Longhon Story กับการเล่าเรื่องผ่านภาพวาดราวกับหอมกลิ่นแป้งเด็ก ต่อยอดสู่ศิลปิน NFT

“สองคนเราจบมัลติมีเดียมา แล้วก็จะมีความสามารถที่เหมือน ‘เป็ด’ เราชอบในการนำเสนอมุมมองความเป็นเป็ด เพราะเราสามารถทำได้ทุกอย่าง เราจึงคิดว่าเราสองคนเป็น ‘เป็ดโปร’ เลยรู้สึกว่าวงการ NFT เป็นวงการที่เหมาะกับเรามากๆ” 

        เพราะมูลค่าของงานศิลปะในรูปแบบ NFT ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านคุณค่าทางศิลปะอย่างเดียว แต่ยังมีคุณค่าทางการใช้สอย (Utility) และคุณค่าทางคอมมูนิตี้ ดังนั้น ศิลปินผู้สร้างงานจึงไม่ใช่แค่สร้างงานศิลปะขึ้นมาแล้วโพสต์ขายอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคุณค่าให้ครบทุกด้าน เพื่อทำให้เกิดมูลค่าแก่งานของตัวเองจนมัดใจนักสะสม ตัวศิลปินเองจึงต้องงัดและฝึกใช้สกิลอย่างหลากหลายมากขึ้น 

        2 สมาชิกจากเพจ ‘ล่ อ ง ห น’ ได้แก่ ‘ปอนด์’ – ณัฐพล ฉัตรมงคลยิ่ง และ ‘เจ’ – เทวินทร์ สังฆมณี เพจเล่าเรื่องจากภาพประกอบข้อความสั้นๆ ที่มีลายเส้นอ่อนโยนสีพาสเทล จึงผนึกกำลังช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพบนเส้นทางใหม่อย่าง NFT ตามคำเชิญชวนจากเจ้านายเก่าและรุ่นพี่นักวาดอย่าง ‘มุนินฺ’ (มุนินทร์ สายประสาท) เจ้าของสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร ที่ปอนด์เคยทำงานด้วย ซึ่งแนะนำว่าหากจะเข้า NFT ควรทำงานกันเป็นทีมจะได้ช่วยกันแบ่งเบาหน้าที่กันได้ 

        “ช่วงที่เราเข้ามาแรกๆ คนที่ทำ NFT ต้องทำงานหลายส่วน ทั้งโปรโมต เข้าคอมมูนิตี้ ซึ่งค่อนข้างหนักมากสำหรับคนๆ หนึ่ง เลยตัดสินใจว่าถ้าเราทำเป็นทีม จะมีพาวเวอร์มากกว่า พลังของแต่ละคนจะออกมาเต็มที่ งานไม่โหลด เพราะช่วยกันแบก ช่วยกันหามไป”

แนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของพวกคุณมีการปรับเปลี่ยนไหมเมื่อเข้าสู่ NFT

        ปอนด์: ถ้าในแง่ของรูปวาดในเพจกับ NFT มีความแตกต่างกันอยู่ อย่างในเพจเราไม่ได้ทำงานคาแรกเตอร์ดีไซน์ แต่จะเน้นภาพประกอบ แล้วใส่เป็นข้อความให้กำลังใจ หรือมีเรื่องราว แต่พอเป็น NFT เราจะคิดคาแรกเตอร์ดีไซน์เฉพาะขึ้นมา แต่ในเรื่องเทคนิคต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งพอเข้ามาทำ NFT เราจัดการงานคนเดียวไม่ได้ เพราะเราอยากทำให้ออกมาดี ผลงานแต่ละชิ้นจึงใช้พลังงานเยอะมากๆ เลยต้องให้เจเข้ามาช่วยด้านโมชัน 

        เจ: ตอนแรกที่เข้ามา เจเป็นฝ่ายจัดการหลังบ้านให้ ล่ อ ง ห น เช่น วางแผนทำคอนเทนต์ลงเพจ ควรทำคอนเทนต์แบบไหนเพื่อให้คนเข้ามาในเพจมากขึ้น จนพอเข้ามาใน NFT ก็มีส่วนช่วยมากขึ้น เพราะเราก็มีความสามารถในการออกแบบ ทำกราฟิก และด้านอื่นๆ ด้วย 

‘เจ’ – เทวินทร์ สังฆมณี

นอกจากถูกรุ่นพี่นักวาดอย่าง ‘มุนินฺ’ ชักชวนเข้ามาในวงการนี้แล้ว ได้รับคำแนะนำอะไรอีกบ้าง 

        ปอนด์: พี่มุนินฺแนะนำว่า ถ้าน้องทำคนเดียวพี่ไม่แนะนำ เพราะรู้สึกว่า NFT เป็นวงการใหม่และหนักมาก แล้วเราก็ได้เข้าฟังในสเปซทวิตเตอร์ มีนักสะสมมาแชร์ให้ฟังว่าโปรเจกต์ไหนที่มีการโปรโมตว่าทำเป็นทีม ส่วนใหญ่โปรเจกต์นั้นจะดูน่าสนใจ น่าติดตามกว่า เพราะการทำเป็นทีมมีหลายฝ่ายที่ต้องช่วยกันทำ ไม่เหมือนศิลปินหนึ่งคนที่เขาไม่มีคนช่วยแชร์ ผลงานจึงไม่ได้ออกมาอย่างเต็มที่ ขนาดบริษัทหนึ่งยังมีหลายฝ่ายเลย 

        เราจึงเห็นด้วยว่าทำหลายคนก็น่าจะช่วยกันได้ดีกว่า แต่ถึงจะทำกันสองคน มันก็ยังมีทักษะด้านอื่นๆ ที่เราไม่ถนัด เช่น การแปลภาษาอังกฤษ แรกๆ แปลเองแล้วเสียเวลามาก แต่พอมีรายได้เข้ามา เราก็เอาเงินไปจ้างคนแปลแทนเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น 

        อย่างงานใน Foundation ล่าสุด พวกเราก็ทำเสียงกันเองจากการโหลดเสียงในเว็บสำเร็จรูป แต่เราก็อยากทำออกมาให้ดีที่สุด เลยไปจ้าง sound designer มาช่วย เพราะเรามองว่านี่เป็นการลงทุนเหมือนกัน ถึงเราจะทำเป็นทุกอย่างก็จริง แต่อะไรที่เราไม่ได้ชำนาญ เราก็จ้างเขาดีกว่า 

‘ปอนด์’ – ณัฐพล ฉัตรมงคลยิ่ง

เท่าที่คุยกับศิลปินมาหลายๆ คน ส่วนใหญ่มักจะทำงานเองคนเดียว สำหรับพวกคุณถือเป็นมุมมองที่ใหม่ไปกว่าเดิม

        เจ: ศิลปิน นักเขียน หรือนักวาดภาพการ์ตูนส่วนใหญ่จะไม่มีคนมาช่วยจัดการ จะมีแค่ส่วนน้อยมากจริงๆ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับศิลปิน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่หากศิลปินมีคนเข้ามาจัดการ เขาจะได้ทำงานเต็มที่มากขึ้น เขาก็จะคิดในส่วนของเขา วาดรูป สร้างเรื่องราว จะได้ไม่ยุ่งวุ่นวายในเรื่องอื่น แต่น้อยคนมากที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องมีเพราะว่าเขาก็ทำงานคนเดียวได้ 

        ปอนด์: บางคนที่ทำงานคนเดียว เวลาที่มีปัญหาจะรู้สึกดาวน์ได้ง่ายมาก กลายเป็นว่าฉันคุยกับคนอื่นไม่ได้ อาจนำไปสู่การนอยด์ในผลงานตัวเอง แต่พอเรามาทำกันเป็นคู่ ถ้ามีคนหนึ่งนอยด์ก็จะมีอีกคนหนึ่งที่ช่วยดึงกันขึ้นมา ซึ่งปอนด์กับเจไม่ค่อยนอยด์กับงานตัวเองเท่าไร เพราะคิดว่า NFT คือการลงทุนที่ไม่ขาดทุน หรือไม่จมทุน สมมติว่าขายได้ไม่ช้าก็เร็วก็จะเท่าทุน แต่ถ้าได้ดีกว่านั้นคือกำไร แต่ต่อให้เราจะไม่ได้เงินจาก NFT แต่โปรเจกต์ที่เราทำจะส่งผลถึงเราไม่ช้าก็เร็วแน่นอน 

        เจ: เราเห็นหลายๆ คนบ่นในทวิตเตอร์เยอะว่ามันขายไม่ได้ ทำให้นึกถึงข้อหนึ่งที่พี่มุนินฺไปฟังมาจากสเปซ เขาบอกว่า “ต่างชาติเขาก็กดแปลภาษาได้ในทวิตเตอร์ เขาเห็นว่าเราบ่นว่าขายไม่ได้ เขาก็จะรู้สึกว่าไม่มั่นใจที่จะต้องมาลงทุนหรือเสี่ยงกับโปรเจกต์นี้” ดังนั้น เราคิดว่ากับช่องทางโซเชียลมีเดีย เราควรแสดงให้เห็นด้านดีๆ เพื่อให้คนมั่นใจในงานเราดีกว่า 

อยากรู้ที่มาที่ไปของนามปากกา ทำไมต้องชื่อว่า ‘ล่ อ ง ห น’

        ปอนด์: เราเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องราวของความรู้สึก แล้วเราก็เป็นคนที่มองสิ่งต่างๆ รอบตัวว่ามีชีวิต มีความรู้สึกอยู่ แต่ความรู้สึกที่เรามองไม่เห็นนั้นกำลังล่องหนอยู่ แล้วเราก็อยากจะเขียนความรู้สึก หรือเรื่องราวนั้นให้คนมองเห็น เลยหยิบมาใช้เป็นนามปากกาว่า ล่ อ ง ห น 

สไตล์การเล่าเรื่องของ ล่ อ ง ห น สื่อสารด้วยมู้ดแอนด์โทนแบบใดบ้าง

        เจ: หลายคนเสพคอนเทนต์ของล่องหน ก็จะรู้สึกว่าอบอุ่น ละมุน ให้ความรู้สึกนุ่มฟู จนมีคนนิยามฉายาในทวิตเตอร์ให้เราฟังว่าเป็น ‘งานหอมแป้งเด็ก’ ทุกงานที่ทำแล้วมีคนมาชื่นชมก็จะมีคำว่าน่ารัก ดูหอมแป้งเด็กมากเลย พอเสพคอนเทนต์แล้วก็รู้สึกอบอุ่นหัวใจ นั่นคือวัตถุประสงค์ที่เราเขียนคอนเทนต์ให้ทุกคนรู้สึกได้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วที่ทำให้ทุกคนรู้สึกแบบนั้น

        ปอนด์: ด้วยทุนเดิม วิธีการเล่าเรื่องหรือสิ่งที่เราสื่อออกมา ทั้งหมดล้วนออกมาจากตัวเรา ซึ่งโดยส่วนตัวพวกเราค่อนข้างเป็นคนที่อ่อนโยนมาก เวลาที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ก็มักจะหาข้อดีของมัน ทำให้เวลาเขียนคอนเทนต์ออกมา จึงมักจะแสดงออกด้วยมุมมองที่อ่อนโยน เวลาคนเห็น หรืออ่านก็เลยสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้นด้วย 

ไม่ใช่แค่จะทำให้ผลงานออกมาสวยเตะตาอย่างเดียว แต่การมีเส้นเรื่องในการเล่าคอนเทนต์ก็สำคัญไม่แพ้กัน

        ปอนด์: ใช่ เรารู้สึกว่ามันติดมาตั้งแต่สมัยเรียนที่อาจารย์ชอบถามที่มาในแต่ละชิ้นงาน พอมาทำงานสายวาดเราเลยเป็นคนที่อยากใส่รายละเอียดทุกๆ อย่าง เพื่อให้ชิ้นงานมันมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ อย่าง NFT ตัวละครแต่ละตัวจะมีการเขียนสตอรี่ขึ้นมาก่อน ก่อนที่จะออกแบบรูปลักษณ์ และก่อนที่เราจะออกแบบคาแรกเตอร์ เราก็ค้นข้อมูลเยอะมาก ช่วงแรกที่ตัดสินใจมาทำ NFT เราก็คิดว่าจะทำอะไรดีที่แหวกจากคนอื่น ซึ่งส่วนตัวเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ เราก็เห็นว่ากระบองเพชรเป็นสิ่งที่น่าสนใจ มีรูปลักษณ์ที่น่ารัก และมีหลายสายพันธุ์มากๆ เราจึงตัดสินใจทำกระบองเพชร จากนั้นก็รีเสิร์ชข้อมูลหนักมาก 

        เจ: เวลาทำงานเราจะวางภาพใหญ่ มองภาพกว้างไว้ก่อนว่าโปรเจกต์นี้จะไปได้ขนาดไหน รีเสิร์ชข้อมูลว่ากระบองเพชรมีทั้งหมดกี่สายพันธุ์ จะหยิบตัวละครไหนมาออกแบบได้บ้าง มองกว้างไปกระทั่งสัตว์ในทะเลทราย หรือแร่ธาตุ 

ช่วยเล่าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ของ ล่ อ ง ห น ให้ฟังหน่อย

        ปอนด์: ช่วงที่เกิดโปรเจกต์ Lupinus Sandy ที่เราทำคอลเลกชันใน NFT ก็เป็นช่วงที่ปอนด์ออกมาจากงานประจำ แล้วกำลังสร้างโปรเจกต์ Iris Valley ซึ่งเป็นตัวละครที่เราทำขายเป็นสินค้า เลยอยากสร้างอาณาจักรของมันขึ้นมาเพื่อเวลาคนซื้อสินค้าแล้วกลับมาอ่านจะได้รู้ว่าน้องมีเรื่องราว 

        เจ: เรารู้สึกว่าการขายของโดยตรงคนไม่ซื้อหรอก เราต้องเอาคอนเทนต์เข้าสู้ก่อนใน 3-4 โพสต์แล้วปิดด้วยขายของ อย่าง NFT เราให้เขาเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ ให้เขารักตัวละครนั้นก่อนแล้วตัดสินใจซื้อจากที่ไปนำเสนอในสเปซ อย่างที่ปอนด์เล่าอาณาจักร Iris Valley เป็นตัวละครที่มีคอนเซปต์มาจากสุริยะจักรวาล เหมือนหนังทิ้งรอยจบอย่างมีเรื่องต่อ มีแผนที่ Iris Valley ในรอบข้างเราก็จะทิ้งอาณาจักรรอบข้าง ตอนนั้นเราไม่แพลนว่าจะทำโปรเจกต์อะไรต่อ ประจวบเหมาะที่ NFT เข้ามา ด้วยความที่เราไม่อยากเปิดเรื่องราวใหม่ เลยเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทุกอย่างที่เราออกแบบเราสอดแทรก easter egg ไว้หมดเลย เหมือนจักรวาลมาร์เวลที่ทุกเรื่องเชื่อมกันไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ถูกเปิดเผย

ถ้าอย่างนั้นสามารถสรุปได้ไหมว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ล่ อ ง ห น มีแฟนคลับ หรือมีนักสะสมติดตามเยอะๆ คือ ‘การมีเรื่องราว’

        ปอนด์: ถ้าในทางของเรา เรารู้สึกว่าเรื่องราวเป็นสิ่งที่เราออกแบบมาเพื่อให้คนซื้อหรือนักลงทุนเข้ามาอินกับโลกของเรา พอเขาอิน เขาเชื่อว่าตัวละครนี้น่าจะมีอยู่จริงจน “ฉันหลงรักมันไปแล้ว” ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยตัดสินใจในการซื้อได้ง่ายขึ้น

        เจ: วงการ NFT จะเป็นตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ เพราะ NFT เป็นการลงทุน มันจึงเป็นเราเพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเราก็ดีไซน์ให้นักสะสมซื้อง่ายด้วย เรื่องราวเป็นเพียงพื้นหลังเพื่อเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น เว็บไซต์ก็เป็นตัวที่เสริมให้โปรเจ็กต์นี้ดูน่าเชื่อถือ 

ในวงการ NFT สำหรับนักลงทุนอาจมองที่กำไร แต่สำหรับศิลปินไม่ใช่แค่เรื่องการหารายได้ แต่วงการนี้ยังช่วยดึงศักยภาพของศิลปินออกมาได้อีกเยอะมาก พูดอย่างนี้ได้ไหม 

        ปอนด์: ใช่ เพราะ NFT เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเอง ถ้าศิลปินจะสร้างผลงาน เราจะอยู่กับมันได้นานขนาดนี้ไหม หรือสร้างได้ใหญ่ขนาดนี้ไหม NFT เป็นเหมือนตัวเร่งให้เราได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นความท้าทายในตัวเอง 

        เจ: เพราะคอลเลกชันที่คุณทำออกมา แล้วไม่ทำต่อก็จะส่งผลต่อคุณในมุมมองของนักสะสม สมมติขายไม่ได้ก็ทำแบบอื่นมาขายอีก แต่ถ้ากับศิลปินที่ออกผลงานขายตามงานทั่วไป ทำจบงานเขาก็จบ ไม่ได้พัฒนาต่อเรื่อยๆ แต่ NFT เป็นตัวเร่งให้ศิลปินพัฒนาศักยภาพตัวเองในหลายๆ ด้าน

        ปอนด์: เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้หยิบจับคาแรกเตอร์ดีไซน์เลย NFT เป็นความท้าทายให้เราว่า “ฉันจะทำคาแรกเตอร์ดีไซน์” ปกติเราไม่ได้ลงงานถี่ขนาดนั้น NFT ก็มาปรับให้เรามีตารางมากขึ้น ว่าอะไรต้องทำวันไหน นอกจากเรื่องเงิน วงการนี้พัฒนาเราไปอีกขั้นหนึ่งเลยเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้แข่งกับตัวเองแล้ว เราต้องแข่งกับคนอื่นด้วย 

        เจ: เราดูผลงานของคนอื่นเพื่อนำมาผลักดันตัวเองว่าจะไปจุดนั้นให้ได้เหมือนกับคุณ อย่างงานของคุณพุทราก็เป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่จุดประกายให้เราอยากสร้างผลงานให้ได้เท่าเขา

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงแฟนๆ ที่เข้ามาอ่าน หรือคนที่เพิ่งรู้จัก ล่ อ ง ห น บ้าง 

        เจ: ล่องหนทำหลายอย่าง หลายช่องทาง อย่างในเพจเฟซบุ๊ก หรือไอจี เราก็ยังทำคอนเทนต์ต่อให้ทุกคนได้อบอุ่นหัวใจเรื่อยๆ แต่ NFT เราเข้ามาเพื่อให้เราได้หาตัวตน อยากฝากคนที่อยากมีกรรมสิทธิ์ในผลงานเรา เข้าไปเสพเข้าไปซื้อได้ และขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนพวกเรามาหลายปี 

        ปอนด์: ขอบคุณทุกคนที่เหมือนเป็นไฟเข้ามาสนับสนุน และคอยช่วยเหลือเราอยู่ตลอด เพราะพวกเขาจึงเป็นกำลังใจให้เราทำในสิ่งที่เรารักต่อได้เรื่อยๆ เมื่อเราทำงานแล้วส่งสารไปแล้ว การที่คุณมีปฏิกิริยากลับมา แสดงว่าคุณเห็นถึงการสื่อสารของเรา ในทุกๆ แชร์เราอยากขอบคุณมากๆ ขอฝากล่องหนไว้ด้วย มีทุกข์มีสุขก็เข้ามาแชร์กันได้ หรือมีปัญหาอยากปรึกษา เข้ามาได้เรายินดีมากๆ เราอยากจะส่งพลังงานที่เรามีให้แฟนๆ ด้วยเหมือนกัน


ติดตามผลงานของ ล่ อ ง ห น ได้ที่:-

Twitter: https://twitter.com/longhon_nft

Facebook: https://web.facebook.com/longhonstory 

Instagram: https://www.instagram.com/longhonstory/

Website : https://longhonnft.wixsite.com/lupinus-sandy

Foundation : https://foundation.app/@longhon/~/107274

OpenSea (Lupinus sandy): https://opensea.io/collection/lupinus-sandy

Discord : discord.gg/nBK3XtWC2c