ครูเคท

‘ครูเคท’ – คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ | อคติและการถูกเลือกปฏิบัติจากความเป็นเพศทางเลือก ที่ฝังรากลึกในสังคมมาช้านาน

การเลือกปฏิบัตินั้นมีอยู่จริง และฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะกับเพศที่สาม ยิ่งถ้าคนคนนั้นแสดงออกว่าเป็นผู้ชายที่แต่งหญิง อคติทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาทันที ทางเลือกของคนที่ถูกเรียกว่าเป็นกะเทยจึงมีบทบาทได้แค่เป็นตัวตลก คอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนรอบข้างเท่านั้น ถึงจะถือว่าเป็นเพศที่สามที่ดี ถ้าเมื่อไหร่คนคนนั้นมีหน้าที่การงานที่ดี ได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไป เมื่อมีจังหวะอะไรสักอย่างเกิดขึ้น อคติที่ซุกซ่อนไว้ก็จะถูกนำออกมาใช้เป็นเหตุผลแบบเดียวกับที่ ‘ครูเคท’ – คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ เคยถูกปฏิบัติ

ครูเคท

 

Let’s Make It Fair

     “เคยถูกบอกเลิกจ้างจากการเป็นอาจารย์ โดยเขาให้เหตุผลว่าเรามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการใช้โซเชียลมีเดีย เราพูดคำว่าอีดอก พูดคำว่าแดก โพสต์รูปลิปสติกอวัยวะเพศชายลงในอินสตาแกรม ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า อะไรวะ แต่เขาถือว่าเหตุผลนี้แข็งแรงมากพอที่จะเอาเราออกไป และคนในสังคมส่วนหนึ่งก็พร้อมเชื่ออยู่แล้วว่าเรามีพฤติกรรมแบบนั้น ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คนนิสัยแบบเรา ก็คงขอยุติบทบาท ไม่ต่อสู้ ถือว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเองที่เคยทำมา

     “แต่เรายืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เอามาใช้เป็นข้ออ้างว่าจะไม่รับฉันทำงาน เพราะนั่นคืออคติ ก่อนหน้านี้เขายังหาเหตุผลที่จะเอามาใช้กับเราไม่เจอ แต่จะให้มาบอกตรงๆ ว่าเธอเป็นกะเทยก็ไม่กล้าทำ เพราะเขาไม่กล้าแตะเรื่องนี้อยู่แล้ว”

     เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของครูเคท แต่ถ้าให้ย้อนกลับไป เพศสภาพของเธอนั้นก็ค่อยๆ ส่งผลให้เห็นมาตั้งแต่สมัยที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรีแล้ว

     “สักประมาณปี 3 เราเริ่มรู้สึกแล้วว่าความเป็นเพศมีปัญหาหนักมาก จนกระทั่งทำให้เราไม่กล้าพูดเสียงดัง เวลานั่งรถตู้จะบอกให้เขาจอดข้างหน้ายังไม่กล้าพูดเลย เพราะกลัวคนบนรถรู้ว่าเราเป็นกะเทย เรามีความสุขมากกว่าที่จะอยู่เงียบๆ แล้วให้คนมองว่าตัวเองเป็นผู้หญิง

     “แต่ตอนใกล้เรียนจบเราเริ่มคิดว่าอยากทำงานอะไร เลยลองไปสมัครโครงการแลกเปลี่ยนไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็ไม่รับ เพราะเราเป็นกะเทย เขาบอกว่าตั้งแต่เปิดโครงการมามีเราเป็นกะเทยคนแรกที่มาสมัคร และบอกว่าทางเขาไม่มีประสบการณ์ในการรับคนที่เป็นกะเทยไปอยู่ด้วย เขาไม่ได้ปฏิเสธที่เราเป็นกะเทยหรอก แต่ตอนนั้นก็เสียใจมาก และเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าความเป็นเพศของเรามาถึงจุดที่มีปัญหา”

     ถึงเราจะไม่โอเคกับเรื่องนี้ แต่เราก็ไม่ไปร้องเรียนหรือเรียกร้องอะไร” ครูเคทเล่าต่อ “เราเลือกที่จะไปเรียนต่อ เพราะไม่กล้าไปสมัครงานที่ไหน มีอีกครั้งที่เคยไปสมัครงานที่องค์กรทำงานด้านดูแลเด็กชาวต่างชาติ เพราะอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ แต่นั่งคุยกันได้แค่ห้านาที เราก็จับความรู้สึกได้เลยว่าเขาไม่เอาเราหรอก” เธอพูดแบบปลงๆ

 

ครูเคท

 

     วันนี้การฟ้องร้องเรื่องการไม่จ้างทำงานของครูเคทได้รับการตัดสินแล้วว่าเธอไม่ผิด และสามารถกลับเข้าทำงานได้แล้ว

     “เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ ถ้าบุคคลนั้นเป็นชายหรือหญิงทั่วไป จะไม่มีใครเอามาคิดเลย” แต่สุดท้ายเธอก็บอกว่า ถ้าตัวเองยอมจำนน ไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ผลกระทบที่จะตามมาก็จะหนักหนากว่าเดิม

     “เรารับไม่ได้ เราถึงเลือกที่จะสู้ เพราะนี่คือการทิ้งตราบาปไว้ให้เรา เราจะไปสมัครงานที่อื่นคนก็จะคิดว่าอีนี่แรง และจริงๆ เหตุผลมันมีมากกว่านั้นที่เขาจะไม่ชอบเรา”

     ก่อนที่ครูเคทจะขอตัวไปสะสางงานที่คั่งค้างอยู่เพื่อเตรียมตัวกลับไปสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง สิ่งที่คุยกันเรื่องสุดท้ายคือ เมื่อการถูกเลือกปฏิบัติจากความเป็นเพศยังคงมีอยู่ แล้วจะมีหนทางไหมที่เรื่องนี้จะถูกจัดการ

     “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่นั้นเกิดขึ้นได้เพราะว่ามีตัวแทนของชาว LGBT เข้าไปนั่งอยู่ในรัฐบาล เขาจะทำให้สิ่งที่พวกเราอยากจะพูดนั้นถูกพูดอย่างถูกที่ถูกทาง” ซึ่งเราก็หวังว่าจะมีใครสักคนเข้าไปทำหน้าที่นี้ให้กับชาว LGBT