อัสรี่

‘อัสรี่’ – ภูมิใจ ชุมพร | กฎเกณฑ์ทางศาสนาและเส้นทางที่เลือกเดิน ของ LGBT ชาวมุสลิม

ในแต่ละศาสนาก็มีกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อห้ามสำหรับคน LGBT บัญญัติไว้แตกต่างกัน ศาสนาพุทธก็แค่ห้ามบัณเฑาะว์ (ผู้ชายที่แสดงออกว่าเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน) หรือคนที่มีเครื่องเพศสองเพศในตัว บวชเป็นพระภิกษุ ทางด้านศาสนาคริสต์ก็ไม่ยอมรับในการแต่งงานของเพศเดียวกัน เพราะถือว่าพระเจ้าสร้างแค่ผู้ชายและผู้หญิงขึ้นมาเท่านั้น ส่วนศาสนาอิสลามนั้นเป็นที่รู้กันว่าไม่ให้การยอมรับในเรื่องของความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน และจริงจังที่สุด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องใหญ่ที่ ‘อัสรี่’ – ภูมิใจ ชุมพร ต้องรับมือมาตั้งแต่เด็ก

อัสรี่

 

     “เราเคยถูกเลือกปฏิบัติในการสมัครงานกับทางราชการ เขาบอกให้เรากลับไปแต่งตัวเป็นผู้ชาย เราก็เลือกที่จะไม่ทำงานกับราชการ จริงๆ เราไม่ใช่คนที่เรียกร้องอะไรขนาดนั้น ถ้ามีทางอื่นให้ไป” เธอกล่าว

     “เราตัดสินใจพูดออกมาว่าตัวเองเป็นแบบไหนตอนอยู่มหาวิทยาลัย ตอนเด็กๆ เราก็รู้จักตัวเองแล้ว แต่ยังไม่มีพลังที่จะกล้าบอกพ่อกับแม่ว่าเราเป็นผู้หญิง เพราะเราอยู่ในกรอบที่ถูกครอบเอาไว้ เราเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่มาตลอด ถ้าเราบอกออกไปมันจะกระทบถึงจิตใจของพวกเขา และกระทบถึงใจของเราเองด้วย”

     แต่สุดท้ายก็ถึงวันที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความกลัวที่อยู่ในใจ และปลดล็อกตัวเองออกมาให้ได้

     “วันที่ตัดสินใจบอกกับพ่อแม่ เรานัดพวกท่านมานั่งคุย แต่ก็ขอเวลาไปนั่งทำใจอยู่เป็นชั่วโมงก่อนที่จะบอก”

     ฟังที่เธอเล่าเราก็พอนึกภาพออกว่าช่วงเวลาของการสนทนาในตอนนั้นต้องเต็มไปด้วยความอึดอัด ตึงเครียด และกดดันอย่างถึงที่สุด แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี

     “เราบอกให้เขามองไปที่ความเป็นตัวเรามากกว่าที่จะเอาศาสนามาเป็นเกณฑ์ เราอยากมีความสุขในเส้นทางของเรา พวกเขาก็ร้องไห้เพราะคงเสียใจที่เราเป็นแบบนี้ และเสียใจที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ พ่อก็คงเสียใจที่เลี้ยงเราได้ไม่ดี ส่วนแม่ก็เสียใจเพราะเรื่องศาสนาที่เข้มงวดแล้วเราก็ทำตามไม่ได้”

 

อัสรี่

 

     ตอนที่คุยกับ ปันปัน นาคประเสริฐ เขาพูดถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้แต่งตัวเป็นผู้หญิง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก เหมือนได้ปลดปล่อยทุกๆ อย่าง หลายสิ่งที่เคยถูกห้ามมาตั้งแต่เด็กว่าทำไม่ได้ เขาก็สามารถทำได้ แต่สำหรับอัสรี่กลับรู้สึกอีกอย่าง

     “เราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง เลยรู้สึกเป็นธรรมชาติกว่า ไม่ถึงกับหวือหวาขนาดนั้น เรามีความสุขจากข้างใน สิ่งที่ครอบตัวเราอยู่ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากอะไรขนาดนั้น แต่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมากๆ คือการที่เพื่อนและพ่อแม่ยอมรับในตัวเรา”

     ในแง่ของการนับถือศาสนาอิสลาม การเป็นเพศทางเลือกนั้นเป็นข้อห้ามสูงสุด แต่เธอก็ยังยืนยันว่าตัวเองจะขอเป็นชาวมุสลิมที่ดีตลอดไป

     “เรายังเป็นมุสลิม ถ้าให้เปรียบเทียบเราก็แค่เป็นเด็กที่เกเรคนหนึ่งในโรงเรียน แต่เราก็ต้องเรียนจบให้ได้ เราไม่อยากทำละหมาดที่มัสยิด เราก็ทำละหมาดที่บ้าน เราต้องคิดวิธีการที่ทำให้เราอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าต่อต้านแล้วเดินออกมา เราเป็นมุสลิมที่ดีได้ในกรอบที่เรารับได้ และสังคมมุสลิมของเราพอจะรับได้เหมือนกัน

     “สังคมมุสลิมในประเทศไทยไม่ได้เข้มงวดอะไรขนาดนั้น รวมทั้งสังคมมุสลิมในชุนชนของเราก็ไม่ได้เข้มงวดขนาดที่เรากลัว เรายังทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนของตัวเองบ่อยๆ ตอนน้ำท่วมเราก็มีการเอาถุงยังชีพไปช่วยเหลือพวกเขา สิ่งเหล่านี้คือเรื่องของมนุษย์ที่ช่วเหลือเพื่อนมนุษย์ และคนมุสลิมในชุมชนของเราเขาก็มองว่าเราเป็นลูกเป็นหลานของเขา ก็เลยทำให้ความขัดแย้งของตัวเรากับชุมชนไม่ได้รุนแรงมาก

     “เมื่อไหร่ที่คุณเรียกคนอื่นว่า กะเทย ทอม ดี้ นั่นก็คือความไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว คุณมองคนไม่เท่ากัน” เธอทิ้งท้ายไว้ให้คิด สำหรับใครก็ตามที่ยังมองว่าชาว LGBT นั้นแตกต่างจากคนอื่น

 

อัสรี่

 

     ประเทศไทยในสายตาคนทั่วไป อาจจะมองว่าเป็นประเทศหนึ่งที่เปิดกว้างและให้การยอมรับกับความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ถ้ามองดูกันดีๆ เราจะยอมรับบุคคลรักร่วมเพศได้แค่บางสถานะเท่านั้น ถ้าคุณเป็น LGBT ที่ร่ำรวยหรือมีอำนาจชื่อเสียง คุณจะเป็นที่ยกย่องและได้รับความเกรงอกเกรงใจ

     แต่ในบริบทอื่น พื้นที่ที่มีจริงๆ สำหรับคนที่เกิดมาเป็นเพศชายแต่ใจเป็นผู้หญิงนั้น จะถูกมองว่าต้องเป็นคนอารมณ์ดี เอะอะเสียงดัง เล่นใหญ่สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนรอบข้าง หรือจะเรียกว่าเป็นตัวตลกสาธารณะก็คงไม่ผิดนัก แต่ถ้าไม่ได้เป็นไปในแนวทางนี้คือ ผิด และจะถูกกลั่นแกล้ง โดนล้อ โดนว่าด้วยถ้อยคำที่เราเห็นกันเป็นประจำอย่าง อีตุ๊ด กะเทย พวกสายเหลือง หรือระเบิดถังขี้ ซึ่งความรุนแรงทางวาจาเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดทอนลงไปตามเพศสภาพของชาว LGBT ในแบบอื่นๆ แต่แน่นอนว่าความเหยียดนั้นยังมีอยู่