มกุฏ อรฤดี

มกุฏ อรฤดี | บันทึกแห่งประวัติศาสตร์จากลายมือน้อยๆ เพื่อให้การสูญเสียไม่สูญเปล่า

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต มีคนมากมายที่ลุกขึ้นมากระทำสิ่งดีงาม หรือดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความอาลัย หนึ่งในนั้นคือ ‘โครงการบันทึกถวายในหลวง’ จากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่าทำไมจึงจะต้องทำโครงการเช่นนี้ แต่หากคุณได้มีโอกาสพลิกดูสมุดบันทึกของเด็กๆ เหมือนอย่างที่เรามีโอกาสได้ทำ จะพบว่า แค่เด็กตัวน้อยๆ ก็สามารถเรียงร้อยความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อกล่าวความรู้สึกที่ตนมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์และไร้การปรุงแต่ง

     มกุฏ อรฤดี แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นผู้ริเริ่มและคอยส่งเสริมความมั่นใจของเด็กๆ จนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านปลายดินสอออกมาได้ เขาทำหน้าที่รวบรวมตัวอักษรจากลายมือน้อยๆ นับร้อย นับพัน หรืออาจจะมากกว่านั้นให้กลายเป็นตัวแทนความรู้สึก แทนคำมั่นสัญญา เพื่อจารึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเด็กๆ เหล่านั้นได้ผ่านเหตุการณ์พระมหากษัตริย์สวรรคต และมีความรู้สึกอย่างไร ตั้งใจจะทำอะไรต่อ เพื่อไม่ให้การสวรรคตของพระองค์เป็นการสูญเสียที่สูญเปล่าของปวงประชา และนี่คือบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

 

มกุฏ อรฤดี

 

ทำไมคุณจึงมีความคิดที่จะริเริ่มทำโครงการบันทึกถวายในหลวง โครงการนี้มีความสำคัญอย่างไร

     คงต้องเล่าถึงความเป็นมาก่อนหน้านั้นให้ฟังเสียก่อนครับ ย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 50 กว่าปีมาแล้ว ผมตั้งคำถามว่า ทำไมการอ่านของประเทศไทยจึงไม่ได้ผล ทั้งๆ ที่มีโครงการมากมายสำหรับการส่งเสริมการอ่าน ทำไมการอ่านในวัยเด็กจึงตั้งต้นไม่ได้เสียที เวลาผ่านไป ผมศึกษาจนได้คำตอบว่า เพราะโอกาสอันจำกัดในการเข้าถึงหนังสือ และขาดการปลูกฝังที่ถูกต้องมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เด็กไทยไม่มีนิสัยรักการอ่าน

     ผมจึงลองคิดหาวิธีใหม่ โดยเปลี่ยนจากการโยนหนังสือให้แล้วบอกให้เด็กไปอ่าน เป็นการส่งกระดาษกับดินสอให้เขียน เขียนอะไรก็ได้ ซึ่งเด็กเล็กๆ ที่ยังเขียนไม่ได้ก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการวาดรูป เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย จึงค่อยเริ่มเขียนเป็นตัว ต่อมาพยายามสะกดเป็นคำ สนุกกับการประกอบคำ เหมือนจิ๊กซอว์สำเร็จรูปที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ที่เด็กจะต้องประกอบเพื่อสื่อถึงสิ่งที่อยู่ในใจออกมาด้วยตัวเขาเอง นี่คือความท้าทายสำหรับเด็ก

     เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2557 สำนักพิมพ์ผีเสื้อจึงได้มอบสมุดบันทึกให้กับเด็กทั่วประเทศ ราว 1,000 เล่ม โดยมีเงื่อนไขว่า ขอให้เขียนจดหมายด้วยลายมือ เพื่อบอกว่า ต้องการสมุดไปเขียน แล้วเราก็จะส่งให้คนละ 1 เล่ม พร้อมหนังสืออีก 1 เล่มเพื่อให้รู้ว่า นี่คือหนังสือ และเผื่อคิดจะเขียนอะไรไม่ออกก็ให้ลองเปิดอ่านหนังสือดูสิ

    จนกระทั่งปี พ.ศ. 2558 เราได้พบกับนักบันทึกตัวน้อย หลายต่อหลายคน ยกตัวอย่างเด็กสามคน อาทิ ด.ญ. ซายูริ ซากาโมโตะ, ด.ญ. ติณณา แดนเขตต์ และ ด.ญ. ในใจ เม็ทซกะ ซึ่งพวกเธอมีชั้นเชิงในการเขียนเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแค่ความสามารถด้านการเขียนเท่านั้น เราพบว่าพวกเธอมีความคิดที่เหนือกว่านั้น

     และในตอนที่ผมได้รับข่าวสารจากสำนักพระราชวังผ่านแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้าที่พระองค์จะสวรรคตประมาณ 2 ฉบับ ที่กล่าวถึงพระอาการประชวรของพระองค์ ในตอนนั้น ผมก็รู้สึกว่า เราควรจะต้องทำอะไรสักอย่าง ผมจึงส่งข่าวถึงเด็กทั้งสามคน บอกว่าตอนนี้ในหลวงไม่สบาย ในฐานะนักบันทึก เราจะเขียนอะไรหน่อยได้ไหม เด็กทั้งสามคน จึงเขียนมา

 

และจากถ้อยคำเหล่านี้ ก็เลยจุดประกายให้คุณเริ่มทำโครงการนี้ขึ้นมาใช่ไหม

     เด็กทั้งสามคนเขียนสิ่งที่ออกมาจากหัวใจได้วิเศษมาก คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วเด็กอีกกี่ล้านคนในประเทศล่ะ ในช่วงเวลา อันทุกข์โศกยิ่งเช่นนี้ เราจะปล่อยให้ถ้อยคำและความนึกคิดอันวิเศษจากความรู้สึกของเด็กเหล่านั้นผ่านไปได้อย่างไร

     เราจะไม่เก็บความรู้สึกเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร นี่เพียงแค่เด็กสามคน เรายังรู้สึกได้มากมายขนาดนี้ แสดงว่ายังมีความคิดความรู้สึกอีกมากมายมหาศาลที่เรานึกไม่ถึง นั่นยิ่งทำให้รู้สึกว่า ‘ต้องทำ’ จะด้วยความร่วมมือจากใคร ที่ไหน อย่างไร ก็แล้วแต่ อย่างน้อยก็ขอให้ได้เริ่มต้นเสียก่อน นี่คือเหตุที่ทำให้เราคิดจะเก็บบันทึกของเด็กจากทั่วประเทศ

 

อยากจะให้ช่วยอธิบายความรู้สึก ‘วิเศษ’ ที่คุณบอกว่าปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้ จนต้องเก็บบันทึกไว้ว่ามันสำคัญอย่างไร

     ผมมีความซาบซึ้งใจที่เด็กมีความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ ความคิดของพวกเขาที่ว่าวิเศษนั้นคือ มันมีความบริสุทธิ์มาก ถ้าเราให้เขาจดจำความใสสะอาด ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความดีงามของเขาเองไว้ เพื่อวันหนึ่งเขาจะมีโอกาสได้กลับมาอ่านดู มันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง ความสลักสำคัญนั้นคือ ขอให้เขาบันทึกความรู้สึกของตนเอง หรือของทุกคน ณ ขณะนั้นเอาไว้ ไม่ให้มันสูญเปล่า เพื่อไม่ให้หายไปตามกาลเวลา เมื่อวันเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นวัน เดือน หรือปี ก็ยังคงจะจำความรู้สึกของวันนั้นได้ว่ารู้สึกอย่างไร แม้อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ แต่ถ้าเขียนไว้ มันก็จะกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์

 

มกุฏ อรฤดี

 

ความรู้สึกอันบริสุทธิ์ของพวกเขาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้อย่างนั้นใช่มั้ย

     จะเรียกว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หรือบันทึกอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าเป็นเครื่องดักจับความรู้สึกมากกว่า ดินสอและกระดาษเป็นเครื่องดักจับสิ่งเหล่านี้ และเป็นเครื่องเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี

     อีกประเด็นก็คือ ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งจะมีสักกี่ครั้งที่จะได้ผ่านประสบการณ์เช่นนี้ ซึ่งเราพยายามที่จะทำให้โอกาสนี้มีความหมายมากกว่าการที่เราสูญเสียพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งไป ความสลักสำคัญคือ หากเราลองเปิดดูสมุดบันทึกของเด็กๆ ดูแล้วจะเห็นถึงสิ่งที่พวกเขาเขียน เช่น จะเดินตามแสงเทียน จะทำดีตามพ่อหลวง ซึ่งในอนาคตนั้นเขาจะทำจริงหรือไม่เปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ให้สัญญากับพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตไปแล้วว่า เขาจะทำความดี

     และอย่าลืมนะครับว่า ด้วยวิธีที่เราเก็บบันทึกนี้เอาไว้ สิ่งนี้จะอยู่ไปอีกนานกระทั่ง… จะเรียกว่าอยู่ไปจนสิ้นโลกเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะ 1. เราจะเก็บบันทึกไว้ในกระดาษ และ 2. มันจะไปอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ อีบุ๊ก ทุกบันทึกจะยังคงอยู่ 

     ดังนั้น เมื่อไหร่ที่หนังสืออ่านคุณก็จะเจอลายมือของตัวเอง หรือสืบค้นชื่อตัวเองในระบบก็จะพบ และในอนาคตเราจะพบกับสิ่งที่ตัวเองเขียนเอาไว้ เพื่อนของเรา หรือเป็นลายมือของคนที่เรารัก ซึ่งพวกเขาอาจตายจากเราไปแล้ว และเขาเขียนถึงในหลวง ไม่ว่าจะเขียนถ้อยคำอะไรไว้ ทุกอย่างจะปรากฏ และนั่นเป็นคำมั่นสัญญา

 

โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาที่มีต่อพระมหากษัตริย์

     ผมคิดว่านั่นก็เหมือนกับคำมั่นสัญญาต่อพระพุทธรูป แต่ที่สำคัญคือ นั่นคือคำมั่นสัญญาต่อตัวเราเอง ซึ่งจะปรากฏอยู่ตลอดไป แม้คุณจะเปลี่ยนชื่อ คำมั่นสัญญานั้นก็จะติดตามคุณไปตลอด

 

ในฐานะที่คุณคลุกคลีอยู่กับหนังสือและการอ่านมาแทบทั้งชีวิต ตามความเห็นของคุณ ในหลวงทรงมีคุณูปการในเรื่องการอ่านและการศึกษาอย่างไรบ้าง

      อันที่จริงพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงคิดเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการอ่านมากนะ แม้พระองค์จะไม่ค่อยได้ตรัส แต่พระองค์ก็ทรงทำให้เห็น อย่างการที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องความรู้ประชาชาติ ซึ่งก็คือความรู้ที่ทุกคนในชาติควรจะรู้ในเรื่องเดียวกันจึงจะสามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง จึงได้เกิดโครงการหนังสือชุด ‘สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน’ ออกมาในปี พ.ศ. 2515 ที่ทำและแจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่างๆ

     พระองค์อยากจะบอกว่าการแปลหนังสือนั้นสำคัญ พระองค์จึงได้แปลหนังสือเรื่อง ติโต พระองค์อยากจะบอกว่าการเขียนวรรณคดีสำคัญ จึงทรงนิพนธ์ พระมหาชนก พระองค์อยากจะบอกว่าหนังสือเด็กสำคัญ จึงทรงประพันธ์ เรื่อง ทองแดง ถ้าเราเฝ้าดูให้ดีถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำเกี่ยวกับหนังสือ เราจะเข้าใจได้เลยว่า พระองค์ท่านทรงเข้าใจระบบหนังสือ และทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง

 

มกุฏ อรฤดี

 

มีแนวคิดของในหลวงในด้านอื่นๆ อีกไหม ที่คุณยึดถือเป็นแบบอย่าง

     อันที่จริงพระองค์มีปรัชญาเยอะมากทั้งในการดำเนินงานและดำเนินชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสรุปได้กับตัวเองก็คือ ‘คิดเพื่อผู้อื่น’ อย่างเรื่องที่นอนยางพารา ซึ่งในหลวงทรงเป็นคนออกแบบ และคิดมากว่า 40 ปีแล้ว นอกจากเพื่อให้ขายยางพาราได้ในราคาที่สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นเพราะท่านเป็นห่วงเรื่องสุขภาพอนามัยในการนอนของประชาชน จนคิดค้นที่นอนยางพาราผสมใยกะลามะพร้าวออกมา แม้ว่าจะมาก่อนกาลและไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น แต่ผมนึกไม่ออกว่าจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ไหนจะมาคิดถึงขนาดว่าชาวบ้านต้องได้นอนสบายๆ และพระองค์ก็ทรงคิด คิด คิดทุกวัน ตลอดเวลาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้ ด้วยความคิดแบบนี้นั่นเองที่ทำให้ประชาชนรักพระองค์

 

แล้วคุณนำหลัก ‘การคิดเพื่อผู้อื่น’ มาใช้อย่างไร

     ในการทำหนังสือแต่ละเล่ม เราต้องคิดว่าคนอ่านได้ประโยชน์อะไร ตัวหนังสือควรจะเป็นอย่างไร รูปภาพดีพอไหม หรือแม้กระทั่งรูปเล่มที่แข็งแรงทนทานพอไหม ด้วยอะไรต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นปรัชญาในการทำงานของตัวผมเองคือทำเพื่อผู้อื่น แล้วสิ่งต่างๆ มันก็จะตามมาเองหลังจากนี้

     เช่น หากเราทำหนังสือดีๆ มีสาระ ให้อยู่ได้นานๆ วันหนึ่งคนที่อ่านเขาก็จะรู้สึกดีและขอบใจเราที่ทำหนังสือดีๆ ส่งต่อเนื้อหาไปให้ลูกหลานของเขาได้

 

ในตอนต้นคุณบอกเอาไว้ว่า อยากจะให้วาระนี้เป็นมากกว่าการสูญเสีย ตัวคุณเองอยากจะใช้โอกาสนี้อย่างไร

     ชั่วชีวิตของใครสักคนหนึ่ง อาจไม่คิดว่าจะต้องพบกับการที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่ดีและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอก แต่เมื่อเกิดแล้วเราควรจะได้ใช้เอื้อแก่คนอื่น อย่าให้การสวรรคตนั้นเป็นการ ‘สิ้น’ แต่ให้เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของบางสิ่งบางอย่างที่ดีกว่า หรือหากไม่ดีกว่า ก็เป็น ‘การสานต่อ’ และนี่ก็เป็นการสานต่อวิธีหนึ่งด้วยคำมั่นสัญญาที่เราจะเขียนขึ้นมาเอง