ตาวิเศษ

ตาวิเศษ: การรีบูตของโครงการรณรงค์ทิ้งขยะให้ถูกที่เวอร์ชัน 2019 โดยคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช

ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ว่ากันว่า กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 5 เมืองที่สกปรกที่สุดในโลก ไม่นานโครงการรณรงค์ทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทางอย่าง ตาวิเศษ จึงเกิดขึ้น ทำให้มีวลีฮิตติดปากว่า “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” ไม่นานขยะตามข้างทางก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่แล้วกาลเวลาก็ทำให้ตาวิเศษก็เงียบหายไปจากสังคมเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนวันนี้ตาวิเศษได้กลับมาอีกครั้งโดย คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทยจะมาเล่าถึงที่มาของตาวิเศษเวอร์ชัน 2019 ในครั้งนี้

ตาวิเศษ

เหตุเกิดจากความสกปรก

        คุณหญิงชดช้อยในวัย 75 ปี เปี่ยมไปด้วยความกระฉับกระเฉงจนเราทึ่ง คุณหญิงทักทายเราด้วยรอยยิ้มที่เป็นกันเอง แล้วเริ่มเล่าเรื่องราวของโครงการตาวิเศษที่ย้อนกลับไปกว่า 35 ปีให้ฟัง

        “ดิฉันใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซิดนีย์มานานหลายปี สมัยก่อนเราส่งเสื้อผ้าชาวเขาไปขายที่ออสเตรเลีย สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องกำแพงภาษีแบบปัจจุบัน ดิฉันเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ กับซิดนีย์อยู่ราวๆ 15 ปี ทุกครั้งที่เรากลับไปซิดนีย์ สังเกตเห็นว่าต้นไม้ที่เคยเห็นเมื่อตอนเด็กๆ ยังคงตั้งตระหง่านเหมือนเดิม ถนนหนทางก็ยังคงสะอาดสะอ้านไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จนวันหนึ่งมีข่าวออกมาว่ากรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในห้าเมืองที่สกปรกที่สุดในโลก และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะทุกคนเห็นแล้วว่าถนนหนทางเต็มไปด้วยขยะ และเริ่มบ่นว่าบ้านเมืองสกปรก ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังบ่นกันอยู่นะ (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกันเลย เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงมองย้อนไปที่ซิดนีย์แล้วเกิดคำถามว่า ทำไมเขาถึงทำได้ แล้วทำไมบ้านเราทำไม่ได้ และเราจะสามารถทำอะไรบ้าง” 

        จุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่กำลังจะเปิดฉาก คุณหญิงเติมไฟแห่งความมั่นใจเข้าไปด้วยการประเมินความสามารถจากหน้าที่การงานในอดีต ซึ่งคุณหญิงบอกว่าความมั่นใจเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

        “เรามาคิดต่อว่า เอ… เราก็เป็นคนแรกที่นำเรื่องบัตรเครดิตเข้ามาใช้ สมัยนั้นต้องไปอ้อนวอนผู้คนให้ใช้ และขอร้องร้านค้าให้รับ เพราะเขาต้องจ่ายค่าบริการส่วนต่าง 7% ดิฉันเริ่มแจกให้เพื่อนๆ ลองใช้ จนท้ายสุด เพื่อนไปเที่ยวเมืองนอกแล้วเงินสดหมด เขาก็ใช้บัตรเครดิตแล้วบอกว่า Thanks God for Diners Club! ทำให้เรามาฉุกคิดได้ว่า ที่จริงแล้ว สายงานธุรกิจของเราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความคิดของผู้คนได้ แล้วทำไมเราจะทำเรื่องของการรักษาความสะอาดให้กับประเทศของเราไม่ได้ เราต้องลงมือทำเลย”

ทัศนคติเก่าตัวการก่อขยะ 

        “คนสมัยก่อนคิดกันว่า การจัดการขยะและรักษาความสะอาดเป็นเรื่องของภาครัฐ เพราะประชาชนจ่ายภาษีไปแล้ว แต่ทุกคนลืมคิดว่าเรื่องเหล่านี้คือจิตสำนึก” คุณหญิงบอกเราถึงสาเหตุสำคัญ

        “เราจึงเริ่มต้นที่ให้ครูสอนให้เด็กๆ รู้จักการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง แยกขยะ ช่วยกันรักษาความสะอาดในพื้นที่ส่วนรวม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผู้ปกครองจะบอกว่า ให้เป็นหน้าที่ของนักการภารโรง ในขณะที่ครูใหญ่ก็เล็งเห็นถึงสิ่งดีๆ เหล่านี้ จึงแจ้งให้ครูสอนเรื่องการเก็บขยะ แต่ครูก็มักปฏิเสธเพราะไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนตามที่ได้วางแผนเอาไว้

        “ดังนั้น เรื่องการเก็บขยะและทิ้งขยะให้เป็นที่ จึงไม่ได้ปลูกฝังลงในหัวใจของเด็กๆ ตั้งแต่แรก ในเมื่อต้นทางยังดูยาก แล้วกับผู้ใหญ่ทั่วไปจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เราจึงมองหาหนทางต่อ จนวันหนึ่งดิฉันสังเกตลูกๆ ทุกครั้งที่พวกเขานั่งดูการ์ตูน ตาของเขาแทบจะไม่กะพริบเลย จะจ้องอยู่อย่างนั้นและไม่สนใจคนรอบข้างเลย จึงได้ไอเดียว่าเราควรเริ่มจากการ์ตูน และพุ่งเป้าหมายไปที่เด็กมากกว่า”

“อ๊ะ อ๊ะ… อย่าทิ้งขยะ”

        สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เพื่อใช้ในการรณรงค์โครงการตาวิเศษคือสโลแกนและโลโก้

        “เราคิดว่า โลโก้ของเราจะต้องอยู่ได้ตลอดกาล ปราศจากตัวอักษร เราคิดอยู่นาน ก็นึกได้ว่าในสมัยก่อนจะมีหนังสือเล่มหนึ่ง* ที่ผู้คนมักพูดถึง ซึ่งมีคำว่า Big Brother is watching you เป็นนัยยะอยู่ในหนังสือ ประมาณว่า ทุกคนมักจะคิดว่าพี่ใหญ่อย่างรัสเซียหรือโซเวียดในอดีตจะส่งคนมาจับตาดูผู้คน เราเลยปิ๊งให้เป็นโลโก้ดวงตาอย่างที่เห็น คล้ายกำลังจะบอกว่ามีบางอย่างคอยดูอยู่นะ

        “จากนั้นก็ทำเป็นการ์ตูนสามช่อง ลงหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งมีแค่รูปลูกตาอย่างเดียว แล้วเหลือที่ว่างเพื่อให้เด็กวาดภาพเติมลงไป ที่ทำแบบนั้นก็เพราะอยากจะรู้ว่าเด็กเข้าใจหรือเปล่า ปรากฏว่า 80%ของเด็กวาดออกมาเป็นรูป friendly ghost หรือผีน้อยแคสเปอร์ เรารู้สึกว่า เด็กๆ ตีโจทย์แตก เพราะเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กมีจิตสำนึก ผีที่เด็กๆ วาดแสดงถึงสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา คอยมองเราอยู่ตลอดเวลา แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็มีอยู่ แล้วเราก็กลัวจริงๆ

        “และแล้วโรงเรียนมากมายก็เริ่มขอให้เราทำกิจกรรมตาวิเศษให้กับเด็กๆ ซึ่งตอนนั้นมีแค่ดิฉันคนเดียว เราจึงเริ่มสร้างทีมตาวิเศษ กระจายความรู้และสร้างจิตสำนึกชิ้นสำคัญนี้สู่ใจเด็กๆ ทั่วประเทศ”

 

ตาวิเศษ

ตาวิเศษ

 ต้องให้คนรู้จักและจดจำตาวิเศษได้มากที่สุด

        ตาวิเศษเติบโตจากความต้องการของประชาชนทั่วไปที่อยากให้ถนนหนทางสะอาดสะอ้านและได้ขยายจากกรุงเทพฯ สู่ต่างจังหวัดในระยะเวลาไม่นาน

        “เราได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินความคาดหวัง เราจึงต่อยอดไปอีก โดยทำเรื่อง No Form โฟกัสไปที่เรื่องของพวงรีดที่ใช้ในงานศพ เรารณรงค์โดยประกาศออกไปว่าหากมีชื่อใครปรากฏอยู่บนพวงหรีดโฟม ถือว่าคนนั้นไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายคนก็เริ่มทักท้วงและโกรธเราน่าดู โดยเฉพาะร้านดอกไม้และร้านรับทำพวงหรีด เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท้ายสุดพวกเขาพบว่าสิ่งที่เรารณรงค์ออกไป มีชาวบ้านต่างจังหวัดนำฟางข้าว ผักตบชวามาสาน มาทำเป็นโครง และส่งมาขายที่ปากคลองตลาด สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และยังทำให้ร้านดอกไม้หาซื้อได้ง่าย จึงเริ่มนำมาใช้ในเวลาต่อมา

        “ทุกวันนี้ที่ทำจากโฟมก็แทบจะไม่มีแล้ว เราก็รู้สึกภาคภูมิใจว่าเราเป็นต้นทางของการลดขยะประเภทนี้ และผู้คนก็ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้จนถึงปัจจุบัน”

        ตลอดเวลาที่ตาวิเศษคู่นี้ เฝ้ามองผู้คนอยู่ก็ได้เริ่มเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนจำตาวิเศษได้ ร้องเพลงได้ และเริ่มให้ความสำคัญในการทิ้งขยะ โดยภายใต้ความสำเร็จ คุณหญิงได้เอ่ยขอบคุณผู้สนับสนุนอันดับต้นๆ ให้ฟังว่า

        “ดิฉันคิดว่า เจ้าสัวสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ อดีตเจ้าของเซ็นทรัล หรือ ดร. เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งและวางรากฐานกิจการในเครือสหพัฒน์ หรือ คุณฉัตรชัย บุญยะอนันต์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย ล้วนเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ดิฉันบอกจะทำโครงการตาวิเศษ เขาคือคนที่พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยบอกว่าเขาดีใจที่มีคนทำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะหากประเทศไทยไม่สะอาด ก็จะไม่มีใครอยากมาท่องเที่ยว ส่งผลให้ขายของไม่ได้ ประเทศก็เติบโตต่อไปไม่ได้ นั่นเป็นจุดที่ทำให้ตาวิเศษเติบโตมากในสมัยนั้น”

ข่าวคราวเงียบหายไปหลายสิบปี

        “เหตุที่เราเงียบหายไป เพราะว่าสิ่งที่เกิดประโยชน์กับเรามากที่สุดคือโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ในสมัยก่อนผู้คนยังคงนิยมดูโทรทัศน์ผ่านช่องฟรีทีวีตามปกติ รายการต่างๆ หรือเจ้าของสินค้าต่างๆ ก็จะซื้อเวลาเพื่อออกอากาศหรือปล่อยโฆษณา หนึ่งชั่วโมงบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง ห้านาทีบ้าง ทำให้ยังเหลือเวลามากพอที่จะปันให้โครงการตาวิเศษ 30 วินาที ถ้าทุกๆ บริษัทให้เราได้ประมาณ 30 วินาที หรือ 60 วินาที วันหนึ่งเราจะออกอากาศได้มากกว่าคนอื่น”

        หลังจากนั้นไม่นาน ค่าโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ก็พุ่งสูงขึ้น เพราะคนมีโทรทัศน์กันแทบทุกบ้าน ตอนนั้นราคาค่าโฆษณานาทีละสี่ถึงห้าแสนบาท และทางผู้โฆษณาเองก็ต้องซื้อเป็นสล็อต ทำให้ไม่มีใครปันช่วงเวลาให้ตาวิเศษได้อีก ส่งผลให้โฆษณารณรงค์ของตาวิเศษค่อยๆ หายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อหลักของเราในสมัยนั้น จนสุดท้ายก็หายไปจากโทรทัศน์ถาวร นั่นทำให้การของบประมาณเพื่อมาสนับสนุนโครงการตาวิเศษยากขึ้นตามลำดับ

        “อีกเรื่องที่ทำให้เราหายไปนาน ดิฉันมองว่า แท้ที่จริงแล้วการณรงค์ควรเป็นเรื่องของส่วนรวมอย่างแท้จริง อย่างที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศจะมีงบประมาณเพื่อส่งไปให้องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ไว้ใช้เป็นกองกลาง สำหรับการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมของผู้คนและสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่าการบริการสาธารณะ (Public Service)

        “เมื่อมองกลับมาที่บ้านเรา สิ่งเหล่านี้ไม่มีให้ ในเมื่อทุกคนเห็นว่าตาวิเศษคือศูนย์กลางของการรณรงค์เรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องมีงบประมาณและมีที่อยู่ในสื่อ เพื่อขยายความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นสู่รุ่นโดยที่ไม่มีวันหยุด ท้ายที่สุด ตาวิเศษก็ไม่ได้บูมเหมือนที่เคยเป็นมา

        “แต่ทว่าเบื้องหลังของการหายไปนั้น  เรายังคงทำงานลงพื้นที่โรงเรียนต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง จนเราได้มาอยู่ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สำหรับใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานและเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าตาวิเศษยังอยู่ สามารถเดินเข้ามาเรียนรู้เรื่องรีไซเคิลหรือมาทำกิจกรรมดีไอวายต่างๆ ได้”

 

ตาวิเศษ

ตาวิเศษเวอร์ชัน 2019 คัมแบ็ก!

        ในปี 2019 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำอาเซียน ภายใต้หัวข้อการประชุมโดยศึกษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ตาวิเศษได้รับคำเชิญชวนจากกระทรวงการต่างประเทศให้กลับมามีบทบาทในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

        “จากคำเชิญนั้น เป็นเหมือนตัวจุดประกายให้เราว่าได้เวลาแล้วที่จะกลับมา และคิดว่านี่คือโอกาสครั้งใหม่ที่ตาวิเศษจะได้เริ่มต้นอีกครั้ง เราจึงเดินหน้าเต็มกำลัง ติดต่อไปยังผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป พวกเขายังคงรู้จักตาวิเศษ พร้อมที่จะสนับสนุน ซึ่งวันนี้พวกเขาเหล่านั้นได้กลายเป็นบุคคลที่มีอิษธิพลทางสื่อ ทำให้เมื่อเราเข้าไปติดต่อก็ได้รับการตอบรับที่ดีกลับมาเสมอ”

        นั่นทำให้เกิดสี่แอมบาสเดอร์ของตาวิเศษประกอบไปด้วย ‘เต้ย’- จรินทร์พร จุนเกียรติ, ‘โอปอล์’ – ปาณิสรา อารยะสกุล, ‘ครูลูกกอล์ฟ’ – คณาธิป สุนทรรักษ์ และ ‘หมาก’ – ปริญ สุภารัตน์

        ที่สำคัญยังได้ เวย์ ไทยเทเนียม (ปริญญา อินทชัย) ที่มาช่วยแต่งและร้องเพลงตาวิเศษเวอร์ชันใหม่ในสไตล์ดนตรีฮิปฮอป ซึ่งคาดว่าจะปล่อยเอ็มวีเพลงให้ได้รับชมและฟังพร้อมกันประมาณต้นเดือนมกราคมปีหน้า

        “เราคิดว่าหลังจากที่เอ็มวีเพลงปล่อยออกมาแล้ว ทุกคนจะชอบและสามารถเต้นตามได้ จากนั้นเราตั้งใจว่าจะนำเพลงและท่าเต้นนี้กลับเข้าสู่กิจกรรมรณรงค์ในโรงเรียน เพื่อให้กลับเข้าถึงเยาวชนได้อีกครั้ง รวมทั้งประสานงานกับกลุ่มผู้เต้นแอโรบิก นำท่าเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของท่าออกกำลังกาย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและเต้นได้ต่อไป

        “นอกจากนี้เรายังคาดหวังว่า จะเกิดกระแสให้ผู้คนแข่งกันใช้ถุงผ้า พกแก้วน้ำและกล่องข้าว เริ่มปฏิเสธถุงพลาสติกและกล่องโฟมอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพียงรับรู้อย่างเดียวอีกต่อไป”

 

“เรานะ…ตาวิเศษ”

        นี่คงเป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมของตาวิเศษที่จะเกิดขึ้น และเพื่อปรับโฉมตาวิเศษในลุกส์ใหม่ภายใต้โลโก้และคำขวัญเดิม คุณหญิงจึงเติมคำว่า ‘เรานะ…ตาวิเศษ’ เข้าไปในสโลแกน 

        “จากคำว่า อ๊ะ อ๊ะ ตาวิเศษเห็นนะ ประโยคนี้เหมือนเราไปกล่าวว่าคนอื่น เราใช้คำนี้มา 35 ปี เหมือนมีคนอื่นจ้องจับผิดมาโดยตลอด แต่จริงๆ แล้ว เราต่างหากที่ต้องมีสำนึกด้วยตัวเองมากกว่า เราต่างหากที่ต้องเป็นตาวิเศษเอง เราต้องลดปริมาณขยะเอง และต้องลดการใช้ของฟุ่มเฟือยก่อนเกิดเป็นขยะด้วยตัวเอง”   

        ทุกวันนี้ขยะตามท้องถนนลดน้อยลงไปมาก แต่ขยะจริงๆ ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ทั้งบริเวณพื้นที่รกร้าง ข้างถังขยะ ทำให้ผู้คนยังคงตั้งคำถามว่าทำไมยังสกปรก แต่หลายคนก็ยังไม่ลงมือลดขยะด้วยตัวเอง

        “เป็นที่รู้กันดีว่าทุกวันนี้ประเทศไทยสะอาดขึ้น เรามองว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดว่าประเทศไทยสกปรก แต่คนไทยเองต่างหากที่รู้ว่า เราสร้างขยะมากเหลือเกิน มากเกินกว่าจะกำจัดได้ ดังนั้น จึงต้องให้เวลาในการเปลี่ยนทัศนคติและความคิดของผู้คนผ่านการรณรงค์ต่อไป หากไม่ได้นำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง”

        คุณหญิงตั้งใจให้ทุกคนเป็นตาวิเศษในแบบฉบับของตัวเอง เพราะขยะแต่ละชิ้นก็เกิดจากความต้องการของแต่ละคนเช่นกัน

        “สมัยก่อนขยะเกิดขึ้นง่ายๆ แต่มักเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ เมื่อช่วงสิบกว่าปีหลังมานี้การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน โดยมากจะไม่ทำอาหารที่บ้าน ไปซื้อกิน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ออกไปอยู่เอง ครอบครัวจึงเล็กลง ทำให้ไม่จำเป็นต้องทำอาหารอีกต่อไป เพราะทำทีหนึ่งก็แพงกว่าซื้อ เดินทางไปไหนทีก็ใช้เวลานาน ดังนั้น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และกล่องโฟมจึงเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้วิถีชีวิตของคนมานาน จนวันหนึ่งเราเพิ่งมาเห็นว่า ตายจริง สิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นขยะลงทะเล สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลมากมาย ทำให้ทุกคนต้องกลับไปคิดใหม่

        “ช่วงแรกๆ เราคิดว่าต้องหยุดการใช้พลาสติกให้ได้ โดยเริ่มจากการลดขยะ เราต้องตระหนักถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ซึ่งก็เหมือนกับธรรมะที่สอนว่าให้เรารู้ทุกอย่างที่เรากำลังทำอยู่ เราก็จะเข้าใจ จำได้และรู้ว่าอะไรควรปฏิบัติ อะไรไม่ควรปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาเรามักทำโดยไม่คิดให้ดีก่อน และบางครั้งก็ยังคาดไม่ถึงด้วยการรับถุงพลาสติกทุกคน ทุกวัน วันละชิ้น เมื่อสะสมรายปี ขยะที่มากมายเหล่านั้น จึงปรากฏให้เห็น ทั้งๆ ที่มันอยู่มานานแล้วแต่เราเพิ่งจะมาเห็น

         “เราหวังว่า การกลับมาของตาวิเศษในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนร่วมแรงกันอยากแข่งขันลดการใช้ เพื่อลดขยะในอนาคตให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม”

ภาพ: สมาคมสร้างสรรค์ไทย

 


*วรรณกรรมเรื่อง 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ ตอนนั้นเขาได้จินตนาการล่วงหน้าไป 35 ปี ถึงสภาพสังคมที่เขาสังกัดอยู่ว่ากำลังตกอยู่ในยุคสมัยของเผด็จการซ้ายจัด โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญอยู่สามอย่าง หนึ่งในนั้นคือคำว่า Big Brother is watching you! ประชาชนรู้ตัวว่ามีอำนาจที่มองไม่เห็นคอยจับจ้องมองดูพฤติกรรมต่างๆ อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง