พญ. นาฏ ฟองสมุทร กับเหตุผลว่าทำไมผู้สูงอายุควรรับวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

“เรามักจะเป็นห่วงผู้สูงอายุในชนบทว่าอาจจะได้รับการดูแลที่ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะคิดว่ายังไม่มีระบบรองรับ แต่ว่าในชนบทมีระบบดีที่สุดแล้ว เนื่องจากเขามีความเป็นชุมชนที่ต่างก็รู้จักกัน แล้วก็มีระบบของหมอครอบครัว มีทีมสุขภาพที่จะดูแลซึ่งทางรัฐวางระบบไว้ได้ดีมาก ในรอบนี้คิดว่าผู้สูงอายุในชนบทไม่น่าห่วง คิดว่าวัคซีนไปถึงเขาแน่นอน แต่ว่าในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับน่าสงสารที่สุดเลย เพราะผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองใหญ่ต่างคนต่างอยู่จึงรวมตัวกันยาก ฉะนั้น โจทย์นี้ถือว่าเป็นความท้าทาย ดังนั้น ต้องมีกลไกพาวัคซีนโควิด-19 ไปหาเขา ไม่ใช่ให้เขาต้องพาตัวเองเข้ามาหาวัคซีน”

        คำกล่าวของ พญ. นาฏ ฟองสมุทร ผู้เชี่ยวชาญการจัดการด้านผู้สูงอายุ ว่าด้วยการจัดการกับโรคระบาดและผู้สูงอายุในเมืองและชนบท เพื่อคลายข้อสงสัยให้กับใครหลายท่านว่าควรจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ยากลำบากเช่นนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากติดอันดับต้นๆ ของบรรดาประชากร เนื่องจากความเสื่อมถอยของอวัยวะ และระบบภูมิคุ้มกันโรค อีกทั้งด้วยยังมีความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในตอนนี้

        จากบทสนทนาในครั้งนี้ ยังคงตอกย้ำว่าแท้จริงแล้วผู้ที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่หรือใครก็ตาม ควรฉีดวัคซีนป้องกันตนให้พ้นจากโควิด-19 นี่ไม่ใช่เหตุผลเพื่อตัวเองแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของคนรอบข้าง สังคม และประเทศชาติ ที่สมควรรับผิดชอบร่วมกันสืบต่อไป

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกนี้ ทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

         โดยปกติแล้วผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับลูกหลาน อยู่ตามลำพัง หรืออีกกลุ่มคืออยู่ร่วมกันในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ดังนั้น สิ่งที่เราทำตั้งแต่โควิด-19 มารอบแรกเลย คือการล็อกดาวน์กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ หรือในโครงการที่เราดูแลอยู่ โดยที่ไม่ต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลเลย เพราะเรารู้ด้วยตัวเอง โดยจะปิดการเข้าออก ปิดการเข้าเยี่ยมของคนภายนอก เจ้าหน้าที่ก็ถูกเฝ้าระวัง และกักบริเวณอยู่กับผู้สูงอายุเท่านั้น ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้านก็มีความระมัดระวัง มีความตระหนักและตื่นตัวในเรื่องนี้ค่อนข้างดี จากคนที่เคยออกไปที่ต่างๆ บ่อยครั้งก็หันมากักตัวอยู่ที่บ้าน ลูกหลานก็ระมัดระวังค่อนข้างสูง 

         แต่ผลกระทบจากการกักบริเวณของผู้สูงอายุก็มีค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุอาจจะรอดพ้นจากโควิด-19 แต่คุณภาพชีวิตของเขาจะเสื่อมถอยลง จากปกติที่เราพยายามส่งเสริมให้เป็น Active aging ให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมกับสังคม ไปท่องเที่ยว สร้างการปฏิสัมพันธ์กับลูกหลาน แต่พอมีการกักบริเวณก็มีผลกระทบต่อการอารมณ์และจิตใจของ แต่เราอาจจะมีการยืดหยุ่นได้บ้างสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ตามบ้านเรือน

         อย่างไรก็ตาม อาจจะหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ทั้งหมด โดยสิ่งที่กระทบมากคือจิตใจและอารมณ์ เพราะความเหงาและเปล่าเปลี่ยวโดยขาดการปฏิสัมพันธ์จะส่งผลกระทบต่อสมองด้วย ซึ่งการเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านหรือในห้องนั้นเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอัตราการเสื่อมของสมองเร็วขึ้น เพราะการกักตัวจากโควิด-19  ได้จำกัดการร่วมกิจกรรมทางสังคมลง

แม้ว่าภาครัฐจะนำวัคซีนโควิด-19 เข้ามาแล้ว อัตราของคนที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดก็ถือว่ายังน้อยอยู่ เพราะความไม่มั่นใจในคุณภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่นำเข้ามา

         เพราะผู้สูงอายุที่เสพสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ จะได้ข้อมูลมากมาย และข้อมูลที่มากมายนี้ถ้าไม่ใช่แหล่งข่าวที่เป็นทางสุขภาพโดยตรงก็อาจจะประมลผลยาก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความลังเลของผู้สูงอายุที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19  เนื่องจากได้ข้อมูลมาเยอะ ขนาดหมอแต่ละคนยังพูดไม่เหมือนกัน เพราะเขาก็มีแนวคิดที่แตกต่างกันไป  

         แต่ที่โครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย เราได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่มาแล้ว ซึ่งสั่งให้เจ้าหน้าที่ฉีดให้ครบทุกคนเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้สูงอายุด้วย ส่วนตัวผู้สูงอายุเองเราถึงขั้นเคยมีเหตุการณ์ที่ต้องให้คุณหมอถึงสามท่านเข้าไปพูดคุยอธิบายว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 มีประโยชน์กว่าอย่างไร เพราะผู้สูงอายุเขากลัว

        ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะไตวาย ไม่รู้สึกตัว หรืออยู่ในสภาวะช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว และพิจารณาแล้วว่าเขาอยู่ในบริเวณที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้คน หรือพบปะผู้คนที่น้อยมาก เมื่อพิจารณาระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนโควิด-19 กับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก็แนะนำว่าไม่ต้องฉีดก็ได้

ด้วยสถานการณ์การระบาดที่กำลังลุกลามในตอนนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันเลยใช่ไหม

        โดยมุมมองส่วนตัวเห็นว่าสำหรับผู้สูงอายุที่ยังอยู่ในขั้นที่ดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีโรคเรื้อรังก็แนะนำให้ฉีด เพราะกลุ่มนี้แม้จะดูแข็งแรง แต่ด้วยความเสื่อมถอยของร่างกายโดยอายุนั้น เมื่อรับเชื้อโควิด-19 จากคนอายุน้อยกว่าอาการจะมากกว่า และจากการสำรวจจากสื่อต่างๆ ก็พบว่าหลังจากติดเชื้อแล้วอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจะมีสูงถึง 20-30% ดังนั้น จึงแนะนำว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงดีขอให้รับการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือวัคซีนที่เร็ว และทันต่อสถานการณ์

        Sinovac ที่ได้ยินว่าผลิตจากจีน เขาจะคิดก่อนเลยว่าไม่ปลอดภัย ส่วน Astrazeneca ก็มีโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ ซึ่งเราก็ต้องค่อยๆ อธิบายถึงเหตุผล และเมื่อกลุ่มแรกได้รับการฉีดแล้ว พวกเขาก็จะกลับมาเล่าได้ว่ามันไม่ได้มีผลข้างเคียงมากนะ ซึ่งอาการข้างเคียงที่เราพบมีเพียงนิดหน่อยคือ อาการปวดที่แขน และมีไข้ อ่อนเพลียบ้าง ซึ่งจะเป็นในระยะ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา ส่วนตัวแล้วเรายังไม่พบปัญหากับวัคซีนโควิด-19 ถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ

 แต่จนถึงวันนี้เราก็ได้เห็นว่ามีข่าวเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รุนแรงมาไม่น้อย ส่วนตัวก็กลัวเองด้วย แล้วยิ่งสำหรับคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุก็ยิ่งกลัวว่าถ้าให้เขาฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ยิ่งกลัวผลข้างเคียงจะรุนแรงกว่า ในกรณีนี้คุณหมอมีความคิดเห็นอย่างไร

         ความจริงแล้วกลุ่มผู้สูงอายุที่เสียชีวิตไม่ได้ติดเชื้อด้วยตัวเอง แต่เป็นคนในครอบครัวที่พาเชื้อเข้ามา ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัวควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อครอบครัวด้วย เพราะต่อให้เราติดเชื้อ ไม่มีอาการไม่ป่วยอะไรเลย แต่ถ้าเรานำเชื้อมาให้คนที่เรารักที่บ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ถ้าเขาเสียชีวิตไปเราก็จะมีความรู้สึกผิดในใจเลยว่าเราเป็นต้นเหตุที่นำเชื้อเข้ามา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากมีความรู้สึกผิดในใจเราก็ต้องระวังตัวเองด้วย 

         ดังนั้น สมาชิกที่อยู่ในครอบครัวควรฉีดวัคซีนโควิด-19 และควรที่จะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังอยู่ เราคงต้องอยู่กับสถานการณ์นี้อีกนาน เรายังต้องใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ต้องล้างมือ เรายังต้องใช้การระวังป้องกันการติดเชื้อแบบสากล (Universal Precautions) จนกว่าจะต้นๆ ปีหน้าที่จะผ่อนคลายได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราและรัฐบาล ทั้งการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และให้วัคซีนโควิด-19 เดินไปหาประชาชนได้

แล้วจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไรให้ผู้สูงอายุคลายความกังวล และมีความมั่นใจที่จะยอมรับวัคซีนโควิด-19 ได้บ้าง

         ถ้าเมื่อปีที่แล้วตอนที่เมืองไทยยังไม่มีการแพร่ระบาดขนาดนี้ เชื่อไหมว่าพูดอย่างไรเขาก็จะไม่ยอมรับวัคซีนโควิด-19 แต่มาตอนนี้เขาเห็นแล้วว่าการติดเชื้อสูงมาก เขาก็จะเริ่มกลัวว่าตัวเองจะเสียชีวิต อีกทั้งยังห่วงไปถึงลูกหลาน ดังนั้น คิดว่าตอนนี้เราสร้างความมั่นใจ หรือทำให้เขายอมรับการฉีดได้ไม่ยาก ไม่ใช่แค่กลุ่มคนสูงอายุแต่รวมทุกกลุ่มอายุเลย 

         ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุตอนนี้คิดว่าการปฏิเสธไม่รับนั้นน่าจะน้อยลงแล้ว แต่อีกสิ่งที่เราต้องคำนึงคือ อยากให้วัคซีนโควิด-19 เข้าถึงท่านได้ง่าย อย่าให้ท่านต้องไปที่จุดฉีดวัคซีน อย่างกลุ่มผู้สูงอายุที่เราดูแล เราเก็บตัวมาตลอด ไม่เจอใครเลย จนกระทั่งต้องไปรอฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ตรงนี้เริ่มมีความกังวลมาก เพราะการไปรอ ไปเจอคนเยอะๆ เป็นการเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น จึงอยากจะแนะนำ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้ท่านได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ง่ายควรจะมีการกระจายการฉีดวัคซีนออกมา เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องเพิ่มความเสี่ยง หรืออย่างที่สวางคนิเวศ เรายังอยากให้มีเจ้าหน้าที่ออกหน่วยมาเพื่อฉีดให้ที่พักของเรา คล้ายๆ กับการมาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ผู้สูงอายุในทุกๆ ปี

ในเรื่องความสามารถของรัฐบาล คิดว่ารัฐบาลควรที่จะสื่อสารให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างไร 

         สิ่งนี้คือความท้าทายที่สุด ส่วนตัวเท่าที่ดูก่อนหน้านี้เราเห็นอาจารย์แพทย์ที่น่าเชื่อถือออกมาชูป้ายเชิญชวน คนที่ฟังอาจารย์หมอเขาก็เชื่อ แล้วก็รอฉีดอยู่ ก็อยากให้วัคซีนโควิด-19 มาถึงเขาเร็วๆ แต่ก็จะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถโน้มน้าวได้ด้วยอาจารย์หมอ ส่วนตัวคิดว่าต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาฟัง ถึงแม้ไม่สามารถบังคับให้ไปฉีดได้เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขอให้ตระหนักรู้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เสมือนหน้าที่ของคนไทยที่จะประคองประเทศไทยและประชาชนทั้งหมดไปด้วยกัน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ฉีดคนเดียวไม่รอด ต้องฉีดด้วยกันทั้งหมด แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน

ด้านผู้สูงอายุบางส่วนที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน หรือไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ พอที่จะมีวิธีหรือว่าช่องทางสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงการจองวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมทางไหนได้บ้าง โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชนบท

         สำหรับผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี มีอีกช่องทางหนึ่งให้คือ ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ. สต.) นั่นคือในระดับที่ใกล้ตัวที่สุด โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปช่วยบริหารจัดการให้ ซึ่งในต่างจังหวัดแม้จะไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่กลไกของกระทรวงสาธารณสุขดีกว่าในกรุงเทพฯ เยอะ เขาดูแลคนในชุมชนเขาได้เป็นอย่างดี จึงคิดว่าวัคซีนโควิด-19 ไปถึงผู้สูงอายุได้อย่างแน่นอน 

         แต่กลายเป็นว่ากรุงเทพฯ ควบคุมการระบาดได้ล้มเหลวที่สุด เนื่องจากไม่สามารถคุมได้เหมือนต่างจังหวัด ที่ผ่านมาในต่างจังหวัดเราสามารถคุมได้ เพราะระบบสาธารณสุขเข้าไปร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถทราบได้ว่าใครอยู่ตรงไหน ใครเป็นอะไรได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มักมีแหล่งชุมชนที่เข้าไม่ถึงบริการของสาธารณสุข ไม่มี อสม. ไม่มีใครคอยเฝ้าระวัง ระบบการเข้าถึงสาธารณสุขก็น้อย จึงทำให้เกิดฝีหนองแตกขึ้นมาในชุมชนต่างๆ เพราะฉะนั้น ลักษณะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงควบคุมยาก อีกพื้นที่หนึ่งที่น่ากังวลคือ โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งคนงานที่ทำงานในโรงงาน หรือว่าที่พักคนงานซึ่งอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น เช่นที่สมุทรปราการ ก็จะควบคุมได้ยาก ดังนั้น การระบาดรอบนี้ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก

เมื่อสถานการณ์ลุกลามเช่นนี้แล้ว คุณหมออยากจะแนะนำหรือบอกกับทางภาครัฐว่าควรจะแก้ไขปัญหาจุดนี้อย่างไร

         เรามักจะเป็นห่วงผู้สูงอายุในชนบทว่าอาจจะได้รับการดูแลที่ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะคิดว่ายังไม่มีระบบรองรับ แต่ว่าในชนบทมีระบบดีที่สุดแล้ว เนื่องจากเขามีความเป็นชุมชนที่ต่างก็รู้จักกัน แล้วก็มีระบบของหมอครอบครัว มีทีมสุขภาพที่จะดูแลซึ่งทางรัฐวางระบบไว้ได้ดีมาก ในรอบนี้จึงคิดว่าผู้สูงอายุในชนบทไม่น่าห่วง คิดว่าวัคซีนไปถึงเขาแน่นอน แต่ว่าในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าสงสารที่สุดเลย เพราะผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองใหญ่ต่างคนต่างอยู่จึงรวมตัวกันยาก เพราะฉะนั้น โจทย์นี้ถือว่าเป็นความท้าทาย ดั้งนั้น ต้องมีกลไกพาวัคซีนโควิด-19 ไปหาเขา ไม่ใช่ให้เขาต้องพาตัวเองเข้ามาหาวัคซีน

         อยากฝากไว้ว่าหลังโควิด-19 คลี่คลาย กทม. ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของวัคซีนโควิด-19 หรือว่าโรคระบาดอย่างเดียว แต่รวมถึงวิธีการบริหารจัดการคนที่อยู่ในชุมชนของกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่กันอย่างแออัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ อาจจะต้องเริ่มดูระบบกันว่าทำอย่างไรให้บริการต่างๆ เข้าถึงพวกเขาได้ดีขึ้น เมืองใหญ่เหมือนเป็นเมืองที่ดี แต่กลับเป็นเมืองที่บริหารจัดการตอนเกิดวิกฤตได้แย่ที่สุด

ในฐานะหมอ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นมานี้ คุณมีข้อคิดอะไรอยากบอกถึงคนทั่วไปอีกไหม  

        เราจะพูดกับทุกคนเสมอว่า The loneliest death (การตายที่เหงาและเปล่าเปลี่ยวที่สุด) คือการตายจากโควิด-19 เพราะว่าถ้าปล่อยให้การระบาดลุกลามก่อนที่จะได้รับการรักษาอย่างเพียงพอ แล้วถ้าการลุกลามนำไปสู่การเสียชีวิต นั่นคือการตายที่โดดเดี่ยว ไม่ได้สั่งเสีย ไม่เจอใคร จากไปอย่างเหงาที่สุด การเผาศพก็ต้องรวดเร็ว จะได้มาเจอญาติอีกทีก็ตอนที่กลายเป็นอัฐิไปแล้ว สิ่งที่จะสามารถสื่อให้คนไปฉีดวัคซีนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกคนคงไม่อยากตายอย่างเปล่าเปลี่ยว ดังนั้น ถ้าพร้อม และสามารถก็ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 กันวันนี้เลยค่ะ ไม่ต้องลังเล ฉีดเพื่อตัวเราเอง ฉีดเพื่อคนที่เรารัก และก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นคนไทย 


หมายเหตุ: ข้อมูลเกี่ยวกับผลและอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เท่านั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา 

ภาพ: พญ. นาฏ ฟองสมุทร