Montonn Jira

มณฑล จิรา: อดีตไอดอลเก้าศูนย์ผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินดัง กับการออกอัลบั้มอีกครั้งในวัย 42 ปี

ยี่สิบกว่าปีก่อน เด็กหนุ่มหน้าใสปรากฏกายบนปกนิตยสารชื่อดัง ณ เวลานั้น และกลายเป็นจุดสนใจของสาธารณชน ที่สปอตไลต์สาดส่องลงมา ก่อนจะได้เข้ามาคลุกคลีในแวดวงบันเทิงอย่างจริงจัง มีงานถ่ายแบบ โฆษณา และภาพยนตร์ เข้ามาไม่ขาดสาย รวมถึงการเป็นศิลปินออกอัลบั้มแรกที่ชื่อ J ในสังกัดโพลีแกรม เมื่อปี พ.ศ. 2539

        ยี่สิบสี่ปีผ่านมา ‘เจ’ – มณฑล จิรา เติบโตจากการเป็นไอดอลแห่งยุคเก้าศูนย์ สู่การก้าวเดินในเส้นทางดนตรีอย่างจริงจัง ทั้งศิลปิน นักแต่งเพลง นักดนตรี และโปรดิวเซอร์ รวมถึงการเป็นเบื้องหลังให้กับศิลปินชื่อดัง อาทิ Slot Machine, ฮิวโก้ หรือแม้กระทั่งวงเกิร์ลกรุ๊ปวัยรุ่นยูนิตใหม่จาก BNK48 อย่าง Lyra ซึ่งบ่งบอกความสามารถและความเฉียบขาดในพาร์ตดนตรีของเขาที่ผู้คนให้การยอมรับได้เป็นอย่างดี

        ปี 2563 หลังห่างหายกับการอยู่เบื้องหน้าไปเป็นเวลานาน เขาเดินออกมาสู่สปอตไลต์อีกครั้งในฐานะศิลปิน กับอัลบั้ม ‘ด้วยความเคารพ’ ที่กลั่นออกจากประสบการณ์ความเข้มข้นทางดนตรีที่ตกผลึก และมุมมองเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เข้าใจง่าย ทว่าไม่ฉาบฉวย กับ 13 บทเพลง ที่เขารับหน้าที่ทำทุกกระบวนการอย่างพิถีพิถันตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวเองทั้งหมด 

        “พอทำงานมานาน เรารู้ว่าสิ่งเดียวที่ทำได้คือสร้างผลงานที่ดีที่สุดด้วยความเคารพต่อผลงาน นอกเหนือจากนั้นไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเราแล้ว”

        เป็นการทำงานด้วยความเคารพต่อกระบวนการและมุมมองของเขา

        เป็นการทำงานที่เขาอยากให้ผู้ฟังได้ฟังด้วยความเคารพเช่นเดียวกัน

 

Montonn Jira

หลังจากที่อยู่เบื้องหลังมานาน อะไรทำให้คุณตัดสินใจกลับมาทำเพลงเบื้องหน้าในอัลบั้ม ด้วยความเคารพ

        ก่อนหน้านี้เหมือนเราเอาเวลาแต่ละส่วนไปใช้ในการทำงานกับศิลปินคนอื่นอยู่หลายปี พอถึงจุดที่เราคิดว่าคล่องและพอใจกับกระบวนการที่ทำ ทั้งในส่วนของการแต่ง การบันทึก การมิกซ์ เราก็คิดว่าถึงเวลาที่จะเอาวิชาต่างๆ มาใช้ในการทำงานของตัวเองบ้าง ความจริงเราคิดจะทำโปรเจ็กต์นี้มานานแล้ว น่าจะตั้งแต่ชุดแรกๆ ที่เราทำเมื่อยี่สิบปีก่อนด้วยซ้ำ แต่ว่ายังค้นหาแนวทางว่าเราอยากจะพูดถึงเรื่องอะไรและแนวดนตรีแบบไหนไม่เจอ หลายคนบอกว่าอย่ารอ เริ่มทำเลยดีกว่า ซึ่งในมุมหนึ่งเราก็ทำอยู่ แต่เราคิดว่าอยากจะรู้สึกว่าพร้อมกับตรงนั้นจริงๆ เพื่อที่จะได้ทำผลงานเอง มันอาจจะมีวิธีอื่น เช่น จ้างคนอื่นมาช่วยทำ ช่วยแต่งเนื้อ ช่วยมิกซ์ หาโปรดิวเซอร์ แต่คอนเซ็ปต์ของอัลบั้มที่เราต้องการคือเราอยากลองดูว่าคนคนเดียวทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อที่จะสร้างงานที่ตัวเองชอบและอยู่ในมาตรฐานของสิ่งที่ต้องการได้หรือเปล่า

        มีช่วงที่เราได้ออกไปเล่นกับศิลปินอย่าง ฮิวโก้ เราได้เห็นวิธีการทัวร์และนำผลงานที่สร้างไปให้คนอื่นฟัง หรือมีแคมเปญหนึ่งที่เราออกไปเล่นกับ Greasy Café เราได้เห็นการตอบรับของคนที่มาฟังเพลงหลายๆ แบบ ที่ไม่ได้เป็นเพลงป็อปหรือตลาดเกินไป เราได้เห็นว่าเขาฟังอะไร เช่น ถ้าเป็นในส่วนของตัวเพลง เขาจะฟังทำนองกับเนื้อเป็นส่วนใหญ่ เราเลยอยากจะเอาความรู้ในส่วนของโปรดักชันมาแต่งเพลงที่เราคิดว่าน่าจะมีคนที่เข้ามาฟังทำนองกับเนื้อของเราได้

คุณได้ชื่ออัลบั้ม ด้วยความเคารพ มาจากไหน

        ตอนแรกที่เราตั้งคอนเซ็ปต์ของเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ เราอยากให้คนที่ได้ฟังรู้สึกว่าเพลงเป็นตัวแทนให้เขา เหมือนกับเราเขียนจดหมาย เราอยากจะหาคำที่ปิดท้ายว่านี่คือความรู้สึกที่มอบให้เขา เราเลยพยายามหาคำแปลของ sincere yours พอไปค้นก็เจอคำว่า ด้วยความรัก ด้วยความเคารพ ด้วยความห่วงใย ด้วยความจริงใจ สุดท้ายก็มาจบที่ ‘ด้วยความเคารพ’ ในแง่ว่ามีสองความหมายที่เราสร้างงานนี้ขึ้นมา หนึ่ง เราทำด้วยความเคารพกระบวนการและมุมมองของเรา และสอง เราอยากให้คนฟังฟังด้วยความเคารพเช่นเดียวกัน เพราะนี่เป็นกระบวนการที่เราได้มาทดลองว่าคนคนหนึ่งจะสร้างงานตั้งแต่ต้นจนจบออกมาได้แบบไหน และมันเปิดโอกาสให้คิดว่าทุกคนน่าจะทำได้ 

อัลบั้มนี้เขียนเนื้อเพลงจากความอินกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า

        อัลบั้มนี้เราวางคอนเซ็ปต์ไว้ว่าจะแต่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์หลายๆ แบบ หลายๆ มุมมอง ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่อยากจะรักกัน เป็นมือที่สาม อาจจะเป็นประสบการณ์ที่เราหรือเพื่อนเคยเจอ นำเอามาแต่งเป็นเพลง เพราะเราว่าคนไทยชอบฟังเพลงเกี่ยวกับความรัก เราเลยเริ่มกับตรงนี้เพื่อไม่ให้ซับซ้อนมากเกินไป เพราะดนตรีบางส่วนจะค่อนข้างซับซ้อนนิดหนึ่ง เราเลยอยากจะเริ่มทำนองกับเนื้อหาที่มีความสากลหน่อย

คุณเคยบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับคุณคือการเขียนเนื้อเพลง ตอนนี้ยังถือว่ายากอยู่ไหม

        ใช่ เพราะเราชอบเรื่องเสียง เรื่องการสร้างเท็กซ์เจอร์กับซาวนด์ หรือ harmonic content ต่างๆ ก่อนนี้เราได้เริ่มลงมือทำอัลบั้มหลายชุดมาแล้ว ดนตรีเสร็จแล้ว แต่มาติดตรงจุดที่ต้องแต่งทำนองและเขียนเนื้อ เพราะไม่รู้จะพูดเรื่องอะไร พอตอนที่เราอายุใกล้สี่สิบ เราก็เริ่มตั้งโจทย์ว่าควรจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เราคิดว่าแม้ไม่ได้มีอะไรที่อยากจะพูดออกไป แต่มีเรื่องราวที่เราอยากจะเขียนและเก็บไว้เหมือนเป็นไดอารีของตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา แต่เป็นเรื่องที่เราอยากจะพูดถึงและเก็บไว้ เราเลยมองเพลงแต่ละเพลงเหมือนรูปภาพรูปหนึ่ง เหมือนเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีอะไรเกิดขึ้น และเราอยากจะอธิบายตรงนั้น

คุณนิยามดนตรีของตัวเองว่าอะไร

        เราไม่ได้คิดว่ามีนิยามขนาดนั้น การที่เราเอาดนตรีและเพลงมาประกอบเป็นอัลบั้ม ด้วยความเคารพ มันเหมือนเป็นสิ่งที่เราได้ไปคลุกคลีอยู่ทุกวัน ทำอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการเล่น การฟัง การแต่ง หรือการไปชม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราอยู่แล้ว 

 

Montonn Jira

สามารถพูดได้ไหมว่าเป็นแนวทดลอง

        (นิ่งคิด) แล้วแต่คนฟังด้วย สำหรับเรา ทุกอย่างเป็นการทดลองหมด หลายคนบอกว่า ด้วยรูปแบบ ด้วยโครงสร้างของเพลงเราอาจจะไม่ค่อยคุ้น ถ้าเราลองเข้าไปแกะดนตรีจริงๆ จะดูค่อนข้างแปลก แต่เราพยายามที่จะประกอบให้ไม่รู้สึกว่าเป็นสัดส่วนที่แปลกมากเกินไป คนฟังทั่วไปยังเข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกัน หากมีคนที่อยากเอาเพลงเราไปเล่น เขาอาจจะพบว่ามีความซับซ้อนอยู่

        เราถือว่าเป็น alternative music แต่ว่ามีส่วนประกอบของหลายอย่าง ทุกเพลงเริ่มจากกีตาร์โปร่ง ดังนั้น แกนหลักคือเพลงโฟล์ก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก เกือบทุกเพลงมีเครื่องดนตรีสดที่เป็น organic element ไม่ว่าจะเป็นกลองจริง เพอร์คัสชัน กีตาร์โปร่ง เปียโน แล้วก็มีกลองสังเคราะห์ มีซินธิไซเซอร์ มี texture มี noise มี sound design ดังนั้น ก็มีหลายๆ อย่างมาผสมกัน ก็น่าจะเรียกเป็นการทดลองได้

เราได้ฟังเพลงในอัลบั้มนี้ของคุณแล้ว สิ่งที่ทำให้เพลงคุณมีความโดดเด่น คือ element ของดนตรี ที่ฟังดูมีความอินเตอร์ แต่ก็ฟังมีความเป็นไทยบางอย่างผสมผสานอยู่

        ใช่ นั่นเป็นสิ่งที่เราตั้งใจไว้ว่าต้องมี element บางอย่างที่ฟังแล้วแตกต่าง เราไม่ได้อยากจะให้ฟังดูแล้วเหมือนศิลปินบางคนจากต่างประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นจะเหมือนเป็นแค่เพลงของเขาแต่เปลี่ยนเป็นภาษาไทย เราพยายามจะหาอะไรที่มีความโลคอลอยู่นิดหนึ่ง เช่น การเอื้อนของเสียงร้องที่มันไทยมาก ซึ่งตรงนั้นเราใช้มาสักพักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแทร็กก่อนๆ หรือในงานโฆษณา ซึ่งเราถือว่านี่เป็น imprint และเป็นเอกลักษณ์ของเรา เราเลยเอาตรงนี้มาใช้ เพื่ออย่างน้อยเวลาฟังคนจะคุ้นหูว่ามีอะไรไทยๆ อยู่

ในกระบวนการทั้งหมดของการทำอัลบั้ม คุณชอบกระบวนการไหนที่สุด

        น่าจะอยู่ช่วงกลางๆ ของการทำเพลง เพราะพอเราวางโครงเสร็จ เราจะมาเริ่มปรุงพวกรายละเอียด หาเสียง หาองค์ประกอบ โดยที่เริ่มมองในสตูดิโอว่าเราจะใช้ของเล่นอะไรดี เหมือนเป็นการทดลอง บางทีก็เจออะไรที่ดี บางทีนั่งทำเป็นชั่วโมงไม่มีอะไรเลยก็ลบทิ้งไป แล้วพยายามหาสิ่งอื่นอีก ช่วงนี้จะสนุก เพราะหนึ่งคืออุปกรณ์หรือเครื่องดนตรีที่มีอยู่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น เราลองอูคูเลเล่ไหม เบนโจไหม หรือกลองไหม เป็นการทดลองว่าอะไรน่าจะเวิร์กอะไรไม่เวิร์ก พอทุกอย่างถูกปรุงเข้าไปแล้ว เราต้องตัดสินใจว่าจะใช้อะไรตรงไหน ต้องปรับอย่างไร เหมือนเราสลับหมวกอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็ใส่หมวกเป็นโปรดิวเซอร์ เดี๋ยวก็ใส่หมวกเป็นมือกลอง เดี๋ยวก็ใส่หมวกเป็นคนเรียบเรียง ปรับไปปรับมา

        เราจะชอบทำส่วนนี้ตอนเช้าๆ ที่เพิ่งตื่น เพราะเป็นการทำงานโดยที่สมองเราไม่ได้ไปหยุดวิเคราะห์ว่ามันดีหรือไม่ดี แค่ทำไปเรื่อยๆ เหมือนฝันอยู่ ไม่มีการตัดสิน

คุณเป็นเปอร์เฟ็กชันนิสต์ในตอนทำเพลงไหม

        ไม่นะ แต่จะมีบางจุดที่เราต้องใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ ซึ่งความรู้สึกตรงนี้สะสมมาจากการฟังเพลงเยอะ พอเราฟังเยอะ แล้วเชื่อในความรู้สึกตรงนี้ เราก็ไม่ต้องไปถามใคร เราแค่ถามตัวเองว่ามันเสร็จหรือยัง ถ้าตัวเองบอกว่ายังขาดอะไรบางอย่าง ก็แปลว่ามันขาดอะไรบางอย่าง แต่พอมาถึงจุดหนึ่งเราก็จะมีความรู้สึกว่า โอเคแล้ว ดังนั้น เปอร์เฟ็กชันนิสต์ไหม เราคิดว่าไม่ เพราะบางจุดอาจจะไม่เปอร์เฟ็กต์ก็ได้ 

        เราว่าถ้าเปอร์เฟ็กชันนิสต์งานจะไม่เคยเสร็จ เพราะไม่มีทางที่จะเปอร์เฟ็กต์ ยกตัวอย่างบางคนใช้เวลาทำอัลบั้มนานมาก วนไปวนมา พวกนั้นจะเป็นเปอร์เฟ็กชันนิสต์ งานจะไม่ออกสักที พอออกมาก็มักจะไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ เพราะเขาไปปรับจนตัวเขาเองยังงงว่าต้องการอะไร เขาไม่ได้อยากทำให้มันดี แต่เขาอยากทำให้เปอร์เฟ็กต์ เราไม่ได้เป็นเปอร์เฟ็กชันนิสต์ เราแค่มีสิ่งที่เราต้องการด้วยความรู้สึก ความรู้สึกนั้นคืออะไรเราก็อธิบายไม่ออก ซึ่งมันคือสิ่งที่เราเคยฟังมาทุกๆ อย่าง

ทุกวันนี้ศิลปินเลือกปล่อยเป็นซิงเกิล แต่ทำไมคุณเลือกปล่อยเป็นอัลบั้มเต็ม

        เราเข้าใจว่าการปล่อยซิงเกิลมันได้ผลที่สุด ทางค่ายก็อยากจะให้ปล่อยเป็นซิงเกิล แพลตฟอร์มดนตรีสมัยนี้ก็สร้างมาเพื่อผลักดันรูปแบบซิงเกิล แต่สำหรับเราคิดว่าเป็นการคาดหวังในหนึ่งเพลงมากเกินไป ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำอัลบั้ม เราไม่ได้อยากแต่งเพลงที่บอกว่านี่เป็นเพลงที่จะมาแทนความรู้สึกของเราทั้งหมด เรารู้สึกว่ามีเรื่องราวที่จะพูดมากกว่าในสามนาที ซึ่งมันยาก อย่างที่สอง เรารู้สึกว่า อาจจะมีคนที่เขาติดตามงานของเรา ซึ่งเขารอมาประมาณยี่สิบกว่าปีแล้ว การจะออกมาบอกว่า เดี๋ยวจะมีซิงเกิลใหม่ เขาจะรู้สึกว่า นั่งรอมายี่สิบปีแล้ว มีมาแค่หนึ่งเพลงเองเหรอ (หัวเราะ) เราเลยไม่ได้อยากทำอะไรแบบนั้น อีกข้อคือในเมื่อเราทำทุกกระบวนการได้คนเดียว โดยที่ราคาของเราคือแค่เวลา เราเลยลุยกับตรงนั้นไป เพื่ออย่างน้อยให้มีผลงานที่มาครบเซตจริงๆ 

        เราอายุประมาณนี้แล้ว ถ้าอยู่ดีๆ ทำเพลงออกมาแล้วคนชอบ เวลาออกไปเล่นโชว์ จะเล่นเพลงอะไรก็เล่นเพลงเดียวแล้วที่เหลือเล่นคัฟเวอร์เก้าเพลง เราไม่เอา (หัวเราะ) อย่างน้อยถ้าออกไปเล่นได้ เราอยากออกไปโชว์ที่ด้วยเพลงที่เราแต่งขึ้นมา อยู่ในคอนเซ็ปต์เดียวกัน สำหรับศิลปินใหม่อาจจะโอเคกับการเล่นคัฟเวอร์ แต่เรารู้สึกว่าเราอยู่ในวงการมานานพอที่ไม่ควรจะทำแบบนั้น

 

Montonn Jira

ระหว่างโปรดิวซ์อัลบั้มให้ศิลปินอื่นกับการโปรดิวซ์อัลบั้มของตนเอง ความสนุก ความยาก ความท้าทาย ต่างกันอย่างไร

        การโปรดิวซ์ศิลปินคนอื่นจะมีความร่วมมือระหว่างเรากับศิลปิน เรามีไอเดีย เขาไม่ชอบไม่เป็นไร ตัดทิ้งไป เขามีไอเดีย เราไม่แน่ใจ เราก็ลุยไปก่อน ถ้าขัดกับความรู้สึกจริงๆ ค่อยเข้าไปคุยกันอีกทีหนึ่ง แต่ว่าการทำงานแบบนั้นจะมีการแบ่งหน้าที่กัน และช่วยดึงความยากของผลงานให้ไปถึงจุดที่มันเสร็จ พอเรามาโปรดิวซ์ของตัวเอง เราไม่มีคนที่จะปรึกษา ไม่มีใครที่จะมาแบ่งความคิดกัน ทุกอย่างต้องฝึกการตัดสินใจด้วยตัวเองไปตลอด และต้องเชื่อการตัดสินใจด้วย นั่นเป็นส่วนที่ยาก แต่ก็เป็นส่วนที่สนุกด้วย เหมือนเป็นการฝึกว่า โอเค ถึงจุดนี้แล้วจะเอาอย่างไรต่อ ไปต่อหรือเริ่มใหม่ พอเราเริ่มทำตรงนั้นได้และคุ้นเคยกับวิธีการ ทุกอย่างจะดีขึ้น

        อย่างที่สองที่คิดว่ายากคือ การที่ต้องแก้ไขและมิกซ์เสียงร้องตัวเองเป็นอะไรที่ใหม่ ปกติเราทำกับคนอื่น แต่พอมาฟังเสียงตัวเองแล้วจะแปลกๆ ทำไมเสียงไม่ลงตัวสักที ลองนั่นลองนี่อยู่ตั้งนาน จนถึงจุดที่เราอาจจะเห็นว่าเสียงของเราเป็นแบบนี้แหละ จะทำอย่างไรให้ดีที่สุด ซึ่งพอเพลงเสร็จ เราก็ได้คอมเมนต์หลายๆ แบบกลับมาว่า เป็นเสียงที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ คนฟังแล้วรู้ว่าเป็นเสียงเราแน่นอน 

หากมันไม่ประสบความสำเร็จ การอยู่ในวงการมานานจะช่วยให้คุณสามารถดีลกับความผิดหวังได้ดีขึ้นไหม

        แน่นอน เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราทำงานออกไปแล้วจะเป็นอย่างไร เราอาจจะรู้ว่าดีหรือไม่ดี เพราะเป็นงานเรา แต่การยอมรับหรือความป๊อปปูลาร์จะเยอะน้อยแค่ไหนเราไม่มีทางรู้ นอกจากจะมีคนมากระซิบบอกว่าเราจะช่วยกันลงทุนเป็นล้านๆ เพื่อบังคับให้คนเขาชอบ ซึ่งตรงนั้นเราก็จะรู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับส่วนของเราแล้ว เราแค่สร้างผลงานที่เราชอบ หลังจากนั้นผลงานเราจะออกไปและทำอะไรก็แล้วแต่ หลายๆ คนที่อาจจะเพิ่งเริ่ม หรือกำลังทำงานเป็นครั้งแรก เขาอาจจะไม่เข้าใจตรงนั้น เขาเลยจะมีความคาดหวังเยอะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะผลักดันให้เราทำอะไรที่แข็งแรง แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดเอาไว้ เราก็ต้องเข้าใจว่าไม่ได้เป็นความผิดของเรา พอทำงานมานาน เรารู้ว่าสิ่งเดียวที่ทำได้คือสร้างผลงานที่ดีที่สุดด้วยความเคารพต่อผลงาน นอกเหนือจากนั้นก็ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเราแล้ว

แล้วความคาดหวังในการกลับมาออกอัลบั้มอีกครั้งของคุณในวัยเลขสี่คืออะไร โดยเฉพาะในยุคที่มีศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย

        เราไม่ได้ทำอัลบั้มภาษาไทยมานานแล้ว และเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันขาดไป คนจะถามอยู่เรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่จะมีผลงานของตัวเองบ้าง เพราะเขาเห็นว่าเราทำงานกับคนนั้นคนนี้ เราเลยทำ 13 เพลงปล่อยไปก่อนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนี้เราพยายามที่จะ output ให้เยอะขึ้น เพราะเราสร้างระบบมาแล้ว พอระบบอยู่ตัว ทีนี้เราก็ทำได้เรื่อยๆ เราเข้าใจแล้วว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ใช้เวลานานแค่ไหน กระบวนการเป็นอย่างไร ถ้าเรา repeat ตรงนี้ได้ ลุยกับตรงนี้ไปได้นานๆ เดี๋ยวก็จะถึงจุดที่อย่างน้อยคนเห็นว่าแคตตาล็อกเพลงเราเยอะ ผลงานเยอะที่ไม่มีใครฟัง ก็ยังดีกว่าที่ไม่มีอะไรเลย

ยังมีอะไรที่คุณได้เรียนรู้ใหม่ๆ จากการออกอัลบั้มในช่วงวัยนี้บ้าง 

        เราได้เรียนรู้ตลอดเวลาเลย รวมถึงในส่วนของการทำอัลบั้มนี้ด้วย อย่างเรื่องเทคโนโลยีของช่วงเวลานี้กับสองสามปีที่ผ่านมาก็แตกต่างกันมาก ดังนั้น การที่เราได้เห็นวิธีการปล่อยเพลงในยุคนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ เราเห็นวิธีการฟัง วิธีการโปรโมตออนไลน์ เห็นว่าดิจิตอลสำคัญ ในส่วนของการที่เพลงจะดึงดูดคนง่ายหรือยากก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เวลาปล่อยเพลงเราก็มานั่งรอว่าคนคอมเมนต์อะไรกัน เขาพูดถึงอะไร เขาชอบตรงไหน เพราะเราไม่รู้ว่าปล่อยเพลงออกไปแล้วคนฟังตรงไหนบ้าง เหมือนเราพยายามทำอะไรที่แตกต่างอย่างการที่ปล่อยเป็นอัลบั้ม การรีแอ็กชันกลับมาก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็น่าสนใจว่าอิมแพ็กต์จะน้อยกว่าหรือเยอะกว่าแบบเป็นซิงเกิล

 

Montonn Jira

พอทำเพลงมานาน ความสนุกในการทำเพลงเปลี่ยนไปเยอะหรือเปล่า

        ตอนเราเริ่มทำเพลงเราไม่รู้เลยว่าทำอะไรอยู่ มันเป็นการมั่วเอา บางทีสิ่งที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นความตั้งใจแรก แต่ว่าสนุกดี บางทีก็ฟลุกออกมาดี อย่างอัลบั้ม Freeman ที่เราทำให้ จอนนี่ อันวา ในยุคโน้น ก็เป็นสิ่งที่เราได้ทดลอง ไม่ได้คิดว่าจะเป็นสิ่งที่คนมาสนใจกัน แต่บังเอิญได้รางวัล Records of the Year ถือเป็นอะไรที่เราไม่ได้คาดไว้ 

        เราคิดว่าบางทีตั้งใจเกินไปก็ไม่สนุก ต้องแบ่งสัดส่วนให้มีช่วง play time ที่อย่าไปตั้งใจมาก กับบางช่วงที่เราต้องมาดูโครงสร้างจริงๆ เพราะถ้า play อย่างเดียวพอเสร็จจะเป็นอะไรที่ดูไม่ตั้งใจ แต่ถ้าพูดถึงความรู้สึกในการทำเพลงไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เพราะรู้สึกว่าทิศทางและทางเลือกมันเยอะจนอย่างไรก็ไม่หมด เราสามารถลองสร้างผลงานออกมาได้เรื่อยๆ ในหลายๆ แบบ หลายๆ แนว

เพิ่งรู้ว่าคุณเคยทำเพลงให้ จอนนี่ อันวา ด้วย

        ใช่ เป็นอัลบั้มเดี่ยวของเขาช่วงปี 2545 หลังวงแรพเตอร์ เราโปรดิวซ์ไปสองเพลงในชุดนั้นคือ Go Now และ Love Focus ตอนนั้นจอนนี่เขามาขอให้ไปช่วยเพราะเห็นเราชอบฟังเพลงคล้ายๆ กัน เราก็บอกได้ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ (หัวเราะ) เหมือนตอนนั้นเครื่องมือเราอยู่อเมริกาด้วย เพราะเราเพิ่งกลับมาจากไปเรียนที่นั่น ตอนนั้นเราก็ออกไปตระเวนหาเครื่องมือ และกลับมาหาวิธีทำกันที่บ้าน

มีใครที่คุณเคยโปรดิวซ์แต่คนไม่ค่อยรู้อีกไหม

        (คิด) เพลง สุดขอบฟ้า ของไทยเทเนียมที่ฟีเจอริงกับ พี่แอ๊ด คาราบาว เราไม่ได้โปรดิวซ์ แต่เราเล่นกีตาร์โปร่งในเพลงนั้น หรืออย่างเพลง ไม่เคย ของ 25 Hours ส่วนที่เหลือเราคิดว่าคนก็น่าจะรู้นะ

ล่าสุดคุณมาโปรดิวซ์ให้วงวัยรุ่นอย่าง Lyra แถมยังมีกลิ่นอายของเครื่องดนตรีไทยแบบที่คุณชอบด้วย

        ใช่ สิ่งที่เราพยายามทำในช่วงเวลานานที่สุด คือ การหาว่าอะไรควรเป็นตัวนำ เราอยากให้รู้สึกว่าเป็นเพลงอินเตอร์ แต่ว่าต้องฟังแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นเพลงเกาหลี ญี่ปุ่น หรืออเมริกา เราคิดว่าต้องมีเครื่องดนตรีไทย พอเราใส่กลองไทยเข้าไป เสียงก็คล้ายๆ กับเพลงทั่วไป พอเอาพิณใส่เข้าไป ก็ยังแตกต่างไม่พอ แต่พอใส่แคนเข้าไป โห ใช่เลย ถูกทางแล้ว มันเลยมีความเป็นไทยตรงนั้นอยู่

เจ มณฑล ในวัย 42 ใช้เวลาครุ่นคิดกับเรื่องอะไรมากที่สุด

        ในปีที่ผ่านมาเราพยายามค้นหาวิธีที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ให้ไวและเสถียรที่สุด เหมือนเป็นการ hacking ว่าการที่เราจะจำ อ่าน หรือเรียนสกิลใหม่ๆ คนทั่วไปส่วนใหญ่จะใช้เวลานานแค่ไหน แล้ววิธีอะไรที่จะทำให้เราเรียนได้เร็วและพัฒนาให้ไวที่สุด อย่างทักษะที่เรามีในการทำเพลง เราใช้เวลานาน 20 กว่าปี กว่าที่เราจะมั่นใจในทุกขั้นตอน ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเราก็ไปเรียน Javascript เราอยากรู้ว่า basic coding ควรจะเป็นอย่างไร มันอาจต้องใช้เวลากว่าจะคล่องกับมัน แต่เราก็คิดว่าทำอย่างไรให้สามารถหัดจนถึงจุดที่เราคล่องได้ไวที่สุดได้บ้าง

        เราสนใจพวก neuroscience (ประสาทวิทยาศาสตร์) การสร้าง pathway ใหม่กับ muscle memory (ความจำของกล้ามเนื้อ) ไม่ว่าจะเป็นการตีเทนนิส หรือการขยับของร่างกาย บางคนบอกกาแฟ การนอน วิตามินต่างๆ หรือเห็ดบางชนิดอย่างเห็ดรา จะมีผลกับการจดจำโดยไปกระตุ้นสมองอีกทีหนึ่ง เราคิดว่ายุคนี้คนต้องพร้อมที่จะฝึกอะไรใหม่ๆ ได้ไวมาก ไม่อย่างนั้นจะตกงาน เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าใจว่ากระบวนการในการเรียนรู้มีอะไรบ้าง ต้องมาวิเคราะห์ พยายามจำ ทำใหม่ และพัฒนาไปเรื่อยๆ มีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราฝึกกีตาร์แล้วไม่ได้พัฒนาเลย เพราะเราเล่นอยู่แต่เดิมๆ และไม่ได้พยายามที่จะลองอะไรที่อยู่นอกกรอบ พออยู่ตรงนั้นนานๆ เราจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันเสียเวลา

 

Montonn Jira

นอกจากเรื่องดนตรี คุณยังมีแพสชันกับด้านอื่นๆ ในชีวิตวัยนี้อีกไหม

        ถ้าถือว่าเป็นแพสชัน ไม่มีนะ แต่มีงานอดิเรกอื่นที่เราชอบและช่วยสร้างความแตกต่างในชีวิต เพื่อให้เรารู้สึกว่าได้แยกออกไปจากการทำดนตรีบ้าง แทนที่เราจะอยู่ในโลกเดียวตลอด ซึ่งจะลำบากมาก เพราะมันจะตัน เราก็ต้องแบ่งเวลาออกไปทำอย่างอื่น วันนี้ออกกำลังกาย เล่นโยคะ เล่นสเกตบอร์ด ไปปลูกผัก เพื่อให้รู้สึกว่าสมองได้ไปทำอย่างอื่นแล้วกลับมาทำงานได้เต็มที่อีกครั้ง