‘NFT BKK’ คอมมูนิตี้ NFT Artist ที่พบกันทาง Twitter สู่การจัดงาน NFT Festival 2022

อย่างที่ทราบกันดี แพลตฟอร์ม Twitter คือหนึ่งในพื้นที่แสดงผลงานของ NFT Artist แต่นอกเหนือจากนี้ Twitter ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างชุมชน หรือคอมมูนิตี้ (Community) ระหว่างศิลปินด้วยกันเอง หรือระหว่างศิลปินกับนักสะสมงาน และหากเราติดตามแวดวง NFT อยู่ก็มักจะเห็นเหล่าศิลปินสร้าง Twitter Space ซึ่งเป็นห้องสนทนาออนไลน์บนทวิตเตอร์เพื่ออัพเดตข่าวสาร แลกเปลี่ยนความรู้ และฝึกหัดการนำเสนอผลงาน รวมถึงการนำเสนองานให้นักสะสมฟัง 

       จากการรวมกลุ่มกันเพียงเพื่อพูดคุย กลับเกิดความจริงจัง ทุ่มเทขึ้นจนเกิดเป็นทีม The NFT BKK เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ NFT ครั้งใหญ่ของปีในชื่อ ‘Bangkok NFT Art Festival 2022’ เราจึงชวน ‘ปั๊บ’ – นนทพร เกตุมณี หรือ ‘Code(Monet)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานหลักของ The NFT BKK มาร่วมพูดคุยกัน

จุดเริ่มต้นของ ‘Code(Monet)’

        เราทำงานประจำเป็นครีเอทีฟโฆษณา สายอาร์ตไดเรกชั่น และเป็นเพื่อน ‘จ๊อบ’ – นิษฐา พฤกษาชลวิทย์ ซึ่งเธอทำงานเป็นผู้กำกับ แล้วเธอก็ทำ NFT ใช้ชื่อว่า แมวนวด ‘Cat therapy’ อยู่ พี่จ๊อบก็มาชวนให้เราทำดูบ้าง ตอนแรกยังไม่ได้เข้ามาเพราะงานยุ่งมาก แต่วันหนึ่งเราเครียดจากงานประจำก็เลยลองทำของตัวเองดู

        งานของเราเป็นแนว abstract ที่เริ่มต้นมาจากความขี้เกียจ เพราะเวลาวาดรูปต้องใช้โปรแกรม Adobe Photoshop หรือ Illustrator ซึ่งเราไม่อยากใช้ จึงลองศึกษาการเขียนโค้ดดู โดยการนำภาพที่ตัวเองถ่ายมาใช้ เข้าโปรแกรมทำการโค้ดดิ้งออกมากลายเป็นแนว abstract คล้ายกับเวลาดูงานของศิลปินระดับโลก Monet จึงนำชื่อของเขามาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อแอ็กเคาต์ของตัวเอง 

        ตอนเริ่มต้นเราแค่อยากรักษาจิตใจตัวเองมากกว่า หาวิธีรักษาตัวเองที่ไม่เกี่ยวกับงานด้วย ก็พยายามกู้จิตใจตัวเอง ลองผิดลองถูกดู พอได้มาหนึ่งภาพมันช่วยเยียวยาสภาพใจจิตเรามาก แล้วก็ขายได้ด้วย (หัวเราะ) เราเริ่มมั่นใจที่จะทำต่อ ทำไปสักพักก็ไปคุยกับ ‘พี่โน้ต’ – พงษ์สรวง ตาชุบ เขาว่างานเราเหมาะกับการแสดง physical (กายภาพ) นะ 

        เราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่งานเราไปเข้าตาภัณฑารักษ์ของประเทศจีนเข้า เขาก็ติดต่อให้เราไปแสดงงาน ตอนนั้นจึงรู้สึกว่าเราต้องจริงจังแล้ว ไม่คิดว่าเราจะมาไกลขนาดนี้ เพราะงานเราเป็นแนว Idea Message หลังๆ ก็พยายามทำสีสันบ้าง เราทำงานไปตามธรรมชาติของมนุษย์

การรวมตัวกันของ The NFT BKK

        วันหนึ่งเราเข้าไปคุยใน Twitter Space ห้องของพี่โน้ต เขาก็ชวนว่า “มาทำเฟสติวัลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์กัน” เพราะเป็นช่วงเดียวกับ Bangkok Design Week โดยงานนี้เกิดจากการพูดคุยกันในสเปซประมาณ 80 กว่าคน เริ่มจากร้านพี่โน้ตก่อนเลย เพราะร้านพี่เขา (Mischa Cheap) อยู่ที่ถนนข้าวสาร

        เราก็คุยกันว่าในงานน่าจะมีอะไรบ้าง จึงเกิดไอเดียขึ้นว่า หรือเราจะจัดตามย่านต่างๆ ดี เพื่อกระจายให้ศิลปินแต่ละคนไปอยู่ต่างย่านกัน ซึ่งเรากับจ๊อบดูแลย่านเจริญกรุง เพราะรู้จักรุ่นพี่ที่ทำ CEA ของ Bangkok Design Week เราก็โทร.ปรึกษาว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพี่เขาก็แนะนำมา 

        โดยแต่ละร้านที่เรานำงานไปจัดแสดงก็จะมีธีมที่ต่างกันไป เจ้าของร้านจะเข้ามาร่วมในการเลือกงานศิลปินที่ชอบ หรือคนไหนตรงกับมู้ดแอนด์โทนของร้าน  ซึ่งพอมาถึงจุดนี้ทำให้พวกเราต้องทำจริงจังกันแล้ว ต้องมีทีมมาช่วยรันงาน จึงเป็นจังหวะที่ทีมของ ‘ดีไซน์ บาย ดินสอ’ กับ ‘Jelly Lab’ ก็เข้ามาช่วยด้านกราฟิกและคอนเทนต์พอดี

        อีกส่วนหนึ่งคือ AR (Augmented Reality คือ เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง เช่น เกม Pokemon GO จากทีม Keen Collective) พอเราสแกนคิวอาร์โค้ดก็จะเห็นได้เลยว่างานของแต่ละคนอยู่ที่ไหนซึ่งมีทีม ‘Keen Collective’ คอยดูแลให้ 

เป็นทีมที่ไม่ได้มีใครเป็นแกนหลัก แต่ดูเหมือนทุกคนคือรากฐานที่ต่างเชื่อมโยงกัน

        พวกเรามีวิธีการทำงานหลักๆ ที่คุยกันคือ decentralized ใครทำอะไรได้ก็ทำไป เพราะทุกคนมีงานประจำของตัวเอง ดังนั้น จึงต่างช่วยกันไม่ได้มีใครเป็นหลัก แล้วทีมงานทั้งหมดที่มาช่วยกันก็มาจากคนรู้จักที่ชักชวนกันมา นอกจากนี้ยังมี Canon ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ด้านโปรเจกเตอร์ รวมถึงดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ ช่วยให้งานออกมาดียิ่งขึ้น 

จุดประสงค์ของการจัด Bangkok NFT Art Festival 2022

        จุดประสงค์หลักคือ วงการ NFT ไทยบูมมาก คนรู้จักศิลปินไทยเยอะ พวกเราจึงอยากให้คนทั่วไปได้รู้จักสิ่งนี้ด้วย เพราะบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร เราจึงกำลังจะตอบโจทย์คำถามที่ว่า NFT คืออะไร ทำไปทำไม ซึ่งจะมีจุดประสงค์รองที่ซ่อนอยู่ เช่น ศิลปินปกติที่ไม่ได้อยู่ใน NFT จะต้องมีที่แสดงงานที่เป็น Physical แต่พอเป็น NFT ที่อยู่ในเมตาเวิร์สหรืออยู่ในออนไลน์ ถ้าเรานำออกมาอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่ง ก็น่าจะเชื่อมโลกทั้งสองเข้าด้วยกันได้ 

        แต่คำถามคือ แล้วจะเชื่อมอย่างไรให้คนรู้สึกว่ายังเป็น NFT อยู่ เช่น ใช้โปรเจกเตอร์ หรือโทรทัศน์ ก็มีหลายแบบที่เราคิดกันไว้ เพราะพวกเรารู้สึกว่าในโลกของความเป็นศิลปะ อย่างไรก็ตาม physical ก็ยังจำเป็นอยู่ดี และคงไปได้ยากที่ศิลปินที่ไม่มีใครรู้จักเลยจะได้แสดงงาน จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับศิลปินที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่งานเขาดีมากๆ ให้เขาได้ออกมาโชว์ ให้เขาได้มีพื้นที่แสดงงงาน ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

หมายความว่าการจัดงานเฟสติวัลในครั้งนี้เพื่อช่วยให้มีคนเห็นผลงานของศิลปินแต่ละคนมาขึ้น

        เราคิดกลับกัน เราว่าศิลปินเข้ามาช่วยเฟสติวัลมากกว่า NFT ต่างกับงานอาร์ตปกติตรงที่งานอาร์ตปกติเราจะช่วยศิลปิน แต่งานนี้เหมือนเราดึงศิลปินเข้ามาในคอมมูนิตี้ NFT มากกว่า เพราะแต่ละคนก็ดังมากอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งคอมมูนิตี้เราก็ไม่ได้ช่วยแค่ NFT อย่างเดียว 

        เราช่วยคอมมูนิตี้ของย่านนั้นๆ ด้วย อย่างเช่น ถนนข้าวสาร ตอนนี้เงียบกริบมาก เราอยากเข้าไปทำให้คอมมูนิตี้ในย่านนั้นคึกคักขึ้น เวลาเราอยู่ในดิสคอร์ดก็ไม่รู้จักว่าเป็นใคร แต่เราให้ทุกคนได้มาพบปะกันในโลกความเป็นจริง อย่างศิลปินเบอร์ใหญ่ พี่หมู PUCK (ไตรภัค สุภวัฒนา) เขามาเพราะอยากช่วยดันศิลปินเบอร์เล็กให้เป็นที่รู้จัก ในขณะเดียวกันศิลปินเบอร์เล็กก็ได้ขายงาน เราสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้พวกเขาได้มาพบปะ รู้จักกันเพื่อความแข็งแรงของคอมมูนิตี้ในอนาคต

ศิลปินทุกคนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘คอมมูนิตี้’ สำคัญกับวงการ NFT มาก

        ใช่ เหมือนโลกขยับไปอีกระดับหนึ่ง เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองขนาดนั้นแล้ว เพราะเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเราดังคนเดียวในคอมมูนิตี้ก็อยู่ไม่ได้ สมัยก่อนเรารู้สึกว่าศิลปินมักมีความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่า แต่ตอนนี้ต่างคนต่างไม่ได้สนใจว่าผลงานใครจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนต่างช่วยกันผลักดัน มันไม่ใช่การวิ่งแข่งแล้ว แต่คือการวิ่งมาราธอนที่พวกเราวิ่งไปด้วยกัน ใครล้มเราก็รอ เป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ต่อให้ใครจะไปถึงเส้นชัยแล้ว ก็ยังย้อนกลับมาช่วยเพื่อนอยู่ดี

อยากให้ชวนคนไปสนุกกับการ Hopping ตามย่านต่างๆ หน่อย

        วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ Bangkok NFT Art Festival 2022 จัดขึ้นที่ย่านเจริญกรุง ย่านข้าวสาร ส่วนย่านท่าดินแดงจะจัดขึ้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละย่านจะมีสไตล์ที่แตกต่างกันไป อยากให้ทุกคนไปสร้างความคึกคักให้กับย่านต่างๆ กลับมามีชีวิตชีวากัน 

        นอกจากนี้ยังมีจัดที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วย ติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม The NFT BKK ซึ่งใน IG ก็จะมีความสนุกสนาม มี AR และฟิลเตอร์ของศิลปิน 100 คนให้สามารถเข้าไปเล่นกันได้ 


เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง