ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์: เมืองที่ไร้เหตุผล กับการเผชิญสภาวะ Brain Drain ของประเทศไทย

“จริงๆ ผมยังรู้สึกผิดเลยที่กลับมาอยู่ประเทศไทย”

        นั่นคือคำพูดแวบแรกที่ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวกับเรา ซึ่งสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ที่เขามีต่อกรุงเทพฯ ในฐานะพ่อคนหนึ่ง ที่ต้องเลี้ยงดูลูกภายในเมืองอันประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไม่สมเหตุสมผลแห่งนี้ 

        “ทุกวันนี้ถ้าถามว่ากรุงเทพฯ ฟังก์ชันได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ได้ มันเหมือนสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่อยู่มานาน และก็อยู่มาได้อย่างไรไม่รู้ ควบคุมไม่ได้ ขยายตัวกินพื้นที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ” 

        ในสภาพที่ดูเหมือนจะเป็นเมืองที่หมดหวัง นักเศรษฐศาสตร์ผู้ก่อตั้งบริษัท Siametrics Consulting บอกกับเราว่า เขาก็มองเห็นความหวังซ่อนอยู่ในเมืองแห่งนี้ เพราะความเชื่อในมุมนักเศรษฐศาสตร์ เวลาจะลงทุนลงแรงไปกับสิ่งใด ควรจะประเมินค่าต่ำกว่าจริงแบบ Undervalue ไว้ก่อน เพราะเมื่อสิ่งนั้นสำเร็จจะสร้างผลกระทบในทางที่ดีได้มากกว่า แม้กรุงเทพฯ ยังมีจุดบกพร่อง แต่เขาเชื่อว่าทำให้ดีขึ้นได้อีกมาก

        “มีสำนวนพูดว่า ‘สนามหญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าเสมอ’ เวลามองไปเห็นบ้านคนอื่นจะน่าอยู่กว่า แต่ถ้าคุณไปอยู่ที่อื่น มองกลับมาคุณอาจจะคิดถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ คิดถึงเมืองที่มีหมอกควันและรถติดนี่แหละ”

        ลองไปฟังมุมมองของคอลัมนิสต์ใหม่ของ a day BULLETIN คนนี้ ที่จะพาคุณอ่านอนาคตของเมือง ผ่านมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าอนาคตของกรุงเทพฯ ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และเราควรจะปรับตัวแบบไหนเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

 

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ผมว่าเรากำลังเจอกับสภาวะ Brain Drain ที่คนเก่งๆ ในประเทศไหลออกไปอยู่ทั่วโลก สาเหตุเพราะเขาเห็นสภาพอากาศแย่แบบนี้ เห็นการรับมือโรคไวรัสที่ไม่มีประสิทธิภาพแบบนี้ ความไม่เมกเซนส์ของเมืองที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ทำให้คนเก่งๆ อยากออกจากประเทศนี้

Drive การทำงานในโลก Data สำหรับคุณคืออะไร

        แต่ละคนคงไม่เหมือนกัน แต่ Drive ของผมเกิดจากความรำคาญ ในเชิงที่ว่าผมเรียนเศรษฐศาสตร์มา และคิดว่าบริษัทกับองค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อย่างหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เราเห็นว่าตกลงทุกวันนี้ แต่ในมุมมองผมคิดว่าอันนี้ยังราคาถูกไป แล้วพอไปถามเพื่อนๆ ที่ทำงาน ว่าบริษัทต่างๆ ยังทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่านี้ไหม ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ใช่ เหมือนมีเงินกองอยู่ แต่ทำไมไม่มีใครทำอะไร มองไม่เห็น หรือบางทีเตะทิ้ง ปัญหานี้เป็นทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ 

        พอเป็นแบบนี้ผมเลยอยากตั้งบริษัทหนึ่งเพื่อมาเป็นตัวช่วยให้องค์กรต่างๆ บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่กำไร หรือมูลนิธิที่ทำงานรณรงค์อะไรบางอย่าง ให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง Drive ในการทำงานของผมคือตรงนี้ เพราะโลกตอนนี้มีทรัพยากรข้อมูล มี Tech Solution มากมายที่เข้ามาช่วยด้วย 

ถ้าอ่านอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณคิดว่าโลกที่เราอยู่จะเป็นอย่างไร

        ผมว่าโลกอีก 10 ปีข้างหน้า คนต้อง Agile หรือปรับตัวได้เร็ว เพราะมีเทรนด์หลายๆ อย่างที่จะ Disruptive มาก ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสังคมผู้สูงอายุ มีเด็กเกิดน้อยลง จะมีเทคโนโลยี Automation เข้ามาแทนแรงงานคน ซึ่งบริษัทผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องรับผิดชอบแรง Disruptive นี้ด้วย แล้วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนเร็วกว่านี้มาก ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมคิดว่าแนวคิดเก่าๆ ต้องเก็บเข้าหีบไปได้แล้ว

        อีกประเด็นที่สำคัญคือ โลกในวันข้างหน้าจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ร่ำรวยมากๆ กับคนที่ยากจน เพราะว่าคนที่ร่ำรวยมากๆ แทบไม่ต้องทำอะไร คือผมเชื่อในเรื่องฝีมือกับโชค แต่โชคเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลมากๆ กับชีวิตคุณ ถ้าคุณเคยอ่านหนังสือเรื่อง The Capital ของ โธมัส พิเกตตี ซึ่งสามารถเห็นได้ง่ายๆ ถ้าคนหนึ่งเป็นชาวสวน กับอีกคนเป็นเจ้าของที่ในสวนนั้น เจ้าของที่จะได้เปรียบมหาศาลอย่างคนละเรื่องกันเลย ใครที่เป็นเจ้าของ Capital เป็นเจ้าของที่เอาเงินไปลงทุนได้มากกว่าจะได้เปรียบอย่างชัดเจน แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจและอยู่ในสายงานที่โดดิสรัปต์ได้ง่ายจะลำบากมากๆ สายงานครีเอทีฟอาจจะไม่เป็นไรเพราะต้องมีความเป็นมนุษย์และความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังมีอีกหลายอาชีพเลยที่น่าเป็นห่วง

นึกถึงคนรุ่นพ่อแม่เรา คิดไม่ออกว่าเขาจะ Agile อย่างไร

        คนรุ่นพ่อแม่เราจะมีสองพวก พวกแรกคือพวกที่โอเคแล้ว ทำงานมามีเงินเก็บ เราไม่ต้องพูดถึงว่ารวยหรือไม่รวยนะ ถ้าไปดูงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นเลยว่าคนไทยที่มีเงินเก็บมีอยู่ไม่เยอะ อยู่ในขั้นอันตรายมาก กลุ่มที่มีเงินเก็บไม่น่าเป็นห่วงมาก แต่อีกกลุ่มที่กำลังจะเกษียณ เหลือชีวิตการทำงานอีกไม่กี่ปีแต่ยังส่งลูกเรียนไม่จบ ลูกยังไม่มีงาน ยังขอเงินใช้อยู่อันนี้จะทำยังไง เพราะคนที่อยู่ในช่วงเกษียณ ช่องทางหาเงินจะเดิมพันกับทักษะที่ตัวเองมี เอาเงินไปลงในหุ้นก็ไม่ได้ เพราะหุ้นไม่เหมาะกับช่วงอายุของคนที่จะมีค่าใช้จ่ายเยอะๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล การลงทุนหุ้นเหมาะกับคนอายุรุ่นผม คือลงทุนวันนี้ไปเถอะ ผ่านไป 20 ปียังไงได้กำไรเกิน 10% อยู่แล้ว

        คนสูงอายุถ้าจะ Agile ต้องขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และ Reinvent ตัวเอง คือพูดถึงคนอายุ 50 กว่าอาจจะดูเหมือนแก่ แต่ถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยอายุของคนที่มีแต่จะยาวขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้น ต้อง Reinvent ตัวเองอย่างจริงจัง หางานอดิเรกใหม่ๆ ทำ ไม่อย่างนั้นจะจมลึก เพราะเขาสั่งสมประสบการณ์การทำงานราชการมาทั้งชีวิต มีเกียรติมีความภูมิใจ ถึงวันหนึ่งจะให้เขาไปขายของเหรอ เขาต้องมีแรงต่อต้านในตัวเองอยู่แล้ว แต่จริงๆ เขาควรจะมองตัวเองในมุมใหม่ เพราะหลังเกษียณเขาอาจจะต้องอยู่ไปอีกเป็น 30 ปี

แล้วเด็กรุ่นใหม่ควรจะ Agile อย่างไร

        ถ้าเป็นคนที่อายุน้อยกว่าแล้วจะ Agile คือต้องอย่าไปติดว่าตัวเองเรียนจบอะไรมา คนจะชอบมีค่านิยมว่าถ้าเรียนหมอต้องเป็นหมอ เรียนบัญชีมาต้องเป็นนักบัญชีสิ จะให้ไปทำอย่างอื่นได้ไง คือจะมีบรรทัดฐานของสังคมที่จะกดดันให้เราไปในทางหนึ่ง โดยที่เราไม่แน่ใจว่าทางที่ไปถูกต้องในอนาคตหรือเปล่า ผมว่าโลกในอนาคตอาชีพต้องสร้างเอง การที่เราไปดูว่าใครเปิดรับสมัครอะไรบ้าง คือยังเป็นวิธีที่โอเคนะ แต่ไม่มีทางที่จะมีรายได้หรือความพึงพอใจในชีวิตเท่าที่เราเลือกเองมากกว่า ผมอาจจะมีความคิดแบบ Entrepreneurial ที่เสี่ยงไปสักนิดหนึ่ง แต่คิดว่าถ้าต้องอยู่ไปถึงอายุ 80 กว่า ก็ต้องเสี่ยงตั้งแต่วันนี้แล้วล่ะ  

ทักษะที่สำคัญที่ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ต้องมีคืออะไร

        ผมว่าคนแก่กับเด็กต้องมาเจอกัน คนแก่ต้อง Leverage เด็ก เพราะคนแก่โดยเฉลี่ยแล้วยังไงก็มีเงินมากกว่าเด็กเจนฯ ใหม่ ซึ่งจะเสียเปรียบมาก ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นว่าทรัพย์สินไปอยู่กับคนแก่เยอะมาก คนรุ่นหลังหาเงินยากกว่าคนรุ่นเก่า ที่ดินก็ซื้อไม่ค่อยได้แล้ว ใครจะมีเงินซื้อที่ในกรุงเทพฯ เพื่อนผมนับคนได้เลยที่ซื้อที่ดินในกรุงเทพฯ เอง แต่คนรุ่นใหม่แบบผมก็จะมีไอเดียบางอย่างที่คนรุ่นเก่าไม่มี คนรุ่นใหม่อาจจะมองคนรุ่นเก่าเป็นเจ้าของทุนก็ได้ เพราะเขามีเงินพอจะสนับสนุน มีประสบการณ์จากโลกเก่าให้เรา นี่เป็นทักษะที่สองรุ่นควรจะมี Leverage ซึ่งกันและกันเป็นอะไรที่ดูเหมือนเราไม่จำเป็นต้องมาคุยกันวันนี้ แต่ว่านี่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เมื่อโลกข้างหน้าเปลี่ยนเร็ว

 

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

10 ปีข้างหน้าคุณคิดว่าโลกเราจะมีความหวังหรือความความสิ้นหวังมากกว่ากัน

        ผมว่าคำตอบน่าจะอยู่ในเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นอะไรที่สร้างความคุ้มค่าได้มหาศาล เช่น เราลงทุนไป 5 บาท แต่สามารถได้เงินกลับมา 10 บาท หรือสองสามเท่า ยกตัวอย่างเทคโนโลยี Google Maps เป็นสิ่งที่เราใช้ได้ฟรีแต่ประโยชน์กลับมามหาศาล พูดกว้างๆ แบบนี้อาจจะไม่เห็นภาพ แต่ว่าการที่มีเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง อาจจะตัดตอนหรือแก้ปัญหาหลายอย่างไปได้เยอะมาก เช่น คนยุคเก่ากับคนยุคใหม่อาจจะไม่ต้องมาปรับมุมมองให้ตรงกันทุกเรื่องก็ได้ แต่เปลี่ยนพฤติกรรมของทุกคนด้วยเทคโนโลยีไปเลย เพราะเรื่องความเข้าใจที่เห็นตรงกัน เรื่องความเชื่อเรื่องแนวคิด เป็นปัญหาที่ผมไม่รู้ว่าแก้ไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า ตราบใดเป้าหมายของเราคือการทำให้ประเทศดี อากาศที่ทุกคนสูดเข้าไปต้องโอเค ซึ่งตอนนี้ยังไม่โอเค เราก็ควรแก้สิ่งนี้ก่อน

ถ้าชีวิตดี ไม่ว่าคนเจเนอเรชันไหนก็คงไม่มานั่งเถียงกัน

        ใช่ หรือถ้าเถียงกันก็คงเป็นการเถียงกันบนโต๊ะอาหารอย่างที่เราคุ้นเคย ผมชอบพรรคหนึ่งแล้วทำไมพ่อชอบอีกพรรคหนึ่ง ผมอยากนับถือศาสนาคริสต์ได้ไหมถ้าพ่อแม่เป็นพุทธ หรือผมไม่มีศาสนาได้ไหม อันนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องอื่นแล้ว

จริงๆ ผมยังรู้สึกผิดเลยที่กลับมาอยู่ประเทศไทย เพราะว่าลูกผมออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้ ฟังดูเห็นแก่ตัวนะ แต่คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจคำพูดผม

ถ้าคุณบอกว่าเทคโนโลยีคือสิ่งกำหนดอนาคต แต่ประเทศไทยก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แล้วเราจะอยู่รอดอย่างไร

        ผมว่าประเทศไทยกำลังขาดคนที่มีศักยภาพ และกำลังเจอกับสภาวะ Brain Drain ที่คนเก่งๆ ในประเทศไหลออกไปอยู่ทั่วโลก สาเหตุเพราะเขาเห็นสภาพอากาศแย่แบบนี้ เห็นการรับมือโรคไวรัสที่ไม่มีประสิทธิภาพแบบนี้ ความไม่เมกเซนส์ของเมืองที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ทำให้คนเก่งๆ อยากออกจากประเทศนี้ ไปอยู่ในเมืองที่เมกเซนส์มากกว่า ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเมืองที่ดีก็ได้ 

        ตอนที่ผมไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ ผมเจอคนไทยเก่งๆ เยอะมาก และผมว่าไม่ต่ำกว่า 20%-30% ของคนที่มีศักยภาพมากๆ เขาเลือกที่จะไม่กลับมา เพราะว่าเขาเป็นห่วงอนาคตครอบครัวและลูกของตัวเอง จริงๆ ผมยังรู้สึกผิดเลยที่กลับมาอยู่ประเทศไทย เพราะว่าลูกผมออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้ ฟังดูเห็นแก่ตัวนะ แต่คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจคำพูดผม ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์และมีทางเลือกว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ผมเลือกที่จะกลับเมืองไทย เพราะคิดว่าเมืองไทยน่าจะมีอะไรให้ทำเยอะ และสิ่งที่ทำสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เป็นรูปธรรม แต่พอมานั่งมองดูแล้วผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์กับลูก หน้าหนาวที่ผ่านมานับวันได้เลยที่ลูกผมได้ออกไปเล่นข้างนอก มันเศร้านะ ยิ่งกรุงเทพฯ นี่เป็นเมืองที่เจริญในเชิงเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทำไมยังมีปัญหาการออกแบบเมืองที่ไม่เมกเซนส์แบบนี้อยู่ และการทำให้คนเก่งๆ ไหลออกไป ทำให้เราไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ต้องนำเข้าเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งถ้าคุณเป็นเจ้าของเทคโนโลยีคุณจะขายเทคโนโลยีนั้นขาดไหม ไม่มีทางอยู่แล้ว คนที่ซื้อเทคโนโลยีก็จะได้แค่กรอบหรือไส้มา แต่ไม่ได้ Secret Sauce ที่จะเอามาพัฒนาต่ออยู่ดี 

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เมกเซนส์ในเรื่องใดบ้าง

        ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในหลายๆ เมืองมาก่อน อยู่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไปเที่ยว เพราะมีคนเที่ยวมากกว่าผมเยอะมาก แต่ผมเป็นนักย้ายเมือง อาจจะอยู่ในอเมริกาเสียส่วนใหญ่ ผมอยู่อเมริกามา 15-16 ปี ใช้ชีวิตในเมืองไป 9-10 เมือง ย้ายทุกๆ ปี และขับรถขนของย้ายบ้านเอง ในเรซูเม่ผมสามารถไปสมัครขับรถบรรทุกได้เลย (หัวเราะ) เพราะขับมาทั้งประเทศแล้ว 

        ผมอยู่ที่นู้นโดยการเช่าอพาร์ตเมนต์ แล้วได้เห็นรสชาติของเมืองว่าดีชั่วต่างกันอย่างไร บางเมืองก็มีจุดเด่นบางเมืองก็มีจุดด้อย กรุงเทพฯ เองก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย คือไม่ได้ด้อยไปหมด ผมคิดว่าแฮชแท็กที่คนด่าๆ กัน บางทีก็มองข้ามข้อดีไปเหมือนกัน มีสำนวนพูดว่า ‘สนามหญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าเสมอ’ เวลามองไปเห็นบ้านคนอื่นจะน่าอยู่กว่า แต่ถ้าคุณไปอยู่ที่อื่น มองกลับมาคุณอาจจะคิดถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ คิดถึงเมืองที่มีหมอกควันและรถติดนี่แหละ ซึ่งจริงๆ กรุงเทพฯ มีจุดดีตรงความหลากหลายของไลฟ์สไตล์ อาหารอร่อย ไม่มีที่ไหนสู้ได้

แล้วเมืองที่สมเหตุสมผล ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

        ผมเรียกว่า ‘เมืองที่ดี’ ดีกว่า สำหรับผมเมืองที่ดีคือเมืองที่ถึงแม้ว่าคุณมีทางเลือกไปอยู่ที่อื่นได้ โดยไม่มีข้อแม้ด้วยนะ มีอิสระที่จะเลือกโดยไม่ต้องมาคิดเรื่องค่าตั๋วเครื่องบินหรือวีซ่า แต่คุณก็ยังเลือกอยู่ที่เมืองนี้ นั่นคือเมืองที่ดีในนิยามของผม แล้วเมืองที่ดีไม่จำเป็นต้องเด่นไปด้านใดด้านหนึ่ง คนจะคิดว่า เมืองที่ดีต้องเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นเมืองที่ผลิตรถ แต่เมืองที่ดีควรมีความบาลานซ์ระดับหนึ่ง แล้วก็มีเทศบาลที่เอาใจใส่ประชาชนจริงๆ ในเชิงที่ว่า KPI คือความพึงพอใจของประชาชน จำนวนคนด่าในทวิตเตอร์ต้องน้อย หรือสุขภาพของคนที่อยู่ต้องดี ทุกอย่างต้องวัดได้ว่าปีหนึ่งๆ คนเข้าโรงพยาบาลกี่คน ติดเชื้อกี่คน ตายบนถนนกี่คน 

        ยกตัวอย่างปีที่แล้ว ผมทำโครงการที่เอา Big Data ไปจับกับปัญหาอุบัติเหตุบนถนนร่วมกับหน่วยงานราชการ ทำให้เราเห็นว่า เมืองที่ดีในประเทศที่ดีไม่ควรมีควรตายบนถนนวันละ 50-60 คน ทั้งที่อัตราการเกิดของเราปีหนึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 7 แสนราย แต่มีคนตายบนถนนปีหนึ่งเกือบ 20,000 ราย นี่แค่สาเหตุเดียว ทั้งๆ ที่ปัญหาแบบนี้เป็น Preventable Cost คือความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งพอลงไปทำจริงๆ บางเคสผมเจอวิธีแก้ปัญหาที่ฟังแล้วแทบจะร้องไห้ ยกตัวอย่างเช่น การแค่ห้ามรถบรรทุกยูเทิร์นบนถนนของหมู่บ้านหนึ่ง ก็ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุคนตายบนถนนไปเลย เพราะเมื่อก่อนรถบรรทุกที่กลับรถไม่มีการติดแถบสะท้อนแสง ทำให้มอเตอร์ไซต์ที่ขับมาตอนกลางคืนมองไม่เห็นและชน พอเราห้ามไม่ให้มีการยูเทิร์นก็ไม่มีการชนอีกเลย อันนี้มันง่ายยิ่งกว่าเล่นเกม SimCity เสียอีก 

เมืองที่ออกแบบอย่างไม่สมเหตุสมผล ส่งผลเสียในมุมมองเศรษฐศาสตร์อย่างไรบ้าง

        มีแน่นอน อย่างต้นทุนทางการเดินทาง คุณลองคำนวณเวลาในการขับรถดู บางทีคุณใช้เวลาไปวันวันหนึ่ง 2-3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น พอลองเอาเวลาพวกนี้มานั่งดู คูณไปคูณมาพอๆ กับคุณไปเรียนปริญญาตรีได้อีกใบหนึ่งด้วยซ้ำ เวลาที่เราเสียไปเหล่านี้คือต้นทุนมหาศาล ที่อาจจะเอาไปทำงาน หรืออาจจะเอาไปพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว ซึ่งบางทีช่วงเวลาที่อยู่กับครอบครัว อาจจะมีค่ากว่าที่เอาไปทำงานเพิ่มอีก ถ้าตามหลักเศรษฐศาสตร์ การทำงานมา 8 ชั่วโมงเต็มที่แล้ว ต่อให้ทำอีกก็คงไม่ได้เพิ่มมากเท่าไหร่ พอเหนื่อยคนก็เลื้อยไปเลื้อยมา 

 

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

เราสามารถนำ Data มาออกแบบเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร

        บริษัทผมมีเทคโนโลยีตัวหนึ่ง เรียกว่าฐานข้อมูลเชิงแผนที่ หรือ Geo Location Database ที่มาเกิดจากการที่ตอนเรียนในอเมริกา ผมได้ไปอ่านงานวิจัยของอาจารย์ด้านระบบนิเวศวิทยา ที่เขาเอาแผนที่มาตีเส้นดูว่า จริงๆ แล้วในรัฐๆ หนึ่ง เราวางผังเมืองได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง หรือเราแค่ปล่อยไปตามกลไกตลาด เพราะทุกวันนี้มีข้อมูลพิสูจน์แล้วว่า กลไกตลาดไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศเสมอไป อาจารย์คนนั้นเขาเอาข้อมูลในเรื่องของดิน เรื่องของสภาพอากาศมากางดูว่า เราควรจะจัดโซนการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในเมืองตรงไหน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งหนึ่งในแกนที่เขาเอามาคิดว่าดีที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจดี อาจจะฟังดูเป็นเรื่องเงินๆ แต่เป็นเรื่องปากท้องของทุกคน ส่วนอีกแกนที่เขาใช้คิดคือเรื่องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งไม่ควรมองข้าม 

        กลับมาที่เทคโนโลยีของผม มันเกิดขึ้นได้เพราะวันนี้เรามีข้อมูลที่เพียงพอที่จะบอกได้แล้วว่า ที่ตรงหนึ่งควรจะปลูกอะไร ที่ตรงหนึ่งควรจะสร้างตึกหรือเป็นหมู่บ้านหรือเปล่า อย่างนนทบุรี ใครๆ ก็รู้ว่าดินดี ปลูกอะไรก็ดี แต่ทำไมถึงเอาไปทำบ้านจัดสรร 

ถ้ามองจากข้อมูลที่คุณมี กรุงเทพฯ ยังเปลี่ยนได้ไหม

        ผมว่าเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คงเปลี่ยนค่อนข้างยาก กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตจนควบคุมไม่ได้แล้ว มีขนาดใหญ่เกินไป และจริงๆ ควรจะขยายความเจริญไปยังเมืองอื่นๆ ถ้าเอาข้อมูลแผนที่ที่ผมมีมาจิ้มดู จะเห็นเลยว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดของประเทศไทยเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ยากในการควบคุมคุณภาพของระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพอากาศ การจะสร้างสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ หรือห้องสมุด คงเกิดขึ้นยากมาก

        ผมว่าน่าจะง่ายกว่าถ้าไปเริ่มสร้างเมืองใหม่ อาจจะไม่ต้องถึงขนาดย้ายเมืองหลวงก็ได้ อันนั้นอาจจะยากไปหน่อย แต่ถ้าไปสร้างหรือพัฒนาเมืองรอง ให้เป็นศูนย์กลางที่ใหญ่ขึ้นและดูดคนไปตรงนั้นบ้างน่าจะดีกว่านี้ เพราะถ้าไปดูประเทศที่เจริญ จะเห็นว่าเขาไม่ได้มีแค่เมืองเดียวที่แบกรับเศรษฐกิจของประเทศขนาดนี้ ทุกวันนี้ถ้าถามว่ากรุงเทพฯ ฟังก์ชันได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ได้ มันเหมือนสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่อยู่มานาน และก็อยู่มาได้อย่างไรไม่รู้ ควบคุมไม่ได้ ขยายตัวกินพื้นที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าไปเริ่มสร้างตัวใหม่เลยอาจจะง่ายกว่า

มองกรุงเทพฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณคิดว่ายังมีความหวังไหม

        คิดว่ายังมีหวัง ผมคนหนึ่งแหละที่ไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น ต้องหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้ดีกว่านี้ ผมกลัวมากๆ เลยว่าคนจะหนีออกไปจากประเทศ โดยเฉพาะคนที่เขามีทักษะสูงหรือมีทางเลือก เขาหนีแน่ๆ เพราะสามารถไปได้แทบจะทุกที่ในโลก อย่างประเทศแคนาดา ถ้าคุณมีใบปริญญาระดับสูงหน่อยและอยู่ในสายวิชาที่เขาต้องการ อย่างเช่น Science Technology ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเดือนเดียวก็ไปขอ Citizenship ได้แล้ว เพราะที่นั่นเขาขาดคน ประเทศเขามีแต่ภูเขา ป่า แล้วก็สัตว์ เขาเลยทำแบบนี้เพื่อที่จะได้คนเก่งๆ ไป 

        แต่ถ้าถามว่ามีหวังไหมกับกรุงเทพฯ มีอยู่แล้ว เรามีของดีเยอะแต่ว่ายังกระจัดกระจาย ดูอย่างในตลาดหลักทรัพย์ที่ผมพูดถึงไป หุ้นที่เราเห็นนั้น Undervalue หรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากๆ ซึ่งในการทำงาน เวลาจะลงทุนกับสิ่งใดสักอย่าง เราควรจะลงทุนกับอะไรที่ Undervalue เพราะอะไรที่ดีอยู่แล้วมันจะ Overprice ทันที ผมเลยเลือกอยู่ที่ประเทศไทย เพราะที่นี่มีหลายอย่างที่สามารถจะทำให้ดีขึ้นได้ ที่พูดๆ ไปนี่ไม่ได้จะสมัครผู้ว่าฯ กทม. นะ (หัวเราะ) 

เมืองที่เหมาะสำหรับแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ถามคุณที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ คิดว่าเราควรมีวิธีเลือกเมืองที่อยู่สำหรับตัวเองอย่างไร

        ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาจะบอกว่าถ้าคุณยังยืนอยู่ในจุดที่คุณยืนอยู่ นั่นแสดงว่าที่ตรงนั้นดีที่สุดเท่าที่คุณจะมอบโอกาสให้ตัวเองได้แล้ว ถ้าใครอยากไปจริงๆ เขาจะไม่อยู่ตรงจุดนั้น ยกเว้นว่ามีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายที่คุณให้ไม่ได้ อันนี้คือทฤษฎีซึ่งไม่ต้องเชื่อก็ได้นะ แต่ผมคิดว่ามีส่วนจริงอยู่ เพราะอย่างผมที่ยังอยู่ประเทศไทย ก็เพราะให้น้ำหนักกับความหวัง ให้น้ำหนักกับญาติ พ่อแม่ผมอยู่ที่นี่ แม้ที่อื่นจะดูดีแค่ไหนยังไงเขาก็ไม่ย้าย ซึ่งผมให้น้ำหนักกับสิ่งเหล่านี้ที่หาไม่ได้จากที่อื่น ผมเชื่อเรื่องของการ Vote with Your Feet คือการที่อยู่ตรงนี้ แสดงว่ามันดีที่สุดแล้วสำหรับเรา และยังแสดงอีกว่าที่ที่เราอยู่ยังมีความหวัง

 


ECONOCITY

        จริงๆ ผมค่อนข้างอินเรื่องของเศรษฐศาสตร์กับเมืองพอสมควร เพราะรู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตอบได้ ผมจะหยิบหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับเมืองมาลองกางให้ดู และอธิบายว่านักเศรษฐศาสตร์มองเรื่องนี้อย่างไร แล้วถ้าให้นักเศรษฐศาสตร์ออกแบบเมือง เมืองนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร