“บรรจงร้อยเป็นมาลัย…” ท่อนฮุกสุดเพลิดเพลินใจจากเพลง บุษบา ของวงโมเดิร์นด็อก ที่ปล่อยออกมาครั้งแรกในช่วงยุค 90s ที่ทำให้วัยรุ่นในตอนนั้นกระโดดไปกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของพลังหนุ่มสาวกันอย่างสุดตัว และส่งให้เวลาเรานึกถึงใครก็ตามที่มีหัวคิดก้าวหน้า ชื่อของสมาชิกของวงนี้ก็จะผุดขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ
โดยเฉพาะกับ ‘ป๊อด’ – ธนชัย อุชชิน ฟรอนต์แมนของวง ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาเป็นไอคอนของวัยรุ่นมาทุกยุค ตั้งแต่วันที่ซิงเกิลแรกของโมเดิร์นด็อกกลายเป็นที่รู้จักของคนฟังเพลงจนถึงวันนี้ วันที่วัยรุ่นปี 2019 ก็ยังร้องเพลง บุษบา ตามได้ แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 25 ปี (เฮ้ย! เอาจริงสิ)
บรรจงร้อยเป็นม้าลาย…
ความคืบหน้าของโรงภาพยนตร์ลิโดที่เปลี่ยนมาเป็น ‘ลิโด้’ และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า LIDO CONNECT กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมตัวเปิดให้บริการกับทุกคนอีกครั้ง ซึ่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งของพื้นที่สร้างสรรค์อย่างเต็มตัว เราจึงมีโอกาสได้พบกับศิลปินในแขนงต่างๆ มากมาย เดินทางมาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับทางลิโด้อย่างมากมาย และเจ้าพ่อเด็กแนวสุดเก๋าคนนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขาขอร่วมแจมด้วยการสร้างผลงานภาพวาดลงบนกำแพงลิโด้บริเวณชั้น 1
“เดี๋ยวนะ ผมขอบอกชื่อผลงานก่อน” เขาบอกกับเราหลังคุยธุระทางโทรศัพท์มือถือเสร็จแล้ว
“ผลงานนี้ผมตั้งชื่อว่า ไม่เคยเหนื่อยล้ากับม้าลาย ซึ่งร้องเป็นเพลงได้เลยนะ ไม่เคยเหนื่อยล้ากับม้า… ลาย คุ้นๆ ใช่ไหมครับ” เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเมื่อเห็นสีหน้าที่ติดสตั๊นของพวกเราเพราะคิดไม่ถึงว่ามุกที่เด็กๆ ชอบเอามาแปลงเพลง บุษบา ท่อนที่ร้องว่า ‘บรรจงร้อยเป็นมาลัย สนุกสุขใจหนักหนา เป็นประจำทุกวันเวลา ไม่เคยเหนื่อยล้ากับม้าลาย (มาลัย)’ จะถูกนำมาใช้โดยเจ้าของผลงานเสียเอง ช่างอินเซ็ปชันเหลือเกิน
โอเค ไหนๆ ก็ม้าลายแล้ว และม้าลายนี้มาจากไหน จากถนนฝั่งข้างๆ ลิโด้ หรือมาจากม้าลายสัตว์สี่ขาตระกูลม้าในทวีปแอฟริกากันแน่ และพอเจ้าตัวเฉลยออกมาก็ยิ่งทำให้เราอึ้งต่ออีกรอบ
“ไม่ใช่ครับ ม้าลายนี้มาจากตุ๊กตาม้าลายที่คนเอาไปสักการะตรงศาลพ่อปู่ตรงกลางสยาม ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเหมือนกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่ที่โมเดิร์นที่สุด และลิโด้เป็นสถานที่แห่งความทันสมัย ในสยามสแควร์ซึ่งเป็นย่านที่ทันสมัย ม้าลายตัวนี้จึงมีทั้งเรื่องความเชื่อแบบบ้านเราทับซ้อนไปกับความเจริญเติบโตที่เป็นยุคสมัยใหม่”
สิ่งเก่า สิ่งใหม่ ความเชื่อโบร่ำโบราณ เกิดเป็นความโมเดิร์นที่เขาทำการเชิญตุ๊กตาบูชาเทพมาสักการะที่ลิโด้ ไม่ธรรมดาจริงๆ กับความคิดของชายคนนี้
“งานนี้ผมยังชวนน้องๆ ที่รู้จักมาช่วยกันเพนต์ด้วย” เขาเล่าถึงการทำงานในครั้งนี้ว่าอยากให้เกิดความสนุกขึ้นในพื้นที่แห่งนี้
“ผมมองว่างานนี้ ถ้าได้ทำงานร่วมกันแล้วจะเกิดเป็นความสุข เหมือนมีบรรยากาศของพี่น้องที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งที่ลิโด้เองก็เป็นเหมือนกับสถานที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะได้มาแสดงออก ได้มาปลดปล่อย มาปล่อยของ เป็นคอมมูนิตี้แห่งการสร้างสรรค์ ดังนั้น ก็ควรจะเป็นสิ่งที่รวมคนมาอยู่ด้วยกัน มาทำอะไรด้วยกัน ผมเชื่อว่าความรู้สึกนี้เป็นบรรยากาศที่ดี”
ซึ่งบรรยากาศนั้นก็ดีมากๆ จริงๆ เพราะการวาดภาพม้าลายบนผนังครั้งนี้มีน้องๆ จากหลายแขนงมาช่วยงานกันอย่างคึกคัก ลงสีไป คุยกันไป หัวเราะกันไป และในช่วงเย็นก็มีอาจารย์สอนศิลปะมาช่วยแจมด้วย
“นี่ผมไปตามน้องๆ ที่เรียนจิตรกรรมปี 5 มาช่วยถมดำในภาพด้วยนะ” เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี และเล่าถึงจุดสีต่างๆ ที่มีทั้งสีเหลือง สีส้ม สีฟ้า สีชมพู ในภาพกับเรา
“จุดสีเหล่านี้เป็นความสนุกสนานของวัยรุ่น จริงๆ และเป็นการทับซ้อนของความเชื่อเก่ากับความทันสมัยของวันนี้ ม้าลายคือความเชื่อเก่าที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของบ้านเรา การไหว้เจ้าที่เจ้าทาง การเคารพบูชา วัยรุ่นและลิโด้คือสิ่งใหม่ที่มาอยู่ด้วยกัน”
อดีตที่ผ่านไป สิ่งใหม่ที่เข้ามา ความทรงจำดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น
สยามสแควร์ไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นศูนย์กลางของเด็กวัยรุ่นในยุคของเขาเท่านั้น เพราะก่อนหน้าที่โมเดิร์นด็อกจะมีชื่อเสียง ตัวเขาเองก็มีความผูกพันกับลิโดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
“ตอนที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ผมเคยพาน้องปีหนึ่งที่ชื่อโป้ ใช่ โป้ โยคีเพลย์บอยนั่นแหละ แต่สมัยนั้นยังไม่ใช่โป้ โยคีเพลย์บอยนะ เขายังเป็นนิสิตจุฬาปี 1 และเพื่อนประถมของผมชื่อ นภ พรชำนิ รวมทั้งหมดสามคนมายืนเปิดหมวกอยู่หน้าประตูของลิโด เอากีตาร์มายืนร้องเพลงสามคนอยู่ตรงนี้ ใช้ชื่อวงว่า ‘am ffiine thank you and you’ จำได้เลยว่าตอนที่มาเล่นดนตรีเปิดหมวกเมื่อ 30 ปีก่อน วันนั้นได้เงินกลับมา 248 บาท ซึ่งนภบอกว่ายังเก็บเงินจำนวนนั้นไว้อยู่เลย (หัวเราะ) ตอนทำเพลงผมก็มาทำงานในสยามสแควร์ตั้งแต่ตอนร่วมงานกับพี่สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) พี่บอย โกสิยพงษ์, พี่สมเกียรติ Mr. Z ที่ห้องอัดเสียงข้างบนซึ่งตอนนี้กลายเป็นร้านคิตตี้คาเฟ่ไปแล้ว ตรงนั้นน่ะคือพื้นที่ของเบเกอรี่มิวสิค เป็นที่ก่อกำเนิดของอัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก พวกเราก็อัดเสียงอัลบั้มแรกที่นี่ ดังนั้น ตั้งแต่เป็นนิสิตก็จะวนเวียนอยู่ในสยาม ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาตลอด”
ความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
“ผมคิดว่าลิโด้จะเป็นมากกว่าเมื่อก่อนที่เป็นแค่โรงหนัง” เขานิ่งคิดทบทวนอยู่นานเมื่อเราถามว่าเมื่อลิโด้เปลี่ยนไป คนที่ผูกพันมานานอย่างเขาอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นในการกำเนิดใหม่ครั้งนี้บ้าง
“เท่าที่ผมทราบตอนนี้คือจะมีโรงหนังอยู่ 1 โรง ส่วนที่เหลือจะถูกปรับให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งโรงหนังจะได้รับการดูแลโดย Documentary club ส่วนที่เหลือจะเป็นคล้ายๆ Black Box นั่นคือเป็นกล่องสีดำที่ข้างในพร้อมที่จะแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะดีไซน์ยังไง จะจัดอะไรในนั้น ซึ่งใครที่มีแนวคิดสร้างสรรค์หรือการแสดงอะไรก็สามารถเข้ามาทำให้เกิดขึ้นที่นี่ได้ และทาง LIDO CONNECT ก็ตั้งใจที่จะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสสำหรับคนสร้างสรรค์ได้ใช้เป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเดินทางสะดวก รถไฟฟ้าลงปุ๊บก็เดินมาที่นี่ได้เลย ซึ่งลิโด้ตอนนี้น่าสนใจมาก”
ตอนนี้ลิโด้อยู่ในช่วงระหว่างเตรียมตัวเพื่อเปิดอย่างเต็มตัวในอีกไม่นาน และเราก็สังเกตว่ามีคนให้ความสนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่กันบ้างแล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าเมื่อถึงวันที่ LIDO CONNECT เสร็จสมบูรณ์เราจะเห็นคนหลั่งไหลเข้ามากันอย่างน่าชื่นใจไม่ปล่อยทิ้งให้ต้องเหงาแบบเมื่อก่อน
“ตอนที่ลิโดประกาศปิดตัวผมก็ใจหายเหมือนกัน” เขาวางแปรงทาสีลง
“แต่ตอนนี้ผมก็หวังว่าทางลิโด้จะสร้างคอนเทนต์ดีๆ หรือโปรแกรมดีๆ ให้คนได้เข้ามาตรงนี้ มาซึมซับอะไรดีๆ กลับบ้าน เพราะบ้านเราต้องการสิ่งนี้มากๆ เลย และความพิเศษของลิโด้ที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้คือตั้งอยู่ใจกลางเมืองจริงๆ ทำเลของลิโด้นั้นมหัศจรรย์มาก ลิโด้จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดรับทุกคน ทุกคนสามารถจะมามีส่วนร่วมซึ่งกันและกันได้
“ลิโด้สำหรับผมยังเป็นศูนย์รวมความสามัคคีด้วย ถ้าเรามีหัวข้อสนุกๆ มาเสนอ ผมก็เชื่อว่าทุกคนก็อยากจะมาแจมกัน”
แค่คิดตามเราก็รู้สึกถึงพลังที่พลุ่งพล่านในตัวขึ้นมา หลังจากที่ไฟในความคิดสร้างสรรค์นั้นหรี่ไปพักหนึ่งเหมือนกัน นี่คงเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าพลังของพื้นที่ที่เชื่อมโยงถึงผู้คนได้จริงๆ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ และ ภควดี จรูญไพศาล ถ่ายภาพ: ธนพงศ์ ธานี
อ่าน LIDO CONNECT ตอนอื่นๆ