Dooword

ท่องโลกของ ‘Dooword’ ศิลปิน NFT วัย 17 ปี ที่ใช้อารมณ์เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างผลงาน

“เค้ง แปลว่าอะไรเหรอ” เราเอ่ยปากถามเด็กหนุ่มผ่านโปรแกรมสื่อสารทางไกลด้วยความสงสัย เขาหยุดนึกสักครู่ อมยิ้ม แล้วตอบว่าเป็นคำที่คนจีนใช้กล่อมเด็กให้นอน ซึ่งคุณพ่อเป็นคนตั้ง

        ‘เค้ง’ – ณภัทร อัสสันตชัย อายุ 17 คนนี้ เดิมทีเขาอาจเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยมัธยมที่สร้างงานศิลปะของตัวเองโดยที่ยังไม่มีใครรู้จัก แต่หลังจากที่เขาลงขายผลงานชิ้นแรกในรูปแบบ NFT ได้  การที่เราจะเรียกเขาว่าเป็นศิลปิน NFT ชาวไทยในช่วงบุกเบิกเลยก็คงไม่เกินไปนัก

        เค้งเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มสนใจ หรือเริ่มรู้จักวงการ NFT จากโพสต์ของศิลปินที่ตัวเองติดตามอยู่คนหนึ่ง “ผมเห็นเขาปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน แล้วเขาโพสต์ลงอินสตาแกรมว่าขายงานชิ้นนี้ได้ เป็นงานที่สวยมาก แล้วในแคปชันมีคำว่า NFT ต่อท้าย ผมก็เลยสงสัยว่าเป็นแพลตฟอร์มใหม่เหรอ”

        “ตอนนั้นคิดว่า ถ้ามีแพลตฟอร์มที่อาจทำให้งานเราขายได้ ก็น่าสนใจแล้วก็เลยลองค้นหาดูว่า NFT คืออะไร เลยได้เจอกับศิลปินรุ่นบุกเบิกของ NFT ไทย ตอนนั้นคนยังสนใจน้อยอยู่ ในกลุ่มมีประมาณ 2-3 หมื่นคน  ซึ่งผมก็ได้พี่ๆ ศิลปินในกลุ่มคอยแนะนำทุกเรื่องเลย”

        ไปๆ มาๆ ผลพลอยได้จากที่โรงเรียนปิดประมาณ 3 เดือนจากสถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องมหาสมุทร NFT ของศิลปินไทยหน้าใหม่ที่ชื่อว่า ‘Dooword’ 

Dooword

ความหมายของชื่อนามปากกา ‘Dooword’ มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงใช้ชื่อนี้

        Dooword คำว่า word เเสลงมาจาก ‘world’ ที่เเปลว่า ‘ดินเเดน’ เเต่ผมใช้คำว่า ‘word’ เพราะรู้สึกว่าเหมือนชื่อคนมากกว่าส่วน doo คือคำที่ผมชอบครับ เพราะในไทยคำว่า ‘ดู’ มีความหมายเดียวกับคำว่า ‘มองเห็น’ แต่ในอังกฤษมีความหมายว่า ‘ทำ’ 

        พอนำสองคำนี้มารวมกันเป็น ‘Dooword’ ผมจึงนิยามว่านี่คือ ดินเเดนเเห่งการสังเกตเเละลงมือทำ เพราะนี่เป็นเทคนิคที่ผมใช้มาตลอดครับ อีกอย่างสาเหตุที่ผมเข้ามาในวงการนี้ได้ก็เพราะผมสังเกตเเละลงมือทำ อีกเรื่องคือผมคิดว่าคำนี้ออกเสียงคล้ายๆ กับ forward ที่เเปลว่าไปข้างหน้าด้วยครับ

ตอนเราทำความเข้าใจ NFT ช่วงแรกงงมากว่าคืออะไร คุณเป็นเหมือนกันหรือเปล่า

        ตอนแรกผมก็งงๆ นะ แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือ ผมรู้ว่า NFT เกี่ยวข้องกับเรื่อง Cryptocurrency ซึ่งแม่ผมเขาก็สนใจเรื่องนี้มานานแล้ว ผมก็เห็นเขาทำบ่อยๆ เลยไปถามแม่จึงพอมีพื้นฐาน และพอรู้คุณค่าทางดิจิทัลอยู่บ้างว่าเป็นอย่างไร

พูดถึงสไตล์งานของคุณเป็นแนว Doodle ซึ่งตอนนี้มีเด็กๆ เริ่มฝึกกันเยอะมาก เพราะอะไรคุณถึงชอบงานสไตล์นี้ 

        เมื่อก่อนก็ไม่ได้รู้หรอกว่าสิ่งที่เราวาดคือแนวอะไร เพราะแนวนี้ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ พอโตมาก็เริ่มศึกษาเองเลยรู้ แต่จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นคนถนัดศิลปะ ไม่ได้เก่งพื้นฐานวาดภาพเหมือน การลงสี แล้วเกรดวิชาศิลปะผมก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่ผมเป็นคนชอบวาดสิ่งที่ต้องลงรายละเอียดต่างๆ รักการวาดแบบนี้ ตั้งแต่ประถมเลยประมาณ ป.3-ป.4 ก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าชอบแบบนี้จึงพัฒนามาเรื่อยๆ การวาดแนวนี้เป็นด้านที่ผมถนัด เวลาที่ผมไม่ได้จริงจังกับมันผมก็จะวาดออกได้เฉย ว่างๆ ก็วาด เราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องบังคับตัวเองให้ทำ งานเราก็เลยเป็นธรรมชาติดี 

Dooword

ส่วนใหญ่คุณสื่อสารอะไรลงบนผลงานที่วาดออกมา

        ผมใช้เรื่องของความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจจากอะไรเป็นพิเศษ เพราะผมชอบวาดอะไรที่ไม่มีอยู่จริงบนโลก เป็นรูปทรงที่ไม่น่าจะมีอยู่จริง คิดขึ้นมาเองมากกว่า แล้วให้อารมณ์พาไป เติมต่อไปเรื่อยๆ ให้ภาพออกมาเป็นโทนต่างๆ ที่เราชอบ ซึ่งเวลากลับมาดูย้อนหลังผมก็ดูออกนะว่า แต่ละภาพวาดด้วยอารมณ์แบบไหน 

ฟังดูเหมือนเป็นการใช้ศิลปะในการบำบัด หรือระบายอารมณ์ข้างในออกมาเลย

        ในมุมผม คิดว่าอาจจะไม่ใช่การบำบัดเสียทีเดียว แค่ใช้อารมณ์ ณ ตอนเป็นเชื้อเพลิงในการวาดเฉยๆ เพราะผมทำศิลปะได้ทุกอารมณ์อยู่แล้ว เราแค่อยากเห็นว่าอารมณ์ตอนนั้นผมเป็นอย่างไร แล้วก็สื่อสารออกมาเป็นงานศิลปะเท่านั้นเอง

คุณบอกว่าเกรดตัวเองไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ดีนักในวิชาศิลปะ เรามองว่าหลักสูตรการสอนของการศึกษาไทยเราค่อนข้างจำกัดจินตนาการเหมือนกันนะ แล้วส่วนตัวคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

        โรงเรียนผมมีสายวิชาศิลปะซึ่งเรียนจิตรกรรมล้วนเลย มีทั้งหมด 3 คนทั้งสาย รวมผมด้วย แต่ผมออกจากสายศิลปะของโรงเรียนผมมาได้ปีกว่าแล้ว เพราะรู้สึกได้ถึงการมีกรอบ แอบเคร่งในเรื่องบางเรื่องเกินไป ไม่ได้เปิดรับศิลปะแบบใหม่ๆ และไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากทางโรงเรียน  

        บางทีเราจะรู้สึกว่าคนบางคนไม่ได้เข้าใจศิลปะทุกๆ ด้านขนาดนั้น สำหรับผมศิลปะไม่มีกรอบอยู่แล้ว ผมก็ไม่ได้ชอบแนวจิตรกรรม ยิ่งงานสไตล์ที่ผมถนัดก็ไม่ได้รับการยอมรับมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วเนื่องจากผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ชอบ แต่ก็มีผู้ใหญ่บางคนมองงานเราเป็น แล้วเขาก็เปิดกว้าง ผมจึงพยายามเห็นคุณค่าในงานตัวเองมากกว่า เพราะศิลปะอยู่ในทุกแขนงอยู่แล้ว ถ้าการเรียนการสอนเปิดกว้าง ไม่ได้มีแค่การวาดวงกลม วาดภาพเหมือน ผมคิดว่าน่าจะดีกว่านี้เยอะครับ

Dooword

พอเริ่มขยับจากแค่ความชอบในการวาดรูป มาเป็นการทำงาน NFT ที่ต้องลงทุน มีการซื้อขายกันจริงจังแล้ว มีกระบวนการสร้างสรรค์งานที่ต่างออกไปจากเดิมหรือเปล่า

        แม้ผมจะรู้สึกว่าในวงการนี้เราไม่ได้แข่งขันกันขนาดนั้น แต่ผมคิดว่าในวงการ NFT ทุกคนก็แข่งขันกันอยู่ เพียงแค่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ดังนั้น เราต้องพัฒนาตัวเองให้เร็ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็จะวาดแค่สิ่งที่ผมชอบเฉยๆ หรือวาดไปเรื่อยๆ ไม่ได้พยายามที่จะวาดอะไรใหม่ๆ คือวาดแค่สิ่งที่เราชอบตามความรู้สึกขณะนั้นก็โอเคแล้ว 

        แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าต้องฝึกหลายทักษะมากขึ้น มีหลายอย่างมากที่ผมต้องฝึกใหม่ รวมถึงการทำโซเชียลมีเดีย หรือทำการตลาดด้วย เพราะเราต้องขายงานเราให้เป็น จึงต้องมีความจริงจังมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสุขของผมลดลงไปนะ แล้วทุกอย่างที่ต้องเรียนรู้เพิ่มก็เป็นประโยชน์ต่อผมด้วย 

ตั้งแต่มาเข้าวงการ NFT ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ รู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง

        อย่างแรกเลยคือ เรื่องการสื่อสาร เพราะเมื่อก่อนเวลาทำงานศิลปะ เราจะไม่ได้เข้าสังคมกับใครอยู่แล้ว ผมจะชอบอยู่คนเดียว ดูงานคนเดียว แต่พอเราต้องเข้าสู่สังคม เริ่มที่จะต้องให้คนเห็นงานเรามากขึ้น ผมก็ต้องเข้าสังคมมากขึ้น ต้องคุยงานกับทั้งต่างชาติ ฝึกพูดภาษาอังกฤษให้คล่อง แล้วยิ่งมีการติดต่อขอสัมภาษณ์เข้ามาอีก จึงต้องปรับเรื่องการพูดให้ดี พูดให้ช้าลง พูดให้คล่องกว่านี้ เตรียมการพูดล่วงหน้า นี่ยังไม่นับสกิลการวาดรูปและการตัดต่อที่เพิ่มเข้ามาด้วยนะ ผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ และพัฒนาในหลายๆ อย่างมาก 

นานไหมกว่าที่จะขายผลงานชิ้นแรกได้

        รูปแรกไวสุดเลยครับ ผมขายได้ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งก็แอบงงอยู่เหมือนกันนะ เพราะศิลปินที่ซื้องานไปคือ  HEADACHE STENCIL ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้จักเขาด้วย 

ความรู้สึกหรือคำแรกที่ผุดขึ้นในหัวตอนรู้ว่ามีคนซื้องานชิ้นแรกไปคืออะไร

        เฮ้ย! มันขนาดนั้นเลยเหรอ (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นผมไม่มั่นใจในตัวเองเลย ผมกะว่าวางไว้สัก 1 เดือน แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก ไม่คิดว่างานแนวผมจะมีคนชอบ เพราะสไตล์เราก็ไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างขนาดนั้น อย่างเมื่อก่อนที่วาดรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ผมรู้จักอยู่แล้วมาชอบงานเรา แต่นี่ผมไม่ได้รู้จักเขาเลย แต่เขากลับชอบงานเรา ยิ่งทำให้ทั้งรู้สึกดีมากๆ แล้วก็ช็อคมากๆ ด้วย รู้สึกว่างานเรามีค่าขึ้นมาแล้ว เราได้เงินมาก้อนหนึ่งเลยนะ ทำให้เรารู้สึกได้ถึงคุณค่า และมูลค่าของมันจริงๆ 

Dooword

จากวันที่ขายงานแรกได้จนถึงวันนี้ มีเทคนิคการขายแบบไหนที่พอจะแนะนำได้บ้างไหม 

        ผมขอยกตัวอย่างการขายแบบผิดๆ แล้วกันครับ คือจะมีคนชอบทักไปหาคนที่เขาชอบเก็บงานให้ซื้องานของตัวเองหน่อย แบบนี้ไม่ดีเลย ส่วนเทคนิคการขายงานของผมคือ ให้ขายอยู่ในพื้นที่ของเรา แล้วติดแฮชแท็ก เราไม่ได้อยากบังคับให้คนเข้ามาดู ผมมองว่าอยากให้เป็นการขายที่เป็นธรรมชาติมากกว่าการไปขายให้เขาตรงๆ เลย (ยกเว้นว่าเขาจะอนุญาตให้เราแปะลิงก์งานได้)

ตอนนี้วงการ NFT ในไทยเติบโตขึ้นมาก รู้สึกกดดันไหมบ้างไหมเพราะงานสไตล์ของคุณก็มีมากขึ้น 

        ไม่เลยครับ ผมดีใจมากกว่า เพราะไม่ได้เห็นการเติบโตของศิลปะขนาดนี้มานานแล้ว ผมดีใจที่เขาได้ประโยชน์จากผม ทำให้รู้สึกมองเห็นตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนเขาอาจจะแค่นั่งวาดเฉยๆ แต่พอมีคนมาสนับสนุน ทำให้เขาสร้างประโยชน์จากงานตัวเองอย่างที่ผมเคยทำก็ทำให้รู้สึกดีนะ เพราะงานแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะเป็นงานสไตล์เดียวกันแต่งานทุกคนจะมีจิตวิญญาณ มีคุณค่าของตัวเองอยู่แล้ว

วันนี้มองอนาคตไว้อย่างไรบ้างกับวงการ NFT

        ตอนนี้ผมก็จริงจังกับ NFT มากๆ แทบจะไม่ได้มองว่าเป็นแค่งานอดิเรกแล้ว ในอนาคตถ้าทำเป็นงานหลักได้เลยก็ดี เพราะผมมีความสุขที่จะทำ ไม่รู้สึกว่าเราต้องบังคับตัวเองให้ทำขนาดนั้น ในอนาคตเลยอยากจะทำต่อไป เพราะ NFT สร้างทั้งรายได้ให้เราช่วยเหลือครอบครัว แล้วก็เลี้ยงตัวเองได้ ส่วนการเรียนถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเข้าให้ตรงสายเลย แต่จริงๆ ก็แอบอยากไปเรียนที่ต่างประเทศ เพื่อที่จะได้งานที่มากกว่านี้ด้วย 

ศิลปินที่ชอบหรือมองเขาเป็นไอดอลมีใครบ้าง

        ถ้าเป็นของไทย จะมีคนหนึ่ง ซึ่งขอย้อนกลับไปที่ผมบอกว่า ผมไม่รู้ว่างานของตัวเองเป็นแนวอะไร จะมีศิลปินคนนึงที่ชื่อโลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) พี่เขาทำงานศิลปะที่ทำทั้งงานปั้นและวาดแนวเดียวกับผมเลย ผมชอบเขามาก มีอีกคนชื่อ Alex Face (พัชรพล แตงรื่น) เขาเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ งานของเขาสื่อสารได้เยอะ ให้อารมณ์ที่ตรงและอิสระมาก ผมก็มีเก็บสะสมงานของเขาอยู่เหมือนกัน 

        ของต่างประเทศก็จะมี Kaws ที่ไปร่วมคอลแลบกับหลายๆ แบรนด์ เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ งานของเขามีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน จดจำได้ง่าย อีกคนคือ ทากาชิ มูราคามิ เป็นคนที่ทำงานแนว Surrealism ชอบการที่เขากระจายงานของตัวเองไปทุกๆ แนว งานเขาก็สวยทุกงาน สีสันสดใสให้อารมณ์ที่ผมชอบ แล้วสุดท้ายคือคนที่ทำให้ผมเข้ามาใน NFT เลยคือ Beeple เขาทำงาน 3D เป็นงานที่ผมได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากเขาเลย 

Dooword

แล้วได้เรียนรู้อะไรจาก Beeple บ้าง

        เขาทำงานที่ตรงกับชีวิตประจำวัน ทำงานเร็วมาก แรงบันดาลใจเขาจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ อย่างเรื่องที่เฟซบุ๊กล่ม วันต่อมาเขาก็ทำงานลงเลย ซึ่งผลงานของเขาสื่อสารได้เยอะ ตรงเรื่องราว ทั้งการเมือง และเรื่องที่สื่อถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

มีช่วงที่รู้สึกท้อแท้บ้างไหม 

        ถ้าพูดถึงเรื่องที่ท้อ อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้เก่งพื้นฐานศิลปะ แม้ว่าผมอยากจะฝึกแต่พอฝึกแล้วก็ยาก ก็มีบ้างที่ท้อเรื่องนี้ อีกอย่างเรารู้สึกว่างานสไตล์ที่เราถนัด (Doodle) ไม่ได้รับการยอมรับมากอย่างกว้างขวาง ผมก็ยิ่งไม่มั่นใจในเองตัวเองเข้าไปอีก ถ้าผมวาดของตัวเองคนเดียวไม่ได้โชว์ให้ใครดูก็จะไม่ได้รู้สึกว่างานผมสวย ผมชอบงานตัวเองเฉยๆ แต่พอคนอื่นมาบอกว่าชอบ เราก็รู้สึกดีนะ ทำให้มีกำลังใจพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ 

อยากให้พูดให้กำลังใจกับคนที่กำลังจะเข้ามาในวงการนี้ หรือกำลังฝึกฝนตัวเองอยู่

        มั่นใจในตัวเองไว้ครับ เพราะผมเคยไม่มั่นใจในตัวเองมาก่อน แต่พอเราขายงานชิ้นแรกได้ก็ทำให้ผมมั่นใจขึ้นเยอะ จึงอยากให้ทุกคนรู้ว่างานของตัวเองมีคุณค่าในแบบของคุณอยู่แล้ว อย่ามองว่างานตัวเองไร้ค่า ทุกคนมีลูกค้าของตัวเองขึ้นอยู่ว่าเราจะได้เจอเขาเมื่อไหร่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบงานเรา แต่วันหนึ่งต้องมีคนชอบแน่นอน อยากให้ทุกคนมั่นใจ และอดทนเข้าไว้ วงการนี้ยังไปได้อีกไกล แล้วก็อยากให้คนเข้ามาเยอะๆ ครับ


ติดตามผลงานของ ‘เค้ง’ ได้ ที่นี่