Blind Experience

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ | ปิดตา และเปิดใจ สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ด้วยศิลปะของ Blind Experience

หากหลับตาลงเพียงชั่วครู่ สิ่งเดียวที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่เหมือนกันนั่นคือความมืดสนิท แต่ความมืดนั้นอยู่กับเราเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะเมื่อลืมตาขึ้นอีกครั้งหนึ่งมันจะอันตรธานหายไปในทันที ตัวเรากลับคืนสู่วิถีชีวิตปกติ มองเห็นทุกสรรพสิ่งดำเนินไปอย่างที่คุ้นเคย ต่างจากใครบางคนที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความมืดมิดไปตลอดกาล

     ‘หลุยส์’ – กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักการละครผู้ก่อตั้ง Blind Experience จึงได้ร่วมมือกับ Lido Connect และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ออกแบบละครเวที 6 มิติและนิทรรศการศิลปะในความมืดที่ทุกคนสนุกร่วมกันได้โดยไม่ใช้สายตา แต่ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ เพราะเขาต้องการสร้างความเข้าใจระหว่างคนตาดีกับคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต่อไป เหมือนกับที่ลิโด้ตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นพื้นที่ของศิลปะวัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์เพื่อสังคมสำหรับทุกคน

     บทสัมภาษณ์นี้จึงบอกเล่าเบื้องหลังความคิดและความตั้งใจจริงของหลุยส์ ก่อนที่เขาจะพาทุกคนไปสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ทั้งรับฟังเสียงของความเงียบ และชมภาพของความมืด พร้อมจุดแสงสว่างภายในหัวใจของทุกคนให้เห็นภาพที่งดงามที่สุดได้แม้ไม่ใช้ตามอง

 

Blind Experience

 

ลิโดในความทรงจำและความผูกพันในวันวาน

     ผมรู้สึกผูกพันกับลิโดตั้งแต่อายุประมาณสิบสองสิบสามปีได้ หลังเลิกเรียนพิเศษที่สยาม ผมจะแวะดูหนัง หรือไม่ก็กินขนมที่ร้านกล้วย กล้วย กินข้าวแกงที่นี่ก่อนเป็นประจำแล้วค่อยกลับบ้าน เพราะว่าหนังที่ฉายในลิโดแตกต่างกับหนังที่ฉายตามห้าง ถ้าอยากดูหนังนอกกระแสก็ต้องมาดูที่ลิโดเท่านั้น นี่แหละคือเสน่ห์ของลิโดที่ไม่เหมือนใคร ที่สำคัญเลยคือราคาตั๋วไม่แพง

     แต่ถ้าพูดถึงความหลังหรือความทรงจำกับลิโด ก็มีอยู่สองเรื่องที่ผมจำได้แม่น เรื่องแรกย้อนกลับไปตอนมัธยมปลาย มีคนเข้ามาจีบแฟนผม สืบไปสืบมาก็รู้ว่าเขาเป็นพวกแก๊งเด็กเจ้าถิ่นประจำลิโด เรื่องราวตอนนั้นใหญ่โตมากสำหรับเรา มีการเรียกผมให้ไปเจอกับหัวหน้าเขา (หัวเราะ) กลัวเหมือนกันนะ แต่พอนึกถึงทีไรก็อดขำไม่ได้ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งห่างกันสิบกว่าปีได้ ประมาณสามปีที่แล้ว ผมกับพ่อดูหนังเรื่องสุดท้ายด้วยกันที่ลิโด เพราะหลังจากนั้นท่านก็เสีย เป็นหนังที่บอกเล่าความผูกพันระหว่างคนกับทะเล ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้ สิ่งเดียวที่จำได้คือเรามีความสุขมากหลังจากดูหนังเรื่องนั้นจบ

     ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่มาลิโดด้วยเหตุผลหลักๆ คืออยากดูหนัง เมื่อลิโดประกาศปิดตัวจึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คนที่ชอบดูหนังในโรงหนังทางเลือก ผมเองที่มีความทรงจำกับที่นี่ก็สนใจเหมือนกันว่าเมื่อลิโดปิดตัวแล้วจะเป็นยังไงต่อไป จนช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวว่าลิโดจะกลับมาอีกครั้งกับคอนเซ็ปต์ใหม่ คือ Lido Connect เป็นพื้นที่ศิลปะเพื่อสังคม ทำให้ผมสนใจมากและรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย

 

แลนด์มาร์กที่เชื่อมโยงชีวิต ศิลปะ และสังคม

     ถ้าพูดถึงคำว่า connect สำหรับผมคือการรักษาความสัมพันธ์โดยไม่ครอบครอง ต้องเข้าใจก่อนว่ามนุษย์ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เราต้องการการช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ในเรื่องที่เราทำไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องคอนเน็กต์กับผู้คนตลอดเวลา ทั้งเป็นฝ่ายขอและให้ความช่วยเหลือ การคอนเน็กต์จึงเกิดขึ้นง่ายมาก

     แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อมาคือเราจะรักษาคอนเน็กต์นั้นไว้ยังไง มันเป็นเรื่องยาก เพราะความแตกต่างของมนุษย์นำมาซึ่งความต้องการที่ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งความต้องการที่ไม่เท่ากันจะเปลี่ยนจากคอนเน็กต์กลายเป็นคำว่าครอบงำ เราจะไม่สนใจเลยว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร เราจะยัดเยียดสิ่งที่เราต้องการให้อีกคนทันที ทางออกคือเราต้องสร้างความสัมพันธ์โดยไม่ครอบครองและไม่ครอบงำกันและกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ด้วยกันให้ยั่งยืน

     จริงๆ ทุกวันนี้โลกกำลังหมุนไปในทิศทางที่ว่าเราจะทำยังไงกันดีเพื่อทำให้โลกน่าอยู่ นี่คือหลักคิดที่สำคัญในปัจจุบัน แล้วศิลปะก็ไม่ค่อยถูกพูดถึงว่าช่วยทำให้โลกดีขึ้นได้เหมือนกัน ดังนั้น ตอนที่ลิโด้ประกาศเปลี่ยนใหม่เป็น co-cultural space หรือพื้นที่ของศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์เพื่อสังคม จึงทำให้คนทำงานศิลปะรู้สึกตื่นตัวด้วย เพราะผมเชื่อว่าศิลปินทุกคนอยากเห็นโลกดีขึ้น

     อย่างตัวผมเป็นครูสอนศิลปะการละครในโรงเรียนทางเลือก งานที่ผมทำอยู่ตลอดเวลาคือการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้มองไปยังอนาคตว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีในสังคมนี้ยังไงโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นและโลก กับอีกเรื่องคือ create social impact by art หรือการใช้ศิลปะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

     เมื่องานที่ผมทำสอดคล้องกับความตั้งใจของลิโด้ ผมจึงติดต่อลิโด้ทันที เพื่อบอกให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ศิลปินตัวเล็กๆ รอคอย ศิลปินจำนวนมากต้องการการสนับสนุนแบบนี้ เราคอนเน็กต์กันและกัน เพราะเรามีเป้าหมายและคาดหวังผลลัพธ์ในแนวทางเดียวกัน ลิโด้เป็นมากกว่าพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ลิโด้อาจกลายเป็นแลนด์มาร์กที่รวบรวมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชีวิต ศิลปะ และสังคมไว้ด้วยกัน

 

ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน

     ตอนนี้เรามีพื้นที่ศิลปะมากขึ้นก็จริง แต่พื้นที่ศิลปะที่สนับสนุนให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายมาเจอกันแล้วร่วมกันสร้างงานอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในลิโด้ล่ะมีมากขนาดไหน สิ่งแรกที่สำคัญคือกติกาภายใต้พื้นที่ของลิโด้ เป็นการอนุญาตให้คนที่เข้ามาในพื้นที่สามารถทำอะไรได้บ้าง ลิโด้ต้องสร้างกติกาที่สอดรับกับความต้องการของศิลปินด้วย เพราะถ้าไม่สร้างกติกาที่เปิดรับพวกเขาหรือยังไม่เข้าใจการทำงานของศิลปิน ลิโด้ก็อาจไม่ต่างจากพื้นที่ศิลปะอื่นๆ ที่ไม่ได้พลักดันให้คนมาสร้างงานทดลองร่วมกันจริงๆ นี่คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญกับพื้นที่ของการเปิดกว้าง

     อีกสิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญ คือการเคลื่อนไหวของพื้นที่ ในมุมมองนักการละคร ต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ว่าศิลปินหรือนักแสดงไม่ใช่ผู้วิเศษ เพราะทุกคนสามารถสร้างศิลปะและเป็นนักแสดงได้ ผมเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องของทุกคนที่จะมีสิทธิ์เรียนรู้และเสพ แต่พอมองภาพรวมของสังคม คนที่จะได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ถ้าเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาดีจะได้รับโอกาสก่อน หรือคนที่เข้ามาเสพงานศิลปะไม่ว่าจะในแกลเลอรีที่ดีๆ หรือโรงละครใหญ่ๆ ต้องยอมรับว่าคือคนชนชั้นกลาง หรือคนที่มีเงิน คุณจะไม่เคยเห็นผู้พิการ คนจน เด็กที่ขาดโอกาส เข้ามาอยู่ในพื้นที่แบบนี้มากนัก นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

     ดังนั้น movement ที่ต้องมองกันคือแท้จริงแล้วศิลปะสร้างประโยชน์อะไรให้กับมนุษย์ หรือทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ยังไง เราจะสร้างงานศิลปะหรือเสพศิลปะเมื่อชีวิตเราดีพอหรือมีความพร้อมทางการเงินเท่านั้นเหรอ ถ้าเราเป็นคนจน เป็นเด็กที่ไม่มีโอกาส หรือเป็นคนที่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ศิลปะจะไม่มีประโยชน์กับเราเลยใช่ไหม นี่คือประเด็นเรื่อง movement ที่ผมรู้สึกว่าต้องรีบกลับมาสร้างแล้วพูดกันใหม่ เมื่อสังคมวันนี้ตามหาความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และประสบการณ์ใหม่ๆ เราก็ต้องมองความหมายของศิลปะที่จะเชื่อมต่อกับคนในสังคมในมุมใหม่ให้ได้เช่นกัน

 

Blind Experience

 

Blind Experience ประสบการณ์ใหม่ในความมืด

     ในสังคมไทยศิลปะมักถูกแยกออกจากชีวิต นี่คือปัญหา ทั้งๆ ที่ศิลปะไม่ใช่เพียงแค่หลักคิด แต่เป็นความละเอียดอ่อนที่ทำให้เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์บางอย่างในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าศิลปินจะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบไหน ผ่านเทคนิคอะไร และบนพื้นที่แห่งใดก็ตาม ศิลปะจึงสำคัญมากกับทุกคน ศิลปินอย่างเรามีหน้าที่นำศิลปะกลับเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของทุกคนอีกครั้ง

     สิ่งที่ผมอยากเข้ามาร่วมสร้างในพื้นที่ของลิโด้คือการสร้างโอกาสให้คนที่ติดภาพเก่าๆ ว่าตัวเขาไม่ได้เชื่อมโยงกับศิลปะให้กลับมาสัมผัสงานศิลปะอีกครั้งด้วยประสบการณ์ใหม่ โดยวิธีคิดใหม่ๆ โปรเจ็กต์ที่ผมทำชื่อว่า Blind Experience ซึ่งจะชวนทุกคนมาเสพศิลปะในรูปแบบนิทรรศการและละครเวที 6 มิติ โดยมีกติการ่วมกันคือทิ้งมุมมองของเราในแบบเดิมไปก่อนเพื่อมาสร้างความทรงจำใหม่ด้วยกัน เพราะทุกคนจะไม่ได้ใช้สายตารับชม แต่ใช้ประสาทสัมผัสอื่นแทน เพื่อรับเสียง รส กลิ่น สัมผัส และจินตนาการ ผมต้องการเปิดกว้างให้กับทุกคนมองเห็นศิลปะในมิติอื่นๆ มากกว่าที่เห็นด้วยตา และอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก

     ผมอยากเปลี่ยนมุมมองของคนที่มองเห็นปกติให้มองโลกในความมืดเปลี่ยนไป จากความน่ากลัว ความน่าสงสาร และความน่าเบื่อ ให้ในความมืดกลายเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยความสนุก เพราะมีอีกหลายอย่างที่เราจะได้เรียนรู้ผ่านความมืด ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ให้กับคนที่มองไม่เห็นได้มีส่วนร่วมเต็มที่ นี่คือการสร้างงานศิลปะด้วยหลักคิด inclusive คือทำให้ทุกคนสามารถเสพงานศิลปะชิ้นเดียวกันได้ มีความสุขและสนุกไปด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะแตกต่างกันแค่ไหนก็ตาม

 

เรียนรู้กันและกันอย่างไม่ตัดสินด้วยสายตา

     ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะนำพาไปที่คำตอบสำคัญของชีวิตว่าเราเกิดมาทำไม ลองนึกย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ รู้ตัวเองว่าชอบ ไม่ชอบอะไร ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการอยู่คนเดียวในห้องมืดๆ ในบ้าน มันเกิดจากการที่คุณได้ออกไปเจอโลกแล้วโลกสะท้อนกลับมาที่ตัวคุณจนเกิดเป็นความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งใด เช่น เราจะไม่รู้ว่าเราชอบสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ไหม จนกว่าเราจะได้ลองสร้างสรรค์ หรือได้ออกไปพบเจอกับผู้คนที่เขาชอบสร้างสรรค์เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งนำไปสู่การเห็นตัวตนของตัวเองที่ชัดเจนขึ้น แล้วเมื่อถึงวันหนึ่งที่เข้าใจตัวเองมากพอ คุณจะตอบคำถามสำคัญได้ว่าคุณเกิดมาทำไมแล้วจะอยู่ไปเพื่ออะไร

     ถ้าตัดเรื่องความสัมพันธ์และความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมออกไป เราจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่ามากพอในสังคม คนที่ไม่ค่อยได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพื่อน สังคม อาชีพการงาน คนนั้นจะรู้สึกว่าแล้วฉันจะอยู่ไปทำไม ฉันหาคำตอบไม่เจอว่าเกิดมาทำไม เราเลยต้องสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งให้มากที่สุดเพราะเมื่อคนไม่ไขว้เขว ทุกคนรู้ว่าเกิดมาทำไม สังคมก็จะไม่ไขว้เขว มากไปกว่านั้นคือการรู้ด้วยว่าตัวเรา สังคม ประเทศจะไปในทิศทางไหนกันต่อ ทั้งหมดนี้คือความสำคัญของความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน อย่างน้อยที่สุดศิลปะก็สามารถทำให้เรารู้สึกได้

     แต่ ณ วันนี้ ที่บางคนรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งในสังคม ก็เพราะถูกตัดสินด้วยสายตา เช่น หน้าตาไม่ดีไม่มีใครอยากยุ่งด้วย แต่งตัวแบบนี้ไม่มีใครเข้าหา การมองไม่เห็นย่อมทำให้ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของใครหรือสังคมไหนอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างรอบตัวเราในชีวิตประจำวันให้ความสำคัญกับการมองทั้งนั้น คุณต้องเห็นคุณถึงเข้าใจและเข้าถึง คิดกลับกันแล้วคนที่มองไม่เห็นล่ะ งานศิลปะของผมจึงเชิญชวนให้ทุกคนตัดการมองเห็นออกไปและเปิดโอกาสให้คุณได้รู้จักกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพื่อมองหาความลึกซึ้งของการเป็นมนุษย์ผ่านมิติใหม่ๆ ที่จะไม่ถูกตัดสินด้วยสายตาในแวบแรก ดังนั้น ในงานจะเต็มไปด้วยกิจกรรมแบบนี้ที่ทำให้คุณได้รู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น เรียนรู้กันและกันในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การมองเห็น โดยเฉพาะระหว่างคนที่มองเห็นและคนที่มองไม่เห็น

 

พลังของละครและความเป็นมนุษย์

     ละครเรื่องแรกที่ผมเล่นสมัยที่ยังเรียนอยู่ จำได้ว่าทุกอย่างผิดจากที่คิดไว้ทั้งหมด เป็นละครแสงสีเสียงที่เพื่อนชวนไปเล่นที่วัดในวันพระ ตอนกำลังแสดงผมมองไปยังคนดูซึ่งเป็นชาวบ้าน ภาพที่เห็นคือเขาพนมมือแล้วน้ำตาไหล เกิดคำถามในใจทันทีว่าทำไมสิ่งที่ผมทำถึงมีอิทธิพลกับเขาขนาดนั้น ผมเลยมองละครใหม่ว่ามันอาจไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีพลังมากพอจนเข้าไปแตะความเป็นมนุษย์

     เหตุการณ์ในวันนั้นเบิกเนตรผมเลย ทำให้ผมเจอก้าวแรกซึ่งต้องหาคำตอบให้ได้ว่าศิลปะที่เราทำจะไปช่วยเหลือคนอีกได้ยังไง ไม่ได้หมายถึงการช่วยให้คนพนมมือแล้วน้ำตาไหลนะ แต่ละครน่าจะเข้าไปทำให้ชีวิตคนละเอียดอ่อน จนค้นพบอะไรบางอย่างที่เป็นคำตอบสำคัญในชีวิตได้มากกว่าแค่ดูแล้วสนุก จริงๆ ความสนุกก็อาจเป็นคำตอบในชีวิตได้เหมือนกัน เพียงแต่ผมคิดว่ายังมีมิติอื่นๆ อีก ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาผมจึงทำงานละครเพื่อหวังให้เป็นคำตอบบางอย่างในชีวิตของทุกคน

     ต่อมาผมไปเป็นอาสาสมัครสอนการบ้านให้คนที่มองไม่เห็น คนที่ผมสอนเรียนรัฐศาสตร์ เพราะเขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ตอนหลังเขากลับบอกผมว่าเรียนไปสุดท้ายมันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก เป็นโมเมนต์ที่จี้ใจผมมาก ชีวิตต้องสิ้นหวังขนาดไหน ทางเลือกเขามีจำกัด ส่วนทางที่เลือกก็ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ ขณะที่คนมองเห็นปกติ เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม เรามีทางเลือกเยอะมาก

     ผมจึงคุยกับเขาว่า เรามาร่วมมือกันไหม บอกเล่าสิ่งที่คุณต้องการผ่านละครเวที แล้วผมก็ชัดเจนด้วยว่านี่ไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่จะเป็นการทำงานด้วยกัน เราต้องสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคาดหวังว่าเมื่อทำสำเร็จทุกคนจะอยู่กับมันได้ นั่นหมายความว่าผมต้องการอยู่กับคุณด้วยในอนาคต ฉะนั้นจึงไม่มีความสงสารเข้ามาเกี่ยวข้องในงานเลย เมื่อปราศจากความสงสาร สิ่งที่เหลืออยู่คือความรู้ ความเข้าใจซึ่งจะทำให้เราไปต่อด้วยกันได้ ดังนั้น สิ่งที่เราคาดหวังคือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคนที่มองเห็นต่อผู้พิการทางสายตาและความมืดว่ามันไม่ใช่เรื่องความสงสาร แต่เป็นเรื่องศักยภาพ และพื้นที่สร้างงานศิลปะใหม่ที่ทุกคนจะร่วมกันสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

 

Blind Experience

 

ศิลปะเพื่อสังคม

     ละครเรื่องนี้มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ปกติถ้าไปดูละครที่มีฉากอลังการ สมมุติว่าเป็นฉากทะเล ก็จะมีคนบอกว่านั่นคือทะเลที่สวยงาม เพราะเขาทุ่มทุนสร้างฉากเพื่อต้องการบอกคุณแบบนั้น ซึ่งคุณอาจจะรู้สึกขัดแย้งในใจว่าทะเลที่สวยของฉันเรียบง่ายกว่านั้นมาก ตรงกันข้ามถ้าคุณมาดูละครเวทีในความมืดเรื่องนี้คุณจะเห็นภาพที่สวยที่สุดของคุณ เมื่อตัวละครพูดถึงทะเลที่สวยงาม ทุกคนจะจินตนาการถึงความสวยงามของทะเลเป็นภาพในแบบฉบับของตัวเองที่คุณอยากจะเห็นโดยไม่ถูกสังคมชี้นำ ผมมองว่าละครที่เราทำเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ซึ่งมักจะให้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นคำตอบในชีวิตโดยที่เราไม่คาดคิดเสมอ นี่จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมมากๆ เพราะผมเชื่อว่าคุณจะได้เจอสิ่งนั้นในพื้นที่ตรงนี้เหมือนกับที่เราทุกคนเคยเจอ

     แล้วเมื่อละครจบต้องไม่ใช่อุดมคติลอยๆ ที่คนดูปรบมือแล้วกลับบ้าน นั่นคืองานศิลปะแบบเก่า แต่ถ้าคุณคาดหวังศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม งานนั้นต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อทำให้คุณรับรู้ปัญหาสังคมจริงๆ แล้วนำไปสู่การลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ผมจึงต้องการให้คนตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ ความตื่นเต้นและเข้าใจจะทำให้เขากลายมาเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า Universal Design ซึ่งจะตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ให้ทุกคนในสังคม เพราะถ้าหากยังติดอยู่ในหลักคิดว่าทำเพื่อช่วยผู้พิการกลุ่มเดียว สังคมก็จะไม่ได้ไปไหนไกล ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ที่เป็นกลาง ไม่อย่างนั้นสังคมจะหนีไม่พ้นเรื่องความน่าสงสาร

     แล้วในเมื่อเป็นการทำงานศิลปะเพื่อแก้ปัญหาสังคม ก็ต้องกลับมามองด้วยว่าทำไปแล้วสังคมดีขึ้นไหม ผมตั้งใจสร้าง call to action ให้กับคนที่มาชมงาน เพราะหลังจากเสพงานศิลปะหรือดูหนังดีๆ สักเรื่องเสร็จ ใจของเขาจะเปิดกว้างเต็มที่ ผมคิดว่าเป็นวินาทีที่ดีมากๆ ที่เราจะบอกเขาว่าเมื่อใจเปิดแล้วอยากช่วยเหลือสังคม เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เราจึงร่วมมือกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ สร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน ทั้งคนที่มองเห็นปกติและคนที่บกพร่องทางการมองเห็นสามารถเรียนร่วมกันได้ ซึ่งจะมีวิชาศิลปะหลากหลายแขนง ผมจึงอยากเชิญชวนคนดูละครมาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยกันต่อ เป็นครูอาสาไหม หรือจะสมทบทุน และนี่คือวิธีการสร้างงานศิลปะผ่านหลักคิด create social impact by art ในมุมมองของเรา

 

ยืนหยัดในความเชื่อและอุดมการณ์

     ผมคาดหวังว่าลิโด้จะยืนหยัดในความเชื่อและอุดมการณ์ที่ประกาศออกมา เพราะการทำพื้นที่ศิลปะเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งตัวงานของศิลปินเองที่ทำออกมายังไม่ชัดเจน ไม่สามารถวัดผลความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมาย ฉะนั้นพื้นที่แห่งนี้ทุกอย่างคือความท้าทาย ลิโด้ต้องไม่ใช่แค่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินนำผลงานเข้ามาแสดง แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่สร้างคนด้วย แล้วสนับสนุนให้เขาสามารถสร้างงานศิลปะที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

     แล้วศิลปินที่ต้องการใช้พื้นที่ของลิโด้ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าลิโด้คือองค์กรธุรกิจซึ่งมีรายรับ-รายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ถามว่าเป็นไปได้ไหมถ้าศิลปินสร้างงานศิลปะดีๆ ขึ้นมาแล้วต้องการให้ลิโด้สนับสนุนโดยเปิดพื้นที่แสดงงานแบบฟรีๆ คำตอบคือได้แต่ไม่ตลอดไป ไม่อย่างนั้นลิโด้ก็จะอันตรธานหายไปในที่สุด เพราะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน นี่คือโอกาสอันดีที่ศิลปินจะได้หันมามองงานสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น แล้วมองเรื่องธุรกิจให้ชัดเจนขึ้นว่ามีกำลังเงินให้เจ้าของพื้นที่ ศิลปินอย่างเราต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย

     ถึงเวลาแล้วที่ศิลปินทุกคนต้องชัดเจนว่าคุณมีความเชื่อเหมือนที่ลิโด้เชื่อไหมว่าสังคมจะดีขึ้นได้ด้วยศิลปะ อย่าให้ลิโด้เป็นฝ่ายตามหาแต่ศิลปิน เพราะหากวันหนึ่งตามหาไม่เจอ ลิโด้อาจเปลี่ยนแนวคิดหรืออุดมการณ์นี้ไป ดังนั้น ถ้าคุณเชื่อว่าพื้นที่แห่งโอกาสแบบนี้มีอยู่จริง ศิลปินต้องเข้ามาหาลิโด้ด้วย เพื่อยืนยันว่ายังมีคนแบบพวกเราอยู่นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด”

 

 

เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019

    แรงบันดาลใจจากภาพยนต์เรื่อง Grave of the Fireffllies และบทเพลง นิทานหิ่งห้อย ของวงเฉลียง สู่เรื่องเล่าของคุณยาย กับการเดินทางของสองพี่น้องในช่วงสงครามโลกที่จะพาคุณฟันฝ่าทุกอุปสรรคเพื่อเรียนรู้ความหมายอันลึกซึ้งและสิ่งสวยงามในชีวิตที่แท้จริง มาร่วมผจญภัยในความมืด (Sensory Tour) ไปด้วยกัน และสร้างประสบการณ์ชมละครโดยไม่ใช้สายตา แต่เปิดรับความรู้สึกใหม่ในทุกมิติ ด้วยรส กลิ่น เสียง สัมผัส เวลา และจินตนาการ พร้อมความประทับใจไม่รู้ลืม

     ในงานยังมีนิทรรศการ Once Upon a Time in the Fireffllies Forest ที่เปิดให้เข้าชมก่อนละครแสดง 1 ชั่วโมง เพื่อความสนุกและเต็มอิ่มยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 โซนกิจกรรมคือ การพูดคุยกับคนแปลกหน้า (Fact: Blindfolded Conversation) การสร้างงานศิลปะจากการสัมผัสและดมกลิ่น (Feel Free: Blind Touch and Smell) พื้นที่การแสดงที่ทำให้คุณได้ใกล้ชิดกันกว่าที่เคย (Free Floor: Blind Playground) การสัมผัสรสชาติใหม่ที่คุณไม่เคยลิ้มลอง (Find Flavor: Blind Taste) และการซื้อของที่ไม่ได้มองแค่ภายนอก แต่สัมผัสถึงคุณค่าของภายใน (Fulffiil: Secret Art Shop)

     ละครเวที 6 มิติ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019 เปิดการแสดงทั้งหมด 22 รอบ ระหว่างวันที่ 13-31 สิงหาคม 2562 ณ Lido Connect รายละเอียดเพิ่มเติม Blind Experience ซื้อบัตรได้ที่ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 

 


อ่าน Lido Connect ตอนอื่นๆ 

     – ธนชัย อุชชิน | ชวนไปสักการะงาน ‘ไม่เคยเหนื่อยล้ากับม้าลาย’ ศิลปะสุดโมเดิร์นในลิโด้

     – ปู จิรัฏฐ์ | เปิดเกาะสวรรค์ใจกลาง Lido Connect ให้คนเมืองได้พักใจไปกับกลิ่นอายของท้องทะเล

     – ปรีชา ธุธิรพงษ์ | ลิโด้กับเรื่องเล่าในวันเก่าสู่พื้นที่สร้างสรรค์ในวันใหม่

     – พอแล้วดี The Creator | ชวนมาทำความรู้จักตัวเองให้ ‘ดีพอ’ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของชีวิต

     – ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ | หนังจบ คนไม่จบ พฤติกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมแห่งบทสนทนา