“โอ๊ย เด็กคริปโตดีใจมากเลยค่ะ ที่พี่ๆ นำ NFT มาทำเอ็มวี คือรันวงการเพลงไปไกลมากจริงๆ ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ภูมิใจที่ได้เป็นแฟนคลับนะคะ”
– Baifern Makm
“ได้ดูงานศิลปะ พร้อมเพลงดีๆ เพลินมากเลย”
– Onyx Cloud9
“ขอโทษนะพี่ แทบไม่ได้ฟังเพลงเลย 5555555 ชอบงานภาพของทุกคน แล้วก็ชอบที่พี่เอาชื่อเขามาลงทั้งหมด รู้สึกได้เลยว่าพี่ให้เกียรติเขาขนาดไหน”
– Chawanan Tanboonjit
“เป็นอะไรที่แปลกใหม่ในวงการเพลงมากๆๆ ค่ะ ขอบคุณที่สนับสนุนผลงาน NFT หลายท่าน เป็นปลื้มแทนศิลปินค่ะ เพลงเพราะ ภาพสวยน่ารัก ทุกอย่างลงตัวค่ะ”
– Olives
นี่เป็นส่วนหนึ่งของเสียงตอบรับในช่องคอมเมนต์ในยูทูบ เมื่อมิวสิกวิดีโอเพลง แม้ฉันไม่มีอะไรให้เธอ หนึ่งในซิงเกิลใหม่ของ Cocktail จากอัลบั้ม Fate ถูกปล่อยออกมาเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับอัลบั้มนี้ถือเป็นการกลับมาในเวอร์ชันที่สะท้อนตัวตนของพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการนำกลิ่นอายทางดนตรีใหม่ๆ มาผสมผสานลงไปในรสชาติดั้งเดิม จนเกิดเป็นความแปลกใหม่ที่ทำให้เหล่าแฟนๆ ตื่นเต้นกับทุกเพลงที่ปล่อยออกมา
โดยเฉพาะกับมิวสิกวิดิโอชิ้นนี้ซึ่ง ‘โอม’ – ปัณฑพล ประสารราชกิจ ฟรอนต์แมนของวง Cocktail ได้ชักชวนรุ่นน้องที่เคยร่วมงานกันอย่าง ‘ไตเติ้ล’ – ฐิติพันธ์ ทับทอง หรือในแวดวง NFT รู้จักเขาในฐานะเจ้าของโปรเจ็กต์ THAIGHOST มาเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเพลงนี้
จึงเกิดเป็นการนำผลงานของเหล่าครีเอเตอร์ NFT ไทยหลายชีวิต มาร้อยเรียงกลายเป็นเรื่องราวประกอบเพลง แน่นอนว่าสำหรับคนในแวดวง NFT ต่างตื่นเต้นกันไม่น้อย เพราะมิวสิกวิดีโอชิ้นนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่อาจสะท้อนถึงการทำให้คอมมูนิตี้ NFT ได้ขยับขยาย และเป็นที่สนใจของผู้คนในวงกว้างมากขึ้นอีก
แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจให้ NFT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมิวสิกวิดีโอเพลงนี้เลยหรือเปล่า
ปัณฑพล: ผมเริ่มต้นว่างานศิลปะควรนำเสนอไปทางไหน หมายถึงภาพลักษณ์ของงานศิลปะนั้นควรนำเสนออย่างไรมากกว่า ไม่ใช่หมายถึงแพลตฟอร์มของมันว่าจะเป็นแบบใด เพราะในมุมมองเรา ไม่ว่าจะเป็น NFT หรือว่างาน Print Ads การ์ตูนแอนิเมชันหรืออะไรก็ตาม มันคือสิ่งที่ตาเห็นทั้งหมด แต่เราแค่อยากจะเลือกสิ่งที่ตาเห็นให้ออกมาเป็นแบบนี้ก็เท่านั้น
ผมรู้ว่าไตเติ้ลเป็นกราฟฟิกดีไซน์มาก่อน แล้วตอนนี้ก็ทำงานสายเอเจนซี ถ้าเขาได้ฟังเพลงนี้ผมเชื่อว่าพวกเราน่าจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน เลยโทรไปหาบอกว่าเราอยากจะมีมิวสิกวิดีโอที่มีความเป็นอาร์ตในลักษณะของภาพพิกเซล มีความเป็นเกม ส่วนการเอาไปเป็น NFT นั้นเป็นไอเดียของไตเติ้ลมากกว่า
ฐิติพันธ์: พี่โอมติดต่อมาว่ามีโปรเจกต์เพลงนี้ อยากชวนมาทำ MV ด้วยกัน ซึ่งพวกเราตั้งต้นคุยกันคร่าวๆ ว่าอยากให้เป็นสไตล์การ์ตูนแบบผู้ชายๆ หน่อย แล้วก็นึกถึงทุกอย่างที่เป็นป๊อปคัลเจอร์ในช่วงยุค 90s ไม่ว่าจะเป็นเกม อนิเมะ การ์ตูนคอมิก มังงะ พี่โอมบอกให้เราเอาเพลงไปฟังก่อน พอฟังปุ๊บ เราก็เข้าใจเลยว่าทำไมพี่โอมถึงเกริ่นมาแบบนั้น
ผมโทร.กลับไปหาว่าเห็นภาพแบบนี้เลย คิดว่าน่าจะจูนตรงกันได้ พี่โอมเลยให้สิทธิ์เราในการทำอย่างเต็มที่ แล้วก็คิดว่าน่าจะทำเกี่ยวกับ NFT ได้นะ เพราะนอกจากทำงานประจำแล้ว เราก็เป็น NFT artist และอยู่ในส่วนที่ผลักดันคอมมูนิตี้ของศิลปินไทยด้วย
อีกอย่างเรามีความเข้าใจใน DNA ของ Cocktail อยู่แล้วประมาณหนึ่ง อย่างชื่อวงก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการผสมผสาน ถ้าอย่างนั้น MV นี้น่าจะดึงความเป็น DNA อะไรบางอย่างของวงออกมา ผสมผสานความเป็นอาร์ตแบบ 90s Pop Culture ที่เข้ากับศิลปินยุคใหม่รวมกัน จึงกลายมาเป็น MV อย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน
เพลงนี้ตั้งใจแต่งขึ้นมาเพื่อสะท้อนความเป็นการ์ตูนเด็กผู้ชายในยุค 90s โดยเฉพาะเลยใช่ไหม
ปัณฑพล: อัลบั้มของ Cocktail อัลบั้มนี้มันมีแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่ผมชอบในวัยเด็ก อย่างเพลงนี้ก็มีแรงบันดาลใจมาจากอนิเมะญี่ปุ่น ประมาณปี 1985-2000 ต้นๆ เพราะเรารู้สึกว่าลักษณะของการ์ตูนญี่ปุ่นตอนนั้นมีความเป็นลูกผู้ชายอยู่มาก เราต้องการเนื้อเรื่องประมาณว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่มีผู้ชายคอยปกป้อง แล้วกำลังจะมุ่งหน้าไปสู่แสงอาทิตย์อัสดงด้วยกัน เหมือนกับกำลังขี่มอเตอร์ไซต์ผ่านชีวิตที่ยากลำบาก พุ่งตรงทะยานไปข้างหน้าด้วยความหวัง คือจะเป็นอะไรก็ได้ที่ฟังดูคลิเช หรือมีความดั้งเดิมสูง เพราะอนิเมะปัจจุบันมันก็มีความซับซ้อนขึ้นเยอะ ตัวละครทุกตัวค่อนข้างมีมิติ แต่ถ้าเป็นตัวการ์ตูนช่วง 90s จะมีความแบน คือดีก็ดี ชั่วก็ชั่ว หรือคนชั่วที่จะเป็นคนดีทีหลังก็จะมีลักษณะชัดๆ เลย เราจึงตั้งโจทย์มาแบบนี้ และคิดว่าไตเติ้ลก็ตั้งโจทย์ไว้แล้วว่าเราจะไปทางนี้เช่นกัน
คัดเลือกศิลปินที่เข้ามาร่วมโปรเจกต์ MV นี้อย่างไร
ฐิติพันธ์: เป็นการเชิญชวนครับ ใครอยากมาร่วมเรารับหมด ดังนั้น จะสังเกตว่าใน MV จะมีภาพนิ่งๆ เป็นส่วนใหญ่ อย่างบางคนเขาทำมาในลักษณะภาพแบ็กกราวนด์ เราก็ต้องติดต่อไปหาศิลปินว่าภาพของศิลปินคนอื่นจะมาทับแบ็กกราวนด์คุณแบบนี้ คุณโอเคหรือเปล่า
ซึ่งส่วนใหญ่ศิลปินที่อยู่ในคอมมูนิตี้ก็รู้จักเรา ทำให้เขาค่อนข้างเปิดใจ และอยากจะมีส่วนร่วมในความสนุกของโปรเจกต์นี้อยู่แล้ว ถือว่าเราโชคดีที่ได้เจอศิลปินที่ค่อนข้างเปิดกว้างมารวมตัวกัน ดังนั้น ผลงานที่ออกมาจึงไม่ได้มาจากฝีมือผมคนเดียว แต่ทุกคนให้เกียรติกันและกันมาก อย่างตอนที่ผมส่งดราฟต์ไปให้พี่โอมแต่ละรอบ พี่โอมก็ไม่เคยแก้ไขเลยทั้งๆ ที่เรารู้ว่าความเป็น perfectionist ของพี่โอมต้องมีจุดที่เขายังต้องการให้ออกมาดีที่สุดอยู่ แต่พี่โอมก็ให้เกียรติในหมู่ศิลปินด้วยกันทั้งหมด
ปัณฑพล: เพราะเราพูดว่าให้อิสระศิลปินสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่แล้ว เราจะมาถอยกลับไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้วไม่มีงานชิ้นไหนที่เราชอบทุกมุมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่าการตัดสินใจในฐานะค่ายด้วย เราตัดสินใจจากสิ่งที่ดีที่สุดในเวลาหนึ่งว่ามันตอบวัตถุประสงค์ของมันชัดเจนหรือยัง
พอ Cocktail มาอยู่ในค่ายที่ผมเป็นผู้ดูแลเอง การตัดสินใจเรื่องนี้เราจึงต้องมองทั้งสองมุม ถ้างานชิ้นนี้ตอบวัตถุประสงค์แล้ว และดีที่สุดในช่วงเวลาที่เรามีให้อย่างจำกัดแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องติตรงไหน ซึ่งค่อนข้างแฮปปี้ เพราะเพลงแม้ฉันไม่มีอะไรให้เธอ กับเพลงพอดี ค้างคา และหัวใจเหล็ก เป็นเพลงที่ไม่ได้เป็นซิงเกิลหลักในอัลบั้มนี้ แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้เพลงทั้งหมดนี้มีความโดดเด่นขึ้นมา เพื่อให้เพลงทุกเพลงที่ไม่ใช่ซิงเกิลหลักต้องได้รับศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน นี่คือจุดเริ่มต้นไอเดียเลย ในเมื่อไม่ได้ใช้เงินก็ต้องใช้สมอง แล้วเราก็ได้สมองของไตเติ้ล กับฝีมือของคนอีกหลายคนที่ยอมเสียสละมาทำสิ่งนี้กัน (ยิ้ม)
นอกจากเชิญชวนศิลปินมาปล่อยของกันสนุกๆ แล้ว ตัวศิลปินจะได้อะไรจากโปรเจ็กต์นี้อีกบ้าง
ฐิติพันธ์: สิ่งเดียวที่เรายื่นข้อตกลงกันคือ เราต้องขออนุญาตให้แต่ละซีนที่เขาทำ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของศิลปินเอง คือจริงๆ ด้วยหลักการ ผลงานเป็นสิทธิ์ของเขาอยู่แล้ว แต่เราก็อยากให้เป็นสิทธิ์ของเขา ที่เขาจะสามารถไปจำหน่ายได้ด้วย
หลังจาก MV ปล่อยออกไป และได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก อยากทราบว่าความรู้สึกตอนเห็นผลตอบรับนั้นเป็นอย่างไร
ปัณฑพล: มีคนถามเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ของ NFT ศิลปินไทย เรารู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนคอมมูนิตี้ ผมเป็นศิลปินคนหนึ่ง และเป็นคนที่คอยชื่นชมในงานศิลปะอยู่แล้ว ถ้าเราจะมีส่วนในการช่วยผลักดันอะไรก็ตามในวงการนี้ ผมก็ดีใจ ซึ่งหลังจาก MV ปล่อยออกไป ก็มีเพื่อนๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยหลายคน ส่งข้อความมาว่าทำไมไม่ชวนบ้าง (หัวเราะ) NFT อาจจะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนักในตอนนี้ แต่หากเราทำให้เกิดแรงกระเพื่อมได้บ้าง เราก็ดีใจแล้ว
ฐิติพันธ์: อาชีพหลักผมทำงานเป็นครีเอทีฟโฆษณามาเป็นสิบปีแล้ว พอเกิด NFT ขึ้นมาเมื่อต้นปี เราก็กระโดดเข้ามาอยู่ในแวดวงนี้ รู้สึกว่านี่เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของคนที่สนใจงานดิจิทัลอาร์ต หรือเป็นครีเอเตอร์ หรือเป็นคนที่ไม่มีโอกาสในการเปิดเผยตัวตน หรือกระจายงานได้มากเท่าที่ควร
เมื่อเข้ามาในวงการ NFT เราบอกตัวเองเลยว่าจะเอาวิชาความรู้ของการเป็นนักโฆษณามาช่วยเสริมให้ได้สักมุมหนึ่ง เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นบันไดอีกขั้นให้เราได้ทำ ไม่ได้ทำแค่สนุกกับตัวเองอย่างเดียว แต่ได้หยิบสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะคอนเน็กชันมาช่วยต่อยอดในสิ่งที่เราอยากจะทำ คือทำให้ศิลปินไทยมีพื้นที่ในการให้คนได้เห็นตัวตนมากขึ้น ถ้ามองโดยรวมเราภูมิใจในแง่นี้ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลงานฝีมือของศิลปินไทย ในแบบที่มันเป็นรูปธรรมและแพร่หลายมากขึ้น
ช่วยเล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นให้ฟังหน่อย อะไรที่ทำให้คุณ (ฐิติพันธ์) สนใจวงการ NFT
ฐิติพันธ์: ผมเป็นหัวหน้าทีมครีเอทีพของดิจิทัลเอเจนซีที่มุ่งทำงานสื่อสาร ซึ่งใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นยานพาหนะหลักของการสื่อสารอยู่แล้ว ฉะนั้น หน้าที่หลักของการเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายสร้างสรรค์คือ เราจะต้องไม่หยุดทำความรู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ช่วงที่ผมรู้จัก NFT ก็ต้องทำความรู้จักกับเทคโนโลยีอย่างอื่นด้วย เราต้องรู้จักให้เท่าทัน เพื่อให้รู้ว่าเรามีขอบเขตของโอกาสขนาดไหนที่จะนำไปคิดงานของการนำสารไปหาผู้บริโภคต่อ
แต่ตอนแรกที่รู้จัก NFT ผมไม่ได้รู้จักในมุมของศิลปะด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะเรารู้จักบล็อกเชนมาก่อนเลยรู้ว่ามันคือรูปแบบของโค้ดดิ้ง Token ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ถัดมาถึงมีคนทำเป็นงานศิลปะแล้วรู้ว่ามีคนทำเป็นอาร์ตมาร์เกต เราจึงเข้าไปพัวพันกับมันได้ง่ายเพราะเราไม่ได้รู้สึกใหม่กับมันจนเราเข้าไปไม่ถึง เราคิดว่าเราสามารถทดลองมันได้ง่าย พัวพันกับมันได้เร็ว และก็ลึก
คุณมีขั้นตอนในการทำให้ THAIGHOST เป็นโปรเจกต์ที่คนในแวดวง NFT รู้จักได้อย่างไร
ฐิติพันธ์: เริ่มต้นเราทำโปรเจกต์ทดลองมาก่อน เราทำงานแบบวิทยาศาสตร์เลย ตั้งสมมติฐานว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ทำไปทีละส่วนว่าแบบนี้โอเค หรือแบบนี้ไม่โอเค อะไรต้องแก้ไขขัดเกลากันไป จนสุดท้ายออกมาเป็นโปรเจ็กต์ชื่อว่า THAIGHOST ขึ้นมา ซึ่งทุกอย่างประสบความสำเร็จในมุมเราที่ได้เรียนรู้จากสมมติฐานที่เราตั้งไว้ ได้วิเคราะห์สรุปผลออกมาประมาณนี้
แล้วเพราะอะไรถึงต้องเป็น ‘ผีไทย’
ฐิติพันธ์: THAIGHOST ลงตัวตรงที่เราเจอจุดประสงค์ของตัวเองว่าเราอยากจะทำอะไร สองคือเราเจอข้อจำกัดของตัวเองว่าเราทำได้แค่ไหน เพราะเรามีงานประจำ และยังอยากที่จะทำงานประจำอยู่ด้วย ไม่ใช่เจอทางใหม่แล้วทิ้งทางเก่า เรายังรักงานประจำเราอยู่มากๆ
เราจะรู้ตัวเองดีว่าเราให้เวลากับ NFT ได้มากน้อยแค่ไหนต่อวัน โชคดีที่ปีที่แล้วมีโหมดของ Work form Home เยอะเพราะมีโควิด-19 เราเลยเอาเวลาเดินทางที่ต้องไปทำงาน มาเป็นการเรียนรู้ พอเรารู้ข้อจำกัด รู้เป้าหมาย เราก็เอาสองอย่างนี้มาชนกัน คิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของเรา ในภายใต้ข้อจำกัดคือเวลาและฝีมือด้วย เนื่องจากเราไม่ได้วาดรูปเก่ง สุดท้ายมันเลยออกมาเป็น THAIGHOST
เหตุผลคือ หนึ่ง เราไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลเพราะเราเป็นเด็กวิทย์ที่ชอบเรื่องผีอยู่แล้ว เราไม่ได้เชื่อนะ แต่เราชอบการสร้างความเชื่อต่างๆ มากกว่า เราเลยสนใจเรื่องนี้มาเรื่อยๆ อ่านหนังสือ ฟังผู้ใหญ่เล่ามาบ้าง ข้อมูลในหัวเราเลยมีเยอะมาก อย่างที่สองคือ การออกมาเป็นรูปแบบผลงาน เรานำความชอบของตัวเองมาใช้ได้ทั้งหมด และอย่างที่สาม เรามีวิธีการทำการตลาดจากวิชาชีพที่เราเป็นอยู่ หยิบตรงนั้นมาใช้ จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาในที่สุด
ได้วางโร้ดแมปสำหรับ THAIGHOST ไว้ไหมว่าจะมีอะไรออกมาให้ชมอีกบ้าง
ฐิติพันธ์: ผมไม่ได้มีโร้ดแมปไกลมาก มองแค่หนึ่งก้าวของเราว่าจะทำอะไรต่อ เพราะเรามีเวลาแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อวันในการทำ แต่ถ้าถามว่าเรามองว่า THAIGHOST เป็นอะไร ผมมองว่าเป็นแบรนด์ ไม่ได้มองเป็นแค่ศิลปะอย่างเดียว
การมองว่าเป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่งต้องมีอะไรบ้าง ทั้งบุคลิก การแสดงออก การปฏิสัมพันธ์กับคน เราก็หาเวลาในการดีไซน์ และวิธีการในการให้มันสื่อสารกับคนได้
อีกอย่างผมตั้งใจให้ THAIGHOST เป็นทูตวัฒนธรรมในการเรียนรู้ความเชื่อของชาติอื่นๆ ด้วย อย่างตอนนี้ผมเริ่มรู้แล้วว่าต่างประเทศเขาเชื่อเรื่องผีกันแบบไหน จากการได้คุยกับคนหลากหลายเชื้อชาติ ถ้ามองไปอีกขั้นหนึ่งคิดว่าเราอยากจะใช้สิ่งนี้เป็นประตูในการเปิดให้ศิลปินใหม่ๆ เข้ามาเชื่อมต่อกัน เพราะรู้ว่าการเข้ามาในวงการใหม่ๆ นั้นยากแค่ไหน ถ้าคนไหนมีฝีมือแต่ไม่มีคนเห็น เราก็จะมีวิธีให้คนได้เห็น เราใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือนั้น ตอนเริ่มต้นคือเราพยายามหาโอกาสให้คอมมูนิตี้นี้ของคนไทยให้ต่างชาติมองเห็นมากขึ้น
ตอนนี้ NFT ไทยเริ่มขยายมากๆ อยากจะแนะนำอะไรเป็นพื้นฐานสำหรับคนที่กำลังเริ่มเข้ามาในวงการนี้
ฐิติพันธ์: ไม่ว่าเราจะคุยกันในบริบทแบบไหน อยากจะแนะนำกับคนรุ่นใหม่เสมอในการเข้าไปในอะไรที่เราไม่รู้จัก หรือว่าเราไม่คุ้นเคย หนึ่งคือเราต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น พอเรามีความรู้กับเรื่องนั้น มันจะนำมาสู่ความกังวลและทำให้เราต้องปลอดภัย เราว่าอันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ พอเรารู้สึกกังวลเราจะต้องปกป้องตัวเอง
หัวใจหนึ่งของ NFT คือการปกป้องตัวเอง เพราะตอนนี้ยังไม่ได้มีอะไรมาช่วยจุนเจือ หรือปกป้องเราได้ เพราะฉะนั้น เราต้องปกป้องตัวเองให้เป็น พอเราปกป้องตัวเองได้ดี อย่างที่สองคือมองรอบๆ ให้ดี เรามองว่า NFT หรืออะไรที่เกี่ยวกับบล็อกเชน หรือศิลปะที่เกี่ยวกับอะไรแบบนี้ เทคโนโลยีมันมีพื้นฐานมาจากความจริงใจ
อย่างบล็อกเชนคือความจริงใจ คนให้คุณค่าสิ่งนี้เพราะความจริงใจ โปร่งใส พอเทคโนโลยีมีพื้นฐานแบบนี้ คนที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการนี้ ต้องมีความจริงใจด้วยเหมือนกัน เราถึงจะมีคุณค่า ผมเชื่อแบบนั้น แค่จริงใจกับตัวเองและจริงใจกับคอมมูนิตี้ เรามองว่าสองข้อนี้จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุข แม้เราจะขายงานไม่ได้สักชิ้น แต่เราจะมีความสุขที่ได้เรียนรู้ ได้เจอโลกใหม่ๆ เต็มไปหมด อนาคตเรายังไม่รู้เลยว่า NFT จะกลายไปเป็นอะไรได้อีกบ้าง สุดแท้แต่จินตนาการ แต่พื้นฐานคือความจริงใจและป้องกันตัวเราให้ดี
ปัณฑพล: คนมักมองว่าสิ่งนี้ซับซ้อนมาก แต่จริงๆ มันไม่ได้ซับซ้อนเลย ถ้าพูดแบบง่ายสุด มันคือการมีเทคโนโลยีหนึ่งขึ้นมารับประกันความปลอดภัยของสิ่งหนึ่ง ทำให้มีความเป็นเจ้าของในงานศิลปะ จากสมัยก่อนถ้าเราปล่อยงานศิลปะในอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวก็มีคนเซฟไปทำซ้ำแล้ว แต่จากนี้ไป โค้ดดิ้งจะเข้ามาล็อกแล้วว่าผลงานนี้มีการแสดงความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ผมมองว่าไม่ได้มีอะไรใหม่เลย งานศิลปะยังคงถูกขายในแบบเดิมอยู่ดี มันยังคงทำงานในลักษณะตลาดของงานศิลปะแบบปกติ
สุดท้ายเทคโนโลยีทุกอย่างจะพาคุณไปไกลเรื่อยๆ จะพาช่องทางการขายหรือพาเราไปเจอคนใหม่ๆ สำหรับคนที่ยังปิดใจก็อยากให้เปิดใจให้กว้าง เพราะศิลปะอยู่ที่เจตนา อย่าเพิ่งสรุปว่าอะไรดี ไม่ดี หากเรายังไมได้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และถ้าคุณทำความเข้าใจแล้วรู้สึกไม่ชอบ การไม่ชอบก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่มันเป็นรสนิยมของเรา สำหรับผู้เสพ แต่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน ผมมองว่าความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าศิลปินยังไม่มีความสุขกับการสร้างชิ้นงานของตัวเอง ผลงานที่ออกมามันก็คงไม่ดีเท่าไร
พอบอกได้ไหมว่าหลังจากนี้ Cocktail จะมีอะไรต่อยอดกับวงการนี้อีกไหม เพราะถ้าภาพปกอัลบั้มใหม่ไปอยู่ในเมตาเวิร์สคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ปัณฑพล: เอาเป็นว่า โปรดติดตามตอนต่อไป (ยิ้ม) เราทำทุกอย่างจากสิ่งที่เราชอบ แล้วเราชอบหลายอย่างมาก เราชอบเกม เราชอบหนัง เราชอบการ์ตูน เราชอบวัฒนธรรมของศิลปินกลุ่มต่างๆ เรารู้สึกว่าเราอยากจะเอาประสบการณ์ในชีวิตของเราเข้าไปในงานเพลงในทุกๆ ทาง เพราะเพลงถูกนำเสนอไปได้หลายรูปแบบมาก
ดนตรีเป็นองค์ประกอบที่ขับเคลื่อนความรู้สึกได้มาก อัลบั้มนี้จึงเป็นการหยิบเอาหลายสิ่งหลายอย่างมาประกอบร่างกัน สำหรับ NFT เรามองว่าเป็นอาร์ต เพียงแต่สิ่งนี้แค่นำเสนอแล้วถูกนำไปขายในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม งานศิลปะก็ยังเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตใจคนอยู่ดี ภาพเขียนบนผนังทำให้จิตใจคนรู้สึกอย่างไร มันก็ยังเป็นแบบนั้นในรูปแบบของ NFT เช่นกัน
ดังนั้น ถ้าจะมีวิธีใหม่ๆ ที่ทำให้คนเข้าถึงงานศิลปะ Cocktail ก็ยังจะปรับตัวไปหาสิ่งนั้น เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่สนุกกับมัน แล้วถ้าเราสนุกกับอะไร เราก็อยากนำเสนอสิ่งนั้นเท่านั้นเอง เหมือนเวลาที่เรารักใคร เราก็อยากให้เขารู้ว่าเราเป็นคนอย่างไรนั่นละ
ติดตามผลงานของ THAIGHOST ได้ที่ :
https://opensea.io/collection/thaighost
https://discord.com/invite/GPUEkzR4d3
https://twitter.com/thaighostnft?s=21
เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง