Mangmoom Book กับการปลูกฝังความสำคัญของสิทธิทางร่างกายผ่านนิทานภาพ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’

หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กในประเทศไทยตามร้านหนังสือทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกพัฒนาการ หรือเป็นเรื่องของความรู้ทั่วไป แม้สิ่งที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย มักจะเป็นเรื่องสไตล์ของภาพประกอบที่หลากหลาย ทันสมัยขึ้น แต่เราแทบจะไม่เคยเห็นหนังสือเด็กที่กล่าวถึงประเด็นเชิงลึกอย่างเรื่องของสิทธิทางร่างกาย 

        กระทั่งรู้จักหนังสือนิทานภาพ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการบอกเล่า กลับมีความเข้มข้นกว่าหนังสือเด็กทั่วไป โดยเผยถึงพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในสังคม ที่กำลังทำให้เด็กหลายคนตกเป็นเหยื่อจากพฤติกรรมอันไม่ปกตินี้ 

        ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ กรณีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของศิลปินคนดังที่มีต่อลูกสาว จนขึ้นแฮ็ชแท็กอันดับหนึ่งบนเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่เกือบอาทิตย์ในสัปดาห์ที่แล้ว เหตุการณ์นั้นทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มตระหนักถึง ‘การเรียนรู้ถึงความสำคัญของสิทธิในร่างกายของตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก’ และตั้งคำถามว่า ‘เราควรมีขอบเขตการแสดงความรักในครอบครัวแบบใดได้บ้างจึงจะเหมาะสม’ 

        รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความเคยชินในการเลี้ยงดูของครอบครัวคนไทย ที่พ่อแม่หลายคนจึงมักคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์เหนือลูกเสมอ แต่อาจลืมคิดไปว่า สุดท้ายแล้วครอบครัวคือส่วนหนึ่งของสังคม และการอบรมสั่งสอนในครอบครัวก็มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อวันข้างหน้าเด็กต้องเติบโตออกไปใช้ชีวิตในสังคม

        เหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีผลทำให้ ‘เบียร์’ – อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี และ ‘ก้อย’ – พัณณ์ชิตา ธนวีร์กิตติโชติ เจ้าของสำนักพิมพ์ Mangmoom Book ที่เคยตีพิมพ์หนังสือนิทานเด็กเรื่องนี้ ตัดสินใจกลับมาตีพิมพ์ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ที่จะนำไปสู่หนึ่งในหนทางการลดการถูกคุกคามทางเพศโดยคนใกล้ตัว 

        “เราอยากให้เล่มนี้เป็นหนังสือที่มีทุกบ้าน”

‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ ถือว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาค่อนข้างใหม่มาก หากพูดถึงนิทานภาพสำหรับเด็กในประเทศไทย เราอยากทราบว่า คุณรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ ก่อนจะนำมาแปลเป็นภาษาไทยได้อย่างไร 

        เบียร์: เราเห็นจากโพสต์บนเฟสบุ๊กของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไต้หวัน ซึ่งหนังสือของนักเขียนคนนี้ได้รางวัล Golden Tripod Award แห่งรัฐบาลไต้หวัน แล้วหนึ่งในผลงานของเขามีหนังสือเล่มนี้อยู่จึงติดตามต่อว่าหนังสือนิทานภาพ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ พูดถึงเรื่องอะไร 

        พอเจาะลึกลงไปว่าเกี่ยวข้องกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในเด็กโดยคนรู้จัก บวกกับรู้เรื่องราวเบื้องหลังของหนังสือมา และที่สำคัญคือ เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้มีประสบการณ์ร่วมกับพวกเราบางอย่างที่ทำให้ปล่อยไปไม่ได้ จึงตกลงกับก้อยว่าเล่มนี้เป็นหนังสือที่เราต้องนำมาแปลเป็นภาษาไทย

เบื้องลึกเบื้องหลังของหนังสือเล่มนี้ที่คุณเล่าถึงเมื่อสักครู่ มันคืออะไร

        เบียร์: นักเขียนคนนี้ (ซิ่งเจียฮุ่ย) เดิมทีเป็นนักสิทธิเด็กอยู่แล้ว เขาทำงานในสายนี้มาสิบกว่าปี และพบว่าไม่มีสื่อที่เป็นนิทานภาพที่เล่าประเด็นการป้องกันจากการถูกคุกคามทางเพศตีพิมพ์ออกมาเลย เขารอมาสิบปีก็ยังคงไม่มีคนเขียน จึงตัดสินใจเขียนขึ้นเอง เรื่องนี้จึงสะท้อนกลับมาที่เรา ประเทศไทยก็ไม่มีหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กที่สื่อสารประเด็นนี้เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อสิ่งที่ไต้หวันก็เป็น และเราก็เองเป็น ทำให้พอเขาออกหนังสือมาปุ๊บ เราก็อยากให้เมืองไทยมีบ้าง 

        ก้อย: อีกเหตุผลหนึ่งคือ หนังสือเล่มนี้มีคู่มือการใช้งานที่มีเนื้อหาลงลึกมากกว่าตัวเล่มที่เป็นหนังสือนิทาน สมมุติว่าผู้ปกครองได้ไป ไม่ใช่แค่เล่ากับเด็กอย่างเดียว แต่ตัวผู้ปกครองจะได้องค์ความรู้บางอย่างที่อาจไม่เคยรู้ แล้วตกผลึกบางอย่างจากการอ่านคู่มือเล่มนี้

        เบียร์: เราจะแนะนำว่าผู้ปกครองควรเปิดอ่านก่อนที่จะอ่านให้เด็กฟัง แต่ในขณะเดียวกันถ้าวางทิ้งไว้แล้วเด็กเปิดอ่าน เด็กก็สามารถรับสาระบางอย่างได้ด้วย

หากถามว่า ด้วยเหตุผลอะไรหนังสือเล่มนี้ถึงสมควรที่ทุกครอบครัวจะต้องมีติดบ้าน 

        เบียร์: สิ่งสำคัญคือความละเอียดอ่อนของเนื้อหาข้างใน เราต้องรู้ว่าเรื่องของการคุกคามทางเพศในเด็กจากคนรู้จักเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในแง่ของสังคมนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กกับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของการอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า แต่ยังมีเรื่องของความช่วยเหลือที่มาจากคนแปลกหน้าด้วย นั่นคือสิ่งที่บอกว่า จริงๆ แล้วหากเกิดเหตุการณ์นี้ พวกเราแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กก็ห้ามเพิกเฉย 

        เพราะเด็กไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เด็กยังตัดสินใจอะไรบางอย่างไม่ได้ เรามีหน้าที่ต้องทำ เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จะมีความละเอียดอ่อนในแง่ของทางจิตวิทยา การพูดคุย การบำบัด รวมถึงการรับมือเมื่อเด็กเกิดเรื่อง แล้วก็ปฏิกิริยาที่สังคมควรจะมีต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้น ภาพวาดและเรื่องราวสั้นๆ แค่ 30-40 หน้าในหนังสือเล่มนี้จึงตอบโจทย์มาก นี่คือสาเหตุที่เราพยายามผลักดันมากๆ 

ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าหนังสือคู่มือมีเนื้อหาเชิงลึก เนื้อหาข้างในนั้นจะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง

        เบียร์: เราเชื่อในพลังของหนังสืออย่างหนึ่งคือ พลังของความรู้ พอทำหนังสือเล่มนี้เราได้อ่านงานวิจัย เจอกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เราจะรู้ว่ามีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าอย่าไปไว้ใจคนแปลกหน้า เพราะภัยมักมาจากคนแปลกหน้า อย่างที่สองคนร้ายไม่ได้มาในหน้าตาเหี้ยมเกรียม แยกเขี้ยวตามภาพจำที่เราเข้าใจกัน แต่คนร้ายมักมาในภาพของคนใส่สูท ผูกเนกไท แล้วก็มักจะเป็นเช่นนั้นด้วย 

        ซึ่งความเชื่อผิดๆ นี้ไม่ได้หลอกแค่เด็ก แต่หลอกผู้ใหญ่ด้วย หลอกให้ผู้ใหญ่คิดว่าเราสามารถฝากเด็กไว้กับคนคนนี้ได้ แต่อะไรที่สามารถทำให้หมาป่าในคราบแกะเผยตัวออกมาได้ นั่นคือ เด็กต้องรู้ ดังนั้น เด็กต้องไม่ถูกหลอกว่าห้ามบอกพ่อแม่ เพราะถ้าเด็กมาบอกพ่อแม่เรื่องก็โป๊ะแล้ว ภัย หรือสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะยุติทันที 

        ปัญหาของสังคมตอนนี้คือเด็กถูกหลอกว่า เป็นความลับนะ ห้ามบอกใคร ให้ขนม ให้เงิน ให้ความใจดี ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการให้ความรู้จะเป็นอาวุธได้อย่างแท้จริง ยิ่งถ้าเด็กอ่านเรื่องนี้พร้อมพ่อแม่ จะเป็นตัวเปิดประเด็นให้ครอบครัวพูดคุยเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

        ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงมากกว่าการเป็นนิทาน เราหวังว่าจะให้เป็นหนังสือที่มีทุกบ้าน เราจึงจริงจังกับมันมาก อยากที่จะให้หนังสือเล่มนี้เป็นยันต์ เป็นเกราะป้องกัน เป็นอาวุธ ให้กับทั้งพ่อแม่และเด็ก 

ย้อนกลับไปยังกรณีของพ่อที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการคุกคามลูกสาวเมื่อสัปดาห์ก่อน คุณเห็นอะไรจากเรื่องนี้บ้าง 

        เบียร์: หากอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระตุ้นเตือนว่าเราต้องรีบพิมพ์ใหม่อีกครั้งทันที เนื่องจากเราไม่ได้โฟกัสแค่สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ แต่ประเด็นคือเราเห็นเสียง และทัศนคติของสังคมบางส่วนซึ่งทำให้เราประหลาดใจมากที่เขามีปฏิกิริยาเห็นว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา 

        ถ้าเขามองเห็นว่านี่เป็นเรื่องธรรมดานั่นคือความผิดปกติ เป็นปัญหาของสังคมแล้ว ซึ่งเราต้องการผลักดันให้คนหันมามองว่า เรื่องแบบนี้คือขาวกับดำนะ ไม่ควรจะมองเป็นสีเทาๆ หรือมองเป็นเรื่องของปัจเจกว่าครอบครัวนี้ทำได้ หรือเป็นเรื่องปกติในครอบครัวของฉัน 

        หนังสือเราก็จะมีหน้าที่บอกกับทุกคนว่าพฤติกรรมที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร และบอกสังคมด้วยว่าต่อให้คุณจะเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้อง คุณจะเป็นผู้ดู หรืออยู่ในองคาพยพไหนของสังคมก็ตาม คุณควรมีความตระหนักรู้เรื่องนี้ 

ในความเป็นจริง การคุกคามทางเพศมีข่าวเกิดขึ้นแทบทุกวัน แต่ในมุมกลับกัน ผู้คนในสังคมกลับเขินอายที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจตั้งแต่เล็กๆ คุณมองเรื่องเหล่านี้อย่างไร

        เบียร์: ขนาดคนในเมืองยังไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เราเลยตัดสินใจว่าต้องพิมพ์ให้เยอะกว่านี้ ผลักดัน และส่งเสียงให้ดังกว่านี้ อยากให้ทุกคนช่วยกัน เรื่องนี้ควรหยุดได้แล้ว 

        ก้อย: เราอุตส่าห์ดีใจนะที่เราพิมพ์ครั้งแรกหมดสต็อกแล้ว แสดงว่าหนังสือเล่มนี้ไปถึงมือทุกคนแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่เพียงพอ

หนังสือที่ถูกพิมพ์ครั้งแรกหมดสต็อกไปแล้ว คุณได้รับฟีดแบ็กจากคนที่ซื้อ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ อย่างไรบ้าง

        ก้อย: ช่วงแรกลูกค้าส่วนใหญ่จะฟีดแบ็กว่าน่ากลัว ไม่กล้าซื้อให้ลูกอ่าน ตัวเองก็ไม่กล้าอ่าน ซึ่งบางครอบครัวก็อาจจะมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว บางครอบครัวไม่กล้าที่จะยอมรับ เรื่องน่ากลัวมากไม่กล้าซื้อให้อ่าน เราก็จะพยายามบอกว่า หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์มากกว่านั้น ซื้อไปตอนนี้ลูกอาจยังไม่กล้าอ่าน แต่คุณแม่ลองอ่านดูก่อนก็ได้ พอมีความรู้เราก็จะได้คอยสอดส่องป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

        จนมาระยะหลังมีข่าวเยอะขึ้น ทุกครอบครัวเขาก็เหมือนจะเปิดใจมากขึ้น ครอบครัวที่เป็นหัวสมัยใหม่ก็จะยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น อยากได้สื่อแบบนี้เข้าไปพูดคุยกับลูก ถ้าไม่มีนิทานหรือว่าอะไรมาเปิดประเด็นเลย พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะคุยกันยังไง 

        นิทานเล่มนี้เวลาที่เราอ่านกับเด็กๆ ตอนที่อ่านเขาจะให้สังเกตพฤติกรรมของเด็กในระหว่างที่เราอ่านไปด้วยว่า พออ่านถึงตรงนี้ บทนี้ พ่อเลี้ยงมาจับแล้วลูกรู้สึกยังไง หรือว่าลูกมีความในใจจะพูดอะไรหรือเปล่า ให้เราหยุดแล้วก็คุยกับลูก พ่อแม่อาจจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้

        เบียร์: คู่มือในการอ่านจะให้ประโยชน์ที่มากกว่านิทานมาก คู่มือจะช่วยให้ผู้ปกครองใช้หนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังบอกเล่าเรื่องที่อยู่นอกหนังสือด้วย 

นอกจากจะนำ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ กลับมาพิมพ์อีกครั้ง ในอนาคต คุณคาดหวังจะมีโปรเจกต์อะไรที่ต่อยอดกับเรื่องเหล่าเหล่านี้อีกไหม 

        เบียร์: ที่ไต้หวันเขานำหนังสือเล่มนี้ไปทำกิจกรรมที่โรงเรียน จนนำไปสู่การสืบสวนและจับกุมผู้ต้องหาหลายคดีที่เด็กตกเป็นเหยื่อ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นในประเทศไทย อยากจะทำโครงการผีเสื้อสัญจรที่ไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ ทุกโรงเรียน