไปหมด เคยบินยุโรปติดต่อกันหลายๆ ไฟลต์ กลับถึงบ้านนอนเหมือนตายเลย อาชีพนี้ทำให้เราต้องใส่ใจกับตัวเอง หันมาดูแลตัวเองดีๆ ต้องพยายามปรับสมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต ซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยจะสมดุลเท่าไร (หัวเราะ)

 

อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเหมือนเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คน เพราะคนมักจะมองในแง่มุมที่สวยงาม แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป มันยังมีอีกด้านที่น้อยคนจะพูดถึง

     ใช่เลย เคยคุยกับเพื่อนสจ๊วตที่เป็นนักดนตรีร็อก แต่ลองมาสอบดูเพราะอยากทำงานมีเก็บเงินในช่วงหนึ่งของชีวิต สองเดือนแรกเราบินไฟลต์เดียวกับเขา เขาบอกว่าไม่สนุกเหมือนที่คิดไว้เลย หน้าเขาเศร้ามาก รู้สึกอยากลาออก เราก็แนะนำเขาว่าให้ใจเย็นๆ ก่อน อาจจะยังปรับตัวไม่ได้ จะว่าไปการที่เขาเป็นนักดนตรีก็เหมือนตอนเราเป็นฟรีแลนซ์ เงินมันไม่ได้เข้ามาแน่นอน เราทั้งคู่เข้ามาในสายงานนี้เพราะเหตุผลเดียวกันคือเรื่องเงิน คิดว่าอย่างน้อยก็มั่นคงกว่าสิ่งที่เรามีแพสชัน ก็นั่งปรับทุกข์กัน

     จริงๆ เหมือนเราหลงเข้ามาในอาชีพที่เขาว่ากันว่าดี ทั้งๆ ที่มันเหนื่อยมาก ตอนเราเข้ามาแรกๆ ก็งงมาก ว่าทำไมต้องยิ้มให้กับทุกคนด้วย ทำไมต้องเข้าหาผู้อื่นก่อน นิสัยเราถูกเปลี่ยนไปเยอะมากจากการเป็นแอร์โฮสเตส เราเป็นคนที่ไม่คิดมาก สามารถโยน bad mood ที่เข้ามาในใจออกไปได้เร็ว ไม่อย่างนั้นจะแย่เอา เพราะบนเครื่องมีแต่ความวุ่นวาย ตั้งแต่เป็นแอร์โฮสเตสมาเชื่อไหมว่าไม่มีไฟลต์ไหนที่ไม่วุ่นวาย มันต้องมีเรื่องจุกจิกที่ต้องแก้ไขเสมอ ถ้ามันบังเอิญเกิดขึ้นกับคนที่คิดเล็กคิดน้อย คิดมาก หรือเก็บมาคิดเสมอๆ เราว่าเขาต้องอยู่ไม่ได้แน่ๆ

 

ความรู้สึกบินไฟลต์แรกเป็นอย่างไร

     ไฟลต์แรกบินไปมะนิลา ซึ่งเป็นไฟลต์เดียวกันกับที่นั่งตอนไปเป็นอินเทิร์นก็ตกใจนิดหน่อยอะไรจะประจวบเหมาะขนาดนั้น ไฟลต์แรกคือ OJT หรือ On the Job Training เราจะได้เข็มกลัดเป็นสัญลักษณ์ติดไว้ที่เสื้อ และได้จับคู่กับเพื่อนร่วมงาน พี่ๆ หัวหน้าเห็นจะได้รู้ว่านี่คือไฟลต์แรก เกิดอะไรขึ้นจะได้อโหสิกรรมให้ (หัวเราะ) ไฟลต์แรกงงมาก ทำอะไรก่อนดี งานทุกอย่างพี่เขาทำไปหมดแล้วด้วยความรวดเร็ว แต่เราก็ทำตามที่ได้เทรนด์มา ซึ่งตื่นเต้นมาก ตาลาย หิวน้ำ คอแห้ง เหนื่อย แต่งานนี้จะเป็นกันเร็ว บินไม่เกิน 10 ไฟลต์ก็จะเข้าใจเนื้องานและทำได้คล่อง

 

ไลลา ศรียานนท์

 

แล้วตั้งแต่เป็นแอร์โฮสเตสมา มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่คิดว่าจำไม่มีวันลืม

     โห เยอะ เอาเรื่องดีๆ ก่อนนะ เรารู้สึกดีใจทุกครั้งเมื่อมีผู้โดยสารชมว่า You are so beautiful. (หัวเราะ) ถ้าใครชมว่าทำงานเก่ง ทำงานเร็วจะไม่ชอบ แต่ถ้าผู้โดยสารชมว่าสวยจะชอบมาก (ลากเสียงยาว) เพราะเรารู้สึกว่าคุณเป็นใครก็ไม่รู้ เราต่างไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน แต่คุณกลับกล้าพูดออกมาว่าเราสวย เคยเจอผู้โดยสารเป็นมาดามชาวรัสเซียคนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นการเมืองรัสเซียกำลังดุเดือดมาก เธอก็พูดกับเราว่า I like your haircut. So liberated! หรือเคยใส่ชุดทำงานสีขาวทั้งตัว มีฝรั่งออกมาจากห้องน้ำแล้วเห็นชุดที่ใส่อยู่ เขาก็พูดว่า You dress is absolutely beautiful.

     เคยถามตัวเองเหมือนกันนะว่าทำไมถึงชอบเวลาคนชม อาจเป็นเพราะตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กเรียนที่เนิร์ดมาก เวลาผู้ใหญ่ชมว่าเรียนเก่งก็จะรู้สึกเฉยๆ ยิ่งตอนมัธยมต้น เป็นช่วงที่วัยรุ่นกำลังแตกเนื้อสาว แต่เราเป็นเด็กอ้วน ชีวิตน่าจะขาดช่วงที่มีคนชมว่าสวยไป พอได้เป็นแอร์โฮสเตสแล้วมีคนชมเลยรู้สึกดี ไม่เคยจำได้ว่าตัวเองทำงานดียังไง แต่ถ้าใครชมว่าสวยจะจำได้แม่น

     ส่วนเรื่องสยดสยองคือการอ้วกบนเครื่อง บนเครื่องจะมีอุปกรณ์เก็บอ้วกหรือสารคัดหลั่งหรือ UPK เป็นไฟลต์บินข้ามคืน บินกับเพื่อนสจ๊วตที่สนิทกัน ผู้โดยสารชาวอินเดียขอวอดก้าหลายแก้ว เราก็บอกเขาว่าให้ดื่มช้าๆ เดี๋ยวจะเมา ปรากฏว่าอ้วกแตก และเพื่อนก็คือคนที่เช็ดอ้วกนั้นจนหมด

     อีกเรื่องที่สยองกว่าคือไฟลต์บินไปยุโรป ผู้โดยสารสูงอายุอึราด ลูกเรือผู้ชายก็ต้องมาช่วยกันทำความสะอาด แต่กลิ่นคละคลุ้งไปทั่ว ทุกคนก็ต้องร่วมกันทำความสะอาด ทั้งล้างยาฆ่าเชื้อ ทั้งเอาน้ำหอมมาฉีด ประเด็นคือเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดตอนเครื่องออกจากกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน แต่เราทำอะไรไม่ได้แล้วจริงๆ ต้องเอาของที่มีอยู่บนเครื่องมาใช้ ใครว่าบินสวยๆ ไม่ นี่คือชีวิตจริงของแอร์โฮสเตสที่ต้องเจอ

 

ไลลา ศรียานนท์

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นเขียนหนังสือ ‘LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ’ และจัดสรรเวลาอย่างไร

     ก่อนหน้านี้เราได้ยื่นต้นฉบับเกี่ยวกับตอนไปอินเทิร์นที่ฟิลิปปินส์กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง มีการตกลงพิจารณาตีพิมพ์เรียบร้อย ตรงกับช่วงที่เรากำลังสอบคัดเลือกแอร์โฮสเตสรอบ Pre-Screen พอดี ก็เลยบอกกรรมการว่าเป็นนักเขียน ดูมีความรู้ดี เพราะคนอื่นเขาทำงานประจำกัน แต่เราเป็นฟรีแลนซ์ กลัวกรรมการจะไม่เข้าใจ (หัวเราะ) แล้วมีกรรมการคนหนึ่งถามกลับมาว่า ‘เป็นนักเขียนแสดงว่าเป็นคนชอบเก็บตัวใช่ไหม’ เรารีบตอบว่า ‘ไม่ใช่ค่ะ ไม่ทุกคนนะคะ หนูเป็นนักเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัว เฮฮาไปตามประสาที่เจอตอนไปอยู่ฟิลิปปินส์ค่ะ’ แล้วมีกรรมการผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า ‘ถ้าได้เป็นแอร์โฮสเตสจริงๆ ได้เดินทางไปหลายๆ ที่ หนูคงมีเรื่องราวมากมายที่จะนำไปเขียนเป็นหนังสือได้แน่ๆ เลย’ พอเราได้จังหวะก็รีบตอบกลับ ‘(เสียงสอง) ใช่ค่ะ เป็นความตั้งใจของหนูเลยนะคะว่าถ้าได้เป็นแอร์ฯ หนูจะเขียนเรื่องราวที่ได้ไปเจอมา เพื่อให้คนที่เขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้เห็นในสิ่งที่เราเห็น ได้เรียนรู้ และรู้สึกเพลิดเพลินผ่านการเล่าเรื่องของเราค่ะ’ จบสวยมาก

     จากวันนั้นการเขียนหนังสือจึงกลายเป็นเป้าหมายของเราเลย ต้องเขียนให้ได้เล่มหนึ่ง เพราะขนาดอยู่ฟิลิปปินส์แค่สองเดือนครึ่งยังเขียนได้เลย แต่บังเอิญสำนักพิมพ์นั้นมีปัญหาเสียก่อนเลยทำให้ไม่ได้พิมพ์ (กำลังจะได้รับการตีพิมพ์ในอนาคต) คณะกรรมการคนนั้นเหมือนจุดไม้ขีดขึ้นมาเติมไฟในตัวเรา เพราะตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะได้เรื่องไปเขียนเป็นหนังสือ แต่พอเขาพูดขึ้นมาแสดงว่าเขาคงมองเห็นความเป็นไปได้บางอย่างจากเรา ‘ใช่ค่ะ เป็นความตั้งใจของหนู’ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้เขาอยู่ไหนไม่รู้นะ จำไม่ได้จริงๆ

     ส่วนถามว่าเอาเวลาที่ไหนมาเขียน จริงๆ แล้วแอร์โฮสเตสเป็นอาชีพที่มีเวลาว่างเยอะมาก เราทำงานแค่ตอนอยู่บนเครื่อง จากนั้นก็ว่างมากจนกว่าจะถึงไฟลต์ใหม่ เลยอาศัยเวลาว่างตรงนั้นเขียนหนังสือ หรืออย่างเวลาบินไฟลต์ระหว่างประเทศแล้วต้องแวะพักที่ต่างประเทศ ปกติทางสายการบินก็จะมีเงินไว้ให้ใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพ (per diem) ระหว่างรอบินไฟลต์กลับ ถ้าไม่ได้เที่ยวหรือใช้จ่ายไป เท่ากับว่าเราได้เงินนั้นเป็นเงินเก็บเต็มๆ จนเกิดเป็นศัพท์เฉพาะกลุ่มว่า ‘นอนอมเดี่ยม’ ซึ่งเราทำบ่อย เพราะจะใช้เวลานั้นแหละเขียนหนังสือ จนได้ต้นฉบับจากการอมเดี่ยม

 

ถึงตอนนี้แต่ละอาชีพที่ทำมาทั้งเมกอัพอาร์ทิสต์และแอร์โฮสเตส ทำให้คุณมองชีวิตเด่นชัดขึ้นไหม

     ตอนเป็นฟรีแลนซ์เมกอัพอาร์ทิสต์ ให้ความรู้สึกเหมือนเรายังเป็นเด็กอยู่ พอมาทำงานประจำรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น ชีวิตมีกรอบมากขึ้น การเป็นฟรีแลนซ์ทำให้เรามีอิสระเกิน แต่พอมาอยู่ในระบบแบบนี้ก็รู้สึกว่ามีกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามเยอะ เราไม่ใช่ศิลปินเหมือนก่อน เราถูกเปลี่ยนให้เป็นหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งที่ต้องทำตามระบบที่วางไว้ มีหลักการหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หน้าที่เราคือทำตาม ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก ขณะที่การแต่งหน้าเราจะได้รับโจทย์มาให้ตีความและสร้างสรรค์งานเองทั้งหมด แต่ละอาชีพมันต่างกันตรงเนื้องาน

     แล้วการเปลี่ยนผ่านจากฟรีแลนซ์เมกอัพอาร์ทิสต์มาเป็นแอร์โฮสเตส ยังทำให้เราเรียนรู้ด้วยว่าในโลกนี้ไม่มีใครตามใจเราได้ทุกอย่าง สุดท้ายเราก็ต้องเข้าสู่วงจรใดวงจรหนึ่งที่ถูกควบคุมด้วยคนอื่น เพราะชีวิตไม่ได้อิสระขนาดนั้น นี่คือสิ่งที่เราบอกกับตัวเองเสมอ ถ้าไม่ได้รู้ว่ามีเปิดรับสมัครแอร์ฯ ก็คงทำงานเป็นฟรีแลนซ์ต่อไป เพราะ ณ ตอนนั้นเมกอัพอาร์ทิสต์เป็นงานที่ใช่ที่สุดสำหรับเรา และตั้งใจไว้ว่าจะไปเป็นเมกอัพอาร์ทิสต์ที่อินเดีย เราสนใจประเทศนี้เพราะบอลลีวูด (Bollywood) เริ่มติดต่อกับเอเจนซีแล้วด้วย ป่านนี้คงห่มส่าหรีอยู่ที่นั่น (หัวเราะ)

     ส่วนการเขียนก็ชอบนะ เราพิสูจน์ตัวเองได้แล้วว่าสามารถเล่าเรื่องได้ ทำให้คิดต่อไปว่าการได้ไปทำอะไรใหม่ๆ ในที่ใหม่ๆ จะทำให้เราเขียนหนังสือได้ต่อไปเรื่อยๆ

 

หลังจากนี้มองชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหน

     แน่นอนเราไม่ได้จะเป็นแอร์โฮสเตสไปตลอดชีวิตหรอก เราแค่มาเรียนรู้ชีวิตในอีกแบบหนึ่ง คอยเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเงิน (หัวเราะ) หลังจากนั้น เราตั้งใจและแน่วแน่ว่าจะไปเรียนต่อด้านสื่อ เราชอบดูสารคดีมาก แต่ก็มีความฝันไว้ว่าอยากเขียนหนังสือภาษาอังกฤษให้ได้ ซึ่งโคตรจะท้าทายตัวเองเลย โอเค เรื่องบทหรือพล็อตเราพอจะคิดได้ไม่มีปัญหา แต่เรื่องภาษาและการเรียบเรียงนี่สิ เราไม่ได้มีคลังคำศัพท์เยอะเหมือนเจ้าของภาษา ก็คงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมกันไป ส่วนชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงที่พีกที่สุดของชีวิตวัยสาวแล้วแหละ ไม่เชื่ออ่านได้ใน LIFE IN FLIGHT MODE ไฟลต์ (ไม่) บังคับ ว้าย ปิดด้วยการขาย (หัวเราะ)