ถ้าให้จำกัดความ ความเป็นศิลปินคนนี้ ‘พลอย’ – สุวพร เลี้ยงผาสุข เป็นภูมิสถาปนิกหญิงที่ศึกษามาทางด้านภูมิสภาปัตยกรรม สาขาที่ว่าด้วยการออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน ซึ่งต่างจากสถาปนิกที่ออกแบบโครงสร้างทั่วไป เพราะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และความต้องการของประชาชนบริเวณโดยรอบพื้นที่ด้วย
แต่นอกเหนือจากการวาดรูปเพื่อออกแบบ วางแปลนต่างๆ ในฐานะภูมิสถาปนิกแล้ว เธอยังชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรกด้วย โดยวาดเป็นภาพวิวทิวทัศน์จากสถานที่ต่างๆ ที่เธอไปมา และยังออกแบบคาแรกเตอร์ของตัวเองจากความรู้ทางธรรมชาติที่เรียนรู้มา จนพัฒนากลายมาเป็นเพจ Po.loid ที่นำผลงานของตัวเองเดินหน้าเข้าสู่วงการ NFT ในที่สุด
เพจ po.loid เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
เราจำไม่ได้แล้วว่าเปิดมานานแค่ไหน แต่เพราะเราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แล้วอยากให้คนเห็นงานเรามากขึ้น เราก็ตัดสินใจเปิดเพจขึ้น เพื่อลงเก็บไว้เป็นบันทึกความทรงจำของเราด้วย มีการลงรูปที่เราไปเที่ยว เขียนบรรยายว่าไปทำอะไรมา เป็นการรวมบันทึกความทรงจำ
ความตั้งใจแรกก็เริ่มจากอยากแสดงงานให้คนทั่วไปเห็นที่ไม่ใช่แค่เพื่อนเรา ซึ่งไม่ได้มีการตลาด หรือการโปรโมตอะไร แล้วก็มีการวาดแฟนอาร์ต แชร์เข้าไปในกลุ่มที่เขาชอบเหมือนกับเรา จากนั้นก็เปิดแอ็กเคาต์อินสตาแกรมกับทวิตเตอร์ตามมา แต่ในส่วนของทวิตเตอร์ เราเพิ่มการเล่าเรื่องของตัวเองด้วย ไม่ได้มีแค่รูปวาด แต่มีไลฟ์สไตล์ หรือเขียนบรรยายสิ่งที่เราเจอมา หรือเรื่องขำขัน แล้วเราก็แอบขายของไปด้วย หลังๆ ก็ทำของขายจากที่เราวาดเพื่อให้งานเรารู้สึกจับต้องได้มากขึ้น โดยที่มีเราเป็นประธานบริษัทและเป็นทุกอย่าง (หัวเราะ)
ที่มีความหลงใหลธรรมชาติ เกี่ยวกับที่เรียนภูมิสถาปนิกด้วยหรือเปล่า
เราโตมาแบบคนเมือง รู้สึกขาดธรรมชาติ สาขาที่เราเลือกเรียนภูมิสถาปนิกเป็นงานออกแบบในพื้นที่มีต้นไม้ มีองค์ประกอบของธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เราชื่นชอบธรรมชาติ ความเป็นวัฒนธรรมชุมชน รู้สึกว่ามันสบายใจ
ช่วงแรกๆ งานวาดเราจะเน้นภาพเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นภาพวิว เป็นองค์ประกอบของต้นไม้ใบหญ้า เป็นการนำความรู้ที่เราอยากไปอยู่ตรงนั้น หรือเราเคยไปอยู่ตรงนั้นมาวาด เวลาวาดเหมือนเราได้ไปอยู่ตรงนั้น ธรรมชาติทำให้เรารู้สึกสบายใจ ไม่ได้มีอะไรที่สมบูรณ์แบบว่าทั้งสองฝั่งต้องเท่ากัน ต้นไม้ที่เติบโตรากก็เลื้อยไปเรื่อยๆ ใบไม้มีกี่แฉก
เราได้ใส่จินตนาการตัวเองไปในภาพ มีเรื่องราวในภาพ เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเลือกเรียน Landscape เราไม่ชอบตึกสูง เรียนสาขานี้ได้ไปท่องเที่ยวธรรมชาติเยอะ และสาระสำคัญคือเราได้ทำงานกับชุมชน ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ไปสำรวจออกแบบร่วมกับชุมชน มันสนุกดี เราไม่ได้เข้าไปตัดสินว่าสิ่งไหนดีหรือสวย แต่ให้ชุมชนมาทำด้วย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมด้วย ทำให้เราอยากเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เราสนใจและชอบ ดังนั้น การที่เราได้ทำงานกับชุมชน หรือภาคีของเราทำให้เราได้อะไรที่มากกว่าการทำงานด้วย
แล้วสนใจวงการ NFT ได้อย่างไร
เรารู้ว่ามี NFT ตั้งแต่ต้นปี 2564 จากกลุ่ม NFT ในเฟซบุ๊ก แต่เพราะมันเข้าใจยากมาก จึงคอยตามอ่าน ตามเข้าไปฟังในคลับเฮาส์อยู่เรื่อย ๆ เราพยายามทำความเข้าใจแล้วทำสรุปไว้เป็น NFT 101 เป็นฉบับที่คนไม่เคยเห็น หรือไม่เข้าใจแบบเราก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ช่วงแรกที่ยังไม่ได้สร้างงานไปลง เพราะค่าใช้จ่าย ทั้งค่ามินต์งาน ค่าแก๊สที่ค่อนข้างสูง ทำให้ยังไม่ได้สร้างงานเป็นเรื่องเป็นราว
จนพอช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เราก็ได้ Invite ของ Foundation จากพี่คนหนึ่งมา ภายในสัปดาห์นั้นก็ไปสมัครทุกอย่างตั้งแต่ Binance และ MetaMask แล้วก็เริ่มสร้างผลงานใน Foundation จากนั้นจึงทำการมินต์ ตอนนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก
หลังจากสร้างงานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
แรกๆ งานใน Foundation ยังขายไม่ออก เราก็ไปสมัครใน OpenSea เราชอบวาดเป็นแก๊งต้นไม้ใบหญ้า เราชอบวาดธรรมชาติ เลยสร้างเป็นน้องๆ แก๊ง neighbor wood มาจาก neighbor ที่แปลว่าเพื่อนบ้าน wood คือ ป่า เป็นเพื่อนร่วมป่า ซึ่งเราสร้างคอลเลกชันนี้เอาไว้ใน OpenSea
เราได้นำเรื่อง ecosystem (ระบบนิเวศ) และฤดูกาลมาออกแบบด้วย น้องๆ จะกระจายตัวตามถิ่นที่อยู่หลากหลาย เช่น ภูเขา ทุ่งหญ้า แม่น้ำ และเผ่าพันธุ์ของน้องคือต้นไม้ ดอกไม้ เห็ด อะไรแบบนี้ ในแต่ละฤดูกาลจะมีของ drop ที่แตกต่างกัน เช่น ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา เราก็วาดเซตน้องเมเปิ้ล
จากนั้นก็เริ่มวางแผนโร้ดแมปของงานให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น เราคิดเขียนว่าจะทำกี่ตัว มีเลเวลไหนบ้าง บอกว่าเราจะมินต์วันไหน ทำการเปิดตัว มีต้นไม้ เห็ด ดอกไม้ แต่ขณะที่กำลังจะเปิดตัว ปรากฏว่ามีเมลแจ้งเตือนเข้ามาว่ามีคนซื้องาน เราก็ดีใจที่มีคนรอซื้องานแล้ว หลังจากนั้นก็เลยทำเพิ่มเรื่อยๆ พอรู้ว่ามีคนซื้อ ก็ดีใจที่เขาชอบและเอ็นดูเหล่าต้นไม้ของเราเหมือนกับเรา
ทราบมาว่าคุณป่วยอยู่พักหนึ่ง ทำให้ห่างจาก NFT ไป
ใช่ค่ะ ช่วงนั้นมีการประกวดของคูลแคท (Cool Cat) ให้วาดชิ้นงานคล้ายๆ แฟนอาร์ตเพื่อส่งประกวด แล้วก็มินต์งานได้ด้วย สิ่งนี้เลยเป็นเป้าหมายที่กระตุ้นให้เราอยากทำ มีคนเข้ามาซื้อ ราคาที่ขายก็ขยับขึ้นมา ยิ่งทำให้เราอยากทำอีก แต่หลังจากรู้ผลว่าติดโควิด ก็ห่างหายไปจาก NFT อยู่ช่วงหนึ่งเลย
ส่วนตัวเรารู้สึกว่าวงการ NFT เทรนด์เปลี่ยนไปตลอดเวลา มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ผู้เล่นหน้าเก่าบางคนหายไปในเดือนเดียว หัวข้อประเด็นที่คุยกันก็เปลี่ยนไปเร็ว NFT มีวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เข้าไปจะมีเทรนด์ใหม่มาตลอด เราต้องอยู่กับ NFT ตลอดเวลา ซึ่งจะมีช่วงที่ทุกคนรู้สึกว่าเหนื่อยมาก เพราะทุกอย่างมันเร็วไปหมด แล้วมักจะเกิดคำถามกับตัวเองว่าคนอื่นขายได้แต่ทำไมเราขายไม่ได้
สำหรับเราที่เห็นจากเพื่อน พี่น้อง เราเห็นพัฒนาการของแต่ละคน บางคนเข้ามาหลังเราแต่เขาก็ยังอยู่กับมันได้ เพราะมันจะมีช่วงที่ทุกคนเครียด บางคนทนไม่ไหวก็ออก คนที่เห็นผ่านไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ก็หายไป มีหน้าใหม่เข้ามาแทน
คุณมองยังไงที่มีคนบอกว่า ในวงการ NFT สิ่งสำคัญคือคอมมูนิตี้กับการตลาด ซึ่งต้องอยู่กับสองสิ่งนี้ตลอดเวลา
ก็มีส่วนจริง คือถ้าผลงานดี แต่ตอนจะขาย ต้องหาวิธีขายอย่างไรให้คนอยากซื้อ คนที่พูดเป็นก็จะมีโอกาสเยอะขึ้น ต้องรู้จักขายตัวเอง ส่วนคอมมูนิตี้ถ้าเราหายไปสักระยะหนึ่ง พอกลับเข้ามา ยอดการเข้าถึงของเราก็ลดลงจริงๆ คนที่เข้ามาทักทายก็ลดลง ดังนั้น คอมมูนิตี้สำคัญจริงๆ เพราะการมีคอมมูนิตี้ ทำให้คนเข้ามาคุยกัน และคนถึงอยากจะซื้อผลงานต่อไป
ทราบมาว่าช่วงงาน Bangkok Design week เห็นว่าคุณไปร่วมแสดงงานกับทาง NFT BKK ด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
เราจำได้ว่ามีคนมาประชาสัมพันธ์จัดแสดงภาพ น่าจะปลายปี 2564 เราก็สมัครเข้ากลุ่มไป แต่มารู้อีกทีคือเรากำลังทำงานใหญ่กันแล้วนะ (หัวเราะ) เป็นคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็งมาก ทุกคนพร้อมช่วย ไม่ใช่ว่าทุกคนต่างคนต่างทำแล้วมารวมกัน แต่ทุกคนช่วยกันมากๆ เจอกันในทวิตเตอร์แล้วก็ได้มาเจอกันตัวจริง เราก็อยากร่วมจอยไปร่วมงานด้วย แต่ติดที่เราเพิ่งแอดมิตเข้าโรงพยาบาลหมอให้พักอยู่บ้านก่อน ซึ่งมีศิลปินหลายคนที่เรารู้จักจาก NFT หรือคุยกันมากขึ้นเพราะบางคนก็มาในรูปแบบแฟนคลับ คือเราเป็นแฟนคลับพี่ๆ ศิลปินคนอื่นอีกทีหนึ่ง แล้วเขามาฟังเราด้วย เราก็ดีใจ ทุกคนสละเวลาส่วนหนึ่งในชีวิตมาร่วมงานกัน มันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิดมาก
อยากให้แชร์ช่วงเวลาที่วาดงานไม่ออก หรือ Burnout ให้ฟังหน่อย
ถ้าเราวาดไม่ออกเราก็ไม่ฝืน แต่สำหรับเรายังไม่มีช่วงเวลาที่เราวาดไม่ออกเลยนะ มีบางช่วงที่เราไม่ได้วาดรูปเลย ไม่ใช่เพราะไม่อยากวาดแต่เพราะสถานการณ์บางอย่าง ทำให้ไม่ได้วาดรูปอยู่ตลอดเวลา เพราะเรามีงานประจำที่ต้องทำ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการวาดรูปเป็นการผ่อนคลาย ให้ความสบายใจกับเรา เราไม่ได้กดดันตัวเองมาก แต่ก็จะมีช่วงที่วาดแล้วไม่มั่นใจ เราจะบอกตัวเองว่าให้ลองผิดลองถูกไปก่อน แต่การที่มีคนมาบอกเราว่างานเรามีจุดเด่นยังไง ต้องพัฒนาต่อในจุดไหน เราก็ได้ทบทวนตัวเองด้วยและทำให้เราพัฒนาตัวเอง ดังนั้น ตอนนี้เรายังไม่มีความรู้สึกไม่อยากวาดรูปเลยนะ แต่สำหรับงาน NFT ด้วยความที่มันเร็ว บางคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ไหวก็ต้องออกมาพักแล้วค่อยลุยต่อก็ได้
จากนี้ตั้งเป้าหมายกับ NFT ไว้ยังไง
อยากมีความรู้สึกที่อีเมลแจ้งเตือนว่าคนซื้องานเยอะ (หัวเราะ) แล้วก็พยายามที่จะเข้าถึงคอมมูนิตี้ให้มากขึ้น เราไม่ได้จะขายงานอย่างเดียว แต่ลงชีวิตประจำวันด้วย เพราะเราอยากให้คนรู้จักเราด้วย
เราอยากมีเป้าหมาย มีแรงจูงใจที่จะทำต่อ เพราะแรงจูงใจแรกของเราคือเราได้ invite จาก foundation มาแล้ว ต้องลงงาน หรือใน OpenSea เราก็อยากมีคอลเลกชันของตัวเอง เราจะทำเท่าที่ไหว ไม่อยากซีเรียสเกินไป เพราะมีช่วงที่ขายงานหนัก โปรโมตงานหนัก เลยคิดว่าทำเท่าที่ไหว หาบาลานซ์ให้ตัวเอง เพราะเราก็มีงานอื่นที่ต้องทำ ทั้งขายดิจิทัลโปร ทั้งงานประจำด้วย
และในอนาคตเราก็อยากทำ NFT ที่เชื่อมกับโลกจริงได้ คือเจอพี่คนหนึ่งที่เขาทำโดนัท ใครที่ซื้อโดนัทใน NFT ก็สามารถไปกินขนมที่คาเฟ่เขาฟรีได้ เขาเก่งที่สามารถเชื่อมโยง NFT กับโลกจริง เราก็อยากทำให้ได้แบบนั้นบ้าง
เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง