แมวจรจัด

กมลวรรณ + ศุภจิต | หนุ่มสาวทาสแมวผู้อาสาชุบชีวิตให้แมวจรจัด

ความเร่งรีบและเหนื่อยล้ากับสภาพการจราจรที่ติดขัด บนถนนที่คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์ ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ จะมีใครสักคนไหมที่ยอมหยุดรถเพื่อลงไปช่วยเหลือผู้อื่น? ยิ่งถ้าเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ อย่างน้องเหมียวที่ถูกทิ้ง แล้ววิ่งไปวิ่งมาบนถนนอย่างสับสน หวาดเสียวจะโดนรถชน

ในสถานการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้เกิดฮีโร่ด้วยความบังเอิญ อย่าง ‘เปิ้ล’ – กมลวรรณ ปรีนะถา และ ‘เว่อร์’ – ศุภจิต พันกมลศิลป์ หนุ่มสาวที่กระโจนจากรถลงไปช่วยเหลือแมวบนถนน โดยที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาเป็นทาสแมว และช่วยเหลือแมวจรจัดมานานหลายปี

 

แมวจรจัด

 

สัตว์ทุกตัวต้องการที่พักพิง

    “แมวตัวแรกที่เราช่วยไว้ชื่อว่า ‘ต้นไม้’ เป็นตัวที่เจอตั้งแต่สมัยเรียน” กมลวรรณเล่าเท้าความถึงวันแรกที่เธอเริ่มต้นช่วยเหลือแมวจรจัด

     นอกจากจะพามันไปรักษาพยาบาลแล้ว พวกเขายังพาเจ้าเหมียวกลับบ้านและเลี้ยงดูต่ออย่างดี ด้วยความเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดก็มีชีวิตจิตใจและสมควรได้รับความรักไม่ต่างจากมนุษย์

     “แมวตัวแรกไม่ได้เจอบนถนนนะ แม่ของมันมาคลอดไว้ที่หน้าประตูบ้าน เห็นแล้วสงสาร ก็เลยเก็บมาเลี้ยง พอเลี้ยงไปสักพักเริ่มอยากหาเพื่อนให้ต้นไม้ จึงไปรับเลี้ยงแมวจรจัดมาอีกตัว ชื่อ ‘ละอองฟอง’ จากนั้นแมวก็งอกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ 20 กว่าตัวแล้ว (หัวเราะ)”

     แมวส่วนใหญ่ที่เลี้ยงไว้เคยเป็นแมวจรจัดที่เพ่นพ่านอยู่ข้างถนน พวกเขานำมารักษาตัวให้หายดี ฉีดวัคซีนที่จำเป็น และเลี้ยงอยู่ในบ้านแบบระบบปิด เนื่องจากเป็นวิธีการเลี้ยงที่เหมาะที่สุดในเมืองใหญ่ และรักษาชีวิตแมวให้อยู่ได้ยาวนานที่สุด

     “เราไม่อยากปล่อยไปสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน และกังวลว่าจะได้รับอันตรายจากสุนัขและรถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมาด้วย” ศุภจิตบอก

 

แมวจรจัด

 

บทเรียนจากการลงมือช่วยเหลือ

     แมวที่พวกเขาวิ่งลงไปช่วยบนถนนมีชื่อว่า ‘มิวสิค’ โดยทั้งคู่เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้เราฟัง

     “ระหว่างขับรถกลับจากที่ทำงาน พี่เว่อร์เห็นแมวอยู่กลางแยกห้วยขวาง เป็นช่วงที่รถกำลังติดๆ แล้วรถคันหน้าก็กำลังถอยหลังมาจนเกือบจะเหยียบมันอยู่แล้ว เราตกใจมาก แมวเองก็ตกใจ มันเลยวิ่งไปอยู่ใต้ท้องรถอีกคันหนึ่ง จังหวะนั้นเราไม่สนใจแล้ว รีบเปิดประตูรถลงไปช่วยเลย โดยเราไปเคาะกระจกรถคันนั้นเลยแล้วบอกว่า พี่อย่าออกรถนะ แมวอยู่ใต้ท้องรถ พี่เขาก็น่ารักมาก ให้คนขับรถลงมาเปิดประตู เราก็มุดไปใต้ท้องรถ แล้วจิกหนังคอเขามาเลย”

     “ตอนแรกเราก็สงสัยว่าเป็นของใครแถวนั้นหรือเปล่า เพราะสภาพสมบูรณ์มาก ตัวใหญ่ ดูซนๆ แต่แถวนั้นไม่มีบ้านคนเลย จึงคิดว่ามันน่าจะหลุดมาจากรถคันไหนสักคัน แต่เราก็ไม่มีเวลาจะถามหาเจ้าของแมวในสภาพถนนแบบนั้น ก็เลยพาเจ้ามิวสิคกลับบ้านแล้วเลี้ยงดูมันมาเรื่อยๆ” ศุภจิตเล่าให้เราฟัง

 

แมวจรจัด

 

     นอกจากมิวสิคแล้ว ทั้งคู่ยังเคยเจอแมวถูกทิ้งอยู่บนถนนอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น ‘มิกกี้’ กับ ‘มินนี่’ ลูกแมวเกิดใหม่ตัวจิ๋วที่ถูกจับใส่ถุงแล้วทิ้งไว้ที่ป้ายรถเมล์แถวสาทร ‘โกโตะ’ ลูกแมวสีขาวที่เพิ่งได้มาเป็นตัวล่าสุด และบางครั้งก็เจอแมวบนถนนในสภาพที่โดนรถเหยียบและไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน พวกเขาจึงไปเก็บร่างไร้วิญญาณกลับมาเพื่อนำไปฝัง เพราะไม่อยากเห็นพวกมันต้องโดนรถเหยียบซ้ำๆ ไปแบบนั้นทั้งวัน

     “เราเคยคิดว่าถนนบ้านเราก็โหดร้ายนะ ไม่รู้ว่าในแต่ละวันจะต้องมีสัตว์ตายบนถนนแบบนี้กี่ตัว แต่สุดท้ายเราเชื่อว่าทุกคนย่อมต้องมีมายด์เซตของความสงสาร ความสงสารนี้ทำให้เกิดผลพลอยได้ คือการที่พวกเราแต่ละคนช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือในส่วนที่ภาครัฐช่วยได้ไม่ทั่วถึง”

     ทุกวันนี้พวกเขาตั้งใจทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงแมว เพราะการเลี้ยงแมวกว่า 20 ชีวิตมีค่าใช้จ่ายสูง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตพวกเขาลำบากเกินไป

     “ตั้งแต่เลี้ยงแมวเยอะๆ ความคิดเราก็เปลี่ยนไปด้วยนะ กลิ่นอึทนได้ ความวุ่นวายทนได้ พอเลิกงานก็อยากกลับไปหาแมว สามารถอยู่คนเดียวเงียบๆ กับสัตว์เลี้ยงได้โดยไม่ต้องออกไปเที่ยว ไม่ได้คิดว่าใช้ชีวิตไม่คุ้ม เพราะเรามีความสุขกับพวกเขามาก” กมลวรรณและศุภจิตกล่าว