หากบ้านต่างจังหวัดคือหมุดหมายของนกอพยพผู้อ่อนแรง โคราชคงจะเป็นซัมบาลา หมุดหมายปลายทางของหนุ่มสาวหลายคน เช่นเดียวกับสองสามีภรรยา ธง และ ‘บุ๋ม’ – วรัชยา ยาเลหลา แห่งสตูดิโอนายธง ที่พกแรงศรัทธา ความเชื่อไว้ในที่ที่สามารถทอดกาย ยังชีพ และสร้างความสุขได้ ด้วยการยึดเพียงสองหลักคือ การตัดสินใจ (กลับบ้าน) และการลงมือทำ (อาชีพ) เพื่อแสดงให้เห็นว่า การกลับบ้านคือ ‘โอกาส’ ที่จับต้องได้จริง ไม่ใช่ ‘อากาศ’ ที่เป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ
หนุ่มสตูลที่มีชื่อเล่นเหมือนชื่อจริงอย่าง ธง ยาเลหลา ที่ในวันนี้การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานทำให้เขาเป็นลูกผสมระหว่างคนใต้กับคนโคราช เขาเคยซ้อมเป็นคนอีสานเมื่อตอนอายุ 4 ขวบ ที่จังหวัดเลย ก่อนกลับไปเรียนต่อจนจบ ปวช. ที่สตูล และโชคชะตาได้พาเขากลับสู่ประตูอีสานอีกครั้ง เพื่อมาพบกับหญิงสาวคู่ชีวิต ‘บุ๋ม’ – วรัชยา ยาเลหลา สาวเจ้าถิ่นโคราช เธอเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ก่อนเบนเข็มมาเรียนอังกฤษ-ธุรกิจ แล้วพาตัวเองออกจากบ้านไปเป็นพนักงานบริษัท ตำแหน่งเลขาฯ ในเมืองหลวง เพื่อไขคำตอบว่าความสุขในใจนั้นอยู่ที่บ้าน แล้วกลับมาสร้าง ‘สตูดิโอนายธง’ กับนายธง
01 ตัดสินใจ
“ตอนที่ผมยังอยู่สตูล เจอแม่ของเพื่อนเป็นคนโคราช แล้วเพื่อนกำลังจะย้ายจากสตูลมาอยู่โคราช เขาก็มาถามผมว่าไปอยู่โคราชด้วยกันไหม เราก็คิดแค่ว่าอยากอยู่กับเพื่อน เลยตัดสินใจมาเรียนที่ราชภัฏนครราชสีมา หลักสูตรประยุกต์ศิลป์ ก็อยู่ด้วยกันกับเพื่อนนี่แหละ แล้วการเรียนที่นี่ทำให้ผมได้เรียนทุกอย่างในศาสตร์ศิลปะ รู้จักครูศิลปะหลายแขนง ที่ไม่ใช่แค่สอนศิลปะ แต่สอนการใช้ชีวิตให้เราด้วย”
หลังเรียนจบได้ไม่นาน ธงตัดสินใจกลับสตูลไปดูแลแม่ที่กำลังป่วย จนลมหายใจสุดท้ายของแม่สิ้นลง เขากลับมาโคราชอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2550 และรับทำงานศิลปะทุกรูปแบบ พร้อมตั้งเป้าเรียนรู้เรื่องดินด่านเกวียน ให้เป็นหมุดหมายของชีวิต
“สำหรับผมแล้ว ดินเผาเลี้ยงชีพได้ และดินด่านเกวียนน่าสนใจ ยิ่งในยุคของ อาจารย์ทวี รัชนีกร ดินด่านเกวียนรุ่งเรืองมาก ตอนนั้นเราอยากมีงานทำ อยากได้เงิน ถ้าเรายังรับงานเล็กๆ ยังไงก็คงไม่รอด ผมเลยเริ่มศึกษาศาสตร์ของดินมากขึ้น ตั้งแต่การขึ้นดินของชาวบ้าน การเผาไฟ ช่วงนั้นฝากร้านเพื่อนขายบ้าง สั่งสมความรู้ และเริ่มขายงานได้ จน อาจารย์กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา ท่านกำลังทำโรงปั้นขึ้นใหม่ เขาอยากให้เราไปช่วย ผมเดินทางไปกลับอำเภอด่านเกวียนกับโรงปั้น ประมาณ 30 กิโลเมตร ทำแบบนี้ทุกวัน”
ระหว่างที่บุ๋มค้นพบว่าเมืองหลวงไม่ใช่คำตอบ เธอกลับโคราชมาเรียนรู้เรื่องการปั้นดินที่ด่านเกวียนพร้อมกับธง แม้เม็ดเงินจะน้อยกว่าที่เคยได้ แต่การมีเวลาทำอาหารกินเอง ได้แวะมากินข้าวที่บ้านแม่ รวมถึงความประทับใจที่เมืองหลวงให้เธอไม่ได้ คือภาพของเปลวแสงสีน้ำเงินระหว่างรอเผางานในช่วงเวลาเร่งไฟให้ดินสุก เป็นแสงไฟที่เธอนั่งมองเพลิน เสมือนแสงแห่งพิธีกรรมและการเฉลิมฉลอง
02 ลงมือทำ
ระหว่างทั้งคู่ศึกษาเรื่องการปั้นดิน พร้อมกับการหารายได้เลี้ยงชีพ ธงเล่าการปั้นฝันแบบอิ่มท้องให้เราฟังว่า
“ตอนที่ผมกับบุ๋มอยู่ด่านเกวียน เราจะวางแผนรายได้เงินรายสัปดาห์และเงินเดือน สัปดาห์นี้ต้องส่งงานใคร สิ้นเดือนนี้ต้องส่งงานใคร รายได้ของเราจะเป็นแบบนี้ พอเราตัดสินใจย้ายออกจากด่านเกวียนมาสร้างบ้านและสตูดิโอที่อยู่ปัจจุบันนี้ เราใช้วิธีหอบงานปั้นจากบ้าน ขับรถไปส่งให้ลูกค้าที่ด่านเกวียน จนเราเริ่มทำเตาเผาเอง มีงานออร์เดอร์เข้ามาบ้าง รับงานจากอาจารย์ส่งมาให้บ้าง หลังๆ เริ่มไม่ไหว เลยขอกับอาจารย์ว่า ผมอยากกลับมาทำดินเผาจริงจัง ผมอยากอยู่กับดินเผา
“ผมเคยขายงานชิ้นละสองสามร้อยแล้วไม่มีคนซื้อเลย ผมว่างานผมก็ดีนะ ใครเห็นก็บอกว่าดี แต่ไม่มีคนซื้อ เออ งั้นกูขาย 800 เลยแล้วกัน (หัวเราะ) เฮ้ย! แย่งกันซื้อ กลายเป็นว่าของถูกไม่มีคนซื้อ แต่ไม่ใช่ว่าคุณอยากขายแพง คุณจะขายได้เลยนะ งานคุณต้องถึงด้วย พอผมตั้งราคานี้ คนก็เริ่มสนใจ เป็นใคร มาจากไหน ใช้วัสดุอะไร ผมเองก็ต้องรักษาคุณภาพของงานให้มากขึ้น และเริ่มวางแผนระยะยาวให้สตูดิโอนายธง จากเดิมมองกันเป็นแค่สัปดาห์ เป็นเดือน ผมเริ่มมองในระยะหนึ่งปี ระยะสิบปี มองในระยะที่ไกลขึ้น”
เพื่อลบล้างคำปรามาสว่าเป็น ‘ศิลปินไส้แห้ง’ ธงและวรัชยาจึงร่วมปั้นความสุขให้เกิดเป็นพาณิชยศิลป์
“ผมโชคดีที่เป็นเขยบ้านนี้ เพราะมีผืนดินในโคราช เราปลูกอาหารให้ตัวเองได้ แบ่งปันแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ ผมใช้เวลาสิบกว่าปีกำฝันไว้ บ่มเพาะความรู้ ทำหน้าที่ในแต่ละช่วงเวลาของตัวเอง เมื่อจังหวะพร้อม ลงมือเลย สำคัญที่สุด คุณพร้อมยอมรับความเจ็บปวดไหม ผมทำพาณิชยศิลป์ สิ่งที่ผมทำต้องเลี้ยงชีพผมได้ด้วย ผมทำงานในสตูดิโอตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่ทุ่มทุกวัน แต่ผมได้กินข้าว ผมได้อ่านหนังสือ ผมฟังเพลง ผมเปิดอินเทอร์เน็ต และผมปั้นดิน ทุกอย่างที่ผมบอกคืองาน งานคือชีวิตของผม”
หากจะกล่าวว่าชีวิตคืองาน ฟังดูแล้วอาจหนักหนาสาหัส แต่งานทุกชิ้นบนโลก ก็ล้วนมีหน้าที่ไม่ต่างกัน
เรื่อง: นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ ภาพ: ปกาสิต เนตรนคร