ทำความรู้จัก Sarisa Kojima โฮสต์สุดฮอตจากสเปซทวิต และเจ้าแม่ NFT บน HeN

สำหรับศิลปิน NFT ที่ท่องอยู่ในโลกทวิตเตอร์ เราเชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องเคยเข้าไปฟังการสนทนาในสเปซของ ‘โอชิน’ – สาริสา ธรรมลังกา หรือรู้จักกันในนาม ‘Sarisa Kojima’ หากจะตั้งฉายาให้เธอว่าเป็นหนึ่งในเจ้าแม่สเปซทวิตเตอร์ก็คงไม่เกินไปนัก เพราะคุณต้องเคยเห็นเธอเปิดสเปซชวนศิลปิน NFT มาชิลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำปรึกษากันอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่ออาทิตย์ 

       “วาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็จบศิลปะมาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับจิตรกรรมญี่ปุ่น ในส่วนของงาน illustration ก็ทำมาเรื่อยๆ แต่การประกอบเป็นอาชีพในประเทศไทยไม่ค่อยพอกินสำหรับเรา ส่วนใหญ่จึงรับเป็นงานประเภท contract มากกว่า นอกจากนี้ก็ยังทำเกี่ยวกับ digital marketing งานครีเอทีฟต่างๆ โครงการที่ผ่านมาในประเทศไทยก็จะมีงาน Chiang Mai Street Jazz Festival ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับวงการศิลปะและดนตรีทั้งหมด”

ผลงานของคุณสะท้อนถึงกลิ่นอายของหลายวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่มากมาย อยากทราบว่าคุณมีวิธีหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานต่างๆ อย่างไร

        เราได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เห็นผ่านตามาตั้งแต่เด็ก ทั้งมังงะ การ์ตูน เพลง เสื้อผ้า ยิ่งโดยเฉพาะเราศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปะญี่ปุ่นเป็นหลักมาก่อน รวมถึงศึกษาเรื่องราววัฒนธรรมไทยและปรัชญาแบบเอเชียตะวันออก เช่น อินเดีย รวมไปถึงเรื่องของศาสนา ทำให้พอโตขึ้นมาทั้งวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่ว่ามา หลอมรวมกลายเป็นเราอย่างที่เห็น จึงพยายามนำเรื่องราวพวกนั้นมาอยู่ในงานของเรา 

มีงานศิลปะประเภทไหน หรือศิลปินคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคุณเป็นพิเศษ

        เราปลื้มงานของ Katsushika Hokusai เป็นงานภาพพิมพ์ไม้ที่ต้องแกะออกมาแล้วพิมพ์ลงไปเป็นเส้น เรานำลักษณะของงานนั้นมาเขียนมือเป็นการตีความใหม่ในแบบของเรา โดยหยิบยืมเอกลักษณ์เหล่านั้นเข้ามาใช้สร้างสรรค์ในผลงานเรา เรียกว่าเป็นงานร่วมสมัยแบบหนึ่งก็ได้ แต่ก็พยายามพัฒนาตัวเอง และผลงานไปเรื่อยๆ ในส่วนของแนวคิดจะมีเรื่องของเพศวิถี เรื่องปรัชญาศาสนาตะวันออก สื่อสารผ่านผลงานในแต่ละชิ้นออกมาด้วย 

คุณเล่าว่างานที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพคือ Digital Marketing แล้วจู่ๆ หันมาสนใจวงการ NFT จนลองกลับมาเป็นศิลปินอีกครั้งได้อย่างไร

        ความจริงเราสนใจเรื่องซื้อขาย Cryptocurrency มาตั้งแต่ปี 2556 จึงรู้จักเทคโนโลยี NFT มานานมากแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นมันยังไม่สามารถเข้ามาในชีวิตประจำวันได้ เลยศึกษามันมาเรื่อยๆ จนเมื่อประมาณต้นปีมีโอกาสได้ร่วมเป็น project manager ทั้งการจัดการ การคัดสรรคนเข้าไปในโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อที่เขาจะขายงานในแบบ Generative Art และส่วนตัวก็พัฒนาแพลตฟอร์มแอพพลิเคชันของตัวเองอยู่ด้วย เป็นแอพฯ สำหรับช่วยเหลือศิลปินในการสร้างงาน Generative Art เพราะชอบในคอนเซปต์ของคำว่า decentralized ซึ่งหมายถึงทำให้ทุกอย่างไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง 

        ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้ลองเป็นมาเป็น Full-time artist ก็จะไม่รู้ว่าศิลปินเขาเจอปัญหาอะไรกันบ้าง โดยเราวิเคาระห์มาแล้วว่าทวิตเตอร์เป็นโซเชียลมีเดียหลักที่หลายคนใช้ เลยต้องมาลองด้วยตัวเองว่า ศิลปินต้องสื่อสารอย่างไรถ้าจะเป็น Full-time artist เราจะขายงานเราด้วยวิธีไหน ซึ่งเราก็นำประสบการณ์ที่ได้จากตรงนี้ไปปรึกษากับทีมทำแอพพลิเคชันของเราด้วย อีกอย่างคือเราก็อยากรู้ส่วนตัวด้วยว่า ถ้าจะเป็น Full-time artist ที่ทำ NFT เต็มตัวเลยจะเวิร์คไหม 

แอพพลิเคชันเกี่ยวกับ Generative Art ที่ว่านี้จะช่วยศิลปินในทางใดบ้าง

        มีหลายคนพูดถึง Generative Art กันเยอะ แต่อาจจะมีคนที่ไม่ทราบในรายละเอียดการทำงานจริงๆ คือส่วนใหญ่เราจะต้องพึ่งโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนางานของตัวเองให้เป็น Generative Art แต่บางครั้งเราอาจจะเจอโปรแกรมเมอร์ที่ค่าจ้างแสนแพง แต่ในคราวเดียวกัน กลับทำงานมั่ว เราเลยคิดทำแอพพลิเคชันนี้ขึ้นมาช่วยในเรื่องการทำ Generative Art ที่จะไม่เป็นความลับแค่ระหว่างโปรแกรมเมอร์อีกต่อไป แต่ศิลปินคนไหนก็สามารถทำได้ และยังมีอีกหลายฟีเจอร์ที่กำลังทดลอง หากจะให้สรุปพอสังเขปก็คือ เป็นแอพฯ ที่ช่วยศิลปินให้ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเขียนโค้ดดิ้ง ช่วยในการขายงาน ให้ความรู้ และให้คำปรึกษา เพื่อที่จะพยายามทำให้วงการนี้ decentralized หรือมีการกระจายออกไปในวงกว้างได้จริงๆ

เพราะอะไรคุณถึงสนใจ Tezos Chain มากกว่า Ethereum Chain

        เราเริ่มจาก Polygon ก่อน แต่เพราะมีเหรียญที่เทรดเป็น Cryptocurrency อยู่เยอะมาก จึงมีหลายเหรียญให้เลือก เราก็เลือกเหรียญที่มองว่าดีที่สุดก่อนคือ Tezos ชื่อย่อคือ XTZ เรารู้คอนเซปต์ของเหรียญนี้ว่าเป็น Clean NFT คือใช้เทคโนโลยี Smart Contract ที่จะลด Carbon Footprint ถึง 2 ล้านเท่าจาก Ethereum ซึ่งเราก็โอเค และด้วยที่ราคาไม่แพง ดังนั้น ตอนนี้เราจึงยังอยู่กับ Tezos บนแพลตฟอร์ม HeN (Hic et Nunc) เพราะเรามองเรื่องของความยั่งยืนมากกว่า 

ไม่คิดอยากลงขายในหลายๆ แพลตฟอร์มเหมือนศิลปินอื่นๆ อีกหลายคนบ้างเหรอ

        การจะไปเริ่มต้นมินต์งานกับแต่ละเหรียญใหม่ เราจะต้องจัดการตัวเองเยอะมาก ต้องโปรโมตตัวเองในฐานะของศิลปินหน้าใหม่อีกรอบ ทั้งๆ ที่เราเป็นหน้าเก่า เพราะแต่ละเหรียญ และแต่ละแพลตฟอร์ม จะมีระบบนิเวศ Ecosystem ที่ต่างกัน อย่าง Ethereum เราจะต้องบริหารจัดการค่าแก๊สที่สูงมาก สำหรับคนไทยต้องเสียเงินในการตั้งราคาเป็นหลักหมื่น แต่ใน Tezos เสียแค่หลักสิบกว่าบาท เราจึงเริ่มเรียนรู้จากตรงนี้ แต่พอขายจริงเราก็ขายอยู่หลักหมื่นนะ (หัวเราะ) 

        แล้วเราก็เป็นคนที่มีแผนในการทำงานตลอด อย่าตอนนี้ก็วางแผนในระยะ 3 เดือนแรกไว้แล้ว ก็ต้องรอดูเดือนพฤศจิกายนนี้ว่าการเป็น Full-time artist ของเราจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะสามารถบอกคนอื่นต่อไปได้ ถ้าจะเป็น Full-time artist ต้องมีความรู้อะไรบ้าง ศึกษาอะไรบ้าง วางแผนยังไง เพราะสุดท้าย NFT ใหม่กับทุกคนมาก ไม่มีอะไรตายตัวเลย

คุณบอกว่ามองเรื่องความยั่งยืนมากกว่า ช่วยขยายความเพิ่มเติมหน่อยว่า Tezos ยั่งยืนกว่าอย่างไร

        ในแง่หนึ่งคือ Ethereum เป็น smart contract ที่โบราณ ถูกเขียนไว้เมื่อ 4-5 ปีก่อน ถือว่าโบราณแล้วสำหรับโลกเทคโนโลยีวันนี้ เพราะเราไปไกลมากแล้ว ซึ่ง Tezos ใช้ระบบคณิตศาสตร์ล่าสุดที่สิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า แม้ว่า Ethereum พยายามจะทำ ETH 2.0 อยู่แต่ก็ยังไม่สำเร็จ 

        นอกจากนี้ Tezos ยังไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น จะมีมูลนิธิต่างๆ เข้ามาดูแล นั่นหมายความว่าผู้ใช้งานเป็นระบบนิเวศหลักของ Tezos แล้วก็พัฒนาไปเป็น decentralized แบบหนึ่งที่เราเชื่อในระบบนี้ พอหลังจากนั้นมา Tezos ก็ไม่ได้มีแค่คอนเซปต์ที่จะพัฒนาแค่ smart contract แต่ยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของ creator NFT ที่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของบล็อกเชน แต่พอ Tezos รู้ว่าเศรษฐกิจในเอเชียกระจุกตัว ก็จะมีมูลนิธิที่ชื่อว่า TZ APAC เพื่อสร้าง Ecosystem ที่ดีขึ้นสำหรับประชากรในเอเชีย 

        ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความยั่งยืน คือ 1 Tezos ราคาประมาณ 200 กว่าบาท ในขณะที่ 1 ETH คือเป็นแสน แล้วทำไมคนไทยต้องไปจ่ายในราคาที่สูงขนาดนั้น ถ้าพูดให้เห็นภาพคือ ในเมื่อคุณมีเงินอยู่แค่นี้ แต่ไปอยู่อเมริกา แล้วจะรอดไหม เราจึงมองว่าตรงนี้มีความยั่งยืนกว่า แต่ใครจะไปอยู่แพลตฟอร์มไหนก็แล้วแต่เขา เราอยากอยู่ยาวๆ แบบไต่ระดับ ได้เห็นความหลากหลาย และส่วนตัวชอบในเรื่องระบบที่เป็นอุดมการณ์ของเทคโนโลยี decentralized เราก็เลยมองว่า Tezos แตกต่างและน่าสนใจที่จะลงทุน

        เพราะการประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดกับทุกคนได้ง่ายๆ แล้วสุดท้ายทุกคนก็ต้องมาจัดการกับความยั่งยืนของตัวเอง ทั้งภาษี เหล่านี้คือระบบนิเวศทั้งหมด ถ้าอยู่ดีๆ Ethereum เฟ้อขึ้นมา ผันผวนขึ้นมา เขาจะจัดการตัวเองอย่างไร หลายคนอาจจะไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้ในการสร้างความยั่งยืนให้กับสายงานอาชีพที่จะเป็น NFT creative เพราะ NFT ไม่ได้หมายถึงวงการศิลปะ แต่ NFT คือการลงทุน จึงต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของตัวเองด้วย 

ประเด็นเรื่องนิยามความเป็นงานศิลปะ กับการลงทุนในวงการ NFT ก็เป็นที่ถกเถียงมาตลอดเหมือนกัน สำหรับคุณมีความคิดเห็นในเรื่องนี้ยังไง 

        การเป็นศิลปินคือเป็นศิลปิน การทำ NFT คือการทำ NFT มันแตกต่างกัน เรามองว่า NFT ในพาร์ตของการที่มีคุณสมบัติพิเศษในการรองรับมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น มีความประจวบเหมาะพอดีที่จะเอื้ออำนวยชีวิตของศิลปินไทยในตอนนี้ มันเป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่สอดคล้องกันด้วยมากกว่า 

        คิดว่าถ้าปีนี้ไม่มีโควิด-19 ถ้าปีนี้ศิลปินไม่ตกงาน ถ้า Ethereum มูลค่าไม่พุ่งสูง ทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้น NFT ก็จะไม่บูม เพราะจริงๆ แล้ว NFT มีมาตั้งแต่ปี 2553 แพลตฟอร์ม OpenSea มีมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ไม่ดัง ทำไมถึงมาดังในปีนี้ นั่นเพราะช่วงเวลาและจังหวะที่ประจวบเหมาะกัน จึงทำให้เกิดกระแสขึ้นมา ทั้งยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่มาเกี่ยวข้อง เช่น วิวัฒนาการของเว็บ เทคโนโลยีต่างๆ สรุปว่ามีหลายๆ ด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง 

        ถ้าศิลปินมองเห็นถึงจุดนี้ ก็จะรู้ว่า NFT คือหนึ่งในตัวเร่งวิวัฒนาการของมนุษย์ เป็นตัวเร่งวิวัฒนาการของวงการศิลปะที่ทำให้เกิดนิยามใหม่เหมือนป๊อปอาร์ตที่มีตัวแปรในเรื่องของอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นแบบนี้เหมือนกันในทุกยุคทุกสมัย พอดีว่าตอนนี้เราเจอเทคโนโลยีในวงการศิลปะ ซึ่งเรายังอยู่ในยุคของมัน แต่ก็นิยามไม่ได้ว่าคืออะไร เพราะเป็นภาวะที่กำลังเปลี่ยนผ่าน 

พูดถึงการเปิดวงสนทนาใน Space Twitter ซึ่งคุณมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแรงที่สุด มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ศิลปินต้องมาอยู่ที่นี่

        หนึ่งคือทวิตเตอร์ถูกใช้โดยคนที่เล่น Cryptocurrency มานานหลายปีแล้ว และรูปแบบของทวิตเตอร์เหมาะกับการขายผลงาน หรือโปรโมตผลงานสำหรับศิลปิน ความจริงคุณจะใช้แพลตฟอร์มอื่นก็ได้ แต่เว็บอื่นๆ ไม่มีคุณสมบัติที่เรียกว่า Web 3.0 เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของเว็บ ที่สมัยก่อนเราสามารถอ่านได้อย่างเดียว จนต่อมาเป็น Web 2.0 คือโซเชียลมีเดีย พวกยูทูบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม 

        ทวิตเตอร์ก็มาจากโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ดังตอนที่มันเป็น Web 2.0 แต่หลังจากนั้นก็กระโดดมาเป็น Web 3.0 ทุกคนไม่ได้ถูกรวมศูนย์ มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เหมือนเฟซบุ๊กที่ต้องมีการรวมกลุ่ม ซึ่งไม่เข้ากันกับ NFT อยู่แล้ว เพราะข้อมูลหายไปไวมาก การสร้างคอมมูนิตี้เกิดได้แบบหลวมมากๆ อีกอย่างคือเฟซบุ๊กจะรุกล้ำความส่วนตัวหลายอย่าง ทำให้เกิดการโฟกัสตัวบุคคลมากกว่าผลงานศิลปะ และแม้ว่าสเปซจะมาทีหลังคลับเฮาส์ แต่เพราะทวิตเตอร์มองเห็นช่องทางนี้ ด้วยการทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดีย แต่สามารถทำเงินได้มากกว่านั้น

คุณเห็นอะไรบ้างจากการเข้ามาอยู่ในสังคมทวิตเตอร์ และการจัดวงเสวนาบนสเปซ

        เราคิดแค่เพียงว่า อยากพูดแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น เราแค่อยากกระตุ้นเตือนให้ระวังตัว เพราะ NFT เป็นการลงทุน มีทั้งที่ควรทำและไม่ควรทำ มีคนหลากหลายที่เราไม่รู้จัก 

        เราพบว่าคนที่ยังไม่รู้รายละเอียดเรื่อง NFT มีเยอะมาก ซึ่งบางข้อความที่เราได้มาก็คิดว่ามันก็ต้องเป็นคอมมอนเซนส์ที่คุณต้องศึกษาด้วยตัวเองเช่นกัน ถ้าไม่เรียนรู้ก็จะไม่เกิดอะไร ซึ่งคนไทยต้องปรับปรุงเรื่องนี้ เข้าใจว่าทุกคนก็อยากได้เงินไวๆ แต่มันมีตัวแปรเรื่องเวลาอยู่ แต่ละคนมีเวลาเท่ากันแต่อยู่ที่ว่าเราจัดการบริหารอย่างไร ไม่มีใครโง่ใครฉลาด เราต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน ต้องเรียนกันไป ต้องมีการตระหนักรู้ในการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งคนไทยมีต่ำมาก 

        ดังนั้น การจะเข้ามาในวงการ NFT ต้องรู้อะไรบ้าง  1. การเงินการลงทุน 2. Cryptocurrency 3. ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต วิเคราะห์ช่วงเวลาและสถานการณ์ของเราด้วย ค่อยๆ ศึกษา เพราะถ้าเข้าใจแล้วจะไปไวมาก 

แล้วมองว่าการมีชื่อเสียงส่งผลให้ขายงานได้เร็วขึ้นด้วยไหม 

        ทุกคนต้องมาเริ่มใหม่หมดในวงการนี้ ส่วนศิลปินที่มีชื่อเสียงอาจได้เปรียบบ้าง เพราะเขามีประสบการณ์ เขาทำงานมานาน ฉะนั้น ในเรื่องประสบการณ์ต้องต่างกันแน่นอน เพราะการจะสร้างสรรค์ผลงานสักชิ้นหนึ่งไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะสร้างได้ ทุกคนมีช่วงเวลา และช่วงชีวิตที่ผ่านมากันทั้งนั้น ศิลปินที่เข้ามาและต่อติดไวเพราะเขามีประสบการณ์ รู้ว่าการทำงานศิลปะ และการโปรโมตตัวเองต้องทำอย่างไร แค่ย้ายที่ทำมาหากิน 

        เราเองก็เรียนรู้จากคนที่สำเร็จ และมีชื่อเสียงเช่นกัน สิ่งสำคัญคือเราควรมีทัศนคติที่ดี ทุกคนรู้อยู่แก่ใจตัวเองว่าเรามีประสบการณ์ในระดับไหน อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเปิดใจแค่ไหน ถ้าเปิดใจเรียนรู้ก็จะไปได้ไว เวลาเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ศิลปินที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์มาแล้ว เขาจะใช้เวลาสั้นลงในการพัฒนาตัวเอง ก็แค่นั้นเอง 

อยากฝากอะไรทิ้งท้ายสำหรับศิลปินหน้าใหม่ในวงการนี้บ้างไหม 

        เราไม่มีข้อมูลอะไรเลยแล้วเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ไม่ต่างกับการงมเข็มในมหาสมุทร ดังนั้น หากจะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ควรเริ่มจากศึกษาไว้ก่อน Do you own research!


ติดตามผลงานของ Sarisa Kojima ได้ทาง: 

https://twitter.com/SarisaKojima

https://lynkfire.com/SarisaKojima