ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ | สิ่งที่วิกฤตยิ่งกว่าความแก่ คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยไม่มีหลักประกันของชีวิต

สำหรับผู้หญิงแล้ว เรื่องของวัยที่มากขึ้นก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวลมากพออยู่แล้ว และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการมีลูกก็ยิ่งทำให้อะไรหลายอย่างไม่เหมือนเดิม แม้เราจะเห็นว่าคนเก่งๆ อย่าง ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ที่เป็นทั้งตัวตั้งตัวตีทำให้เกิดโรงหนังทางเลือกอย่าง Doc Club Theater หรือเป็นคนบุกเบิกการนำหนังสารคดีมาฉายจนเรียกว่าประสบความสำเร็จในตอนนี้ แต่ภาวะที่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

 

     “ชีวิตตอนเป็นวัยรุ่นเรามองไปข้างหน้า พอผ่านอายุสี่สิบห้ากลายเป็นเรามองย้อนกลับไปแล้วว่าชีวิตส่วนที่เหลือล่ะจะอยู่อย่างไร” พี่สาวแสนดีเล่าถึงความคิดของตัวเองหลังเข้าสู่วัยกลางคน ก่อนจะพูดถึงผลกระทบจากการมีลูกว่าถึงกับเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปเลย

     “ตอนยังไม่มีลูก เรายังเป็นคนที่ออกจากบ้านไปทำงาน ไปเจอผู้เจอคน แต่พอมีลูกทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย กลายเป็นคนอยู่บ้าน แทบจะไม่อยากออกมาเจอใคร ตอนเช้าไปส่งลูก ตอนเย็นก็ไปรับลูก วนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นสิบปี จนเราเกิดความคิดว่าทำไมตัวเองกลายเป็นคนแบบนี้ ทำไมเข้ามาอยู่ในโหมดนี้ไปเลย แล้วความสามารถในโหมดของการทำงานก็ไม่ถูกนำมาใช้จนมันค่อยๆ หายไป”

     ฟังแล้วเหมือนว่าชีวิตก็น่าจะมีความสุข ไม่ต้องทำงานดิ้นรนอะไร การมีครอบครัวก็น่าจะทำให้ชีวิตมีความเรียบง่ายขึ้น แต่กลายเป็นว่าความคุ้นชินนี้กลับทำให้เกิดความเครียดและความกังวลที่ส่งผลต่องานที่ทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ

     “จุดเริ่มต้นในการทำ Documentary Club ตอนแรกจะเป็นการทำอะไรเล่นๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่ในวันนี้งานที่ทำกำลังเรียกร้องอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ขึ้นจากเรา แต่ด้วยนิสัยของเราที่กลายเป็นคนไม่ตอบสนองกับความท้าทายเหล่านั้นแล้วก็ทำให้ Documentary Club มีปัญหาเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เพราะองค์กรของเราเติบโตขึ้น มีคนทำหนังอิสระหรือคนจากต่างประเทศอยากเข้ามาทำความรู้จัก อยากชวนเราไปตลาดหนัง ไปขอทุนทำเทศกาลหนัง ซึ่งตอนนี้ Documentary Club กำลังเรียกร้องการเติบโตเพราะมันอยู่ในช่วงที่มันต้องเติบโต แล้วเรื่องนี้ถ้าเกิดขึ้นเมื่อสักสิบหรือสิบห้าปีที่แล้ว เราจะกระโจนเข้าใส่เลย แต่ตลอดสิบปีที่ผ่านมา การเป็นแม่ทำให้ชีวิตเราไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องแบบนี้ ก็ยังคิดอยู่ว่าจะเอายังไงดี องค์กรอยากโต แต่เราไม่อยากโต ก็เป็นคำถามว่านี่มึงต้องการอะไรในชีวิต (หัวเราะ)”

 

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

 

     มีหลายคนที่เกิดภาวะแบบนี้เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน รู้สึกว่าตัวเองหมดไฟ ไม่กล้าที่จะลองไปทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะไม่มีความมั่นคง ถ้าให้ลาออกจากงานตอนนี้แล้วจะเอาอะไรกิน ซึ่งเธอบอกว่าจริงๆ แล้วสาเหตุหลักอาจไม่ใช่เพราะวัยที่ทำให้เป็นปัญหา แต่เป็นเพราะเราไม่มีสวัสดิการรองรับที่ดีจึงทำให้คนเกิดความกลัว

     “แก่แล้วไม่มีงานทำเราเองก็กลัว โดยเฉพาะกับคนทำหนังซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าพออายุเกินห้าสิบปี ต่อให้คุณมีประสบการณ์ในการทำหนังมาแล้วก็ยังถูกเขี่ยทิ้งได้ เอาโปรเจ็กต์ไปเสนอขอทุนก็ไม่ผ่าน แล้วก็กลายเป็นว่าต้องยอมรับความจริงแบบทุกข์ทรมานว่าตัวเองจะไม่มีทางได้กลับไปอยู่หน้ากองถ่ายอีกแล้ว ขณะที่ชีวิตปัจจุบันก็อยู่ไม่ได้ด้วย เพราะรัฐไม่มีสวัสดิการอะไรช่วยเหลือเลย ทำหนังมา เงินที่ได้ก็เข้าไปสู่เจ้าของหนัง คุณได้แค่ค่ากำกับตอนที่ทำงาน ซึ่งถ้าคุณผ่านช่วงพีกของตัวเองมาแล้วต่อให้ไม่แก่ก็ยังกลับมายากเลย  และมีคนจำนวนมากเลยที่กลับมาไม่ได้ พอแก่ตัว ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ก็เกิดเป็นความกลัว ซึ่งถ้าปีหน้า Documentary Club เกิดเจ๊งขึ้นมา เราเองก็ต้องตกไปอยู่ในสภาวะนั้นเหมือนกัน”

     ถ้ามองไปยังผู้คนที่อยู่ในประเทศที่รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือและมีสวัสดิการที่ดี ก็พบว่าความกลัวของชีวิตวัยกลางคนจะไม่น่ากลัวขนาดนี้ เพราะสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ คือการที่คนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยไม่มีหลักประกันของชีวิต เอาแค่พอมีเงินบำนาญที่สามารถซื้ออะไรกินเลี้ยงตัวเองไปได้ทุกเดือน แม้จะตกงานตอนอายุเยอะแล้วก็ยังไม่มีความวิตกกังวลมากเท่าไหร่

     “หน้าที่ของรัฐบาลคือทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย เพราะเราเป็นพลเมืองที่คุณจะสูบเลือดสูบเนื้อกินเรี่ยวแรงเอาภาษีของเราไป ดังนั้น สวัสดิการคือสิ่งที่คุณต้องตอบแทนให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ชีวิตมีความปลอดภัยแบบนี้ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ไม่ต้องกลัวตกงาน ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะเสี่ยงจนไม่กล้าทำอะไรอีกแล้ว หรือว่าไม่ต้องกลัวว่าจะแก่แล้วอยู่ไม่ได้ ชิงฆ่าตัวตายดีกว่า กลัวการมีลูกเพราะเดี๋ยวจะเลี้ยงไม่ไหว ซึ่งไม่ควรจะมีใครอยู่ในภาวะแบบนี้ ถ้ายังเป็นแบบนี้แล้วเราจะไปพัฒนาอะไรได้ เพราะคุณไม่สามารถคิดอะไรได้ แค่ปัจจุบันเอาตัวให้รอดก่อน ต้องคอยบอกตัวเองว่ากูไม่สามารถตกงานได้ แล้วจะมาบอกให้เราไปสร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ได้ล่ะ ใครที่จนก็แบกรับชีวิตตัวเองไป คนชั้นกลางที่มีชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ก็รับความเสี่ยงไป มีแต่คนรวยเท่านั้นที่อยู่รอดซึ่งมันไม่ใช่ แล้วเรามีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคให้เห็นกันแล้ว นั่นแปลว่ารัฐสามารถทำสวัสดิการเพื่อรองรับคนประเภทต่างๆ ได้ แต่เขาไม่ทำ”

     การสนทนาดำเนินไปอย่างออกรสชาติ จนเราอดแซวไม่ได้ถึงเรื่องความเกรี้ยวกราดของพี่สาวคนนี้ที่ต่างก็คุ้นเคยกันดีเวลาเธอออกมาแสดงความไม่ยอมกับระบบบางอย่างในการทำงานผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยน่ารักสักเท่าไหร่ แต่นั่นกลับกลายเป็นสิ่งที่เธอบอกว่ามาถูกที่ถูกเวลาเหมือนกัน

     “เราเข้าใจนะว่าโวยวายไปก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้อะไรหรอก เช่น ปัญหาที่เห็นกันชัดเจนอย่างโรงหนังที่ผูกขาด มีแต่ความไม่ยุติธรรมมากขึ้นทุกวัน พอหนังใหญ่เข้ามาก็เอาโรงไปเกือบหมด แล้วให้หนังเล็กๆ แบ่งโรงฉายกันเอง แล้วเราโวยวายไปก็ไม่ได้ทำให้เป็นที่รักของใครด้วยมีแต่สร้างศัตรู (หัวเราะ) แต่เราก็รู้สึกนะว่าด้วยวัยตอนนี้แหละคือข้อได้เปรียบ ถ้าเราไม่พูดแล้วใครจะพูด เราควรจะโวยวายบ้างถึงแม้จะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ก็ดีกว่าไม่มีคนออกมาพูดเลย เราเชื่อว่ายังไงต้องมีคนเห็นด้วยว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริงๆ แต่เขาก็ไม่รู้หรอกว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร เราได้เปรียบที่ตัวเองอยู่ในรุ่นที่โตพอสมควร เราพูดได้โดยไม่มีอะไรจะเสีย ถ้าเราเด็กกว่านี้เราอาจจะไม่กล้าพูดด้วยซ้ำ ความแก่บางทีก็มีประโยชน์อยู่ ทำให้เราแสดงความเกรี้ยวกราดในสิ่งที่เราควรจะพูดได้ (หัวเราะ)”

 

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

 

     การเกิด Doc Club Theater จึงเป็นทางเลือกในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับแสดงออกถึงเรื่องของเสรีภาพ ซึ่งเธอบอกว่าสามารถเอาวิธีการนี้ไปใช้ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้ โดยก่อนอื่นต้องเริ่มจากสร้างความรู้สึกว่าเรายังมีทางเลือกอื่นๆ อยู่ เป็นทางที่ทำให้เราไม่ต้องยอมอยู่ในระบบที่ไม่โอเค

     “ต้องสนุกกับงาน เราพยายามคิดว่างานของตัวเองยังทำอะไรได้อีก แต่อาจจะไม่ใช่อะไรใหญ่โตขนาดต้องไปปะทะกับคนนั้นคนนี้หรือว่าสร้างโมเดลยิ่งใหญ่ เราจึงชอบวางเป้าหมายเล็กๆ ในขอบเขตที่ตัวเองพอทำได้ เพื่อจะไม่ต้องทนทำงานที่เป็นแพตเทิร์นเดิมๆ แต่แค่ขอให้งานทั้งหมดนั้นสามารถนั่งทำอยู่ที่บ้านได้ก็พอ (หัวเราะ)”

     เราคุยกันว่าปัญหาของคนยุคนี้คือความไม่มั่นคงในชีวิต สิทธิเสรีภาพ และการดีลกับการทำงาน แต่ความบั่นทอนแฝงเร้นที่เรานึกถึงอีกเรื่องคือ การมีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้วัฒนธรรมการอวดกลายเป็นหนามที่คอยทิ่มแทงความรู้สึกของเราไปเรื่อยๆ โดยไม่ทันรู้ตัว ทำให้คนประเมินค่าของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วไปประเมินค่าคนอื่นสูงกว่าความเป็นจริง ทำไมคนอื่นถึงมีในสิ่งที่เราไม่มี แล้วทำให้สิ่งที่เรามีกลับไม่มีความหมาย แล้วเราก็ไปจมอยู่กับทุกข์ที่เกิดจากการไม่มีเสียเอง

     “แต่การได้ไปรู้ไปเห็นความคิดของคนอื่นบนโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีข้อดีนะ” เธอมองในมุมกลับ “โซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้เราลดความจองหองของตัวเองลงไปเรื่อยๆ เพราะเราจะพบว่าโลกนี้มีคนเก่งอยู่เยอะมาก จากแต่ก่อนที่เราไม่เจอใครเลย แล้วเราจะคิดว่าตัวเองเก่งตัวเองเจ๋งแล้ว พออีโก้ของตัวเองลดลงไปมากๆ เราก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วเราเก่งแค่ไหนพื้นที่ของตัวเอง แล้วมึงก็ทำในสิ่งที่มึงทำไปเถอะ ทำให้มันอยู่รอดปลอดภัยแล้วมีความสุขกับสิ่งที่ทำก็พอแล้ว การดีลกับสิ่งต่างๆ คืออยู่กับความเป็นจริงให้มากๆ ฟังคนอื่นเขาให้มากๆ แล้วเราก็จะสู้กับปัญหาได้ ถ้าคิดแค่ว่าเราแก่แล้ว เหลือเวลาอีกแค่ 20 ปีก็ตายแล้ว นั่นคือคุณเป็นน้ำเต็มแก้ว แต่ถ้าเรารู้สึกว่าอีก 20 ปีที่เหลือนี้ เรายังโชคดีนะที่มีเฟซบุ๊ก มีอะไรให้ได้เรียนรู้จากคนนั้นคนนี้ แบบนี้จะทำให้เราเผชิญหน้ากับปัญหาได้ดีกว่า”