ของหนึ่งสิ่งที่อยู่กับเรามาตลอดตั้งแต่ตอนเด็กเท่าที่จำความได้ก็คือ ‘กระเป๋า’ เริ่มตั้งแต่การใช้งานอย่างจริงจังวันที่เราไปโรงเรียนครั้งแรก จนถึงวันนี้กระเป๋าก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเราแทบตลอดเวลา แน่นอนว่าของใช้เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องมีการเสียหายเกิดขึ้น บางคนเลือกที่จะทิ้งและซื้อใหม่มาใช้ แต่หลายคนกลับคิดว่าของมันซ่อมได้ เพราะมีความผูกพันที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และเลือกที่จะส่งกระเป๋าใบโปรดของตัวเองมาที่ร้าน Ninebags ของ วินิจ ลิ่มเจริญ ซึ่งเขาค้นพบคุณค่าของตัวเองที่ซุกซ่อนอยู่ในแพตเทิร์นของกระเป๋าแต่ละใบ
Everything Has Changed
ย้อนกลับไปราว 11 ปีที่แล้ว วินิจทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ค่าตอบแทนสูง แต่กลายเป็นว่าเขากลับไม่มีความสุขในการทำงานด้านนี้เลย
“ผมรู้สึกมาตลอดว่างานวิศวกรคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ตัวเราเลย วันๆ นั่งคุยอยู่แต่กับคอมพิวเตอร์ เราก็ถามตัวเองตลอดว่า ใช่เหรอ นี่คืองานที่เรารักเหรอ จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกเลย ออกทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปทำอาชีพอะไร”
เขาเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นช่างซ่อมกระเป๋าที่คนทั่วประเทศไว้วางใจ
“แต่ผมรู้อย่างหนึ่งว่าตัวเองเป็นคนชอบงานประดิดประดอย งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ทำจากมือตัวเอง ผมสามารถนั่งทำงานอะไรแบบนี้ได้เป็นวันๆ เลย ผมเลยมองหาอาชีพใหม่ที่ไม่ต้องอิงกับกระแสใดๆ และเป็นงานที่ทำให้ตัวผมมีคุณค่ากว่างานเดิมที่เคยทำ”
เราสงสัยมากว่าทำไมเขาจึงอยากเลิกเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ทั้งๆ ที่อาชีพนี้ดูแล้วก็มีความมั่นคง และหลายคนก็อยากทำงานด้านนี้ แต่เขากลับให้เหตุผลที่เราลืมนึกไปว่า “อาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์เมื่อ 11 ปีที่แล้ว จัดเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวใช่ไหม” แน่นอนเราพยักหน้าตามทันที
“แต่ตอนนี้มันแทบจะมีค่าเป็นศูนย์แล้ว เพราะใครๆ ก็ทำได้”
เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาไปเร็วมาก งานคอมพิวเตอร์ที่เคยมองว่ายาก ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง เดี๋ยวนี้แทบจะจบด้วยการใช้แอพพลิเคชันจากสมาร์ตโฟนด้วยซ้ำ
“มีสิ่งของหลายอย่างที่เป็นของใช้ประจำตัว แต่ไม่มีสิ่งไหนสร้างความผูกพันกับคนได้เหมือนกระเป๋า พัดลม โทรทัศน์ เวลาเสียซ่อมยากกว่ากระเป๋าเยอะ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ของพวกนี้มีความซับซ้อนกว่ามาก ถ้าเสียคุณก็ทิ้งแล้วซื้อเครื่องใหม่ แต่กระเป๋าถึงเราจะซื้อใบใหม่ บางคนก็ยังคิดถึงกระเป๋าใบเก่าของเขา นั่นคือความมหัศจรรย์ของกระเป๋า”
Simplicity at Its Best
วินิจเล่าว่าเขาใช้เวลาเรียนรู้การตัดเย็บกระเป๋าเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างของกระเป๋าหนึ่งใบ จากนั้นเขาจึงค่อยๆ เริ่มสะสมประสบการณ์ของการซ่อมแซมกระเป๋าทีละใบจนชำนาญ
“ตอนนี้ผมแทบจะกลายเป็นนักพยากรณ์ด้านกระเป๋าเลยนะ” เขาพูดพร้อมกับหัวเราะออกมา “แค่เจ้าของเขาหยิบกระเป๋าออกมาจากถุง ผมก็เดาได้แล้วว่ากระเป๋าใบนั้นอะไรเสีย เพราะกระเป๋ายี่ห้อเดียวกันรุ่นคล้ายๆ กัน จุดที่เสียมันไม่ต่างกันมากนักหรอก”
ถ้าอย่างนั้นกระเป๋าที่ดีสำหรับเขาต้องเป็นแบบไหน เราถามไปตรงๆ เพราะตอนนี้กระเป๋ามีหลายแบบ หลายวัสดุ แต่ละแบรนด์พยายามสร้างกระเป๋าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาเสมอจนแทบจะเปลี่ยนรูปแบบในทุกคอลเล็กชัน
“กระเป๋าที่เป็น Basic Design นั้นโอเคที่สุดแล้ว ยิ่งแข่งกันทำกระเป๋าที่มีดีไซน์ล้ำมากเท่าไหร่ โอกาสที่ใช้งานแล้วจะเสียหายก็ยิ่งสูง เพราะนักออกแบบไม่ได้มองที่ฟังก์ชันของความคงทนก่อน เขาจะใส่ใจในเรื่องของดีไซน์กระเป๋าให้สวย ให้เป็นเอกลักษณ์ กระเป๋าบางแบรนด์ตัวโครงกระเป๋าติดด้วยพลาสติกทรงสามเหลี่ยมต่อเป็น Geometric ซึ่งมันก็สวย คนก็ชอบ แต่พอพลาสติกนั้นหลุดออกมา เราจะติดมันกลับไปบนเนื้อผ้าของกระเป๋าไม่ได้ ไม่มีกาวอะไรที่ติดได้ยกเว้นกาวร้อน แต่ถ้าติดกาวร้อนลงไปมันก็จะแข็ง กระเป๋าก็จะเสียทรง เสียคุณสมบัติด้านดีไซน์ไป กระเป๋าทุกใบมี Bug เหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยิ่งคุณออกแบบซับซ้อนเท่าไหร่ โอกาสที่จะชำรุดก็เพิ่มมากขึ้น
“ข้อดีอีกอย่างของการเป็นนักซ่อมกระเป๋าคือ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เราก็ไม่ต้องวิ่งตามจนเหนื่อย เพราะรูปแบบของกระเป๋าไม่ได้ก้าวกระโดดจากอดีตมากนัก กระเป๋าก็ยังคงมีรูปแบบเดิมๆ แค่ใช้วัสดุแบบใหม่ ของตกแต่งใหม่ๆ เข้ามาประกอบเท่านั้น การขึ้นแพตเทิร์นหรือการตัดเย็บนั้นยังเหมือนเดิม ซึ่งวัสดุใหม่ๆ นั้นก็ทำให้ผมสนุกกับการตามหาอะไหล่จากที่ต่างๆ ทั้งการเดินหาตามแหล่งขายอะไหล่กระเป๋าหรือการเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ต”
ซึ่งวินิจบอกเราว่ามีหลายครั้งเหมือนกันที่เขาต้องไปดีลวัสดุในการซ่อมแซมกระเป๋าจากเว็บไซต์ขายของอย่างอาลีบาบา หรือแม้กระทั่งทำชิ้นส่วนอะไหล่ขึ้นมาเอง”
New Beginnings, New Experiences
ประสบการณ์ของวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็มีส่วนเข้ามาช่วยในการทำงานคราฟต์ของเขาด้วยเหมือนกัน เพราะบางครั้งทางร้านจะได้รับกระเป๋าที่มีลักษณะเฉพาะตัว ดูแล้วไม่น่าจะแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ แต่เขากลับมองว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ถ้าเจ้าของไม่ว่าอะไรตัวเขาเองจะลองซ่อมแซมให้
“กระเป๋าบางแบบที่ผมได้มา ตอนแรกผมจะไม่ทำอะไรกับมันเลย จะตั้งเอาไว้เฉยๆ ผมจะใช้เวลาในการคิดหาทางซ่อมกระเป๋าใบนั้นให้ได้ก่อน กินข้าวก็คิด นอนก็คิด เข้าห้องน้ำก็คิด กระบวนการตรงนี้ใช้เวลานานกว่าตอนลงมือซ่อมกระเป๋ามาก ผมต้องหาความเป็นไปได้ที่สุดก่อนจะลงมือซ่อม” ซึ่งในหลายๆ ครั้งการซ่อมของเขานั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่
“ผมเคยหล่อชิ้นส่วนของพลาสติกขึ้นมาใหม่เลยนะ (หัวเราะ) ทำแม่พิมพ์ขึ้นมาแล้วก็หล่ออะไหล่ชิ้นนั้น งานซ่อมกระเป๋านั้นผมต้องทำตัวให้เป็นแมคไกเวอร์ (พระเอกในซีรีส์ MacGyver ที่ใช้สิ่งของรอบตัวมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ยากๆ เพื่อเอาตัวรอด) ผมต้องดัดแปลงทุกอย่างรอบตัว ซึ่งทำให้ผมสนุกกับการทำงานนี้”
ไม่เพียงความสุขที่ตัวเองได้เจอ ตัวเขาก็เหมือนได้ซ่อมความสุขให้กับคนอื่นไปด้วย
“มีลูกค้ามาเคาะประตูเรียกผมตอน 3 ทุ่ม ให้ช่วยซ่อมกระเป๋านักเรียนให้หน่อย เพราะถ้าไม่มีกระเป๋าใบนี้ลูกเขาจะไม่ยอมไปโรงเรียน เด็กก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น ผมก็เปิดร้านมานั่งซ่อมให้เขา เพราะถ้าผมไม่รับซ่อม ตอนเช้าลูกเขาไม่มีทางไปเรียนแน่ๆ” เขาเล่าพร้อมกับอมยิ้มและมีประกายความสุขเกิดขึ้นในดวงตา
“ผมมีความสุขกว่าตอนที่ผมซ่อมคอมพิวเตอร์เยอะ ผมนั่งซ่อมกระเป๋าได้เป็นวันเพราะผมสนุกกับมัน การซ่อมกระเป๋าเป็นสำหรับผมเป็นงานศิลปะ ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการตามหาอะไหล่ และทำออกมาให้สวยงาม โดยมีหลักการข้อเดียว” เขาหยุดคิดก่อนจะตอบว่า
“ถ้าทำแล้วเราไม่ชอบผลงานของตัวเอง ลูกค้าก็ไม่ชอบด้วยเหมือนกัน”
NINEBAGS
ปัจจุบันมี 2 สาขาคือ สาขาใหญ่ ปากซอยจันทน์ 33 ถนนจันทน์ เขตสาทร และสาขา 2 โครงการเลอราฟเฟิล ซอยนราธิวาส 24 (สาธุประดิษฐ์ 19) รวมถึงมีจุด Drop Point ตามรถไฟฟ้า BTS จำนวน 7 สถานี รายละเอียดเพิ่มเติม www.ninebags.com หรือ LINE @ninebags