ยอมรับมาซะดีๆ ว่าคุณเคยพร่ำบ่นถึงระบบการศึกษาไทยว่าห่วย แม้ว่าตัวคุณเองก็เป็นหนึ่งในผลผลิตจากระบบห่วยๆ เหล่านั้นก็ตาม นับเป็นเรื่องตลกร้ายที่ทำเอาหลายคนขำไม่ออก แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้น และได้ทำความรู้จักกับโลกของการศึกษา คุณจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนต่างมีอิสระในการเลือก เพียงแค่ที่ผ่านมาระบบการศึกษาแบบไทยๆ ได้ขีดเส้นนำทางคุณมากเกินไปเท่านั้นเอง
ในขณะที่สังคมในหลายๆ ประเทศต่างเปิดกว้างและบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าความรู้ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ใจที่ใฝ่รู้และกระบวนการเรียนต่างหากคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีกว่าและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งการที่คนคนหนึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจเป็นเรื่องท้าทายด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้เราจึงชวน ‘เปิ้ล’ – สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี ผู้เขียนหนังสือ School à la carte การศึกษาภาค (อย่า) บังคับ มาแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ทั้งในฐานะ ‘นักเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจากระบบการศึกษาของไทย ก่อนที่จะออกไปผจญภัยกับรูปแบบการเรียนรู้ของประเทศที่ขึ้นชื่อว่าดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และในฐานะ ‘แม่’ ผู้พยายามสร้างทักษะชีวิตให้กับลูกภายใต้บริบทสังคมไทย ด้วยความหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นต้นทุนชีวิตที่ทำให้ลูกเติบโตเป็น Lifelong Learner เลือกเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกการศึกษาในระบบตีกรอบ
กระแสหรือเทรนด์ด้านการศึกษาตอนนี้กำลังให้ความสำคัญเรื่อง Lifelong Learning เพราะเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะทำให้คนอยู่รอดต่อไปในศตวรรษที่ 21 ทำไมทั่วโลกต้องหันมาสนใจประเด็นนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
สาเหตุหลักที่คนหันมาให้ความสำคัญกับ Lifelong Learning (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) เป็นเพราะความไม่แน่ใจในชุดความรู้หรือวิชาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าจะยังเพียงพออยู่ไหมสำหรับอนาคตข้างหน้า ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย
เริ่มมีการตั้งคำถามกันว่า ในเมื่อประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น สมมติว่า 85 ปี หมายความว่าหากเกษียณตอนอายุ 60 ปี ระยะเวลาประมาณ 25 ปีที่ผู้สูงอายุจะต้องใช้ชีวิตต่อไป สังคมจะให้การสนับสนุนดูแลในแง่มุมไหนได้บ้าง ในหลายประเทศจึงขยายอายุเกษียณออกไป แต่ปัญหาที่ตามมาคือความรู้เดิมที่เรียนมาสมัยก่อนอาจเก่าเกินไป
ดังนั้น สังคมก็ต้องมีวิธีหรือกลไกบางอย่างมาลับคมความรู้ใหม่ให้ด้วย ซึ่งในต่างประเทศอาจจะเห็นภาพชัดเจนกว่า เพราะมีระบบการศึกษาที่เรียกว่า Extracurricular Activities เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาเรียนได้ตามความสนใจ หรืออย่างประเทศจีน ก็มีการเปิดมหาวิทยาลัยเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จริงๆ แล้ว Lifelong Learning เป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษามาตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้พูดถึงกันมากขนาดนี้ อย่างคนไทยเองจำนวนไม่น้อยก็ยังนิยมเรียนภาคค่ำหลังเลิกงานเพื่อเสริมความรู้
ทักษะหรือความรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 สำหรับคุณคืออะไร
จริงๆ ขึ้นอยู่กับว่ามองโลกแบบไหน ให้ความสนใจอะไร ยิ่งตอนนี้คนในแวดวงการศึกษาเริ่มออกมาพูดว่าควรให้เด็กๆ เรียน coding เพราะนี่คือ new literacy เด็กในศตวรรษที่ 21 จะต้องรู้และเข้าใจเสมือนกับการอ่านออกเขียนได้ แต่เราอยากถามต่อไปว่ามันใช่จริงๆ หรือเปล่า เพราะเมื่อถึงจุดที่มีแต่คนเรียน coding เต็มไปหมด ความรู้หรือทักษะอื่นๆ ที่สำคัญกับโลกเหมือนกันอาจไม่มีใครมาสนใจเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรอย่างยั่งยืน เรามั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้มนุษย์จะประสบกับคำถามเรื่องอาหาร เช่น จะหาอาหารจากไหนมาเลี้ยงประชากรที่เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอ โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น เมื่อพูดถึงทักษะหรือความรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ในมุมมองของเรา จึงไม่ได้มองแบ่งเป็น Hard Skills หรือ Soft Skills แต่ให้ความสำคัญกับทักษะชีวิต นิสัย หรือพฤติกรรมบางอย่างที่เสริมสร้างให้เราเป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากกว่า เราคิดว่าอิสรภาพและการเรียนรู้นอกห้องเรียนจะสร้างพื้นฐานนิสัยให้เป็น Lifelong Learner ไม่ใช่เพราะเพื่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 เรียกร้องให้เราเป็นแบบไหน
ทำไมคุณถึงมองแบบนั้น
ประสบการณ์ชีวิตทำให้เรามองแบบนั้น จำได้ว่าสิบขวบแรกของชีวิตเราเติบโตที่บ้านนอก หน้าบ้านเป็นท้องร่องสวน หลังบ้านมีเล้าหมู เล้าไก่ ใกล้ๆ บ้านมีคลอง วันๆ จึงมีเรื่องให้เล่นและทำเยอะ การไปโรงเรียนเป็นแค่กิจกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เรารู้ว่าควรตั้งใจทำให้ดีเท่าๆ กับเรื่องอื่นๆ แถมเรียนโรงเรียนวัดด้วย ซึ่งก็มีอะไรให้เล่นเยอะ ชั่วโมงศิลปะบางวันก็ไปขุดหาดินเหนียวข้างบ่อเลี้ยงปลาในวัดแล้วไปนั่งปั้นตัวสัตว์กันบนเมรุ เพราะต้องการหาพื้นเรียบๆ คลึงดิน บางวันก็เอาดินเหนียวกับกิ่งไม้มาทำกรงใส่ด้วงกว่าง เด็กสมัยนี้มีโปเกบอล แต่สมัยเราเป็นกรงด้วงกว่างนี่แหละ
แล้วโรงเรียนประชาบาลในยุคที่การศึกษายังไม่รวมศูนย์ กฎระเบียบมันหลวมๆ ใส่รองเท้าแตะไปเรียนจน ป.5 ชีวิตไม่เคยต้องท่องคุณธรรม 10 หรือ 12 ข้อ อย่างมากก็เป็นคำขวัญหลวมๆ จากส่วนกลาง เช่น เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ ซึ่งครูสมัยนั้นก็ไม่เอามาไฮไลต์ว่าเด็กดีเขาเป็นกันยังไง อะไรถึงเรียกว่าฉลาด กิจกรรมนอกห้องเรียนมากมาย ซึ่งเป็นการบูรณาการจากปัญหาและธรรมชาติของชุมชน ไม่ใช่การจัดตั้งหรือยัดเยียดนโยบายจากส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ถ้าเปรียบเทียบกับชั้นประถมสมัยที่เราเรียนเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นการศึกษามีการรวมศูนย์น้อย มีการกระจายอำนาจมากกว่า ทำให้วิธีการเรียนการสอนในสมัยก่อนค่อนข้างขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียนเป็นลักษณะการบูรณาการ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีคำว่าบูรณาการด้วยซ้ำ เรียนวิชาแยกกันก็จริง แต่เมื่อเกิดปัญหาพื้นฐานอย่างเด็กบางคนไม่มีอาหารกลางวันจากบ้านมากิน โรงเรียนก็หาทางแก้ไข โดยให้เด็กที่มีชั่วโมงคหกรรมมาทำอาหารขายในราคาถูก เด็กได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำอาหาร ได้เรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อรัฐพยายามรวมศูนย์ สิ่งเหล่านี้จึงค่อยๆ หายไป รัฐบอกต้องมีนมโรงเรียน มีอาหารกลางวันฟรี ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี แต่สมัยก่อนโรงเรียนประชาบาลไม่ได้เรียกร้องอาหารกลางวันฟรีเพราะเขามีอิสระที่จะแก้ปัญหาเอง นี่คือ Soft Skills ที่สำคัญนอกเหนือจากวิชาการที่เรียนจากหนังสือ
อีกอย่างที่รู้สึกได้ตอนเปิดหนังสือเรียนวิชาพุทธศาสนาของลูก สมัยเราไม่ได้เรียนวิชาพุทธศาสนาด้วยซ้ำ เราเรียนวิชาจริยธรรมที่พูดเรื่องความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ได้เป็นจริยธรรมพุทธหรือจริยธรรมของใคร แต่ทุกวันนี้ในตำราเรียนกลับพูดว่าทั้งหมดนี้เป็นของพุทธ นี่คือการผูกขาดจริยธรรมกับศาสนา อาจนำไปสู่การแบ่งแยกได้ เด็กต้องเรียนอะไรหลายๆ อย่างที่ยากและเฉพาะเจาะจงมากเกินไป ขาดพื้นที่เปิดกว้างให้เขาได้คิดและตีความ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง เป็นความลักลั่นของการศึกษาตอนนี้
อย่างถึงที่สุดมันสะท้อนให้เห็นความกลัว ความไม่แน่ใจในอำนาจ และความรู้สึกว่าอำนาจที่ถือครองเริ่มสั่นคลอน รัฐจึงต้องการตีกรอบ ครอบให้มันแน่นหนาขึ้น
จากประสบการณ์การศึกษาที่คุณได้ไปสัมผัสทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาของลูก ย่อมทำให้คุณเปรียบเทียบความเหมือน ความต่างในใจ อยากทราบว่า ณ วันนี้ คุณเชื่อมั่นการเรียนรู้แบบใด
เชื่อมั่นในการเรียนรู้แบบ Active Learner เพราะคิดว่าทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติไม่ว่าจะศตวรรษไหน ที่สำคัญคือดีต่อสุขภาพจิต ตอนที่ตัดสินใจให้ลูกเรียนในระบบ ไม่ได้ให้เรียนโรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนทางเลือก ทั้งที่ภาษาแรกของเขาคือภาษาอังกฤษ ก็เพราะอยากให้เขามีประสบการณ์สมจริง คิดว่าโรงเรียนปกติแบบที่เราผ่านมานี่แหละจะทำให้เขาเห็นภาพกว้างของสังคม และอยู่กับความเป็นจริง
จากประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อมองย้อนกลับไปรู้สึกว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2528 มีลักษณะเป็น interdisciplinary หรือสหวิชาการอยู่น้อย แต่ยังดีโครงสร้างหลักสูตรมีลักษณะเปิดกว้าง มีสิ่งที่เรียกว่าเลือกเสรีหรือโทเสรีให้เราไปลงเรียนวิชาที่สนใจได้ ในอนาคตที่คนยังถามกันอยู่ทุกวันว่าเราควรจะมีทักษะอะไรติดตัวออกไป การเรียนแบบบุฟเฟต์ควรจะมีให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเด็กจะเลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนเสริมเข้าไปได้
แต่ถ้าพูดถึง Lifelong Learning เราเห็นชัดเจนตอนช่วงอยู่อังกฤษ ตอนนั้นทำงานเป็นพนักงานร้านแม็คโดนัลด์ ส่วนกลางคืนก็ทำงานในผับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเงินเยอะ แต่กลับแบ่งเงินที่ได้มาลงเรียนภาคค่ำซึ่งเป็นโปรแกรมของมหาวิทยาลัยลอนดอนเลยนะ มีวิชาให้เลือกเรียนเสริมมากมาย จัดดอกไม้ ทำขนมปัง หรือเรียนวิชาการ
เราเลือกเรียนภาพยนตร์ เพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่เป็นคนที่มีประสบการณ์และทำงานในกองถ่ายหนัง ทุกคนพูดคุย ถกประเด็นทั้งในและนอกห้องเรียน แล้วสิ่งหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้คือห้องสมุดชุมชน ซึ่งมีหนังสือเยอะและปิดดึก ถามว่ากรุงเทพฯ มีห้องสมุดสาธารณธที่ใช้งานได้จริงๆ กี่แห่ง ถ้าอยากเรียนรู้อะไรเรามักต้องเสียเงินค่อนข้างแพง แรงงานต่างชาติในกรุงเทพฯ ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท เขาไปเรียนอะไรได้ไหม ซึ่งเรามองได้เป็นสองประเด็น ประเด็นแรกคือต้องขวนขวายมากจึงจะเข้าถึงได้ ประเด็นที่สอง เราเป็นแม่ชนชั้นกลาง เราจึงพอมีสตางค์และเวลาพาลูกไปเรียนศิลปะ ไปห้องสมุด ไปดูนิทรรศการ แต่ลองนึกถึงครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินและเวลาสิ เสาร์-อาทิตย์พ่อแม่ยังต้องทำงาน ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะมาใช้จ่ายตรงนี้ ดังนั้น ด้วยอะไรหลายๆ อย่างปิดประตูใส่เราตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็ไม่เกิดขึ้น
เดิมทีโรงเรียนจะได้รับความไว้วางใจเต็มที่ให้ปลูกฝังความรู้วิชาการ แต่ในปัจจุบัน พ่อแม่เองก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องการกระตุ้นและสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะความเชื่อมั่นใน Active Learner แสดงว่าคุณต้องทำหน้าที่เหล่านี้อย่างเข้มข้นด้วย
ใช่ พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของลูก อย่างน้อยก็น่าจะโรงเรียน 50 พ่อแม่ 50 แต่ที่ผ่านมาเรามักให้ความสำคัญกับวิชาการหรือ Hard Skills มากกว่า Soft Skills อย่างการเข้าสังคมหรือการรู้จักดูแลตัวเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราถูกฝังชิปความคิดแบบนี้โดยระบบการศึกษาหรือสังคม กันตอนไหน
เราเชื่อว่าพ่อแม่คือหัวใจในการปลูกฝัง Soft Skills แต่ทุกวันนี้เราทำหน้าที่นี้น้อยลงหรือเปล่า เป็นคำถามที่อยากส่งไปถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคน เช่น หลายครอบครัวมีพี่เลี้ยงคอยดูแล หรือมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่อนแรงอย่างเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน แต่อันที่จริงงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และได้ลองผิดลองถูก
ส่วนเรื่องวิชาการ เราก็มีส่วนปลูกฝังได้อีกทางหนึ่งเหมือนกันด้วยการเสริมทัศนคติว่า ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ที่ครูหรือในหนังสือเรียนเท่านั้น หรืออย่างน้อยไม่ควรห่วงใยเกินไปจนกลายเป็นแรงกดดันซ้ำซ้อน ทำให้ลูกต้องไปเรียนพิเศษ ความเป็นเอกเทศในฐานะผู้เรียนน้อยลง โอกาสลองผิดลองถูกก็น้อยลงด้วย
แต่ก็ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยรวมถึงพ่อแม่เองด้วยที่ถือหนังสือเรียนเป็นสรณะ และคิดว่าครูคือทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะระบบการศึกษาไม่ได้กระตุ้นให้คิดหรือพยายามด้วยตัวเอง เพราะเราต่างถูกฝังชิปให้เป็น Passive Learner ขณะเดียวกันชุดความรู้ที่อยู่ในหนังสือเรียนบางอย่างก็มีปัญหา ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพราะมันสร้างจินตนาการของสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นจินตนาการของรัฐ หากปักใจเชื่อ ในที่สุดคนเราจะไม่เท่าทันและมีลักษณะจำยอม
แล้วสังคมไทยจะมีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong Learning เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อระบบการศึกษายังจองจำผู้เรียนให้อยู่ในกรอบที่ไม่ได้สร้างโอกาสไปสู่การเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างจริงๆ จังๆ
(นิ่งคิด) เป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาคิดหนักเลยนะ ถ้าชุดความรู้ที่ระบบการศึกษากระแสหลักเคยให้เรามากลับไม่ตอบรับกับโลกในอนาคต แล้วเราต้องเป็นผู้ที่คอยลับคมทักษะนั้นอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนตัวมองว่าเป็นการผลักภาระให้ผู้เรียน ในเชิงโครงสร้างสังคมและการศึกษาควรต้องมีระบบคอยช่วยเหลือหรือสนับสนุนตรงนี้ด้วย ซึ่งคนที่ทำงานด้านการศึกษาเองก็ต้องคิดทบทวนว่าจะทำยังไงให้การศึกษากระแสหลักสร้างบรรยากาศ Lifelong Learning ให้เกิดขึ้นได้จริง
ส่วนตัวไม่ค่อยคิดเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะไม่ได้ติดอยู่ในกรอบหรือกับดักเหล่านั้น เชื่อว่าถึงที่สุดแล้วความรู้เป็นสิ่งที่เราทุกคนแสวงหาได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่ไม่ชอบใจที่สุดคือการเรียนเพื่อทำข้อสอบ ซึ่งสิ่งนี้คงจะอยู่ในระบบการศึกษาไทยกระแสหลักไปอีกนาน
หมายความว่าการเรียนเพื่อสอบขัดขวางการเรียนรู้
ในเมื่อโลกยังตั้งคำถามกันอยู่เลยว่าอะไรคือทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 แล้วการเรียนแบบ Test-Based Learning หรือเรียนเพื่อสอบจะทำให้คนเรามีทักษะเหล่านั้นได้งั้นหรือ ในเมื่อข้อสอบส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามปลายปิด
แต่คุณกำลังเอาลูกเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาที่เน้นเรียนเพื่อตอบข้อสอบได้ คุณกังวลใจไหม เพราะมีโอกาสที่ลูกของคุณจะถูกกลืนแล้วกลายเป็น Passive Learner
กังวลว่าเขาจะไม่รักการเรียนรู้ กลายเป็นคนเรียนเพื่อสอบ อย่างตอนนี้ลูกอยู่ ป.4 เวลาทำการบ้าน มีบางหน้าที่เขายังเรียนไปไม่ถึง แต่เราเห็นว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนุกเลยชวนเขาทำ ลูกกลับบอกว่า ทำไม่ได้ ครูยังไม่ได้สั่ง ในฐานะแม่เราตกใจ เป็นแบบนี้ไปได้ยังไง เราไม่ได้ต้องการสอนลูกให้เรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ใครหรือสังคมบอกว่าให้รู้แค่นั้น เพราะเขาจะไม่ได้ฉุกคิดหรือทบทวนกับตัวเองว่าเขาควรรู้อะไร คือถ้าลูกรู้ว่าอะไรเหล่านี้เป็นแค่กรอบกติกาสำหรับผู้เรียนหมู่มาก แต่ไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นมาครอบ เราก็คงไม่ห่วง เพราะ Lifelong Learning คือการที่เราเป็นคนออกแบบหรือเลือกสิ่งที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง แบบนี้จะทำอย่างไรดี เอาลูกออกจากระบบดีไหม (หัวเราะ)
เมื่อระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับการสอบ ถ้าเด็กทำไม่ได้ก็จะรู้สึกผิดและเสียใจ พ่อแม่เองก็ทุกข์ใจเพราะลูกไม่เป็นอย่างที่หวัง กลายเป็นว่าไม่มีใครมีความสุข สำหรับคุณจัดการเรื่องนี้อย่างไร
เราไปแก้ไขโดยตรงที่โครงสร้างไม่ได้ เราไม่สามารถเดินไปบอกโรงเรียนว่าเลิกสอบได้แล้ว แต่ใช้วิธีอธิบายให้ลูกรู้เท่าทันว่าการสอบเป็นการประเมินผล เพื่อครูและโรงเรียนจะเอาไปประเมินวิธีการเรียนการสอนของตัวเองว่าดีไหม ไม่ได้เป็นการชี้ชัดว่าใครฉลาดหรือโง่ ช่วยให้เขามีทัศนคติที่ถูกต้องขึ้นกับการสอบ ไม่ได้เป็นการชี้เป็นชี้ตาย ถ้าทำคะแนนได้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด แต่เขาควรจะรู้สึกผิดมากกว่าหากเขาอ่านหนังสือเพียงเพื่อให้ตอบข้อสอบได้
ถ้าประเทศไทยทุกหย่อมหญ้ามีไฟฟ้า ความดันไฟฟ้าก็ควรเท่ากันในทุกพื้นที่ ระบบต้องไม่เน้นจ่ายไฟฟ้าให้แต่ในกรุงเทพฯ ระบบการศึกษาก็เหมือนกัน เพราะเมื่อไหร่ที่ทำแบบนี้ได้เราจะกลายเป็นเหมือนฟินแลนด์และอังกฤษ ในแง่ที่ว่าเด็กไม่ต้องกระเสือกกระสนข้ามเขตไปเรียนที่อื่น
ความสุขและความรู้สึกทางบวกสำคัญมากกับการเรียนรู้
ใช่ เพราะเมื่อเรามีความสุขกับการเรียนรู้ เราก็จะอยากรู้ต่อไป ลงลึกไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่มีความสุขก็ไม่เห็นอยากรู้อะไรต่อ
ถ้ารากฐานของการมีชีวิตที่ดีเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมกับวัย แล้วระบบการศึกษาคืออะไร
ระบบการศึกษาควรเป็นสาธารณูปโภค หมายความว่าถ้าประเทศไทยทุกหย่อมหญ้ามีไฟฟ้า ความดันไฟฟ้าก็ควรเท่ากันในทุกพื้นที่ ระบบต้องไม่เน้นจ่ายไฟฟ้าให้แต่ในกรุงเทพฯ ระบบการศึกษาก็เหมือนกัน เพราะเมื่อไหร่ที่ทำแบบนี้ได้เราจะกลายเป็นเหมือนฟินแลนด์และอังกฤษ ในแง่ที่ว่าเด็กไม่ต้องกระเสือกกระสนข้ามเขตไปเรียนที่อื่น โรงเรียนไหนอยู่ใกล้บ้านก็เรียนโรงเรียนนั้น เรียกว่า Inclusive Education แต่ ณ วันนี้ยังมีการจัดอันดับโรงเรียนท็อปของประเทศกันอยู่เลย
คุณคิดว่าตัวเองเป็น Lifelong Learner ไหม
(พยักหน้า) เราเป็นคนชอบเรียนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ยังมีสิ่งที่อยากเรียนอยู่เสมอ การได้รู้อะไรใหม่ๆ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้นเสมอ
คุณผ่านและเติบโตมาในระบบ Passive Learner แต่ทำไมคุณถึงเป็น Lifelong Learner ได้
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะโรงเรียนสมัยก่อนให้อิสระแก่ผู้เรียนอย่างที่เล่าไป และเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือเอง บางทีฟังครูไม่เข้าใจก็อ่านเอง และในช่วงที่เข้ามหา’ลัย การได้อ่านหนังสือของกฤษณมูรติ ก็ทำให้เราเห็นภาพกว้างของคำว่า Education ว่าไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มันคือการเรียนรู้ชีวิต เขาบอกอีกว่าหนังสือเล่มแรกที่ควรอ่านคือตัวเราเอง แล้วค่อยๆ ขยับออกไปอ่านโลกรอบๆ ตัว จะช่วยเปิดทัศนะเราด้วยว่าการเรียนรู้ไม่ได้จบลงเมื่อได้รับปริญญา ไม่ว่าจะได้มากี่ใบก็ตาม หนังสือที่มักจะกลับไปอ่านบ่อยๆ คือ แด่หนุ่มสาว (For the Young) แปลโดย พจนา จันทรสันติ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนนั่งคุยกับผู้ใหญ่ที่ช่วยให้เราได้ทบทวนและตั้งคำถามถึงความหมายของสิ่งที่เราพบเจอในชีวิต
สำหรับคุณ Lifelong Learning หมายความว่าอย่างไร
Lifelong Learning ไม่ได้หมายความว่าเรียนต่อหรือเรียนเสริมเสมอไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่ที่ยากกว่าคือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘เที่ยวเล่น’ คือเราต้องไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหรือเข้ามาในชีวิต เชื่อว่าทุกคนทำกันอยู่แล้วเพียงแต่มีความเข้มข้นมากน้อยต่างกัน เหมือนการเหวี่ยงตัวออกไปจากสิ่งที่รู้และสนใจไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่
ในฐานะแม่ หัวใจสำคัญที่ทำให้ลูกมีนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิตคืออะไร
สำคัญที่สุดเลยคือทำให้เขาดู ให้คุณค่า และคอยสนับสนุนทัศนคตินี้ สมมติว่าเขาอ่านหนังสือหรือสนใจอะไร เราก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับเขา เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา ส่งเสริมให้เขาเห็นว่าอยากรู้อะไรต้องลงลึก เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เขาเห็นว่าเราเองก็ยังไม่หยุดเรียนรู้
ถ้ามองในมุมกลับกัน พ่อแม่ที่อยู่ในระบบการศึกษาหลักมาโดยตลอดอาจจะตั้งคำถามทำนองว่า ในเมื่อพวกเขาก็อยู่รอดปกติดี ไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อน ระบบไม่ได้เลวร้ายอะไร แล้วคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณเลือกให้ลูกนั้นดีกว่า
เราเองก็ไม่ได้มั่นใจว่าสิ่งที่เลือกให้ลูกคือสิ่งที่ดีที่สุด เพียงแต่เราถามตัวเองตลอดว่ายังโอเคไหม อย่างน้อยถ้าขาปักลงไปในโคลนแล้วครึ่งหนึ่งก็ยังถอนขึ้นมาทัน ดีกว่าที่จะรู้ตัวอีกทีตัวก็จมโคลนไปถึงเอวแล้ว ดังนั้น สำหรับพ่อแม่ทุกคนที่เชื่อมั่นในระบบว่าดีแล้ว เราอยากให้ถามตัวเองบ่อยๆ ว่ายังเชื่อมั่นระบบได้เหมือนเดิมอยู่ไหม
ยกตัวอย่างที่ง่ายและซื่อที่สุดคือ ถ้าเขาบอกว่าลูกควรเรียนหมอ แต่กว่าลูกคุณจะจบ สมัยนั้น AI ผ่าตัดได้แล้วหรือเปล่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณแน่ใจในวันนี้แล้วพยายามขีดลู่วิ่งให้ลูก แม้จะด้วยความหวังดีก็เถอะ คุณแน่ใจ (เน้นเสียง) ได้ยังไงว่ามันจะยังดีในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า สมัยก่อน 20 ปีที่แล้ว พ่อแม่มักจะให้ลูกเรียนบัญชีและการเงิน จบไปทำงานธนาคาร อาชีพมั่นคง แต่ดูตอนนี้สิ เราก็เห็นแล้วว่าคนทำงานธนาคารถูกแทนด้วยระบบเทคโนโลยี ดังนั้น คุณไม่ควรมั่นใจอะไรมากเกินไป
สุดท้ายแล้ว ในความเป็นมนุษย์จะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็น Lifelong Learner
ชีวิตไม่เฉา พบเจอแต่แง่มุมใหม่ โดยที่เราไม่ลืมว่าโลกนี้ยังหมุนอยู่ ต่อให้เราก้าวเร็ว ก้าวช้า หรือไม่ก้าวเลย สุดท้ายเราก็อยู่บนโลกใบนี้ที่นำพาเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต หรือแม้จะเป็นเรื่องเก่าที่รู้อยู่แล้ว แต่เราจะมองมันด้วยมุมมองใหม่ได้ อย่างผิวเผินที่สุดคือเราจะสนุกกับสิ่งที่ทำหรือกำลังจะทำ ไม่รู้สึกว่าทุกอย่างจบแล้ว
แล้วอย่างลึกซึ้งล่ะ
พรุ่งนี้ไม่เหมือนเดิม Tomorrow is not another day. The world is never the same old world.’
School à la carte: การศึกษาภาค (อย่า) บังคับ
การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องทำกันตลอดชีวิต และการศึกษาเป็นเพียงซับเซตของการเรียนรู้ ทว่าหลายครั้งเราก็ลืมไปและทำให้การเรียนรู้กลับกลายเป็นซับเซตของการศึกษา นั่นก็แปลว่าการเรียนรู้จะจบลงเมื่อแบมือรับปริญญา หลังจากนั้นคนจำนวนไม่น้อยจบมาเป็นปลาที่ถูกฝืนให้บิน หรือเป็นนกที่ต้องแข่งว่ายน้ำเป็นเวลานาน อาจจะทั้งชั่วชีวิตนี้ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วทุกคนมีสิทธิ์เลือกมากกว่านั้น
ถึงเวลาที่ทุกคนจะมาสำรวจระบบการศึกษาไทยผ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะชวนเปิดกว้างให้ได้รู้และเข้าใจว่าประเทศไทยซึ่งพยายามจะเป็น 4.0 นั้นมีเมนูการศึกษาแบบไหนให้ลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไปบ้าง ไม่ใช่เพื่อจะหาคำตอบที่ดีที่สุด แต่เพื่อที่จะได้รู้ว่าอิสรภาพในการเลือกยังเป็นของเรา