ทันทีที่เรากดปุ่ม admit ในจอปรากฏภาพห้องห้องหนึ่ง ผนังเรียงรายด้วยใบเกียรติบัตรที่ใส่กรอบไว้ ใกล้ๆ หน้าจอมีเด็กชายวัย 10 ปี กำลังจัดแจงมุมกล้องเพื่อเตรียมเริ่มบทสนทนาผ่านหน้าจอในค่ำคืนนี้ เราจึงเอ่ยทักเบาๆ
“สวัสดีครับ”
เด็กชายชะงักเล็กน้อยก่อนทักทายกลับ เด็กคนนี้คือ ‘อาณา’ – สักกตะฤจ อินทรวิชะ หรือ ‘AnarZemaman’ หนึ่งในศิลปิน NFT รุ่นเยาว์ที่สร้างรายได้จากผลงานของตัวเองได้เกือบ 1 อีเธอเรียม (ETH) เกือบทุกงาน โดยผลงานล่าสุดเป็นภาพสีชิ้นแรกถูกประมูลจบอยู่ที่ 1.169 ETH หรือราวหนึ่งแสนกว่าบาท
สิ่งที่ทำให้เด็กชายอาณาก้าวมาถึงจุดที่สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเอง และครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อยได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากความชอบ การฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนอย่างจริงจังของครอบครัว และพี่ๆ น้องๆ ในกลุ่มคอมมูนิตี้ NFT Thailand
จากรูปที่วาดเล่น สู่รูปที่ทำรายได้หลักแสน
ไม่นานนักหลังจากเด็กชายเตรียมความพร้อมเสร็จสิ้น ‘เงาะ’ – เนตรชนก ศรีรอด ผู้เป็นแม่ ก็เข้ามาเริ่มบทสนทนากับเรา “น้องค่อนข้างขี้อายน่ะค่ะ” เธอกล่าวบอกเราขณะที่เด็กชายก็นั่งอยู่ข้างกัน
ผู้เป็นแม่เริ่มเล่าให้ฟังว่าปกติลูกชายจะชอบวาดรูปเล่นตามเศษกระดาษที่พ่อกับแม่พรินต์ออกมาเพื่อแปะให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการสักลายในร้านที่เป็นกิจการของครอบครัวอยู่แล้ว จนผู้เป็นพ่อ ‘บี’ – สัณห์หฤษฎ์ อินทรวิชะ เห็นเข้าเลยนำกระดาษวาดรูปมาให้ลูกชายวาด
“น้องเป็นเด็กที่ชอบวาดด้วยปากกาตั้งแต่เริ่มต้นหัดวาดเลย เราก็เริ่มสังเกตว่าการ์ตูนของลูกมีรูปร่างแปลกนะ มีตัวประหลาดออกมาทุกวัน (หัวเราะ) ซึ่งเราจะชอบเก็บผลงานเขาไว้ เลยโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วคนก็ชอบเยอะ จึงรู้ว่ารูปวาดแนวนี้เรียกว่า Doodle Art นะ”
แม้ตอนแรกคนรู้จักแนะนำให้เธอลองสมัครแอ็กเคานต์เพื่อขายงานของลูกชายในรูปแบบ NFT แต่เพราะมีอาชีพหลักเป็นช่างสักทั้งพ่อและแม่ บวกด้วยความที่ยังไม่เข้าใจว่า NFT คืออะไร จึงบ่ายเบี่ยงไป แต่พอเพื่อนหลายคนชักชวนบ่อยเข้าจึงลองศึกษา สมัคร แล้วมินต์งานลูกลงขายดู
“ตอนลองลงขายใน OpenSea 4 รูป แต่ก็ไม่กล้าเอาไปโพสต์ลงในกลุ่ม เพราะเกรงใจ กลัวคนมาถล่มว่าเราอวดลูกมากเกินไป แต่พอดีเพื่อนแชร์ให้ในกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand คนก็ไลก์เป็นพันเหมือนกัน แล้วมีศิลปินคนหนึ่งเขามาขอแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์น้องไปแชร์ลงในทวิตเตอร์ของเขาไม่ถึง 2 นาที ก็มีคนเหมาไปหมดเลยทั้ง 4 รูป
“แล้วคนนั้นก็ไปเปิดประมูลชิ้นละประมาณ 0.9 ETH จบอยู่ที่ 1 ETH กว่าๆ เขาก็บอกว่าแบ่งให้เรา 60 เปอร์เซ็นต์เลย แล้วก็ให้ Foundation Invite มาด้วย และก็ได้ ‘พี่ปอนด์’ – อานุภาพ วรรณพงษ์ (Pondering) มาช่วยสมัคร และคอยให้คำแนะนำต่างๆ หลังจากนั้นก็ขายได้เรื่อยๆ มา”
AnarZemaman ความภูมิใจของแม่
“ตอนขายงานชิ้นแรกได้ใครตื่นเต้นมากกว่ากัน” เราถามแกมแซวคนเป็นแม่นิดหน่อย เพราะเห็นแววตาสุกสกาวระหว่างที่เล่าถึงผลงานของลูกชายเลยอดที่จะล้อเล่นไม่ได้ เธอยิ้มแล้วเอียงคอไปฟังบางอย่างจากลูกชายก่อนจะตอบว่า
“เขาบอกว่าแม่ตื่นเต้นกว่า (หัวเราะ) คือเราก็ดีใจ ตอนแรกสงสารลูกกลัวขายไม่ได้ หลังจากขายออก คนก็ติดต่องานเข้ามาเยอะ แต่เราก็ไม่ได้รับเลย รับแค่งานออกแบบลายถุงโลตัสอย่างเดียว เพราะรู้สึกว่างานหลายรูปแบบที่ติดต่อเข้ามา ลูกเราทำไม่ไหวแน่นอน คือเข้ามาหลายรูปแบบมาก เข้ามาแบบแปลกๆ ก็เยอะ”
จากวันที่เริ่มวาดลงกระดาษอย่างจริงจัง วันที่ขายผลงานชิ้นแรกได้ จนถึงวันนี้ที่อาณาขยับจากภาพขาวดำ เริ่มปล่อยภาพสีชิ้นแรกออกมาแล้ว นับเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนที่เขาฝึกฝนฝีมือการวาดรูปทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง
“ตอนนี้วาดติดมือแล้ว น้องสามารถวาดกลับหัวหลับหางได้ด้วย แต่เขาเป็นคนพูดน้อย ขี้เขิน” เธอพูดไปยิ้มไป เราจึงถามต่อว่าส่วนใหญ่แรงบันดาลใจ หรือไอเดียที่เด็กชายวาดลงกระดาษกลายเป็นผลงานหนึ่งชิ้นมาจากอะไรบ้าง
“เรามองว่า เหมือนเขาอยู่ใกล้อะไรเขาจะวาดอย่างนั้น แต่พอถามน้องจะบอกว่าไม่รู้ว่าวาดอะไรลงไปบ้าง อย่างตอนเราไปนอนโรงพยาบาลเดือนที่แล้ว เขาก็เหมือนจะวาดพยาบาล คือเป็นการ์ตูนที่ใส่แมสก์ พอไปวาดกำแพงในค่ายทหาร เราก็มองว่าเขาวาดดูเป็นทหารกับปืน แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่รู้ แต่จากที่สังเกตเขาก็จะใส่นู่นนี่นั่นจากสิ่งที่เห็นไปเรื่อยจนกลายเป็นหนึ่งภาพ”
เพราะพ่อแม่ต่างก็เป็นศิลปินกันทั้งคู่ นอกจากคอยสอนเรื่ององค์ประกอบศิลป์และเทคนิคพื้นฐานแล้ว จึงปล่อยให้ลูกชายสร้างสรรค์ผลงานตามสิ่งที่เห็น และจินตนาการที่คิด เพราะศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด การให้ลูกชายได้สร้างผลงานอย่างมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขตามไปด้วย
ในวันที่เด็กชายอาณาเติบโตขึ้นอีกหนึ่งสเต็ป
“ผลงานของน้องทำรายได้ชิ้นหนึ่งประมาณหลักแสนภายในระยะเวลาอันสั้น ในฐานะคุณแม่มีความกังวลเกิดขึ้นไหม หากมีงานแนวเดียวกันในตลาดเยอะ จนวันหนึ่งงานอาจออกช้า หรือบางชิ้นขายไม่ได้”
ขณะที่เรากำลังคุยกับคุณแม่อยู่นั้น น้องอาณาก็นั่งฟังอย่างอยู่ข้างแม่ของเขาอย่างเงียบเชียบ เงาะหยุดไปชั่วอึดใจ พยักหน้าแล้วกล่าวกับเราว่ามีกลัวอยู่เหมือนกัน แต่พยายามคุยกันตลอด
“จากเมื่อก่อนโพสต์งานลง มีคนกดไลก์เป็นพัน ตอนนี้ก็เหลือร้อย สองร้อยกว่าไลก์แล้ว เราก็บอกเขาตลอดว่ามีหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เราลงงานเยอะคนเขาก็เบื่อบ้างนะ น้องบอกว่าเขาไม่ได้สนใจ ไม่ต้องไลก์เยอะก็ได้ แค่ขายได้ก็พอ ซึ่งน่าจะเป็นแม่ที่นอยด์มากกว่าลูก (หัวเราะ) แต่เราก็ให้เขาวาดของเขาไปตามที่เขามีความสุข”
เธอบอกว่านอกจากวาดรูปที่เป็นความสามารถโดดเด่นได้จากพ่อแม่แล้ว ก็ส่งเสริมให้ลูกชายมีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เซิร์ฟสเกต สกู๊ตเตอร์ เล่นดนตรี ดังนั้น พอได้เงินจาก NFT มาบางทีอาณาก็จะขอเธอแต่งล้อเซิร์ฟสเกตใหม่ ซึ่งเธอก็ซื้อให้ลูกชายเป็นรางวัล เขาจะได้มีกำลังใจในการพัฒนาตัวเองต่อไป
“พอตอนนี้เริ่มมีงานเข้ามา เราก็บอกลูกว่านี่คือหน้าที่ของเขาแล้วนะ ลูกวาดเล่นอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เมื่อมีคนจ้างมา ลูกก็ต้องมีความรับผิดชอบ เราก็สังเกตว่าเขาโตขึ้นมากกว่าเดิมนะ มีความรับผิดชอบเรื่องงานมากขึ้น ฝีมือเขาก็พัฒนาดีขึ้นๆ คนที่เริ่มติดตามน้องก็ส่งข้อความมาว่างานน้องพัฒนาขึ้นนะ จากตอนแรกวาดช้า ตอนนี้ก็ไวขึ้น เส้นก็เป๊ะขึ้น จากตอนแรกพี่กับคุณพ่อเขาสอนเรื่ององค์ประกอบให้เขา เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปบอกแล้ว เขาจะรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน จุดนำสายตา จุดรอง เขาก็รู้ดีขึ้นเยอะมาก
“พอเราเห็นพัฒนาการเขาในความเป็นแม่ก็ภูมิใจ จริงๆ เราก็แอบหวงงานลูกนะ ต้นฉบับแทบไม่อยากขายเลย เราอยากเก็บไว้ เผื่อเขาได้จัดแสดงงานของตัวเองในอนาคต” เธอหันไปมองลูกชายด้วยสายตาที่อ่อนโยน แล้วยิ้มน้อยๆ ออกมาอีกครั้ง
“AnarZemaman ชื่อนี้ได้มาจากไหน” เราถาม
“ซีม่า คือยารักษาโรคกลาก พ่อเขาชอบพูดว่า ‘กาก’ เป็นคำติดปาก เพื่อนพ่อเขาก็เลยเรียกว่า ‘ซีม่าแมน’ พอจะตั้งชื่อเขาบอกเขาชอบชื่อนี้แหละ”
พวกเราต่างหัวเราะให้กับที่มาของนามปากกา ส่วนเด็กชายยังคงนั่งอมยิ้มเงียบๆ ด้วยตาใสแป๋วข้างๆ แม่ของเขา
สามารถติดตามผลงานของ AnarZemaman ได้ทางทวิตเตอร์ @anarzemamandoo1