อรรถพล อนันตวรสกุล

ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล: ชั้นเรียนคือพื้นที่ที่ทรงพลังของการพัฒนาวิชาชีพครู

เพื่อให้การเรียนรู้ ไม่ได้ตกอยู่กับแค่เพียงเด็กๆ เท่านั้น แต่แม่พิมพ์ของชาติอย่าง ‘ครู’ ก็ต้องเป็นบุคคลที่ต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาตัวเองให้เป็นครูที่มีศักยภาพ 

        เช่นเดียวกับความคิดของ ‘อาจารย์ฮูก’ – ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้ให้ความรู้กับนิสิต ว่าที่ครูรุ่นใหม่หลายต่อหลายรุ่น และเพื่อให้เห็นภาพว่าการเรียนรู้จะพัฒนาครูได้อย่างไร หรือเพราะเหตุใดบ้างที่ทำให้ครูไม่ขยับที่จะพัฒนาตัวเอง อาจารย์ฮูกจึงอธิบายผ่านตัวอย่างของโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ที่ทางคณาจารย์และนิสิตฝึกสอนได้เข้าร่วมพัฒนาโรงเรียน ครู และการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปพร้อมกัน

 

อรรถพล อนันตวรสกุล

ว่าที่ครูจบใหม่ 

        ในช่วงสายๆ วันรับปริญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์เป็นอีกคณะที่คึกคัก เพราะเต็มไปด้วยว่าที่ครูมากมายใส่ครุยยืนถ่ายภาพกันด้วยรอยยิ้มกว้าง แต่ยังไม่รู้ว่าในอีกไม่กี่ สพฐ. ได้ประกาศว่าปีนี้จะไม่มีการสอบบรรจุครู พร้อมเปิดสอบอีกครั้งในปีหน้า เพียงเพราะอัตราจ้างครูผู้ช่วยเต็มจำนวน นิสิตจบใหม่เหล่านี้จะรู้สึกต่อการเป็นครูอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า และอยากจะยังคงเป็นครูเพื่อลูกศิษย์ต่อหรือไม่ 

        ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์ฮูกได้อธิบายไว้ว่า จริงๆ แล้วมันเป็นผลกระทบมาจากการลดลงของนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ตามชุมชน มีเรื่องของเจเนอเรชันที่อัตราการเกิดน้อย ทำให้เด็กลดลงเรื่อยๆ และเรื่องการบรรจุครู 

        “ที่ผ่านมาจะเป็นระบบเมื่อครูเกษียณปุ๊บก็นำไปแลกครูอัตราจ้างกลับมา แต่สองสามปีหลัง เริ่มมีไอเดียว่าจะไม่ให้อัตราคืนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาประเมินแล้วว่าโรงเรียนจะมีจำนวนเด็กน้อยลง และก็ไปเคร่งครัดกับระเบียบจาก สพฐ.ว่า 1 : 30 เท่ากับว่า หากโรงเรียนมีเด็ก 240 คน จะครูเพียง 8 คน โดยแต่ละคนต้องสอนถึงสามสาระวิชาการ 

        “คำถามคือเป็นไปได้หรือ เอาง่ายๆ อย่างครูสังคม หากมีคนเดียวจะสอนยังไง เพราะสังคมคือทุกวิชา ทั้งๆ ที่วิชานี้ก็ต้องการครูเฉพาะทางเหมือนกัน อย่างตอนนี้มีวิชาดนตรี ศิลปะ นาฏศิลป์ บางทีเป็นกลุ่มสาระเดียวกัน ทั้งๆ ที่แต่ละอย่างก็ต้องการครูเฉพาะทาง แต่ตอนนี้โรงเรียนถูกผูกด้วยการกำหนดจำนวนเด็กต่อครู ยิ่งทำคุณภาพขยับยาก 

        “บางโรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มขึ้น สูงถึง 4,000–3,000 คน โดยมีอัตราครูต่อเด็กอยู่ที่ 1 : 40 ต่อห้อง ส่งผลทำให้การดูแลเด็กในเชิงคุณภาพไม่ได้ แต่หากเป็น 1 : 20 หรือ 1 : 12 เหมือนกับโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ครูจะรู้จักเด็กทุกคน เพราะฉะนั้น เมื่อครูได้ใกล้ชิดกับเด็ก ต่อให้ต้นทุนชีวิตหรือขีดความสามารถน้อย ก็สามารถพาเด็กคนหนึ่งไปต่อได้ไวกว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่อยู่ในห้องเรียนที่มีสัดส่วนของเด็กมากเกินจนล้นขีดความสามารถของครูหนึ่งคน”

การเรียนรู้ที่ครูพึงมี

        ปัญหาเรื่องการสอบบรรจุครูผู้ช่วยอาจมีผลกระทบต่ออาชีพครู แต่ใจความสำคัญ ณ เวลานี้คงเป็นเรื่องของครูจบใหม่ที่บรรจุแล้ว จะทำอย่างไรให้เป็นครูมืออาชีพได้ ซึ่งอาจารย์บอกไว้ว่า 

        “ผู้เป็นครู ไม่ใช่แค่ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นครูมืออาชีพ แต่ต้องเป็นคนเรียนรู้ ว่าด้วยเรื่องการเรียนของเด็ก นี่คือสิ่งสำคัญกว่า”  

        ก่อนจะยกตัวอย่างครูผ่านโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อาจารย์ฮูกได้เข้าไปทำโปรเจ็กต์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโรงเรียนด้วยแนวคิด SLC (School as Learning Center) ที่เน้นให้โรงเรียนเป็นชุมชนการเรียนรู้ มุ่งพัฒนาครู และสร้างทักษะชีวิตในศวตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กๆ ให้ฟังว่า

        “ผมเห็นว่าที่นี่มีผู้ก่อตั้งเป็นพระอาจารย์ที่มีอุดมการณ์อยากให้เด็กในชุมชนเป็นคนใฝ่ดี ยิ่งช่วงหลังมีผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ที่จะไม่ย้ายไปไหน และมีความตั้งใจที่จะเกษียณตัวเองที่นี่ มีครูอาวุโสที่ใกล้เกษียณอีก 4-5 ปีข้างหน้า รักและหวงโรงเรียน พร้อมที่จะส่งต่อโรงเรียนให้ดี ให้กับครูรุ่นน้องต่อไป ทั้งมีครูเด็กๆ บรรจุเข้ามาเยอะ เมื่อมาแล้ว ได้เข้าเยี่ยมบ้านเด็กก็จะเปลี่ยนมายด์เซตไป ยิ่งตอนนี้ในโรงเรียนพุทธจักรวิทยามีคนรุ่นใหม่ 20 กว่าคน ทุกคนจะคุยเรื่องเด็กเป็นรายบุคคล”

        โดยอาจารย์ฮูกได้ยกตัวอย่าง ‘ครูเปรม’ ครูรุ่นใหม่สอนวิชาศิลปะให้ฟังว่าการเรียนรู้ของครู ไม่ใช่แค่แนววิชาการหรือชุดข้อมูลที่จะให้เด็กๆ แต่การเรียนรู้ของครู อาจจะเริ่มต้นได้จากเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนมายด์เซตของตัวเองก่อน

        “มีประโยคหนึ่งที่ดีมากจากครูเปรม เล่าให้ฟังว่า เขาเคยสอนที่โรงเรียนขนาดใหญ่มาก่อน พอบรรจุแล้วมาเจอโรงเรียนนี้ ก็มีความคาดหวัง แต่ครูสอนศิลปะที่มาจากโรงเรียนใหญ่ อุปกรณ์ทุกอย่างมีความพร้อม แต่ที่นี่เด็กๆ ไม่มีอะไรเลย แถมยังไม่รู้ด้วยว่าจะเรียนศิลปะไปทำไม เพราะงานที่เด็กๆ ทำนั้น ไม่ต้องการทักษะเหล่านี้ 

        “กลายเป็นว่าครูเปรมต่างหากที่ต้องลดเพดานความคาดหวังจากเด็กให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่คาดหวังเลย เพราะจะเป็นการปิดโอกาสให้กับผู้เรียน อาจจะปรับการคาดหวังที่สูงมาอยู่ในระดับที่เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็จะเห็นได้ชัดเจนมากเท่านั้น อีกอย่างหากในห้องเรียนมีความหมายสำหรับพวกเขา เด็กก็จะอยากเรียนรู้จนสามารถไปต่อได้” 

เรียนรู้ผ่านระบบบัดดี้

        แล้วจะเริ่มต้นผ่านกระบวนการอย่างไร เราถามอาจารย์ฮูก

        “เริ่มต้นในปีแรก ด้วยออกแบบการเรียนรู้ให้เป็น active learning ด้วยรูปแบบ PLC (Professional Learning Community) นโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นเรื่องชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งทางโรงเรียนไม่เคยทำเลย ก่อนหน้านี้ก็เหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ คือครูทุกคนจะอยู่ที่หมวด และทุกคนก็โฟกัสที่ห้องเรียนตัวเอง 

        “เราจึงเซตระบบว่าให้จับคู่บัดดี้หรือ Peer Work โดยกำหนดเพื่อนคู่คิดไว้ว่า เราจะไม่บังคับการจับคู่ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ใครอยากคู่กับใครก็ได้ ลูปที่หนึ่งเริ่มต้นที่ครูเด็กจับคู่กับครูผู้ใหญ่ หรือครูผู้ใหญ่อยากจับคู่กันเองก็ได้ แต่จะต้องเป็นคู่ครูต่างสาระกัน เพราะหากเป็นครูสาระเดียวกันจะกลายเป็นผิดแผน เพราะจะมาจับผิดกัน แต่หากเป็นการข้ามสาระก็จะไปโฟกัสการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ครูเลขจับคู่กับครูคอมพิวเตอร์ เวลาเข้าไปดูก็ไม่ได้ดูว่าสอนอะไร แต่ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องเรียน และครูสามารถเลือกคาบได้ว่าจะให้เพื่อนไปสังเกตการณ์ได้คาบไหน เพื่อให้เกิดความสบายใจมากที่สุด

        “แล้วแต่ละเทอมให้มีลูปในการเข้าไปสังเกตการณ์การสอนเดือนละ 1 ครั้ง เท่ากับ 1 เทอมจะมี 3 ครั้งที่เขาจะได้ไปดูห้องบัดดี้ตัวเอง แล้วก็ขอให้ปักหมุดว่าทุกสัปดาห์จะต้องมีคาบ PLC ล็อกไว้เลย วันอังคารบ่ายจะต้องมานั่งแชร์กันว่านักเรียนเรียนรู้แล้วเป็นอย่างไร แผนที่วางเอาไว้เมื่อนำไปใช้แล้วนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เขาตามทันไหม ใครที่ช้า ใครที่ตอบสนองได้ไว สัญญาณอยู่ตรงไหน ดูตรงไหนได้ เหมือนมีตาอีกคู่หนึ่งอยู่ในห้องด้วย”

 

อรรถพล อนันตวรสกุล

เรียนรู้แบบ Open Class

        ตามปกติแล้วทุกโรงเรียนจะมีการพูดคุยหลังสอน หรือเป็นการนิเทศภายใน ครูรุ่นพี่สอนงานครูรุ่นน้อง แต่ระบบ PLC นี้จะไม่ใช่การสอนแต่เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายต่อว่า

        “ลูปแรกผ่านไป เราก็จัดการอภิปรายเพื่อแชร์กัน ลูปที่สองขอให้เปลี่ยนคู่ แต่ต้องเป็นคู่ที่มีห้องเรียนสอนร่วมกันหนึ่งห้อง อย่างครูเลขคู่กับครูวิทย์ อาจจะต้องสอนห้อง ม.1/2 เหมือนกัน เพื่อที่จะคุยเรื่องเด็กได้ 

        “แต่ที่พลิกจริงๆ ก็ตอนลูปที่สาม เพราะระหว่างทางเราจะเริ่มมีคนนอกเข้ามาช่วย เช่น ได้อาจารย์จากญี่ปุ่น 2-3 คนที่ทำเรื่อง SLC มาเยี่ยมโรงเรียนแล้วสะท้อนเข้ามาอีกที คือต้องเปลี่ยนโทนการนิเทศจากจับผิด เป็นสะท้อนคิด เช่น คนนอกมาดูแล้วเห็นเด็กคนไหนเรียนรู้แล้วน่าสนใจบ้าง เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเกี่ยวข้องกับการออกแบบโรงเรียนอย่างไร คนนอกเข้ามาจะเป็นการช่วยตั้งคำถาม ผ่านวิดีโอบ้าง ภาพถ่ายบ้าง ก็จะทำให้ครูที่สอนใน open class ได้เรียนรู้และเริ่มให้นักเรียนนั่งจับกลุ่ม คือจะต้องเปลี่ยนรูปแบบบรรยากาศการคุยกับเด็ก เน้นให้เด็กปรึกษากันในกลุ่ม แล้วจะไม่มีใครออกมาพูดหน้าห้องหรือถูกทิ้งไว้ลำพัง ท้ายสุดแล้วการมี open class ก็กลายเป็นวัฒนธรรมโรงเรียนไปโดยปริยาย”

เรียนรู้ด้วยการปรับมายด์เซต

        นอกจากระบบใหม่ที่ค่อยๆ ทดลองใช้แล้ว สิ่งที่ทางอาจารย์ฮูกได้เห็นและต้องการให้เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนมายด์เซตของครู แต่ก่อนที่ครูจะเปลี่ยน โรงเรียนจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเสียก่อน 

        “ตอนที่ผมไปทำงานวิจัยที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ผมเคยเห็นวงคุยของครูญี่ปุ่นพรีเซนต์แผน ตอนนั้นก็เข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรอยู่แล้ว แต่ครูชาวญี่ปุ่นอธิบายว่านี่คือกระบวนการเรียนรู้แบบ Lesson Study ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมืองไทย ครูยังต่างคนต่างอยู่ ไม่ทันคุยกัน 

        “จนเมื่อถูกชวนมาทำโปรเจ็กต์ SLC กับโรงเรียนนี้ เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร เปลี่ยนวัฒนธรรมโรงเรียนที่ต่างคนต่างอยู่ ปิดประตูใส่กัน มาทำกับข้าวกินกัน มารวมตัวกันเพื่อคุยเรื่องเด็ก แล้วจะเปลี่ยนได้ไง เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนก็อยู่แบบนั้น นั่งทำกับข้าวกินกันก็จริง แต่นั่งเมาธ์ละครหลังข่าว คุยแต่เรื่องสัพเพเหระ ไม่ได้คุยเรื่องเด็ก พอเราได้รู้หัวใจอยู่ที่ผู้เรียน จุดนี้คือเปลี่ยนมายด์เซตครูก่อน

        “แน่นอนว่าปีแรกผมก็มีคำถามและแอบค้านเรื่อง open class ทำไมต้องมีคนมาสังเกตการณ์เยอะขนาดนั้น เดินกันทั่วเลย แล้วจะไม่รบกวนเด็กเหรอ แต่ปีต่อมา เราก็เริ่มรู้ว่าถ้าออกแบบการเรียนรู้ที่ดี แล้วเด็กอยู่กับกลุ่มแล้ว โฟกัสก็จะอยู่กับเขา แล้วคนที่เข้ามาในห้องเรียนก็ต้องเรียนรู้การไม่รบกวนเด็ก เด็กก็จะเริ่มคุ้นเคยว่าห้องเรียนเป็นของเขา ไม่ใช่ของคนอื่น

        “อย่างที่เมืองจีน นักเรียน 50 คนต่อห้อง คนมาสังเกตการณ์เยอะมาก เขาก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะกำลังสนุกจากโจทย์ของครู ผู้ใหญ่รอบๆ ห้องเหมือนไม่มีตัวตน หายไปหมดเลย เราก็เห็นพลังว่าสิ่งนี้เป็นการคืนความรู้สึกเป็นเจ้าของบทเรียนให้แก่เด็ก แล้วเรากลายเป็นผู้เรียนจากเขา ก็จะทำให้เรารู้ว่าเด็กคุยกันในกลุ่มอย่างนี้ เด็กแต่ละคนตีความไม่เหมือนกัน แก้ปัญหาไม่เหมือนกัน กลายเป็นขุมความรู้ เพราะที่ผ่านมายูนิตครูต่อเด็กคือ 1 : 40 ครูได้ยินแต่เสียงตัวเองอยู่ในหัวว่าคุยเรื่องอะไร แต่กลับไม่ได้ยินเสียงเด็กว่าจริงๆ แล้วพวกเขาคุยอะไรกันอยู่” 

เรียนรู้เพื่อให้เป็น ‘ครูเพื่อศิษย์’ 

        แต่ในฐานะที่อาจารย์ฮูกเป็นอาจารย์นิเทศฝึกสอนมากว่า 20 ปี ใช่ว่าจะรู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ครั้งแรก อาจารย์ฮูกเองก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน

        “ตอนแรกก็ไม่รู้ เพราะเมื่อก่อน เราก็เคยเป็นอาจารย์ที่นิเทศแบบ… เอ ทำไมทำแบบนี้ ต้องทำแบบนี้สิ แต่พอหลังๆ เรารู้แล้วว่าหากทำแบบนั้น เด็กจะตามไม่ทัน เพราะชั่วโมงบินของเราเยอะขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น แต่เด็กเพิ่งเริ่มนับหนึ่ง ทำให้เราเปลี่ยนการคุยกับเขาด้วยการใช้วิธีตั้งคำถามกลับ 

        “อีกหนึ่งความเชื่อคือ ไม่อยากสอนเด็กให้เป็นเหมือนผม เพราะไม่มีใครเหมือนใครได้ เรามีแนวคิดแบบหนึ่ง คาแรกเตอร์แบบหนึ่ง ประสบการณ์แบบหนึ่ง เขาเพิ่งอายุ 21-22 ปี เขาคงสอนเหมือนเราไม่ได้ เขาควรจะสอนตัวเอง แต่เราจะทำยังไงให้เขาออกแบบการเรียนรู้ในแบบที่เขาถนัดและเหมาะสมกับห้องเรียนของเขา คือสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ผ่านห้องเรืยนของตัวเอง เพื่อลูกศิษย์ของเขาเอง”